ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เนตรสิเน่หา

    ลำดับตอนที่ #1 : เรือนผีสิง

    • อัปเดตล่าสุด 10 ส.ค. 67


    ณ โรงเก็บสมุนไพรประจำกรมโรงพระโอสถ เป็นโรงเรือนไม้สักหลังใหญ่อาณาเขตกว้างขวาง มีไพร่หลวงคอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยในทุกวัน และยังมีหมอยาคอยประจำการดูแลรักษาสมุนไพรที่เก็บไว้มิให้เสื่อมสภาพอีกด้วย

    ด้านในโรงเรือนนั้นมีชั้นวางของทำจากแผ่นไม้สักตั้งอยู่เป็นระเบียบ บนชั้นวางมีสมุนไพรหลากชนิด ทั้งพืชวัตถุทั้ง รากแห้ง ใบแห้ง เมล็ด เปลือกและเนื้อไม้ ธาตุวัตถุเช่นพิมเสนเกล็ด สารส้ม และยังมีสัตว์วัตถุเช่น ไขชะมด ดีหมูป่า 

    โรงเรือนเก็บสมุนไพรหลังนี้อยู่ในความดูแลของกรมโรงพระโอสถ ทำหน้าที่รักษาอาการประชวรของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์แห่งเมืองศรีสุวรรณ โดยมีออกญาแพทยาพงษาวิสุทธิ์คอยควบคุมบังคับบัญชาทั้งหมด   

    กรมโรงพระโอสถนี้เรียกขานกันว่าหมอโรงใน... เหตุที่เรียกหมอโรงในนั้นเพราะมีอีกกรมหนึ่งที่คอยรักษาโรคเช่นกัน เรียกว่าหมอศาลา ซึ่งหมอศาลานั้นคือกรมแพทยาหน้า มีพระศรีศักดิ์คอยบังคับบัญชาอยู่ 

    หมอโรงในและหมอศาลานั้นแม้จักรักษาผู้ไข้เหมือนกัน แต่การวินิจฉัยและรักษานั้นแตกต่างกันอยู่มาก ...

    เพราะหมอโรงในนั้นรักษาโดยใช้สมุนไพรและวินิจฉัยตามอาการ ส่วนหมอศาลานั้นวินิจฉัยและรักษาโดยใช้อาคมและคุณไสย คอยตัดสินอาการจากการถูกผีเข้า กระสือ กระหังและการถูกมนต์ดำเล่นงานจนเจ็บป่วย  

    เพราะเหตุนี้หมอโรงในและหมอศาลานั้นจึงมิใคร่ลงรอยกันนัก เพราะความเชื่อในการรักษาผู้ไข้นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

     

    เช้าวันนี้บนโรงเก็บสมุนไพรนั้นปรากฏเห็นชายร่างสูงรูปงามผู้หนึ่ง กำลังเดินตรวจตราสมุนไพรกับทาสหลวงและขุนนางชั้นผู้น้อยที่ติดตามมาอีกหลายคน  

    ชายผู้นี้คือขุนเทพโอสถ เป็นหมอยาหนุ่มรูปงาม มีความสามารถโดดเด่น และยังเป็นที่หมายปองของแม่หญิงกว่าครึ่งเมืองศรีสุวรรณอีกด้วย 

    เพราะนอกจากรูปกายที่งดงามสูงสง่า ความสามารถไม่เป็นรองใครและยังมีชาติตระกูลที่เพียบพร้อมแล้ว เขายังมีเมตตาช่วยรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยโดยไม่คิดค่ายาแม้สักเบี้ย  

    วันนี้เขาต้องเข้ามาตรวจความเรียบร้อยของสมุนไพรตามปกติ โดยขุนนางชั้นผู้น้อยอีกสี่คนคอยติดตามมาด้วย คือพันโรควินาศ พันชาดประไลย พันโรคประชัย และพันไกรโอสถ 

    “เหตุใดสมุนไพรจึงเหลือน้อยนัก ”

     ขุนเทพโอสถเอ่ยถามนายพันทั้งสี่ที่ติดตามมาด้วย ก่อนจะหันไปมองทาสหลวงที่มีหน้าที่นำสมุนไพรมาเติมทุกเช้า “ขิงดำ ไพล กระชายดำ ขมิ้นชันก็แทบไม่มีเหลือ หากมีน้อยเช่นนี้ แล้วเกิดมีโรคระบาดขึ้นมาจักเพียงพอใช้อย่างนั้นรึ”

