ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #264 : หน่วยยานเกราะ หรือ แพนเซอร์ของเยอรมัน ตอนที่ 2

    • อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 52


    หน่วยยานเกราะ หรือ แพนเซอร์ของเยอรมัน ตอนที่ 2

    หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ ของนาซีเยอรมัน
    ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 2

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


    ---------------------------------





    รถถัง Panzer III และทหารราบเยอรมันในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัสเซีย ทหารเยอรมันที่ยืนอยู่บนรถ กำลังใช้ปืนเล็กยาวประจำตัว แบบ Karabiner 98K ขนาด 7.92 มม. ยิงเข้าใส่เป้าหมายในหมู่บ้าน ที่กำลังเต็มไปด้วยควันไฟจากการเผาไหม้

    การรุกเข้าไปในรัสเซียของเยอรมัน เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทหารรัสเซียล่าถอยเพราะขาดการเตรียมพร้อม ก่อนการถอยมักจะเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเยอรมัน แต่สังเกตุจากบ้านที่เห็นทางด้านขวาของภาพ ซึ่งยังสมบูรณ์อยู่ แสดงว่าเป็นหมู่บ้านทั่วไป ที่ชาวบ้านยังคงพักอาศัยอยู่ ควันไฟที่เกิดขึ้นอาจมาจากการเข้าโจมตีของฝ่ายเยอรมัน ที่มีต่อทหารรัสเซียที่อาศัยหมู่บ้านแห่งเป็นสถานที่ต่อต้าน

    นอกจากนี้ถ้าจะสังเกตุอริยาบทที่ผ่อนคลายของทหารคนอื่นๆ ทำให้เห็นว่า การต้านทานในระยะใกล้ๆ ซึ่งอยู่ในระยะของปืนเล็กยาว ไม่รุนแรง หรือได้หมดไปแล้ว

    โปรดสังเกตุอุปกรณ์ต่างๆ ที่บรรทุกอยู่ท้ายรถ มีทั้งสายพานสำรอง ล้อสำรอง กล่องใส่อุปกรณ์ต่างๆ และ ลังกระสุน ทั้งนี้ เพราะการรบในรัสเซียมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก การส่งกำลังบำรุงไม่สามารถตามหน่วยทหารที่รุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้ หน่วย Panzer ต่างๆ จึงต้องพยายามพื่งตนเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้





    รถถัง Panzer III ของกองพลยานเกราะ Panzer ที่ 11 (11th Panzer Division.) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัสเซีย สังเกตุจากสัญญลักษณ์ของกองพล ที่ติดอยู่ด้านท้ายของรถถัง เป็นรูปปีศาจชูดาบด้วยมือซ้าย เท้าทั้งสองข้างของปีศาจเหยียบอยู่บนลูกล้อ รัสเซียขนานนามกองพล Panzer ที่ 11 ตามสัญญลักษณ์ว่า กองพลปีศาจ (Ghost Division)

    จากการแต่งกายของทหารเยอรมันในภาพ แสดงให้เห็นว่า เป็นฤดูหนาวแรกของพวกเขา (ปี 1941) ในรัสเซีย เนื่องจากไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์ป้องกันความหนาว อุปกรณ์ต่างๆ ยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้์ในภาวะปกติ ทั้งเสื้อผ้าของทหาร ก็ยังเป็นเพียงเสื้อคลุมสีเขียว ที่ทหารต้องดึงคอปกเสื้อขึ้นมาเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับตัวเอง ยังไม่มีชุดพรางสำหรับหิมะ ทั้งนี้เพราะเยอรมันคาดว่า จะสามารถพิชิตรัสเซียได้ก่อนที่จะถึงฤดูหนาว จึงไม่ได้มีการเตรียมการสำหรับฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า ลบ 30 องศา

    ส่วนรถถังเองก็ยังไม่มีการพรางสีให้เข้ากับภูมิประเทศที่เป็นหิมะ
    ต่อจากนี้ไป กำลังพลเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความทารุณในฤดูหนาวของรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้การรุกของเยอรมัน หยุดชะงักทุกแนวรบ มุมล่างขวาของภาพจะเห็น ลำกล้องปืน ขนาด 50 มม. ลำกล้องสั้นของรถถัง Panzer III อีกคันหนึ่งที่ผู้ถ่ายภาพ ใช้เป็นจุดสำหรับการถ่ายภาพ




