ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #257 : กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ของนาซีเยอรมัน

    • อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 52


    กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ของนาซีเยอรมัน

    กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์
    (2nd SS. Panzer Division Das Reich)

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ





    สัญญลักษณ์ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์




    รถถัง Panzer V - Panther ของ เออร์เนสท์ บากค์มาน (Ernst Barkmann) ผู้บังคับรถถังที่มีสถิติการทำลายรถถังข้าศึกสูงที่สุดอีกคนหนึ่งของเยอรมัน บากค์มานสังกัดอยู่ใน กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบที่นอร์มังดี ภายหลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรในวัน ดี เดย์



    กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์ กำเนิดขึ้นมาจาก กองพล เอส เอส แวฟูกุง (SS. Verfugungstruppe) ซึ่งเข้าปฏิบัติการรบครั้งแรกในยุโรป เมื่อปี 1940 ในเบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ที่เมืองรอตเตอร์ดาม และทำการรบในฝรั่งเศส ในบริเวณซีแลนด์ (Zeeland) โดยทำหน้าที่กวาดล้างทหารฝรั่งเศสที่ตกอยู่ในวงล้อมต่างๆ ของเยอรมัน

    จากนั้นกองพล เอส เอส แวฟูกุง ก็ร่วมกับกองทัพเยอรมันเดินทางเข้าสู่กรุงปารีสของฝรั่งเศส และเดินทางลงใต้ถึงชายแดนฝรั่งเศส สเปน ในช่วงสุดท้ายของการรบในฝรั่งเศส

    กองพล เอส เอส แวฟูกุง ประกอบด้วยหน่วยทหารเอส เอส 4 หน่วย คือ

    1. หน่วยเอส เอส ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (SS. Leibstandarte Adolf Hitler) ซึ่งต่อมาเป็น กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler - LAH)

    2. หน่วย เอส เอส ดอยช์ลันด์ (SS. Deutschland) ซึ่งต่อมาเป็นกองพล เอส เอส ดอยช์ลันด์ แต่มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า ดอยช์ลันด์ เป็นชื่อประเทศเยอรมัน หากในการรบกองพลนี้ได้รับความเสียหาย อาจส่งผลถึงขวัญกำลังใจของทหารเยอรมัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กองพล เอส เอส ไรซ์ และเป็นกองพล เอส เอส ดาส ไรซ์ ในเวลาต่อมา ก่อนที่ท้ายที่สุด จะได้รับการยกระดับให้เป็นกองพลยานเกราะ ในชื่อ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์

    3. หน่วย เอส เอส เยอรมาเนีย (SS. Germania) ซึ่งในภายหลังได้ถูกย้ายออกไปตั้งกองพล เอส เอส ใหม่อีกกองพลหนึ่ง โดยร่วมกับหน่วย เอส เอส นอร์ดลันด์ (Nordland) ตั้งเป็น กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS. Panzer Division Wiking) ซึ่งกำลังพลจากกองพลนี้ เป็นกำลังที่อาสาสมัครมาจากประเทศยุโรปต่างๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สวีเดน เป็นต้น

    4. หน่วย เอส เอส แดร์ ฟือเรอห์ (SS. Der Fuhrer)

    จากการที่กองพล เอส เอส ไรซ์ ต้องเสีย หน่วย เอส เสอ เยอรมาเนียไปตั้งเป็นกองพลใหม่ ทำให้ได้รับกรมทหารเอส เอส โทเทนคอฟ (SS. Totenkopf) เข้ามาเป็นกรมทหารราบ เอส เอสที่ 11 (SS. Infanterie Regiment 11) ซึ่งต่อมากรมทหารนี้ ก็แยกตัวออกไปตั้งเป็นกองพลใหม่ คือ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Panzer Division Totenkopf)

    ภายหลังจากที่ยึดฝรั่งเศสได้แล้ว กองพลเอส เอส ไรซ์ ก็ยังคงประจำอยู่ที่ฝรั่งเศส เพื่อรอการบุกเกาะอังกฤษ แต่เมื่อฮิตเลอร์สั่งเลื่อนยุทธการสิงโตทะเล ซึ่งเป็นยุทธการในการบุกเกาะอังกฤษไปอย่างไม่มีกำหนด กองพลนี้ก็เคลื่อนพลไปที่รูเมเนีย เพื่อบุกเข้ายูโกสลาเวียและกรีซในเดือนมีนาคม 1941

