DoReAMon - นิยาย DoReAMon : Dek-D.com - Writer
×

    DoReAMon

    ประวัติโดเรมอน

    ผู้เข้าชมรวม

    429

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    9

    ผู้เข้าชมรวม


    429

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    จำนวนตอน :  1 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  20 เม.ย. 51 / 11:02 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    "โดราเอมอน" จินตนาการไร้ขอบเขต ถ้าโลกนี้ไม่มีสองหนุ่มญี่ปุ่นที่ชื่อ "ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ" และ "อาบิโกะ โมโตโอะ" (ฟูจิโกะ - ฟูจิโอะ) แล้วมนุษย์เราจะเป็นอย่างไร? คำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญระดับที่จะทำให้โลกแตกอะไร แต่เชื่อว่าผู้คนจำนวนมากคงอดที่จะใจหายและเสียดายไม่ได้ ถ้ารู้ว่าพื้นที่ความทรงจำส่วนหนึ่งของตนเองจะไม่มีเรื่องราวของเจ้าแมวหุ่นยนต์ตัวสีฟ้าจากโลกในศตวรรษ 21 ที่ชื่อ "โดราเอมอน" หากจะนับเอาปี พ.ศ.2522(อย่างเป็นทางการ)ที่มีการทำให้เจ้าหุ่นยนต์แมวตัวนี้เคลื่อนไหวโลดแล่นอยู่บนจอทีวีปีนี้โดราเอมอนก็จะมีอายุที่เข้าสู่วัยเบญเพสพอดิบพอดี(และหากนับเอาปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นปีที่ชายหนุ่มทั้งสองเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้น ปีนี้โดราเอมอนก็จะมีอายุ 35 ปีเข้าไปแล้ว) แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่เรื่องราวความสนุกของเจ้าแมวสีฟ้าที่ถูกส่งมาเพื่อช่วยเหลือเด็กขี้แย "โนบิตะ" ด้วยของวิเศษ(ของเล่นจากโลกอนาคต)รวมทั้งผองเพื่อนทั้ง "ชิซูกะ" "ไจแอนท์" "ซูเนโอะ" ก็ยังคงอยู่ตลอดไป เป็นความทรงจำที่แสนจะประทับใจที่ถ่ายทอดกันไปจากเด็กรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างไม่มีคำว่า "ล้าหลัง" หรือ "เชย" แต่อย่างไร จินตนาการที่ไร้ขอบเขต ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว จะมีใครเชื่อบ้างว่าเจ้าหุ่นยนต์แมว(กลัวหนู)ตัวนี้จะกลายเป็นตัวการ์ตูนที่โด่งดังขึ้นมาเป็นที่รู้จักของทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกือบทั้งโลกอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากในระยะแรกงานการ์ตูนเรื่องนี้ของ "ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ" และ "อาบิโกะ โมโตโอะ" นั้นไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ "ถ้ามองดีๆ โดราเอมอนค่อนข้างจะมีกลิ่นอายของพล็อตเรื่องที่มาจากพวกฝรั่งนะ"..."แม้ว -สุริยัน สุดศรีวงศ์" นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังแสดงทัศนะ "แต่ก่อนจะมีนักเขียนอังกฤษที่เขาเขียนเรื่อง Five Children and It คือเป็นภูตหรือว่าอะไรทำนองนี้ที่มาอยู่กับเด็กๆ แล้วก็จะมีเวทมนตร์ซึ่งก็เหมือนกับของวิเศษของโดราเอมอนแต่ว่ามันจะมีฤทธิ์อยู่แค่พระอาทิตย์ขึ้นหรือตก คือพล็อตเรื่องในทำนองที่ว่ามีตัวอะไรมาช่วยเด็กๆ เนี่ยญี่ปุ่นมีเยอะนะอย่าง ฮาโตริ หรือว่าอย่างผีน้อยคิวทาโร่" ใช้เวลา 4 ปี หลังจากการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้กระทั่งมีการรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กเป็นครั้งแรก ชื่อของโดราเอมอนจึงได้เป็นที่รู้จักขึ้นมาในหมู่ของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นและด้วยจินตนาการที่เลิศหรูของคนแต่งบวกกันกับแนวเรื่องเปิดที่วางไว้ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทำโดราเอมอนออกมาเป็นการ์ตูนทางโทรทัศน์ เจ้าแมวตัวนี้ก็ยิ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของเด็กๆ ไปทั่วทั้งเอเชีย โดยใน ปี 2535 มีการบันทึกไว้ว่าการ์ตูนโดราเอมอนนั้นมียอดพิมพ์กว่า 80 ล้านเล่มเลยทีเดียว
     "ผมเรียกว่าเป็นเรื่องแบบปลายเปิดนะ ก็คือไม่มีจบทำได้เรื่อยๆ ของวิเศษสามารถที่จะเอาออกมาได้เรื่อยๆ ความสมบูรณ์ของโดราเอมอนมันอยู่ที่ไอเดียของผู้เขียนเพราะฉะนั้นถ้าสามารถนึกอะไรได้ก็สามารถที่จะเขียนได้เรื่อยๆ" "ที่ได้รับความนิยมแน่นอนว่าคงจะเป็นเรื่องของการเติมเต็มจินตนาการให้กับเด็กๆ ที่สมบูรณ์แบบมากๆ เด็กๆ เนี่ยร้อยทั้งร้อยผมว่าเขานึกเขาฝันว่ามันจะมีตัววิเศษอะไรสักตัวหนึ่งที่เขาอยากจะได้มาอยู่ด้วยอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างการ์ตูนเรื่องนี้ค่อนข้างจะอยู่กึ่งกลางเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายก็อ่านได้" ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากของโดราเอมอนในมุมของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนคนนี้ก็คือการที่เด็กๆ จะได้รับการสั่งและสอนไปโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว "จุดหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวแปรก็คือเรื่องของการหาเหตุผลที่ตัววิเศษเหล่านี้จะมาอยู่กับเด็กๆ อย่างฮาโตริก็คือเป็นนินจาหลงยุค ปาแมนก็มาโดยบังเอิญแต่โดราเอมอนมันเป็นเรื่องของการกลับมาเพื่อเปลี่ยนอนาคต กลับมาเพื่อที่จะต้องทำปัจจุบันให้ดี ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ดูหนักแน่นที่สุด แล้วอีกอย่างที่น่าสนใจก็คืออย่างพวกของวิเศษหรือว่าพวกอิทธิฤทธิ์ต่างๆ จะสังเกตได้ว่าคนเขียนเขาจะเตือนไว้ว่าอย่าพึ่งสิ่งพวกนี้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะอย่างไรความสามารถของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ จะเห็นว่าตอนจบแต่ละตอนเขาจะดึงๆ เอาไว้ตลอด แล้วก็จะมีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาหากมีการใช้ของวิเศษขึ้นมา" "จะมองในแง่ของเรื่องการส่งเสริมทางแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือจะมองเป็นประเด็นทางสัมคมก็ได้มันก็อยู่ในตัวโกง ไจแอนท์ ซูเนโอะ แต่ไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไร ก็เป็นเพื่อนกันหมด ซึ่งญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องนี้มากๆ อย่างดราก้อนบอลก็สู้กันแทบตายแล้วก็มาเป็นเพื่อนกัน หรืออย่างโรงเรียนนายร้อยลูกผู้ชายก็เหมือนกัน คือตรงนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นการทำให้เด็กมีความรุนแรง ซึ่งมันไม่ใช่ แต่มันจะทำให้เด็กเกิดอาการผ่อนคลายเพราะมันค่อนข้างจะมีเหตุผลอยู่ในตัวของมันเองเด็กจะไม่ทำอะไรที่มันรุนแรงกับสังคม เพราะเขาถูกปลูกฝังให้รักกัน อย่างในโดราเอมอน อาจจะทะเลาะกับใจแอนท์หรือว่าซูเนโอะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเวลาที่จะต้องมาผจญภัยพวกเขาก็จะต้องมาด้วยกัน"
