ลำดับตอนที่ #258
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #258 : กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ของนาซีเยอรมัน
กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ของนาซีเยอรมัน
(3rd SS. Panzer Division Totenkopf)
จาก http://www.geocities.com/saniroj
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
สัญญลักษณ์ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ
กำลังพลของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ กำลังวางแผน ก่อนเปิดยุทธการซิทาเดล (Citadel) ที่ Kursk ในรัสเซีย รถถังที่ปรากฏในภาพคือ รถถัง Panzer VI - Tiger อันทรงอานุภาพ
กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่3 โทเทนคอฟ กำเนิดขึ้นมาจาก กรมทหารราบ เอส เอส ที่ 11 (SS. Infanterie Regiment 11) ขึ้นการบังคับบัญชากับ กองพล เอส เอส ดาส ไรซ์ (SS. Division Das Reich) ซึ่งต่อมาได้แยกตัวออกจากดาส ไรซ์ และตั้งเป็นกองพลใหม่ ชื่อ (3rd SS Divsion Totenkopf) กองพล เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Totenkopf Division) ซึ่งเข้าปฏิบัติการรบครั้งแรกในยุโรป เมื่อปี 1939 ในโปแลนด์
โดยกองพล เอส เอส ที่ 3 นี้ ได้จัดตั้งขึ้นมาจากหน่วยโทเทนคอฟอื่นๆ (คำว่า โทเทนคอฟ แปลว่า หัวกระโหลกไขว้ หรือ Death head) รวมทั้งหน่วยโทเทนคอฟ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมนักโทษที่ค่ายกักกันต่างๆ
ภายหลังจากการรบในโปแลนด์ กองพลโทเทนคอฟ ได้เข้ารับการฝึกในพื้นที่ใกล้ๆกับค่ายกักกัน ดาเชา (Dachau) ซึ่งเป็นค่ายกักกันที่มีชื่อในเรื่องของความโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ผู้คุมขัง
จากนั้นก็ย้ายไปที่ Wurttemberg จนการฝึกสิ้นสุดลง ผู้บัญชาการกองพลคนแรกที่เข้ารับหน้าที่ภายหลังจากที่กองพลเสร้จสิ้นการฝึก ก็คือ ทีโอดอร์ อิคค์ (Theodor Eicke) ซึ่งในภายหลัง ผู้บัญชาการกองพลท่านนี้ ได้สร้างชื่อในเรื่องของความกล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ในการนำกองพลโทเทนคอฟเข้าทำการสู้รบ
ระหว่างที่กองพลเข้าทำการรบในฝรั่งเศส โทเทนคอฟทำหน้าที่เป็นกองหนุน จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม 1940 กองพลก็ได้รับคำสั่งให้เข้าสู่สมรภูมิ ในพื้นที่ Cateau และ Cambrai
ซึ่งในห้วงเวลานี้ กองพลโทเทนคอฟ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่เชลยศึกอังกฤษ และฝรั่งเศส เช่น การกวาดต้อนเชลยเข้าไปในโรงนา และทหารเอส เอส ก็จะโยนระเบิดมือเข้าไป พร้อมกับกราดยิง
ผลจากการกระทำดังกล่าว ทำให้ Fritz Knochlein ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันที่ 1 ของกองพลโทเทนคอฟ ถูกพิพากษาแขวนคอภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่า การตัดสินดังกล่าวเต็มไปด้วยความลำเอียง และไม่เป็นธรรม
หลังจากนั้น กองพลโทเทนคอฟ ก็เดินทางไปถึงชานแดนฝรั่งเศส สเปน ในช่วงปลายของการรบในฝรั่งเศส จนถึงเมษายน ปี 1941 โทเทนคอฟก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปขึ้นการบังคับบัญชากับ กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) เพื่อเตรียมการบุกรัสเซียในยุทธการ บาร์บารอสซ่า (Barbarossa)
กองพล เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ เข้าทำการรบในลิธัวเนีย แลตเวีย จนถึง Demyansk เพื่อมุ่งสู่เลนินกราด ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 1941 ถึง ต้นเดือนสิงหาคม 1941 โทเทนคอฟสามารถยึดเมือง Chudovo ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟระหว่างมอสโคว์ และเลนินกราด
ในช่วงฤดูหนาวปี 1941 รัสเซียเปิดการรุกตอบโต้เยอรมันหลายครั้ง โดยอาศัยความหนาวเย็นของฤดูหนาวในรัสเซีย เป็นเหตุให้ทหารเยอรมันตกอยู่ในวงล้อมของทหารรัสเซีย กองพลเอส เอส โทเทนคอฟ ตกอยู่ในวงล้อมเป็นเวลาหลายเดือนที่ Demyansk
