ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องเก็บของนานาสาระ (=w=)

    ลำดับตอนที่ #99 : พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 151
      0
      8 พ.ค. 53

    พระราชประวัติ

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

     

    พระราชสมภพ

              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

     

                    ประสูติเมื่อวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ ณ พระบรมมหาราชวัง

     

                    มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร ทรงเป็นประราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

     

                    ทรงมีพระกนิษฐา ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า ภาณุรังสีสว่างวงค์

     

    วัยเยาว์

     

    พระราชปีโยรส

     

                    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ พระองค์ทรงโปรดเจ้าฟ้าชายใหญ่เป็นที่ยิ่งนัก แม้ขณะที่ทรงพระเยาว์ ก็โปรดให้อยู่ใกล้ชิดเสมอ ดังเช่นในปีพุทธศักราช ๒๓๙๗ เสด็จประพาสสมุทรสาคร และราชบุรี โดยชลมารค และจะทอดพระกฐิน ณ พระอารามหลวง โปรดให้เจ้าฟ้าชายใหญ่ตามเสด็จองค์พระกฐินนั้น รับสั่งให้จัดเรือดั้งมีตำรวจหอกแห่และสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงมอบหมายให้เจ้าฟ้าชายใหญ่ทอดพระกฐินด้วยพระหัตของพระราชโอรสเอง เพื่อจะให้ได้รับพระเกียรติยศโดยนิยมในลำน้ำอันเดียวกันกับที่พระองค์ได้ทรงรับเป็นครั้งแรง เมื่อเสด็จออกไปรับครัวรามัญ แม้ว่าขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชันษาเพียง ๔ พรรษาเท่านั้น

     

    การศึกษา

     

                    ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชันษาเจริญวัยสมควรแก่การศึกษา สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เข้าศึกษาเล่าเรียนตามสำนักต่างๆอันเป็นการสมควรแก่พระราชโอรสทุกประการ

     

                    ทรงเริ่มศึกษาในสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ราชประเพณีต่างๆ วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง ยิงปืน ตลอดจนรัฐศาสตร์ชั้นสูง และเนื่องจากทรงติดตามใกล้ชิดพระบรมชนกนาถ ทำให้ทรงได้รับพระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนจากพระบรมชนกนาถในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีทั้งปวง

     

                    นอกจากนั้นยังทรงศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และภาษาบาลี จากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระผู้มีวัตรปฏิบัติสูงส่งในสมัยนั้นอีกด้วย

     

     

    ศึกษาภาษาต่างประเทศ

     

                    ในปีระกาพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งหลาย พระชันษาสมควรจะทรงเล่าเรียนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปได้ ทรงพระราชดำริเห้นแน่ในพระราชหฤทัยว่า ความรู้ภาษาฝรั่งจะเป็นวิชาจำเป็นสำหรับใช้ในราชการต่อไปในภายหน้า

     

                    จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์ ได้สตรีอังกฤษ ชาวแคนาดาคนหนึ่ง ชื่อ แอนนา เลียวโนเวนส์ รับจะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษแกพระเจ้าลูกยาเธอ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างเข้ามาถึงกรุงเทพ ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๕ และโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาสอนที่พระที่นั่งทรงธรรม ในพระบรมมหาราชวัง สอนเฉพาะเวลาเจ้านายเสด็จขึ้นเฝ้าฯ และเวลาว่างการตามเสด็จ นอกจากนางแอนนาแล้ว ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้หมอบรัดเลย์ ชาวอเมริกัน มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่พระเจ้าลูกยาเธออีกด้วยจนสิ้นรัชกาล

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในการศึกษาเล่าเรียน ทรงเรียนรู้พระราชประเพณีอันควรแก่พระราชโอรส และทรงเรียนรู้วิชาการต่างๆได้อย่างแตกฉานภายในเวลาอันรวดเร็ว

     

    พระเกียรติยศ

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นยอดปิโยรสของพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยรับพระเกียรติยศยกย่องมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฉันใด ก็มีพระราชประสงค์ในการจะพระราชทานพระเกียรติยศแด่พระโอรสฉันนั้น แต่เปลี่ยนแปลงไปบ้างโดยวิธีและมีพิเศษบางประการ

     

    พระราชพิธีโสกันต์

     

                    ครั้นถึงปีฉลู พุทธศักราช ๒๔๐๘ ขณะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ มีเขาไกรลาสและกระบวนแห่เต็มตามตำราอย่างโสกันต์เจ้าฟ้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั้งดุสิตมหาปราสาท ตั้งต้น ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แห่เสด็จมาสดับพระพุทธมนต์ ๓ วัน ถึงวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ

     

                    ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรวัณโรคภายในเรื้อรังมาหลายปี พระอาการทรุดหนักลง เมื่อจวนงานโสกันต์คราวนี้ แต่แรกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะชะลองานพระราชพิธีโสกันต์ แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทูลขอให้คงงานไว้ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลานเธอ ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตามาก กราบทูลว่าถ้างดงานโสกันต์ไว้ พระองค์จะมิได้มีโอกาสสมโภช ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้คงมีงานโสกันต์ตามกำหนดฤกษ์

     

     

    รัชทายาท

     

                    การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๘ นั้น ได้เปลี่ยนฐานะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาส มาอยู่ในที่รัชทายาทด้วยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่

     

    ในการครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกด้วยเหตุที่เจ้าฟ้าชายใหญ่ยังทรงพระเยาว์ และพระองค์ก็มีพระชันษามากแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เมื่อใดเจ้าฟ้าชายใหญ่จะทรงรับรัชทายาทได้โดยมั่นคง จึงจะทรงมอบราชสมบัติพระราชทาน ถ้าหากไม่ทรงปกครองแผ่นดินไทยได้มั่นคงอย่าให้ครองราชสมบัติจะดีกว่า แต่ในเวลานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องสถาปนาตำแหน่งรัชทายาทให้ด้วยยังทรงพระเยาว์

     

     

    บรรพชาเป็นสามเณร

     

    ครั้นถึงปีขาล พุทธศักราช ๒๔๐๙ เป็นคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการตามแบบเจ้าฟ้าทรงเคยผนวช เหมือนอย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๒ คือเมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๖ ค่ำ ทำพระราชพิธีสมโภชที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตรงซึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับหน้าบายศรีนั้นให้ทำเพดานระบายดอกไม้สด มีเสาตั้ง ๔ เสา ตั้งเครื่องยศสองข้าง และให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเศวตฉัตร เป็นส่วนพิเศษด้วย

     

    รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ โปรดให้แต่งพระองค์ทรงเครื่องต้นอย่างขัตติยราชกุมาร ทรงพระชฎาห้ายอด ทรงพระราชยานมาจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกประตูเทวาพิทักษ์ แห่ไปทางถนนเจริญกรุง ถนนเฟื่องนคร เลี้ยวกลับทางถนนบำรุงเมือง เข้าประตูสวัสดิโสภา ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผลัดเครื่องทรงและโปรยทานแล้ว ทรงพระเสลี่ยงกงผูกหาม ๔ คน เข้าไปจนถึงกำแพงแก้ว แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จูงพระกรเข้าในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วทรงบรรพชาตามพระวินัยบัญญัติต่อคณะสงฆ์ ๓๐ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นพระอุปัชฌาย์ทั้งส่วนทรงรับพระสรณาคมน์ รับศีล และเริ่มรับนิสัยเป็นครั้งแรกที่จะมีในการบรรพชาสามเณร อนึ่ง โปรดให้ยกเพดานระบายดอกไม้สดเมื่อสมโภชนั้น มาตั้งถวายสงฆ์ในที่ทรงบรรพชาด้วย

     

    ครั้นทรงผนวชแล้ว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแต่งพระองค์อย่างราชกุมาร ทรงรำกระบี่กระบอง ง้าว ดาบสองมือเป็นคู่กัน เป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถ แล้วเสด็จประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคืนหนึ่ง ด้วยเย็นวันนั้นมีการฉลองพระสงฆ์ ๓๐ รูป ที่นั่งหัตถบาสสวดมนต์ที่ในพระอุโบสถ

     

    รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ เลี้ยงพระแล้วจึงทรงรถพระที่นั่งกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีกระบวนแห่ไปส่ง ณ วัดบวรนิเวศ โปรดให้เสด็จประทับอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถเคยเสด็จประทับอยู่เมื่อครั้งทรงผนวช

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ทรงรับโอวาทและเล่าเรียนพระธรรมวินัยในสำนักกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ และโปรดให้หลวงราชาภิรมย์ (ชู) เป็นพระอาจารย์ หัดทำนองเทศน์มหาชาติ กัณฑ์สักกบรรพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ

     

    ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถมีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ในข้างขึ้นเดือน ๑๑ ซึ่งเป็นเวลาน้ำเหนือเต็มฝั่ง เพราะจะเสด็จด้วยเรือพระที่นั่ง อรรคราชวรเดช

     

    แต่ครั้นเสด็จไปถึงเมืองชัยนาถแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยคำนึงถึงเจ้าฟ้าชายใหญ่ซึ่งมิได้โดยเสด็จด้วยเนื่องจากอยู่ระหว่างพรรษา จึงเสด็จกลับมากรุงเทพฯ พอออกพรรษาแล้ว เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นไปใหม่ ทรงรับพระโอรสขึ้นไปในเรือพระที่นั่งลำเดียวกัน ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ทรงประพฤติเคร่งครัดตามพระวินัยแต่แรกทรงผนวชมา ในครั้งนี้จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดที่ประทับ ณ เก๋งบนดาดฟ้า ให้ตัดเพดานผ้าขาดเป็นตอนมิให้เนื่องด้วยข้างใน และให้กั้นที่บรรทมมีบานผ้าปิดได้ เพื่อจะให้บรรทมได้ในกลางวัน ให้เป็นอันได้รักษาสมณวัตรให้ไพบูรย์เหมือนอย่างเสด็จอยู่ที่วัด ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในทางธรรมและทางวินัยเนืองๆ จนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

     

    อนึ่ง ในคราวที่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้โปรดให้เสด็จออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ และให้ทรงอธิษฐานปฏิญาณพระองค์ต่อพระปฐมเจดีย์ว่า ถ้าหากทรงมีกำลังและโอกาสที่จะทำพระปฐมเจดีย์ให้สำเร็จได้ ก็จะทรงทำต่อไปให้สำเร็จ ซึ่งโปรดให้อธิษฐานไว้ดังนี้ เพราะเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงอธิษฐานไว้ ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงได้ทรงทำตามที่ทรงอธิษฐานไว้โดยนัยเช่นเดียวกัน

     

    ครั้นทรงลาผนวชแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดให้เสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่ใกล้พระที่นั่งที่ประทับ หาได้โปรดให้เสด็จออกวังไม่ ด้วยพอพระราชหฤทัยจะให้เสด็จใกล้ชิดอยู่เสมอไป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสที่ไหน ก็โปรดให้ตามเสด็จด้วยทุกคราวไป ไม่เคยห่างไกลจากพระองค์นานเวลาเลย

     

     

    วัยหนุ่ม

     

    กรมขุนพินิจประชานาถ

     

    ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศ ให้เปลี่ยนปลายพระนามซึ่งแต่เดิมว่าศิริวัฒนราชกุมาร เป็นศิริวัฒนราชวโรรส พร้อมเลื่อนพระอิสริยยศเจ้าฟ้าชายใหญ่ขึ้นเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ โปรดให้ประกอบพิธีรับพระสุพรรณบัฏ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ

     

     

    รับราชการ

     

    จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ บัญชาการกรมมหาดเล็ก และให้กำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติบรรดาอัครมหาเสนาบดีกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้ทรงบังคับบัญชาทหารปืนเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวรด้วย ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชันษาเพียง ๑๔ พรรษาเท่านั้น

     

    การในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้พระราชทานพระที่นั่งกงหุ้มทองใบผูกแปด ให้ทรงตามเสด็จพระราชดำเนินในขบวนพยุหยาตราด้วย

     

    ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาโดยลำดับ ได้โปรดให้ทรงศึกษาศิลปวิทยาสำหรับขัตติยราชกุมารมีประการต่างๆ เป็นต้นว่า อักษรสมัย ภาษาอังกฤษ ราชนิติศาสตร์ เพลงอาวุธ อัศวกรรม และพระราชทานพระบรมราโชวาทพร่ำสอนให้เข้าพระราชหฤทัยในกระบวนราชการแผ่นดิน และราชประเพณี กับทั้งวิธีบริหารราชตระกูลเป็นอาทิ และเพื่อที่จะให้ทรงแม่นยำ ชำนาญในราชกิจ จึงโปรดให้ทรงรับพระราชดำริและกระแสพระบรมราชโองการไปปรึกษาท่านอัครมหาเสนาบดี และนำความเห็นของท่านเหล่านั้นมากราบบังคมทูลพระกรุณาอยู่เนืองนิตย์

     