    พอถึงเดือนเมษายน 1941 ก็เป็นหน่วยที่เข้ายึดกรุงเบลเกรดของยูโกสลาเวีย และเมื่อยึดเบลเกรดได้แล้ว กองพลเอส เอส ไรซ์ ก็มุ่งหน้าสู่โปแลนด์ ซึ่งตอนนั้นเป็นดินแดนในยึดครองของเยอรมัน เพื่อเตรียมการบุกรัสเซีย

    เมื่อยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ซึ่งเป็นยุทธการในการบุกรัสเซีย เปิดฉากขึ้น กองพล เอส เอส ไรซ์ขึ้นอยู่กับกลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Center) มีเป้าหมายในการเข้ายึดกรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซีย เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดสโมเลนซ์ (Smolensk) จับเชลยรัสเซียได้เป็นจำนวนมาก

    ทหารเอส เอส ของกองพล เอส เอส ไรซ์ รบอย่างกล้าหาญและบ้าบิ่น และได้เป็นหัวหอกนำกองทัพเยอรมัน รุกไปถึงชานเมืองของกรุงมอสโคว์ ในเดือนพฤศจิกายน 1941 ห่างเพียงไม่กี่ไมล์ก็จะถึงตัวเมืองแล้ว ทหารเอส เอส สามารถมองเห็นมอสโคว์ได้ด้วยสายตา และถือว่าเป็นจุดที่ทหารเยอรมันรุกไปได้ไกลที่สุด ในการบุกเข้าไปในรัสเซียครั้งนี้ (high water mark of the German advance in the Soviet Union)

    แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกกลับ อากาศหนาวเย็นของรัสเซียเดินทางมาถึง พร้อมๆกับการรุกกลับของกำลังพลที่สดชื่นของรัสเซียจากไซบีเรีย ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดี มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาวที่เหนือกว่าทหารเยอรมัน ทำให้ทหารเอส เอส สูญเสียอย่างหนัก จนต้องถอนตัวออกจากการสู้รบ และส่งกลับไปฝรั่งเศสเพื่อปรับกำลังใหม่ และยกระดับเป็น กองพลยานเกราะเกรเนเดียร์ เอส เอส ดาส ไรซ์ โดยทิ้งบางส่วนของกองพลเอาไว้ในรัสเซีย และจัดตั้งเป็น คามพ์กรุป ออสเทนดอฟ (Kampfgroup Ostendorf - คำว่า "คามพ์กรุป" ของเยอรมันเทียบเท่ากับหน่วยเฉพาะกิจหรือ task forces ในหน่วยของอเมริกา) ซึ่งในที่สุดหน่วยย่อยนี้ก็กลับไปรวมกับกองพลหลักในฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 1942

    เดือนพฤศจิกายน 1942 กองพลเอส เอส แพนเซอร์ เกรเนเดียร์ ดาส ไรซ์ เข้าทำการกวาดล้างกลุ่มใต้ดินฝรั่งเศสที่เมืองตูลอง (Toulon) ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นการกวาดล้างที่ดุเดือดและโหดเหี้ยมครั้งหนึ่งทีเดียว

    กองพลยานเกราะเกรเนเดียร์ เอส เอส ดาสไรซ์ ถูกส่งกลับเข้าสมรภูมิทางด้านตะวันออกในรัสเซียอีกครั้ง ในต้นปี 1943 และก็สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสมดังที่ฮิตเลอร์ตั้งความหวังไว้ โดยการเข้ายึดเมืองคาร์คอฟคืนมาจากรัสเซียได้ ภายหลังจากที่กองทัพที่ 6 ของเยอรมันพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ใน การรบที่สตาลินกราด

    ฮิตเลอร์ตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยการใช้หน่วยเอส เอส ที่ทรงประสิทธิภาพที่มีอยู่ พร้อมด้วยรถถังรุ่นใหม่อย่าง Panzer Mark V - Panther เปิดฉากยุทธการซิทาเดล (Citadel) ในการรบที่ เมือง Kursk กองพลดาส ไรซ์ รับผิดชอบการรุกจากทางใต้ของเหนือ ต้องเผชิญกับการต้านทานของฝ่ายรัสเซียอย่างเหนียวแน่น

    แม้ว่าทหารเอส เอส ของ ดาส ไรซ์จะสู้อย่างห้าวหาญ ก็ไม่อาจรุกคืบหน้าไปได้มากนัก โดยสามารถรุกขึ้นเหนือไปได้เพียง 40 ไมล์ ท่ามกลางความสูญเสียอย่างหนัก จนฮิตเลอร์ต้องสั่งยกเลิกยุทธการซิทาเดล

