ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #260 : หน่วยทหารพลร่มของนาซีเยอรมันใน WW II

    • อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 52


    หน่วยทหารพลร่มของนาซีเยอรมันใน WW II

    หน่วยทหารพลร่มของกองทัพนาซีเยอรมัน
    หรือ ฟอลชริมเจเกอร์ (FALLSCHIRMJAGER)


    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ




    ภาพแสดงการแต่งกายของทหารพลร่มเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สังเกตุได้ว่าหมวกเหล็กของพลร่มเยอรมัน จะแตกต่างจากหมวกเหล็กของทหารหน่วยอื่นๆ ตรงที่ส่วนขอบของหมวก ไม่ยื่นลงมาป้องกันบริเวณใบหูและศรีษะด้านหลัง เหมือนกับหมวกทหารนาซีเยอรมันทั่วไป หมวกเหล็กของพลร่มเยอรมันนี้ รู้จักกันในนามของหมวกแบบ M1938



    --------------------------------------



    หน่วยพลร่มของเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ถือว่าเป็นหน่วยรบ ที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุด หน่วยหนึ่งของ กองทัพนาซีเยอรมัน ผู้นำนาซีเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีความชื่นชม ในความสามารถของทหารหน่วยพลร่ม เป็นอย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่า ชื่นชมไม่ด้อยไปกว่า ทหารหน่วย เอส เอส (waffen ss) ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษ ประจำตัวของฮิตเลอร์เอง

    คำว่า ฟอลชริมเจเกอร์ (fallschirmjager) นั้นในภาษาเยอรมันแปลว่า นักล่าจากจากท้องฟ้า (hunters from the sky) (fallschirm - แปลว่า พลร่มหรือ parachute ในภาษาอังกฤษ และ jager แปลว่า นักล่าหรือ hunter - ranger ในภาษาอังกฤษ)

    หน่วยพลร่มนี้ขึ้นตรงกับ กองทัพอากาศนาซีเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (luftwaffe) ซึ่งต่างจากกองทัพสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ที่หน่วยพลร่มจะขึ้นตรงกับกองทัพบกมากกว่า ที่จะขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ โดยหน่วยพลร่มหน่วยแรกของเยอรมันถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1938 เริ่มต้นจากการรวบรวมกองพันทหารพลร่ม มาเป็นกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 (7th Flieger Division หรือ 7th Air Division ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งประกอบด้วยกรมทหารพลร่ม จำนวน 3 กรม

    ความชื่นชมที่ฮิตเลอร์มีต่อหน่วยทหารพลร่มนี้ เกิดขึ้นมาจากความสามารถอันโดดเด่นของทหารพลร่ม ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะการกระโดดร่มเข้าโจมตีประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ ในปี 1940

    โดยเฉพาะที่เดนมาร์กนั้น ถือเป็นการปฏิบัติการรบครั้งแรกของหน่วยพลร่มเยอรมัน ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 1940 ที่ทหารพลร่มเยอรมันจู่โจมเข้ายึดสนามบิน Aarhus นอกจากนี้ยังเข้าทำลายแนวต้านทานของเบลเยี่ยม ที่ป้อม อีเบน อีเมล (Eben Emael) ได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วว่า หน่วยฟอลชริมเจเกอร์ หรือ หน่วยทหารพลร่ม (หรือที่ทางสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า หน่วยส่งทางอากาศ - Airborne) เป็นหน่วยทหาร ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกหน่วยหนึ่ง ของนาซีเยอรมันในขณะนั้น




    ทหารพลร่มเยอรมัน กำลังพักผ่อน ภายหลังจากการเข้ายึดป้อม อีเบล อีเมล (Eben Emael) ของเบลเยี่ยมได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัยชนะครั้งนี้ มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้นาซีเยอรมันรุกเข้ายุโรปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ ไม่สามารถเตรียมการตั้งรับได้ทันท่วงที





    (ภาพบน) ทหารพลร่มของเยอรมัน ขณะทำการฝึก ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรดสังเกตุเสื้อเครื่องแบบ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทหารพลร่มเยอรมัน ในช่วงต้นของสงคราม

    ขณะที่แสนยานุภาพทางอากาศของนาซีเยอรมัน ยังคงเกรียงไกรเหนือน่านฟ้ายุโรป ทหารหน่วยนี้จะทำการรบโดยการส่งทางอากาศ หรือกระโดดร่มลงเข้ายึดพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งใช้เครื่องร่อน (glider) เป็นพาหนะ ร่อนลงเหนือเป้าหมาย ดังเช่น การเข้ายึดป้อม อีเบน อีเมล ของเบลเยี่ยม ซึ่งทหารพลร่มเยอรมันจำนวน 85 นาย ลำเลียงโดยเครื่องร่อน 11 ลำ ร่อนลงเหนือป้อม แล้วใช้ระเบิดแรงสูงทำลายป้อมต่างๆ ทีละป้อม จนทหารภายในป้อมยอมแพ้อย่างรวดเร็ว

    ในภาพนี้คาดว่าจะเป็นกำลังพลของกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1938 สองปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ต่อมากองพลนี้ได้รับการปรับเป็น กองพลพลร่มที่ 1 (1st Parachute Division) โดยมีผู้บัญชาการกองพลคนแรกคือ พลตรี เคิร์ท สตูเด้นท์ (Kurt Student) ซึ่งเป็นหนึ่งขุนพลที่จอมพล แฮร์มาน เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง

    ในช่วงปลายของสงคราม เมื่อกองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร สามารถครองอากาศได้ ประกอบกับยุทธวิธีของนาซีเยอรมัน เปลี่ยนจากการรุก เป็นการตั้งรับในทุกแนวรบ

    พลร่มเยอรมันแทบจะหมดโอกาสในการกระโดดร่มลงยึดที่หมายอย่างฉับพลัน ตามหลักการรบแบบสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมัน ทหารหน่วยนี้ก็ต้องทำการรบแบบทหารราบทั่วไป แต่ประสิทธิภาพในการรบ ก็ยังคงเป็นที่น่าเกรงขาม สำหรับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เช่นเดิม

    ดังเช่นการรบที่แอนซิโอ และมองเตคาสิโน ในประเทศอิตาลี ในปี 1944 ที่กำลังพลของหน่วยพลร่มเยอรมัน ได้สร้างความเสียหายให้กับทหารอังกฤษ และอเมริกาเป็นอย่างมาก

    กองพลพลร่มที่ 9 (9th Fallschirmjager Division) คือหน่วยพลร่มหน่วยสุดท้ายของนาซีเยอรมัน ที่ถูกตั้งขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ในการรบป้องกันกรุงเบอร์ลิน ในเดือนเมษายน 194




    (ภาพบน) ภาพแสดงหมวกเหล็กของทหารพลร่มเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จะเห็นสัญญลักษณ์ของกองทัพอากาศนาซีเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaffe) ปรากฏอยู่ด้านซ้ายของหมวก เป็นรูปนกอินทรีกางปีก เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ อันเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซี ส่วนอีกด้านของหมวกจะเป็นแถบสีธงชาติเยอรมัน ดำ ขาว แดง ส่วนสายรัดคางนั้น จะเพิ่มเป็นสองจุด เพื่อทำให้เกิดความกระชับ เมื่อกำลังพล ต้องกระโดดออกมาจากเครื่องบิน ท่ามกลางสายลมที่พัดแรง และต้องรับแรงกระแทกเพื่อลงสู่พื้นดิน









    (ภาพบน) การส่งสัมภาระทางอากาศของหน่วยพลร่มเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินในภาพคือ เครื่องบินแบบ จุงเกอร์ เจ ยู 52 (Junker Ju 52) ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงหลัก ของกองทัพอากาศเยอรมัน จุงเกอร์ เจ ยู 52 (ภาพล่าง) เป็นเครื่องบินแบบ สามเครื่องยนต์ สองเครื่องยนต์ที่ปีก และหนึ่งเครื่องยนต์ที่หัวเครื่องบิน รูปร่างของเครื่องแบบนี้ ได้รับการกล่าวขานว่า เทอะทะ ไม่มีความสวยงาม แต่แท้จริงแล้ว เครื่องจุงเกอร์ เจ ยู 52 เป็นเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์สภาพเยี่ยม และไว้วางใจได้ ทำให้กองทัพอากาศเยอรมัน บรรจุเครื่องบินแบบนี้ เข้าประจำการเป็นเครื่องบินลำเลียงหลักของกองทัพ และใช้งานตลอดสงคราม

    เครื่องบินจุงเกอร์ เจ ยู 52 เป็นเครื่องบินหลัก ที่ใช้ในการลำเลียงทหารพลร่ม ของกองทัพอากาศเยอรมัน เข้าสู่ที่หมาย นับตั้งแต่การรุกเข้าสู่ยุโรปในช่วงต้นของสงคราม ทั้งการรุกเข้าสู่ เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และสงครามในการยึดเกาะครีต (Crete)





    การรุกสู่เกาะครีต (Crete) ของทหารพลร่มเยอรมัน ภาพนี้ถ่ายบริเวณเมือง Heraklion หรือในภาษาอังกฤษว่า Iraq lion ในวันที่ 20 พ.ค. 1941 จะเห็นเครื่องบินแบบ จุงเกอร์ เจ ยู 52 ถูกยิงไฟลุกท่วม และกำลังตกลงสู่พื้น ในขณะที่ท้องฟ้า เต็มไปด้วยพลร่มเยอรมัน ที่โดดลงเพื่อยึดที่หมาย

    เยอรมันใช้เครื่องบินลำเลียง ซึ่งรวมทั้งจุงเกอร์ เจ ยู 52 จำนวน 493 ลำ เครื่องร่อน 72 ลำ นำพลร่มเข้าสู่ที่หมายในครีต นอกจากเครื่องบินลำเลียงแล้ว ยังมีเครื่องทิ้งระเบิด 228 ลำ เครื่องดำดิ่งทิ้งระเบิด 245 ลำ และเครื่องบินขับไล่ 233 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์อีก 50 ลำ รวมทั้งสิ้นกว่า 700 ลำ เข้าร่วมในการรุกครั้งนี้ด้วย

    การยึดเกาะครีต เป็นการรุกที่ใช้กำลังพลร่มเป็นหัวหอก โดยใช้กำลังพลจาก กองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 (7th Flieger Division) เป็นกำลังหลัก สนับสนุนโดยทหารราบอีก 3 กรมทหารราบ นับว่าเป็นการปฏิบัติการ โดยการใช้กำลังทหารพลร่มครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพเยอรมัน และต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก โดยพลร่มเยอรมันเสียชีวิตถึงกว่า 4,000 นาย บาดเจ็บ สูญหายอีกกว่า 2,500 นาย กำลังพลเหล่านี้ บางส่วนเสียชีวิตก่อนจะลงถึงพื้นดินเสียอีก เนื่องจากถูกทหารสัมพันธมิตร ระดมยิงขณะอยู่ในท้องฟ้า

