ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #142 : สงครามเย็นคืออะไร ? (2 - วิกฤตการณ์กรุงเบอร์ลินและกำเนิดของกำแพงเบอร์ลิน)

    • อัปเดตล่าสุด 15 ต.ค. 52


    สงครามเย็นคืออะไร ? (2 - วิกฤตการณ์กรุงเบอร์ลินและกำเนิดของกำแพงเบอร์ลิน)

    ความจริงแล้ว สงครามเย็นค่อนข้างจะกว้างมาก การเขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ ๆ เดียวก็กลายเป็นการจำกัดขอบเขตของสงครามนี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่เนื่องจาก บล็อคมีพื้นที่จำกัด เลยต้องทำเช่นนั้น

    วิกฤตการณ์กรุงเบอร์ลิน (Berlin Blockade)

    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐ ฯ , ยุโรปและสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองและบูรณะเยอรมันไปตามสนธิสัญญา Potsdam เยอรมันและกรุงเบอร์ลินถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนในลักษณะคล้ายกัน ส่วนตะวันตกของทั้งเยอรมันและเบอร์ลินถูกแบ่งเป็นสามส่วนคือ สหรัฐ ฯ อังกฤษและฝรั่งเศส ตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นผู้เข้ายึดกรุงเบอร์ลินเป็นพวกแรก

    สำหรับกรุงเบอร์ลินนั้นตามความจริงแล้วอยู่ในเยอรมันตะวันออกทั้งหมด ดังนั้นเบอร์ลินตะวันตกซึ่งก็อยู่ในส่วนปกครองของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ถูกล้อมรอบด้วยเยอรมันตะวันออกซึ่งเป็นของโซเวียต แตกต่างจากความเข้าใจของคนจำนวนมาก (เช่นผม) ที่คิดว่ากรุงเบอร์ลินถูกแบ่งตรงกลางระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

    (แผนที่การยึดครองเยอรมันของฝ่ายมีชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง สีแดงคือสหภาพโซเวียต สีน้ำเงินคืออังกฤษ สีฟ้าคือสหรัฐ ฯ สีฟ้าอ่อนคือฝรั่งเศส โปรดสังเกตจุดดำๆ ที่อยู่ในเขตของโซเวียตคือกรุงเบอร์ลิน)




    ประธานาธิบดี Henry S. Truman ได้ปฏิเสธที่จะให้ค่าปฏิกรณ์สงครามต่อสหภาพโซเวียตโดยรีดเลือดจากปูคือโรงงานที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเบอร์ลินตะวันตก สตาลินจึงเร่งให้เบอร์ลินและเยอรมันตะวันออกเป็นรัฐคอมมิวนิสต์เสียเลย ทหารอเมริกันที่เข้าไปด้านตะวันออกเล่าให้ฟังว่า เบอร์ลินตะวันออกเต็มไปด้วยภาพของสตาลินที่มาแทนฮิตเลอร์อย่างรวดเร็ว ทำให้สหรัฐ ฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษตระหนักถึงลางของสงครามเย็นตั้งแต่เนิ่น ๆ

    วันที่ 23 มิถุนายน 1948 ฝ่ายเสรีนิยมยุติค่าเงินที่ถูกกำหนดมาชั่วคราวสำหรับการยึดครองโดยหันไปหาค่าเงินเดิมของเยอรมันคือ Deutsch Mark เพื่อให้โซเวียตบูรณะเยอรมันตะวันออกได้ยากขึ้นเพื่อจะได้รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวตามสนธิสัญญา Potsdam แต่โซเวียตไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากจะให้รวมประเทศ เพื่อที่จะตัวเองจะได้แผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ (เหมือนที่จะทำกับเกาหลีเหนือในอีกหลายปีต่อมา) จึงออกค่าเงินของตัวเองเหมือนกัน

    และแล้วอีกหนึ่งวันต่อมาคือวันที่ 24 มิถุนายน โซเวียตได้ทำการปิดกั้นทางถนนและทางรถไฟไม่ให้ทางฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถส่งอาหารไปให้คนจำนวนสองล้านห้าแสนคนที่อยู่ในเขตเบอร์ลินตะวันตกเพื่อที่จะขับไล่พวกสัมพันธมิตรออกไป นายพลคนหนึ่งได้แนะนำประธานาธิบดีทรูแมนให้ส่งขบวนรถหุ้มเกราะจากเยอรมันตะวันตกไปยังกรุงเบอร์ลินตะวันตกอย่างสงบตามความถูกต้องและพร้อมจะปกป้องตัวเอง แต่ทรูแมนเห็นว่าอาจจะนำไปสู่สงครามก็ได้จึงได้ออกคำสั่งให้ส่งเสบียงให้กับชาวเบอร์ลินตะวันตกโดยผ่านเครื่องบิน (Airlift) เป็นเวลาถึง 324 วัน รวมทั้งหมด 278,228 เที่ยวบินภายใต้การปฏิบัติการที่ชื่อว่า Operation Vittles รวมเสบียง ของจำเป็นหรือแม้แต่ลูกกวาดหรือร่มชูชีพอันเล็กๆ สำหรับเด็กชาวเบอร์ลิน น้ำหนักถึง 2,326,406 ตัน !!! ในขณะที่พวกโซเวียตได้แต่มองตาปริบ ๆ

