ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มหายุทธ์สะท้านแผ่นดิน

    ลำดับตอนที่ #6 : โนบุนากะ ขุนพลสยบปฐพี

    • อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 52


    โนบุนากะ ขุนพลสยบปฐพี

    ประเทศญี่ปุ่นในช่วง ปี ค.ศ.1500 - 1700 เป็นยุคแห่งความวุ่นวาย อำนาจของโชกุนตระกูลอะชิคางะ ที่เกียวโตเสื่อมถอย บรรดาไดเมียว(เจ้าเมือง)ทั้งหลายต่างตั้งตนเป็นอิสระ และต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง200 ปี เรียกว่ายุคเซนโกกุจิได ในช่วงท้ายที่สุดได้มีขุนศึกผู้หนึ่งที่ก้าวขึ้นมากุมอำนาจ และดำเนินการสยบภาวะสงครามกลางเมือง แม้ว่าเขาจะทำไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างจุดเริ่มต้นของการรวมชาติขุนศึกผู้นั้นคือ โอดะ โนบุนากะ

    โนบุนากะ เกิดในปี ค.ศ.1534 เป็นบุตรของ โอดะ โนบุฮิเดะ เจ้าเมืองโอวาริ ซึ่งเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ต่อมาเมื่อบิดาสิ้นชีวิตลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ.1549 โนบุนากะซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 15 ปี ได้ฉายแววความสามารถ โดยการ กำราบบรรดาญาติของตน ด้วยกำลังทหาร และขึ้นเป็นผู้นำตระกูลโอดะ ในปี ค.ศ.1559 แม้จะได้เป็นเจ้าครองแคว้น แต่โอวาริก็เป็นเพียงแคว้นเล็กๆที่ไม่สำคัญอะไร จนกระทั่งเมื่อ อิมากาว่า โยชิโมโตะ ไดเมียวแห่ง มิคาว่าซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ นำกองทัพจำนวน 25000 นาย เข้าโจมตีโอวาริเพื่อเปิดทางสู่การบุกเกียวโต โนบุนากะ ไม่ยอมจำนนต่อกองทัพข้าศึกและตั้งมั่นในปราสาท ทหารของอิมากาว่า ตั้งค่ายกระจายล้อมปราสาทไว้และเตรียมการเข้าตี

    ทว่าในคืนหนึ่งเกิดพายุฝน ทัพของอิมากาว่าหลบพักอยู่ในค่าย โนบุนากะคุมทหารม้า500 นาย บุกเข้าโจมตี ค่ายหลวงของอิมากาว่า เนื่องจากฝ่ายข้าศึกไม่คิดว่าจะถูกโจมตีจึงประมาทไม่ทันระวังตัว ประกอบกับขาดความชำนาญพื้นที่ จึงถูกตีแตกพ่าย ตัวของอิมากาว่า โยชิโมโตะเองถูกสังหารในค่ายของตน ทหารมิคาว่าเสียขวัญและแตกพ่ายยับเยินกลับไป ส่งผลให้ชื่อเสียงของโนบุนากะโด่งดังทั่วแผ่นดิน

    ไดเมียวหลายเมืองต่างมาขอผูกไมตรีด้วย ซึ่งก็รวมทั้งโตกุกาว่า อิเอยาสึ พันธมิตรและหนึ่งในทายาทของตระกูลอิมากาว่าด้วย ในปี ค.ศ.1560 โนบุนากะได้ดำเนินการผูกมิตรกับไดเมียวตระกูลต่างๆและทำสงครามกับไดเมียวที่ตั้งตนเป็นศัตรู หลังชัยชนะในสงครามที่อินาบะยามะ อำนาจของตระกูลโอดะก็เพิ่มมากขึ้นจนปีค.ศ.1567องค์จักรพรรดิโกะ-โยเซอิมีพระราชสาส์นขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูอำนาจของพระองค์ให้พ้น จากอิทธิพลของตระกูลอะชิคางะ โนบุนากะจึงยกทัพเข้าเมืองหลวง และบีบบังคับให้โชกุน อะชิคางะ โยชิอากิ เป็นหุ่นเชิดของตน จากผลงานครั้งนี้ องค์จักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง ไนไดจิน หรือ อัครมหาเสนาบดี จนในปี ค.ศ.1573 โชกุน โยชิอากิ คิดแข็งข้อ โดยร่วมมือกับขุนศึกทาเคดะ คัตสึโยริ ต่อมา หลังจากที่โนบุนากะทำสงครามชนะกองทัพของคัตสึโยริที่นากาชิโนะแล้ว โชกุนจึงได้ถูกเนรเทศออกไป และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของตระกูลอะชิคางะที่ปกครองญี่ปุ่นมานานกว่า 200 ปีลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโนบุนากะไม่มีเชื้อสายขุนนางดั้งเดิม จึงไม่ได้ประกาศตัวขึ้นเป็นโชกุน แต่ในเวลานี้เขาก็นับว่ามีอำนาจมากที่สุดในแผ่นดิน


