ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #279 : ภัยคุกคามของรถถังยุคปัจจุบัน

    • อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 52


    ภัยคุกคามของรถถังยุคปัจจุบัน

    จักรกลแห่งสงคราม (War machine) ตอน “ภัยคุกคามของรถถังยุคปัจจุบัน”


    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ประจำเดือนกรกฎาคม 2552






    ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะผลิตรถถังให้ทรงอานุภาพมากที่สุด เพื่อใช้ในการรบตามแบบฉบับของสมรภูมิในสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามในตะวันออกกลางทั้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับ หรือสงครามในอิรักครั้งที่ 1 โดยมีสมมติฐานของการพัฒนาอยู่ที่การเผชิญหน้าระหว่างรถถังกับรถถัง ทำให้การออกแบบและสายการผลิตมุ่งเน้นไปที่รถถังที่มีความหนาของเกราะบริเวณด้านหน้าเพื่อป้องกันกระสุนของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการเพิ่มขนาดของปืนใหญ่ที่มีขนาดความกว้างปากลำกล้องจากเดิม 105 ม.ม. เป็น 120 ม.ม. ที่มีระยะยิงไกลเพื่อหวังผลในการทำลายรถถังของฝ่ายตรงข้ามแบบที่เรียกว่า “one shot .. one kill”

    แนวความคิดนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในห้วงทศวรรษ 1970 – 1980 ที่สายการผลิตรถถังของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และอิสราเอล ต่างให้กำเนิดรถถังที่ล้วนทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนไม่อาจตัดสินได้ว่าใครเหนือกว่าใคร เช่น รถถังแบบ เอ็ม 1 อับบรามส์ (M 1 Abrams) ของสหรัฐฯ รถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 (Merkava Mk IV) ของอิสราเอล รถถังชาลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ของอังกฤษและรถถังแบบ ที 80 (T 80) ของรัสเซีย ทั้งนี้ยังไม่นับรถถังแบบเลอแคลซ์ (LECLERC) ของฝรั่งเศส, TYPE 90 ของญี่ปุ่นและ ZTZ – 99 ของจีน ที่ล้วนแต่ทรงอานุภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

    อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเย็นได้ยุติลงพร้อมๆ ไปกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามการก่อการร้ายที่ใช้พื้นที่ในเมืองเป็นสมรภูมิ (urban warfare) ใช้ยุทธวิธีการซุ่มโจมตีตามแบบฉบับของการรบแบบกองโจร รวมทั้งการใช้ระเบิดพลีชีพเป็นอาวุธสำคัญ และใช้แนวคิดทางศาสนาสุดขั้วเป็นตัวกำหนดหลักนิยมในการทำสงคราม

    สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้สมรภูมิการรบเปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่การไม่มีแนวรบที่แน่นอนเพราะแนวรบอาจอยู่ที่ใดก็ได้แม้แต่ในฐานที่มั่นของฝ่ายตนเอง รวมไปถึงการไม่สามารถแยกแยะมิตรหรือศัตรูได้อย่างชัดเจน จนก่อให้เกิดความหวาดระแวงอันนำไปสู่การสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังเช่นที่ทหารสหรัฐฯ ต้องประสบอยู่ในอิรักขณะนี้





    เมื่อสมรภูมิ แนวคิดและยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงไป แต่รถถังซึ่งเป็นอาวุธหลักหรือ “จักรกลแห่งสงคราม” ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้รถถังที่มีขั้นตอนการออกแบบและการผลิตที่มีราคาสูงลิบ ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง

    ประเทศแรกๆ ที่ต้องประสบกับความจริงอันเจ็บปวดในข้อนี้ก็คือ “รัสเซีย” ที่ส่งรถถังอันทรงอานุภาพแบบ ที 80 เข้าไปในสาธารณรัฐเชคเนีย (Republic of Chechnya) ในปี 1994 และในปี 2006 ซึ่งแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพรัสเซียต้องเผชิญหน้ากับกองทหารเชเชนแห่งสาธารณรัฐเชคเนีย ที่ล้วนเคยประจำการอยู่ในกองทัพสหภาพโซเวียตก่อนการล่มสลาย ทำให้รู้ตื้นลึกหนาบางของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียใช้ประจำการอยู่

