ประเพณีสวนกุหลาบ
ผู้เข้าชมรวม
4,248
ผู้เข้าชมเดือนนี้
10
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ค่ายปฐมนิเทศและวันละอ่อน เป็นกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในช่วงต้นปีการศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความเป็นสวนกุหลาบของพี่ ม.6 ให้แก่รุ่นน้อง ม.1 โดยกิจกรรมค่ายปฐมนิเทศนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแนะนำการใช้ชีวิตในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นเบื้องต้น ปลูกฝังให้รู้จักการใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ความรักในสถาบัน รวมทั้งประเพณีและกิจกรรมต่างๆ โดยในค่ายจะมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีให้แก่รุ่นน้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความรักโรงเรียนในเบื้องต้น และทำให้นักเรียนสวนกุหลาบทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหมือนกัน นั่นคือความรักในสถาบันและความรักเพื่อนนั่นเอง วันละอ่อน เป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่ ม.6 จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับรุ่นน้อง ม.1 โดยจัดขึ้นในช่วงวันไหว้ครู โดยหลังจากไหว้ครูเสร็จจะเริ่มกิจกรรม ซึ่งพี่ๆ ก็จะจัดฐานกิจกรรมไว้ให้รุ่นน้อง ให้รุ่นน้องได้ผ่านการผจญภัยในฐาน สนุกสนานร่วมกันกับเพื่อนๆ ซึ่งในทุกฐานนั้นจะมีการปลูกฝังน้องๆ แฝงไว้ด้วยเสมอ ต่อจากนั้นจะมีการเล่นคอนเสิร์ต และพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยท่านคณาจารย์ และปิดท้ายด้วยการที่น้องจะลอดซุ้มมือของพี่ๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นอย่างยิ่ง รุ่นพี่จะร้องเพลงโรงเรียนต่างๆ ปลูกฝังและให้ข้อคิดดีๆ แก่รุ่นน้อง เพื่อแสดงการต้อนรับการเป็นรุ่นน้องอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น วันละอ่อนจึงเป็นนิยามที่ว่า วันที่น้องๆ ม.1 จะต้อง "ละ" ความ "อ่อน" วัยของตัวเอง เพื่อพร้อมเผชิญหน้าและยืนหยัดกับสังคมแห่งใหม่ พร้อมที่จะมีความเป็นสุภาพบุรุษสวนกุหลาบอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะเป็นรุ่นพี่ที่ดีของรุ่นน้องต่อไปในอนาคต กิจกรรมรับขวัญเสมา "เสมาชมพู-ฟ้า" เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวสวนฯ ภาคภูมิใจ เนื่องจากในอดีตนั้นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ใช้สัญลักษณ์เสมาเป็นตราประจำโรงเรียน เมื่อได้มีการประกาศใช้ตราประจำโรงเรียนแบบปัจจุบัน ตราเสมาชมพูฟ้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สื่อถึงโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งโดยประเพณีปฏิบัติแล้ว ในอดีตนักเรียนชั้นเตรียมเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา (มัธยมศึกษาปีที่ 7-8) จะมีเข็มเสมาประดับบนหน้าอกเหนืออักษรย่อ "ส.ก." ต่อมาทางโรงเรียนให้ใช้การปักด้ายเสมาชมพู-ฟ้าแทนเข็ม และปรับให้มาใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย (ม.4-6) ตามระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป เสมาชมพู-ฟ้า นอกจากจะเป็นเครื่องสื่อถึงโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้ว ยังสื่อถึงหน้าที่ของผู้ที่มีเสมาปักอยู่บนหน้าอกซึ่งก็คือนักเรียนชั้นมัธยมปลายว่า จะต้องเป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้องชั้น ม.ต้น รวมทั้งจะสืบทอดและรักษาเกียรติภูมิของความเป็นสวนกุหลาบไว้ตราบจนชีวิตจะหาไม่ ดังนั้น จึงจัดให้มีกิจกรรม "รับขวัญเสมา" แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทุกคนเพื่อปลูกฝังหน้าที่ของความเป็นสวนกุหลาบและรุ่นพี่ที่ดี โดยมีกำหนดจัดขึ้นราวเดือนมิถุนายนของทุกปีซึ่งก็คือช่วงต้นปีการศึกษา ดำเนินการโดยคณะกรรมการนักเรียน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังความสามัคคี อดทน มีวินัย ความเสียสละ และปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนที่ผ่านกิจกรรมนี้ เติบโตและพัฒนาตนเป็นรุ่นพี่ที่ดีของน้องได้อย่างเต็มภาคภูมิ ให้สมกับที่มี "เสมาชมพู-ฟ้า" ปักอยู่บนหน้าอกของนักเรียนม.