    กำลังพลที่สูญเสียไปเหล่านี้ ล้วนเป็นทหารชั้นยอด ที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี และไม่สามารถทดแทนได้ในระยะเวลาอันจำกัด ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ ทำให้เยอรมันไม่เคยใช้หน่วยพลร่ม เป็นหัวหอกในการรุกครั้งใหญ่อีกเลย






    (ภาพบน) วันที่ 20 พ.ค. 1941 พลร่มของกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 (7th Flieger Division - 7th Air Division ในภาษาอังกฤษ) โรยตัวลงสู่พื้นดินบนเกาะครีต ในเวลานั้น เกาะครีตมีกำลังทหารสัมพันธมิตร มากกว่าทหารเยอรมันถึงสองเท่า คือมีจำนวนถึง 42,500 คน ประกอบด้วยทหารออสเตรเลีย 6,450 คน ทหารนิวซีแลนด์ 7,700 คน ที่เพิ่งถอยทัพมาจากประเทศกรีซ ภายหลังจากเยอรมันเข้ายึดครอง ทหารกรีกอีกกว่าหมื่นคน และทหารอังกฤษอีกจำนวนหนึ่ง ทหารนิวซีแลนด์คนหนึ่งกล่าวว่า "ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเครื่องบินเยอรมัน บินลำต่อลำ เป็นแนวยาวจากขอบฟ้าหนึ่ง ไปยังอีกขอบฟ้าหนึ่ง เหมือนฝูงนกที่กำลังอพยพไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

    ทหารเยอรมันจำนวนมาก กระโดดร่มออกจากเครื่อง ได้ถูกทหารสัมพันธมิตรสังหารขณะที่ไม่มีทางต่อสู้ หรือไม่มีทางป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะขณะที่กำลังลอยอยู่กลางท้องฟ้าภายใต้ร่มชูชีพสีขาว พลตรี Meindl ผู้บังคับหน่วยคนหนึ่งของพลร่มเยอรมัน ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสก่อนลงถึงพื้น จนไม่สามารถบัญชาการรบได้

    ทหารเยอรมันลงสู่พื้นทุกหนทุกแห่ง บางแห่งพวกเขาก็เริ่มทำการรบกับทหารสัมพันธมิตร โดยปราศจากผู้นำ เนื่องจากผู้บังคับหน่วยเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพลัดหลงจากหน่วยของตน สนามบินที่ Maleme ถูกพลร่มเยอรมันเข้ายึดอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จากความกล้าหาญของนักบินประจำเครื่องบินจุงเกอร์ เจ ยู 52 จำนวนหนึ่ง ที่นำเครื่องบินฝ่ากระสุนปืนนานาชนิด ร่อนลงจอดฉุกเฉินบริเวณสนามบิน ก่อนที่พลร่มที่อยู่ในเครื่องแต่ละลำ จะกระจายกำลังกันเข้ายึดสนามบินได้

    ในช่วงแรกของการรบ เยอรมันไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้มากนัก จนกระทั่งกำลังสนับสนุนมาถึง นำโดยกองพลภูเขาที่ 5 การรบจึงเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายเยอรมันได้เปรียบ และสามารถยึดเกาะครีตได้ในที่สุด





    ทหารพลร่มเยอรมัน ขณะกำลังปีนขึ้นเครื่องบินลำเลียง เพื่อทำการฝึกซ้อมการกระโดดร่ม แนวความคิดในการใช้ทหารพลร่มในการรบของเยอรมัน ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นแนวความคิดใหม่ แต่เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับการรบแบบสายฟ้าแลบ ที่เยอรมันนำมาใช้ โดยพลตรี เคริท์ สตูเด้นท์ (Kurt Student) ผู้บัญชาการกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 ซึ่งภายหลังได้รับการปรับเป็นกองพลพลร่มที่ 1

    เคิร์ทเป็นอดีตเสืออากาศเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้ที่ฮิตเลอร์นิยมชมชอบเป็นส่วนตัว ได้ริเริ่มแนวความคิดการใช้หน่วยพลร่มในการรบขึ้น รวมทั้งเขายังเป็นผู้ริเริ่มแผนการบุกเกาะครีต โดยการใช้ทหารพลร่มเป็นกำลังหลัก แม้ว่าฮิตเลอร์จะไม่มั่นใจในความสำเร็จ แต่สตูเด้นท์ก็โน้มน้าวให้ผู้นำเยอรมัน ตกลงใจ ใช้ทหารพลร่มบุกเกาะครีต และประสบความสำเร็จในที่สุด แต่ก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างหนัก





    (ภาพบน) แผนที่เกาะครีต ที่หน่วยพลร่มเยอรมัน กองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 บุกเข้าโจมตีในวันที่ 20 พ.ค. 1941 จากมุมซ้ายของแผนที่ จะเห็นสนามบิน Maleme ซึ่งถูกฝูงบินทิ้งระเบิด และฝูงบินขับไล่เยอรมัน โจมตีในช่วงรุ่งอรุณ สร้างความเสียหายให้กับหน่วยปืนต่อสู้อากาศยานรอบสนามบินเป็นอย่างมาก ก่อนที่เครื่องบินลำเลียงแบบ จุงเกอร์ เจ ยู 52 ลำเลียงพลร่มของกรมจู่โจมที่ 1 กองพลพลร่มที่ 7 จะร่อนลงฉุกเฉิน ในบริเวณสนามบิน

