ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #275 : สมรภูมิเมือง คาร์คอฟ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

    • อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 52


    สมรภูมิเมือง คาร์คอฟ ในสงครามโลกครั้งที่ 2





    จอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ ผู้วางแผนการตีโต้กองทัพรัสเซีย เพื่อยึดเมืองคาร์คอฟ ภาพนี้ถ่ายในขณะที่ดำรงยศพลเอก จะเห็นเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กที่คล้องอยู่ที่คอเสื้อ สำหรับ “แพรแถบ” ที่สอดออกมารังดุมเสื้อนั้น แสดงถึงระดับของเหรียญกางเขนเหล็กว่าเป็นเหรียญ “ชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค”

    และจากความสำเร็จในการรบที่คาร์คอฟ ทำให้เขาได้รับเหรียญ “ชั้นอัศวินประดับดาบและใบโอ็ค” ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงที่มอบให้ผู้ที่ทำการรบอย่างกล้าหาญ หรือเป็นผู้นำหน่วยที่ประสบความสำเร็จในภารกิจอันสำคัญยิ่งของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 และตลอดสงครามมีผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นนี้เพียง 159 คนเท่านั้น




    ทหารรัสเซียกำลังพักผ่อนบริเวณจัตุรัสแดง กลางเมืองคาร์คอฟ ภายหลังจากที่สามารถยึดเมืองได้ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ชัยชนะที่ได้มานี้จะเป็นเพียงชัยชนะช่วงสั้นๆ เพราะในเดือนถัดมา คาร์คอฟก็ตกอยู่ในมือของกองทัพเยอรมันอีกครั้ง โปรดสังเกตแนวอาคารด้านหลังของภาพ แสดงให้เห็นถึงความเจริญของเมืองคาร์คอฟ จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองใหญ่อันดับที่สี่ของรัสเซียในขณะนั้น




    ทหารเยอรมันและยานเกราะทำลายรถถังแบบ มาร์เดอร์ กำลังเตรียมการเข้าตีเมืองคาร์คอฟ



    ยานเกราะทำลายรถถังแบบ มาร์เดอร์ และรถถังแพนเซอร์ มาร์ค 4 (Panzer Mk IV) อีก 2 คันสังกัดกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ของเยอรมัน กำลังระดมยิงใส่ที่มั่นของทหารรัสเซียที่ซ่อนตัวอยู่ตามอาคารต่างๆ ขณะทำการรุกไปตามถนนของเมืองคาร์คอฟ



    ภาพจัตุรัสแดงอันเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองคาร์คอฟ ล้อมรอบด้วยอาคารสูงเป็นรูปวงกลม จากการรบเพื่อแย่งชิงเมืองคาร์คอฟระหว่างรัสเซียและเยอรมันถึง 3 ครั้ง ส่งผลให้ตัวเมืองตกอยู่ในสภาพดังที่ปรากฏในภาพ





    ความเป็นมา

    ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน ตัดสินใจเปิดยุทธการ “บาร์บารอสซ่า” (Barbarossa) เพื่อรุกเข้าสู่รัสเซีย โดยเคลื่อนกำลังทหารเยอรมันและกลุ่มอักษะ (Axis) กว่าสามล้านคนเข้าสู่ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของประเทศรัสเซีย

    ในช่วงแรกของการรบ ทุกอย่างดูจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามเกินความคาดหมายของหลายฝ่ายแม้กระทั่งตัวฮิตเลอร์เอง แต่แล้วฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิถึง ลบสามสิบองศา ก็ทำให้การรุกของเยอรมันต้องหยุดชะงักลงในที่สุด ประกอบกับการตอบโต้ของรัสเซียที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เยอรมันเริ่มตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ของเยอรมันที่เมืองสตาลินกราดในช่วงต้นปี 1943 ที่ทำให้โฉมหน้าของการรบในรัสเซียเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังส่งผลให้จุดศูนย์ดุลของสงครามเริ่มแปรเปลี่ยนไป

    รัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยกำลังหนุนที่สดชื่น ติดอาวุธที่มีอานุภาพและมีปริมาณที่มากมายมหาศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่งผลให้แนวรบทางตอนใต้ของเยอรมันตกอยู่ในอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกโอบล้อมอันจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างหนัก

    ดังนั้นเพื่อคงสภาพความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกตอนใต้เอาไว้ ฮิตเลอร์จึงสั่งให้กลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) ยึดเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่คอเคซัสเอาไว้ให้ได้ เมืองแห่งนั้นก็คือ “คาร์คอฟ” (Kharkov)

    “จอมพล อีริค ฟอน แมนสไตน์” (Field Marshal Erich Von Manstein) อัจฉริยะแห่งการสงครามของเยอรมัน

    ตั้งแต่ต้นปี 1943 เป็นต้นมา กองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกเข้าสู่แนวหน้าของเยอรมัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กองทัพที่ 2 ของฮังการีที่เข้าร่วมรบกับเยอรมัน แม้ว่ากองทัพฮังการีจะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับกองทัพอิตาลีและรูเมเนีย แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการรุกของรัสเซียได้

    ทำให้แนวรบของเยอรมันบริเวณดังกล่าว เกิดช่องโหว่เป็นระยะทางถึง 282 กิโลเมตร ส่งผลให้เยอรมันตกอยู่ภาวะที่ล่อแหลมต่อการถูกโอบล้อม

    ในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 จอมพล อีริค ฟอน แมนสไตน์ ซึ่งเป็นความหวังของฮิตเลอร์ในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพใต้ของเยอรมัน (Army Group South) เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติในแนวหน้า

    แมนสไตน์พบว่าจากการรบที่ยืดเยื้อมานานเกือบสองปี ส่งผลให้ตลอดแนวรบ 700 กิโลเมตรของเขา มีรถถังของเยอรมันเหลือเพียง 495 คัน เผชิญหน้ากับรถถังรัสเซียซึ่งมีจำนวนมากถึง 5,000 คัน มีกำลังพลเพียง 32 กองพล ต่อกองทหารรัสเซีย 341หน่วย (Formations) ซึ่งแม้ว่าอัตราการจัดในระดับหน่วยของรัสเซียนั้น จะมีจำนวนน้อยกว่าอัตราการจัดของฝ่ายเยอรมันก็ตาม แต่อย่างน้อยฝ่ายรัสเซียก็มีกำลังมากกว่าเยอรมันถึง 7 ต่อ 1

    แมนสไตน์คาดการณ์ว่า รัสเซียกำลังวางแผนที่จะโอบล้อมเพื่อบดขยี้กลุ่มกองทัพใต้ของเขา เนื่องจากกลุ่มกองทัพนี้ประกอบไปด้วยกำลังทหารจากกลุ่มประเทศอักษะที่เข้าร่วมรบกับเยอรมัน คือ รูเมเนีย อิตาลี และฮังการี ซึ่งมีประสิทธิภาพด้อยกว่าทหารเยอรมันอย่างมาก เป็นจุดอ่อนที่เห็นได้อย่างชัดเจน

    นอกจากนี้แมนสไตน์ยังวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องว่า “จุดชี้ขาด” ของการรบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อยู่ที่รัสเซียจะสามารถโอบล้อมกองทัพเยอรมันได้หรือไม่ และเยอรมันจะสามารถหยุดยั้งและตอบโต้การโอบล้อมดังกล่าวได้อย่างไร

    ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ รัสเซียเปิดยุทธการ Star เพื่อยึดเมืองคาร์คอฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของรัสเซีย แมนสไตน์เสนอต่อฮิตเลอร์ให้ละทิ้งเมือง(เอกสารบางฉบับกล่าวว่า ผู้ที่นำกำลังล่าถอยออกจากตัวเมืองคือ นายพลพอล เฮาเซอร์ (Paul Hausser) ผู้บัญชาการกองทัพยานเกราะ เอส เอส ทั้งนี้เพื่อรักษากำลังทหารเอาไว้)

