ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #8 : บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.96K
      7
      16 ม.ค. 50




     
    บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
    Bosnia - Herzegovina


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป มีพรมแดนติดกับโครเอเชีย และอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร)

    พื้นที่ 51,129 ตารางกิโลเมตร

    ประชากร 3.9 ล้านคน

    เชื้อชาติ บอสเนีย 48.3% เซิร์บ 34% โครอัท 15.4%

    ภาษา เซอร์โบ-โครอัท (หรือเรียกกันว่าภาษาบอสเนีย)

    ศาสนา มุสลิม 40% ออร์โธดอกซ์ 31% คาธอลิก 15% โปรเตสแตนท์ 4% อื่น ๆ 10%

    เมืองหลวง กรุงซาราเยโว (Sarajevo)

    วันชาติ 25 พฤศจิกายน

    ระบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผู้นำประเทศได้แก่คณะประธานาธิบดี 3 คน (three-member presidency) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายเซิร์บ 1 คน ฝ่ายมุสลิม 1 คน และฝ่ายโครอัท 1 คน แต่ละคนได้รับการเลือกตั้งมีวาระ 4 ปี โดยสับเปลี่ยนกันดำรงตำแหน่งประธานทุก 8 เดือน

    ประมุข
    ประธานคณะประธานาธิบดี (Chairman of the Presidency) นาย Nebojsa Radmanovic (Serbs) เริ่มดำรงตำแหน่งประธาน ฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549
    สมาชิกคณะประธานาธิบดี นาย Zeljko Komsic (Croats) และ Dr. Haris Silajdzic (Bosniac)
    (สมาชิกคณะประธานาธิบดีชุดข้างต้นได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2549)



    รัฐบาล คณะรัฐบาล (Council of Ministers) ประกอบด้วยรัฐมนตรี 10 คน โดยหนึ่งในนั้นจะถูกแต่งตั้งให้เป็นประธาน (นายกรัฐมนตรี) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

    นายกรัฐมนตรี นาย Adnan Terzic (มุสลิม) (Chairman of the Council of Ministers) แต่งตั้งเมื่อมกราคม 2546

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Mladen Ivanic (เซิร์บ)

    ระบบการบริหาร บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เขต คือ เขตสหพันธ์บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Federation of Bosnia and Herzegovina) เขตสาธารณรัฐเซิร์บ (Republika Srpska) และเขตปกครองพิเศษ Brcko district (Brcko Distrikt)

    สกุลเงิน convertible marka (KM) = 100 convertible pfenniga
    1 KM = 1.96 ยูโร หรือประมาณ 93 บาท

    ผลผลิตประชาชาติ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    ผลผลิตประชาชาติต่อหัว 2,384 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    อัตราการเจริญเติบโต 5% (2548)

    อัตราเงินเฟ้อ 4.5% (2548)

    การส่งออก 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    การนำเข้า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    หนี้ต่างประเทศ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    ประชากร 3.9 ล้านคน (2548)

    อัตราว่างงาน 30% (2548)

    การเมืองการปกครอง
    ภูมิหลัง
    บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาเดิมเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในหกสาธารณรัฐซึ่งประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia หรือ SFRY) ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 ภายหลังจากที่สาธารณรัฐสโลวีเนีย และโครเอเชีย ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจาก SFRY ชาวมุสลิมและชาวโครอัทในบอสเนียฯ จึงได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1992 และได้ประกาศเอกราชจาก SFRY เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1992 ทำให้ชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไม่พอใจ จึงประกาศตนเป็นพันธมิตรร่วมกับชาวเซิร์บในโครเอเชีย ประกาศตนเป็นอิสระ ในขณะที่ชาวโครอัทก็ได้ประกาศยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งในบอสเนียฯ ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างกันจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1995 ผู้นำของโครเอเชีย เซอร์เบีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ได้ไปร่วมประชุมที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมลงนามย่อข้อตกลงสันติภาพเมืองเดย์ตัน (Dayton Peace Accord) ซึ่งต่อมาได้ลงนามถาวรที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1995
    ความตกลง Dayton Peace Accord ซึ่งต่อมาใช้เป็นรัฐธรรมนูญของบอสเนียฯ เป็นการรับรองอธิปไตยของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 รัฐ คือ สหพันธ์บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Federation of Bosnia and Herzegovina) มีพื้นที่ร้อยละ 51 และสาธารณรัฐเซิร์บ (Republika Srpska) มีพื้นที่ร้อยละ 49 โดยแต่ละรัฐมีรัฐสภาของตนเอง สำหรับรัฐบาลกลางบอสเนียฯ จะมีคณะประธานาธิบดี (Collective Presidency) และสถาบันกลางอื่น ๆ อาทิ ศาลสูงและธนาคารกลางร่วมกันรัฐบาลกลางจะดูแลงานด้านการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ภาษี การเงิน ตรวจคนเข้าเมืองและสื่อสาร
    รัฐสภาแห่งชาติจะประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 42 คน และสภาประชาชนมีผู้แทน 15 คนโดย 2/3 เลือกตั้งจากสหพันธ์บอสเนีย ฯ และอีก 1/3 มาจากสาธารณรัฐเซิร์บ
    การเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2006

