อยากเป็นไกด์..เริ่มต้นอย่างไรดี ? - นิยาย อยากเป็นไกด์..เริ่มต้นอย่างไรดี ? : Dek-D.com - Writer
×

    อยากเป็นไกด์..เริ่มต้นอย่างไรดี ?

    เมืองไทยเมืองท่องเที่ยว อาชีพน่าสนใจหนึ่งคือ อาชีพมัคคุเทศก์ สามารถประกอบอาชีพได้เท่าที่สุขภาพเรายังแข็งแรง และได้ตอบแทนคุณแผ่นดินในฐานะทูตวัฒนธรรมนำเสนอสิ่งดีดีของไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้และร่วมชื่นชม

    ผู้เข้าชมรวม

    168

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    8

    ผู้เข้าชมรวม


    168

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    จำนวนตอน :  1 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  29 ก.พ. 67 / 14:11 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    ผู้เขียน...เล่าถึงประสบการณ์ที่เพิ่งหันมาเริ่มสนใจอาชีพมัคคุเทศก์และเข้าสมัครรับการศึกษาหลักสูตรวิชาส่งเสริมอาชีพมัคคุเทศก์กับทางมหาวิทยาลัย(เปิด)สุโขทัยธรรมาธิราชสาขาการโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (4 ปี) อย่างจริงจังในช่วงที่มีอายุย่างเข้าจะครบ 50 ปีและเพื่อหวังสร้างกำลังใจให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ ที่กำลังสนใจอาชีพมัคคุเทศก์ว่าอย่าได้เป็นกังวลใจเรื่องอายุหรือความชำนาญด้านภาษาต่างประเทศจะเป็นปัญหาสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์

    ( ข่าวดี..ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสุโขทัยธรรมาธิราชได้แยกสาขาวิชาการโรงแรมออกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหลือเพียงระยะศึกษาหลักสูตรละเพียง 2 ปี ( เพื่อปูพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ม.6 ปวช.และ หลักสูตรติวเข้มสำหรับผู้มีพื้นฐานการศึกษาด้านการท่องเที่ยวระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง(ปวส.)อนุปริญญาหรือผู้สำเร็จปริญญาสาขาอื่นๆ ที่ต้องการประกอบอาชีพ “มัคคุเทศก์”)

    อาชีพไกด์ หรือ มัคคุเทศก์     เป็นอาชีพสงวนไว้สำหรับคนสัญชาติไทยโดยเฉพาะ กฏหมายไทยจึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างด้าวประกอบอาชีพมัคคุเทศก์บนผืนแผ่นดินไทยได้.***นอกจากมีข้อกฏหมายยกเว้นโดยอนุโลม อาทิ..มีการจัดจ้างคนต่างด้าวเป็นกรณีพิเศษโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐฯ เพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจในตำแหน่งที่ขาดแคลน, คณะติดตามบุคคลสำคัญระหว่างประเทศ, เจ้าหน้าที่และบุคคลต่างสัญชาติผู้ที่ได้รับการอนุญาตภายใต้การรับรองของกฏหมายไทยหรือกฏหมายระหว่างประเทศ หรือ บุคคลต่างด้าวผู้ได้สัญชาติไทยและสำเร็จหลักสูตรตามโครงสร้างที่กำหนดไว้เฉพาะโดยกระทรวงศึกษาธิการไทยและกรมการท่องเที่ยวไทยให้การรับรองหลักสูตรนั้น

    ฉะนั้น บุคคลต่างด้าวหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไปที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจึงไม่สามารถอยู่ในสถานะเป็นผู้ให้ข้อมูลในฐานะเสมือนมัคคุเทศก์หรือไกด์เพื่อนำชมในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในประเทศไทยได้ แม้จะพกพาข้อมูลความรู้มาครบถ้วนในมือแล้วก็ตาม เนื่องจากข้อมูลที่ขาดความเข้าใจอาจจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้ถ้าหากมีการให้ข้อมูลผิดเพี้ยนและไม่ครบทุกด้านอาจก่อเกิดความเข้าใจผิด 

    ***ฉะนั้น..ผู้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับจะมีบทโทษทั้งจำและปรับ

    ถาม //..คนไทย..ทุกคนเป็นไกด์หรือมัคคุเทศก์..ได้ใช่ไหม!?!   

    ตอบ//..หากผู้ใดต้องการประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ 

    ***จะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรเฉพาะที่มีโครงสร้างการศึกษาสำหรับวิชาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครบถ้วนตามที่กระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการกรมการท่องเที่ยวได้กำหนดไว้ ซึ่งจะมีทั้งหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.), อนุปริญญาและระดับอุดมศึกษา

    ***โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาตามโครงสร้างที่กำหนดก็สามารถขึ้นทะเบียน..รับ บัตรมัคคุเทศก์ทั่วไปสีขาว (National Guide)เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ได้ทั่วประเทศ 

    จากความรู้ที่ได้สะสมมาจากการท่องเที่ยวโดยธรรมชาติผสานกับการได้รับเพิ่มเติมมาจากหลักสูตรการทางการศึกษาของ มสธ. ด้วยพื้นฐานธรรมดาด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศที่พอจะมีมาบ้างก็สามารถทำให้วันนี้ผู้เขียนก้าวเข้าสู่อาชีพมัคคุเทศก์ได้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด..ต้องขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์ มสธ.และมัคคุเทศก์อาชีพที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อใช้งานจริงในการประกอบอาชีพ

