ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #277 : หน่วย เอส เอส หน่วยรบชั้นยอดของฮิตเลอร์

    • อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 52


    หน่วย เอส เอส หน่วยรบชั้นยอดของฮิตเลอร์


    หน่วย เอส เอส หน่วยรบชั้นยอดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับที่ 21 เดือนพฤษภาคม 2552


    หน่วยทหาร เอส.เอส. เป็นหน่วยทหารที่ถือกำเนิดมาจาก หน่วยองครักษ์ประจำตัวของอดอฟ ฮิตเลอร์ (Hitler's bodyguard) เป็นหน่วยทหารที่ได้ชื่อว่า มีวินัย มีประสิทธิภาพในการรบที่สูงสุดหน่วยหนึ่งของกองทัพเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อภาษาเยอรมัน คือ Waffen SS. หรือ Armed SS. ในภาษาอังกฤษ หรือ หน่วยเอส เอส ในภาษาไทยนั่นเอง

    หน่วยเอส เอส เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไม่ว่าสถานการณ์จะคับขันสักเพียงใด หน่วยเอส.เอส. จะถูกส่งเข้าไปแก้ไขวิกฤตินั้น และมักจะปฏิบัติภารกิจจนบรรลุผลสำเร็จอยู่เสมอ

    จนกระทั่งฮิตเลอร์เชื่อว่า หน่วยเอส.เอส. เป็นหน่วยทหารที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ทุกปัญหา ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่ความจริงที่ว่า หน่วยเอส.เอส. ก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี แต่จะสามารถรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ด้วยการส่งกำลังที่เพียงพอ

    แต่ในช่วงปลายของสงคราม การส่งกำลังบำรุงของเยอรมัน ประสบกับความเสียหาย จากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร หน่วยเอส.เอส.ที่มีจิตใจรุกรบ แต่อ่อนล้าจากการกรำศึกมานานกว่าสี่ปี ประกอบกับอาวุธที่เยี่ยมยอด แต่ขาดการส่งกำลังบำรุง จึงต้องประสบกับความพ่ายแพ้ไปในที่สุด

    สาเหตุที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จัดตั้งหน่วยอารักขาในชุดสีดำ เอส.เอส. นี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากเขาไม่ไว้วางใจกองทัพเยอรมันว่า จะสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่หรือไม่ ในช่วงแรกๆของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ หรือ ฟือเรอร์ (Fuhrer) กองกำลังเอส.เอส. จึงถูกจัดตั้งขึ้น เสมือนเป็นบอดี้การ์ดประจำตัวของฮิตเลอร์ กำลังพลของเอส.เอส.จะได้รับการอบรม ฝึกฝนให้จงรักภักดีต่อผู้นำของเขาอย่างจงรักภักดี และปราศจากคำถามใดๆทั้งสิ้นของคำสั่ง จากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

    SS หรือ SchutzStaffel ซึ่งมีความหมายว่ากองกำลังป้องกัน (Protection Squad) อยู่ภายใต้การนำของ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) อันเป็นบุคคลที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีมีความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง หน่วยเอส.เอส. ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1923 ในขณะนั้นมีสมาชิกเพียง 280 คน ต่อมาขยายเพิ่มเป็น 1,000 คน

    พอในปี ค.ศ. 1932 หน่วยเอส.เอส. ก็มีกำลังพลอยู่ถึง 10,000 คน พอถึงช่วงกลางของสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วยเอส เอส ก็ขยายกำลังพลออกไปถึง 38 กองพล โดยแต่ละกองพลต่างก็มีกรมย่อยๆ ออกไปอีกเป็นจำนวนมาก ในปี 1939 มีทหารเอส เอส กว่า 35,000 คน ปี 1941 เพิ่มเป็นกว่า 150,000 คน ปี 1943 มีจำนวนกว่า 450,000 ปี 1944 มีกว่า 600,000 คน และปีสุดท้ายของสงคราม คือ ปี 1945 มีกว่า 830,000 คน รวมทั้งหมด มีทหารเอส เอส กว่า 1,000,000 คนในสงครามครั้งนี้ และมีทหารเอส เอส เสียชีวิตและสูญหายตลอดสงครามกว่า 250,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 400,000 คน

    กองพลที่มีชื่อเสียงของเอส เอส ก็เช่น

    1. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด
    2. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์
    3. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ
    4. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง
    5. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 9 โฮเฮนสเตาเฟน
    6. กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกน เป็นต้น

