ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #268 : สมรภูมิที่ เคริซ์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

    • อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 52


    สมรภูมิที่ เคริซ์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

    สมรภูมิที่ เคริซ์ หรือ ยุทธการ ซิทาเดล ในสงครามโลกครั้งที่สอง

    Battle of Kursk - Operation Citadel

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


    ---------------------------------





    นี่คือแผนที่แนวรบด้านตะวันออก หรือด้านรัสเซีย ก่อนยุทธการ ซิทาเดล (Citadel) ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์จะเปิดฉากขึ้น สีเขียวคือ กำลังฝ่ายเยอรมัน สีแดงคือกองทัพรัสเซีย

    จะเห็นส่วนของกองทัพรัสเซียยื่นเข้ามาในเขตของเยอรมัน หรือที่เรียกว่า salient ฮิตเลอร์ต้องการทำลายกองทัพรัสเซียที่อยู่ในส่วนที่ยื่นเข้ามาให้หมดไป ด้วยการให้กองทัพเยอรมัน ที่อยู่ด้านบนตีลงมา และกองทัพเยอรมันที่อยู่ด้านล่างตีตัดส่วนที่ยื่นมาขึ้นไป แล้วไปบรรจบกับส่วนข้างบน

    ซึ่งถ้ายุทธการซิทาเดล ประสบผลสำเร็จ ทหารรัสเซียจำนวนมากในส่วนที่ยื่นเข้ามา จะถูกตัดขาด และถูกโอบล้อม

    อย่างไรก็ตาม จอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ (Eric Von Manstein) แย้งว่า เยอรมันยังไม่พร้อมที่จะทำการรุกใดๆในขณะนั้น เนื่องจากหน่วยต่างๆ ได้รับความบอบช้ำมาจากสงครามในช่วงที่ผ่านมา ควรจะรอไปจนถึงต้นปี 1944 หรือฤดูร้อน เพราะสถานการณ์ในปี 1943 ไม่เหมือนสถานการณ์ในปี 1941 หรือ 1942 ที่เยอรมันสามารถทำการรุกได้ทุกรูปแบบ

    แต่ฮิตเลอร์ก็ยังคงยืนยันที่จะเปิดยุทธการซิทาเดล ในปี 1943 และนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์




    ในเดือนมิถุนายน 1943 แนวรบด้านรัสเซียมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นับแต่จุดเริ่มต้นการบุกรัสเซียในยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) เมื่อปี 1941 เนื่องจากความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ที่เมืองสตาลินกราด
    จึงมีการวางแผนการรุกครั้งใหญ่ซึ่งจะมีขึ้นที่เมือง KURSK

    เนื่องจากแนวหน้าของรัสเซียโผล่ล้ำเข้ามาในแนวของเยอรมันอย่างมาก ก่อให้เกิดส่วนยื่นหรือ salient ทำให้เยอรมันต้องใช้กำลังพลจำนวนมากในการตรึงกองทัพรัสเซียบริเวณนี้เอาไว้ เพื่อป้องกันการรุกของกองทัพรัสเซียที่โผล่ยื่นเข้ามาในเขตของเยอรมัน

    ฮิตเลอร์มีแนวความคิดที่จะทำลายกองทัพรัสเซียในบริเวณส่วนที่ยื่นเข้ามานี้ จึงวางแผนยุทธการ ซิทาเดล (CITADEL) เพื่อโจมตีกองทัพรัสเซีย ด้วยกำลังจำนวนมาก โดยกำลังฝ่ายเยอรมัน ประกอบด้วยทหารกว่า 900,000 คน รถถังกว่า 2,700 คัน ปืนใหญ่อีกกว่า 10,000 กระบอก

    ฮิตเลอร์หวังว่า การรบครั้งจะเปลี่ยนแปลงสงครามทางด้านตะวันออกได้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งจะเป็นการหยุดกระแสการหลั่งไหลเข้ามาในแนวรบของกองทัพรัสเซีย