    ฮิตเลอร์ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในการรบแบบ “สนามเพลาะ” ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ปฏิเสธการถอยในทุกกรณี เพราะแนวคิดดั้งเดิมในการรบแบบสนามเพลาะของฮิตเลอร์นั้น จะต้องยึดพื้นที่ทุกตารางนิ้วไว้อย่างเหนียวแน่น (hold firm) ต่างจากการรบในสมรภูมิเปิดที่มีทั้งการรุก รับ และร่นถอย อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศรัสเซีย

    แต่แมนสไตน์ก็ตัดสินใจฝ่าฝืนคำสั่งของฮิตเลอร์ เขาสั่งให้ทหารเยอรมันล่าถอยออกจากตัวเมืองคาร์คอฟ ทำให้รัสเซียสามารถยึดคาร์คอฟได้สำเร็จ และรุกคืบหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว

    ฮิตเลอร์ไม่พอใจอย่างมากเมื่อสูญเสียคาร์คอฟไป ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์เขาบินตรงไปหาแมนสไตน์ที่กองบัญชาการของกลุ่มกองทัพใต้ที่เมือง ซาโปรอซ (Zaporozhe) แมนสไตน์เสนอแผนการบุกยึดคาร์คอฟคืนจากรัสเซีย พร้อมทั้งอธิบายให้ฮิตเลอร์ฟังถึงแนวคิดการรุกกลับแบบ “การดีดกลับของสปริง”




    ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1943 (เอกสารบางฉบับระบุว่าเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์) ขณะที่ฮิตเลอร์เดินทางไปยังกองบัญชาการกลุ่มกองทัพใต้ที่เมืองซาโปรอซ (Zaporozhe) และกำลังได้รับการต้อนรับจากจอมพลแมนสไตน์ เพื่อรับฟังคำชี้แจงถึงการที่แมนสไตน์สั่งให้ทหารล่าถอยออกจากเมืองคาร์คอฟ ขวาสุดของภาพคือ พลอากาศเอกบารอน วอลฟราม ฟอน ริชโทเฟน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันภาคพื้นที่ 4 ที่ให้การสนับสนุนการรุกของแมนสไตน์อย่างเต็มที่ จนสามารถยึดเมืองคาร์คอฟคืนมาจากรัสเซียได้




    กล่าวกันว่าการประชุมระหว่างฮิตเลอร์และแมนสไตน์ในแนวหน้าของรัสเซียในครั้งนี้ เครือข่ายสายลับของรัสเซียหรือที่รู้จักกันในนาม ลูซี่ ริง (Lucy ring) ที่สามารถรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวในกองบัญชาการของฮิตเลอร์ในเยอรมันได้อย่างละเอียด ไม่สามารถรวบรวมข่าวสารการวางแผนรุกกลับของเยอรมันได้ ทำให้การข่าวของรัสเซียผิดพลาด ส่งผลให้รัสเซียรุกคืบหน้าเข้ามาอย่างย่ามใจ

    แม้จะมีสิ่งบอกเหตุหลายอย่างที่ผิดปกติ โดยเฉพาะจำนวนเชลยศึกที่รัสเซียจับได้ขณะทำการรุกนั้นส่วนใหญ่เป็นทหารฮังการี มีจำนวนน้อยมากที่เป็นทหารเยอรมัน เนื่องจากทหารเยอรมันได้ล่าถอยอย่างเป็นระเบียบเข้าสู่พื้นที่รวมพลเพื่อเตรียมการรุกกลับ

    แนวคิด “การดีดตัวของสปริง” ที่แมนสไตน์เสนอต่อฮิตเลอร์นั้น เป็นการวางแผนที่จะดึงกำลังทหารเยอรมันให้ล่าถอยจากแนวรบ เพื่อลวงให้กองทัพรัสเซียรุกเข้าสู่พื้นที่ที่กำหนด กำลังทหารของเยอรมันที่ล่าถอยอย่างเป็นระเบียบจะเข้าสมทบกับกำลังส่วนหลังที่ประกอบไปด้วยกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ที่ฮิตเลอร์สั่งให้จัดตั้งขึ้นใหม่ด้วยตนเอง กองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส นี้ประกอบด้วยกองพลยานเกราะ เอส เอส อันเลื่องชื่อจำนวน 3 กองพลที่ได้รับการบรรจุรถถังแบบ Tiger อันทรงประสิทธิภาพมาเต็มอัตรานั่นคือ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด, กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ และกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ

    นอกจากกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส แล้ว แมนสไตน์ยังเตรียมกองทัพยานเกราะที่ 1 และกองพลยานเกราะอีก 5 กองพล รวมยานเกราะได้กว่า 350 คันเอาไว้เป็นหัวหอกในการรุกกลับอีกด้วย

    นอกจากนี้แมนสไตน์ยังมีกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaffe) ภาคพื้นที่ 4 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลอากาศเอกบารอน วอลฟราม ฟอน ริชโทเฟน (Baron Wolfram von Richthofen) ผู้ซึ่งเป็นญาติของบารอน แมนเฟรด ริชโทเฟน (Baron Manfred Richthofen) เสืออากาศเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้การสนับสนุนทางอากาศเป็นไปอย่างเต็มขีดความสามารถ ตามหลักการรบแบบสายฟ้าแลบ หรือ บลิท์ซครีก (Blitzkreig) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

    ซึ่งเมื่อสนธิกำลังทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วทำการรุกกลับอย่างรุนแรงเหมือนแรงดีดของสปริง แผนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ และสร้างความเสียหายให้แก่กองทัพรัสเซียเป็นอย่างมาก จนอาจถึงขั้นทำให้การรุกหยุดชะงักลง และส่งผลให้เยอรมันมีเวลาในการปรับแนวรบใหม่ตามที่ต้องการ

    การรุกกลับของแมนสไตน์เปิดฉากขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่อยุทธการ Donets โดยกำลังพลฝ่ายเยอรมันมีทั้งหมด 70,000 คน ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียมีกำลังทหารประมาณ 210,000 คน มากกว่าเยอรมันเป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังของฝ่ายเยอรมัน มีการฝึกฝนที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะกำลังพลหน่วย เอส เอส ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ทั้ง่ 3 กองพลที่เข้าร่วมยุทธการ

    นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศของฤดูหนาวก็ดูจะเอื้ออำนวยให้กับการรุกดังกล่าว เนื่องจากภูมิประเทศเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ลำน้ำต่างๆ ยังคงจับตัวเป็นน้ำแข็งหนา ส่งผลให้ยานเกราะของเยอรมันเปิดฉากการรุกด้วยความเร็วสูงสุด สนับสนุนด้วยเครื่องบินแบบเฮนเชล 129 (Henschel 129) ซึ่งมีสมญาว่า “ผู้พิฆาตรถถัง” จำนวนกว่า 50 ลำ เคียงข้างกับเครื่องบินแบบ เจ ยู 84 สตูก้า (Ju 84 Stuka) สังกัดกองทัพอากาศภาคพื้นที่ 4 ทำการโจมตีกำลังทหารและยานเกราะของรัสเซียอย่างรุนแรง โดยเพิ่มเที่ยวบินจากเดิมที่มีอยู่วันละ 250 เที่ยวบิน เป็นวันละ 1,000 เที่ยวบิน ส่งผลให้เยอรมันกลายเป็นผู้ครองอากาศเหนือน่านฟ้าคาร์คอฟในที่สุด

    การรุกกลับที่รวดเร็วและหนักแน่นเปรียบดัง แรงดีดตัวของสปริง ตามแผนของแมนสไตน์ สร้างความประหลาดใจให้กับทหารรัสเซียที่กำลังรุกเข้ามาอย่างชะล่าใจ ทหารรัสเซียจำนวนมากถูกโอบล้อมโดยรถถังที่แล่นเข้าหาด้วยความเร็วสูง

    จากนั้นก็ถูกบดขยี้จากท้องฟ้าโดยเครื่องบินดำทิ้งระเบิดของเยอรมัน สำหรับทหารรัสเซียที่ยังเหลือรอดอยู่อย่างบอบช้ำก็จะถูกกวาดล้างโดยทหารราบของเยอรมัน เพียงไม่กี่วันของการรุกตอบโต้ของแมนสไตน์ รัสเซียต้องสูญเสียทหารไปกว่า 23,000 คน ถูกจับเป็นเชลยเกือบ 10,000 คน ยานเกราะกว่า 615 คันถูกทำลาย ปืนใหญ่กว่า 1,000 กระบอกถูกยึดได้