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เจ้าฟ้าชายใหญ่รับฎีกาในเวลาที่มิได้เสด็จออกทรงรับด้วยพระหัตถ์เอง และให้รับฎีกาอันลงลายพระราชหัตถเลขาดำรัสสั่งไปยังกรมพระตำรวจ เพื่อให้ทรงทราบในทางอรรถคดีและกฎหมาย เมื่อกล่าวโดยสังเขปแล้วก็คือตั้งพระราชหฤทัยจะทรงให้เจ้าฟ้าชายใหญ่ เป็นรัชทายาทผู้สามารถอย่างแท้จริงในสรรพราชกรณียกิจนั้นๆ

     

     

    เสวยราชสมบัติ

     

    สืบสันตติวงศ์

     

    ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ ในตอนกลางคืนก็มีการประชุมพระราชวงศ์กับเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และนิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๒๕ รูป มีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริมหาลงกรณ์) ที่มหาสังฆนายกเป็นประมุข กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชั้นใหญ่ๆหลายพระองค์ ซึ่งผนวชเป็นสามเณรอยู่ทั้งนั้น มานั่งเป็นสักขีพยานอยู่ด้วย โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นประธาน

     

    ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบทูลให้ทรงทราบว่า ปรึกษากันว่าจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิจประชานาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า ทรงพระวิตกอยู่ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังน้อย จะไม่สามารถว่าราชการแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ดังควร ก็นี่ทรงวิตกเช่นนี้จะคิดอ่านกันอย่างไร

     

     

    ผู้สำเร็จราชการ

    กรมหลวงเทเวศร์ฯ กล่าวว่า ขอให้พระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอจะทรงผนวช เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามความข้อนี้แก่ที่ประชุมๆ ก็ให้อนุมัติเห็นชอบพร้อมกัน

     

    เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องพระราชพิธีต่างๆ ท่านไม่สู้จะเข้าใจ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง ที่ประชุมก็อนุมัติเห็นชอบด้วย จากนั้นก็มีการประชุมเพื่อสถาปนาพระมหาอุปราชภายหน้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่กรมหมื่นบวรวิชัย ราชโอรสองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

     

     

    เสวยราชสมบัติ

     

    ครั้นที่ประชุมเห็นพร้อมกันดังนั้น จึงเชิญเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานาถ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ นับเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๖ พรรษา

     

    พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้ง คือในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ โดยงานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๗ ถึง วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน รวมทั้งสิ้น ๕ วันและหลังจากทรงลาผนวชแล้ว

     

    พระนามจารึกพระสุพรรณบัฏ

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามจารึกพระสุพรรณบัฏ ว่า

    พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศปริพัคร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาส อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูรสุภาธิการรังสฤษฏ์ ธัญญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิสมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูรมูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศ มโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัยสกล มไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุดลยศักดิอรรคเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว (ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง เปลี่ยนจาก พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

     

    พระบรมราชโองการครั้งแรก

     

    ในคราพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งแรก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสรับการถวายราชสมบัติและพระมหาเศวตฉัตรแล้ว ทรงมีพระบรมราชโองการครั้งแรกว่า

     

    พรรณพฤกษาชลธีและสิ่งของในแผ่นดิน ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด

     

    ทรงผนวช

     

    ครั้นปีพุทธศักราช  ๒๔๑๖ ทรงมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ ได้ทรงออกผนวชตามพระราชประเพณีโบราณ ที่ทรงถือปฏิบัติกันมา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณ (สมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ฯ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

     

    เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้ง อันเป็นนิมิตหมายว่าจากนี้เป็นต้นไป พระองค์ท่านจักต้องทรงรับผิดชอบราชการบ้านเมืองโดยสิทธ์ขาดด้วยพระองค์เองสืบไป

     

    พระบรมราชินี

     

    ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ไว้ในตำแหน่งพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็นพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี ต่อมาได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีตามลำดับ

     

    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีขึ้นมาเป็นพระมเหสีเอก ตำแหน่งพระบรมราชินี และในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อครั้งทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก และได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งนับเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศไทย ครั้นในรัชกาลประบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี

     

    สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคต ณ วังพญาไท เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ สิริพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา ๙ เดือน

     

     

    พระราชโอรส-พระราชธิดา

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ รวม ๙ พระองค์ คือ

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพ็ชรรุตม์ธำรง

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงศฺภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิริราชกกุธภัณฑ์

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์วันที่ประสูติ)

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายนุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

    -          สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ ๗)

     

    พระราชานุกิจ

     

    พระราชานุกิจ

     

    เมื่อเริ่มรัชกาลท่านผู้ใหญ่ปรึกษากันว่า พระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลาไม่แน่นอนเหมือนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มักลำบากแก่การเข้าเฝ้า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่มีพระราชกิจที่จะต้องทรงพระอักษรมาเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกราบทูลขอให้แก้ไขพระราชานุกิจให้เป็นอย่างครั้ง ร.๓

     

    การจัดระเบียบพระราชานุกิจครั้งนั้น การฝ่ายในมอบให้ท้าวเจ้าจอมมารดาอึ่ง รัชกาลที่ ๓ อันเป็นธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ และเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าบุตรี เป็นผู้อำนวยการ จัดการทุกอย่างซึ่งจะพึงเป็นได้ให้กลับเหมือนครั้ง ร.๓

     

    แต่ทางฝ่ายหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงอำนวยการ ทรงอนุโลมเอาแบบอย่างครั้นรัชกาลที่ ๔ ไว้โดยมาก เช่น เลี้ยงพระฉันเวร

     

    สิ้นรัชกาล

     

    ทรงพระประชวร

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรที่พระนาภี ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ และพระอาการกำเริบขึ้นเรื่อยๆ ทรงได้รับการรักษาจากหมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอบัวซ์ แต่พระอาการของพระองค์ก็ยังไม่ทุเลา

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระอนุชา พระราชโอรส และเสนาบดีผู้ใหญ่ให้ขึ้นเข้าเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม ทรงตรัสกับผู้เข้าเฝ้าเหมือนเวลาปกติที่ทรงพระสำราญดี

     

    ครั้นถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ในเวลาบ่ายพระองค์ยังทรงมีไข้ ปรอทขึ้นถึง ๑๐๐ องศากว่าราบว่า ปรึกษาักขีพยานอยู่ด้ออกวังไม่ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบอพระปฐมเจดีย์ว่าศักราช ๒๔๐๘ี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้คงมีงานโสก ในเวลาเย็นก็ยังไม่ทุเลา พระบรมวงศานุวงศ์ต่างพากันวิตกเป็นอย่างมาก

     

