ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องเก็บของนานาสาระ (=w=)

    ลำดับตอนที่ #15 : การพบศิลาจารึกเป็นครั้งแรก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.01K
      0
      20 พ.ค. 52

    การพบศิลาจารึกเป็นครั้งแรก
               ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้ภาษาไทยและตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเป็นต้นเค้าของตัวอักษร และวิธีการเขียนหนังสือไทยในปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิม 
                ศิลาจารึกหลักนี้มีลักษณะเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยม ยอดกลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินชนวนสีเขียวมีจารึกทั้ง 4 ด้าน ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 25 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด ทุกหน้ามีรอยชำรุดขีดข่วน และถูกกะเทาะ เนื่อกจากทิ้งร้างเป็นเวลานานหลายร้อยปี ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ทรงผนวชและเสด็จธุดงค์ไปสุโขทัยเมืองเก่า ทรงพบศิลาจารึกแท่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2376 มีข้อความปรากฎในสมุดจดหมายเหตุของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า... 
    "เมื่อศักราช 1195 ปีมะเส็ง เบญจศก จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือ มัศการเจดียสฐานต่างๆ ...  ทรงพบ "เสาศิลา" ที่มาแต่เมืองสุโขทัย มีข้อความเกี่ยวกับหนังสือไทยแรกมีขึ้นในเมืองนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้นำพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลา ลงมาไว้ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ซึ่งทรงประทับอยู่  เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศน์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาไว้ที่วัดนั้นด้วย"  
    คงจะได้ทรงศึกษาตัวอักษรและข้อความระหว่างนั้น ครั้นเสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งไว้ที่ศาลาราย ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สอง นับจากตะวันตก จนถึง พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารวมกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ได้พบภายหลัง เก็บไว้ที่ตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษส์  ต่อจากนั้นมีการย้ายที่เก็บอีกหลายครั้ง จนในปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร   

    ก่อนอ่านจารึก
                ผู้อ่านจารึกได้เป็นคนแรกคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าคงเริ่มพยายามศึกษาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ในเรื่องที่เกี่ยวกับจารึกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันคัดตัวอักษรจากแผ่นศิลาลงแผ่นกระดาษ ดังปรากฎตัวอย่างหน้าแรกที่พระราชทาน เซอร์ ยอห์น โบวริ่ง (John Bowring) เอกอัครราชฑูตอังกฤษ และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ The Kingdom and People of Siam
    ของ  เซอร์ ยอห์น โบวริ่ง นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานราชฑูตฝรั่งเศสชุดหนึ่งด้วย  
                การคัดสำเนาศิลาจารึกนี้มีหลายครั้ง และมีการตึพิมพ์คำอ่านครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 36 เดือนกันยายน ร.ศ. 116 (พ.ศ.2440) หน้า 3543-3577  ให้ชื่อเรื่องว่า "อภินิหารการประจักษ์" ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ทรงรวมเรื่องศิลาจารึกเกี่ยวกับสุโขทัยไว้ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457  
                ต่อมาเมื่อหอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้จ้างศาสตราจารย์ยอร์ซ เซเดส์ (Goerge Coedes) เป็นบรรณารักษ์ใหญ่ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้ตรวจค้นสอบสวนอ่านแปลศิลาจารึกภาษาต่างๆ ที่หอพระสมุดได้รวบรวมเอาไว้ ได้พิมพ์คำอ่านศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลัก รวมทั้งหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2467 ในงานทำบุญฉลองครบอายุ 4 รอบ ของพระยาราชนุกูล (อวบ เปาโรหิตย์)  เรียกหนังสือนี้ว่า "ประชุมจารึกสยามภาคที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง" ที่หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2520
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
    อ้างอิง
    ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯเอกสารสัมมนาเตรียมการจัดสัปดาห์ห้องสมุด ปีที่ 28, 2546
    http://www.lib.ru.ac.th/journal/stone_inscript.html


     
          พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก   เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน

    ภาพถอดตัวอักษรบางส่วน จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๑
     
              เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม  พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้  ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ 