    และในที่สุดกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส และกองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 ของเยอรมันก็รุกมาถึงชานเมืองคาร์คอฟ ในขณะที่กองทัพยานเกราะที่ 1 ก็ไล่บดขยี้ทหารรัสเซียจนต้องล่าถอยข้ามแม่น้ำ Donets กลับไป

    การรบในห้วงวันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ กองทัพรถถังที่ 3 และกองทัพที่ 69 ของรัสเซียเคลื่อนที่เข้าตีหน่วยยานเกราะของเยอรมันที่กำลังรุกเข้าสู่ตัวเมืองคาร์คอฟทางตอนใต้ เพื่อมุ่งหวังทำลายการเข้าตีของฝ่ายเยอรมัน

    แต่ท้องฟ้าเหนือเมืองคาร์คอฟในเวลานี้ เต็มไปด้วยเครื่องบินสตูก้าและเฮนเชล 129 ของเยอรมันที่บินดำดิ่งทิ้งระเบิดเข้าใส่รถถัง ที 34 ของกองทัพรถถังที่ 3 ของรัสเซีย จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถรุกต่อไปได้ ต้องปรับแนวรุกเป็นแนวตั้งรับ และเมื่อรถถัง Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 เปิดฉากเข้าตีตรงหน้าอย่างรุนแรง ในขณะที่กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ รุกเข้าโอบล้อมตัดเส้นทางลำเลียงและปิดทางล่าถอย ก็ส่งผลให้กองทัพรถถังที่ 3 ของรัสเซียต้องประสบความเสียหายอย่างหนักจนแทบจะละลายทั้งกองทัพเลยทีเดียว

    ส่วนกองทัพที่ 69 ของรัสเซีย ก็มีสถานการณ์ที่ไม่ได้ดีไปกว่ากองทัพรถถังที่ 3 มากนัก เพราะแมนสไตน์ส่งกองทัพยานเกราะที่ 4 (Forth Panzer Army) และกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ท เข้าตีเจาะแนวตั้งรับ จนเกิดช่องโหว่และเปิดทางให้กองทัพยานเกราะที่ 1 (1st Panzer Army) ของเยอรมันรุกเข้าสู่ตัวเมือง และสามารถจัดแนวตั้งรับได้ริมแม่น้ำ Donets

    การรบเพื่อแย่งชิงเมืองคาร์คอฟ

    วันที่ 3 มีนาคม ฤดูใบไม้ผลิคืบคลานเข้ามาแทนฤดูหนาว ทำให้น้ำแข็งเริ่มแปรสภาพกลายเป็นน้ำ ถนนหนทางกลายเป็นโคลนเลนและเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของยานเกราะของเยอรมัน อย่างไรก็ตามรถถังของกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ของนายพลพอล เฮาส์เซอร์ของเยอรมันก็สามารถรุกเข้าสู่ตัวเมืองคาร์คอฟได้ทั้งทางเหนือและทางตะวันตก แม้จะได้รับการต้านทานอย่างหนัก

    การรบในเมืองเป็นไปอย่างนองเลือดมากที่สุด ในวันที่ 11 มีนาคม ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของรัสเซียที่ซ่อนอยู่ตามซากอาคาร อาศัยความได้เปรียบ ยิงถล่มการรุกของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1, 2 และ 3 จนต้องหยุดชะงักหลายครั้ง กล่าวกันว่าการรบที่คาร์คอฟ เป็นการรบที่ดุเดือดและรุนแรงที่สุดของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ดในสงครามโลกครั้งที่สอง