ปลายทุกคน วันแนะนำกิจกรรม เป็นวันที่ทางคณะกรรมการนักเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเลือกชุมนุมเพื่อทำกิจกรรมของตนเอง จัดขึ้นในช่วงต้นปีการศึกษาของทุกปี โดยแต่ละปีมีชุมนุมออกมาจัดซุ้มรับสมาชิกใหม่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือคนทำกิจกรรมเริ่มมีจำนวนน้อยลงทุกทีๆ ด้วยระบบการศึกษาที่เน้นการทำงาน ทำให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลง อีกทั้งตัวเด็กเองยังไม่เห็นความสำคัญของกิจกรรมชุมนุม แต่ในความจริงแล้ว การทำกิจกรรมชุมนุมไม่ได้เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในการทำงาน การอยู่ร่วมกัน ตลอดจนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการสร้างเสริมความเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาแทบไม่ได้จากในห้องเรียน ดังนั้น นักกิจกรรมที่ดีควรแบ่งเวลาให้ถูกทั้งในด้านการเรียนและด้านกิจกรรม เพราะเราทุกคนต่างตระหนักดีว่า สวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนชั้นนำของประเทศได้ก็เพราะว่าทุกคนให้ความสำคัญทั้งการเรียนและกิจกรรมเท่าๆ กัน จึงทำให้ศิษย์เก่าสวนกุหลาบแทบทุกคนเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งด้านสติปัญญาและการดำรงชีวิต และออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติมาได้จนถึงทุกวันนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า "กิจกรรมสร้างคน คนสร้างกิจกรรม" |
วันสมานมิตรคือวันที่ชาวสวนกุหลาบทั้งมวลต่างรอคอย เพราะวันนี้เป็นเพียงวันเดียวในรอบปีที่ชาวสวนกุหลาบฯจะได้กลับมารำลึกถึงความเป็นสวนกุหลาบร่วมกัน ซึ่งงานนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนของทุกปี สำหรับอาจารย์แล้ว วันนี้เป็นวันที่ท่าน ได้ชื่นชมกับผลงานความสำเร็จของบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลายที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังกับอาจารย์และรุ่นน้อง ลักษณะทั่วไปของงานสมานมิตรในปัจจุบันคือ ในช่วงเช้าจะมีการจัดซุ้มเล่นเกมจากนักเรียนระดับชั้น ม.6 น้องๆ มีการจัดนำอาหารมาต้อนรับรุ่นพี่ที่ห้องเรียนของตน และมีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า จากนั้นในช่วงเย็นจะมีการจัดซุ้มอาหารโดยเหล่าผู้ปกครอง มีการเตะฟุตบอลกระชับมิตร และในช่วงค่ำ จะมีการแสดงคอนเสิร์ตของวง SK Jazz มีกิจกรรมบนเวที โดยทุกปีทางคณะกรรมการนักเรียนได้มีการจำหน่ายของที่ระลึกวันสมานมิตร ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ วันนี้ยังเป็นโอกาสที่รุ่นพี่ๆ จะมาย้อนรำลึกความหลังร่วมกันกับรุ่นน้อง เพื่อน รุ่นพี่ และท่านคณาจารย์ วันนี้จึงเป็นวันแสดงพลังของชาวสวนกุหลาบวิทยาลัยอีกวันหนึ่งเลยทีเดียว
|
จตุรมิตรสามัคคี |
ในการแข่งขันฟุตบอล "จตุรมิตรสามัคคี " นั้นเป็นความริเริ่ม ของ อ.โปร่ง ส่งแสงเติม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับ อ.อารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยทั้ง 2 ท่านได้มาขอร่วมมือกับ อ.บุญอวบ บูรณะบุตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์และ อ.บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญ ในอันที่จะได้ร่วมกันแข่งขันฟุตบอลระหว่าง4 สถาบันเพื่อเป็นการเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์และนักเรียน ทั้งฝ่ายนักกีฬา และฝ่ายกองเชียร์ ซึ่งอาจารย์ทั้ง 4 ท่าน ได้มีความเห็นพ้องต้องกัน ในการจัดฟุตบอลประเพณีดังกล่าว การแข่งขันฟุตบอล " จตุรมิตรสามัคคี " ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2507 โดยลำดับการแข่งขันการเป็นเจ้าภาพดังนี้ แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และภาวะทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยในการจัดแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี จึงเว้นไประยะหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 - 2520และมีการจัดขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2521 เป็นครั้งที่ 8 ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2521 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ต ่อมาคณะกรรมการการแข่งขันฟุตบอลจุตรมิตรสามัคคีนั้น ได้ตกลงกันว่า ถ้ามีการแข่งขันทุกปีอาจทำให้ สิ้นเปลือง แต่ถ้าเว้นปีไปก็เกรงว่า การแข่งขันฟุตบอลจะขาดช่วง จึงตกลงกันว่าให้มีการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรปีเว้นปีโดยปีที่ไม่มีการแข่งขั นให้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอล จตุรมิตรเหย้า-เยือนขึ้น ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยใช้สนามภายในโรงเรียนเท่านั้น |
วันปัจฉิมนิเทศ วันปัจฉิมนิเทศเป็นประเพณีของชาวสวนกุหลาบอย่างหนึ่ง กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงท้ายของการเรียนในภาคเรียนที่ 2 เป็นวันที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังจะจบชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนได้มีโอกาสย้อนรำลึกถึงอดีตและความทรงจำในรั้วสวนกุหลาบตลอด 3 ปี ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน และเป็นการกระตุ้นเตือนสติให้นักเรียนได้รับรู้ว่า ใกล้ถึงเวลาที่จะต้องเข้าสู่ความเป็นรุ่นพี่ในชั้นมัธยมปลายอย่างเต็มตัว ในงานมีการจัดเลี้ยงอาหาร การละเล่นต่างๆ การแสดงของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกห้อง จึงถือเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง |
วันจากเหย้า |
วันจากเหย้าชาวสวนฯ ความหมายของวันนี้คือ วันที่ลูกสวนกุหลาบคนโตของเราจะจบการศึกษา และจากอ้อมอกของสวนกุหลาบออกไปสู่สังคมการศึกษาภายนอก จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ร่วมสังสรรค์กัน ให้นักเรียน กิดความประทับใจ ในโรงเรียนและระลึกถึงบุญคุณของครู-อาจารย์ที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีรักใคร่กันระหว่างนักเรียนในรุ่นให้แน่นแฟ้น ในวันนี้คณาจารย์จะจัดงานร่ำลาอาลัยรักส่งลูกคนโตของเรา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสุดท้ายของการสอบภาคปลายในปีการศึกษานั้นๆ ย้อนอดีตวันจากเหย้า ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ขณะนั้นท่านอาจารย์สำเริง นิลประดิษฐ์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและอาจารย์พูนทรัพย์ วัฒนไชยเป็นหัวหน้าระดับ ม.ศ.5 อาจารย์พูนทรัพย์มองเห็นปัญหาบางประการที่นักเรียนม.ศ.5 เมื่อสอบเสร็จแล้วรู้สึกโล่งเหมือนได้ปลดปล่อยพันธะบางประการไปได้แล้วก็ปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์ของวัยรุ่น บางกลุ่มก็นัดกันไปสังสรรค์และอาจเลยเถิดไปถึงการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมสถานภาพของนักเรียน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแก่ชื่อเสียงของโรงเรียนตามมาอีกก็ได้ อาจารย์พูนทรัพย์จึงปรึกษากับคณาจารย์ในระดับ ม.ศ.5 ขณะนั้น จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้คิ และเกิดความรักโรงเรียน รักชื่อเสียงของโรงเรียนก่อนที่จะจากไป ในที่สุด อาจารย์พูนทรัพย์ก็ดำริจัดงาน "วันจากเหย้า" ให้แก่นักเรียน ม.