    ภาพถอดตัวอักษรบางส่วน จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๔
     
    แบบหนังสือไทย
              แบบหนังสือไทยที่ปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดค้น ประดิษฐ์ และปรับปรุงให้เกิดขึ้น ให้เป็นแบบอักษรอย่างไทย เป็นประโยชน์อันมหาศาลแก่ชาวไทย ซึ่งสิ่งนี้นับว่าสำคัญมาก หลายๆ สิ่งนั้น ได้กลายมาเป็นรากฐานและแบบอย่างอันดีให้อนุชนชาวไทยรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันสืบมาจวบกระทั่งปัจจุบัน   
              จากคำที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ได้ยกมาด้านบนนั้น เมื่อเทียบแล้วก็พอที่จะระบุได้ว่า ปีที่พระองค์ได้คิดค้นขึ้นนั้น น่าจะอยู่ในราวปีพระพุทธศักราช ๑๘๒๖           ทั้งนี้มิได้หมายความว่าแต่ก่อนมานั้นชนชาติไทยของเรายังไม่มีหนังสือใช้ ชนชาติไทยนั้นได้มีหนังสือไทยใช้กันมานานแล้ว (๑) เพราะในสมัยพระร่วงโรจนฤทธิ์นั้น พระองค์ทรงมีหนังสือส่งไปยัง มอญ พม่า ขอม เชิญมาร่วมงานลบศักราช  การลบศักราชนี้นิมนต์พระสงฆ์มาจำนวน ๕๐๐ รูป มีพระพุฒโฆษาจารย์แห่งวัดเขารังแร้งเป็นประธาน 
              ต่อมาพระร่วงโรจนฤทธิ์ กับพระลือ ผู้น้อง ได้เสด็จไปเมืองจีนเป็นวาระแรก โดยไปเรือยาว ๘ วา กว้าง ๔ ศอก ใช้เวลา ๑ เดือนถึงเมืองจีน  สมัยนั้นทำสัมพันธไมตรีกันดีมาก พระเจ้ากรุงจีนได้ถวายราชธิดามีนามว่า "พระสุทธิเทวีราชธิดา" ให้เป็นเอกอัครมเหสีของพระร่วงโรจนฤทธิ์ด้วย   ก่อนกลับเมืองไทยพระเจ้ากรุงจีนได้ผ่าตรามังกร ซึ่งเป็นตราพระราชสำนักจีน โดยเอาส่วนหางให้ราชธิดามาด้วย เวลาส่งสาส์นถึงกันก็ให้ประทับตรามา จะได้รู้กัน  และให้ชาวจีน ๕๐๐ คนมาด้วย ชาวจีนเหล่านั้นได้มาตั้งเตาทำถ้วยชามที่ศรีสัชนาลัย เรียกว่า "เตาทุเรียง" เป็นอันว่าชาวจีนได้เข้ามาอยู่เมืองไทยคราวนั้นเป็นคราวแรก  เวลานั้นก่อนสุโขทัยตั้ง หรือ ก่อนหน้าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ไปประมาณ ๗๐๐ ปี
    กำเนิดแบบอักษรไทย  
              ท่านผู้รู้นักประวัติศาสตร์หลายท่าน คาดกันว่า เริ่มจากแบบอักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรขอม อักษรขอมนี้นำมาเขียนภาษาบาลี สันสกฤตได้สะดวก แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเห็นว่าการนำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นไม่สะดวก เพราะไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำและมีสระน้อย ไม่เพียงพอจะเขียนภาษาไทยได้ตามต้องการ  พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขแบบอักษรเสียใหม่ให้เป็นลักษณะอักษรไทย (ซึ่งถ้าสังเกตถ้อยคำในศิลาจารึก จะเห็นคำว่า "นี้" อยู่ต่อคำว่า "ลายสือ" ทุกแห่ง คงจะมีความหมายว่าตัวอักษรแบบนี้ยังไม่เคยมี)   พระองค์ทรงแก้รูปตัวอักษรให้เขียนได้รวดเร็วกว่าอักษรขอม ทั้งสระและพยัญชนะก็จะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน   
              แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมิได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์รูปอักษรขึ้นโดยพระองค์เองก็ตาม (๑)  การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรเสียใหม่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น นับเป็นการสำคัญ เป็นการพัฒนาต่อยอดทางความคิด คือ การนำภูมิความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิมในขณะนั้นมาพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ให้มีความสะดวกในการจารึกและอ่าน อีกทั้งเสียงที่ใช้นั้นก็มีความครบถ้วนตามลักษณะเสียงที่ใช้ในภาษาไทย  สิ่งนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นวิวัฒนาการ อันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางความรู้ และวิทยาการในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง     แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพในเชิงภาษาศาสตร์และความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์     
              ครั้นล่วงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว จะเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีผู้แก้ไขกลับไปใช้คุณลักษณะบางอย่างตามแบบหนังสือขอม ซึ่งมีสระอยู่ข้างหน้าพยัญชนะบ้าง อยู่ข้างหลังพยัญชนะบ้าง อย่างเช่นใช้ในแบบหนังสือไทยมาจนทุกวันนี้ 
              ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นขึ้นนี้ ได้มีผู้นำไปใช้กันแพร่หลายต่อไปในประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น  เช่น ในล้านช้าง ล้านนา และประเทศข้างฝ่ายใต้ของอาณาจักรสุโขทัย คือ กรุงศรีอยุธยา   
    ลักษณะของตัวอักษรไทย  
                    สระ ๒๐ ตัว
               พยัญชนะ ๓๙ ตัว
           วรรณยุกต์ ๒ รูป  ตัวเลข ๖ ตัว
     
