ลำดับตอนที่ #280
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #280 : การฟื้นคืนชีพของกลุ่มอัลกออิดะห์
การฟื้นคืนชีพของกลุ่มอัลกออิดะห์
ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนกันยายน 2552
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
Master of International Relations (with merit),
Victoria University of Wellington, New Zealand
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเมื่อใดที่เดือนกันยายนผ่านมาถึง เมื่อนั้นโลกก็ต้องหวนรำลึกถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สะเทือนขวัญผู้คนไปทั่วทุกสารทิศ เพราะนับตั้งแต่อาคารเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ (World Trade Centre) กลางมหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาถูกโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา โลกก็ได้เคลื่อนตัวผ่านจากยุคสงครามเย็น (Cold war) เข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นการเคลื่อนตัวของกาลเวลาที่ส่งผลให้ชื่อของกลุ่ม “อัลกออิดะห์” หรือ “อัลเคดา” ของโอซามา บิน ลาเดน กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการยกย่องชื่นชมหรือความเกลียดชังสาปแช่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล
กลุ่มอัลกออิดะห์ ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของโอซามา บิน ลาเดน ชาวซาอุดิอารเบียผู้ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 17 จากทั้งหมด 51 คนของคหบดีที่มั่งคั่ง ในช่วงแรกนั้นอัลกออิดะห์มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อขับไล่ทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน และมีสถานะเป็น “นักสู้เพื่ออิสรภาพ (Freedom Fighter)” มากกว่าการเป็น “กลุ่มก่อการร้าย (Terrorist)”
จนกระทั่งเมื่อโซเวียตถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว โอซามา บิน ลาเดน ก็ยกระดับการต่อสู้ของเขาขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อสถาปนา “รัฐอิสลามบริสุทธิ์” รวมทั้งประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในปี 1996 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การขับไล่สหรัฐอเมริกาออกจากซาอุดิอารเบียและดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลาง อันนำมาซึ่งการโจมตีสถานฑูตสหรัฐอเมริกา 2 แห่งในแอฟริกาตะวันออกในปี 1998 และการโจมตีเรือพิฆาต “โคลด์” ด้วยระเบิดพลีชีพในอ่าวเอเดนในปี 2000 ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้โอซามา บิน ลาเดน กลายเป็นบุคคลที่ทางการสหรัฐอเมริกาต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งด้วยค่าหัวสูงถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกันเขาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้และท้าทายมหาอำนาจตะวันตกไปโดยปริยาย ส่งผลให้คำว่า “นักสู้เพื่ออิสรภาพ” ของเขาเริ่มแปรเปลี่ยนเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ในสายตาโลกตะวันตกชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามุมมองที่โลกมีต่อกลุ่มอัลกออิดะห์จะเป็นเช่นไร สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวก็ได้แสดงให้มวลมนุษยชาติได้เห็นถึงความรุนแรง และโหดร้ายที่ไม่มีขีดจำกัด รวมทั้งยังไม่มีข้อยับยั้งชั่งใจใดๆ ทั้งสิ้นในการก่อการร้ายที่มุ่งหวังต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สตรีหรือแม้กระทั่งคนชรา ซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีความแตกต่างจากการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็น ที่ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ เช่น กองทัพแดงของญี่ปุ่น (Japanese Red Army) หรือกองทัพสาธารณรัฐไอริช (ไออาร์เอ - IRA) ที่มุ่งโจมตีหรือกระทำต่อเป้าหมายที่แสดงถึง “อำนาจรัฐ” เป็นหลัก
ด้วยเป้าหมายที่เปลี่ยนไปนี้เอง ได้ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วทุกมุมโลกตกอยู่ในสภาวะแห่งความหวาดระแวง และตื่นตระหนก อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยเปี่ยมไปด้วยความสงบสุขและสันติภาพอีกด้วย
จากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในสหรัฐอเมริกาและจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้สหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เปิดฉากโจมตีที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวให้สิ้นซาก ด้วยการโจมตีเทือกเขาต่างๆ ที่เป็นที่มั่นและที่ซ่องสุมผู้คนของขบวนการอย่างต่อเนื่องด้วยอาวุธต่างๆ อันทรงอานุภาพทั้งหมดที่โลกตะวันตกมีอยู่ในความครอบครอง โดยอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ให้ความสำคัญในการตามล่าบิน ลาเดน ด้วยการออกคำสั่ง “จับเป็นหรือจับตาย (Dead or Alive)” แก่หน่วยต่างๆ ในพื้นที่