    ตัวกลมสีฟ้า กับความรู้สึกของเด็กๆ ที่มาของรูปร่างของโดราเอมอนค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ฟลุกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะในขณะที่ฮิโรชิกำลังอยู่ในภาวะความกดดันไม่รู้ว่าตนเองจะเขียนการ์ตูนเรื่องอะไร(มีเพียงโครงเรื่องว่าตัวเอกจะมาจากลิ้นชัก) ระหว่างนั้นเขาก็เกิดไปสะดุดตาเอากับตุ๊กตากลมๆ ฮิโรชิจึงเกิดไอเดียด้วยการนำเอาหน้าของแมวตัวหนึ่งที่มักจะเข้ามาเล่นกับเขาเป็นประจำมารวมกับเจ้าตุ๊กตาตัวนั้น โดยให้ชื่อว่า "โดราเนโกะ" ที่แปลว่าแมวหลงทาง(ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อน) "ลักษณะของโดราเอมอนที่ทำขึ้นมาเป็นตัวกลมๆ อ้วน เล็กๆ ที่ออกไปในแนวนุ่มนิ่ม แล้วทำให้การ์ตูนตัวนี้เป็นคนที่อารมณ์ดี เป็นผู้ดูแลโนบิตะมาตลอด มันเหมือนแฝงความเป็นผู้ใหญ่เอาไว้ด้วย..." เป็นการวิเคราะห์จาก "แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 นอกเหนือจากการเป็นจิตแพทย์แล้วนายแพทย์หญิงคนนี้ยังเป็นคนหนึ่งที่มีความชื่นชอบตัวการ์ตูนโดราเอมอนอยู่ไม่น้อยไปกว่าลูกชายตัวน้อยของเธอที่มีความหลงใหลได้ปลื้มเจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้มากๆ ถึงขนาดเก็บของสะสมทุกอย่างเกี่ยวกับการ์ตูนโดราเอมอนไว้เกือบจะทุกอย่าง "สีฟ้าเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความสดใส ความสบายใจอยู่แล้ว อีกทางคือมันจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กๆ มากกว่าเมื่อเทียบกับสีที่มันดูฉูดฉาด ซึ่งสีจำพวกนี้มันอาจดูแข็งเกินไป แล้วส่วนมากที่ดูโดราเอมอนจะเป็นเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยกำลังซนได้ที่อยู่พอดี ก็เป็นอะไรที่ลงตัว" ไม่ใช่เพียงเรื่องของรูปลักษณ์เท่านั้นหากแต่เนื้อหาที่สื่อออกมาก็แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ จริงๆ "หมอว่าส่วนที่น่าสนใจที่สุดของการ์ตูนโดราเอมอนก็คือการวางโครงเรื่อง คนแต่งเขามีจิตวิทยามาก เขาให้โนบิตะเป็นตัวแทนของเด็กคนหนึ่งที่มีทั้งส่วนที่เกเรและในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เป็นเด็กดีด้วยเช่นกัน โดยมีตัวโดราเอมอนเป็นพี่เลี้ยงคอยอยู่เคียงข้างเสมอ ไม่ใช่ว่าเขาจะรักกันดูดดื่มนะ แต่ในการที่เขาจะทำอะไรให้โนบิตะสักอย่างมันต้องมีเงื่อนไข มันมีช่องว่างทำให้เด็กคิดว่าโนบิตะเป็นคนดี"
