ลำดับตอนที่ #186
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #186 : คดีวอเตอร์เกต คดีประวัติศาสตร์ที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันมากที่สุด
คดีวอเตอร์เกต บันทึกอันแสนอัปยศของนิกสัน
โรงแรมวอเตอร์เกต วอชิงตัน ดีซี
วอเตอร์เกต คดีฉาวสะท้านโลก เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันมากที่สุด เพราะมันทำลายภาพทุกอย่างที่อภิมหาอำนาจรายนี้สร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นภาพจอมปลอมในบัดดลเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อชาติอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่ง เช่น ยอมถอนทหารออกจากเวียดนาม ปิดฉากสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และเปิดความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ แท้จริงคือคนที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด และเมื่อคดีแดงขึ้น คดีนี้จึงกลายเป็นแผลใจของอเมริกันชนที่กาลเวลาก็ไม่อาจเยียวยา
ก่อนที่จะเกิดคดีวอตอร์เกตนั้น ทำเนียบขาวกับเอฟบีไอเข้ากันได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะหลังจากนิวยอร์กไทม์ ลงข่าวรั่วว่าทำเนียบขาวมีแผนจะแอบคุยกับโซเวียตเรื่องอาวุธ(ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น) นั้นเองทำเนียบขาวไม่พอใจเอฟบีไอมาก ในที่สุดได้ว่าจ้างอดีตซีไอเอไปทำงานเรื่องข่าวกรองให้แทน ถึงขึ้นตั้งหน่วยพลัมเบอร์สขึ้นมาใหม่ และนั้นคดีจุดกำเนิดของคดีวอเตอร์เกต
คดีวอเตอร์เกตมีจุดเริ่มต้นที่นี้ โรงแรมวอเตอร์เกต วอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 17 มิถุนายน 1972 ยาม ซึ่งโรงแรมนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน บังเอิญเจ้าหน้าที่โรงแรมได้สังเกตเห็นสิงผิดปกติในที่ทำการพรรคเดโมแครต จึงโทรเรียกตำรวจ ส่งผลสามารถจับกุมผู้ต้องหา 5 คนได้พร้อมของกลาง
ผู้ต้องหาเหล่านี้ประกอบด้วยนายเบอร์นาร์ด บาร์เกอร์, เวอร์จิลิโอ กอนซาเลซ, ยูจินิโอ มาร์ติเนซ, เจม แม็คคอร์ด และแฟรงค์ สเตอร์กิส โดยก่อนหน้านี้กลุ่มคนร้ายเคยแอบเข้าในออฟฟิศแห่งนี้แล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนถูกจับ
ต่อมาตำรวจพบว่า บรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ไม่ใช่โจรกระจอก เพราะแต่ละคนต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ)โดยชายทั้ง 5 ได้รับคำสั่งให้บุกเข้าไปขโมยข้อมูลที่พรรคเตรียมไว้เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่แข่งกับริชาร์ด นิกสัน เจ้าของตำแหน่งเดิม ในตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว และในบัญชีของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง มีเงิน 25,000 เหรียญที่ขึ้นด้วยแคชเชียร์เช็คประทับตรา นอกจากนั้นเอฟบีไอยังเจอบันทึก มีชื่อย่อที่อาจหมายถึงทำเนียบข่าวก็ได้ เช่น W.House และ W.H (White House)
ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภาสหรัฐจึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตขึ้น
จากการสอบสวนพบว่า ในสมุดโน้ตของแม็คคอร์ด หนึ่งในคนร้าย มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่า เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ
ต่อมาแฟรงค์ วิลส์ ยามรักษาความปลอดภัยประจำส่วนที่เป็นสำนักงานของโรงแรมพบว่า มีเศษเทปติดอยู่ที่ประตูห้องใต้ดินของอาคารส่วนที่เปิดไปโรงรถ ซึ่งทำให้ประตูไม่ได้ล็อก ตอนแรกเขาคิดว่าคนทำความสะอาดอาจจะลืมไว้จึงดึงออก แต่เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็พบว่ามีเทปติดอยู่อีก วิลส์จึงติดต่อไปยังตำรวจวอชิงตันดี.ซี.