    หน่วยทหารเอส.เอส. จะได้รับการฝึกฝนอย่างหนัก และถูกปลูกฝังอุดมการณ์ของนาซี (NAZI - Nazional Sozialistisch Deutche Arbeiter Partei) ถูกปลูกฝังแนวความคิดเรื่องความเป็นเลิศของชนชาติอารยัน เครื่องแบบของหน่วยนี้ จะเป็นเครื่องแบบสีดำ มีสัญญลักษณ์กระโหลกไขว้ (Totenkopf - Death's Head) อยู่ที่หน้าหมวกและปกเสื้อ

    แม้ว่าในช่วงแรกๆของการจัดตั้งหน่วย จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกไว้สูงมาก เช่น ควรจะศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือสูงถึง 180 ซ.ม. แต่เมื่อความต้องการกำลังพลมีมากขึ้น คุณสมบัติก็ได้ถูกลดลง เช่นส่วนสูงลดลงเหลือเพียง 171 ซ.ม. อายุก็เพิ่มขึ้นเป็น 17 - 26 ปี การศึกษาระดับมัธยมปลาย เชื้อชาติอื่นก็รับ เช่นอิตาลี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

    จากการฝึกที่เข้มงวด ทำให้หน่วยเอส.เอส. มีวินัยดีเยี่ยม มีมาตรฐานที่สูงมาก แต่เมื่อยังไม่เกิดสงคราม กองทัพเยอรมัน ก็มองหน่วยเอส.เอส.นี้ว่า มีแต่ภาพลักษณ์ มากกว่าคุณภาพในสนามรบ

    ความเคลือบแคลงระหว่างกองทัพและหน่วยเอส.เอส. มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทหารของกองทัพมองว่า หน่วยเอส.เอส. มักจะได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่าและทันสมัยกว่า

    การตอบโต้จากกองทัพก็คือ หน่วยเอส.เอส.ซึ่งขึ้นสายการบังคับบัญชากับกองทัพ จะถูกจัดไว้เป็นหน่วยสนับสนุน หรือไม่ก็เป็นกำลังหนุน ในการรบในช่วงแรกๆ เมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ ทำให้หน่วยเอส.เอส.ไม่มีโอกาสได้เข้าทำการรบอย่างจริงจัง

    และเมื่อต้องเข้าทำการรบ ภารกิจที่หน่วยเอส.เอส.ได้รับมอบหมาย ก็จะเป็นภารกิจที่ยากต่อการปฏิบัติ ทำให้สูญเสียกำลังไปเป็นจำนวนมาก



    สัญญลักษณ์ของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler) ซึ่งเป็นกองพลยานเกราะมีชื่อเสียงมาก กองพลหนึ่งของเยอรมัน ได้รับความสูญเสียอย่างหนักในสมรภูมิ Kursk ของรัสเซีย

    อย่างไรก็ตามกำลังพลของหน่วยนี้ได้สร้างชื่อเสียงในด้านความกล้าหาญไว้หลายคน เช่น ไมเคิล วิทท์มาน (Michael Wittmann) ที่มียอดการทำลายรถถังของข้าศึกสูงที่สุด ในสงครามโลกครั้งที่สอง

    นอกจากนี้ก็ยังมี Kurt Sametreiter ซึ่งในระหว่างการรบที่ Kursk เขาสามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้ถึง 24 คัน ด้วยปืนต่อสู้รถถังของหน่วยเพียง 4 กระบอก

    นอกจากนี้ในสมรภูมิเดียวกัน รถถัง Panzer VI - Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด หมายเลข 13 เพียงลำเดียว สามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้ถึง 20 คัน ในการรบเพียงสองชั่วโมงแรก ยอดการทำลายรถถังรัสเซียของกองพลนี้ มีสูงถึง 500 คัน ในการรบที่ Kursk ก่อนทีฮิตเลอร์จะสั่งยกเลิกการรุก เพราะความสูญเสียของฝ่ายเยอรมัน มีสูงมาก แม้ไม่มากเท่าฝ่ายรัสเซีย แต่ก็เป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถฟื้นคืนได้ ในระยะเวลาอันสั้น




    สัญญลักษณ์ของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich) กองพลนี้ เป็นกองพลที่มีประวัติการรบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 เป็นกองพลที่ฮิตเลอร์คาดหวังในความสำเร็จอยู่เสมอ