    เสด็จสวรรคต

     

                    วันที่ ๒๒ ตุลาคม ทรงมีพระอาการหนักมาก จนกระทั่งนายแพทย์ที่ถวายการรักษาประชุมกันเขียนรายงานยื่นต่อพระบรมวงศานุวงศ์ว่า พระอาการของพระเจ้าอยู่หัวหนักมาก เหลือกำลังของคณะแพทย์ที่จะทำการรักษาได้

     

                    กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป พระอาการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดูเหมือนบรรทมหลับนิ่งอยู่ ไม่มีพระอาการกระวนกระวายแต่ประการใด จนกระทั่งเวลา ๒ ยาม ๕๕ นาที พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบนิ่ง สิริรวมพระชนมายุ ๕๘ พรรษา รวมเวลาที่อยู่ในสิริราชสมบัตินับได้ ๔๒ ปีเศษ

     

    ผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งปวงชน

     

                    เมื่อข่าวการเสด็จสวรรคตของพระองค์แพร่สะพัดออกไป อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง มีอาการเหมือนกับพ่อผู้เป็นที่รักจากไป ต่างร้องไห้ระงมไปทั่วทั้งพระนคร พระบรมวงศานุวงศ์ก็มีอาการเศร้าโศกเสียใจ และมีอาการประชวรเป็นไปต่างๆ ดุจว่าดวงใจจะขาดและตามเสด็จไปสู่สวรรคาลัยพร้อมพระองค์

     

                    อนึ่งตามโบราณราชประเพณี ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ราษฎรทั้งหลาย ต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระชนกนาถได้ทรงมีพระดำรัสสั่งว่า การให้ไว้ทุกข์ดังเช่นกล่าวมาแล้วนั้นย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว

     

    การเสด็จประพาส

     

    เสด็จประพาสต่างประเทศ

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งประเทศใกล้เคียงและทางยุโรป ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ประเทศไทยมีฐานะเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศทางยุโรปมากกว่าเมื่อครั้งรัชกาลก่อน

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสนอกประเทศ โดยเริ่มแต่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ โดยเสด็จเยือนสิงค์โปร์ ชวา

     

                    พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จประพาสอินเดียและพม่า ขากลับแวะที่สิงค์โปร์ ปีนัง และชายฝั่งตะวันออกของเมืองภูเก็ต พังงา ไทรบุรี สงขลา

     

                    พ.ศ. ๒๔๓๑ เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู แวะสงขลา กลันตัน ตรังกานู และนครศรีธรรมราช

     

                    พ.ศ. ๒๔๓๒ ถึง ๒๔๓๓ เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายูผ่านสิงค์โปร์ ปีนัง และชวา

     

                    พ.ศ. ๒๔๓๙ เสด็จประพาสสิงค์โปร์ และชวา

     

                    พ.ศ. ๒๔๔๐ เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เสด็จทางเมือง เอเดนซูเอซ อิสไมล์เลีย ปอตไซด์ เวนิส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยนีวา โรม ออสเตรีย รัสเซีย เดนมาร์ก อังกฤษ เบลเยียม เยอรมันนี ฮอลันดา สเปน โปรตุเกส มอนติลาโค เนเปิล และอียิปต์

     

                    พ.ศ. ๒๔๔๑ และ ๒๔๔๓ เสด็จประพาสแหลมมลายู

     

                    พ.ศ. ๒๔๔๔ เสด็จประพาสชวา และสิงค์โปร์

     

                    พ.ศ. ๒๔๔๘ เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู

     

                    พ.ศ. ๒๔๔๙ เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒

     

                    นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จประพาสต่างประเทศมากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสมัยนั้น

     

    เสด็จประพาสภายในประเทศ

     

                    สำหรับการเสด็จประพาสในประเทศของพระองค์ท่าน มีทั้งอย่างที่เป็นทางการและส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า เสด็จประพาสต้น

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสภายในประเทศหลายครั้ง เป็นโอกาสให้ได้ทรงตรวจตราความเรียบร้อยของแผ่นดิน ทรงเห็นความเป็นอยู่ของพสกนิกรอย่างใกล้ชิด และทราบความทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างแท้จริง เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงและบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้ทันท่วงที

     

    พระเมตตาเปี่ยมล้นพระราชหฤทัย

     

                    พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการปลอมแปลงพระองค์ไปยังที่ต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรทุกข์สุขของราษฎร การเสด็จประพาสต้นแต่ละคราวมักจะทรงปิดบังมิให้ผู้ใดล่วงรู้ว่าเป็นพระองค์เสด็จ บางครั้งทรงให้เจ้านายที่มีลักษณะคล้ายพระองค์ทำหน้าที่แทนต่อหน้าชาวเมืองต่างๆ

     

                    มีหลายครั้งที่พระองค์เสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ โดยแสดงพระองค์เช่นสามัญชน อันเป็นการได้เข้าใกล้ชิดราษฎรเพื่อจะทรงทราบถึงภาวะและสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรแห่งพระองค์ว่า มีความทุกข์สุขเป็นฉันใด และได้ทรงแก้ไขขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อน หรือขจัดความไม่เป็นธรรมให้หมดสิ้นไปด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาแห่งพระองค์ท่าน

     

     

     

    พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     

    สมเด็จพระปิยมหาราช

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากยามเป็นอเนกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การทหาร การศาสนา การชลประทาน การรถไฟ การประปา การศึกษา การคมนาคม การสาธารณสุข และอีกมากมายที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ

     

                    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือทรงยกเลิกระบบทาส โดยตราพระราชบัญญัติเลิกทาสรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีระบบทาสมาจนทุกวันนี้

     

    ด้านการปกครอง

     

     

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเสวยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในขณะนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา

     

    ช่วงนั้นแม้ว่าจะปกครองด้วยระบบกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงอำนาจของพระองค์ถูกจำกัด และผู้ที่ครองอำนาจอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆของตระกูลขุนนาง ซึ่งควบคุมงบประมาณแรงงาน การปกครองท้องถิ่น กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการปกครองแบบคณาธิปไตย

     

    ในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ใช่เวลารุ่งโรจน์นักสำหรับผู้ครองราชย์ใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านมีคือการฝึกฝนศิลปวิทยาที่ประเมินค่ามิได้จากพระราชบิดา

     

    ในตอนต้นรัชกาลการปกครองยังเป็นแบบเมื่อครั้งรัชกาลก่อน แต่หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าบ้านเมืองเจริญมากขึ้น การปกครองบ้านเมืองจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและจัดระเบียบเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม พร้อมๆไปกับความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงการปกครองและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์