แต่กระนั้นการสอบสวนของเอฟบีไอก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะถูกซีไอเอคอยดึงเรื่องและขัดขวาง เหมือนกับว่าต้องการให้เอฟบีไอไขว้เขวและวางมือ
ช่วง 1972 ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับ เอฟ บี ไอ ขมึงตึงยิ่งขึ้น ถึงขั้นเผชิญหน้า ทำเนียบขาวหาทางขัดขวางการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตอยู่เนืองๆ ทำให้การสอบสวนดำเนินไป 3 เดือน ปรากฏว่า ไม่มีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ทำเนียบข่าวคนใดเกี่ยวข้อง
ดูเหมือนทุกอย่างจะมาถึงทางตันเสียแล้ว ตีนแมวที่ดอดเข้าไปในตึกวอเตอร์เกต กลายเป็นโจรธรรมดาไม่มีการขยายผล ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปรากฏว่า นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1972 ด้วยคะแนนท่วมท้น
ระหว่างนั้นเอง ชื่อของ “ดีพ โธรท” ก็ปรากฏตัวขึ้น เขาบอกว่าเป็นแหล่งข่าวลับ ที่พร้อมจะแฉคดีนี้ โดยเขาหวังว่าจะขยายคดีวอเตอร์เกต เขาจะคอยชี้ให้ว่าข้อมูลชิ้นไหนสำคัญชิ้นไหนไม่เกี่ยว ทำให้ข่าวได้ขึ้นหน้าหนึ่งของวอชิงตัน โพสต์ เป็นประจำ โดยมีนายบ็อบ วู้ดเวิร์ด และนายคาร์ล เบิร์นสไตน์ สองนักข่าวหัวเห็ดประจำหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นผู้เปิดโปงคดีวอเตอร์เกต
การขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องต่อเนื่องจากคดีวอเตอร์เกต ของวู้ดเวิร์ด ดำเนินไปนานนับเดือน สร้างแรงกดดันต่อทำเนียบขาวขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทางการก็โกรธเกรี้ยวต่อดีพ โธรทมากขึ้นรุนแรงขึ้น แต่เขายังเพิ่มระดับการช่วยเหลือไปถึงขั้นเริ่มให้ข้อมูลชี้นำ เบาะแสที่จะนำไปสู่การเผยความจริงว่ามีการรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดกันปกปิดความลับในทำเนียบขาว
แน่นอนถ้าคดีนี้เป็นเรื่องจริงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสกปรกมากในเรื่องของผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด
ด้วยความกลัว นิกสันบีบให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวต้องลาออก และไล่ที่ปรึกษาจอห์น ดีนออกเพื่อตัดตอนคดี จอห์น ดีนจึงตัดสินใจขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสว่า นิกสันพยายามวิ่งเต้นบิดเบือนคดี และในทำเนียบขาวมีการติดตั้งเครื่องดักฟังอยู่ ซึ่งข้อความต่างๆ ในนั้น คื่อหลักฐานที่จะมัดตัวนิกสันได้อย่างดี แต่เมื่อหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีวอเตอร์เกต เรียกขอเทปจากเครื่องดักฟังนี้ นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของผู้บริหารที่ไม่อาจเปิดเผยข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไล่หัวหน้าคนนี้ออก ส่งผลให้ประชาชนพากันส่งจดหมายกว่า 450,000 ฉบับมาต่อว่า วิทยาลัยกฎหมายกว่า 17 แห่งเรียกร้องให้นำนิกสันขึ้นพิจารณาคดี จนนิกสันต้องยินยอมส่งเทปบันทึกเสียงให้ฝ่ายสืบสวนไปในที่สุด
ปรากฎว่าเทปที่ส่งไปให้นั้นกลับมีช่วงว่างที่เสียงพูดหายไปเฉยๆ ถึง 18 นาทีครึ่ง แต่นิกสันเอาตัวรอดด้วยการโยนความผิดให้โรสแมรี่ วู้ดส์ เลขาส่วนตัวว่าเธอเผลอลบ ขณะที่วู้ดส์ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ทำ และถ้าพลาดจริงก็ไม่มีทางเกิน 4-5 นาทีแน่ๆ
จากนั้น หลักฐานต่างๆ ก็ทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนรัฐสภามีมติให้นำตัวนิกสันขึ้นพิจารณาคดีและเตรียมถอดถอน