ทหารเอส เอส บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถดำรงสถานะเป็นกองพลอยู่ได้ ต้องลดระดับเป็น คามพ์กรุป อิคค์ (Kampgruppe Eicke) หรือหน่วยเฉพาะกิจ (Task Forces)
แต่เยอรมันก็สู้ยิบตา ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยังคงต่อต้านการเข้าตีของรัสเซียอย่างทรหดครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเมษายน 1942 กำลังพลส่วนหนึ่งของโทเทนคอฟ ก็สามารถแหวกวงล้อมของทหารรัสเซียออกมาได้ และตั้งแนวตั้งรับเพื่อรอกำลังพลทั้งหมดของโทเทนคอฟ ออกมาจากวงล้อม หลังจากนั้นกำลังพลทั้งหมดของโทเทนคอฟ ก็เดินทางกลับไปปรับกำลังเป็นกองพลดังเดิมในฝรั่งเศส ในเดือนตุลาคม 1942
ขณะที่อยู่ที่ฝรั่งเศส กองพลโทเทนคอฟ รับหน้าที่ในการเข้าควบคุมรัฐบาลหุ่นวิชี่ของฝรั่งเศส ที่ถูกเยอรมันครอบครอง พร้อมทั้งได้รับกองพันยานเกราะเพิ่มอีกหนึ่งกองพัน (a Panzer Abteilung - คำว่า อับไทลุง มีฐานะเทียบเท่ากับระดับ กองพัน หรือ Battalion ในระบบอเมริกา) พร้อมทั้งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น กองพล เอส เอส เกรเนเดียร์ โทเทนคอฟ (SS Panzer Grenadier Divison "Totenkopf") และตั้งมั่นอยู่ในฝรั่งเศสจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 1943
เดือนกุมภาพันธ์ 1943 กองพลโทเทนคอฟถูกโยกกลับไปแนวรบด้านรัสเซียอีกครั้ง โดยขึ้นการบังคับบัญชากับกลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) โดยมีส่วนร่วมในการรุกตอบโต้กองทัพรัสเซีย เพื่อหยุดยั้งการรุกของรัสเซีย ที่กำลังเป็นไปอย่างดุเดือด และต่อเนื่องด้วยขวัญกำลังใจที่ฮึกเหิม ภายหลังจากที่ทำลายกองทัพที่ 6 ของเยอรมันที่ สตาลินกราด (Stalingrad) ได้อย่างราบคาบ
กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ประสบความสำเร็จในการรบที่เมืองคาร์คอฟ ของรัสเซีย ครั้งที่ 2 สามารถหยุดยั้งกระแสการรุกของฝ่ายรัสเซียทางตอนใต้ ทำให้ฝ่ายเยอรมันมีขวัญและกำลังใจกลับมา ตลอดจนมีเวลาให้ฝ่ายเยอรมันได้หายใจและปรับแนวรบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมัน และตัวฮิตเลอร์ มีแนวความคิดริเริ่มในการวางแผนรุกกลับ
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของโทเทนคอฟในครั้งนี้ ต้องแลกด้วยการสูญเสียผู้บัญชาการกองพลคนสำคัญ ที่ควบคุมบังคับบัญชาโทเทนคอฟมาตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือ ทีโอดอร์ อิคค์ (Theodor Eicke) ซึ่งเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในการรบ
จากความสำเร็จของหน่วยเอส เอส ที่เมืองคาร์คอฟ ฮิตเลอร์และฝ่ายเสนาธิการของเขา โดยเฉพาะจอมพลฟอน รุดสเต็ด ก็วางแผนที่จะรุกกลับโดยเลือกสถานที่ที่ เมืองเคริซ (Kursk) ซึ่งกองทัพรัสเซียล้ำเข้าในแนวของเยอรมันเป็นอาณาบริเวณกว้าง
แต่ฝ่ายเสนาธิการของฮิตเลอร์ ต้องการการรุกที่ทันท่วงที เพราะฝ่ายรัสเซียกำลังเสียสมดุลในการรุก ส่วนฮิตเลอร์ต้องการเตรียมกำลังให้พร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่ฝ่ายเสนาธิการอีกหลายๆคนของเขา เห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะรุก เพราะเยอรมันยังไม่พร้อม
ด้วยความเห็นที่แตกต่าง และแต่ละความเห็นล้วนแต่มีเหตุผลที่ดี ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจเปิดยุทธการซิทาเดล (Citadel) ขึ้น โดยรอการปรับกำลัง และรออาวุธใหม่ๆ ที่กำลังจัดส่งไปแนวหน้า เช่น รถถัง Panzer Mark V หรือ Panther ที่ออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม จนหลายคนถึงกับออกปากว่า มันคือรถถังที่ออกแบบได้ดีที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง
เวลาที่ฮิตเลอร์รอคอยความพร้อมนี้เอง ที่ทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้น ข่าวการรวบรวมกำลังของฝ่ายเยอรมัน เพื่อทำการรุกครั้งใหญ่ในยุทธการซิทาเดล (Citadel) ล่วงรู้ไปถึงฝ่ายรัสเซีย ทั้งจากสายลับในเยอรมัน และจากเชลยศึกเยอรมันที่ถูกทหารรัสเซียจับได้ ทำให้รัสเซียวางแผนการตั้งรับอย่างขนานใหญ่