     

    สภาการแผ่นดิน

     

    พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรด

    เกล้าฯ ให้ตั้งสภาขึ้น ๒ สภา ได้แก่รัฐมนตรีสภา และองคมนตรีสภา ตามลำดับ

     

    รัฐมนตรีสภา โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธาน มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น ๑๒ คน ประกอบไปด้วยขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาทั้งสิ้น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสภา มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ตลอดจนพิจารณากฎหมายต่างๆ

     

    องคมนตรีสภา มีจำนวนสมาชิกไม่จำกัดจำนวน สุดแต่พระองค์ทรงพระราชประสงค์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และสืบสวนราชการแผ่นดินที่ทรงพระราชดำริให้สืบสวน

     

    การก่อตั้งสภาการแผ่นดินครั้งนั้น พระองค์ทรงดัดแปลงจากการปกครองของชาติตะวันตก แต่สมาชิกส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจจึงไม่ประสบผลสำเร็จ และทำให้เลิกล้มไปในเวลาต่อมา

     

    ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

     

    พ.ศ. ๒๔๒๗ เจ้านายและบรรดาข้าราชการคณะหนึ่ง ได้เข้าชื่อกันถวายหนังสือกราบบังคมทูลความเห็น ให้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ด้วยเห็นว่าประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม หากไม่กราบทูลตามที่ได้รู้เห็นก็เสมือนว่าขาดความจงรักภักดีต่อพระองค์ และเพื่อความปลอดภัยของชาติและราษฎร

     

    เหตุที่ต้องปฏิรูปการบริหาร

     

    ๑. ภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ ด้วยการปกครองของกรุงสยามอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นได้ด้วยเหตุต่างๆ ดังเช่นมีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่ ได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจปกป้องการปกครองมิได้

     

    ๒. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยทางยุติธรรมหรืออยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทำนุบำรุงบ้านเมืองตามแบบญี่ปุ่นที่ได้เดินตามยุโรปมาแล้ว และซึ่งประเทศทั้งหลายที่มีความศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้

     

    ๓. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียว แต่จะตั้งพระราชหฤทัยว่าสรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฏ์ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น

     

    ซึ่งการรุกรานล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก มักจะอ้างความยุติธรรมนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อมนุษยธรรม เพื่อขจัดความไม่เจริญของเอเชียด้วยความเจริญของยุโรปา การคมนาคม การสาธารณสุข และอีกมากมายที่พระองค์ทร เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของชาวยุโรปที่เข้ามาหากินในประเทศนั้นๆ เพื่อเปิดประตูค้าขายใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติทั้งหลายเพื่อความเจริญของโลก

     

    ดังนั้น การจะป้องกันประเทศมิให้ถูกชาติยุโรปรุกราน จักต้องทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญ จะทำการแก้ไข หลีกเลี่ยงโดยความสุภาพ ผ่อนสั้นผ่อนยาว โดยจะยอมเสียดินแดนบางส่วนนั้นไม่ได้ช่วยให้พ้นภัยจากการถูกรุกรานจากชาติยุโรป การต่อสู้ด้วยกำลังทหารก็กระทำได้ยากที่จะต่อต้านชาวยุโรป ด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ก็ต้องพึ่งพาหาซื้อจากชาติยุโรป

     

    ทางที่จะป้องกันภัยอันตรายได้อย่างถาวรมีอยู่อย่างเดียว คือ จัดการปกครองตามคติยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยสติปัญญาและกำลังความรู้ความสามารถของราษฎรเป็นการพร้อมเพรียงกันเป็นประมาณ ซึ่งเขานับถือกันว่ามีความยุติธรรมทั่วถึงกัน

     

    คำกราบบังคมทูลเรื่องการปฏิรูป

     

                    คณะผู้กราบบังคมทูลให้มีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอหัวข้อที่ควรจะปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

     

    ๑. เปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองปัจจุบัน ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงพระราชวินิจฉัย และมีพระบรมราชโองการเป็นสิทธิ์ขาดแต่เพียงพระองค์เดียว ที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบให้มีรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งในฐานะองค์ประมุขของชาติ

     

    ๒. การบริหารทุกอย่าง ให้ข้าราชการผู้ใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวางระเบียบปฏิบัติที่เนื่องด้วยราชการแผ่นดินให้เป็นที่แน่นอน และให้อำนาจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ตามระเบียบปฏิบัตินั้น โดยมิพักต้องรอคอยพระบรมราชานุญาต

     

    ต่อไปต้องมีกฎในการสืบสันติวงศ์เป็นราชประเพณีที่แน่นอน เพื่อป้องกันการคิดแย่งชิงราชสมบัติของเหล่าเสนาบดี ป้องกันการระส่ำระสายในช่วงผลัดเปลี่ยนราชกาล

     

    ๓. ให้ผู้รับราชการได้รับสวัสดิการเป็นหลักประกันจากทางราชการ และได้รับเงินเดือนเพียงพอตามฐานานุรูป ขจัดการรับการให้สินบนทุกประการ

     

    ๔. ให้บุคคลมีสิทธิและหน้าที่เสมอภาคกันตามกฎหมาย รวมทั้งเรื่องภาษีและการสักเลข

     

    ๕. เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณี และกฎหมายที่ล้าสมัยให้มีความเหมาะสม

     

    ๖. ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร ต้องมีอิสระในถ้อยคำและความคิดเห็นของตน อันเป็นประโยชน์และมีอำนาจที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏในท่ามกลางที่ประชุมก็ดี ในหนังสือพิมพ์ก็ดี แต่หากการใช้ถ้อยความที่ไม่เป็นจริงนั้น จะมีโทษตามกฎหมาย

     

    ๗. เพื่อความยุติธรรม และให้ได้ผู้สมควรรับราชการตามแนวแบบของยุโรป ต้องเลือกข้าราชการจากผู้มีคุณสมบัติดังนี้ คือ มีความรู้หนังสือเลขและภาษาไทยเป็นอย่างน้อย มีชื่อเสียงดี ความประพฤติดี อายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป ข้าราชการที่ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์เพราะทำผิดกฎหมาย จะกลับเข้ารับราชการอีกไม่ได้

     

    ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรเกิดความรู้สึกว่า การกดขี่ ความอยุติธรรมต่างๆได้หมดสิ้นลงแล้ว และเมืองไทยก็เป็นของประชาชนไทยทุกคน จะได้เกิดกำลังใจช่วยกันประกอบสัมมาอาชีพ มีความรักและความหวงแหนประเทศชาติอันจะนำประเทศชาติให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ และนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติในที่สุด

     