    เหล่าพลร่มกรูกันออกจากเครื่อง เข้ายึดพื้นที่รอบสนามบินอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พลร่มจากกรมทหารพลร่มที่ 3 ของกองพลพลร่มที่ 7 จะโรยตัวลงสู่พื้นดินบนเกาะครีต บริเวณ Khania กรมทหารพลร่มที่ 2 เข้าโจมตี Rethimnon และกรมทหารพลร่มที่ 1 เข้ายึด Heraklion

    นับจากวันที่ 20 พ.ค. การรบจะดำเนินไปอย่างนองเลือด จนกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพลตรี Freyberg ผู้ซึ่งเดินทางมาถึงครีต เพียงสามสัปดาห์ก่อนการบุกของเยอรมัน จะยอมแพ้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 30 พ.ค. ท่ามกลางความสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย โดยทหารสัมพันธมิตรเสียชีวิต 1,800 คน ถูกจับเป็นเชลย 12,000 คน ทหารเรืออังกฤษเสียชีวิต 1,828 คน บาดเจ็บ 183 คน ถอยไปได้อย่างปลอดภัย 18,000 คน ในขณะที่เยอรมัน เสียทหารไปถึง 4,000 คน บาดเจ็บ 2,500 คน

    ตามข้อเท็จจริงแล้ว สัมพันธมิตรทรบล่วงหน้าถึงแผนการบุกของฝ่ายเยอรมัน ก่อนหน้านี้แล้ว อันเป็นผลมาจาก การถอดรหัสอีนิกม่า (Enigma) ของฝ่ายเยอรมันได้ แต่ทหารสัมพันธมิตรก็อยู่ในสภาพที่ขาดแคลน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ยานยนต์ อย่างมากมาย เนื่องจากถอยร่นมาจากกรีก ในสภาพที่แตกกระสานซ่านเซ็น ทำให้ทหารสัมพันธมิตรที่จำนวนมากกว่า เยอรมันผู้รุกรานถึงสองเท่า ไม่สามารถต้านทานได้

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการวิเคราะห์ถึงการสูญเสียอย่างมากของทหารพลร่มเยอรมัน ในการรบที่เกาะครีต การวิเคราะห์พบว่า การใช้พลร่มเป็นกำลังหลักในการรุกนั้น จำเป็นจะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว ฉับพลัน โดยที่ข้าศึกไม่รู้ตัวมาก่อน เนื่องจากการส่งทางอากาศขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสูงมากหากข้าศึกทราบล่วงหน้า

    แต่การรบที่เกาะครีตนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบล่วงหน้าถึงแผนการบุก จึงตอบโต้ได้อย่างรุนแรง เหตุการณ์เดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในการส่งทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ในยุทธการมาร์เก็ต การ์เดน (Operations Market - Garden) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 1944 ซึ่งก็จบลงด้วยความสูญเสียขนาดใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นเดียวกัน

    สำหรับการรบที่มองเต คาสิโน (Monte Casino) ในประเทศอิตาลีนั้น กองพลพลร่มที่ 1 (1st Fallschirmjager Division) ซึ่งเดิมคือกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 นั่นเอง ได้ทำการรบแบบทหารราบ โดยดัดแปลงที่มั่นที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทั้งทางอากาศ และอาวุธหนัก เป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง พวกเขาสามารถต้านทานการรุกของสัมพันธมิตรได้นานนับเดือน และเนื่องจากทหารเหล่านี้สวมใส่ชุดคลุมสีเขียว จึงได้รับการตั้งฉายาจากทหารของสัมพันธมิตรว่า ปีศาจสีเขียว (Green Devils)





    การแต่งกายของทหารพลร่มเยอรมัน ในการโจมตีเกาะครีต ในปี 1941 จะเห็นเสื้อคลุมสีเขียว (smock) ที่สวมทับเสื้อเครื่องแบบสีเทาของกองทัพอากาศเยอรมัน ตัวเสื้อตัดเย็บจากผ้าฝ้ายคุณภาพดี มีกระดุมพลาสติคสีน้ำเงิน 3 เม็ด และกระดุมแบบกดอีก 2 เม็ด

    ในภาพจะเห็นแนวกระเป๋าที่หัวไหล่ ทั้งสองข้าง เป็นกระเป๋าแบบปิดเปิดด้วยซิปยาว ตัวซิปมีแถบหนังสีน้ำตาล เพื่อใช้จับได้สะดวกในการรูดซิปขึ้น ลง เสื้อคลุมสีเขียวจะคลุมยาวถึงเป้ากางเกง และติดกระดุมแบบกด 2 เม็ด บริเวณเป้ากางเกง ชุดเครื่องแบบจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามห้วงของสงคราม และตามภูมิประเทศ เช่นการรบในตูนิเซีย และในแอฟริกา สีเสื้อเครื่องแบบ และหมวก ก็จะเปลี่ยนเป็นสีกากี เพื่อใช้ในการรบในพื้นที่แถบทะเลทราย