    ดังเช่นการรบที่เมืองคาร์คอฟ (Kharkov) ของรัสเซีย ที่กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 นี้สามารถรุกเข้ายึดเมืองคืนมาจากทหารรัสเซียได้ เป็นเหตุให้ฮิตเลอร์มีความเชื่อมั่นในหน่วย เอส เอส มากจนวางแผนยุทธการซิทาเดล (Citadel) ขึ้น เพื่อทำการรบที่ Kursk โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากฝ่ายเสนาธิการของเขาว่า เยอรมันยังไม่พร้อม ที่จะทำการรุก เป็นผลให้ หน่วย เอส เอส ทุกหน่วยที่เข้าร่วมยุทธการ ต้องสูญเสียอย่างหนักในที่สุด





    หน่วยมอเตอร์ไซค์ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ จะสังเกตุเห็น เครื่องหมายสัญญลักษณ์ของกองพล ที่บริเวณตอนท้ายของรถมอเตอร์ไซค์พ่วง

    เสื้อพรางของหน่วย เอส เอส จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือใส่คลุมเฉพาะเสื้อเครื่องแบบ และหมวก แต่กางเกงยังคงเป็นกางเกงสีเทาปกติ สีพรางจะออกสีใบไม้ช่วงฤดูใบไม้ร่วง คือออกสีน้ำตาลแดง เหมือนสีพรางในภูมิประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกาเคยนำชุดพรางที่ใช้ในการรบกับญี่ปุ่น ในแปซิฟิคไปใช้ในช่วงวันดี เดย์ ปรากฎว่าสร้างความสับสนให้กับทหารทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการยิงฝ่ายเดียวกัน (friendly fire) จนสหรัฐอเมริกา ต้องยกเลิกการนำชุดพรางของตนในแปซิฟิค ไปใช้ในยุโรป

    โปรดสังเกตุทหารคนซ้ายมือของภาพ มีซองกระสุนของปืนกลมือแบบ MP 40 ขนาด 9 มม.ติดที่เข็มขัดด้านหน้า ซองกระสุนนี้บรรจกระสุนุได้ซองละ 32 นัด ส่วนทหารที่เหลือ สะพายปืนเล็กยาวเฉียงไหล่ ซึ่งปกติ ทหารเยอรมันทั้งหน่วยปกติ และหน่วย เอส เอส จะใช้ปืนเล็กยาว Karabiner Kar 98 K ใช้กระสุนขนาด 7.92 มม. เป็นอาวุธหลัก




    สัญญลักษณ์ของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Panzer Division Totenkopf) ซึ่งแต่เดิมหน่วยโทเทนคอฟมีอยู่ 5 กรม กรมที่ 1 คือกรมโทเทนคอฟ สตานดาร์ด I (1st Totenkopf Standarte Regiment) มีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำค่ายกักกันที่ ดาเชา (Dachau) ในเยอรมัน ค่ายนี้คุมขังพวกยิว คอมมิวนิสต์ซ้ายจัด หรือผู้ต่อต้านนาซี ขึ้นชื่อในเรื่องความโหดเหี้ยม

    จนในเดือนตุลาคม 1939 จึงได้มีการรวมกรมต่างๆมาเป็นกองพลโทเทนคอฟ โดยผู้บังคับการค่ายกักกันดาเชา ชื่อ ทีโอดอร์ อิคค์ (Theodor Eicke) ซึ่งภายหลังเป็นผู้บังคับหน่วยที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจที่สุดคนหนึ่ง





    รถถัง Panzer VI - Tiger ของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich) ในสมรภูมิ Kursk โปรดสังเกตุเครื่องหมายของหน่วย ที่อยู่ด้านหน้าของตัวรถ ทางด้านซ้ายของภาพ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นมาเพื่อพรางในยุทธการนี้

    ด้านหลังของรถถัง จะเห็นภูมิประเทศของสมรภูมิ Kursk ในรัสเซีย ซึ่งเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ และไร่ข้าวโพด ฝ่ายรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายตั้งรับ สามารถสังเกตุเห็นการเคลื่อนที่ของฝ่ายเยอรมันได้อย่างชัดเจนในระยะไกล รวมทั้งยังสามารถใช้อำนาจการยิงของปืนใหญ่ สกัดกั้นการเคลื่อนที่ของฝ่ายเยอรมันอย่างได้ผล เป็นผลให้ฝ่ายเยอรมันประสบความสูญเสียเป็นอย่างมาก




    ทหารเยอรมันเคลื่อนที่ผ่านทุ่งกว้างไปพร้อมกับรถถัง Panzer VI - Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ในสมรภูมิ Kursk ประเทศรัสเซีย ตามยุทธการซิทาเดล (Citadel) โดยฮิตเลอร์หวังว่า ด้วยประสิทธิภาพของรถถังรุ่นนี้ จะทำให้การได้เปรียบของรถถัง T 34 ของฝ่ายรัสเซียลดลง รถถังรุ่นนี้ติดปืนใหญ่ 88 มม. มีเกราะหนา มีความคงทน มีล้อสายพานที่กว้าง เลียบแบบจากรถถัง T 34 ของรัสเซีย เพื่อให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ในภูมิประเทศที่เป็นหนองน้ำ ที่เลน หรือหิมะที่อ่อนตัว