    ซากปรักหักพังของอาคาร กลายเป็นสิ่งกีดขวางการเคลื่อนที่ของรถถัง ทำให้รถถังเยอรมันที่รุกเข้าสู่ตัวเมืองกลายเป็นเป้านิ่ง แต่ไม่ว่าการต้านทานจะรุนแรงเพียงใด หน่วยรบ เอส เอส ของเยอรมันก็ได้แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการรุกคืบหน้า จากถนนหนึ่งสู่อีกถนนหนึ่ง จากอาคารหนึ่งสู่อีกอาคารหนึ่ง จนกระทั่งรุกมาถึงบริเวณจัตุรัสแดง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองคาร์คอฟ ที่ซึ่งทหารรัสเซียใช้เป็นสถานที่ตั้งมั่นป้องกันตัวเมืองและป้องกันชีวิตของตนอย่างสุดฤทธิ์

    แต่ในที่สุดทหารเยอรมันก็สามารถกวาดล้างทหารรัสเซียจากบริเวณจัตุรัสแดงได้จากการสู้รบแบบประชิดตัวที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่ง

    14 มีนาคม กองทัพเยอรมันสามารถยึดเมืองคาร์คอฟได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะมีการต้านทานเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อยจากทหารรัสเซียที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามซากอาคารต่างๆ ซึ่งการต้านทานต่างๆ ก็ได้สิ้นสุดลงอย่างเด็ดขาดในวันที่ 16 มีนาคม

    ผลจากการรบในครั้งนี้ รัสเซียเสียทหารไปเป็นจำนวนถึง 80,000 คน จากจำนวนนี้ 45,200 คนเสียชีวิตหรือสูญหาย 41,200 คน บาดเจ็บ ส่วนตัวเลขของฝ่ายเยอรมัน ไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ก็เชื่อว่า มีจำนวนที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และนับจากนี้ไปเมืองคาร์คอฟก็จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการส่งกำลังบำรุงและการติดต่อสื่อสารของฝ่ายเยอรมันในพื้นที่ตอนใต้ของรัสเซียอีกครั้ง ก่อนที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในการรบที่ เคิร์ซ (Kursk)

    บทสรุป

    การรบที่เมืองคาร์คอฟ นับเป็นการรบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเยอรมันภายหลังจากความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายในแนวรบด้านตะวันออก ที่ทำให้แนวรบของเยอรมันกลับมามีความแข็งแกร่งมั่นคงดังเดิม

    อีกทั้งจอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ ผู้วางแผนการรบในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในการท้าทายคำสั่งในการ “ห้ามถอย” และ “การต่อสู้จนคนสุดท้าย” ของฮิตเลอร์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชาและรักษาไว้ซึ่งหลักนิยมในการรบที่ถูกต้อง เฉลียวฉลาด ด้วยการดำเนินกลยุทธ รุก รับ ร่นถอย ที่ใช้กำลังน้อยกว่า พิชิตกองทัพรัสเซียที่มีกำลังเหนือกว่าในทุกๆ ด้าน

    จึงนับได้ว่า ทั้งการรบที่คาร์คอฟ และจอมพลแมนสไตน์ นับเป็นบทเรียนและตัวอย่างอันควรค่าแก่การศึกษาประวัติศาสตร์สงครามในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง




    รถถัง Panzer IV ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ขณะเคลื่อนที่เข้าตีที่หมายในเมืองคาร์คอฟ ในภาพจะสังเกตเห็นกลุ่มตัวอาคารรอบๆ จัตุรัสแดงอยู่ในสายตา



    รถถังแบบ Tiger ของเยอรมันติดปืนใหญ่ขนาด 88 ม.ม.อันทรงอานุภาพ ในภาพจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การออกแบบเกราะด้านหน้าไม่ได้ใช้หลักความลาดเอียงเพื่อลดแรงกระทบของกระสุนเหมือนรถถังรุ่นอื่นๆ แต่กลับเพิ่มความหนาของเกราะให้หนาถึง 100 ม.ม. ทำให้มีความทนทานต่ออาวุธต่อสู้รถถังที่มีประจำการอยู่ในขณะนั้นแทบทุกชนิด แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลถึงน้ำหนักของตัวรถที่มากขึ้นตามไปด้วย

    --------------------------------

    สมรภูมิเมือง คาร์คอฟ ในสงครามโลกครั้งที่สอง

    Battle of Kharkov

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๒

    ----------------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×