    ทหารพลร่มเยอรมัน หรือ ฟอลชริมเจเกอร์ ที่ได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก จากความกล้าหาญในการโจมตีป้อมอีเบน อีเมล (Eben Emael) ของเบลเยี่ยม ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ่ายภาพร่วมกับผู้นำนาซีเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พลร่มเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับสงครามที่หนักหน่วง ตลอดช่วงสี่ปีข้างหน้าของสงคราม โอกาสแห่งการรอดพ้นจากความสูญเสียดูมีไม่มากนัก สำหรับนักรบผู้กล้าแห่งกองทัพอากาศเยอรมันเหล่านี้

    การบุกโจมตีป้อมอีเบน อีเมล เปิดฉากขึ้นในรุ่งอรุณของวันที่ 11 พฤษภาคม 1940 ภายหลังจากที่มีการเตรียมความพร้อม และการซักซ้อมการบุกทำลายป้อมแห่งนี้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1939

    โดยหน่วยที่ร่วมทำการบุก จะถูกแยกออกจากโลกภายนอก ทั้งหน่วยพลร่ม และหน่วยทหารช่าง เพื่อทำการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ โดยพลร่มที่เข้าโจมตีป้อมเป็นกำลังพลจากกองพันที่ 1 กรมพลร่มที่ 1 (1st Battalion, 1st Parachute Regiment) และทหารช่างที่จะข้ามเครื่องกีดขวางเข้าไปสมทบกับทหารพลร่ม จัดจาก กองร้อยทหารช่าง กองพันที่ 2 กรมพลร่มที่ 1 (Pioneer company, 2nd Battalion, 1st Parachute Regiment)






    หน่วยพลร่มของเยอรมัน ควบคุมตัวเชลยศึกสัมพันธมิตร ภายหลังจากเข้ายึดเกาะครีตได้แล้ว การรบบนเกาะครีตดำเนินไปถึง 10 วัน จนกว่าทหารสัมพันธมิตรจะยอมแพ้ และล่าถอยจากเกาะครีตไปทั้งหมด อังกฤษพยายามอย่างมากในการสกัดกำลังหนุนของเยอรมัน ซึ่งเป็นทหารราบจากกรมทหารราบอีก 3 กรม เพื่อโดดเดี่ยวทหารพลร่มบนเกาะ แต่กองทัพอากาศเยอรมันก็ทำลายกองเรือของอังกฤษ ที่วางกำลังสกัดกั้นเรือลำเลียงที่จะลำเลียงทหารราบเยอรมัน จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเยอรมันสามารถจมเรือประจัญบานและเรือขนาดใหญ่ของอังกฤษได้ 6 ลำ อีก 2 ลำได้รับความเสียหายอย่างหนัก

    ส่วนทหารราบเยอรมันที่เป็นกำลังหนุน ก็สามารถยกพลขึ้นบกที่เกาะครีตได้ และเข้าร่วมกับทหารพลร่มเยอรมัน ทำการกวาดล้างทหารสัมพันธมิตรที่หลงเหลืออยู่ จนยอมแพ้ในที่สุด





    (ภาพบน) ทหารพลร่มเยอรมัน จากกองพลพลร่มที่ 1 (1st Parachute Division) ซึ่งเดิมคือกองพลพลร่มที่ 7 ที่ทำหน้าที่บุกยึดเกาะครีต กำลังรอการบุกเข้ามาของทหารสัมพันธมิตร ในสมรภูมิที่มองเต คาสิโน (Monte Cassino) ในประเทศอิตาลี ในปี 1944

    ปืนใหญ่ที่เห็น คือปืนใหญ่ของรถถังแบบ Stug III ซึ่งเป็นรถถังสนับสนุนทหารราบ โปรดสังเกตุระเบิดขว้างที่วางเรียงอยู่ที่ผนังเหนือศรีษะของทหารที่นั่งอยู่กับพื้น

    จากปี 1940 จนถึงปี 1944 ทหารพลร่มเยอรมัน ทำการรบในสมรภูมิต่างๆทุกสมรภูมิ ด้วยความกล้าหาญ เคียงข้างกับทหารราบ และทหารหน่วยอื่นๆของกองทัพเยอรมัน เป็นการรบที่สร้างชื่อเสียงให้กับเหล่าฟอลชริมเจเกอร์ หรือทหารพลร่มเยอรมัน จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นหน่วยรบชั้นยอด (Elite Force) ของสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยหนึ่ง

    การรบที่มองเต คาสิโนนี้ ทหารพลร่มเยอรมันต้องพบกับ พลตรี Freyberg ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่ต้องพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในเกาะครีต ที่กลับมาบัญชาการทหารสัมพันธมิตร ในการบุกเข้าอิตาลี แต่ต้องพบกับการต้านทานอย่างเด็ดเดี่ยวที่มองเต คาสิโน ฝูงบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถล่มศาสนสถานและเมืองจนกลายเป็นซากปรักหักพัง แต่ทหารพลร่มเยอรมันก็อาศัยซากปรักหักพังเหล่านี้ เป็นป้อมปราการในการป้องกันที่มั่นของตน

    สมรภูมิที่คาสิโนสร้างความเสียหายให้กับทหารสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก ทหารสหรัฐอเมริกาต้องเสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายไปกว่า 22,000 คน ซึ่งเท่าๆกับยอดผู้สูญเสียฝ่ายอังกฤษ ในขณะที่ทหารเยอรมันกลับสูญเสียเพียงเล็กน้อย และสามารถล่าถอยไปได้ ก่อนที่กองกำลังฝรั่งเศสเข้ายึด Monte Majo ได้ในวันที่ 13 พ.ค. 1944 และกองกำลังโปแลนด์ยึด Monte Cassino ได้ในวันที่ 17 พ.ค. 1944