    กำลังของรัสเซียสืบทราบความเคลื่อนไหวของเยอรมันในครั้งนี้ จึงได้เตรียมกำลังพลจาก กองทัพ 11 กองทัพ กำลังพลกว่า 1,700,000 คน รถถังกว่า 3,300 คัน ปืนใหญ่ 20,000 กระบอก และเครื่องบินอีกกว่า 2,000 ลำ กับระเบิดกว่าครึ่งล้านลูก พร้อมทั้งทำแนวรบถึง 6 ชั้น ประกอบด้วยสนามเพลาะ แนวทุ่นระเบิด คูดักรถถัง โดยวางแผนว่า เมื่อแนวแรกถูกทำลาย กำลังพลจากแนวแรกจะล่าถอยไปสมทบกับแนวที่สอง ระหว่างที่เยอรมันเคลื่อนที่จากแนวแรกไปแนวที่สอง จะพบกับการระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างหนัก เมื่อถึงแนวที่สอง ทหารเยอรมันจะเริ่มบอบช้ำ ในขณะที่ทหารรัสเซียจะมีกำลังพลจากแนวแรกมาเพิ่ม จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น สรุปก็คือ ยิ่งรุก เยอรมันจะยิ่งล้า ในขณะที่แนวรับของรัสเซียจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น

    รถถังส่วนใหญ่ของเยอรมันเป็นรถถัง PANZER MK IV หรือแม้แต่ MK III ซึ่งติดตั้งปืนใหญ่ 50 มม. ด้อยกว่ารถถังหลัก T 34 ของรัสเซีย แม้ว่าเยอรมันจะมีการใช้รถถังรุ่นใหม่ Panzer V - Panther และ Panzer VI - Tiger แต่เนื่องจากความรีบร้อน รถถังทั้งสองรุ่นนี้จึงมีปัญหาด้านเครื่องยนต์ และขัดข้องก่อนอออกปฏิบัติการเป็นจำนวนมาก




    กำลังพลของหน่วย เอส เอส จากประเทศฟินแลนด์ ที่เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมัน ในการรบด้านรัสเซีย



    การรบในสมรภูมิเคริซ (Kursk) ได้มีการระดมกำลังยานเกราะของหน่วย เอส เอส เพื่อการรุกครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยมีการตั้งกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 (2nd SS. Panzer Corps) ขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพแพนเซอร์ที่ 4 (4th Panzer Army) ของนายพลแฮร์มาน โฮท (Herrman Hoth) ประกอบด้วย

    - กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 (1st SS. Panzer Division Leitstandarte Adolf Hitler)

    - กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich)

    - กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ซึ่งมีสัญญลักษณ์เป็นรูปกระโหลกไขว้ (3rd SS. Panzer Division Totenkolf)

    การรุกครั้งนี้ หน่วยยานเกราะเอส เอส จัดรูปขบวนเป็น 2 รูปแบบ แบบแรก ใช้รถถังไทเกอร์ Panzer VI -Tiger เป็นกำลังหลัก อยู่ตรงกลางของรูปขบวน มีรถถัง Panzer V - Panther อยู่ที่ปีกทั้งสองข้าง รูปแบบที่สอง ใช้รถถัง Panzer V- Panther เป็นกำลังหลักอยู่ส่วนกลางของรูปขบวน และใช้ Panzer III, Panzer IV เป็นกำลังส่วนปีกทั้งสองข้าง

    รูปขบวนทั้งสองนี้ ทรงประสิทธิภาพมาก เพราะอำนาจการยิงอยู่ตรงกลาง เหมาะกับการเจาะแนวตั้งรับของรัสเซีย รถถังที่มีความเร็วอยู่ที่ปีก พร้อมที่จะโอบล้อม เข้าตีตลบ และทำลายกำลังที่ถูกโอบล้อม แต่ในสมรภูมิ Kursk มีจุดอ่อนอยู่ 2 ประการคือ

    1. รถถัง Panzer V - Panther มีเครื่องยนต์ที่ไว้ใจไม่ได้ เพราะเพิ่งออกจากโรงงาน ยังไม่มีการตรวจสอบที่พอเพียง




    รถถัง Panzer V - Panther ซึ่งเพิ่งออกจากโรงงาน มุ่งตรงสู่สมรภูมิ Kursk ทันที


    2. รถถัง Panzer VI - Tiger มีความเชื่องช้าเกินไป ในภูมิประเทศที่เป็นทุ่งโล่ง ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและไร่ข้าวโพด อย่างสมรภูมิ Kursk แนวรับของรัสเซีย สามารถมองเห็นรถถังของเยอรมันได้ในระยะไกลที่ขอบฟ้า ทำให้สามารถเตรียมการได้อย่างเต็มที่




    รถถัง Panzer VI - Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ขณะเดินทางเข้าสู่สมรภูมิที่ Kursk