และก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 9 สิงหาคม 1974 ริชาร์ด นิกสัน ก็กลายเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาที่ต้องลงเอยด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีฟอร์ด ขณะที่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน
คดีวอเตอร์เกตได้สร้างชื่อเสียงให้แก่วูดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ และได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "All The President's Men" ในปี 2519 ส่วนนามแฝง "ดีพโธรต" ยังเป็นที่จดจำนั้นเป็นเพราะเป็นชื่อเดียวกับชื่อหนังโป๊เรื่อง "Deep Throat"
แม้คดีจบไปนานแล้ว แต่ปริศนาของคดีนี้ยังมีอยู่ เมื่อหลายฝ่ายต่างอยากรู้ว่า คนแฉเรื่องคดีวอเตอร์เกตนั้นเป็นใคร โดยเฉพาะคนที่ใช้นามปากกาว่า "ดีพโธรท" ซึ่งเป็นแหล่งข่าวลับสุดยอด คนแฉข้อมูล ให้กับคนในสำนักพิมพ์ให้ฟัง แบบรู้เรื่องคดีนี้ทั้งหมด ราวกับตาเห็น จนประชาชนยกย่องเขาในฐานะ 'ฮีโร่' ที่คอยฟาดฟันกับบรรดานักการเมืองเหลิงอำนาจ
อย่างที่รู้ๆ กัน คงไม่มีใครในรัฐบาลของนิกสันหรือข้าราชการคนไหน บ้าพอที่จะเอาคอตัวเองขึ้นเขียงด้วยการให้ข้อมูลกับนักข่าวในเรื่องนี้แล้วเห็นชื่อตัวเองปรากฏหราอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นแน่
'ดีพโธรท' เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งข่าวที่มีความลึกลับ แต่มีความน่าเชื่อถือ
และบังเอิญที่คดีนี้จบลงด้วยชัยชนะของสื่อมวลชน การอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อจึงกลายเป็นการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับโดยปริยาย
แต่ผลพวงที่ตามมาก็คือ สื่อมวลชนมะกันเริ่มอ้างอิง 'แหล่งข่าว' กันอย่างพร่ำเพรื่อ ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้าแหล่งข่าวมีความเป็นกลางหรือรู้จริงก็ว่าไปอย่าง หรือที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น แหล่งข่าวที่นักข่าวใช้อ้างอิงนั้นมีตัวตนจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การอุปโลกน์หรือเป็นแค่การปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อให้ข่าวมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
นักข่าวหลายคนถูกจับได้คาหนังคาเขาว่ากุข่าวที่ตัวเองเขียนขึ้นมาเอง และแหล่งข่าวที่อ้างอิงในเรื่องนั้นไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ
เรื่องนี้กว่าจะไขได้ก็ปาไป 30 ปี เมื่อวอชิงตันโพสต์ยอมเผยโฉม "ดีพโธรท"
ว่า "ดีพโธรท" คือ ดับเบิลยู มาร์ค เฟลท์ อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งผู้เปิดโปงคดีอื้อฉาววอเตอร์เกต ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอ กำลังตึงเครียดถึงที่สุด โดยปัจจุบันนายเฟลท์ ซึ่งขณะนี้มีอายุ 91 ปีแล้วและอาศัยอยู่ในเมืองซานตา โรซา รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สารภาพกับครอบครัวและนิตยสารฉบับนี้ว่าตัวเองคือแหล่งข่าวลับสุดยอดของวอชิงตัน โพสต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของดีพโธรท หลังจากเก็บงำเรื่องนี้ไว้เป็นความลับตลอดมา แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่มีใครล่วงรู้ หนำซ้ำยังขอร้องให้นายวู้ดเวิร์ด และนายเบิร์น สไตน์ รวมทั้งนายเบ็น แบรดลี บรรณาธิการของวอชิงตัน โพสต์ในช่วงนั้นไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้จนกว่าจะถึงวันที่ตัวเองสิ้นลม
แต่ปริศนาก็ตามมาอีก ว่านายเฟลท์ เขาแฉคดีนี้เพื่อชาติจริงหรือ??
