ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #26 : Green Roofs : บ้านหลังคาธรรมชาติ

    • อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 52


    Green Roofs : บ้านหลังคาธรรมชาติ

    พอพูดถึงบ้านหลังคาธรรมชาติ ที่เป็นเนินดิน เป็นหญ้า พวกเราก็จะหลับตาเห็นภาพของบ้านฮอบบิทกันก่อน เป็นอันดับแรก เมื่อผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับบ้านธรรมชาติ ก็ยังมีแซวว่าเป็นบ้านฮอบบิทอีก เลยเอาเรื่องบ้านฮอบบิทมาลงต่อซะเลย แล้วก็มาต่อเรื่องนี้กัน เพราะมันเป็นการขยายผลของความสนใจ ให้แตกกิ่งออกไปเรื่อยๆ เพื่อสาระ และความบันเทิง



    ที่จริงการสร้างบ้านธรรมชาติ แบบมีหลังคาธรรมชาติ (ขอเรียกทับศัพท์ว่าหลังคาเขียว เลยแล้วกัน) ด้วยนี่ เขาก็มีพัฒนาการมานานพอสมควร ในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะที่หมู่เกาะ Faroes จะมีการสร้างบ้านหลังคาเขียวกันมากเลยทีเดียว แม้จะเป็นบ้านแบบธรรมดา หรือบ้านแบบสมัยใหม่ ก็นิยมทำกัน โดยส่วนใหญ่ก็จะปลูกหญ้ากันแบบเป็นสนามหญ้าเลย พอยาวก็ใช้เครื่องตัดหญ้าขึ้นไปตัดกันหน้าตาเฉย เหมือนไม่ใช่เรื่องแปลก หลังคาเขียวนี่เขาแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ แบบ intensive และ extensive คือแบบหนา และแบบบาง







    หลังคาแบบหนา จะทำโดยใช้ดินที่หนามากกว่า 1 ฟุต และโครงหลังคาก็ต้องใช้โครงสร้างพิเศษเพื่อรับน้ำหนักดินทั้งหมดนี้ หลังคาแบบนี้จะปลูกต้นไม้ต่างๆได้หลากหลายมาก แต่ก็ต้องดูแลกันเป็นอย่างดี จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมกันมากเท่าใด

    หลังคาแบบบาง จะมีความหนาของดินน้อยกว่า แค่ 2-4 นิ้วเท่านั้นก็พอ ในยุโรปนี่เขาทำกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว ตอนนี้ถึงเริ่มเข้าไปแพร่หลายในอเมริกา ในต่างประเทศนี่บางที่เขาใช้หลังคาเขียวเพื่อดูดซับน้ำฝน และช่วยยืดอายุโครงหลังคาให้คงทนขึ้น แต่ที่เห็นประโยชน์ชัดเจน คือการลดอุณหภูมิภายในบ้าน หรืออาคาร ช่วยสร้างออกซิเจนให้กับสภาพแวดล้อม บางทีนกก็ได้อาศัยมาสร้างรัง แต่ที่เอาแพะ แกะขึ้นไปเลี้ยงกันนี่ มันก็ทำเกินไป...เพ่ สงสัยขี้เกียจตัดหญ้า!!!



    ชั้นบนสุดของหลังคาเขียวจะนิยมใช้พืชคลุมดินที่เรียกว่า sedum เป็นพืชที่โตช้า ระบบรากตื้น และมีความทนทานสูง แล้วยังมีหลายพันธุ์หลายสีอีกด้วย มันเป็นพืชที่มีขนาดจำกัดจึงไม่ต้องดูแลรักษาบ่อยๆ คือไม่ต้องคอยขึ้นไปตัดนั่นเองดินที่ใช้ทำหลังคา จะเป็นดินน้ำหนักเบา ผสม vermiculite ที่ยืดหยุ่นตัวได้ดีเมื่อถูกความร้อน และแร่ธาตุอื่นๆที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของ sedum การทำดินเป็นชั้นบางๆนี้ เป็นการควบคุมการเติบโตของวัชพืชหรือพืชอื่นๆไปในตัว ใต้ชั้นดินก็จะปูแผ่นใยต่างๆหลายชั้น เพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลไปกับน้ำจนหมด หรือกลายเป็นโคลนไปอุดตัน ในท่อระบายน้ำ



    การสร้างหลังคาเขียวนั้น ถ้าจะทำแบบของเขาเลยนั้นคงจะยุ่งยาก พอสมควร เพราะเมืองไทยเราเป็นเมืองที่อยู่ในเขตมรสุมเมืองร้อน ฝนตกเยอะ การสร้างหลังคาเขียวอาจจะต้องเปลืองงบประมาณมากกว่าของเขา แต่ที่จะทำได้ง่ายหรือทำได้เลย คือตามดาดฟ้าของอาคารต่างๆ หรือตามตึกแถวนี่เหมาะที่จะทำมาก แต่ไม่ต้องถึงกับลงดินเป็นสนามนะครับ จะหนักเกินไป เป็นสวนกระถางก็พอ พวกไม้เลื้อยนี่ก็เหมาะ ใช้กระถางใหญ่ๆหน่อย แล้วทำระแนงสวยๆให้เขาเลื้อย ได้ร่มเงา เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง อย่าทิ้งให้ดาดฟ้ารกร้างว่างเปล่าเสียนะครับ กรุงเทพฯนี่ เป็นเมืองตึกแถว ถ้าช่วยกันทำสวนดาดฟ้าเยอะ คงจะช่วยสภาวะโลกร้อนได้มาก อุณหภูมิกรุงเทพฯจะได้เย็นลง ซัก 1 องศาก็ยังดี

    ถ้าเราทำเมืองให้เป็นธรรมชาติได้ โดยการปลูกต้นไม้ลงในพื้นที่แนวราบได้ทุกตารางนิ้ว อย่างเช่นงานออกแบบของ
    Friedenreich Hundertwasser ในภาพสุดท้ายนี้ได้ละก็



    สวรรค์ก็จะอยู่บนพื้นพิภพนี่เอง......
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×