    ทหารพลร่มเยอรมันในการรบที่ตูนีเซีย (Tunisia) ในปี 1943 ทหารคนที่อยู่หน้าสุด มีปืนกลมือแบบ MP 40 ขนาด 9 มม. เป็นอาวุธประจำกาย อาวุธชนิดนี้ เหมาะสำหรับทหารพลร่มเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัด ไม่ยาวเกะกะ หรือสร้างปัญหาให้กับทหาร เมื่อต้องกระโดดออกจากเครื่องบิน และลงสู่พื้น

    แต่การรบที่ตูนีเซีย ทหารพลร่มเหล่านี้ ไม่ได้กระโดดลงมาจากฟากฟ้าเหมือนในช่วงต้นของสงครามอีกต่อไปแล้ว พวกเขาทำการรบแบบทหารราบ เคลื่อนพลด้วยยานพาหนะทางบก แต่ประสิทธิภาพ และความสามารถ ของทหารพลร่มเหล่านี้ ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

    หน่วยพลร่มเยอรมันที่ทำการรบในตูนีเซีย เป็นหน่วยที่ทำการรบในแอฟริกา ในนามของหน่วยแอฟริกา คอร์ (Afrika Korps) ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ จอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ซึ่งหลังจากความพ่ายแพ้ในแอฟริกาที่ เอล อลาเมน (El Alamain) แล้ว หน่วยแอฟริกา คอร์ ก็ย้ายมาทำการรบที่ตูนีเซีย ก่อนจะพบจุดจบทั้งหน่วย ด้วยการพ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตร เป็นการปิดตำนานความกล้าหาญของหน่วยแอฟริกา คอร์ โดยเฉพาะกองพลยานเกราะที่ 21 (21st Panzer Division) อันลือชื่อ และหน่วยพลร่มที่ร่วมอยู่ในแอฟริกา คอร์นี้ด้วย





    (ภาพบน) ภาพแสดงหมวกของทหารพลร่มเยอรมันด้านขวา ที่ติดแถบธงชาติเยอรมัน สี ดำ ขาว แคง ไว้ ในขณะที่อีกด้านเป็นสัญญลักษณ์ของกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ในภาพจะเห็นสายรัดคาง ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี เพื่อความกระชับ ในขณะสวมใส่

    (ภาพล่าง) ภาพหมวกของทหารพลร่ม ที่ปฏิบัติการรบในแอฟริกา ในนามหน่วยแอฟริกา คอร์ (Afrika Korps) สีหมวกถูกเปลี่ยนเป็นสีกากี เพื่อพรางให้เข้ากับภูมิประเทศที่เป็นทะเลทราย






    (ภาพบน) การแต่งกายของทหารพลร่ม ที่สังกัดหน่วยแอฟริกา คอร์ (Afrika Korps) ซึ่งทำการรบในแอฟริกา สีหมวก สีเสื้อ กางเกง เป็นสีกากี แม้ภายหลังจากที่พ่ายแพ้ในแอฟริกาแล้ว ทหารพลร่มส่วนหนึ่งของกองพลพลร่มที่ 1 (1st Parachute Division - 1st Fallschirmjager Division) ซึ่งถูกส่งเข้าทำการรบที่มองเต คาสิโน ประเทศอิตาลี ในปี 1944 ก็ยังคงใส่เครื่องแบบสีกากีแบบที่เห็นอยู่นี้ ที่พวกเขาได้รับการแจกจ่าย เมื่อครั้งทำการรบในแอฟริกา เครื่องแบบของเหล่าทหารพลร่ม ในการรบที่คาสิโน จึงปะปนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้





    ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง เครื่องแบบของทหารพลร่มเยอรมัน โดยปกติเมื่อออกสู่สนามรบ ทหารเหล่านี้จะใส่เสื้อคลุมสีเขียว หรือสีพราง ทับเครื่องแบบสีเทานี้ ซึ่งเป็นเครื่องแบบของกองทัพอากาศเยอรมัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติ ที่ทหารพลร่มเยอรมันจะทำการรบในชุดปกติสีเทาที่เห็นอยู่ข้างบน โดยไม่สวมเสื้อคลุมทับแต่อย่างใด

    หมวกเหล็กสีเทาดำนี้ เป็นหมวกเหล็กที่ถูกออกแบบมาในปี 1938 เพื่อทหารพลร่มโดยเฉพาะ เหรียญกางเขนเหล็ก (Tron Cross) ที่ติดอยู่ที่หน้าอก เป็นเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ใต้เหรียญกางเขนเหล็กลงมา เป็นเหรียญแสดงความสามารถในการกระโดดร่ม (the parachute qualification badge) เป็นรูปนกอินทรี เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ กำลังพุ่งโฉบลงหาเหยื่อเบื้องล่าง ล้อมรอบด้วยช่อใบโอ็ค ซึ่งผู้ที่จะได้รับเครื่องหมายนี้ จะต้องผ่านการกระโดดร่มมาไม่น้อบกว่า 6 ครั้ง ตัวนกอินทรีทำด้วยทองแดงผสมนิเกล อัลลอย ส่วนเครื่องหมายที่ประดับอยู่ที่หน้าอกอีกด้าน เป็นเครื่องหมายของกองทัพอากาศเยอรมัน (German Air Force Eagle) เช่นเดียวกับที่ติดอยู่ข้างหมวก