    นอกจากนี้ทหารเชเชนยังได้ประยุกต์ยุทธวิธีการรบของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน โดยผ่านทางนักรบมูจาฮีดิน (Mujahedeen) ที่ลักลอบเข้ามาทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ในเชคเนีย ซึ่งยุทธวิธีดังกล่าวเคยสร้างความเสียหายให้กับสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถานเป็นอย่างมากในห้วงทศวรรษที่ 80 มาแล้ว

    เลสเตอร์ ดับเบิลยู เกราว์ (Lester W. Grau) แห่งสถาบันศึกษาการสงครามระหว่างประเทศที่ฟอร์ตลีเวนเวอร์ตของสหรัฐฯ ได้เขียนบทวิเคราะห์ในบทความเรื่อง “จุดอ่อนของยานเกราะรัสเซียในพื้นที่การรบในเมือง – บทเรียนจากเชคเนีย” โดยกล่าวถึงการจัดกำลังของฝ่ายเชเชนในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียที่รุกเข้าสู่เมืองกรอสนีย์ (Grozny) ซึ่งส่งผลให้ “จักรกลสงคราม” อันทันสมัยอย่างรถถัง ที 80 ของรัสเซียต้องประสบกับความพินาศว่า

    .... การสู้รบกับรถถังที 80 ในพื้นที่เขตตัวเมืองนั้น ทหารเชเชนจะแบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มๆ ละ 15 -20 คน แต่ละกลุ่มจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก กลุ่มละ 4 คน ทำหน้าที่เป็น “ชุดล่าและทำลายรถถัง” (anti armor hunter – killer team) ในสี่คนนี้จะมีพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง 1 คน (โดยปกติจะใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 หรืออาร์พีจี 18) ผู้ช่วยพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง 1 คน พลปืนกล 1 คนและพลซุ่มยิง (sniper) 1 คน

    .... ในการปฏิบัติการรบนั้น พลปืนกลและพลซุ่มยิงจะทำหน้าที่ยิงทำลายหรือแยกทหารราบออกจากรถถังที 80 ขณะที่พลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังจะระดมยิงทำลายรถถัง ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทหารเชเชนจะใช้ชุดล่าและทำลายรถถังจำนวน 5 – 6 ทีม ต่อการทำลายรถถังที 80 ของรัสเซีย 1 คัน

    .... โดยแต่ละทีมจะแยกกันยิงทำลายรถถังจากตัวอาคารชั้นที่ 2 หรือชั้นที่ 3 เพื่อมุ่งทำลายรถถังจากการยิงในมุมสูงโดยมุ่งเป้าไปที่เครื่องยนต์และป้อมปืนส่วนหลังของรถถังซึ่งเป็นส่วนที่เปราะบางมากที่สุด รวมทั้งยังเลือกโจมตีจากด้านข้าง มากกว่าการโจมตีจากด้านหน้าซึ่งมีเกราะและการป้องกันที่ดีกว่า

    นอกจากนี้ความสำเร็จของทหารเชเชนยังมาจากการใช้ความได้เปรียบในการรบในเมืองด้วยการใช้ถนนต่างๆ เป็นเสมือนกับดักสำหรับขบวนรถถังที 80 โดยเลือกที่จะทำลายรถถังคันแรกและคันสุดท้ายของขบวน เพื่อปิดเส้นทางการหนีและเส้นทางการเคลื่อนที่ของรถถังคันอื่นๆ ก่อนที่จะทำลายรถถังที่เหลือภายในขบวนทั้งหมด ยุทธวิธีนี้ส่งผลให้รถถัง ที 80 ถูกทำลายลงถึง 62 คันในช่วงเวลาของการรบเพียงเดือนเดียว

    ปัญหาของรถถังรัสเซียในเชคเนียที่เลสเตอร์ ดับเบิลยู เกราว์ ระบุไว้ในบทความของเขาก็คือ ปืนใหญ่ประจำรถที่มีขนาดใหญ่ถึง 125 ม.ม. อันทรงอานุภาพแบบ 2A46M-1 ของรถถังที 80 นั้น ไม่สามารถหยุดยั้งการเข้าโจมตีของชุดล่า – ทำลายของฝ่ายเชเชนที่โจมตีมาจากทุกทิศทุกทางได้ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ต่อสู้กับรถถังด้วยกัน รวมทั้งเมื่อปราศจากทหารราบคุ้มกันรถถังแล้ว รถถังอันทรงอานุภาพนี้ก็ไม่ต่างไปจากเป้าเคลื่อนที่ที่ใช้ในการซ้อมยิงของพลยิงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังของฝ่ายเชเชน