    พระราชดำรัสตอบความคิดเห็น

     

                    พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้ที่ต้องการจะให้มีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่าทรงเห็นเหมือนกับคณะผู้เสนอมานานแล้ว แต่ทรงต้องการให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปมิใช่หักหาญเอาแต่อำเภอใจ หรือต้องการให้เปลี่ยนแปลงฉับพลันดังที่เสนอมา โดยทรงเน้นให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระองค์ในการวางรูปแบบการปกครองว่าเป็นอย่างไร และให้ประชุมปรึกษาหารือกัน ซึ่งพระองค์จะทรงร่วมในการประชุมนั้นๆด้วย

     

                    ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักปกครองที่มีพระปรีชาสามารถ การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หรือเกิดจลาจลแต่ประการใด นับเป็นแนวการเปลี่ยนแปลงในวิถีการปกครองของประเทศครั้งใหญ่ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย แบบมีพระมหากษัตริย์ทรงบริหารราชการบ้านเมือง โดยอาศัยความเห็นของเสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ประกอบกับพระราชวินิจฉัย

     

    การบริหารราชการส่วนกลาง

                   

    พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเสียใหม่ แบบที่มีอัครมหาเสนาบดีสองคน และมีจตุสดมภ์ในตำแหน่งเสนาบดีอีก ๔ คน มาตั้งเป็นกรมและเป็นกระทรวง ๑๒ กระทรวง ในแต่ละกระทรวงจะมีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่าสภาพบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง การบริหารราชการแผ่นดินแบบจตุสดมภ์เริ่มมีความไม่เหมาะสมในการทำงาน ขาดการประสานงาน ขาดการบังคับบัญชา และทำให้ข้าราชการขาดประสิทธิภาพ

     

    กรมและกระทรวงที่ทรงจัดตั้ง

                   

    กรมและกระทรวงที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งได้แก่

                   

    กรมมหาดไทย ว่าการหัวเมืองฝ่ายเหนือ กับเมืองลาวประเทศราช

     

    กรมพระกลาโหม ว่าการหัวเมืองปักษ์ใต้ กับเมืองมลายูประเทศราช

     

    กรมท่า ว่าการต่างประเทศเฉพาะอย่างเดียว

     

    กรมเมือง ว่าการตำรวจ สำมะโนประชากร และราชทัณฑ์

     

    กรมวัง ว่าการในพระราชวังกับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

     

    กรมพระคลัง ว่าการภาษีอากร และงบประมาณแผ่นดิน

     

    กรมนา ว่าการเกษตร กสิกรรม การป่าไม้ การโลหกิจ การพาณิชย์

     

    กรมยุติธรรม ว่าเรื่องการศาล ที่ชำระความทั้งแพ่ง อาญา อุทธรณ์ ทั่วพระราชอาณาจักร

     

    กรมยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับกรมทหารบก ทหารเรือ โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ

     

    กรมธรรมการ ว่าการที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ การศึกษา ตลอดจนการสาธารณสุขทั่วประเทศ

     

    กรมโยธาธิการ มีหน้าที่ตรวจการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์โทรเลข และการรถไฟ

     

    กรมมุรธาธร มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร พระราชกำหนดกฎหมาย และหนังสือราชการทั้งปวง

     

    ตำแหน่งเสนาบดี

                   

    พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทววะวงศ์วโรปการ ผู้ทำหน้าที่การต่องประเทศ เสด็จแทนพระองค์ในงานพระราชพิธีสมโภชการครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ของพระนางเจ้าวิคทอเรียแห่งประเทศอังกฤษ การเดินทางไปครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้ไปศึกษาหลักการจัดระบบการบริหารแบบคณะเสนาบดีจากประเทศอังกฤษมาด้วย

                   

    ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง ๒๔๓๕ ทรงเริ่มทดลองปฏิบัติ โดยทรงเป็นประธานในที่ประชุมสภาเสนาบดี ทำนองเตรียมตัวบุคคลเป็นคณะรัฐ

     

    ครั้นวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดีขึ้น โดยกำหนดให้มีเสนาบดี ๑๒ ตำแหน่ง มีศักดิ์เสมอกัน ที่ประชุมเสนาบดีทั้ง ๑๒ ตำแหน่งนี้เรียกว่า สภาเสนาบดี หรือ ลูกขุน ณ ศาลา มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ เมื่อมีพระบรมราชโองการฉบับนี้ประกาศออกมา ก็เท่ากับเป็นการยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุสดมภ์ไปโดยปริยาย

     

    การบริหารราชการส่วนภูมิภาค

                   

    เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อให้การบริหารอำนาจปกครองเป็นไปโดยทั่วถึง จึงได้รวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงไว้กับกระทรวงมหาดไทย และทรงยุบรวมเมืองประเทศราชเข้าเป็นเขตปกครองในราชอาณาจักรไทย และจัดระเบียบการบริหารการปกครองแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

                   

    แม้ว่าจะรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่ยังคงมีการแบ่งอำนาจบางอย่างไว้ในส่วนภูมิภาคเป็นแบบระบบการเทศาภิบาล ดังนี้

     

                    ระดับมณฑล ได้แบ่งออกเป็นมลฑลกรุงเทพฯ มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลปราจีนบุรี มณฑลราชบุรี มลฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก มณฑลพายัพ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลอุดร มณฑลอิสาน มณฑลบูรพา มณฑลปัตตานี และมณฑลสุราษฎร์ มีข้าหลวงเทศาภิบาลบังคับบัญชา

     

                    ระดับเมือง มีผู้ว่าราชการบังคับบัญชา

     

     

                    ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา

     

                    ระดับตำบล มีกำนันเป็นผู้บังคับบัญชา

     

                    ระดับหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับบัญชา

     

    ปฏิรูปเพื่อความยุติธรรม

     

                    ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปเพื่อความยุติธรรมครั้งใหญ่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของนานาอารยประเทศ ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ตั้งโรงเรียนกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือการเลิกทาส แม้ว่าในครั้งนั้นจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายขุนนาง แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ การเลิกทาสในคราวนั้นมิได้มีการเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด

     

    การศาล

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เพื่อรวบรวมบรรดาศาลทั้งหลายมาไว้ที่เดียวกัน เพื่อทำหน้าที่ด้านการศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ โดยการแยกตุลาการออกจากอำนาจบริหาร เพื่อความสะดวกในการปกครอง

     