    โดยก่อนสำเร็จการศึกษา..จะต้องเลือกสถานที่ฝึกงานจริง  เพื่อใช้เป็นหลักฐานการผ่านงานเพื่อใช้ในการสมัครงานหลังสำเร็จการศึกษา โดย Transcripts จะระบุสถานที่ออกใบผ่านงานให้ไว้อย่างชัดเจน...( โดยผู้เขียนยังได้รับโอกาสเป็นนักศึกษารายแรกของทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้รับหนังสือตอบรับอนุญาตให้เข้ารับการฝึกงานจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ระยะเวลาฝึกงานนำชมสถานที่ประมาณ 3 เดือน +อีก 1ถึง2 เดือน( ไม่บังคับ )กรณีต้องการใบอนุญาตนำชมวัด-วังได้ทั่วประเทศในภาคภาษาต่างประเทศซึ่งในตลอดระยะเวลาในการเข้ารับการฝึกงานจะต้องอยู่ในกฏระเบียบของทางสำนักพระราชวังกำหนดอย่างเคร่งครัดทุกประการ อาทิ ผู้ชายต้องตัดผมสั้นเกรียน ผู้หญิงรวบผมแต่งกายชุดสุภาพผู้ชายเสื้อเชิ้ตแขนยาวสวมเน็คไท กางเกงขายาว ผู้หญิงสวมกระโปรงยาวสีสุภาพตามสากลรองเท้าหุ้มส้น ซึ่งผู้เขียนต้องขออนุญาตกล่าวขอบพระคุณทางสำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่อนุญาตที่กรุณาอบรมสั่งสอนและมอบความรู้และระเบียบวินัยให้อย่างมากมายตลอดระยะเวลาฝึกงาน )

        ควรตั้งเป้าหมายหลักเพียงต้องการเพิ่มพูนความรู้ในรายละเอียดข้อมูลจำเป็นที่ต้องถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวหวังจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเป็นอันดับแรก ส่วนด้านภาษาต่างประเทศที่จะต้องใช้กล่าวเปรียบเทียบจึงควรต้องหมั่นฝึกฝนผสานกับบริเวณหน้างานการให้บริการจริงจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับบรรยากาศการเป็นมัคคุเทศก์ไปทีละน้อยๆ โดยใช้พื้นฐานด้านภาษาต่างประเทศที่มีติดตัวมาเป็นต้นทุนเริ่มต้น..โดยให้เน้นย้ำความเข้าใจของผู้รับฟังและความถูกต้องจากข้อมูลเป็นสำคัญ

    ..เมื่อผู้เขียนมีเป้าหมายชัดเจนในการสมัครเข้ารับการศึกษา จึงทำให้รู้สึกสนุกสนานไปกับทุกๆ บทเรียนและสามารถจบการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว  โดยมีค่าใช้จ่ายในระดับเดียวกับการอบรมระยะสั้นทั่วไป..แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นกลับแตกต่างกันแทบสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณวุฒิและเนื้อหาความรู้ที่เชื่อถือได้ที่ได้รับมาจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพที่ทางมหาวิทยาลัยได้คัดสรรมาเป็นวิทยากร ครอบคลุมภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดและคุณวุฒิได้รับมา( ระดับปริญญาตรี )ก็สามารถใช้ขอขึ้นทะเบียนเป็นมัคคุเทศก์(บัตรสีขาวหรือบัตรบรอนซ์)ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั่วประเทศ..อีกด้วย

    บัตร Tour leader คืออะไร ?    คือ บัตรอนุญาตสำหรับใช้แสดงตนของผู้นำเที่ยว/หัวหน้าคณะหรือผู้ดูแลกลุ่มท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ  สำหรับใช้เพื่อควบคุมดูแลความเรียบร้อยระหว่างการนำกลุ่มของตนออกไปท่องเที่ยวอยู่ในต่างประเทศ หรือเรียกว่า..หัวหน้ากรุ๊ปทัวร์ ซึ่งจะจัดให้มีเฉพาะคณะทัวร์ที่เป็นกลุ่มคณะ อาทิ กลุ่มคณะท่องเที่ยวดูงานและประชุมสัมมนาที่จะจองทริปเดินทางจากบริษัททัวร์จากท้องถิ่นตนเพื่อการท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ..เพื่อช่วยดำเนินการด้านเอกสารและเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ โดยบริษัททัวร์ที่รับจอง..จะไม่ส่งไกด์มาดูแลแต่จะส่งเป็น Tour leader มาเพื่อดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยวของตนให้สมบูรณ์ในภาพรวม.. โดยหัวหน้ากรุ๊ปทัวร์จะไม่เน้นอธิบายลงลึกถึงรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยวในต่างแดนนั้นๆ เพื่อเลี่ยงความเข้าใจผิดจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่าอาจเข้าข่ายไกด์เถื่อนได้  ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเรียกใช้บริการไกด์ในท้องถิ่นนั้นเพื่อบรรยายแทน ตามข้อบังคับของแต่ละประเทศที่ใกล้เคียงกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ในการประกอบอาชีพให้กับคนท้องถิ่นนั่นเอง

    โดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดสำหรับ***หลักสูตรอบรมระยะสั้นที่เปิดสอน 3 ชนิด