    จากจุดอ่อนเหล่านี้ทำให้รัสเซียมีการปรับยุทธวิธ๊ในการรบใหม่ ด้วยการเสริมกำลังทหารราบคุ้มกันรถถังที 80 ให้มากขึ้น โดยทหารราบที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนี้จะเปลี่ยนยุทธวิธีจากการเดินตามหลังรถถัง มาเป็นการเดินนำหน้าเพื่อกวาดล้างชุดล่า – ทำลายรถถังของทหารเชเชน ขณะเดียวกันพลประจำรถถังรถถังที 80 ก็มีโอกาสใช้ปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ NSVT ขนาด 12.7 ม.ม และ 7.62 ม.ม.ที่ติดอยู่บนป้อมปืนยิงสนับสนุนทหารราบในการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

    นอกจากนี้ยังมีการใช้รถถังที 80 บางคันเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ชุดล่า-ทำลายรถถังของฝ่ายเชเชนเปิดเผยที่ตั้งของตนออกมา จากนั้นรัสเซียก็ใช้ทหารราบและรถถังที 80 ที่เหลือเข้ากวาดล้างทหารเชเชนเหล่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนยุทธวิธีดังกล่าวส่งผลให้ยอดความสูญเสียของรถถังที 80 ลดลงอย่างรวดเร็ว

    นอกจากนี้รัสเซียยังได้ทำการเพิ่มเกราะบริเวณเครื่องยนต์ด้านหลังของรถถังที 80 ที่เข้าทำการรบในเชคเนียครั้งที่ 2 ในปี 2006 อีกด้วย





    อย่างไรก็ตาม การรบในเชคเนียครั้งที่ 2 แม้ยอดการสูญเสียของรถถัง ที 80 ของรัสเซียจะลดลงอย่างมากก็ตาม แต่ความสูญเสียก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากฝ่ายเชคเนียก็มีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีด้วยเช่นกัน โดยก่อนการโจมตีรถถังที 80 ฝ่ายเชเชนจะทำการกวาดล้างทหารราบจำนวนมากที่คุ้มกันรถถังด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvised Explosive Device) ที่มีอานุภาพรุนแรง ก่อนที่จะเข้าประชิดรถถังแล้วทำการยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังพร้อมๆ กันทีเดียวหลายนัด แล้วถอนตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่กำลังเสริมชุดใหม่ของรัสเซียจะเข้ามาถึง

    นอกจากนี้ฝ่ายเชเชนยังหันไปใช้ระเบิดแสวงเครื่องที่มีอานุภาพรุนแรง เช่น กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. จำนวน 2 - 3 นัด ฝังไว้ใต้พื้นดินแล้วจุดระเบิดพร้อมกัน ซึ่งแรงระเบิดอันมหาศาลนี้สามารถทำลายรถถังที 80 ได้ (นอกจากนี้รัสเซียได้พัฒนารถถังที 90 โดยพัฒนามาจากรถถังที 72 ซึ่งรถถังที 90 ยังไม่ได้ออกทำการรบอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีข้อมูลในการปฏิบัติการ แม้ฝ่ายเชเชนจะอ้างว่าสามารถทำลายรถถังที 90 ได้ในการรบเมื่อปี 2006 แต่ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าไม่มีรถถังที 90 เข้าปฏิบัติการในเชคเนียแต่อย่างใด)

    นอกจากบทเรียนที่รถถังที 80 ของรัสเซียได้รับจากการรบในเชคเนียแล้ว ยังมีบทเรียนจากความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของรถถัง “เมอร์คาว่า มาร์ค 4” (Merkava Mk IV) ซึ่งเป็นรถถังของอิสราเอลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ในการรบกับกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ (Hezbullah) ในเลบานอนช่วงปี 2004 ซึ่งกระทรวงกลาโหมอิสราเอลเปิดเผยตัวเลขความเสียหายของรถถังเมอร์คาว่าทุกรุ่นว่าได้รับความเสียหายถึง 52 คัน ในการรบเพียงช่วงสั้นๆ โดยเป็นความเสียหายจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบต่างๆ จำนวน 50 คัน เสียหายจากระเบิดแสวงเครื่องที่ฝังไว้บนถนนจำนวน 2 คัน และในจำนวน 50 คันที่ถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถัง ตัวจรวดต่อสู้รถถังสามารถเจาะทะลุรถถังเข้าไปภายในตัวรถได้ 22 คัน ทำให้พลประจำรถเสียชีวิต 23 นาย