    รถถัง Panzer VI - Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ถูกใช้เป็นหัวหอกในการรุกจากทางใต้ของสมรภูมิ มุ่งขึ้นเหนือ และต้องพบกับการต้านทานของฝ่ายรัสเซียที่มีแนวตั้งรับถึง 6 แนว พร้อมกำลังพลอีกกว่า 1 ล้านคน ทุ่นระเบิดรถถังกว่าครึ่งล้านลูก ซึ่งสร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายเยอรมันอย่างมาก

    แม้ว่าทหารเอส เอส จะต่อสู้ด้วยความกล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว เช่น รถถังหมายเลข 13 ของกองพลนี้ เพียงคันเดียว สามารถทำลายรถถัง T 34 ของรัสเซียได้ถึง 20 คัน ภายในเวลาเพียงไม่ถึงสองชั่วโมงของการรบ และกองพลดาส ไรซ์ สามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้กว่า 500 คันตลอดการรบที่ Kursk

    อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียของฝ่ายเยอรมันก็มีสูงมาก แม้จะไม่มากเท่ากับฝ่ายรัสเซีย แต่ก็เป็นความสูญเสียที่ยากจะฟื้นฟูได้ ทหารเยอรมันเสียชีวิตกว่า 100,000 คนในสมรภูมินี้ ฝ่ายรัสเซียสูญเสียกว่า 250,000 คน กำลังรถถังของเยอรมันตลอดทั้งแนว เหลือไม่ถึง 150 คัน ฮิตเลอร์จึงประกาศยกเลิกยุทธการซิทาเดล ในที่สุด




    รถถังติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม. จำนวน 4 ลำกล้อง ของทหารเอส เอส ในแนวหน้าด้านรัสเซีย หากสังเกตุให้ดีในภาพนี้ จะเห็นว่ารถถังที่ใช้เป็นฐานของปืนต่อสู้อากาศยาน ก็คือรถถัง T 34 ของรัสเซียที่ฝ่ายเยอรมันยึดได้ และอาจจะนำมา่ถอดป้อมปืนออกไป หรืออาจจะเป็นเพราะป้อมปืนถูกยิงจนหลุดออกไป และนำมาติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน

    ความขาดแคลนของเยอรมันในแนวหน้ารัสเซีย ไม่ได้มีแต่ความขาดแคลนยานเกราะเท่านั้น เครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมัน ก็มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรักษาน่านฟ้า จากฝูงบินรัสเซียที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ของรัสเซียก็มีประสิทธิภาพที่นักบินเยอรมันไม่สามารถจะประมาทได้เลย ดังนั้นทหารเยอรมันภาคพื้นดิน จึงต้องพยายามหาทางป้องกันตัวเองจากการโจมตีทางอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา




    ทหารเยอรมันขณะกำลังเดินทางร่วมกับกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ในประเทศฝรั่งเศส ปี 1944 เพื่อเคลื่อนพลเข้าไปจัดตั้งแนวตั้งรับทหารพันธมิตร ที่ยกพลขึ้นบกขึ้นที่นอร์มังดี กองพลนี้มีบทบาทอย่างมากในการรบที่นอร์มังดี หลังจากวันดี เดย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบที่ Falaise Pocket ซึ่งทหารเยอรมันจำนวนมากตกอยู่ในวงล้อม และถูกกำลังทางอากาศของพันธมิตรรุมถล่ม จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ได้วางแนวต้านทานทหารพันธมิตร เพื่อเปิดช่องว่างให้กำลังทหารเยอรมันส่วนใหญ่สามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ ก่อนที่จะถูกทำลายลงทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม กองพลดาส ไรซ์ก็ประสบกับความสูญเสียอย่างหนักจากการรบที่นอร์มังดี ทั้งกองพลเหลือทหารเพียง 450 คน และรถถังอีกเพียง 25 คัน ส่วนกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 12 ฮิตเลอร์ จูเก้น (12th SS. Panzer Division Hitlerjugend) ซึ่งร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับดาส ไรซื ก็เสียหายอย่างหนักเช่นกัน โดยเหลือทหารเพียง 300 คน และรถถังเพียง 10 คัน