จนกระทั่งมาถึงยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ที่ยังคงให้ความสำคัญในการปราบปรามเพื่อเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวในอัฟกานิสถานเป็นอันดับแรกๆ เพื่อลดประสิทธิภาพในการเป็นภัยคุกคามสันติภาพของสหรัฐอเมริกา
ทางฝ่ายโอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ของเขาซึ่งต้องประสบกับการโจมตีและกวาดล้างอย่างรุนแรง ก็ต้องพบว่าอัฟกานิสถานที่เคยเป็นสวรรค์ของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
แม้จะมีความพยายามในการตอบโต้ แต่ก็เป็นการตอบโต้ตามแบบฉบับของกองโจร เช่น การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ การซุ่มโจมตีขบวนลำเลียงของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรนาโต้ ซึ่งการโจมตีดังกล่าวแม้จะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักก็ตาม แต่การโจมตีเหล่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายอัลกออิดะห์และตาลีบันครอบครองพื้นที่หรือแผ่ขยายอิทธิพลได้มากขึ้นแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้ามผลกลับปรากฏว่า ยิ่งอัลกออิดะห์ลงมือก่อการร้ายมากขึ้นเท่าใด การตอบโต้จากสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งมีสูงมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อการปราบปรามเป็นไปอย่างรุนแรง อัลกออิดะห์และตาลีบันก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยกำลังหลัก ซึ่งนับวันจะร่อยหรอลงทุกขณะ พร้อมทั้งย้ายที่มั่นลงไปหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถาน และมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างชายแดนด้านนี้ให้เป็นสวรรค์แห่งใหม่ของกลุ่ม โดยอาศัยความซับซ้อนของภูมิประเทศและความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งยังวางแผนที่จะแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในปากีสถาน เพื่อสถาปนา “รัฐอิสลามบริสุทธิ์” ขึ้นแทนอัฟกานิสถานที่สิ้นสภาพความเป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ในอุดมคติไปแล้ว
ทั้งนี้จากข่าวสารของหน่วยข่าวกรองของโลกตะวันตกพบว่า โอซามา บิน ลาเดน ได้ย้ายที่มั่นของตนเข้าไปอยู่ในพื้นที่หุบเขาทางตอนเหนือของปากีสถานในปี 2007 และพยายามสร้างผลงานเพื่อเผยแพร่ออกไปสู่โลกภายนอกเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอัฟกานิสถาน
แต่ดูเหมือนความหวังดังกล่าวจะถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลปากีสถานและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต่างระดมอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างที่มีอยู่สกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอัลกออิดะห์และตาลีบันอย่างเต็มขีดความสามารถ
โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ผ่านมา นักรบของอัลกออิดะห์ที่มาจากทั่วโลก เช่น อุซเบกิสถาน ปากีสถานและชาติอาหรับอื่นๆ ที่ข้ามเขตแดนอัฟกานิสถานเข้าไปตั้งรกรากในปากีสถานตอนเหนือ ได้ถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรบที่ “โทราโบลา” (Torabola) และการรบในหุบเขา “ชาร์ ไอ คอต (Shah I Kot)” ที่นักรบเหล่านี้ถูกทำลายจนแทบละลายหายไปในหุบเขาอันลึกลับซับซ้อนเหล่านั้นเลยทีเดียว
จนกระทั่งในปี 2008 อัลกออิดะห์ก็พยายามก่อการร้ายขึ้นอีกครั้งด้วยการวางระเบิดโรงแรมมาริออท ในกรุงอิสลามมาบัดของปากีสถานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2008 ซึ่งสามารถสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปได้เกือบหนึ่งร้อยคน แต่ก็ตามมาด้วยการตอบโต้ด้วยการปฏิบัติการทางทหารทั้งจากสหรัฐอเมริกาและปากีสถาน
ล่าสุดในปี 2009 สหรัฐอเมริกาได้ส่งฝูงบินเข้าโจมตีบริเวณหุบเขาต่างๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานอย่างหนักหน่วง กระแสข่าวของตะวันตกระบุว่ามีผู้นำระดับสูงของกลุ่ม 11 คนจาก 20 คนเสียชีวิตจากการปฏิบัติการทางอากาศดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายอาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวี และนายอาบู อับดุลลาห์ อัล-ชามี แกนนำระดับผู้บังคับการกองกำลังทหารของกลุ่ม ส่งผลให้อัลกออิดะห์แทบหมดหนทางในการเคลื่อนไหวสร้างผลงานการก่อการร้าย เพราะเพียงแค่เอาตัวรอดจากการโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นดินที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อัลกออิดะห์ก็แทบจะประคองตัวเองไม่ไหวอยู่แล้ว