    1.เพื่อรับบัตรมัคคุเทศก์ทั่วไป( ใช้วุฒิ ปวส.สาขาการท่องเที่ยว อนุปริญญา หรือ ปริญญาตรี ) 

    2.เพื่อรับบัตรผู้นำเที่ยว/ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ( ใช้วุฒิ ม.6 ขึ้นไป )

    3. เพื่อรับบัตรสีจำแนกมัคคุเทศก์ประจำภูมิภาค ( อาจไม่สามารถนำชมพระราชวังได้ ) วุฒิ ม.6ขึ้นไป

    ภาคประชาชนทั่วไปที่สนใจประกอบอาชีพมัคคุเทศก์

    1.  สำหรับผู้สำเร็จมัธยมปลาย(ม.6), ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ที่มีความสนใจและต้องการ

    ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาการท่องเที่ยว เพื่อเป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป หรือ เข้ารับการอบรมหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์(ระยะสั้น)ที่เปิดสอนทั้งในระดับราชภัฏฯ, มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวและถูกต้องตามข้อบังคับภายใต้กฏของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ขึ้นทะเบียน*** มัคคุเทศก์ประจำภูมิภาค ได้ 

     *** บัตรมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค( จำแนกตามแถบสีบัตรของแต่ละภูมิภาค เขียว เหลือง ส้ม ฟ้า ) ซึ่งใช้ปฏิบัติงานเฉพาะพื้นที่ที่ระบุไว้เท่านั้น ( อาจไม่สามารถนำชมพระราชวังได้...โดยจะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมกับหน่วยงานเฉพาะที่เปิดอบรม อาทิ สำนักพระราชวังวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มเติมเพื่อรับอนุญาตให้เป็นผู้นำชมพระราชวังได้ในภายหลัง )

    1. ผู้สำเร็จการศึกษา ระดับ ปวส.หรือ ปริญญาสาขาอื่นๆ ที่ยังไม่มีพื้นฐานการศึกษาด้านการท่องเที่ยว สามารถเลือกลงทะเบียนเรียน(เพิ่มเติม)กับทางมหาวิทยาลัยทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดสอน หรือ หลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ที่มีหลักสูตรครบถ้วนและได้จดทะเบียนรับการรับรองจากกรมการท่องเที่ยวถูกต้อง หรือ มหาวิทยาลัยเปิด อาทิ ม.รามฯ , มสธ. โดยเมื่อศึกษาสำเร็จครบตามหลักสูตรสามารถขึ้นทะเบียนเป็น มัคคุเทศก์ทั่วไป(สีขาวแถบดำ)และบัตรผู้นำเที่ยวต่างประเทศ ได้ในคราวเดียวกัน

    ***เมื่อได้รับบัตรอนุญาตถูกต้อง จะต้องแสดงบัตรอนุญาตนั้นไว้ให้เห็นชัดเจนตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ ตามข้อบังคับกรมการท่องเที่ยว และกองตำรวจท่องเที่ยว( โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษปรับไม่เกิน..หนึ่งหมื่นบาท )

    ***สำหรับผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์โดยไม่ผ่านหลักเกณฑ์หรือไม่ได้ผ่านการอบรมครบสมบูรณ์ตามข้อกำหนด(ไกด์เถื่อน)จะมีบทลงโทษตามกฏหมาย***จำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท     ( ยกเว้นการบังคับใช้กับยุวมัคคุเทศก์อายุต่ำกว่า18ปี หรือ ผู้นำเที่ยวอาวุโสมัคคุเทศก์ของชุมชนแต่ละท้องถิ่นพื้นที่เฉพาะ อาทิ การนำเสนอของแกนนำชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะให้ยกเว้นโทษโดยอนุโลม )

                การขึ้นทะเบียนเพื่อรับบัตรมัคคุเทศก์ ณ กรมการท่องเที่ยว(dot.go.th)      อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน “มัคคุเทศก์” โดยผู้สำเร็จการศึกษาครบตามโครงสร้างหลักสูตรและผ่านการอบรมจากทางกรมการท่องเที่ยวครบตามขั้นตอนแล้ว สามารถยืนคำร้องขอทำบัตรทั้ง “ Tour leader” และ “ Guide license” ได้พร้อมกัน โดยอายุของบัตรอนุญาตมัคคุเทศก์ใช้ได้คราวละ 5 ปี และมีกำหนดจะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมอีก 10 ชั่วโมง(on line) ทุกครั้งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 150 วันก่อนทำการขอต่ออายุบัตรไกด์(ทุกครั้ง)พร้อมรูปถ่าย 1 นิ้วและใบรับรองแพทย์ โดยมีค่าธรรมเนียม 200 บาท // ***ส่วนบัตร Tour leader จะเป็นแบบทำครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีพ

    อย่างไรก็ตามการออกปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวยังต้องประกอบด้วยใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (job order) ที่บริษัททัวร์ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ออกให้ ซึ่งมัคคุเทศก์แต่ละคนยังต้องนำใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (job order) ฉบับเต็มรูปแบบกระดาษเอกสารที่ได้รับจากบริษัททัวร์ที่ว่าจ้างนั้นติดตัวขณะปฏิบัติงานไว้อีกด้วยเนื่องจากกรณีที่มีการตรวจสอบ หรือเกิดปัญหาในการให้บริการนำเที่ยวเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเอกสารจริงนี้ด้วย ( ถึงแม้จะมีการลงทะเบียนรับใบสั่งงานมัคคุเทศก์ผ่านทาง On line เพื่อรับฉบับย่อแจ้งไว้ในระบบมือถือผ่านแอพลิเคชั่นของกรมการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม )

    *** ปัจจุบันกรมการท่องเที่ยวได้เปิดใช้แอพลิเคชั่น jobOder เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งมัคคุเทศก์เพื่อใช้ในการเก็บบันทึกใบงานอิเลคโทรนิคส์ฉบับย่อ( QR.code )เพื่อไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่หากมีการเรียกตรวจสอบ โดยทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถลงทะเบียนโดยใช้  หมายเลขบัตรมัคคุเทศก์  บัตรประชาชน  หรือ หมายเลขบริษัทที่จดทะเบียนไว้  เพื่อ..บริษัททัวร์จะใช้จ่ายงานระบุตรงไปยังมัคคุเทศก์ที่ต้องการ  ..เมื่อมัคคุเทศก์ที่บริษัทระบุไว้นั้นได้รับข้อความก็สามารถกดตอบตกลงหรือปฏิเสธที่จะรับงานนั้นได้ โดยผ่านแอพลิเคชั่นกลางนี้ของกรมการท่องเที่ยว

     ความแตกต่าง..ในการนำเที่ยวให้คนไทย และ การนำเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ  ?      

    ....นอกจากจะแตกต่างกันในเรื่องการเลือกใช้ภาษาสำหรับในการสื่อสารและการอธิบายในเนื้อหาแล้ว ก็ยังแตกต่างกันในด้านรายละเอียดปลีกย่อยอีกด้วยเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยบางท่านอาจเคยได้รับพื้นฐานความรู้ผ่านทางวัฒนธรรมประเพณีและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหรือจากบทเรียน บทความหรือจากการคลุกคลีอยู่ในสังคมไทยมาบ้างแล้วบางส่วนจึงอาจต้องการข้อมูลเขิงลึกมากกว่าเชิงประจักษ์เพียงแค่สายตาเห็นเท่านั้น

    ..การนำเที่ยวให้คนไทยด้วยกันอาจจะต้องอธิบายเพิ่มเติมในด้านรายละเอียดย่อยเพิ่มเติมจากความเป็นมาหลักๆ และควรเตรียมความพร้อมในการตอบข้อปัญหาซักถามเชิงลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่พวกเขายังคาใจและเชื่อมโยงตำนานเล่าขานที่แฝงมากับสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่บางคนเคยได้ยินมา  อาทิ ตำนานนาคและครุฑ วันเดือนปีของเหตุการณ์สำคัญๆ ของพระราชวงศ์ไทย อาทิ ปีครองราชย์และปีสวรรคตของทุกรัชกาล  ความสำคัญของจิตรกรรมที่เป็นส่วนประกอบย่อยๆ ตามวัด วัง  ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างเพื่อใช้งานของโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ,  ลวดลายของหน้าบัน หรือ ใบเสมาตามอุโบสถวัดที่สามารถใช้จำแนกไปตามยุคสมัยและความหมายที่แฝงอยู่ของผู้สร้าง

    ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตื่นตาตื่นใจและพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งแปลกตาที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าจึงไม่ค่อยได้สนใจที่จะตั้งคำถามเจาะลึกมากนัก และไม่ค่อยทนกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว

    พระบิดาของวงการท่องเที่ยวไทย   คือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในลักษณะประทับนั่ง บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร             

    พระราชประวัติโดยย่อท่านทรงพระราชสมเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ.2486 ( 1 มิถุนาฯ วันมัคคุเทศก์ไทย ) ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ส่วนในวันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงรอบรู้และชำนาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีจึงทรงได้รับการถวายพระนามเป็น " พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย " และยังทรงได้รับสถาปนาเป็น “ พระบิดาแห่งการท่องเที่ยวไทย ” อีกด้วย ..ต่อมาภายหลังเมื่อพระองค์ท่านฯ ทรงสิ้นพระชนม์ได้มีการบรรจุพระอัฐิของท่านร่วมกับพระบรมอัฐิเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในสมัยร.4(พระราชมารดา) ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน( พระราชวังฤดูร้อน ) จ.อยุธยา

    ***  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ที่ประชุมใหญ่ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศถวายสดุดีให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย

    สำหรับผู้ที่กำลังสนใจจะประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์   

    ..เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสที่เมืองไทยเป็นเมืองจุดหมายแห่งการท่องเที่ยวเสมือนหม้อหลอมใบใหญ่ที่สามารถหล่อหลอมให้ชนทุกชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและมีสีสันตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องยาวนานตามสุขภาพของท่านจะอำนวยอีกด้วย แต่เราก็ไม่ควรมองหาแค่เฉพาะผลประโยชน์ส่วนตนเพียงด้านเดียว เพราะมัคคุเทศก์เปรียบเสมือนพนักงานต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยเพื่อสร้างความรักและความศรัทธาให้เกิดกับนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย

    คุณสมบัติที่ดีของมัคคุเทศก์  คือ ต้องอดทน รอบคอบ มีไหวพริบ ปรับตัวได้ดี น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ มีจิตสาธารณะรักงานด้านบริการ ที่สำคัญควร***บริหารเวลาได้และตรงต่อเวลา เพราะงานด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องทำงานให้สอดประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่จะมีหมายกำหนดการชัดเจน อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวอาจประกาศปิดให้บริการกระทันหัน (ช่วงวโรกาสพิเศษ) จึงต้องมีการโทร.ตรวจสอบไปยังสถานที่นั้นๆ ก่อนล่วงหน้าเพื่อทำการสอบถามและนัดหมาย( ทุกครั้ง )เพื่อป้องกันการพานักท่องเที่ยวไปรอเก้อ อีกทั้งการแก้ปัญหาด้านการจราจรที่อาจติดขัดขึ้นมากระทันหันและเกิดขึ้นได้ทุกเวลามักสร้างความท้าทายให้กับมัคคุเทศก์กับภาระกิจที่จะต้องนำพานักท่องเที่ยวในความดูแลของตนเพื่อส่งกลับที่พัก หรือ ให้ทันห้วงเวลาที่เช็คอินสายการบินหรือทัวร์พิเศษ เช่น ล่องเรือชมเจ้าพระยา ที่ได้แจ้งไว้ตามกำหนดเวลา เป็นต้น 

    ***นักท่องเที่ยวมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยได้ กรณีไม่ได้รับชมสถานที่ท่องเทียวครบตามโปรแกรมที่บริษัททัวร์ได้แจ้งไว้

               ชนิดของบัตรมัคคุเทศก์

    • บัตรมัคคุเทศก์ทั่วไป ภาคภาษาไทย และ ภาคภาษาต่างประเทศใช้บัตรอนุญาตสีขาว(บัตรบรอนซ์)..นำเที่ยวได้ทั่วประเทศ ( ยกเว้นสถานจำเพาะที่อาจจะต้องเรียกใช้บริการมัคคุเทศก์ท้องถิ่นผู้ชำนาญในพื้นที่เป็นผู้นำด้านกิจกรรมพิเศษอีกทอดหนึ่ง เช่น การปีนเขา การไต่หน้าผา, การดำน้ำ ฯลฯ )
    • บัตรมัคคุเทศก์ประจำภูมิภาค แยกออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคเหนือบัตรอนุญาตสีเขียว // ภาคกลางบัตรสีเหลือง //  ภาคอีสานบัตรสีส้ม // ภาคใต้บัตรสีฟ้า ( ไม่สามารถนำชมพระราชวังได้ )
    • บัตรมัคคุเทศก์ท้องถิ่น บัตรอนุญาตสีน้ำตาล

    ลักษณะงานของมัคคุเทศก์

    1. งานรับนักท่องเที่ยวเข้าที่พัก และ งานส่งออกนักท่องเที่ยวสู่สนามบิน ( Transfer in / Transfer out ) มีระยะการทำงานที่จะได้มีโอกาสพบปะนักท่องเที่ยวแค่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างสนามบินและโรงแรมที่พัก (เหมาะสำหรับมัคคุเทศก์จบใหม่ที่ยังไม่พร้อมจะนำเที่ยวระยะไกล หรือ มัคคุเทศก์สูงอายุที่สุขภาพไม่ค่อยอำนวยต่อการทำงานภาคสนามระยะเวลานานๆ )ซึ่งจะได้รับค่าแรงอัตราที่แตกต่างกันกับมัคคุเทศก์ภาคสนาม(On site) โดยอาจจะต้องมีความรู้ด้านตารางการบิน รหัสสายการบินและจุดเช็คอินของสายการบินต่างๆ รวมถึงพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในสนามบิน อีกด้วย 

    งานรับเข้านักท่องเที่ยว//ควรไปรอรับนักท่องเที่ยวที่บริเวณอาคารชั้น 2 และให้บริษัทระบุหมายเลขประตูทางออกที่ชัดเจน ( มี 10 ประตู ) 

    ***งานรับเข้า//รับแขกสำคัญบริเวณด้านในทางออกจาก ตม. ไกด์จะต้องแลกบัตรเพื่อเข้าพี้นที่ชั้นในก่อน..ที่บริเวณชั้น 1

    ***การชูป้ายชื่อเพื่อรอรับนักท่องเทียว ต้องมีการประทับตราลงทะเบียนขออนุญาตบริเวณประตู 4 ก่อนทุกครั้ง(ไม่มีค่าใช้จ่าย)

    ***มัคคุเทศก์ต้องโทร.ประสาน ATTA สำหรับสถานที่จอดรถเพื่อรอรับแขก

    งานส่งออกนักท่องเที่ยวที่บริเวณชั้น 4 (สายการบิน TG อยู่ประตูที่ 1 ) 

    ***งานส่งออก//ควรตรวจสอบจำนวนกระเป๋าของแขกให้ครบตามจำนวนก่อนออกจากโรงแรมทุกครั้งและเมื่อถึงสนามบินก็ควรรีบจัดหารถเข็นเพื่อขนสัมภาระให้กรณีนักท่องเที่ยวสัมภาระเยอะ ป่วย สูงอายุ หรือกระเป๋าไม่มีล้อลาก 

    *** เรียกใช้รถวีลแชร์ให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุติดต่อได้จากบริเวณเช็คอินของสายการบินที่ระบุไว้เท่านั้น

    งานนำเที่ยวภาคสนาม(On site)นำชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แบบเต็มเวลา

    ตอบข้อสงสัย รถ เรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างพานักท่องเที่ยวเที่ยวเองได้ไหม?

     โดยความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับที่กำหนดไว้…ดังนี้

    1. -ไม่นำส่งผู้โดยสารตามจุดหมายปลายทางที่กำหนด 
    2. -ขับขี่หวาดเสียวจนน่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ
    3.  -บังคับ กรรโชก ขู่เข็ญ คิดราคาค่าโดยสารเกินราคา หรือ การปฏิเสธกดมิเตอร์
    4. -มีการให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวภายในสถานที่ท่องเที่ยวเสมือนเป็น..มัคคุเทศก์
    5. -มีป้ายประกาศขายโปรแกรมท่องเที่ยวติดโฆษณาไว้โดยไม่ได้จดแจ้งขึ้นทะเบียนประกอบการบริษัททัวร์ไว้กับกรมการท่องเที่ยว จะมีความผิดเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบเถื่อนด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเกิดเป็นรายได้ที่รับตรงจากนักท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้ชำระภาษีและไม่มีการทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยวอย่างถูกต้องตามกฏหมายเสมือนเอาเปรียบบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนและชำระภาษีถูกต้องจะ มีความผิดตามมาตรา 80 พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถาม // พาเพื่อนชาวต่างชาติเที่ยวเองในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ทำได้หรือเปล่า!?   

    ตอบ // ทำได้แต่ควรงดกิจกรรมที่อาจทำให้ เจ้าหน้าที่เข้าใจผิด เช่น 

    - หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลในสถานที่ท่องเที่ยวเสมือนไกด์ แต่ควรแนะนำให้เพื่อนชาวต่างชาติชำระค่าเข้าชมสถานที่และรับคู่มือเพื่อค้นคว้าข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวนั้นด้วยตัวเอง

    - ต้องไม่มีการคิดค่าบริการ ค่าโดยสาร ค่าที่พักหรือค่าอาหาร เพราะจะเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการเถื่อนที่ไม่มีการจดแจ้งและการทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวก่อเกิดรายได้ที่ไม่ได้ชำระภาษีถูกต้องผิดข้อบัญญัติ ซึ่งจะมีโทษทั้งจำและปรับเช่นกัน

    - กลุ่ม/คณะ ควรดำเนินการจดแจ้งเข้าสู่ระบบด้านการท่องเที่ยวโดยผ่านบริษัททัวร์ที่จัดตั้งถูกต้องตามกฏหมายเพื่อได้รับการคุ้มครองชีวิตจากบริษัทประกันภัยหากประสบอุบัติเหตุขณะท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย

    ไกด์ผี คืออะไร?!  

    ไกด์ผี คือ ไกด์ที่รับงานอิสระไม่ได้ผ่านบริษัทและไม่มีใบงาน( job order )ปรากฏตัวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวและตัวของมัคคุเทศก์ และการคิดราคาค่าบริการอาจไม่คงที่และราคาไร้มาตรฐานที่กำหนดไว้ชัดเจน รายได้ที่รับตรงจากนักท่องเที่ยวจึงไม่ได้ชำระภาษีถูกต้องตามข้อบังคับท้องถิ่นและข้อบังคับจากกรมสรรพากร

    ***ปัจจุบันพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวได้กำหนดให้ “มัคคุเทศก์” ผู้มีใบอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้อง ต้องรับงานผ่านทางบริษัททัวร์ที่จดแจ้งถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งจะมีใบงาน( Job order )ซึ่งจะกำกับระบุในรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อของนักท่องเที่ยว ชื่อบริษัททัวร์และรายชื่อไกด์ผู้ดูแล รวมถึงรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่ตกลงไว้เรียกว่าใบงาน หรือสามารถลงทะเบียนรับใบ Job order online  โดยผ่านกรมการท่องเที่ยวช่วยเป็นสื่อกลางให้ระหว่างบริษัททัวร์(แจ้งใบงาน)กับมัคคุเทศก์( ผู้รับงาน ) ซึ่งจะได้รับใบงานในรูป QR.code บันทึกไว้ในเครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่กรณีถูกเรียกตรวจสอบ

    ***มัคคุเทศก์ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากใบงานของทางบริษัทอาจมีความผิดเข้าข่าย ..ไกด์ผี.. ซึ่งอาจจะได้รับโทษปรับหากเจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบใบงานขณะมัคคุเทศก์ออกปฏิบัติหน้าที่

    ***ปล.กฏหมายไทยยังไม่ได้ระบุสั่งห้ามมัคคุเทศก์รับงานอิสระ จึงเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน

    ไกด์เถื่อน คืออะไร !?  

     คือไกด์ต่างด้าวหรือมัคคุเทศก์ผิดกฏหมายลักลอบเข้ามาหาผลประโยชน์ในประเทศไทยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ซึ่งบางรายอาจจะมาในรูปแบบคณะ..ทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือ แก๊งค์ลูกหมู ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้ตกเป็นเหยื่ออาจถูกริดรอนสิทธิ์และไม่ปลอดภัย โดยกลุ่มนี้จะมีลักษณะจัดการเองแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มขายโปรแกรมทัวร์ที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นทางในต่างประเทศจนถึงวันมาท่องเที่ยวที่เมืองไทยและส่งกลับคืนประเทศจะถูกจัดการให้อยู่ในวงจรธุระกิจเครือข่ายของตนเท่านั้น โดยอาจจะมีการจัดจ้างไกด์ไทยที่มีใบอนุญาตถูกต้องให้นั่งเป็นตุ๊กตา( sitting guide )เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ แต่ไกด์ปฏิบัติหน้าที่จริงกลับเป็นชาวต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตแฝงตัวปฏิบัติหน้าที่แทน หรืออาจจะมีลักษณะกว้านซื้อกรุ๊ปทัวร์มาจากบริษัททัวร์ที่ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดเพื่อพาเที่ยว กิน ใช้ สินค้าราคาแพงกว่าปรกติเฉพาะร้านค้าในเครือข่ายของตนเองที่ลักลอบเปิดให้บริการอยู่ทั่วไปในประเทศไทยเท่านั้นและยังอาจนำมาซึ่งคดีอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยให้กับคณะท่องเที่ยวนั้นๆ ในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย 