                    ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศาลโปรีสภาขึ้น เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ทำหน้าที่ตัดสินด้านคดีความวิวาทของราษฎรในท้องที่ เป็นคดีที่มีโทษเบา ซึ่งต่อมาศาลนี้กลายเป็นศาลแขวงในปัจจุบัน และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองข้าหลวงพิเศษขึ้น โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าพิพัฒน์ศักดิ์ เป็นสภานายก ดำเนินการด้านศาลยุติธรรมตามหัวเมืองต่างๆ ให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ยุติธรรม และเที่ยงตรง

     

    ปฏิรูปและชำระกฎหมาย

     

                    พระองค์ทรงตั้งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจากต่างประเทศ เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก

     

                    ในพ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองร่างกฎหมายสำหรับตรวจสอบชำระพระกฎหมาย และจัดสร้างกฎหมายต่างๆขึ้นใหม่ เพื่อความทันสมัย จากนั้นไม่นาน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ชำระกฎหมายแพ่งและอาญา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก

     

                    ในพ.ศ. ๒๔๕๑ มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ฉบับแรกขึ้นใช้ เนื้อความในกฎหมายประกอบด้วยบทกำหนดโทษบ่งไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เกี่ยวกับการซื้อขายทาสว่าเป็นความผิดทางอาญา ต้องจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๗ ปี และปรับเป็นเงินตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๑๐๐๐ บาท

     

                    จากนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเลิกวิธีพิจารณาผู้ร้ายตามจารีตนครบาล เป็นผลให้การลงโทษแบบทารุณ ป่าเถื่อนต่างๆ เช่น เฆี่ยนหลัง ตอกเล็บ บีบขมับ เป็นต้นถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

     

    พระราชทานเสรีภาพในการดำเนินชีวิต

     

                    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านปรารถนาให้พสกนิกรของพระองค์มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต เป็นไทแก่ตัว ทรงมีพระราชปรารภในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ให้ตราพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อใช้ในการเลิกทาสของประเทศสยาม

     

                    เริ่มแรกที่มีพระราชบัญญัติเรื่องนี้ออกมา ทั้งทาสและนายเงินต่างก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะทาสเองก็เกรงว่าเมื่อตนเป็นอิสระแล้ว ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ส่วนนายเงินเจ้าของทาส ก็ต้องอาศัยแรงงานจากทาสในการประกอบกิจต่างๆ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยมีได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงแต่ประการใดเกิดขึ้นดังเช่นในอเมริกา

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้วิธีการเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลาถึง ๓๐ กว่าปี ทรงริเริ่มการเลิกทาสด้วยการซื้อทาสเป็นจำนวนเงินถึง ๘๗๖๗ บาท โดยทรงพิจารณาจากทาสที่อยู่กับนายเงินเป็นนายเดียวถึง ๒๕ ปี ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าคงเป็นคนดีมากกว่าคนชั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ช่วยไถ่ให้พ้นจากความเป็นทาสให้มีความเป็นไท ในครั้งนั้นมีทาสชาย ๑๐ คน หญิง ๒๐ คน และลูกทาสชาย ๕ คน หญิง ๓ คน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไรนาตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพื่อให้นำไปประกอบการทำมาหากิน โดยมีเกณฑ์ว่า ทาสซึ่งขายตัวอยู่กับนายเดียว ตั้งแต่ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ ขึ้นไป กับลูกหมู่ของทาสนั้นด้วย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พ้นทาสได้ โดยให้ทำบัญชีทาสที่อยู่กับนายเงินตั้งแต่ ๒๕ ปีขึ้นไป ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสวันครบรอบ ๒๔ พระชันษา

     

                    ต่อมาในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๑๗ พระองค์ทรงมีพระราชปรารภในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ให้ออกกฎหมายกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดในตอนเป็นเด็ก และจะมีค่าตัวลดลงทุกๆปี

     

                    ในอีก ๒๘ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้ทาส ร.ศ. ๑๒๔ พ.ศ. ๒๔๔๘ นับเป็นการเลิกทาสในประเทศสยามไปโดยปริยาย

     

                    ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรารถนาจะมอบเสรีภาพให้แก่พสกนิกรของพระองค์ เป็นผลให้ระบบทาสสูญสิ้นจากแผ่นดินไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

     

    ด้านการทหารและตำรวจ

     

    การสงคราม

     

                    การสงครามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ นับว่าเป็นคราวสงบ คงมีแต่การปราบโจรฮ่อ ที่มารบกวนปลายพระราชอาณาจักร ในมณฑลอุดรบ้าง ปราบพวกโจรเงี้ยวในมณฑลพายัพบ้าง และปราบจลาจลในมณฑลอิสานบ้างเท่านั้น

     

    การป้องกันประเทศ

     

                    ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น การทหารและการตำรวจได้มีการปรับปรุงเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นวิธีการหัดทหารและตำรวจในต่างประเทศ เมื่อคราวเสด็จประพาสในต่างประเทศ

     

                    เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของการทหารตำรวจในประเทศ ในปีพ.ศ. ๒๔๑๔ ทรงโปรดให้ปรับปรุงหน่วยทหารตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ โดยแบ่งทหารออกเป็น ๙ กรม เป็นทหารบก ๗ กรม ทหารเรือ ๒ กรม กำหนดหน้าที่ เครื่องแบบ และการฝึกให้รัดกุมยิ่งขึ้น

     

                    ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนแผนที่ เนื่องจากทรงเห็นว่า ความรู้ในด้านวิชาการทหารของประเทศยังไม่ดีพอ

     

                    ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมยุทธนาธิการเพื่อดูแลการจัดทหารบกให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากระทรวงกลาโหม และให้แยกงานทหารกับพลเรือนออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่เฉพาะงานด้านทหารเพียงอย่างเดียว

     

                    ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งนักเรียนให้ไปศึกษาวิชาการทหารในยุโรปเป็นครั้งแรก

     

                    ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงโปรดให้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบก ตามหลักยุทธวิธีของทหารสมัยใหม่ และได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก และโรงเรียนนายเรือขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ นับว่าเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่วงการราชนาวีของไทย

     

                    พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้บังคับในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเริ่มจากมณฑลนครราชสีมาก่อน แล้วขยายออกไปจนทั่วพระราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙

     

                    สำหรับด้านความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมตามหัวเมืองชายทะเลมากมาย อันได้แก่ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย พร้อมทั้งมีการสร้างเรือรบขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เช่น เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรือพาลีรั้งทวีป เรือพระที่นั่งมหาจักรี เป็นต้น

     

    ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอย่างยอดเยี่ยม ตลอดจนรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน อาทิ ด้านสาธารณูปโภค การสื่อสาร การสาธารณสุข และการคมนาคม ทำให้บ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ เจริญรุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศไปอย่างรวดเร็ว