ในช่วงนี้เองที่ชื่อเสียงของอัลกออิดะห์เริ่มเงียบหายและคลายมนต์ขลังลงไปมาก สมาชิกของกลุ่มบางส่วนพยายามหลบหนีไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ บางส่วนหลบหนีการโจมตีทางอากาศเข้าไปพื้นที่ที่ห่างไกลของรัฐวาซิริสถานใต้ (South Waziristan) ในปากีสถานและขอเช่าพื้นที่จากกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ด้วยค่าเช่าที่แพงกว่าปกติถึงสามเท่าตัวเพื่อสถาปนาที่ตั้งของกลุ่มขึ้นมาใหม่
ในขณะเดียวกันนักรบอัลกออิดะห์ที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็กระจัดกระจายกันเดินทางกลับประเทศของตนในสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด” ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เช่น เจไอ หรือ เจ๊ะมาฮ์ อิสลามิยะห์, กลุ่มฮามาส ตลอดจนกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ สร้างผลงานอันโดดเด่นขึ้นมาแทน แม้จะมีความพยายามของกลุ่มอัลกออิดะห์ในเมโสโปเตเมียของอิรัก ที่พยายามเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มต่อต้านต่างๆ แต่ผลงานก็ไม่เป็นรูปธรรมเด่นชัดอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
แม้ว่าที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะมองว่าการโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์บริเวณชายแดนปากีสถานนั้น เป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของนโยบายทางด้านการทหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายุคปัจจุบัน แต่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกากลับพบหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ที่เหลือรอดจากการโจมตีหลายสิบคน ได้หลบหนีออกจากพื้นที่บริเวณชายแดนอัฟกานิสถาน ปากีสถาน เพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศโซมาเลียและประเทศเยเมน โดยหวังว่าจะใช้ประเทศทั้งสองเป็นฐานในการเคลื่อนไหว เพื่อปลุกอัลกออิดะห์ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในโลกแห่งการก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกายังพบว่า โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำของกลุ่มยังคงปักหลักหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่หุบเขาในปากีสถาน เพื่อติดต่อกับกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน และโซมาเลีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการเตรียมการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตอันใกล้นี้
“โซมาเลียเป็นประเทศที่ไร้อำนาจรัฐ ในขณะที่ประเทศเยเมนก็มีรัฐบาลที่คอร์รัปชั่นและอ่อนแอเกินไปที่จะต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย สองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อัลกออิดะห์เลือกโซมาเลียและเยเมนเป็นสถานที่ฟื้นคืนชีพของพวกเขาก่อนที่จะสูญพันธ์อย่างสิ้นเชิง” แหล่งข่าวระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ (The New York Times) พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า โซมาเลียและเยเมนจะถูกจุดประเด็นเรื่อง “สงครามศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ญิฮาด” ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นการระดมนักรบที่พร้อมอุทิศตนเพื่อสงครามที่พวกเขามองว่า เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ให้เข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายชื่อก้องโลกนี้
และหากโลกไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอ เราจะได้เห็นการฟื้นคืนชีพของอัลกออิดะห์ และจะเป็นการฟื้นคืนชีพที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างมากเลยทีเดียว
ทางด้านนายลีออง อี พาเน็ตต้า (Leon E Panetta) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอ เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ว่า การเดินทางเข้าไปในโซมาเลียของสมาชิกอัลกออิดะห์ จะส่งผลให้โซมาเลียเกิดสงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นได้ โดยอัลกออิดะห์จะเข้าสมทบกับกลุ่มกบฏ “อัล ชาบาบ” (Al Shabab) ในกรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่แข็งแกร่งเนื่องจากมีนักรบ “ญิฮาด” จากต่างประเทศเข้าร่วมอยู่แล้วนับร้อยคน