    แฟนพันธุ์แมว ปี 2524 เป็นปีแรกที่โดราเอมอนมีโอกาสได้พูดภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ธิดาน้อย(มิตรไมตรี)เป็นผู้นำเข้ามาตีพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า "โดราเอมอน แมวจอมยุ่ง" ใช้เวลาครึ่งปีเจ้าแมวตัวนี้ก็เริ่มที่จะเป็นที่รู้จักของเด็กไทย ก่อนที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจจะเข้ามาเป็นคู่(พิมพ์)แข่ง ทั้งสองสำนักพิมพ์ต่างแข่งกันพิมพ์การ์ตูนโดราเอมอนชนิดเป็นปรากฏการณ์ของวงการการ์ตูนในบ้านเรา จากเดือนละเล่มเป็นเดือนละสองเล่ม ก่อนจะมาเป็นอาทิตย์ละเล่ม และเมื่อความคลั่งไคล้ของเด็กๆ มีมากขึ้นการพิมพ์ก็ถี่ลงขนาดที่ว่ามิตรไมตรีวางแผงการ์ตูนเรื่องนี้ถึง 3 เล่ม ภายในหนึ่งสัปดาห์เลยทีเดียว 21 สิงหาคม 2525 บริษัทไชโยภาพยนตร์ของสมโพธิ แสงเดือนฉาย เปิดฉายภาพยนตร์เรื่องโดราเอมอนเป็นครั้งแรกกวาดรายได้ไปถึง 2 ล้านบาทในระยะเวลา 2 เดือน ระหว่างนั้นเองทางช่อง 9 ก็ได้นำการ์ตูนเรื่องดังกล่าวมาออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 5 กันยายน 2525 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทุกๆ สิบโมงของวันเสาร์ - อาทิตย์ จะมีเด็กๆ มานั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อที่จะรอลุ้นว่าโดราเอมอนจะงัดของดีอะไรออกมาซึ่งในบรรดาสายตานับล้านคู่ที่จับจ้องอยู่นั้นมีสายตาของผู้ชายที่ชื่อ "กิตติชัย มรรคธรรมกุล" ผู้ชนะเลิศแฟนพันธุ์แท้ตอนโดราเอมอนคนนี้รวมอยู่ด้วย "เสน่ห์ของตัวการ์ตูนโดราเอมอน ในความคิดของผม ผมว่ามันอยู่ที่ของวิเศษที่มีอยู่ในแต่ละตอน เป็นอะไรที่เราคอยได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาอีกหรือเปล่า มีการผจญภัยในรูปแบบไหน อย่างตอนที่ผมชอบมากที่สุดคือตอนที่มีไทม์แมทชีนเพราะเราสามารถที่จะเดินทางไปหาอดีตหรืออนาคตก็ได้แล้วแต่ใจเราอยากจะไป" "ของสะสมชิ้นแรกของผมที่ได้มาเป็นหนังสือการ์ตูน เล่มหนาและเก่ามาก เป็นการรวมผลงาน ภาพโดราเอมอนทั้งหมดของอาจารย์ฟูจิโกะ ซึ่งความจริงก็มีหล่ายเล่มอย่างของยอดธิดาผมก็มี แต่เล่มนี้ภูมิใจมากกว่าแถมราคาก็แพงสุดตั้ง 3,000 บาท ตอนนี้ผมก็เก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างของโดราเอมอนพร้อมของสะสมทุกชิ้นเพื่อให้คนที่สนใจก็ติดต่อขอข้อมูลได้" หลังปล่อยให้โดราเอมอนงัดเอาของวิเศษออกมากว่า 1,000 ชิ้น ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 17 ปี 23 กันยายน พ.ศ.2539 ผู้ให้กำเนิดโดราเอมอนอย่างฮิโรชิก็จากไปอย่างสงบ ทิ้งเรื่องราวของเจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้ให้เป็นที่จดจำของเด็กๆ ทั่วโลก "อาจารย์ฟูจิโกะมาจากโลกอนาคตหรือเปล่า? ผมว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรอก ถ้าเขามาจากโลกอนาคตจริง ผมว่าเขาคงตายไปนานแล้วล่ะ (หัวเราะ) เพราะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยเจอไม่ทัน ผมว่ามันเป็นไอเดีย เป็นการคาดการณ์ถึงโลกในอนาคตแล้วนำมาเล่าเป็นเรื่องราวมากกว่าซึ่งวิธีการเล่าก็สนุกและชวนให้น่าติดตาม" "ส่วนเรื่องตอนจบซึ่งมันมีมา 2 ตอนแล้ว มันดูมั่วเกินไป ตอนจบจริงๆ น่าจะให้โนบิตะประสบความสำเร็จ แล้วก็ให้โดราเอมอนซึ่งในภาพลักษณ์ของเด็กเขาจะมองว่าเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้วมีโอกาสที่จะได้เดินทางไปหาช่วยเหลือเด็กคนอื่นที่เขามีปัญหาต่อไป ผมว่ามันจะทำให้การ์ตูนเรื่องนี้มีความน่าดูมากขึ้นไปอีก"