    ร้อยเอก ไมเคิล วิทท์มาน (Michael Wittmann) ผู้บังคับรถถังของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Aolf Hitler) ที่สามารถทำลายรถถังของข้าศึกได้กว่า 130 คัน เป็นสถิติที่สูงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง

    โดยเฉพาะการรบที่ Villers-Bocage ในนอร์มังดี ฝรั่งเศส ปี 1944 ซึ่งฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวันดี เดย์ และขณะที่กองพลน้อยยานเกราะที่ 22 ของอังกฤษ (22nd Armoured Brigade) กำลังรุกเข้าสู่เมืองคานส์ (Caen) ในวันที่ 13 มิ.ย. 1944 กรมยานเกราะที่ 4 ที่เป็นส่วนล่วงหน้าของกองพลได้หยุดพักที่ Villers-Bocageไมเคิล วิทท์มานพร้อมกับรถถัง Panzer VI - Tiger จำนวน 5 คัน ได้เข้าโจมตีรถถังของอังกฤษทั้งกรม โดยรถถังของไมเคิลได้วิ่งออกจากที่ซ่อนเพียงลำพัง ผ่านทุ่งโล่ง มุ่งหน้าเข้าหน่วยรถถังของอังกฤษที่กำลังจอดพักคอยกำลังส่วนใหญ่ และวิ่งวนไปรอบๆ ก่อนที่ทหารอังกฤษจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น รถถัง Cromwel ของอังกฤษ 4 คันก็ถูกไมเคิล วิทท์มานทำลาย ทหารอังกฤษทำการตอบโต้ ไมเคิล ถอยไปรวมกับรถถังที่เหลือ แล้วเข้าตีอีกครั้ง รถถังทั้งหมดกว่า 20 คันของอังกฤษถูกทำลาย

    การรบดำเนินไปถึงเวลากลางคืน ฝ่ายเยอรมันกลับไปเติมน้ำมันและกระสุน ก่อนที่เข้าตีอีกครั้ง ฝ่ายอังกฤษพยายามเสริมกำลังเข้ามา เพื่อทำลายรถถังเยอรมัน จำนวนเพียงน้อยนิดนี้ แต่เยอรมันก็สู้ยิบตา

    พลประจำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของอังกฤษ ยิงถูกรถถังของไมเคิล จนสายพานขาด แต่ไมเคิลและพลประจำรถทุกคนสามารถหลบหนีไปท่ามกลางความมืดได้ ฝ่ายอังกฤษสูญเสียอย่างหนัก โดยสูญเสียรถถัง Cromwel ไปอีก 27 คัน ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันสูญเสียรถถังเพียงคันเดียว

    การรบครั้งนี้ทำให้อังกฤษ ต้องหยุดการรุกเข้าสู่เมืองคานส์ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่หน่วยรถถังของไมเคิล วิทท์มานต้องถอนตัวออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย และในวันที่ 14 มิ.ย. 1944 กองพลยานเกราะที่ 2 เวียนนา (2nd Panze Vienna) ของเยอรมันก็เข้ามาถึงแนวรบที่คานส์และกลับเข้ายึด Villers-Bocage จากฝ่ายอังกฤษได้อีกครั้ง การรบในครั้งนี้ ทำให้ไมเคิล วิทท์มาน ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก ชั้นอัศวินประดับใบโอ็คและดาบ




    สัญญลักษณ์ประจำหน่วยของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS. Panzer Division Wiking) ซึ่งเป็นกองพลเอส เอส ที่มีกำลังพลเป็นชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น อาสาสมัครชาวเยอรมันในสวีเดน ฟินแลนด์ นอรเวย์ แต่็ได้สร้างชื่อเสียงเอาไว้อย่างมาก โดยเฉพาะในแนวรบด้านรัสเซีย

    การรับสมัครอาสาสมัครจากประเทศยุโรป นาซีเยอรมันจะใช้แนวทางการประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มประเทศยุโรปที่ถูกตนเองยึดครอง ร่วมกันต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ ที่จะเข้ามาทำลายล้างระบอบการปกครองต่างๆในยุโรป และเยอรมันจะเป็นผู้นำประเทศในยุโรปทั้งหมด ป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์จากรัสเซีย