    โดยกระทรวงกลาโหมอิสราเอลเปิดเผยถึงชนิดของจรวดต่อสู้รถถังของฝ่ายเฮซบุลเลาะห์ว่ามีทั้งจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29, จรวดคอร์เนต อี (Kornet E) และจรวดเมทิส เอ็ม (Metis-M) นอกจากนี้ยังมีจรวดแทนเดม (Tandem missiles) ซึ่งมีหัวรบสองชั้นที่สามารถเจาะทะลุเกราะของรถถังเมอร์คาว่าหรือเกราะที่มีความหนา 700 – 900 ม.ม.ได้

    สำหรับรถถังเมอร์คาว่าที่ถูกระเบิดแสวงเครื่อง 2 คันนั้น เป็นเมอร์คาว่า มาร์ค 2 และเมอร์คาว่า มาร์ค 4 ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับฝ่ายอิสราเอลเป็นอย่างมาก เพราะรถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 นั้นเป็นรถถังเมอร์คาว่ารุ่นล่าสุดที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทนทานต่อการโจมตีทุกรูปแบบ เพราะมีเกราะภายในอีกชั้น (underside armor)





    อย่างไรก็ตามด้วยการติดตั้งเกราะชนิดใหม่นี้ ทำให้รถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 สามารถป้องกันพลประจำรถจากการโจมตีได้ดีขึ้นกว่ารถถังเมอร์คาว่ารุ่นก่อนๆ ส่งผลให้พลประจำรถถังเมอร์คาว่า มาร์ค 4 เสียชีวิตจากการบในครั้งนี้เพียง 1 คนเท่านั้น รวมทั้งทหารที่บรรทุกมาในรถถังเมอร์คาว่าปลอดภัยทุกคน (รถถังเมอร์คาว่าถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกทหารราบได้เหมือนยานเกราะลำเลียงพล)

    โจนาธาน สปายเออร์ (Jonathan Spyer) ผู้สื่อข่าวนิตยสารไทม์ได้เขียนถึงบันทึกความทรงจำของพลขับรถถังเมอร์คาว่านายหนึ่งในการรบในเลบานอนเมื่อปี 2006 ในบทความเรื่อง “รถถังของเราคือกับดักแห่งความตาย” (Our trap was a death trap) ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์เมื่อ 30 สิงหาคม 2006 เกี่ยวกับประสบการณ์ในการถูกโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 และคอร์เน็ต ใจความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า





    “ ... รถถังเมอร์คาว่าของเราถูกยิงด้วยจรวดคอร์เน็ตเข้าที่เครื่องยนต์จนเครื่องยนต์ดับ รถถังเมอร์คาว่าของผู้บังคับหมวดก็ถูกยิงด้วย ผมคว้าปืนและซองกระสุนก่อนที่จะคลานออกจากที่นั่งพลขับ ผ่านป้อมปืนออกไปทางประตูที่อยู่ตอนท้ายของรถถัง เสียงกระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด (Mortars) ตกมาระเบิดรอบๆ ตัวพวกเรา

    ... เสียงใครคนหนึ่งตะโกนว่า ... อาลอน สโมฮา (Alon Smoha) ตายแล้ว ... ผมนึกถึงอาลอนผู้ซึ่งเป็นพลขับรถถังเมอร์คาว่าอีกคันหนึ่ง มีคนนำร่างของเขาออกจากซากรถถัง ผมเห็นเขานอนแน่นิ่งอยู่บนเปลสนาม ศพของอาลอนไม่มีร่องรอยอะไรมากมายนัก นอกจากแผลลึกทางด้านขวา สภาพศพยังปกติไม่ได้ถูกไฟไหม้ ขาของเขาพาดไขว้กัน จรวดต่อสู้รถถังคงทะลุมาโดนเขาขณะที่กำลังขับรถถังอยู่