    สถานการณ์ทางการเมือง
    สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ Dayton โดยส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของนาโต (Stabilization Force or SFOR) จำนวน 32,000 คน ไปยังบอสเนียฯ แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความพยายามของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในการสร้างฐานทางการเมืองโดยการแบ่งแยกชนชาติและสร้างกระแสชาตินิยมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะสหพันธ์บอสเนียฯ ซึ่งไม่ค่อยปฏิบัติตามข้อตกลง Dayton เท่าใดนัก ซึ่งขัดกับจุดประสงค์หลักของข้อตกลง Dayton ในการการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยและการรวมเชื้อชาติต่างๆ ไว้ภายใต้ประเทศเดียว
    สหประชาชาติ สหภาพยุโรป OSCE องค์การระหว่างประเทศและนานาประเทศยังคงให้ความช่วยเหลือบอสเนียฯ ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลง Dayton รวมทั้งยังคงกองกำลังรักษาสันติภาพของนาโต (Stabilizstion Force - SFOR) ซึ่งลดจำนวนลงเหลือ 19,000 คนนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 2000 และคงกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UNIPTF) อยู่ในบอสเนียฯ ด้วย
    ปัจจุบัน SFOR ของ NATO ได้ส่งมอบภารกิจการรักษาสันติภาพและเสริมสร้างสภาวะที่เป็นมิตรของเชื้อชาติต่างๆ ในบอสเนีย ฯ ให้กับกองกำลัง Eufor ภายใต้การนำของสหภาพยุโรปแล้ว

    การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
    เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 สหภาพยุโรปได้เปิดเจรจาอย่างเป็นทางการกับบอสเนียเกี่ยวกับ stabilization and association agreement (SAA) ซึ่งเป็นก้าวแรกในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

    การพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอลข่าน
    เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice (ICJ) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก ได้เปิดการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนากล่าวหาเซอร์เบียและมอนเตเนโกรว่าเป็นอาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามบอสเนีย ช่วงต้นศตวรรษที่ 1990 ซึ่งนับเป็นคดีแรกที่รัฐเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยหากฝ่ายบอสเนีย ฯ ชนะคดี จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหากจากเซอร์เบีย ฯ หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006
    เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2006 บอสเนียฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเดย์ตันเมื่อปี ค.ศ. 1995 โดยเป็นการเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี สมาชิกสภา และในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ผลการเลือกตั้งคณะประธานาธิบดีสำหรับช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2006-2010 ปรากฏว่า Dr. Haris Silajdzic ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายมุสลิม ผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายเซิร์บเป็นของนาย Nebojsa Radmanovic โดยผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายโครอัทได้แก่ นาย Zeljko Komsic จากพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเชื้อชาติและความเป็นชาตินิยมได้เป็นหัวข้อสำคัญในการรณรงค์หาเสียงในครั้งนี้ แม้ว่าอัตราการว่างงานที่สูงและความยากจนเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศก็ตาม โดยขณะนี้พรรคการเมืองหลักๆ ในบอสเนียฯ กำลังเจรจาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ค.ศ. 2006

    เศรษฐกิจการค้า
    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
    ในบรรดาประเทศอดีตยูโกสลาเวียทั้งหมด บอสเนียฯ เป็นประเทศยากจนเป็นอันดับสองรองจากมาซิโดเนีย ในอดีตบอสเนียฯ เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมทางทหารของยูโกสลาเวีย ปัจจุบันบอสเนียฯ ต้องนำเข้าอาหาร โดยเฉพาะเขตมุลลิมโครอัตยังต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์การระหว่างประเทศเป็นหลัก
    ภาคการเกษตรส่วนใหญ่แม้จะเป็นของเอกชนแล้วแต่ขนาดของกิจการค่อนข้างเล็กและไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเกินความต้องการ

    อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตเหล็ก ถ่านหิน ตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส บอกไซต์ การประกอบรถยนต์ สิ่งทอ ยาสูบ เฟอร์นิเจอร์ไม้ การประกอบรถถังและอากาศยาน เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน (โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ถูกปิดหรือเสียหายจากภัยสงคราม)

    เกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ การผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแร่ธาตุ อาหาร เคมีภัณฑ์
    ตลาดนำเข้าหลัก โครเอเชีย 21.8% เยอรมนี 14.2% สโลวีเนีย 10.4% อิตาลี 10%

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ โลหะ ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุ
    ตลาดส่งออกหลัก โครเอเชีย 26% อิตาลี 19.6% เยอรมนี 10.7% สโลวีเนีย 9.8%

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
    ความสัมพันธ์ทวิภาคี
    ความสัมพันธ์ทางการทูต
    ไทยได้ให้การรับรองบอสเนียฯ เมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ทั้งนี้ ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ มีเขตอาณาครอบคลุมบอสเนียฯ และได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำบอสเนียฯ โดยได้ยื่นพระราชสาส์นต่อประธานคณะประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
    สำหรับฝ่ายบอสเนียฯ ได้แต่งตั้งนาย Mustafa Mujezinovic ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตบอสเนีย ฯ ประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยได้เข้ารับหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2006 และจะมีการเข้าเฝ้า ฯ ถวายสาส์นตราตั้งต่อไป
    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบอสเนียฯ ในขณะนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมนักนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ยังไม่มีการเยือนในระดับสูงจากฝ่ายบอสเนียฯ สำหรับฝ่ายไทยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์เยือนบอสเนียฯ ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน ค.ศ. 2000 โดยในโอกาสนั้น ฝ่ายบอสเนียฯ ได้เสนอขอจัดทำความตกลงกับไทย 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ความตกลงทางการค้า และความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    การค้าระหว่างไทยกับบอสเนียฯ มีมูลค่าไม่มากและยังไม่มีข้อมูลเป็นสถิติ เนื่องจากการจัดเก็บสถิติของบอสเนียฯ ยังไม่เป็นระบบและล้าหลัง แต่มีสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในบอสเนียฯ เป็นจำนวนมาก โดยเกิดจากผู้ค้ารายย่อยเดินทางไปซื้อสินค้าจากประเทศข้างเคียง เช่น ฮังการี โครเอเชีย สโลวีเนีย ออสเตรีย และลักลอบหนีภาษีนำเข้าไปจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหาร ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในบอสเนียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
    การขายสินค้าไทยในบอสเนียฯ โดยตรงในช่วงนี้อาจจะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็เป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าสูง รวมทั้งบอสเนียฯ ได้รับความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศและจากนานาประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูบูรณะประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปตามแผนงานความช่วยเหลือสำหรับภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (Stability Pact for South Eastern Europe) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจบอสเนียฯ ขยายตัวและเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้น


    ท่าทีไทยในปัญหาบอสเนียฯ
    1) ไทยยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายของสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤตการณ์บอสเนียฯ มาโดยตลอด และไทยสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพ Dayton
    2) ไทยประสงค์ที่จะเห็นการสนับสนุนจากนานาชาติในการบูรณะฟื้นฟูบอสเนียฯ โดยในปี ค.ศ. 1995 ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่บอสเนียฯ ผ่านทางองค์การกาชาดสากล (ICRC) เป็นจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้เพิ่มความช่วยเหลือในกรอบการทำงานภาคสนามของ ICRC ในบอสเนียฯ อีก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ไทยได้บริจาคเงินเพื่อเป็นค่าบำรุงการปฏิบัติการของกองกำลัง UNPROFOR อีก 167,436 ดอลลาร์สหรัฐ
    3) ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 นาย ไปปฏิบัติการในกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UNIPTF) ซึ่งอยู่ภายใต้ UN Mission in Bosnia-Herzegovina (UNMIBH) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยมีวาระการปฏิบัติหน้าที่ชุดละ 1 ปี
    4) ไทยให้การสนับสนุนข้อมติทุกเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในบอสเนียฯ ที่เสนอในที่ประชุมของสหประชาชาติ และเห็นว่าควรที่จะยังคงกองกำลังปฏิบัติการที่นำโดยนาโต (SFOR) ในบอสเนียฯ ต่อไป จนกว่าสถานการณ์ภายในบอสเนียฯ จะมีเสถียรภาพและความสงบสุขมากกว่านี้

    พฤศจิกายน 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×