ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #103 : "วิศวกรรมดาวเคราะห์" อภิมหาโครงการต้าน"โลกร้อน!"

    • อัปเดตล่าสุด 12 ต.ค. 52


    "วิศวกรรมดาวเคราะห์" อภิมหาโครงการต้าน"โลกร้อน!"

    ขณะ นี้กระแสถกเถียงถึงการใช้แนวคิดสุดขั้วที่เรียกว่า "Geoengineering" หรือ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เข้ามาแก้วิกฤตการณ์ "โลกร้อน" ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์โลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากดร.จอห์น โฮลเดรน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เสนอว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ แม้จะมี "ไซด์เอฟเฟ็กต์" ส่งผลกระทบด้านลบต่อดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราดวงนี้ไม่น้อยเช่นกัน!



    ดร.โฮลเดรน นักฟิสิกส์สหรัฐชั้นแนวหน้าให้สัมภาษณ์สำนักข่าว "เอพี" เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีประจำทำเนียบขาวและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดี โอบามา เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า

    ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี สำนักงานอวกาศนาซ่า และสำนักงานสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) กำลังเปิดประชุมหารือถึงข้อดี-ข้อเสียในการนำเทคโนโลยี "วิศวกรรมดาวเคราะห์" มาแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ

    โฮลเดรน กล่าวว่า ความวิตกกังวลในขณะนี้ คือ สหรัฐและชาติอื่นๆ จะไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ "จุดวิกฤต" ภาวะโลกร้อนมาถึงเร็วกว่าที่คิด ซึ่งถ้าจุดนั้นมาถึงจริงๆ อาทิ น้ำแข็งในเขตอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือละลายทั้งหมด จะก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติชนิดคาดไม่ถึง

    นอกจากนั้น ถ้าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ไม่กี่องศาจะจุดชนวนภัยพิบัติครั้งใหญ่ทั่วโลก

    ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนอาหาร ระดับน้ำทะเลท่วมพื้นที่ชายฝั่ง และเกิดพายุฝนถล่มหนักผิดธรรมชาติในบางพื้นที่

    "วิศวกรรมดาวเคราะห์" จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ต้องงัดมาใช้รับมือปัญหาโลกร้อนในอนาคต แม้ต้องแลกกับผลข้างเคียงทางลบ เช่น ทำให้ชั้น "โอโซน" ในเขตขั้วโลกเป็นรูโหว่ใหญ่มากขึ้น หรือทำให้สภาพภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน กับตะวันออกกลาง เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ยังถือว่า "ได้" มากกว่า "เสีย"

    สำหรับแนวคิด "วิศวกรรมดาวเคราะห์" นั้นมีหลายกรรมวิธี แต่เบื้องต้นวิธีการที่ดร.โฮลเดรนเสนอว่าควรนำมาใช้ ได้แก่

    1. ยิงอนุภาค "ซัลเฟอร์" ขึ้นไปปกคลุมบรรยากาศโลกชั้นบน เพื่อจำลองภาวะเหมือนกับเมื่อครั้งที่เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่พ่นกลุ่ม ควันไปทั่วท้องฟ้า สะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศ ซึ่งผู้นำเสนอทฤษฎีนี้เป็นคนแรกเมื่อปี 2549 คือ "พอล ครูทเซน" นักวิทยาศาสตร์ผู้ชนะรางวัลโนเบล

    2. สร้าง "ต้นไม้เทียม" ในรูปแบบของตึกขนาดยักษ์ คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกจากอากาศ และดึงมาเก็บไว้ใต้ดิน



    เพื่อให้เข้าใจถึงระบบ "วิศวกรรมดาวเคราะห์-Geoengineering" ให้ลึกซึ้ง

    ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ หัวหน้าห้องปฏิบัติการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะและวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติศูนย์ นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า

    Geoengineering นั้นหากมนุษย์คิดทำกันจริงๆ จะกลายเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์เปลี่ยนฟ้า-แปลงโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กระทำโดย สิ่งมีชีวิตนับตั้งแต่มีโลกใบนี้

    โดยเป็นศาสตร์ที่นำเอาสารพัดเทคโนโลยี อาทิ ฟิสิกส์ โยธา วิศวกรรมอวกาศ ธรณีวิทยา เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ เข้ามา "ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์" มีจุดมุ่งหมายทำให้ดาวเคราะห์มีสภาพเหมาะต่อการอาศัยของสิ่งมีชีวิต

    แนว คิดนี้ถือกำเนิดขึ้นเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันจะไปตั้งรกรากบน "ดาวอังคาร" ซึ่งต้องใช้ความรู้หลายสาขาเพื่อทำให้ดาวแดงมีสภาวะเหมาะกับการอยู่อาศัยของ สิ่งมีชีวิต