    ... จากนั้นผมก็คลานลงไปคูน้ำที่อยู่ข้างๆ เพื่อหลบกระสุนที่พวกเฮซบุลเลาะห์ระดมยิงมาราวกับห่าฝน ก่อนที่รถสายพานลำเลียงพลและทหารราบของอิสราเอลจะเข้ามาช่วยพวกเราออกจากพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่กระสุนในรถถังทั้งสองคันเริ่มระเบิดเป็นระยะ ส่งผลให้เกิดไฟลุกท่วมรถอย่างรุนแรง

    ... และภายหลังที่รถถังเมอร์คาว่าทั้งสองคันถูกลากกลับเข้ามาในเขตแดนอิสราเอลแล้ว เราก็ได้มีโอกาสเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น รถถังเมอร์คาว่าของอาลอนถูกยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถังเข้าที่เครื่องยนต์ มันทำลายเครื่องยนต์จนเสียหายแล้วยังคงพุ่งต่อไปด้านหน้าตรงที่นั่งพลขับ จากนั้นจรวดก็เจาะทะลุเกราะไประเบิดบริเวณที่นั่งพลขับที่อาลอนนั่งอยู่จนเสียชีวิต ส่วนในรถถังของผมนั้นจรวดเจาะทะลุเครื่องยนต์ตรงบริเวณเดียวกันกับรถถังของอาลอน แต่จรวดทำความเสียหายแต่เฉพาะเครื่องยนต์เท่านั้น ไม่เจาะทะลุไปในทิศทางใดๆ อีก ผมจึงรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ... “





    จากบทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วิวัฒนาการของจรวดต่อสู้รถถังกำลังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนสามารถหยุดยั้งรถถังที่ระบบการป้องกันตัวเองที่เยี่ยมยอดดังเช่นรถถังเมอร์คาว่าได้ โดยเฉพาะจรวดต่อสู้รถถังแบบ เอ ที 14 คอร์เน็ต (AT 14 Kornet) และอาร์พีจี 29 รวมไปถึงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นเก่าๆ ที่มีอายุใช้งานมานานกว่า 20 ปีอย่างเช่น อาร์พีจี 7 (RPG 7) เอ ที 3 แซกเกอร์ (AT 3 Sagger) เอ ที 4 สไปกอท (AT 4 Spigot) หรือ เอ ที 5 สแปนเดรล (AT 5 Spandrel) ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาถูกสามารถซื้อหามาใช้ได้เป็นจำนวนมาก และใช้ปฏิบัติการด้วยการระดมยิงพร้อมกันเป็นชุด ชุดละ 5-6 นัด ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับรถถังอันทรงอานุภาพได้





    กล่าวกันว่าผลจากการรบในเลบานอนของรถถังเมอร์คาว่า ที่กองทัพอิสราเอลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลพัฒนารถถังรุ่นนี้ขึ้นจนเป็นรุ่นมาร์ค 4 ทำให้กระทรวงกลาโหมอิสราเอลถึงกับต้องทบทวนแผนการผลิตรถถังเมอร์คาว่ากันใหม่เลยทีเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ในเลบานอนเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

    นอกจากรถถังที 80 ของรัสเซียและรถถังเมอร์คาว่าของอิสราเอลจะได้รับบทเรียนราคาแพงจากการรบในเมืองมาแล้ว รถถังชาลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ซึ่งเป็นสุดยอดรถถังอีกรุ่นหนึ่งของโลกที่อังกฤษภาคภูมิใจก็ได้รับบทเรียนสำคัญไม่แพ้กันในการรบที่เมืองบาสรา (Basra) ของอิรัก รถถังชาลเลนเจอร์ 2 นั้นมีอานุภาพในการทำลายล้างสูง ปืนใหญ่ประจำรถขนาด 120 ม.ม. แบบ L30A1 สามารถทำลายข้าศึกได้อย่างแม่นยำในระยะไกลชนิดที่เรียกว่า ข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

    อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2006 รถถังชาลเลนเจอร์ 2 ก็ถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 โดยเป็นการยิงใส่ทางด้านหน้าตอนล่างของรถถัง ส่งผลให้ฌอน ชานซ์ (Sean Chance) พลขับรถถังสังกัดหน่วยรักษาพระองค์ฮัสซาร์ (The Queen’s Royal Hussars) ได้รับบาดเจ็บเท้าซ้ายขาดไปครึ่งหนึ่ง ผู้บังคับรถคันดังกล่าวให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ (Telegraph) ของอังกฤษฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2007 ว่า