    การรุกของเยอรมันในวันที่ 5 มิ.ย. 1943 เวลา 0430 น. ก่อนการรุก รัสเซียสืบทราบแผนของเยอรมันอย่างละเอียด จึงระดมยิงด้วยปืนใหญ่ เพื่อทำลายการเตรียมการเข้าตีของเยอรมัน 15 นาที ทำให้กำลังพลของเยอรมันสับสนอย่างหนัก แต่ก็สามารถปรับกำลังได้อย่างรวดเร็ว และรุกไปข้างหน้า แต่ก็ได้พบกับการต้านทานอย่างเหนียวแน่น รถถัง TIGER ที่ใช้เป็นหัวหอก เหนือกว่า T 34 ก็จริง แต่ทุ่นระเบิดดักรถถังกว่าครึ่งล้านลูกที่ฝ่ายรัสเซียวางไว้ และคูดักรถถังถึง 6 ชั้น ก็สร้างความเสียหายให้เยอรมันอย่างมาก

    กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (TOTENKOPF - หัวกระโหลกไขว้) ซึ่งเป็นกองพลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหน่วยหนึ่งของเยอรมัน ใช้รถถังเข้าโจมตีกองพล GUARDS ที่ 52 ของรัสเซีย แม้ว่าจะสามารถรุกคืบหน้าไปได้ แต่ก็พบกับความสูญเสียอย่างหนัก ส่วนกองพลยานเกราะเอส เอส ที่ 1 และ 2 ก็สูญเสียอย่างหนัก และรุกคืบหน้าไปได้ไม่มากนัก

    ทหารยานเกราะเอส เอส ทำการรบอย่างห้าวหาญ ผู้บังคับหมวดต่อสู้รถถัง Kurt Sametreiter ของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด สามารถทำลายรถถังรัสเซียได้ถึง 24 คัน ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยปืนต่อสู้รถถังเพียง 4 กระบอก รถถัง Panzer VI - Tiger หมายเลข 13 ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ทำลายรถถัง ที 34 ของรัสเซียได้ 20 คัน ในวันแรกของการรบ และเฉพาะกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 กองพลเดียวสามารถทำลายรถถังรัสเซียได้กว่า 500 คัน ตลอดการรบจนถึงวันที่ 14 มิ.ย.

    ในที่สุดกำลังยานเกราะของทั้งสองฝ่ายก็ได้มาพบกันที่เมือง PROKHOROVKA และเริ่มทำการรบกันอย่างหนักหน่วง หลายคนเชื่อว่าการรบที่นี่ เป็นการรบทางรถถังที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการต่อสู้ด้วยรถถังมา

    ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายมีมากมาย ซากรถถังและควันไฟ ตลอดจนซากศพของทหารเกลื่อนกราดไปทั่วสมรภูมิ

    แต่เมื่อการรบยิ่งยืดยาวออกไป ฝ่ายรัสเซียก็ยิ่งทุ่มเทกำลังทั้งหมดเข้าต้านทานเยอรมัน ในวันแรก เอส เอส รุกไปได้เพียง 19 กม. จนวันที่ 13 มิ.ย. ฮิตเลอร์ก็สั่งยกเลิกยุทธการ Citadel เนื่องจากความสูญเสียของเยอรมัน ที่มีสูงถึง 100,000 คน ฝ่ายรัสเซียเสียชีวิต 250,000 คน อีก 600,000 คนบาดเจ็บ รถถังรัสเซียกว่าครึ่งที่เข้าร่วมในการรบถูกทำลาย

    ฝ่ายเยอรมันก็สูญเสียอย่างหนัก กองทัพน้อย เอส เอส ที่ 2 เหลือรถถังเพียง 183 คัน รถปืนใหญ่อัตตาจร 64 คัน นายพลกูเดเรียนถึงกับกล่าวว่า "กำลังยานเกราะที่รวบรวมมาอย่างยากลำบาก เพื่อการรบครั้งนี้ ได้ประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก (heavily lost) ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์

    สำหรับฝ่ายเยอรมัน กำลังที่สูญเสียไป ยากที่จะหามาทดแทน ส่วนฝ่ายรัสเซียนั้น กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้ามาเสริมอีกมหาศาล ความสูญเสียที่มีสูง ทำให้ฮิตเลอร์สั่งยกเลิกยุทธการ Citadel ก่อนที่สูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ ผลจากการรบครั้งนี้ ทำให้เยอรมันไม่มีโอกาสเป็นฝ่ายรุกในแนวรบด้านตะวันออกได้อีกเลย




    ทหารรัสเซียกำลังสำรวจซากรถถัง Panzer V Panther ซึ่งถูกยิงเสียหายในการรบที่ Kursk



    -----------------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×