    ***โดยผู้ใดรู้เห็นและให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนก็จะเข้าข่ายมีโทษอัตราฐานความผิดเดียวกัน

    ความพร้อมพื้นฐานสำหรับ “มัคคุเทศก์” ในการออกปฏิบัติหน้าที่

    1. ตรวจรับงาน หมายเลขติดต่อเจ้าหน้าที่ยานพาหนะ และจำนวนของชำร่วยจากบริษัททัวร์
    2. ตรวจสอบค่าใช้จ่าย( สำรอง )กรณีฉุกเฉินพร้อมรับใบงานฉบับเต็ม( Job order) พร้อมโทร.เพื่อยืนยันการจองใช้บริการยังสถานบริการที่ระบุไว้   
    3. ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศขณะปัจจุบันและวิธีรับมือเบื้องต้นหาก นทท.เกิดอาการแพ้อากาศและอาการป่วยฉับพลัน แนะนำควรพกพาแป้งเย็น หรือ ยาคาราไมล์ทาแก้อาการแพ้และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางกลางแจ้งเป็นเวลานาน
    4. พกพาไฟแช็กและสำรองยาสามัญ ยาอม ยาดม ยาหม่องเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ร่มและหมวก
    5. ควรทราบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ ปัจจุบัน และสถานที่แลกเปลี่ยนเงินตราตามท้องถิ่น
    6. ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติเมื่ออยู่ภายในสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่นการสวมเสื้อผ้ามิดชิดและสุภาพเมื่อเข้าเยี่ยมชมวัด วัง และไม่ควรนั่งโดยตั้งใจชี้เท้าไปยังพระพุทธรูป 
    7. ระบุเบอร์สายด่วนและหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้ติดต่อสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน อาทิ หลงทาง อุบัติเหตุ เช่น 191 หรือ 1155
    8. การแลกใช้แอพลิเคชั่นสนทนาเพื่อการสื่อสารกรณีฉุกเฉินควรแจ้งและแลกเบอร์โทร.ติดต่อระหว่างไกด์กับนักท่องเที่ยว
    9. ข้อตกลงร่วมกัน อาทิ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์, ห้ามสูบบุหรี่ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว
    10. ขนาดและจำนวนประชากรไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศของนักท่องเที่ยวที่กำลังดูแล อาทิ พื้นที่ประเทศไทย(513,120ตร.กม)ขนาดใหญ่เกือบเท่ากับประเทศฝรั่งเศส(551,695ตร.กม.)และจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคนในเมืองหลวงหนาแน่นใกล้เคียงกับโตเกียวในประเทศญี่ปุ่น
    11. ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามที่อยู่ร่วมกันแบบผสมผสานและการเมืองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข (เท่าที่จำเป็นและความคิดเห็นแบบเป็นกลาง)
    12. ไทยมี 3 ฤดูกาล  ร้อน / ฝน / หนาว
    13.  ผลิตภัณฑ์ส่งออกเช่นพืชผลทางการเกษตร ชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์และยานยนต์
    14. ช่วงเทศกาลต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ ปีใหม่สากล ตรุษจีน สงกรานต์และเทศกาลงานบุญ
    15. สถาบันหลักและสัญลักษณ์ประจำประเทศไทย
    16. สแกมเมอร์และมิจฉาชีพที่นักท่องเที่ยวควรระวังและไม่กดรับSMSแปลกปลอม
    17. จุดที่ตั้งของประเทศไทย อาทิ อยู่สูงกว่าเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปประมาณ 5 องศาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบมี พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชาและมาเลเซีย เป็นต้น
    18. สนามบินตามหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวโดยคร่าว

    เกร็ดความรู้       ( กรณีมีเวลาเพียงพอที่ใช้อธิบายเพิ่มเติมก่อนถึงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระยะไกล )

    “ เราชาวไทยยินดีต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่ประเทศของเราที่โดดเด่นในด้านวัฒนธรรม อาหาร ผู้คนและสถาปัตยกรรมที่มีอายุต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 1,500 ปี โดยล่าสุดเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2566/ค.ศ.2023 องค์กรยูเนสโก้เพิ่งให้การรับรองเมืองเก่าแห่งที่ 4 ของไทยเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งคาดว่าจะมีอายุมากกว่า1,800ปี โดยเมืองนั้นมีชื่อเรียกว่าเมืองมรดกโลก “ศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ภาคกลางตอนบนของไทย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากเพราะทำให้เราได้ประติดประต่อเรื่องราวได้ถูกต้องมากขึ้นถึงอาณาจักรที่มีมาก่อนในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-18 ก่อนจะส่งต่อความเจริญมาถึงยุคสุโขทัย ( โดยในขณะนั้นทางยุโรปกำลังอยู่ในห้วงสงครามครูเสด(ค.ศ.1095-1291)  ส่งผลให้ชาวอินเดียที่นับถือพุทธศาสนาบางส่วนอพยพหนีการทำลายล้างของชนชาวอาหรับต่างศาสนาที่เข้ามาทำลายล้างสิ่งเคารพบูชาของชาวพุทธจึงได้ขนย้ายข้ามทะเลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เพื่อยึดมั่นดำรงในพระพุทธศาสนา การนำมาซึ่งอารยธรรมดั้งเดิมของชาวอินเดียได้มาผสมกลมกลืนร่วมกับอารยธรรมชนพื้นถิ่นสยาม(ขอม,มอญ,ไต) ณ บริเวณเมืองศรีเทพในต้นยุคทวาราวดี ซึ่งต่อมาภายหลังจึงได้ส่งต่อความเจริญให้กับประเทศใกล้เคียงย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อุษาคเนย์)นี้ในเวลาต่อมา ” 

    ในเวลาไล่เลี่ยกันเราก็ยังมีการค้นพบซากอารยธรรมอีกแห่งหนึ่งที่บ้านโนนวัด จ.นครราชสีมา ซึ่งน่ามีอายุมากกว่า3,000-4,000 ปีซึ่งมีอายุตรงกับช่วงยุคหินใหม่และอาจจะเป็นแหล่งเริ่มต้นของอารยธรรมของผู้คนในย่านนี้ที่กำลังรอการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแห่งของไทยในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

    ..”ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ513,120ตร.กม.ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปนและฝรั่งเศส  แต่ไทยมีขนาดใหญ่กว่าประเทศอิตาลีประมาณ30-40% มีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีบางส่วนนับถือ คริสต์ อิสลาม ซิกข์และอื่นๆ อยู่ปะปนร่วมกันเนื่องจากประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจึงไม่มีการปิดกั้นในการนับถือศาสนาของประชาชน  โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส

    ประเทศไทยมี 3 ฤดู โดยช่วงปลายปีถึงต้นปีจะมีอากาศเย็นลงเล็กน้อยเนื่องจากความเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนที่จะไปสิ้นสุดปลายเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูมรสุมมีฝนตกต่อเนื่องถึงปลายเดือนตุลาคม

    และคนไทยมีความเชื่อว่าศีรษะเป็นที่สถิตย์ของเทวดาผู้ปกป้องและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเท้าคือที่อยู่ของสิ่งสกปรกและสิ่งไม่ดี ฉะนั้นจึงไม่ควรไม่ชี้ปลายเท้าไปยังพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา

    การเข้าวัด         

      วัด เป็นที่พึ่งเพื่อชำระจิตใจให้ขาวสะอาดของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเชื่อว่าวัดเป็นสถานที่สถิตย์อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ปราศจากกิเลส   

    ประเทศไทยมีวัดหลากหลายลักษณะทั้งวัดที่พระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ทรงสร้างขึ้นเพื่อไว้ประกอบพระราชพิธีระดับประเทศ, วัดที่ผู้นำของชุมชนสร้างเพื่อบริการชุมชน และ วัดที่ประชาชนร่วมใจสร้างกันเองเพื่อใช้ประกอบพิธีสำหรับคนในท้องถิ่น

     ฉะนั้นการเข้าวัดประกอบพิธีจึงต้องแต่งกายมิดชิดและสุภาพเรียบร้อยเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์  โดยเฉพาะวัดภายในวัง..ที่เคยเป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์และยังคงเข้มงวดเรื่องเครื่องแต่งกาย จึงควรสวมรองเท้าหุ้มส้น กางเกงต้องยาวคลุมข้อเท้าและสวมเสื้อที่มิดชิดปิดหัวไหล่ (โดยห้ามใช้ผ้าคลุมไหล่แทนเสื้อ) เช่นวัดพระแก้วฯ กรุงเทพฯ และพระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา  ส่วนวัดอื่นๆ เน้นเพียงแต่งกายให้สุภาพมิดชิดเท่านั้น

                    ..คนไทยทานข้าวสวยเป็นหลัก มีทานข้าวเหนียวบ้างก็เพียงแต่ในภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วน และข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกของไทยจึงมีการปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ ผลไม้และยางพารา กันเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย

                    ..สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตที่ไทยเคยได้รับประสบการณ์เรื่องโรคระบาดครั้งใหญ่หลายครั้งพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชสมัยจึงได้ให้ความสำคัญต่อสาธารณะสุขไทยและเริ่มจริงจังตั้งแต่ประมาณ 100 ปีที่แล้วในรัชสมัย ร.4 ต่อเนื่องรัชสมัย ร.5 เนื่องจากโรคระบาดสมัยเมื่อครั้งพระองค์ท่านยังทรงพระเยาว์นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย และด้วยความพยายามของราชวงศ์ในการวางรากฐานด้านสาธารณสุขครั้งนั้นส่งผลให้วันนี้การสาธารณะสุขไทยค่อนข้างจะเข้มแข็งและยังเป็นที่พึ่งพาให้ประชาชนได้ดีมาก และสถาบันกษัตริย์จึงยังคงเป็นจุดศูนย์กลางทางจิตใจจึงทำให้ประเทศไทยสงบสุขตลอดมา       

    line : guide thai son   

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น