    “ ... มีเสียงตะโกน ... อาร์พีจี 29 ... ผมได้แต่คิดว่า ... พระเจ้า ... มันต้องเป็นสิ่งเลวร้ายแน่ๆ ... ทันใดจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 29 ก็ปะทะกับตัวรถด้านหน้าแล้วเกิดระเบิดอย่างรุนแรงจนผมกระเด็นไปกระแทกกับป้อมปืนด้านหลัง แรงระเบิดทำให้เกิดควันและเปลวไฟในป้อมปืน ผมรู้สึกว่าใบหน้าบางส่วนของผมถูกไฟไหม้ ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงพลขับตะโกนว่า ... ผมถูกยิง ... ผมถูกยิง ... เท้าของผมขาด ...”

    อย่างไรก็ตามฝันร้ายของชาลเลนเจอร์ 2 ในสมรภูมิอิรักยังไม่ยุติลง ในวันที่ 6 เมษายน 2007 รถถังชาลเลนเจอร์ 2 คันที่สองก็ถูกโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ที่ระเบิดจากพื้นถนนขณะปฏิบัติการในพื้นที่ Hyall Shuala ทางตะวันตกของเมืองบาสรา ระเบิดอัดทะลุเข้าไปในรถถังบริเวณใต้ท้อง ส่งผลให้พลขับถูกแรงดันของระเบิดขาขาดทันทีทั้งสองข้าง ข่าวความเสียหายของชาลเลนเจอร์ 2 ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 เมษายน ล่าช้าถึง 17 วัน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่ากระทรวงกลาโหมของอังกฤษพยายามปกปิดความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับชาลเลนเจอร์ 2

    สิ่งที่สร้างความหวั่นใจให้กับกระทรวงกลาโหมอังกฤษก็คือ รถถังชาลเลนเจอร์ 2 ได้มีการปรับปรุงระบบการป้องกันภายในรถโดยอาศัยบทเรียนจากรถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ ที่ประสบกับความสูญเสียจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังและระเบิดแสวงเครื่องในสมรภูมิอิรัก โดยการเพิ่มความหนาของเกราะด้วยเกราะพิเศษที่เรียกว่า ดอร์เชสเตอร์ (Dorchester armor) ซึ่งวัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบของเกราะดังกล่าวยังคงเป็นความลับอยู่จนทุกวันนี้ รวมทั้งติดตั้งเกราะลดแรงระเบิด (ERA - Explosive Reactive Armor) ทางด้านหน้าของตัวรถ ส่งผลให้รถถังรุ่นนี้มีน้ำหนักถึง 70 ตัน

    ซึ่งไมเคิล คลาร์ค แห่งศูนย์ศึกษาการสงครามของวิทยาลัยคิงส์ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า การปรับปรุงขีดความสามารถของขาลเลนเจอร์ 2 ครั้งล่าสุดส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารถถังรุ่นนี้เป็น “รถถังที่ไม่อาจทำลายได้” และอาวุธทุกชนิดในสนามรบยุคปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามของชาลเลนเจอร์ 2 ทั้งสิ้น ซึ่งจากห้วงเวลาที่ผ่านมารถถังชาลเลนเจอร์ 2 ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นรถถังที่มีความทนทานมากที่สุดรุ่นหนึ่ง





    ตัวอย่างเช่นชาลเลนเจอร์ 2 คันหนึ่งถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักระดมยิงด้วยจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ในระยะเผาขนพร้อมกันถึง 8 ลูกพร้อมกับถูกยิงซ้ำด้วยจรวดมิลาน (Milan) อีก 1 ลูกจนสายพานขาดและตกลงไปในคูน้ำ ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ แต่พลประจำรถทั้งหมดกลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ พวกเขารออยู่ภายในตัวรถท่ามกลางการระดมยิงด้วยปืนเล็กนานาชนิดกว่าหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือ และรถถังคันนี้ก็สามารถกลับเข้าปฏิบัติภารกิจได้ภายใน 6 ชั่วโมงต่อมา เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในรถถังชาลเลนเจอร์ 2 เป็นอย่างมาก

    ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายชาลเลนเจอร์ 2 และทำให้พลประจำรถได้รับบาดเจ็บ จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อรถถังรุ่นนี้ต้องสั่นคลอน เพราะชาลเลนเจอร์ 2 ที่ถูกยิงด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 บริเวณด้านหน้าซึ่งมีเกราะลดแรงระเบิดติดตั้งอยู่ แต่จรวดอาร์พีจี 29 ก็สามารถเจาะทะลุเข้าไปได้ จนโฆษกกระทรวงกลาโหมอังกฤษถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุว่าทำไมเกราะลดแรงระเบิดจึงไม่สามารถต่อต้านจรวดต่อสู้รถถังดังกล่าวได้ พร้อมทั้งปฏิเสธว่า ไม่เคยมีใครกล่าวว่าชาลเลนเจอร์ 2 เป็นรถถังที่ทำลายไม่ได้ หากเผชิญกับจรวดต่อสู้รถถังหรือระเบิดแสวงเครื่องที่มีอำนาจสูงมากก็สามารถทำลายรถถังได้ทุกชนิด ไม่ว่ารถถังนั้นจะมีสมรรถนะพิเศษมากมายเพียงใดก็ตาม อีกทั้งยังมีการยอมรับว่า ในการปฏิบัติภารกิจในอิรัก ไม่มีพื้นที่ใดที่ปลอดภัยสำหรับรถถังหรือยานเกราะทุกชนิดอีกต่อไป

    รถถังอันทรงประสิทธิภาพอีกรุ่นหนึ่งที่ประสบชะตากรรมในสมรภูมิอิรักไม่เว้นแต่ละวันก็คือ รถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมียอดความสูญเสียไปแล้วกว่า 80 คัน ทั้งจากการโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังและระเบิดแสวงเครื่อง จนต้องมีการปรับปรุงขีดความสามารถของรถถังรุ่นนี้กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาว่า กลุ่มต่อต้านในอิรักกำลังใช้วิธีการผลิตระเบิดแสวงเครื่องที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

    โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอนเปิดเผยผ่านสำนักข่าว ซี เอ็น เอ็นว่า ซีเรียและอิหร่านกำลังนำเทคโนโลยีในการผลิตระเบิดแสวงเครื่องรุ่นใหม่ที่มีอานุภาพในการเจาะเกราะที่มีความหนาถึง 1,000 ม.ม. ในระยะห่าง 300 ฟุตได้ ซึ่งหากกลุ่มต่อต้านนำระเบิดแสวงเครื่องรุ่นใหม่ออกใช้เมื่อใด ยานยนต์ทุกชนิดรวมทั้งรถถังเอ็ม 1 อันทรงประสิทธิภาพก็ไม่อาจต้านทานได้ ซึ่งเรื่องราวการต่อสู้ของรถถังเอ็ม 1 ในอิรักนั้น มีความยาวมากพอสมควร จึงจะขอยกไปกล่าวถึงโดยเฉพาะเจาะจงอีกตอนหนึ่ง

    จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน “จักรกลแห่งสงคราม” ของแต่ละฝ่ายต่างมีเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนในการทำลายล้างมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งมุ่งพัฒนายานยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูง และมีขีดความสามารถในการป้องกันพลประจำรถได้เป็นอย่างดี อีกฝ่ายหนึ่งก็มุ่งที่จะพัฒนาอาวุธของหน่วยทหารขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เช่น เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ระเบิดแสวงเครื่อง ตลอดจนอาวุธปืนประจำกายของทหารราบ ทั้งนี้เป็นการพัฒนาตามแนวคิด “การรบแบบกองโจร” ที่กลายเป็นยุทธวิธีหลักของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก

    อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ความสามารถสูงสุด” ในการทำลายข้าศึกที่ยังไม่อาจจินตนาการได้ว่า “ความสามารถสูงสุด” นี้จะสิ้นสุดอยู่ ณ จุดใด อย่างไรก็ตามหากการพัฒนา “จักรกลสงคราม” เพิ่มสูงมากขึ้นเพียงใด ชีวิตของทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ยิ่งถูกใช้เป็นเครื่องทดสอบความสามารถของจักรกลแห่งสงครามเพิ่มมากเป็นเท่าทวีคูณเพียงนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสันติภาพของมวลมนุษยชาติในทั่วทุกภูมิภาคของโลกในอนาคตอันใกล้นี้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×