              ท่านผู้รู้บางท่านได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกนัยหนึ่งว่า จากการดูที่เหตุผลแวดล้อม พยัญชนะไทยน่าจะมีครบทั้ง ๔๔ ตัวตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว  ทางขอมได้ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นครู มีพยัญชนะจำนวน ๓๓ ตัวเท่ากับภาษาบาลี  พ่อขุนรามคำแหงได้แบบอย่างจากขอมและอินเดีย ครั้งแรกนั้นคงเป็นพยัญชนะ ๓๔ ตัว (ตัดนิคหิต ออก ๑ ตัว แต่พระองค์ได้นำมาใช้แทนตัว ม อย่างสันสกฤตและขอม) ต่อมาพระองค์อาจจะทรงคิดค้นเพิ่มเติมอีก ๑๐ ตัว ที่เรียกว่า "พยัญชนะเติม" เพื่อให้เสียงพอใช้ในภาษาไทย  
              พยัญชนะเติม ๑๐ ตัวคือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ     จะเห็นว่าพยัญชนะเหล่านี้ได้เพิ่มเข้ามาจากพยัญชนะวรรคมีเสียงที่พ้องกันเช่น   ฃ พ้องเสียงกับ ข  
    ฅ พ้องเสียงกับ ค   
              ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ตัวอักษรนี้คงออกเสียงเป็นคนละหน่วยเสียงกัน  แต่ ฃ กับ ฅ คงจะออกเสียงได้ยากกว่า เราจึงรักษาเอาไว้ไม่ได้ มีอันต้องสูญไปอย่างน่าเสียดาย (๒)  เหตุผลคือ ถ้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงคิดเสียงซ้ำกัน  เช่นนั้น ฃ กับ ข และ ฅ กับ ค จึงน่าจะเป็นคนละหน่วยเสียงกันเช่นเดียวกับภาษาบาลี สันสกฤต ที่ออกเสียงพยัญชนะวรรคตะ ต่างกับเสียงพยัญชนะวรรคฏะ  แต่เมื่อเรารับเข้ามาใช้ เราออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ เราจึงออกเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ตัว ส,ษ,ศ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกเสียงต่างกันแต่เราออกเสียงเหมือนกันหมด  เสียงใดที่ออกยากย่อมสูญได้ง่าย    

    สิ่งที่น่าเป็นห่วง
              ตามคำกล่าวข้างต้น เสียงที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน เช่น
    • เสียง "ร" เพราะออกเสียงได้ยากกว่าเสียง "ล" นักเรียนในปัจจุบันมักจะออกเสียง "ร" ไม่ค่อยได้เพราะต้องกระดกลิ้น  
    • เสียง "ท" ที่ปัจจุบันมีผู้นิยมออกเป็นเสียง "ธ" ตามอย่างนักร้องที่มักออกเสียง "ท" เป็นเสียง "ธ" 
              ปัจจุบันนี้ เราหาผู้เชี่ยวชาญในการออกเสียงให้มีความชัดเจนแตกต่างจากกัน เพื่อเป็นผู้สอนการออกเสียงให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้ยาก  จึงเป็นที่น่าห่วงว่าหากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์การออกเสียงเหล่านี้เอาไว้ สักวันหนึ่งเสียงต่างๆ เหล่านี้อาจจะสูญไปได้เช่นเดียวกัน  