    ดาส ไรซ์ บอบช้ำอย่างหนักจากการรบที่ Kursk จนต้องถอนกำลังกลับไปฝรั่งเศสเพื่อปรับกำลังใหม่ โดยทิ้งกำลังบางส่วนไว้ในรัสเซีย ใช้ชื่อว่า คามพ์กรุป ดาส ไรซ์ (Kampfgroup Das Reich) ในส่วนของกองพลดาส ไรซ์ที่กลับไปฝรั่งเศส ก็ได้รับการยกระดับให้เป็น กองพลยานเกราะ เอส เอส ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich) และทำหน้าที่ต่อสู้กับพวกใต้ดินในฝรั่งเศส

    ฤดูหนาวปี 1943 - 1944 รัสเซียรุกหนักทุกแนวรบ และโอบล้อมกำลังทหารเยอรมันที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ หน่วยคามพ์กรุป ดาส ไรซ์ ที่กองพลดาส ไรซ์ ทิ้งไว้ขณะถอนกำลังไปฝรั่งเศส ก็ตกอยู่ในวงล้อมของทหารรัสเซีย เยอรมันส่งกองทัพน้อยยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 (2nd SS. Panzer Korps) ไปทำการช่วยเหลือกำลังพลของดาส ไรซ์ที่เหลือ และส่งกลับไปรวมกับกองพลหลักในฝรั่งเศส

    6 มิถุนายน 1944 พันธมิตรยกพลขึ้นบกใน วัน ดี เดย์ ที่นอร์มังดี ของฝรั่งเศส กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ถูกส่งเข้าขัดขวางฝ่ายพันธมิตรที่คานส์ (Caen) และแซงท์ โล (St. Lo) และสามารถสร้างความเสียหายให้กับพันธมิตรได้เป็นอย่างมาก แต่การโจมตีทางอากาศของพันธมิตร ทำให้การเสริมกำลังของเยอรมันเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ขบวนยานเกราะ ขบวนรถไฟที่มุ่งสู่นอร์มังดี ถูกโจมตีเสียหายยับเยิน

    เมื่อขาดกำลังหนุน เยอรมันก็อ่อนเปลี้ยลง และถูกพันธมิตรวางแผนล้อมกรอบที่ฟาเล่ย์ (Falises) กำลังพลของดาส ไรซ์ ทุ่มเททุกอย่างที่จะพยายามเปิดช่องชองวงล้อมเอาไว้ เพื่อให้กำลังของเยอรมันส่วนใหญ่ล่าถอยไป ก่อนที่จะถูกทำลาย ความกล้าหาญครั้งนี้ ทำให้ทหารเยอรมันกว่า 30,000 คน สามารถฝ่าวงล้อมหนีรอดไปสมทบกับส่วนหลังได้

    หลังจากล่าถอยมาจากนอร์มังดี กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ก็ถูกส่งเข้าร่วมในการรุกครั้งสุดท้ายของฮิตเลอร์ที่ป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) ของเบลเยี่ยม ในเดือนธันวาคม 1944 ซึ่งดาส ไรซ์ ก็ฝากความทรงจำอันเจ็บปวดให้กับทหารอเมริกันอย่างชนิดที่ลืมไม่ลงทีเดียว ก่อนที่จะถูกกำลังทางอากาศของพันธมิตร ที่มีอย่างมหาศาลโจมตีจนต้องถอยร่นกลับไปที่จุดเริ่มต้น พร้อมกับความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง

    ดาส ไรซ์ถูกส่งไปปรับกำลังใหม่ในเยอรมัน และทำหน้าที่ป้องกันบ้านเกิดของตน จากการรุกเข้ามาเหมือนคลื่นที่ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่ง ของฝ่ายรัสเซีย ช่วงสุดท้ายดาส ไรซ์ปกป้องเดรสเดน (Dresden) และเวียนนา ก่อนที่จะถอยจากเขตรัสเซีย เข้าไปยอมแพ้กับทหารอเมริกันในที่สุด




    รถถัง Panzer VI - Tiger ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ที่มุมขวาของภาพจะเห็นสัญญลักษณ์ใหม่ของกองพล เป็นขีดสองขีด แทนสัญญลักษณ์เดิม โดยมีการเริ่มใช้สัญญลักษณ์ใหม่นี้ เป็นครั้งแรก ในยุทธการซิทาเดล (Citadel) ซึ่งเป็นการรบที่ Kursk ในรัสเซีย เพื่อสร้างความสับสนให้กับฝ่ายรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตร
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×