    ทิ้งท้าย... "วัน(พรุ่ง)นี้ยังหวานอยู่หรือเปล่า"? "ชอบโดราเอมอน แล้วก็ชอบโปเกมอนด้วย..." เสียงเด็กผู้ชายวัย 8 ขวบคนหนึ่งบอกออกมา ก่อนเจ้าตัวจะหันไปสนใจและเพลิดเพลินกับรีโมตคอนโทรลรถวิทยุบังคับแบบกระป๋องในมือของตนเอง ย้อนไปสักสิบกว่าปีที่ผ่านมาการเอาของวิเศษของโดราเอมอนออกมาแต่ละชิ้นมันช่างสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ทว่ากับโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เครื่องมือเครื่องใช้ ของเล่นหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นเพียงจินตนาการถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้จับต้องได้... ประกอบกับลายเส้นที่ไม่ได้เกิดจากต้นตำรับอย่าง อ.ฟูจิโกะอีกต่อไปแล้ว คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือของเล่นจากกระเป๋าวิเศษเหล่านี้ยังจะเป็นอะไรที่เด็กๆ สนใจอยู่หรือเปล่า? ปัจจุบันในบ้านเราบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนโดราเอมอนอย่างถูกต้องก็คือบริษัท เนชั่น เอ็นดูเทนเม้นท์ ที่ยังคงพิมพ์การ์ตูนเรื่องนี้ออกมาเรื่อยๆ (ล่าสุดที่ออกมาคือ "โดราเอมอน เดอะแก๊ง ผจญภัยสุดขอบฟ้า) รวมทั้งในส่วนของลิขสิทธิ์ลายเส้นต่างๆ ที่เป็นของบริษัท Animation International ซึ่งเจ้าแมวสีฟ้าก็ยังถือว่าเป็นพระเอกของบรรดาตัวการ์ตูนทั้งหมดที่บริษัทนี้ถือครองอยู่ "เท่าที่ผ่านมาก็ยังถือว่ายังมีเด็กๆ ดูเยอะมากนะ คือมันเหมือนกับการผลัดเปลี่ยนรุ่นน่ะ เด็กที่โตขึ้นไปก็อาจจะเลิกดูไปสะสมของแทนแล้วเด็กรุ่นใหม่ก็ขึ้นมาแทน..." คำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ของโมเดิร์นไนน์ ทีวีที่เพิ่งยุติการออกอากาศการ์ตูนโดราเอมอนไปเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ได้เป็นการลาขาดซะทีเดียวเพราะในปีหน้าทางโมเดิร์นไนน์ ทีวีก็มีโปรแกรมที่จะนำเอาโดราเอมอนในตอนใหม่กลับเข้ามาฉายอีกครั้ง "ทางทีมคนเขียนเองเขาก็จะพยายามที่จะหาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมานะ...เหตุผลก็เพราะโดราเอมอนมันเป็นเรื่องที่สามารถเติมแต่งอะไรก็ได้ จะเป็นอดีต อนาคตหรือว่าปัจจุบัน อย่างของเราที่พิมพ์ออกไปล่าสุดก็เป็นเรื่องของโดราเอมอนตอนที่ยังมีหูอยู่ คือเป็นเรื่องก่อนที่จะย้อนอดีตมาอยู่กับโนบิตะนั่นแหละ" คราวนี้เป็นเสียงของเจ้าหน้าที่จากเนชั่น เอ็นดูเทนเม้นท์ เหล่านี้ทั้งหมดน่าจะพอเป็นคำตอบได้บ้างว่าวันนี้ของเจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้ยังคงมีความสุขดีอยู่หรือเปล่า? หรือควรจะอยู่อย่างไรในวันพรุ่งนี้? ******