ศ.5 ในขณะนั้น โดยกำหนดจะจัดให้ในวันสุดท้ายของการเรียนในปีการศึกษานั้น (2523) ราวๆ ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2524 โดยได้นำเงินรายได้ของอาจารย์เองที่ได้จากการสอนเสริมในระดับ และขอเพิ่มเติมจากคณาจารย์ ม.ศ.5 รวมทั้งคณาจารย์บางท่านจากระดับอื่นๆ นำมาเป็นทุนในการจัดงานโดยนักเรียนไม่ต้องจ่ายอะไรเลยและยังมีการแสดงเล็กๆ น้อยๆ จากอาจารย์ ม.ศ.5 มีวงดนตรี S.K. JAZZ บรรเลงให้ความสนุกสนาน ครูอาจารย์ ม.ศ.5 ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ลงมือจัดอาหารใส่ห่อ ล้างส้มเป็นร้อยๆ เช็ด และบรรจุถุงให้แก่ลูกศิษย์ของตน สิ่งเหล่านี้ เมื่อนักเรียนได้เห็นแล้วได้รู้ซึ้งว่าครูทุกคนทำให้แก่พวกเขาอย่างเต็มอกเต็มใจ ซึ่งก็เป็นจุดที่ทำให้เขาได้คิดบ้าง และในท้ายของงานก็มีการร่ำลากัน ร้องเพลงของโรงเรียนอันทำให้เกิดความประทับใจอย่างยิ่ง ในปีต่อมา อาจารย์พูนทรัพย์และคณาจารย์ ม.ศ.5 เห็นว่าเมื่อนักเรียนสอบเสร็จ เริ่มจะมีการเขียนเสื้อกันและกันไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งก็ดูไม่เหมาะสมนัก จะทำอย่างไรดี มิให้การกระทำนั้นออกไปแพร่หลายแก่สายตาของบุคคลภายนอก จึงคิดกันว่า ถ้านำวันจากเหย้ามาจัดในวันสุดท้ายดูจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นวันจากเหย้าในปีต่อมา คือปีการศึกษา 2524 จึงจัดในวันสอบวันสุดท้าย ราวๆ เดือนมีนาคมของพ.ศ. 2525 นั่นเอง และถือเป็นกำหนดงานที่แน่นอนตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เข้าปีที่ 24 แล้ว
"วันจากเหย้าชาวสวนฯ" นี้ในสมัยอาจารย์พูนทรัพย์ วัฒนไชยและอาจารย์เนาวรัตน์ พลเดช เป็นหัวหน้าระดับนั้น การจัดงานยังเป็นเรื่องของระดับ ม.6 เท่านั้น ทางโรงเรียนยังไม่มีงบประมาณให้ ดังนั้นงบประมาณการจัดงานจึงมาจากการเรี่ยไรครูอาจารย์ ในระดับเดียวกัน แต่จะเชิญครูอาจารย์ในระดับอื่นๆ มาร่วมงาน ต่อมาในสมัยอาจารย์วิเชียร พงษ์ประเสริฐ เป็นหัวหน้าระดับในปีการศึกษา 2529 ได้เสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมขออนุมัติให้เป็นงานของโรงเรียน ที่ประชุมอนุมัติให้เป็นงานของโรงเรียนและได้งบประมาณจากสมาคมผู้ปกครองและครูสวนกุหลาบวิทยาลัยมาสนับสนุน ต่อมาปีการศึกษา 2530 สมาคมศิษย์เก่าฯ เห็นว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้จบไปก็เป็นศิษย์เก่า จึงได้เสนอตัวให้การสนับสนุนมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบงานจากเหย้าในปัจจุบันคือหลังจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบเสร็จในวันสุดท้ายแล้ว ประธานนักเรียนและประธานรุ่นจะนำนักเรียนทั้งระดับถวายบังคมลา ณ พระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นจะเดินแถวขึ้นไปยังหอประชุมสวนกุหลาบรำลึก โดยมีน้องๆ ม.1 คอยส่งพี่ๆ ขึ้นหอประชุมอย่างคึกคัก จากนั้นบนหอประชุมจะมีการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นเกม การย้อนอดีตชีวิตในสวนกุหลาบของนักเรียน เป็นต้น จากนั้นนักเรียนทั้งหมดจะกราบลาท่านคณาจารย์ และรับมอบของที่ระลึก แล้วจึงลงจากหอประชุมเพื่อเข้าสู่งานเลี้ยงในช่วงเย็น ซึ่งทางโรงเรียนจัดเลี้ยงให้ โดยมีวง SK Jazz คอยเล่นเพลงโรงเรียนเพื่อย้อนรำลึกความหลังตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ในช่วงสุดท้ายจะมีการร้องเพลงโรงเรียนร่วมกัน และบูมสวนฯ เพื่อเป็นการปิดฉากชีวิตในสวนกุหลาบตลอด 6 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงสังเกตได้ว่า นักเรียน ม.6 ทุกคนจะพยายามใช้เวลาในวันจากเหย้ากับเพื่อนให้มากที่สุด เพราะทุกคนล้วนผ่านชีวิตทุกรูปแบบกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนแห่งนี้มาตลอด 6 ปี จึงแสดงให้เห็นว่า ความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวสวนกุหลาบอย่างหนึ่งเลยทีเดียว |
ผลงานอื่นๆ ของ Rn ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Rn
ความคิดเห็น