สำหรับในเรื่องนี้ ดร. น๊อกซ์ ชิทิโย (Dr Knox Chitiyo) คณบดีคณะแอฟริกาศึกษาของสถาบัน Royal United Services ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้คาดการณ์ว่า รัฐบาลโซมาเลียที่อ่อนแอกำลังอยู่ในภาวะคับขันจนถึงขั้นอาจล่มสลาย และอัลกออิดะห์ก็จะใช้โซมาเลียเป็นฐานในการส่งออกการก่อการร้ายแทนอัฟกานิสถานต่อไป ในขณะเดียวกันเยเมนก็คงต้องประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างจากโซมาเลียอย่างแน่นอนหากอัลกออิดะห์สามารถจัดตั้งฐานที่มั่นได้ในประเทศดังกล่าว
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2009 สมาชิกอัลกออิดะห์ที่มีฐานที่มั่นในเยเมนก็เริ่มเปิดฉากการก่อการร้ายสะเทือนโลกขึ้นอีกครั้ง ด้วยการส่งนายอับดุลเลาะห์ ฮัซซัน ทาเลห์ อัล-อาซิรี นักรบอัลกออิดะห์ผู้ทำหน้าที่เป็นมือระเบิดพลีชีพข้ามแดนเข้าไปในซาอุดิอารเบียเพื่อปฏิบัติการลอบสังหารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (Prince Mohammed bin Nayef) แห่งราชวงศ์ซาอุดิอารเบีย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีนโยบายในการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง โชคดีที่เจ้าชายนาเยฟปลอดภัยจากการโจมตีในครั้งนี้ แต่การปฏิบัติการดังกล่าวก็เป็นการส่งสัญญาณให้โลกได้รับรู้ว่า อัลกออิดะห์กำลังจะคืนชีพขึ้นมาแล้ว
นอกจากนี้แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพสหรัฐอเมริกายังเปิดเผยอีกว่า หน่วยงานด้านการข่าวของสหรัฐอเมริกาสามารถตรวจพบการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกอัลกออิดะห์ทั้งสามประเทศอย่างต่อเนื่องว่า
“ ... พวกเขาติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับความต้องการในด้านต่างๆ ของกันและกัน เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน กำลังพล และด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการจัดตั้งกองกำลังขึ้น ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอาจเป็นสิ่งบอกเหตุว่า พวกอัลกออิดะห์กำลังวางแผนที่จะปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ...”
การโยกย้ายฐานที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะห์ในครั้งนี้ถูกวิเคราะห์ออกเป็นสองมุมมอง มุมมองแรกซึ่งเป็นมุมมองของที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดีโอบาม่า มองว่าการปฏิบัติการทางทหารบริเวณชายแดนปากีสถานประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้กลุ่มก่อการร้ายต้องเปิดเผยตัวจากที่หลบซ่อน เปรียบเหมือนผึ้งแตกรังที่ง่ายต่อการติดตามและทำลาย รวมทั้งการติดต่อสื่อสารข้ามประเทศระหว่างกลุ่มจะเป็นตัวชี้นำไปสู่การจับกุมได้ง่ายขึ้น
แต่อีกมุมมองหนึ่งกลับมองว่า โอซามา บิน ลาเดนและกลุ่มแกนนำของอัลกออิดะห์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณตอนเหนือของปากีสถาน ในขณะที่สมาชิกบางส่วนได้แผ่ขยายอาณาจักรไปยังสรวงสวรรค์แห่งใหม่ในโซมาเลียและเยเมน เพื่ออาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูองค์กร ทำการซ่องสุมผู้คนเพื่อสร้างอัลกออิดะห์ให้กลับมายิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ดังที่ ทาลัด มาซูด นายพลนอกราชการของปากีสถานกล่าวแสดงความคิดเห็นถึงการไล่ล่าสมาชิกอัลกออิดะห์ที่แตกกระสานซ่านเซ็นออกไปจากที่มั่นทางตอนเหนือของปากีสถานว่า
“ ... มันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก ที่จะติดตามไล่ล่าพวกอัลกออิดะห์ในโซมาเลียและเยเมน เหตุการณ์ความสูญเสียของทหารอเมริกันในการรบที่กรุงโมกาดิชชูของโซมาเลียในปี 1993 จะหวนกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน หากสหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไปในโซมาเลียและเยเมน”
อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัลกออิดะห์จะประสบความสำเร็จในการใช้โซมาเลียและเยเมนเป็นสถานที่ชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่นั้น โลกก็ยังคงต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของขบวนการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมมือกันในการตัดท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มัจจุราชแห่งการก่อการร้ายกลุ่มนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วโลกที่แสนสงบและเปี่ยมไปด้วยสันติสุข อาจจะต้องตกอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัวจากอำนาจแห่งการก่อการร้าย” ของอัลกออิดะห์อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น