    คุยกับ "โดราเอมอน" แม้จะไม่ได้กินวุ้นแปลภาษา ทว่า "โดราเอมอน" ก็สามารถพูดไทยได้ ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากผู้หญิงที่ชื่อ "ติ๋ม - ฉันทนา ธาราจันทร์" คนนี้ "พากย์เสียงโดราเอมอนมา 20 กว่า ปีแล้วค่ะ แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็พากย์อย่างอื่นมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้ารวมทั้งหมดก็พากย์มา 30 กว่าปีแล้ว" เจ้าตัวเผยถึงการทำงานของตนเอง คำณวนจากอายุและหน้าที่ในการทำงานคงจะไม่น่าเกลียดไปนักหากจะเรียกเธอสั้นๆ ว่า "พี่ติ๋ม" "ได้พากย์โดราเอมอนนี่พี่ถือว่าโชคดีมากนะ เพราะตอนที่ช่อง 9 เขาซื้อการ์ตูนเรื่องนี้มา รุ่นพี่เขาบอกขี้เกียจแล้ว เขาแก่แล้ว เขาไม่อยากพากย์ เพราะเขาต้องไปพากย์หนังฝรั่งเอยหนังชีวิตเอยเรียกว่าเป็นรุ่นเดอะที่พากย์ให้ผู้ใหญ่เขาฟังกัน เขาก็โยนเรื่องนี้มาให้เราพากย์ ตอนนั้นไม่มีคนรุ่นเด็กๆ มันไม่มีใครเพราะช่วงนั้นช่อง 4 มันแตกแล้วมันก็มาเป็นช่อง 9 ผู้พากย์ก็ออกหมด เหลือเราไปไหนไม่รอด ก็อยู่พากย์เมื่อพวกพี่เขาไม่พากย์เราก็เอา ก็มีต๋อย (นิรันดร์ บุณรัตพันธุ์ "ต๋อย เซมเบ้") แล้วก็มีพี่เรวัติอีกคนซึ่งตอนนี้เขาเสียชีวิตไปแล้ว แล้วก็คุณศันสนีย์ วัฒนานุกูล ก็ชวนกันได้ 4 คน มาลงโดราเอมอน" ไม่คิดว่าจะติดตลาด แต่แล้วก็เป็น "โดราเอมอน" นี่แหละที่ทำให้ช่อง 9 ที่มีผลประกอบการที่เจ๊งอยู่กลับมาได้กำไรอีกครั้งหนึ่ง "พี่เอาโดราเอมอน นิดเสียงเล็กๆ เด็กๆ เนือยๆ โนบิตะนี่เหมาะ ผู้ชายเขาก็เหมาของเขาไป แล้วทั้งเรื่องมันก็มีตั้งหลายตัว เพื่อนๆ โนบิตะ ซึ่งเราก็รับหมดทั้งเพื่อน ทั้งแม่ พี่รับหมดเลย เพราะถือว่าเราเป็นรุ่นพี่ ชิซูกะ ซูเนโอะ พอทำไปทำมามันติดตลาด ทั้งๆ ที่เราไม่คิดว่ามันจะดีนะ แต่มันเกิดฮือฮามาก ฝ่ายการตลาดเขาก็โทร.ขึ้นมาบอกเลย หนังเรื่องนี้สปอนเซอร์แย่งกันเข้าเลยนะ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดีนะ เขาบอกมาว่าพากย์อะไรกัน 4 คน เสียงซ้ำ สปอนเซอร์เขาติมา ช่วยเพิ่มหน่อย" "เอ้าเราก็เอาคนมาเพิ่มอีกคนนึง แต่พอสักพักฝ่ายการตลาดเอาอีกแล้ว ไม่ได้ๆ สปอนเซอร์เข้ากันตรึมเลย เขาบอกว่าเสียงอย่าช้ำ แล้วชิซูกะเสียงแก่ไปแล้ว เราก็ไม่เป็นไร ก็หาเด็กมาอีก เอ้าหนูๆ มาช่วยกันหน่อย ก็ได้มาอีกคนชื่อน้องอ้อย แกทำหน้าที่อ่านสไลด์ ฝ่ายการตลาดก็เอาอีกแล้ว ไม่ได้ไม่เอา คือชิซูกะนี่เป็นเสียงที่มีการเปลี่ยนหลายตัวมาก จนครั้งสุดท้ายก็มาที่คุณศรีอาภา (ศรีอาภา บางนาค) ซึ่งเสียงเขาแจ๋ว น่ารักมาก ก็ครบทีม พากย์กันมาตลอด" "เสน่ห์ของมันพี่ว่ามันรู้ใจเด็กนะ ไม่ใช่โดราเอมอน แต่เป็นคนเขียน เขารู้ไปหมดว่าเด็กอยากได้อะไร เด็กอยากบิน อยากขึ้นไปเห็นพระจันทร์ มันก็ให้โดราเอมอนเอาของวิเศษออกมา อยากไปไหนไปเลย ไม่อยากทำการบ้านใช่มั้ย มันควักดินสอเขียนเองออกมาเลย" "มันทำให้หมดที่เด็กอยากทำ เหมือนมันทำความฝันให้เป็นจริง อยากมีเงิน มันก็เอาเครื่องปั๊มเงินออกมา มันช่วยให้หมด อันนี้ที่โดนใจเด็กมากๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมันจะมีขมวดท้ายทุกที คือมันจะต้องล้มเหลวทุกที จะกลับบ้านไม่ได้บ้างแล้วโดราเอมอนก็ต้องตามมาช่วย ตอนที่เราพากย์กันเราก็จะมีการพากย์สอนตลอด ทิ้งท้ายกันตลอด คือในที่ญี่ปุ่นไม่มีสอนนะ แล้วต๋อยจะสอนเด็กมาก คุณหนูครับอย่าขี้เกียจกันนะครับ อย่างโนบิตะเห็นมั้ยโดนทำโทษเลย สมัยนั้นพ่อแม่ชมเข้ามาเต็มเลย"

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น