    การรบที่นากาชิโนะ

    โนบุนากะเป็นนักการทหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยเขาได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกองทหารราบอะชิการุซึ่งเป็นทหารที่เกณฑ์มาจากชาวบ้านธรรมดา และใช้กองทัพขนาดใหญ่ในการทำสงครามผิดกับไดเมียวอื่นๆที่นิยมสะสมซามูไร ไว้ในกองทัพ ทั้งนี้ซามูไร มีข้อเสียที่หาได้ยาก ใช้เวลาฝึกนานและค่าจ้างแพง แม้ว่าพวกอะชิการุจะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่โนบุนากะก็พิสูจน์ให้เห็นว่า กองทหารอะชิการุจำนวนมากก็สามารถเอาชนะซามูไรได้ ถ้าหากมีแม่ทัพที่ดี นับเป็นการเปิดปฐมบทของการทำสงครามด้วยกองทหารขนาดใหญ่ แต่ทหารชาวนาเหล่านี้มีข้อเสียในด้านขวัญกำลังใจและมักหนีทัพเสมอเพราะกลัวตาย ผิดกับซามูไรที่ยินดีสู้เพื่อตายอย่างมีเกียรติ

    นอกจากนี้ โนบุนากะยังให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างดี โดยโนบุนากะมีความสนใจในสองสิ่งที่พวกนั้นนำมา นั่นคือ ปืนคาบศิลา และ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะปืน นั้น โนบุนากะถึงกับยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้กองทัพของตนเต็มไปด้วยออาวุธปืนที่สั่งตรงมาจากโปรตุเกส ต่อมาในปี ค.ศ.1544 โนบุนากะก็ให้ช่างชาวญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตอาวุธปืนขึ้น ทำให้กองทัพของโนบุนากะมีปืนใช้เป็นจำนวนมาก เช่นในการโจมตีปราสาท มุรากิ โนบุนากะมีพลปืนถึง 1200 นาย ในเวลาต่อมาไดเมียวทั้งหลายต่างก็หันมาใช้อาวุธปืนกัน เนื่องจากฝึกใช้ได้ง่ายกว่าดาบหรือธนู แม้แต่ชาวนาก็สามารถฝึกใช้ปืนได้ในเวลาไม่นาน


              พลปืนอะชิการุ

    แม้ว่าจะกำจัดโชกุนได้แล้วโนบุนากะมีศัตรูมากมายที่ยังต่อต้านเขาอยู่ ศัตรูสำคัญพวกหนึ่งคือพวกพระนักรบ หรือ อิคโค อิกกิ ซึ่งในช่วงสงครามกลางเมือง พระนักรบเหล่านี้มีอำนาจมาก พวกนี้เป็นนักบวชในพุทธศาสนาที่ชำนาญการใช้อาวุธเหมือนซามูไร พระนักรบเหล่านี้ต่อต้าน อำนาจของโนบุนากะเนื่องจากเห็นว่าโนบุนากะนับถือศาสนาคริสต์ โนบุนากะได้ทำสงครามเพื่อกวาดล้างพระนักรบหลายครั้ง การรบครั้งสำคัญเช่นการทำลายสำนักสงฆ์บนเขาฮิเออันเป็นพุทธสถานเก่าแก่ อายุนับพันปี ถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุม กำลังที่สำคัญของพวกอิคโค อิคกิ ที่นี่มีป้อมปราการวัดพุทธที่เข้มแข็งพร้อมทั้งพระนักรบนับหมื่นคน โนบุนากะใช้ทหาร 30000 นาย ล้อมภูเขาและบุกขึ้นไปจนถึงวัดซากาโมโตะ อันเป็นศูนย์ของพระนักรบ โนบุนากะออกคำสั่งให้ทหารฆ่าทุกคนที่อยู่บนเขาไม่จะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้แต่ทารกก็ตาม รวมทั้งเผาอาคารทุกหลัง ในเวลาไม่นาน ภูเขาฮิเอ ก็ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากนี้โนบุนากะยังโจมตีพุทธสถานอื่นๆที่มีแนวโนม้จะก่อกบฏต่อเขา จนทำให้อำนาจของพวกพระที่เคยมีอิทธิพลอยู่สูงหมดสิ้นไป โนบุนากะได้ให้การสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาของพวกบาทหลวงโปรตุเกสเป็นอย่างดี เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินและอาวุธปืนที่พวกนี้นำมาให้