    เครื่องหมายยศที่คอปกเสื้อ ซึ่งมีแถบสีเหลือง และรูปนกกางปีกสีเงิน 4 ปีก เป็นสัญญลักษณ์ ของนายทหารประทวน ชั้นต่ำกว่าสัญญาบัตร (NCO - Non commission officer) โดยปีกนกสีเงิน 1 ปีก แสดงถึงชั้นยศพลทหาร (private)





    (ภาพบน) ทหารพลร่มเยอรมัน ขณะรุกเข้าสู่ป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) ในประเทศเบลเยี่ยม ในปลายปี 1944 โดยนั่งอยู่บนรถถังแบบ King Tiger ที่ทรงอานุภาพ หน่วยพลร่มที่เข้าร่วมในการรบในสมรภูมิแห่งนี้ ประกอบไปด้วย กำลังพลจากกรมพลร่มที่ 9 (9th Parachute Regiment) ของกองพลพลร่มที่ 3 ซึ่งขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพที่ 15 รุกไปทางเหนือ กองพลพลร่มที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 7 ซึ่งกองพลนี้สามารถประเดิมชัยชนะให้เยอรมันในการรุกครั้งนี้ โดยสามารถจับเชลยอเมริกันได้กว่า 1,000 คน รถถัง M 4 เชอร์แมนอีก 25 คัน

    แม้ว่าการรบครั้งนี้ จะเป็นการรบแบบทหารราบของทหารพลร่มเยอรมัน แต่ก็ถือว่าเป็นการรบของหน่วยพลร่มครั้งสุดท้าย ภายใต้ชื่อรหัส "สตอสเซอร์" (Stosser) เพื่อสนับสนุนการรุกของทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ

    ฮิตเลอร์ทุ่มเททุกอย่างที่มี ในการรุกเข้าสู่ทหารสัมพันธมิตร ในสมรภูมินี้ ทั้งอาวุธชั้นเยี่ยม และทหารชั้นยอด ไม่ว่าจะเป็นหน่วย เอส เอส และหน่วยทหารพลร่ม ภายใต้ชื่อยุทธการ Watch on the Rhine เพื่อตัดกองทัพน้อยที่ 8 ของสหรัฐอเมริกาออกเป็นช่องว่าง แล้วรุกเข้าสู่แม่น้ำเมิร์ส (Meuse) ก่อนที่จะเข้ายึดอานท์เวอร์ป (Antwerp) เป็นที่หมายสุดท้าย

    กำลังพลของเยอรมันมีกำลังพลสูงถึง 200,000 คน ภายใต้การนำของจอมพล เกิร์ด ฟอน รุดสเท็ดท์ (Gerd von Rundstedt) แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะใช้ทหารที่เยี่ยมยอด หรืออาวุธอันทรงอานุภาพเพียวใด ทหารเยอรมันก็ต้องพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถยึดเมืองบาสตอง (Bastogne) และถูกตีถอยร่นกลับไปในประเทศเยอรมันอีกครั้ง

    การรบในครั้งนี้ ทหารพลร่มเยอรมัน ที่ทำการรบแบบทหารราบ ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก เช่นเดียวกับทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ ที่เข้าสู่สมรภูมิที่ป่าอาร์เดนส์แห่งนี้ กระแสน้ำแห่งความชัยชนะของเยอรมัน เมื่อครั้งเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีวันไหลกลับมาสู่อาณาจักรไรซ์ที่ 3 อันเกรียงไกรของนาซีเยอรมันอีกต่อไปแล้ว





    (ภาพบน) ทหารหน่วยพลร่มของเยอรมัน กำลังหลบกระสุนปืนใหญ่ของยานเกราะอังกฤษ ในการรบที่ตูนีเซีย ณ เมือง Tebouba-Djedeida ในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 1942

    ทหารพลร่มเหล่านี้ เพิ่งเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เพื่อสกัดกั้นการรุกเข้ามาของฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายเยอรมันมีกำลังพลกว่าหกหมื่นคน ประกอบด้วย ทหารเยอรมัน 47,000 คน ทหารอิตาลี 18,000 คน จัดกำลังเป็นกองทัพยานเกราะที่ 5 (5th Panzerarmee) ภายใต้การนำของพลเอก ฮันส์ เจอร์เก้น ฟอน อาร์นิม (Hans Jurgen von Arnim) กำลังเหล่านี้จะสมทบกับกำลังของหน่วยแอฟริกา คอร์ (Afrika Korps) ของจอมพลเออร์วิน รอมเมล ที่ถอยมาจากแอฟริกา

    ในขณะที่กำลังฝ่ายสัมพันธมิตร มีกำลังประมาณ 110,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อแผนยุทธการในการบุกครั้งนี้ว่า Torch ซึ่งการรุกของสัมพันธมิตรในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และชื่อของนายพล จอร์จ เอส แพทตัน (George S. Patton) ก็ปรากฏขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์นับจากนั้นมา เนื่องจากแพทตัน เป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 2 ที่ยกพลขึ้นที่ซิซิลี (Sicily) และได้สร้างผลงานในการบัญชาการรบที่นี่ไว้อย่างยิ่งใหญ่ โปรดสังเกตทหารพลร่มคนขวาสุดของภาพ เป็นพลประจำเครื่องพ่นไฟ โดยจะเห็นถังเชื้อเพลิงอยู่ที่หลัง