    รถถัง Panzer V - Panther ที่เยอรมันพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของรถถังเยอรมันในแนวหน้า แต่เมื่อพบกับรถถัง T 34 ของรัสเซีย Panther ก็ไม่ได้แสดงพิษสงที่เด่นชัดออกมา T 34 สามารถทำลายรถถังรุ่นนี้ได้ ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ของมัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถที่โดดเด่นของพลประจำรถถังของเยอรมัน ได้ทำให้ Panther มีพิษสงขึ้นมาอย่างมาก

    ในทางตรงกันข้าม ในแนวรบด้านตะวันตก สหรัฐอเมริกา และอังกฤษกลับพบว่า รถถัง Panther รุ่นนี้ เป็นรถถังที่มีความคล่องตัวสูง มีปืนใหญ่ลำกล้องยาวที่แม่นยำ สามารถทำลายรถถังพันธมิตรได้ในระยะไกลๆ เครื่องยนต์ก็มีพลังมหาศาล และเป็นคู่ปรับที่น่ากลัวของรถถัง เอ็ม 4 เชอร์แมน (M 4 Sherman) ของสัมพันธมิตรในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรบในนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง Panther ได้แสดงพิษสงให้คู่ต่อสู้ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของมัน




    สภาพรถถัง StuG III ของเยอรมันที่ถูกยิงจนพังพินาศ พร้อมกับศพของพลประจำรถที่กระบอกปืนรถถัง รถถังรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อเป็นรถถังสนับสนุนทหารราบ แต่เนื่องจากความขาดแคลนรถถังในแนวหน้าของเยอรมัน ทำให้มันถูกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรถถังล่ารถถัง หรือ Tank hunter หรือในภาษาเยอรมันคือ Jagdpanzer

    จุออ่อนของรถถังนี้คือเกราะที่บาง เพราะตามแผนแบบ รถถัง StuG III จะอยู่ในแนวหลัง หรือห่างไกลจากการสู้รบ ทำหน้าที่ใช้ปืนใหญ่ ยิงสนับสนุนการรุกของทหารราบ มันจึงไม่เหมาะที่จะทำการรบกับรถถังด้วยกันเองในระยะประชิด เพราะหากนำไปใช้ผิดประเภทแล้ว ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างภาพที่เห็น




    รถถังPanzer VI - Tiger รุ่นที่ดัดแปลงเพื่อให้สามารถลุยน้ำลึกได้ จะเห็นท่อไอเสียของรถ ที่อยู่ทางตอนท้าย ถูกยืดให้สูงขึ้นเพื่อให้พ้นระดับน้ำ

    รถถัง Tiger นับเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดรุ่นหนึ่งของเยอรมัน มีเกราะหนา ติดปืนขนาด 88 มม. สามารถทำลายรถถังข้าศึกทุกชนิดได้ในขณะนั้น รถถังหนัก 55 ตันรุ่นนี้มีชื่อเสียงอย่างมากในการรบที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ แล้ว การที่เครื่องยนต์ของมันมักมีปัญหา ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการต่อสู้ในระยะประชิดระหว่างรถถังกับรถถังลดลงแต่อย่างใด

    ทั้งนี้เพราะการรบในนอร์มังดี มักจะเป็นการรบในระยะใกล้ ไม่เกิน 120-350 หลา อีกทั้งยังเป็นภูมิประเทศที่เหมาะกับการซุ่มโจมตี และด้วยปืนประจำรถขนาด 88 มม. ที่ทรงอานุภาพของไทเกอร์ ทำให้มันสามารถเอาชนะรถถังทุกชนิดของฝ่ายพันธมิตรได้ น่าเสียดายที่รถถังไทเกอร์ถูกผลิตออกมาเพียง 1,350 คันก่อนสงครามสิ้นสุด ซึ่งน้อยเกินไปที่จะต้านทานการบุกของข้าศึกจากทั้งสองด้าน

    มีการคำนวณว่า ในการรบที่นอร์มังดี ฝ่ายพันธมิตรต้องสูญเสียรถถัง 4 คัน เพื่อที่จะทำลายรถถังไทเกอร์เพียง 1 คัน จนเกิดแนวความคิดว่า การต่อสู้ด้วยรถถังที่นอร์มังดี เป็นการต่อสู็ระหว่างคุณภาพ และปริมาณ (quantity and quality) ทั้งๆ ที่ฝ่ายพันธมิตรมีจำนวนรถถังมากกว่าฝ่ายเยอรมันถึง 2 ต่อ 1 ในการรบที่นอร์มังดี