     

    ด้านเศรษฐกิจ

     

                    เศรษฐกิจในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้มีการปรับปรุงด้านภาษีอากร จัดระเบียบคลังขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้ออกธนบัตรเพื่อใช้แทนเงิน ตลอดจนกำหนดหน่วยเงินตราขึ้นใหม่ และมีการก่อตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามด้วย

     

    ด้านการต่างประเทศ

     

    สัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

     

                    ความสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเจริญพระราชไมตรีขึ้นใหม่กับประเทศ ออสเตรีย ฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น

     

                    นอกจากจะเจริญพระราชไมตรีกับประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นแล้ว ยังคงรักษาสัมพันธ์กับประเทศที่มีไมตรีต่อกันมาแต่ก่อนแล้วให้ยืนยงคงที่ ต่างมีราชการไปมาถึงกันมากขึ้น และแต่งทูตให้ประจำ ณ สำนักของกันและกัน พร้อมกับให้ไปมาเป็นพิเศษด้วยราชการบ้างก็มี และไม่ต้องใช้ชาวต่างชาติเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลก่อน เว้นไว้แต่ราชการบางอย่างเท่านั้น

     

    เหตุการณ์กับฝรั่งเศส

     

                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยยอมให้ฝรั่งเศษตั้งสถานกงสุลที่เมืองหลวงพระบาง โดยมีมิสเตอร์ปาวี เป็นหัวหน้ากงสุลที่นั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘

     

                    ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ส่งกำลังไปช่วยมิสเตอร์ปาวี ทำการปราบฮ่อที่หลวงพระบาง

     

                    พ.ศ. ๒๔๓๑ ฝรั่งเศสนำกำลังทหารเข้ายึดเขตแดนสิบสองจุไทย หรือสิบสองเจ้าไทย ทำให้ต้องเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสจำนวนถึง ๘๗,๐๐๐ ตร.กม. เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่แน่นอน นับเป็นครั้งแรกที่ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส

     

                    พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสส่งเรือรบจำนวนสองลำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยเรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง ไทยยิงสกัดทำให้เรือนำร่องชำรุด แต่เรือรบไม่เป็นไร ได้ผ่านด่านเข้ามาถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และมิสเตอร์ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ยื่นคำขาดให้ไทยมอบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆในแม่น้ำโขงให้ พร้อมกับถอนทหารออกจากชายแดนทั้งหมดภายใน ๑ เดือน และให้จ่ายค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศสจำนวนสองล้านฟรังก์ โดยต้องให้คำตอบภายใน ๔๘ ชม.

     

                    ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบมาปิดอ่าวไทย ทำให้ไทยต้องยินยอม เนื่องด้วยขาดกำลังในการตอบโต้ และได้ทำสัญญายินยอมขึ้นในวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ โดยก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะทำการ ได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ไทยจึงต้องยอมเสียดินแดนถึง ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร พลเมืองอีก ๖๐๐,๐๐๐ คน ให้ฝรั่งเศส นับเป็นการเสียดินแดนเพื่อป้องกันเอกราชครั้งที่ ๒

     

                    ต่อมาอีก ๑๐ ปี ไทยเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองด่านสำคัญ จึงขอเจรจาเปลี่ยนดินแดนบางส่วนกับฝรั่งเศส โดยทำสัญญาถึง ๒ ครั้ง ก็คือครั้งแรกยอมยกมโนไพรและจำปาศักดิ์ให้ ครั้งที่สองยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางให้แก่ฝรั่งเศส

     

                    เป็นอันว่าไทยต้องเสียดินแดนมากกว่า ๖๒,๕๐๐ ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส แต่ทว่าฝรั่งเศษยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ทำให้ไทยต้องทำสัญญาขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ โดยยกดินแดนมณฑลบูรพรอันมีเสียมราฐ ศรีโสภณ พระตะบอง รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๕๑,๐๐๐ ตร.กม.ไปอีก

     

    ข้อเรียกร้องของไทยต่อฝรั่งเศส

     

                    ครั้นกาลต่อมา ฝรั่งเศสนึกละอายแก่ใจที่เอาเปรียบไทยเป็นอย่างมาก จึงโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของไทยบ้าง คือชาวเอเชียที่จดทะเบียนเป็นคนในบังคับบัญชาของฝรั่งเศส สามารถขึ้นศาลไทยได้ในกรณีทำผิด เว้นแต่ไทยจะใช้ประมวลกฎหมายอาญาครบ ๕ ปีแล้ว และยอมคืนดินแดนด้านซ้ายเมืองตราด รวมทั้งเกาะใต้แหลมสิงห์ ถึงเกาะกูดทั้งหมดให้แก่ไทย

     

    เหตุการณ์กับอังกฤษ

     

                    ในปีพ.ศ. ๒๔๕๑ ไทยทำสัญญาคืนดินแดนให้แก่อังกฤษ คือ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส และเกาะใกล้เคียง รวมเนื้อที่ ๘๐,๐๐๐ ตร.กม. เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ศาลไทยมีอำนาจบังคับของอังกฤษบางส่วน ยังผลให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศต่างๆ ที่เคยมีอยู่เหนืออำนาจปกครองของไทย ลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับ นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการกอบกู้เอกราชทางศาลให้กลับมาเป็นของชาติไทยตามเดิม

     

    ด้านการศึกษา

     

                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริด้านการศึกษาว่า การศึกษาคือปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ พระองค์จึงทรงดำเนินพระราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ จากระบบเดิมไปสู่ระบบตะวันตก เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งทรงดำเนินงานเป็นขั้นตอนตามลำดับ และได้กลายมาเป็นรากฐานของการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน

     

    ด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม

     

                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับเอาศิลปะจากทางตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับของชาติไทย ทำให้สถาปัตยกรรม จิตกรรม ประติมากรรม เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะแบบไทยล้วนๆปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันบ้าง

     

    ด้านการศาสนา

     

                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ทั้งในด้านการสร้างบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด การชำระและพิมพ์พระไตรปิฎก การตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ตลอดจนทำนุบำรุงการศึกษาของพระสงฆ์ และการบำรุงศาสนาอื่นๆ ด้วย

     

              นอกจากนี้พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ และตั้งสถาบันการศึกษาขั้นสูงของสงฆ์ ทั้งฝ่ายนิกายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่คณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย

     

     

     

    อ้างอิง

    หนังสือ

    พระราชธรรม

    พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

     

    ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. ๒๕๔๒

     

    จัดพิมพ์เผยแพร่ : ธรรมสภา และสถาบันบันลือธรรม

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×