    (ภาพประกอบ ข้างล่างคือเด็กชาวเบอร์ลินที่รอลูกกวาดจากเครื่องบิน )




    นอกจากนี้ สหรัฐ ฯ และพวกยุโรปตะวันตกได้รวมตัวกันก่อตั้งองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ในวันที่ 4 เมษายน 1949 โดยมีเงื่อนไขว่าหากประเทศไหนโดนโจมตี บรรดาสมาชิกก็จะร่วมใจกันกินโต๊ะศัตรูทันที ยิ่งกดดันสตาลินมากขึ้น สุดท้ายเขาต้องสั่งยกเลิกการปิดกั้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 1949 แต่การขนส่งทางอากาศก็ยังคงมีต่อไปจนถึงปลายกันยายนเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเบอร์ลินตะวันตกจะยังมีเสบียงเหลือเฟือหากโซเวียตปิดกั้นอีกครั้ง

    การถือกำเนิดของกำแพงเบอร์ลิน

    ด้วยคงจะไม่ชอบลัทธิสังคมนิยม ชาวเยอรมันตะวันออกเดินทางไปตั้งรกรากที่เยอรมันตะวันตกเป็นจำนวนมาก และแถมเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าอันทำให้รัฐบาลเยอรมันตะวันออกต้องพบกับกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ในที่สุดก็ต้องมีการปิดพรมแดนระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในปี 1953 เหลือแต่ในกรุงเบอร์ลิน แต่แล้วการประท้วงของคนงานในเยอรมันตะวันออกที่นำไปสู่การนองเลือดในปีเดียวกันนั้น ทำให้รัฐบาลของเยอรมันตะวันออกต้องปิดพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกกับตะวันตกชั่วคราวและถือว่าการเดินทางออกจากเยอรมันตะวันออกโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งผิดกฏหมาย

    (กำแพงเบอร์ลินในช่วงต้นๆ)




    คนที่เป็นเจ้าความคิดในการสร้างกำแพงเบอร์ลินก็คือ Walter Ulbricht ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกที่ได้ไฟเขียวจาก Nikita Khrushchev ผู้นำของโซเวียตให้สร้างรั้วกั้นเบอร์ลินตะวันออกจากเบอร์ลินตะวันตกในปี 1961 เป็นระยะทาง 45 กิโลเมตร ในตอนแรกเป็นรั้วหนามก่อน ต่อมาก็สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตในอีกสี่ปีต่อมา โดยอ้างว่าเป็นกำแพงปกป้องพวกตนที่ต่อต้าน พวก Fascist กั้นชาวเบอร์ลินออกจากกันและทำให้เบอร์ลินตะวันตกอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของศัตรู และสหรัฐ ฯก็กลัวว่าหากเบอร์ลินตะวันตกเป็นของโซเวียต ตนก็จะขายหน้าชาวโลกเป็นยิ่งนัก จึงตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปประจำการเพิ่มเติมด้วยข้อหาว่าพวกคอมมิวนิสต์ละเมิดสัญญา แต่ก็ไม่ได้กดดันหรือทำสิ่งใดเพื่อให้มีการรื้อถอนกำแพง

    วันที่ 26 มิถุนายน 1963 ประธานธิบดี John F.Kennedy ได้เดินทางไปที่เบอร์ลินตะวันตกและกล่าวคำปราศรัยโจมตีการสร้างกำแพงของพวกคอมมิวนิสต์ ที่เฉลียงของตึกที่ทำการเทศบาลชื่อ Rathaus Schöneberg พร้อมกับตบท้ายด้วยวลีอันสุดแสนจะโด่งดังคือ "Ich bin ein berliner" (ผมคือพลเมืองของเมืองเบอร์ลิน) อันเป็นการแสดงเจตจำนงในการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต ในขณะที่พวกเยอรมันตะวันออกไม่น้อยที่ยืนฟังอยู่อีกฝั่งก็พลอยปรบมือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองของคอมมิวนิสต์ (และ Ronald Reagan ประธานาธิบดีคนต่อมา ก็ได้ทำเช่นนี้เหมือนกันในปี 1987)

    (Kennedy ขณะกล่าวคำปราศัย)




    อย่างไรก็ตามในช่วงที่กำแพงเบอร์ลินตั้งตระหง่านอยู่นี้ มีคนสามารถหนีจากตะวันออกไปตะวันตกได้ 5,000 รายแต่ที่โชคร้ายถูกยิงตายกว่า 192 คนบาดเจ็บอีก 200 คนกว่าที่กำแพงจะถูกรื้อถอนในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับสงครามเย็น เมื่อถูกรื้อถอนก็สร้างความยินดีให้กับชาวเยอรมันทั้งมวลต่อการรวมประเทศ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×