    “ขอประทานโทษด้วยขอรับ”

    ทาสหลวงคนหนึ่งทรุดตัวลงคุกเข่าตรงหน้าด้วยความหวั่นกลัว “เมื่อวานฝนตกหนัก น้ำสาดเข้ามาด้านหลังโรงเรือน จึงทำให้สมุนไพรรากและเหง้านั้นเน่าเสียไปเกินครึ่งขอรับ”

    ชายหนุ่มได้ยินสาเหตุก็พลันหันกลับมาหาพันโรควินาศ และพันชาดประไลยอีกครั้ง “เมื่อรู้ว่าสมุนไพรเน่าเสีย เหตุใดเจ้าทั้งสองจึงไม่ซื้อหามาเพิ่มเล่า?”

    พันโรควินาศรีบก้มหน้าเอ่ยตอบทันที “ข้าให้คนไปหาซื้อแล้วขอรับ แต่ไม่รู้ว่าเกิดสิ่งใดขึ้นสมุนไพรจึงยังมาไม่ถึง”

    “หรือสมุนไพรจักขาดตลาด...” ขุนเทพโอสถพึมพำคนเดียวสีหน้าครุ่นคิด  

    “ประเดี๋ยวข้าจักติดตามให้หนาขอรับ” พันไกรโอสถอาสาด้วยท่าทีแข็งขัน ขุนเทพโอสถจึงพยักหน้าเบาๆแล้วเดินตรวจตราดูอีกรอบ “ข้าเกรงว่าเร็วๆนี้จักมีโรคระบาด เห็นชาวบ้านนอกพระนครเริ่มป่วยเป็นโรคประหลาดขึ้นทุกที หากเรามีสมุนไพรตระเตรียมไว้รักษาชาวเมืองให้พร้อมก็จักเป็นการดีไม่น้อย” 

    “ขอรับ” 

    “แล้วไอ้กล่ำเล่า ข้าให้มันปลูกต้นกระแจะไว้หลังโรงเรือนสักห้าสิบต้น มันปลูกเรียบร้อยแล้วหรือยัง” ขุนเทพโอสถเอ่ยถามถึงทาสหลวงคนก่อนที่ตนเคยเรียกใช้ 

    เหตุที่ต้องปลูกต้นกระแจะมากมากมายถึงเพียงนั้น เพราะเรือนเก็บสมุนไพรนี้ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของเมืองศรีสุวรรณ เหล่านางข้าหลวงฝ่ายในก็มักแอบออกมาเอาสมุนไพรที่ใช้ประทินผิวไปอยู่เสมอ ชายหนุ่มจึงจำเป็นต้องตระเตรียมไว้ให้ เผื่อพวกนางมาแอบเอาไปอีกจักได้มีเหลือใช้เพียงพอ มีทั้งเปลือกและแก่นไม้ของต้นกระแจะ และยังมีวัตถุทำเครื่องหอมอื่น ทั้งกำยาน พิมเสน การบูรและขี้ผึ้ง  

    แต่เมื่อขุนเทพโอสถเอ่ยถามหาทาสหลวงชื่อกล่ำ ทาสหลวงทั้งหมดก็พลันก้มหน้านิ่งด้วยความหวาดกลัว ยิ่งไม่มีใครกล้าปริปากบอกเรื่องราวเช่นนี้ ชายหนุ่มยิ่งนึกสงสัยมากยิ่งขึ้น

    “ไอ้กล่ำมันไปไหน” 

    ขุนเทพโอสถเอ่ยถามท่าทางเคร่งเครียด ทาสหลวงคนหนึ่งจึงรวบรวมความกล้าเอ่ยเล่าเรื่องราว “ไอ้กล่ำมันถูกผีเข้าขอรับ...”

    “ผีเข้าอย่างนั้นรึ” 

    ขุนเทพโอสถทวนคำถามด้วยความประหลาดใจ “พวกเอ็งรับใช้อยู่โรงพระโอสถ... มิใช่พวกหมอศาลาแพทยาหน้า แล้วเหตุใดจึงเชื่อเรื่องผีสางเช่นนี้ด้วยเล่า” 

    “โธ่ท่านขุนขอรับ...ไม่เชื่ออย่าลบหลู่เลยหนา”

    “ข้าไม่เชื่อดอก แล้วเหตุใดเอ็งถึงบอกว่ามันถูกผีเข้า?”