    เช่น สร้างพื้นผิวดาวเคราะห์ขึ้นมาใหม่ สร้างทะเลสาบ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอุณหภูมิของดาวเคราะห์ รวมทั้งสร้างนิเวศของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา

    ที่ผ่านมา สำนักงานอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) ได้ทำการวิจัยลับๆ เกี่ยวกับ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เพื่อสร้างโลกใหม่บนดาวอังคาร

    ฟังๆ ดูแล้วเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่กำลังเกิดขึ้นจริง

    และมีการทดสอบเทคโนโลยีนี้หลายชนิดบนโลกมนุษย์เรานี่เอง!



    แนวคิดกว้างๆ ของโครงการ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" ก็คือ

    ลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ผ่านเข้ามาพื้นโลก และลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

    ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ ระบุว่า ถ้าจะลองจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการ ให้ลองวาดภาพทะเลทรายที่มีแต่ทรายจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สามารถปลูก พืชได้ โดยการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม

    นอกจากนี้ จะมีการปล่อยอนุภาคเหล็กลงไปในทะเลครั้งใหญ่ เพื่อช่วยให้พวกสาหร่ายและแพลงตอนสามารถเจริญเติบโตดีขึ้น และดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น

    ตามด้วยการปล่อยสารเคมีช่วยรักษาชั้นโอโซน

    ปล่อยอนุภาคที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศเพื่อลดแสงแดดที่ตกกระทบโลก

    การอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ "เชื้อเพลิงฟอสซิล" กลับลงไปใต้พื้นพิภพ หรือพื้นทะเล

    ไปจนถึงการสร้างแผงเซลล์สุริยะ หรือ กระจกบานใหญ่ขนาดเป็นร้อยกิโลเมตรและส่งเข้าไปใน "วงโคจรโลก" เพื่อลดแสงอาทิตย์ส่องเข้ามายังผิวโลก

    อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" เตือนว่า ขณะนี้เรายังไม่มีความรู้ดีพอเกี่ยวกับความซับซ้อนและปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง ระบบต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่อย่างดาวเคราะห์ แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนแย้งว่าการอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรก็รังแต่รอวันสิ้นโลกเท่านั้น..

    สู้เสี่ยงทำอะไรแบบ "มีสติ" น่าจะดีกว่า



    สำหรับ วิธียิงซัลเฟอร์ขึ้นไปสะท้อนแสงอาทิตย์ที่นำเสนอโดยศาสตราจารย์พอล ครูตเซน นักเคมีรางวัลโนเบลค.ศ.1995 ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ บอกว่า

    จริงๆ แล้วครูตเซนเป็นคนค้นพบว่า มลพิษที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ขึ้นไปทำลายชั้นโอโซน แต่ภายหลังท่านกลับเสนอให้ปล่อยก๊าซ "ซัลเฟอร์ไดออกไซด์" ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นมลพิษดังกล่าวเข้าไปในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ เพื่อให้ก๊าซช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไป ทำให้โลกเย็นลง

    การกระทำเช่นนี้เป็นการเลียนแบบเหตุ "ภูเขาไฟระเบิด" นั่นเอง

    เพราะทุกครั้งที่มีการระเบิดของภูเขาไฟจะมีการปล่อยกลุ่มควัน เถ้าถ่าน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน ทำให้พื้นผิวโลกที่อยู่ใต้บริเวณนั้นเย็นลง

    ดังเช่น การระเบิดของภูเขาไฟ "ปินาทูโบ" ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) ได้ปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมาถึง 20 ล้านตัน มีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงถึง 0.5 องศาเซลเซียส

    ศ.ครูตเซนได้เสนอวิธีที่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์โดยการปล่อย "บอลลูนบรรจุก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์" ขึ้นไปปล่อยในชั้นบรรยากาศ หรืออาจบรรจุในถังแล้วยิงขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ให้ไปแตกระเบิดออกในชั้นบรรยากาศ

    ต่อมา แนวความคิดอันสุดโต่งและล้ำลึกของศ.ครูตเซน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามทำวิจัยหาข้อมูลเพิ่มเพื่อหักล้างแนวคิดนี้ แต่เจ้าตัวยืนยันว่า หากโลกเราไม่มีความสามารถในการหยุดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เร็วที่สุด

    นี่ก็อาจจะเป็นทางออกเดียวที่พอทำได้ในการหยุดโลกร้อน!?!

    http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEUwTURRMU1nPT0=§ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdOQzB4TkE9PQ==

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×