ในตอนที่คดีวอร์เตอร์เกตกำลังดังใครๆ ต่างรู้กันอยู่ว่า ดับเบิลยู มาร์ก เฟลต์ คาดหวังตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ(เอฟบีไอ)มาก ด้วยคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งความสามารถ การยอมรับ และประสบการณ์
แต่ที่เขายังเป็นหมายเลข 2 อยู่ก็เพราะ ประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม นิกสัน ไม่ชอบแล้วมอบตำแหน่งสูงสุดของเอฟบีไอให้คนสนิท ทำให้ “ดีพ โธรท” ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมด้วยวลีอมตะที่เขาให้เบาะแสนักข่าว "ลองตามเส้นทางของเงินดูสิ"
ซึ่งความจรืงเฟลต์อำลาจากเอฟบีไอ ตั้งแต่ก่อนที่นิกสันจะลาออกเสียอีกเพราะเข้ากับหัวหน้าใหม่ไม่ได้ และเมื่อนิกสันลาออกไปแล้ว ดีพโธรท เป็นใครยังคงไม่มีใครทราบ แม้สหรัฐมีประธานาธิบดีต่อมาอีก 7 คน เขาก็ไม่ยอมเผยตัว ทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าเผยตัวเมื่อใด ชื่อเสียงเงินทองจะหลั่งไหลเข้ามา ในรูปแบบของหนังสือเรื่องจริง มีการทำเป็นภาพยนตร์และรายการพิเศษต่างๆ ทางทีวีแน่นอน แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังคงรักษาความลับและปิดปากเงียบ
เรื่องนี้เฟลต์บอกว่าเขาอยากให้เรื่องนี้เป็นความลับเรื่องนี้ตายไปกับตัว เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่กระทำไปนับเป็นความ 'ไม่ซื่อสัตย์' ต่อองค์กรและหน้าที่
จนกระทั้งหลายปีผ่านไป โจอัน เฟลต์ บุตรีซึ่งปัจจุบันวัย 61 ปี เริ่มระแคะระคายว่าบิดาคือแหล่งข่าวนิรนามซึ่งกล้าหาญผู้นั้นและเขาก็ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความลับของตัวเอง ในที่สุดก็ตัดสินใจได้ว่าสิ่งที่เฟลต์ทำไป น่าจะเรียกว่าเป็นการแสดงความรักชาติอย่างแท้จริงมากกว่า พวกเขาจึงเสนอว่าน่าจะหาคนนอกมาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวก่อนที่เรื่องนี้จะถูกลืมและเลือนหายไป จอห์น ดี.โอคอนเนอร์ ทนายความจากซาน ฟรานซิสโก ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่อสังคม
วู้ดเวิร์ด กล่าวถึง ดีพ โธรท ระหว่างบรรยายในมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2003 ว่า "เขาจำต้องโกหกครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน และปฏิเสธที่จะช่วยเรา"
อาจมีคนเห็นว่าเฟลต์คือคนทรยศที่ไขความลับขององค์กร แต่เมื่อบวกลบคูณหารลงแล้ว ดีพ โธรท ถือว่าเป็นวีรบุรุษนิรนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา แม้ว่าสถานการณ์อาจมีส่วนผลักดันอยู่บ้าง แต่การที่ใครจะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ขัดกับแนวทางขององค์กรที่ตัวเองเชื่อมั่นเพื่อจะได้คงไว้ซึ่งความจริงและสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องง่าย และเฟลต์ยังต้องรับผลของการกระทำของตัวเองมาตลอด แม้ว่าจะภูมิใจได้แต่เขายังตำหนิตัวเองเสมอ เหมือนถูกจองจำอยู่ในคุกในจิตใจที่เขาสร้างมันขึ้นมาเองมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
คดีวอเตอร์เกตก็เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่าในประเทศอเมริกาหรือประเทศไหนๆ บนโลก ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ แม้แต่ประธานาธิบดีก็ตาม รวมถึงกลายเป็นบรรทัดฐานของการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ทำให้ความจริงได้ปรากฏและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น