    “ไอ้กล่ำมันไข้สูง ร่างกายสะบั้นด้วยความหนาว และยังเพ้อว่ามีผีจักมารับตัวมันไปขอรับ” ทาสหลวงคนหนึ่งเอ่ยตอบด้วยความหวาดกลัว “ข้า...ข้าเห็นมันตาแดงก่ำเหมือนผี...”

    “เหมือนผี ? เอ็งเคยเห็นผีรึ” ขุนเทพโอสถเอ่ยยิ้มๆ  

    “อาจจักเป็นไข้กำเดาน้อยก็ได้ หากไข้สูงมากก็มีอาการเพ้อได้เป็นธรรมดา พวกเอ็งไปเอามันมานอนพักที่เรือนรักษาเถิด ประเดี๋ยวข้าจักตรวจอาการให้มันเอง”  

    “ไม่ได้...ไม่ได้ขอรับ!”  ทาสหลวงหลายคนที่นั่งฟังอยู่ต่างรีบปฏิเสธกันถ้วนหน้า แม้จักกลัวอำนาจของขุนเทพโอสถก็จริงอยู่ แต่ความกลัวผีนั้นก็มีมากกว่า 

    พวกเขารู้ดีว่านายตนนั้นไม่เคยสั่งเฆี่ยนใครหากไม่จำเป็น แต่หากไปเอาไอ้กล่ำออกมาแล้วถูกผีที่เรือนนั้นจับหักคอตาย พวกทาสหลวงนั้นก็ยอมให้เขาเฆี่ยนที่นี่เสียยังดีกว่า 

    “ทำไมไม่ได้เล่า?”

    “ไอ้กล่ำถูกผีจับไปไว้ที่เรือนร้างของเจ้าจอมเพ็ญขอรับ!”

    ขุนเทพโอสถได้ยินดังนั้นก็พลันนิ่วหน้าด้วยความประหลาดใจอีกครั้ง เพราะเรือนร้างของเจ้าจอมเพ็ญนั้นตั้งอยู่เขตพระราชฐานชั้นในสุดฝั่งทิศตะวันออก เป็นเรือนที่ถูกทิ้งร้างมานานราวห้าสิบปีแล้ว สภาพทรุดโทรมจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจักยังตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไปใกล้ เพราะกิตติศัพท์แห่งความเฮี้ยนนั้นยังร่ำลือกันไม่ขาดสาย  

    เมื่อรู้ว่าไอ้กล่ำไปหลบอยู่ในเรือนนั้น ขุนเทพโอสถก็ยังคงครุ่นคิดไม่ตก เพราะแม้ตัวเรือนจักปลูกติดกับกำแพงพระราชฐานชั้นนอก...แต่ก็ยังเป็นเขตของฝ่ายในอยู่ แล้วชายฉกรรจ์อย่างไอ้กล่ำนั้นเข้าไปได้อย่างไร 

    “ไอ้กล่ำมันพูดจาไม่รู้เรื่อง วิ่งวนไปมาราวกับคนเสียสติ แล้วอยู่ๆก็หายไปในเรือนผีสิงของเจ้าจอมเพ็ญขอรับ ให้พวกโขลนไปตามมันออกมาก็ไม่มีใครกล้า” 

    “แล้วพวกหมอศาลากรมแพทยาหน้าเล่า... เห็นว่าเก่งเรื่องปราบผีนักมิใช่รึ แล้วเหตุใดไม่ยอมไปตามให้”

    “โธ่... ท่านขุนก็รู้ ว่าผีที่นั่นเฮี้ยนมากเสียจนพวกหมอศาลาก็ปราบไม่ได้”

    ชายหนุ่มเห็นทาสหลวงเอ่ยเช่นนั้นก็พลันส่ายหน้าเบาๆด้วยความระอาใจ “ข้าไม่เชื่อเรื่องพรรค์นี้ดอก... หากพวกเอ็งไม่กล้า ข้าจักไปที่เรือนเจ้าจอมเพ็ญแล้วพาไอ้กล่ำออกมาเอง” 

    ---------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    ดูอีบุ๊ก

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×