    ทรงเป็นผู้เห็นการณ์ไกล
              แม้ว่าในขณะนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะทรงมีพระราชกรณียกิจใหญ่หลวงในการรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงก็ตาม แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งในเรื่องของภาษาไทย หากจะพิจารณาอีกนัยหนึ่ง การที่พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงหลักศิลาด้วยแบบอักษรไทยที่พระองค์ทรงคิดค้นปรับปรุงขึ้นเองนี้ นับว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เห็นการณ์ไกลยิ่ง  กล่าวคือ 
    • เป็นการแสดงให้ชนชาติอื่นๆ เห็นว่าคนไทยนั้นมีความสามารถ มีแบบอักษรภาษาใช้เป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง ดีงาม 
    • ทำให้ประเทศในละแวกใกล้เคียง นำเป็นแบบอย่างในการศึกษา ดังที่ได้พบศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่มีแบบอักษรดัดแปลงไปจากแบบอักษรไทยที่พระองค์ทรงคิดค้นขึ้น เมื่อแต่ละประเทศใกล้เคียงมีการใช้ภาษาที่คล้ายกัน จะเป็นประโยชน์ในด้านของการสื่อสารเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีได้ง่าย 
    • ชาวบ้านสามารถทำ หรือลอกเลียนเรื่องราวในหลักศิลาได้ไม่ยาก เพราะเพียงนำสีมาชโลมหลักศิลา และนำผ้ามาพันโดยรอบ ค่อยๆ กดลงไป ก็จะได้ลายที่เป็นเรื่องราวในหลักศิลา ที่สามารถพกพาหรือ นำไปเผยแพร่ต่อไปได้ง่าย 
    • ทำให้เกิด "การเอาเป็นเยี่ยงอย่าง" ในการจารึกเรื่องราวลงบนแผ่นศิลาของคนรุ่นต่อๆ มา  ทั้งนี้ สังเกตจากการพบศิลาจารึกอื่นๆ ที่มีลักษณะของการบันทึกในลักษณะคล้ายกับกิตติกรรมประกาศ เล่าเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผู้บันทึกประทับใจ หรือให้ความสนใจ อาจจะเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองหรือการสดุดี เช่นจารึกหลักที่ ๔๕ ที่พบหลังวิหารสูง วัดมหาธาตุ มีเนื้อความโดยย่อ (๑) เป็นเรื่องราวการทำสัตย์สาบานต่อกันของเจ้านายสุโขทัย เป็นต้น 
    • เพราะหลักศิลาสามารถคงสภาพอยู่ได้นานกว่าวัสดุประเภทอื่นที่คาดว่าจะใช้เขียนกันในขณะนั้น เช่น ใบลาน หรือสมุดข่อย หรือผ้า เป็นต้น   ความคงทนของหลักศิลาจะทำให้มีความได้เปรียบ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบเรื่องราวในสมัยนั้น ได้นำมาเป็นแบบอย่างในการศึกษาเล่าเรียน 
     
    วรรณคดีอันทรงคุณค่า
              ศิลาจารึกจัดว่าเป็นวรรณคดีที่สำคัญประเภทหนึ่ง ที่มีประโยชน์ในด้านการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ตลอดจนวิชาอักษรศาสตร์ วัฒนธรรม และอื่นๆ   ศิลาจารึกที่มีผู้นำมาเป็นหลักฐานหลักได้ มีทั้งสิ้น ๒๘ หลัก  และคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธหากจะกล่าวว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่เป็นต้นแบบแห่งอักษรไทยนั้น จะจัดเข้าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านวรรณกรรม เป็นวรรณคดีชิ้นแรกของสุโขทัย เท่าที่เราจะสามารถหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันได้     ในที่นี้เราจะกล่าวถึงแต่เฉพาะศิลาจารึกหลักที่ ๑ ในด้านความมีคุณค่าทางวรรณคดีเท่านั้น 

              สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าเป็นวรรณคดี คือ
    • ใช้คำกะทัดรัด สละสลวย   เช่น
                -  กูไปตีหนังวังช้าง    (ไปคล้องช้าง) 
                -  บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน    (ไม่เข้ากับคนผิด) 
       