    พระนักรบ(อิคโค อิกกิ)
                 

    แม้ว่าโนบุนากะจะทำสงครามอย่างโหดเหี้ยมแต่เขาก็ให้ความสำคัญกับ เศรษ ฐกิจของประเทศ เช่นในการโจมตีเมืองซาไกซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ โนบุนากะไม่ได้ทำลายเมืองนี้ แต่กลับให้ความช่วยเหลือบรรดาพ่อค้ารายใหญ่ของเมือง ในการก่อตั้งสมาคมพ่อค้า นอกจากนี้ยังมีการให้สิทธิพิเศษ ด้านภาษีอากรและรวบรวมระบบชั่ง ตวง วัด ให้ได้มาตรฐานทั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่เลวร้ายอย่างที่น่าจะเป็น นอกเหนือจากการเป็นนักรบ โนบุนากะไม่เคยละเลยเรื่องศิลปะ โดยหลังจากได้อำนาจแล้ว โนบุนากะ ได้สร้างปราสาทอาซึชิ ที่ริมทะเลสาปบิวะ ซึ่งเป็นปราสาทที่สวยงามและมีกำแพงหินที่แข็งแรงทนทานต่อปืนใหญ่ นอกจากนี้ยังสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เกียวโตด้วย อย่างไรก็ดี ยุคสมัยของโนบุนากะไม่ยาวนานนัก จุดจบของเขามาถึงอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยมีสาเหตุมาจากในงานเลี้ยงคืนหนึ่ง ด้วยอารมณ์สนุกสนาน โนบุนากะได้ล็อกศรีษะของอะเดจิ มัตสึฮิเดะนายทหารคนสนิทไว้ในวงแขนและใช้ด้ามพัดตีศรีษะ มัตสึฮิเดะอับอายและเคียดแค้นมาก และรอโอกาสล้างแค้น

    จนกระทั่งในปี ค.ศ.1582 โนบุนากะส่งกองทัพส่วนใหญ่ไปทำสงครามที่คิวชู ทำให้กำลังในเกียวโตมีเพียงเล็กน้อย มัตสึฮิเดะเองก็เป็นนายพลคนหนึ่งที่ต้องคุมทัพไปด้วย ได้ยกทัพย้อนกลับมาโดยกะว่านายพลคนอื่นๆไปกันหมดแล้ว จากนั้นจึงเข้าล้อมวัดฮอนโนจิที่ โนบุนากะ พักอยู่ และเข้าโจมตี โนบุนากะถูกธนูยิงบาดเจ็บสาหัส และถอยเข้าไปในห้องจากนั้นได้จุดไฟเผาวัดและกระทำพิธีเซปปุกุหรือคว้านท้องฆ่าตัวตาย โนบุนากะได้เสียชีวิตลงทั้งๆที่ภารกิจรวมประทศยังไม่เสร็จสิ้น หลังจากนั้น มัตสึฮิเดะได้ยกกำลังไปที่ปราสาทนิโจ และสังหาร โอดะ โนบุทาดะ บุตรชายของโนบุนากะเสีย แต่มัตสึฮิเดะก็อยูได้อีกไม่นาน กล่าวคือ ฮิเดโยชิ นายพลของโนบุนากะ ได้นำทัพกลับมาล้างแค้นให้เจ้านาย และสังหารมัตสึฮิเดะได้ในสงครามที่ยามาซากิ จากนั้นก็รวบรวมแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×