    ทหารเอส เอส สังกัด กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Divsion Das Reich) กำลังยิงปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 50 มม.ใส่เป้าหมายในการรบในรัสเซีย แม้ว่าทหารเอส เอส จะมีความกล้หาญ เด็ดเดี่ยว และทำการรบแบบกล้าตาย บ้าบิ่น มีความเชื่อมั่นในความเป็นยอดคน ของชนชาติอารยันสูง แต่ด้วยการหล่อหลอมให้มีความรู้สึกหลงชาติ และมองชนชาติอื่น เช่น ยิว รัสเซีย โปแลนด์ เป็นกลุ่มที่ด้อยกว่า บางครั้งถูกจัดให้เป็นพวกต่ำกว่ามนุษย์ ทำให้ หน่วยเอส เอส เข้าไปเกี่ยวข้องการทำลายล้างเผ่าพันธ์ต่างๆ ด้วยความโหดเหี้ยม




    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หน่วยเอส.เอส. จะได้รับการฝึกฝนทั้งทางร่างกาย การรบ และทางอุดมการณ์ในเรื่องของการเป็นชนชาติที่เหนือกว่าชนชาติอื่น พวกยิวและพวกบอลเชวิค (พรรคคอมมิวนิสต์) จะต้องถูกทำลาย ชนชาติรัสเซียเป็นชนชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์ (Sub-human) ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนพวกยิว หรือทาส

    เมื่อครั้งแรกๆที่กองทัพเยอรมันเปิดฉากยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) บุกเข้าไปในรัสเซีย ชาวรัสเซียต่างก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลรัสเซียในขณะนั้น มีโจเซฟ สตาลิน เป็นผู้นำ ปกครองประเทศด้วยความโหดเหี้ยม ประชาชนถูกสังหารโหด หรือไม่ก็ถูกปล่อยให้อดอยาก เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวรัสเซียในบางส่วน เช่นใน แลธเวีย เอสโทเนีย และลิธัวเนีย ซึ่งถูกรัสเซียยึดครอง ต่างก็เตรียมให้การสนับสนุนนาซีเยอรมัน

    แต่การณ์ปรากฎว่า กองทัพเยอรมัน ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ของการเป็นชนชาติที่เหนือกว่า ได้เริ่มปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลของสตาลิน มีการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทหารเอส.เอส. จะทำการยิงทิ้งเชลยทันที ถ้าทราบว่า เชลยนั้นเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเป็นพวกบอลเชวิค

    เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทหารเอส.เอส. ไม่มีแนวความคิดที่จะจับชาวรัสเซียเป็นเชลยมากนัก หากแต่ต้องการทำลายล้างชนชาติรัสเซีย หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกก็คือ ต้องการทำลายล้างพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูต่อลัทธินาซีเสมือนหนึ่งพวกยิว ให้หมดไปจากผืนโลกแห่งนี้

    ทหารเอส.เอส. หลายหน่วยที่ปฏิบัติการทางด้านตะวันออก เช่น แดร์ ฟือเร่อห์ (Der Fuhrer) เอส.เอส.ไลป์สตานดาร์ด (S.S.Leibtandarte) และโทเทนคอฟ (Totenkopf) ต่างก็ปฏิบัติการรบอย่างโหดเหี้ยม

    เชลยศึกจำนวนมากถูกทรมาน ถูกใช้เป็นแรงงานทาส ถูกจำกัดอาหาร ถูกปล่อยให้อยู่ท่ามกลางความหนาวเย็น จึงมีเชลยศึกจำนวนมากเสียชีวิตลง ทหารเอส.เอส. จึงได้ชื่อว่า เป็นหน่วยทหารที่ทหารรัสเซียทั้งเกลียดและทั้งกลัวอย่างที่สุด

    เมื่อทำการรบ หน่วยเอส.เอส.จะทำการรบอย่างที่อีวาน (เป็นคำเรียกทหารรัสเซียที่ทหารเยอรมันใช้เรียกกันในสงครามโลกครั้งที่สอง) จะต้องไม่มีวันลืมหน่วยรบปีศาจนี้เลย เอส.เอส.จะทำการรบอย่างชนิดไม่นึกถึงชีวิต

    การฝึกฝนที่ดี ทำให้ทหารเอส.เอส.ทุกคน สามารถทำการบังคับบัญชาหน่วยได้ทันทีเมื่อผู้บังคับหน่วย หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และเมื่อเอส.เอส.ถูกใช้เป็นหน่วยปราบกลุ่มใต้ดิน ก็จะทำการกวาดล้างทั้งพวกใต้ดิน ผู้ให้การสนับสนุน ตลอดจนญาติพี่น้องอย่างโหดเหี้ยม