    โดยพันธมิตรมีรถถังทั้งหมดที่เข้าปฏิบัติการ 1,350 คัน ฝ่ายเยอรมันมีรถถัง 670 คัน ส่วนใหญ่พันธมิตรใช้รถถัง M 4 เชอร์แมน ส่วนเยอรมันมีทั้ง Panzer IV, V และ VI

    อย่างไรก็ตาม จำนวนรถถัง 4 ต่อ 1 ที่พันธมิตรต้องแลกเพื่อทำลายรถถังไทเกอร์นั้น ฝ่ายพันธมิตรสามารถทดแทนรถถังที่สูญเสียไปได้เกือบจะในทันที แต่ฝ่ายเยอรมันนั้น ไม่มีโอกาสที่จะทดแทนรถถังไทเกอร์ที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรที่โจมตีเส้นทางลำเลียงต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่นอร์มังดี ทำให้รถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการบุกของพันธมิตรในที่สุด




    รถถัง T 34 ของรัสเซียที่ถูกเยอรมันยึดได้ แล้วนำกลับมาใช้ ในภาพเป็นรถถังของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ รถถัง T 34 ของรัสเซียได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการเปลี่ยนขนาดปืนใหญ่จาก 76 มม. เป็น 85 มม. ในชื่อ T 34/85

    เยอรมันพยายามสร้าง Panther ขึ้นมาเพื่อพิชิต T 34 แต่ด้วยความที่ Panther เป็นรถถังที่ออกแบบมาดีเยี่ยม ขั้นตอนการผลิตต้องการความพิถีพิถัน สายการผลิตของ Panther จึงช้า ต้องการแรงงานที่มีฝีมือในการผลิต ส่งผลให้การผลิตรถถังรุ่นนี้ไม่ทันกับความต้องการในแนวหน้า

    รถถัง T 34 นี้ถือว่าเป็นรถถังหลักของรัสเซีย มีบางคนกล่าวว่า รถถังรุ่นนี้เป็นรถถังที่ยอดเยี่ยมที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง มันถูกผลิตออกมาอย่างมากมายในช่วงสงคราม รถถังหนัก 26 ตันรุ่นนี้ มีเกราะหนาถึง 45 มม. หรือ 1 นิ้วครึ่ง ติดปืนใหญ่ขนาด 76.2 มม. ที่สามารถหยุดรถถังของข้าศึกได้ทุกชนิด มีปืนกล 7.62 มม. 2 กระบอก (ระบบกระสุนของรัสเซียใช้ขนาด 7.62 มม. ในขณะที่เยอรมันใช้ขนาด 7.92 มม.)

    T 34 มีกำลังแรงม้าถึง 500 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 51 กม.ต่อ ชม. มีระยะทำการ 306 กม. (ปฏิบัติการได้ไกลที่สุดภายใต้การเติมเชื้อเพลิงเต็มถังครั้งเดียว) มีพลประจำรถ 4 คน คือ ผู้ควบคุมรถ พลปืน พลบรรจุกระสุน และพลขับทำหน้าที่พลปืนกลด้วย

    รถถัง T 34 ไม่ติดวิทยุ ยกเว้นรถถังของผู้บังคับหมวดเพียงคันเดียว จะเห็นว่าสมรรถนะของรถถังรุ่นนี้เหนือกว่ารถถัง Panzer III และ IV (more than a match for Panzer III and IV) เมื่อต้องเผชิญหน้ากันด้วยพลประจำรถถังที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน




    รถถัง Panzer III ของหน่วยยานเกราะเยอรมันในรัสเซีย ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 1943 พลประจำรถจะสวมเสื้อหนาวที่ได้รับแจกจ่ายให้ เพื่อต่อสู้กับอากาศหนาวของประเทศรัสเซีย ที่หนาวต่ำกว่าศูนย์องศาถึง - 30 ในเวลากลางวัน

    ทหารเยอรมันคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า "ซุปที่ต้มเดือด จะแข็งตัวอย่างรวดเร็วในเวลา 60 วินาที ลำกล้องปืนหรือกระบอกปืนเป็นจุดอันตรายที่สุด เพราะหากเอามือไปจับ หรือไปโดนเข้า มือจะติดอยู่กับเหล็กจนแกะไม่ออก และเมื่อแกะออกมาได้ หนังจะถูกลอกติดไปกับปืน เป็นแผลน่ากลัวทีเดียว"

    Panzer III ได้รับการยกย่องจากนายพลกูเดเรียน บิดาแห่งการรบแบบสายฟ้าแลบว่า เป็นกระดูกสันหลังชองหน่วยยานเกราะเยอรมัน มันทำหน้าที่ทุกอย่างในการรุกเข้าหาข้่ศึกในช่วงครึ่งแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง

    มันถูกผลิตโดยบริษัทเดมเลอร์เบนซ์ (Daimler-Benz) แรกเริ่มติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 มม. และปืนกล 7.92 มม. 1 กระบอก ต่อมาได้เปลี่ยนปืนใหญ่เป็นขนาด 50 มม. พร้อมเพิ่มปืนกล 7.92 มม.อีก 1 กระบอก มีเครื่องยนต์ที่กำลังสูง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 40 กม.ต่อ ชม. เกราะหนา 30 มม. น้ำหนักรถ 21 ตัน มีระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยม เพราะมีโช็คอัพที่ออกแบบโดย ดร. เฟอร์ดินานด์ ปอร์ช (Dr. Ferdinand Porche) Panzer III มีการปรับปรุงหลายรุ่น ส่วนใหญ่ออกสู่แนวรบด้านรัสเซีย



    รถถัง Panzer IV ซึ่งนับเป็นรถถังที่รับใช้กองทัพนาซีเยอรมันมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม จนสิ้นสุดสงคราม นายพลกูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะเยอรมันและผู้ริเริ่มแนวคิดสงครามสายฟ้าแลบ เป็นผู้ที่คัดค้านการยุติการผลิตรถถังรุ่นนี้ ในห้วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกูเดเรียนให้เหตุผลว่า เยอรมันยังต้องการรถถังรุ่นนี้อยู่ เพราะพลประจำรถเกือบทุกคน มีความคุ้นเคยกับรถถังรุ่นนี้เป็นอย่างดี "พวกเขาสามารถบังคับรถถังรุ่นนี้ได้ แม้กระทั่งยามที่พวกเขาหลับ" นายพลกูเดเรียนกล่าว




    รถถัง Panzer III ของหน่วยยานเกราะเยอรมัน รถถังรุ่นนี้ต่างจากรถถัง Panzer IV ตรงที่มีล้อกดสายพาน 6 ล้อ ในขณะที่ Panzer IV มี 8 ล้อ ส่วนล้อรองสายพาน Panzer III มี 3 ล้อ และ Panzer IV มี 4 ล้อ

    ในช่วงปลายของสงคราม Panzer III ถูกนำไปดัดแปลงเป็นรถถังรุ่นใหม่ๆ หลายแบบ เนื่องจากปืนที่ติดมากับรถ มีขนาดพียง 50 มม. และด้วยขนาดของป้อมปืนที่เล็ก ทำให้ไม่สามารถขยายขนาดของปืนใหญ่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว จึงทำให้มันไม่สามารถที่จะต่อสู้กับรถถังรุ่นใหม่ๆของข้าศึกในแนวหน้าได้




    รถถัง Panzer III รุ่นนี้เป็นรถถังบังคับการสำหรับผู้บังคับกองพัน จะเห็นได้จากปืนที่ติดกระบอกกลางถูกเปลี่ยนจากปืนใหญ่ 50 มม. มาเป็นเพียงปืนกล เพื่อป้องกันตนเอง ส่วนปืนใหญ่ที่ติดอยู่กับป้อม ด้านซ้ายมือ ถ้าสังเกตุให้ดีจะเป็นปืนปลอมที่ติดไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด

    สาเหตุที่ย้ายเอาปืนใหญ่ออกไป ก็เพื่อต้องการให้เกิดพื้นที่ในตัวรถถัง เพื่อติดตั้งวิทยุ และใช้เป็นห้องบัญชาการของผู้บังคับกองพัน ซึ่งโดยทั่วไปรถถังนี้จะไม่ได้ออกสู่แนวหน้า จึงต้องการเพียงปืนกลเพื่อใช้ป้องกันตนเองเท่านั้น




    รถถัง Panzer IV ของเยอรมันในรูปนี้ แสดงให้เห็นถึงปืนใหญ่ขนาด 75 มม. รถถังรุ่นนี้มีพลประจำรถ 5 คน คือ ผู้บังคับรถ พลปืน พลบรรจุกระสุน พลวิทยุ และพลขับ จะสังเกตุเห็นเสาวิทยุที่ติดอยู่กับรถทางด้านซ้ายมือของภาพ การใช้วิทยุสื่อสารประจำรถถัง ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสื่อสารในสนามรบของเยอรมัน และได้กลายเป็นแบบฉบับของหน่วยรถถังในยุคหลังสงคราม
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×