กำลังพลรัสเซียที่สดชื่นกว่าล้านสามแสนคน หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่บริเวณสมรภูมิ แนวตั้งรับของรัสเซียถูกจัดตั้งถึง 6 แนว ทุ่นระเบิดดักรถถังกว่าครึ่งล้านลูก ถูกนำมาวางดักเส้นทางการรุกของเยอรมัน
รัสเซียล่วงรู้แม้กระทั่งวันเวลาในการบุกที่แน่นอน และทำการระดมยิงทำลายกำลังของเยอรมัน ในการเตรียมเข้าตีของฝ่ายเยอรมันก่อนเวลาออกตี 15 นาที สร้างความเสียหาย และสับสนให้กับเยอรมันเป็นอย่างมาก
ในที่สุดเยอรมันก็สูญเสียอย่างหนักในการยุทธที่เคริซ (Kursk) จนฮิตเลอร์ต้องสั่งยกเลิกยุทธการซิทาเดล (Citadel) พร้อมกับความสูญเสียอย่างหนักของหน่วยเอส เอส ซึ่งรวมทั้งกองพลโทเทนคอฟเองด้วย
ทำให้กองพล เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟต้องถอนตัวออกมา แต่ยังคงจัดตั้งแนวตั้งรับ เพื่อปรับแนวหน้าของเยอรมัน เพื่อรอการรุกครั้งใหญ่ของฝ่ายรัสเซีย และยังคงตั้งรับอยู่ในแนวหน้าของเยอรมันทางด้านใต้ อีกเกือบหนึ่งปี โดยปรับกำลังกรมยานเกราะเกรเนเดียร์ เอส เอส ที่ 5 (5th SS Panzer Grenadier Regiment) ที่อยู่ในกองพลและเปลี่ยนชื่อกรมเป็นกรมยานเกราะ เกรเนเดียร์ เอส เอส ที่ 5 ทีโอดอร์ อิคค์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ความเสียสละ และกล้าหาญของเขา รวมทั้งยกระดับกองพลให้เป็นกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Panzer Division Totenkopf)
ในปี 1944 สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก เป็นไปอย่างย่ำแย่ รัสเซียเปิดแนวรุกทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะในตอนกลางของแนวรับของเยอรมัน ที่ต้องเผชิญกับการรุกครั้งใหญ่ และอาจจะเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย เพราะมีการประกอบกำลังมากเป็นจำนวนหลายร้อยหน่วย รุกเข้าสู่แนวตั้งรับของเยอรมัน และใช้เวลาเพียง 4 อาทิตย์ ก็ไล่ตีทหารเยอรมันแตกกระจัดกระจาย ผลักดันให้ต้องล่าถอยเป็นระยะทางกว่า 300 ไมล์ จนมาถึงประตูนครวอร์ซอร์ เมืองหลวงของโปแลนด์
ชาวยิวที่ถูกคุมขังในวอร์ซอร์ ซึ่งขณะนั้นถูกยึดครองโดยเยอรมัน ต่างลุกฮือก่อจลาจล โดยหวังว่าฝ่ายรัสเซียจะรุกเข้าเมืองมากช่วย แต่กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ พร้อมทั้งกองพล เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS. Divsion Wiking) และ กองพลยานเกราะที่ 19 (19th Panzer Division) ของกองทัพบกเยอรมันก็ถูกส่งเข้ามา โจมตีทหารรัสเซียจนต้องล่าถอยออกจากเมือง และถอยร่นข้ามแม่น้ำวิสทูล่า (Vistula) จากนั้นก็ถึงเวลาของชาวยิวในวอร์ซอร์ที่ลุกขึ้นก่อจลาจล โดยทหารเยอรมันได้ดำเนินการกวาดล้างทั่วทั้งเมือง
จากนั้น กองพลนี้ก็เดินทางไปช่วยทหารเยอรมันที่รัสเซียโอบล้อมที่กรุงบูดาเปส และสามารถช่วยทหารเยอรมันกว่า 45,000 คนที่ตกอยู่ในวงล้อมออกมาได้ และได้ถูกดึงกลับมาทำการรบที่เวียนนา ก่อนที่จะยอมแพ้แก่ทหารอเมริกันในวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 และถูกส่งต่อให้กับกองทัพรัสเซียในที่สุด
ทหารเอส เอส โทเทนคอฟ ขณะกำลังหลบการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ในแนวรบด้านฮังการีในปี 1945 การรุกกลับของฝ่ายรัสเซียนั้น เพียบพร้อมไปด้วยกำลังพลที่มากมาย ยานเกราะที่ทรงประสิทธิภาพ และฝูงบินใหม่ๆ ทำให้กองทัพอากาศเยอรมันหรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) ไม่สามารถครองอากาศได้อีกต่อไป
แม้ว่าจะมีความพยายามนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิตเครื่องบินไอพ่น อย่างเช่น เครื่องแมสเซอร์ชมิท เอ็ม อี 262 (Me 262) แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตออกมาได้มาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหนักในเยอรมัน ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก จนไม่สามารถผลิตได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น