    ดังนั้นเมื่อใดที่ทหารเอส.เอส.ถูกทหารรัสเซียจับเป็นเชลย ทหารรัสเซียจะทำการเรียกขวัญของพวกตนด้วยการสังหารทหารเอส.เอส.ทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทหารเอส.เอส.ก็ตายได้เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรน่ากลัว การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันนี้ ยิ่งเพิ่มความเหี้ยมโหดในการล้างแค้นให้กับหน่วยเอส.เอส.เป็นเท่าทวีคูณ

    อย่างไรก็ตาม ทหารเอส.เอส.ก็ได้ทำการรบอย่างกล้าหาญในหลายๆสมรภูมิไม่ว่าจะเป็นที่คาร์คอฟ (Kharkov) และที่เคริซค์ (Kursk) ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก




    รถถัง Panzer Mark V - Panther ของกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 5 ไวกิ้ง ในรัสเซีย กองพลนี้มีความพิเศษ คือเป็นกองพลเอส เอส ที่มีกำลังพลอาสาสมัครมาจากประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอรเวย์ ฟินแลนด์ และสามารถสร้างชื่อในความกล้าหาญให้ศัตรูได้ประจักษ์

    ส่วนใหญ่ทหารเอส เอส ที่มาจากประเทศในยุโรป จะถูกส่งไปทำการรบในรัสเซีย เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายรุกตอบโต้ ทหารเอส เอส จากยุโรปเหล่านี้ ก็สมัครใจที่จะสู้เพื่อเยอรมัน มากกว่าที่จะเดินทางกลับประเทศของตน เนื่องจากในประเทศของตนถูกเยอรมันยึดครอง

    และเมื่อเยอรมันพ่ายแพ้ หากกลับไปพวกเขามักจะถูกจับกุมตัวขึ้นศาลทหาร ฐานทรยศต่อประเทศ และจบชีวิตลงด้วยโทษขั้นเด็ดขาด ดังนั้นกองพล เอส เอส เหล่านี้จึงมักจบบทบาทลงด้วยการต่อสู้กับรัสเซียจนละลายไปทั้งกองพล





    กำลังพลของกองพลโทเทนคอฟ กำลังรุกผ่านซากรถถัง T 34 ของรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก ในปี 1944 ซึ่งในห้วงเวลานี้ เยอรมันตกเป็นฝ่ายตั้งรับในทุกแนวรบ แม้ว่าทหารเอส เอส จะสู้อย่างกล้าหาญ แต่กำลังพลที่มีความสามารถและผ่านศึกมาอย่างโชกโชนส่วนใหญ่นั้น สูญเสียไปตั้งแต่ช่วงกลางของสงคราม กำลังเอส เอส ในห้วงปี 1944 - 1945 มักเป็นกำลังที่คัดขึ้นมาทดแทน ส่วนหนึ่งคัดมาจากเยาวชนฮิตเลอร์ หรือ ฮิตเลอร์จูเก้น (Hitler Jugend) ที่มีอายุระหว่าง 17-20 ปี ทำให้ประสิทธิภาพและมาตรฐานของเอส เอส ลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงต้นของสงคราม





    พลแม่นปืนของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ในช่วงแรกของ ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ซึ่งเป็นยุทธการที่เยอรมันเปิดฉากบุกเข้าไปในประเทศรัสเซีย ปืนที่ใช้ในภาพคือ ปืนเล็กยาว คาร์ราไบเนอร์ เมาเซอร์ คาร์ 98 เค (Karabiner Mauser K98 K) ซึ่งเป็นอาวุธมาตรฐานประจำกายของทหารเยอรมัน ทั้งกองทัพบก และหน่วยเอส เอส ปืนชนิดนี้ใช้กระสุนขนาด 7.92 มม. ซึ่งต่างจากขนาดกระสุนของรัสเซีย ที่ใช้ขนาด 7.62 มม.





    ทหารเอส เอส ชุดทำลายรถถัง ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS. Panzer Division Wiking) ในสมรภูมิรัสเซีย กับซากรถถัง T 34 ของรัสเซีย ทหารเยอรมันคนที่ยืน ถือทุ่นระเบิดรถถังแบบ tellermine บรรจุดินระเบิดขนาด 1 ปอนด์ มีรูปเป็นทรงกลมแบน พร้อมหูหิ้วด้านหนึ่ง จุดชนวนได้ 2 แบบ คือ แบบชุดชนวนด้วยมือ โดยการดึงสลัก หรือ แบบจุดชนวนด้วยการกดทับที่บริเวณส่วนกลางของระเบิด ซึ่งกำหนดให้ใช้แรงกด 350 ปอนด์ เพื่อมุ่งหวังทำลายเฉพาะยานยนต์ ยานเกราะ หรือวัตถุที่มีน้ำหนัก ไม่มุ่งทำลายเป้าหมายบุคคล แรงระเบิดของทุ่นระเบิดชนิดนี้ สามารถทำลายสายพานของรถสายพานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ชุดทหารราบทำลายรถถังนี้ จะต้องใช้ความกล้าในการเข้าประชิดรถถังของข้าศึก และทำลายด้วยทุ่นระเบิดดังกล่าว