    • เน้นคำได้กระชับ เช่น
                -  เจ็บท้องข้องใจ
                -  ได้ข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี  
                -  พ่อขุนรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลาย ให้รู้บุญรู้แท้
                   แต่คนอันมีเมืองไทยด้วยรู้หลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้
       
    • มีโวหารเปรียบเทียบได้ดี ทำให้เกิดภาพพจน์และมีจินตนาการ เช่น
                -  เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีเข้า 
                -  น้ำตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง 
                -  มีพระอัฎฐารศอันหนึ่งลุกยืน    (กล่าวถึงพระพุทธรูปยืน)
       
    • มีคำสัมผัส คล้องจอง
                -  ไพร่ฟ้าหน้าใส
                -  เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย
              จะเห็นว่าภาษาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น อ่านแล้วได้อรรถรสของถ้อยคำ เป็นภาษาไทยแท้ที่เขียนเป็นความสั้นๆ แต่ได้ใจความที่ลึกซึ้ง กินใจ ทำให้เกิดจินตนาการของผู้อ่านได้กว้างไกล เช่นท่อนหนึ่งบนศิลาจารึก กล่าวว่า  
    "... เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง  เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า..."  
              นับเป็นวรรณคดีชิ้นที่ ๑ ที่สำคัญยิ่งในบรรดาวรรณคดีสุโขทัยทั้งหลายที่มีปรากฏให้เราเห็นในปัจจุบัน 
     
    เรื่องราวในวรรณคดี
              วรรณคดีนี้ ได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในสมัยราชอาณาจักรสุโขทัยไว้หลายด้านนอกเหนือจากความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ ซึ่งพอจะยกมาเป็นตัวอย่างให้เห็นโดยสังเขป ได้แก่ 
    • ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์   
                บอกเล่าถึงพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, เรื่องราวของราชอาณาจักรสุโขทัย  
       
    • ด้านประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ 
                บอกเล่าถึงอาณาเขตของราชอาณาจักรสุโขทัยในขณะนั้นว่ามีเขตแดนติดต่อกับประเทศใดบ้าง
       
    • ด้านนิติศาสตร์  
                บอกเล่าถึงเรื่องของกรรมสิทธิ์, การรับมรดก, กฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีการทำร้ายเชลยศึก และอื่นๆ ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย 
       
    • ด้านรัฐศาสตร์  
                บอกเล่าถึงระบอบการปกครอง ที่เป็นการปกครองที่เป็นแบบพ่อปกครองลูก, การตัดสินความต่างๆ ให้ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริง เป็นไปอย่างยุติธรรม 
       
    • ด้านเศรษฐศาสตร์ การพาณิชย์ 
                บอกเล่าถึงการเก็บภาษี การค้าของประชาชน มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า มีตลาดสำหรับค้าขาย 
       
    • ด้านการเกษตร 
                บอกเล่าถึงการปลูกสวนผลไม้ ทำนา พื้นที่ทำกิน มีความอุดมสมบูรณ์  มีการกักเก็บน้ำ (๑) เพื่อไว้ใช้ในหน้าแล้ง 
       
    • ด้านสังคมศาสตร์ 
                บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประชาชนมีศีลธรรม การคบค้าสมาคมกันเป็นไปอย่างมีมิตรไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  บุตรทำนุบำรุงปรนนิบัติผู้เป็นบิดามารดา ผู้เป็นน้องให้ความเคารพและดูแลปรนนิบัติต่อผู้เป็นพี่เยี่ยงบิดามารดา 
        
    • ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี 
                บอกเล่าถึงประเพณีการถือศีลในช่วงเข้าพรรษา ประเพณีกรานกฐินหลังออกพรรษา การเผาเทียนเล่นไฟ 
       
    • ด้านศาสนา 
                บอกเล่าถึงการให้ทานรักษาศีล สร้างวัด โบสถ์ วิหาร ศาสนสถานต่างๆ  มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  
     
    อ้างอิง
    http://www.lib.ru.ac.th/
    http://www.rntc.ac.th/kebmafag.html
    หนังสือพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรวมเรื่องเมืองสุโขทัยกรมศิลปากร
    หนังสือประวัติศาสตร์สุโขทัยสังเขปเรื่องจากข้อมูลตัวอักษรที่สำคัญของจารึกหลักต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สุโขทัยไว้จำนวนมาก  
     
     
     
     
     
     
     
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×