    (ภาพบน) ทหารพลร่มเยอรมัน ในการรบที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน ปี 1944 หน่วยพลร่มที่ทำการรบที่นอร์มังดีประกอบด้วย กองทัพน้อยพลร่มที่ 1 กองทัพน้อยพลร่มที่ 2 กองพลพลร่มที่ 2 กองพลพลร่มที่ 3 และกองพลพลร่มที่ 5 รวมทั้งกรมพลร่มที่ 6 ที่ทำการรบที่คาเรนแทน (Carentan) ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Band of Brother กำลังพลของหน่วยพลร่มเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ที่เฉลี่ย 17 ปี เท่านั้น พวกเขาถูกนำมาฝึกทดแทนกำลังพลที่สูญเสียไป

    ทหารเหล่านี้ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในการต้านทานการบุกขึ้นฝั่งของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากขาดแคลนการสนับสนุนในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหนัก ยานเกราะ ซึ่งล้วนตกเป็นเหยื่อของเครื่องบินสัมพันธมิตร ทหารพลร่มของเยอรมันจำนวนมาก เสียชีวิตในการรบที่นอร์มังดีแห่งนี้




    (ภาพบน) ทหารหน่วยพลร่มของเยอรมัน 3 คน สังกัดกรมพลร่มที่ 6 (6th Fallschirmjager Regiment) เสียชีวิตในการรบที่ Sainteny คาเรนแทน (Carentan) ประเทศฝรั่งเศส ในห้วงการรบในวันดี เดย์ ด้านหลังจะเห็นรถ Schiwmmwagen VW 166 ถูกทำลาย โดยมีทหารอเมริกัน 2 คน ซึ่งสังกัดกองพลทหารราบที่ 4 (4th Infantry Division) กำลังตรวจสอบอยู่ ทหารอเมริกันคนหนึ่งมีตราสัญญลักษณ์กาชาด ติดอยู่ที่ปลอกแขน




    (ภาพบน) ทหารพลร่มเยอรมัน ในการรบที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน ปี 1944 พวกเขากำลังตั้งรับ รอการบุกของกองทัพน้อยที่ 19 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการโจมตีมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 1944 ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โปรดสังเกตุระเบิดขว้างที่วางอยู่ แสดงให้เห็นว่า การรบแบบประชิดตัวกำลังจะมีขึ้น

    กำลังพลของเยอรมันส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 7 ที่สูญเสียอย่างหนัก และร้องขอกำลังสนับสนุนจากจอมพล กุนเธอร์ ฟอน คลุก (Field Marchal Gunther von Kluge) แต่ความหวังของพวกเขาที่จะได้รับในสิ่งที่ร้องขอ ดูเลือนลางเต็มที อันเนื่องมาจากการครองอากาศของเครื่องบินสัมพันธมิตร บวกกับความขาดแคลนของกองทัพเยอรมันเอง




    (ภาพบน) ชุดเครื่องยิงลูกระเบิด หรือ ปืน ค. ของกองพลพลร่มที่ 3 ในการรบที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1944 ภาพนี้ถ่ายเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 1944 ในเวลานั้น กองพลพลร่มที่ 3 ประกอบกำลังด้วย 3 กรมพลร่ม แต่ละกรมประกอบด้วย 3 กองพันทหารพลร่ม และ 1กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิด 1 กองร้อยทหารช่าง และ 1 กองร้อยต่อสู้รถถัง กรมพลร่มบางกรมใช้เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มม. บางกรมใช้ขนาด 100 มม. บางกรมใช้เครื่องยิงแบบ 6 ลำกล้องที่เรียกว่า Nebelwerfer กองพลพลร่มที่ 3 ในปี 1944 ก่อนวัน ดี เดย์ มีกำลังพลทั้งสิ้น 17,420 คน





    (ภาพบน) พลเอก เคริทซ์ สตูเดนท์ (Kurt Student) คือผู้ให้กำเนิดหน่วยทหารพลร่มของกองทัพนาซีเยอรมัน เป็นผู้ผลักดันให้มีการใช้ทหารพลร่มในการรุก ในแนวคิดการรบแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ของนาซีเยอรมัน เขาเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1890 ที่เมือง Birkholz ในแคว้นปรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเป็นนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศเยอรมัน ครั้นเมื่อนาซีเรืองอำนาจในเยอรมัน เขาได้เข้าร่วมกองทัพอากาศเยอรมัน และก่อตั้งหน่วยทหารพลร่มขึ้น

    เมื่อเขาเข้ามารับผิดชอบเป็นผู้บัญชาการกองพลปฏิบัติการทางอากาศที่ 7 เคริทซ์ สตูเดนท์ เป็นผู้วางแผนยุทธการเมอร์คิวรี่ ซึ่งเป็นการใช้กำลังทหารพลร่ม เข้ายึดเกาะครีต ในปี 1941 และในช่วงท้ายของสงคราม โดยเฉพาะในช่วงวัน ดี เดย์ ที่สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส สตูเดนท์ มีส่วนร่วมในการวางแผนใช้หน่วยทหารพลร่มของเขา ต้านทานการบุกของสัมพันธมิตร

    สตูเดนท์ถูกทหารอังกฤษจับกุมตัวในเดือน เมษายน 1945 ก่อนที่เยอรมันจะยอมแห้ และถูกคุมขังอยู่จนถึงปี 1948 จึงถูกปล่อยตัว และเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 1 กรกฎาคม 1978
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×