    ในสมรภูมิรัสเซีย ทหารทั้งสองฝ่ายต่างใช้ทหารราบต่อสู้รถถัง ในการทำลายยานเกราะของฝ่ายตรงข้าม โดยใช้อาวุธต่างๆ ทั้งที่ออกแบบมาเพื่อใช้ต่อสู้รถถังในระยะประชิด และในระยะไกล ตลอดจนอาวุธที่ประยุกษ์มาใช้ในการทำลายรถถัง เช่น ระเบิดเพลิงหรือ โมโลตอฟ เป็นต้น





    ขบวนยานยนต์ของกองพล เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ ขณะเคลื่อนที่ในยูเครน ของรัสเซีย ในปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงต้นของ ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ซึ่งเป็นยุทธการในการบุกเข้าไปในรัสเซีย โดยไลป์สตานดาร์ด ขึ้นสายการบังคับบัญชากับกองทัพน้อยที่ 54 ของกลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) มีเป้าหมายอยู่ที่แหล่งน้ำมันในคอเคซัส การสู้รบในรัสเซีย เป็นสิ่งที่กำลังพลของ เอส เอส ทุกคนใฝ่ฝัน เพราะเป็นการสู้รบกับศัตรูตัวฉกาจของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 นั่นคืิอ พวกบอลเชวิค พวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะต้องถูกทำลายให้สูญสิ้นเช่นเดียวกับพวกยิว





    ทหารเอส เอส สังกัด กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler) ขณะกำลังช่วยปฐมพยาบาลทหารรัสเซียที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ในช่วงต้นของการรบที่ สมรภูมิเคริซ (Kursk) ในปี 1943 ซึ่งในสมรภูมินี้ กองพลไลป์สตานดาร์ด ได้รับความเสียหายอย่างหนัก แม้จะสามารถทำลายกำลังของฝ่ายรัสเซียได้เป็นจำนวนมาก จนต้องย้ายกลับไปปรับกำลังใหม่ที่อิตาลี





    รถกึ่งสายพานของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 11 ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องนครเบอร์ลิน เมืองหลวงของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ของนาซีเยอรมัน จนวินาทีสุดท้าย จากการบุกเข้ามาของทหารรัสเซีย ไม่ว่าทหารเอส เอส จะขึ้นชื่อในเรื่องความเหี้ยมโหดเพียงใดก็ตาม แต่ในเรื่องของความกล้าหาญ และความเสียสละเพื่อแผ่นดินของพวกเขาแล้ว ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ความกล้าหาญเหล่านี้ น่าจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชนในหลายๆประเทศได้ศึกษา หลักการและวิธีการปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้ถูกวิธี โดยพยายามขีดเส้นขอบเขตของความคลั่งชาติและความหลงชาติให้อยู่ในวงจำกัด




    เชลยศึกเยอรมันจากกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกน (12th SS. Panzer Division Hitlerjugend) หรือยุวชนฮิตเลอร์ ถูกจับโดยทหารแคนาดา ในการรบที่นอร์มังดี ของฝรั่งเศส ภาพนี้ได้รับการวิจารณ์ว่า ขัดต่อสนธิสัญญาเจนีวา ที่ห้ามนำภาพเชลยศึกที่ได้รับบาดเจ็บมาเผยแพร่ โดยเฉพาะเมื่อเชลยศึกคนนี้ เป็นเพียงเยาวชน อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เสมอในสงคราม น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด สำหรับภาพนี้ได้เป็นอย่างดี




    จำนวนกำลังพลของหน่วยเอส เอส ที่เข้าประจำการ จำแนกเป็นปี มีดังนี้
    ปี 1939 35,000 คน
    ปี 1940 50,000 คน
    ปี 1941 150,000 คน
    ปี 1942 230,000 คน
    ปี 1943 450,000 คน
    ปี 1944 600,000 คน
    ปี 1945 830,000 คน

    รวมกำลังพลเอส เอส ทั้งสิ้น 1,000,000 คน
    เสียชีวิตและสูญหาย 250,000 คน
    บาดเจ็บ 400,000 คน
    รวมยอดการสูญเสีย 650,000 คน
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×