ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วงศ์หากิน PSM และสาระดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #5 : [สาระ] ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครู

    • อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 50



    ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครู

    ดนตรีที่ใช้บรรเลงนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์อันเป็นเพลงที่ในวงการศิลปินให้ความเคารพ ผู้ที่บรรเลงได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีฝีมือเป็นอย่างดี เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดอาจจะมีผลถึงตนเองที่เรียกว่า "ผิดครู" ซึ่งเพลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพิธีไหว้ครูเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่จะกำหนดอัญเชิญครูปัธยาย (ครูเทพเจ้าต่างๆ) เป็นอย่างมากมาร่วมในพิธี ซึ่งแต่ละสถานที่อาจมีการกำหนดเรียงตามลำดับไม่เหมือนกัน เช่น

    เพลงเหาะ เชิญพระอิศวร
    เพลงกลม เชิญเทพเจ้า
    เพลงโคมเวียน เชิญเทวดาทั่วไป
    เพลงบาทสกุณี เชิญพระนารายณ์
    เพลงตระพระปรคนธรรพ เชิญพระประคนธรรพ (ครูดนตรี)
    เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์ เชิญองค์พระพิราพ
    เพลงคุกพากย์ เชิญครูยักษ์ใหญ่ทั่วไป
    เพลงดำเนินพราหมณ์ เชิญผู้ทรงศีล
    เพลงช้า - เพลงเร็ว เชิญครูมนุษย์
    เพลงเชิดฉิ่ง เชิญครูนาง
    เพลงกราวนอก เชิญครูวานร
    เพลงกราวใน เชิญครูยักษ์ทั่วไป
    เพลงกราวตะลุง เชิญครูแขก
    เพลงโล้ เชิญครูที่เดินทางมาทางน้ำ
    เพลงเสมอเถร เชิญครูฤาษีขึ้นสู่ที่ประทับ
    เพลงเสมอมาร เชิญครูยักษ์ขึ้นสู่ที่ประทับ
    เพลงเสมอเข้าที่ เชิญครูที่มิได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใดขึ้นสู่ที่ประทับ
    เพลงเสมอผี เชิญวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ ดนตรีสู่ที่ประทับ
    เพลงแผละ เชิญสัตว์ปีกใหญ่ เช่น พญาครุฑ มาในพิธี
    เพลงลงสรง เชิญครูที่มาทุกองค์ลงสรงน้ำ
    เพลงนั่งกิน เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์กินเครื่องสังเวย
    เพลงเซ่นเหล้า เชิญครูที่มาประชุมทุกองค์ดื่มสุรา
    เพลงช้า - เพลงเร็ว เชิญทุกคนที่มาร่วมพิธีรำถวาย
    เพลงกราวรำ เชิญศิษย์ทุกคนรำเพื่อเป็นสิริมงคล และส่งครูกลับ
    เพลงพระเจ้าลอยถาด ส่งครูกลับ
    เพลงมหาชัย บรรเลงส่งท้ายเพื่อความสามัคคี

              บางตำราได้เรียงลำดับเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู ครอบครูดนตรี และนาฏศิลป์ ตลอดจนความหมายของเพลงหน้าพาทย์ที่เชิญเทพเจ้าหรือครูมาร่วมพิธีต่างกันออกไปอีกดังนี้

    เพลงโหมโรง เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เสด็จมาในพิธี
    เพลงสาธุการกลอง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
    เพลงตระเชิญ เชิญพระอิศวร
    เพลงตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เชิญพระนารายณ์
    เพลงสี่บท เชิญพระพรหม
    เพลงเหาะ เชิญเทพที่เหาะเหินเดินอากาศ
    เพลงโคมเวียน เชิญเทพบุตรและนางฟ้ามาเป็นหมวดหมู่
    เพลงช้า - เพลงเร็ว เชิญครูโขน - ละคร ตัวพระ ตัวนาง
    เพลง เชิดฉิ่ง เชิญนางเมขลา
    เพลงแผละ เชิญครูที่อยู่ในอากาศ
    เพลงโล้ เชิญครูที่อยู่ในน้ำ
    เพลงกราวตะลุง เชิญครูโนห์รา
    เพลงคุกพากย์ เชิญพระคเณศ
    เพลงพระปรคนธรรพ เชิญครูตะโพนหรือครูหน้าทับ
    เพลงกลม เชิญพระปัญจสีขร ครูทางดีด สั ตี เป่า
    เพลงเสมอสามลา เชิญพระวิสสุกรรม ครูทางช่างศิลป์
    เพลงกราวนอก เชิญครูนาฏศิลป์ทางฝ่ายขวามือ
    เพลงรุกรัน เชิญครูพระ ลิง มนุษย์
    เพลงเสมอข้ามสมุทร เชิญครูพระ ลิง มาเป็นหมวดหมู่
    เพลงบาทสกุณี เชิญครูพระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด
    เพลงชำนาญ เชิญครูนางโขน
    เพลงกราวใน เชิญครูนาฏศิลป์ทางฝ่ายซ้ายมือ
    เพลงเสมอมาร เชิญทศกัณฐ์ และพระยามารทั้งหมด
    เพลงตระบองกัน เชิญครูฝ่ายยักษ์หรืออสูร
    เพลงรัวสามลา เชิญครูฝ่ายอสูรที่มีอิทธิฤทธิ์
    เพลงเสมอผี เชิญครูที่เป็นวิญญาณทั้งหลาย
    เพลงดำเนินพราหมณ์ เชิญครูฤาษีชีพราหมณ์
    เพลงตระองค์พระพิราพเต็มองค์ เชิญครูพระพิราพ
    เพลงตระสันนิบาต เชิญครูมาร่วมประชุมทุกองค์

              นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ผู้รู้ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้

    เพลงตระพระอิศวร เชิญพระอิศวร
    เพลงตระพระนารายณ์ เชิญพระนารายณ์
    เพลงตระลงสรงพระพรหม เชิญพระพรหม
    เพลงตระพระพิฆเณศ เชิญพระพิฆเณศ
    เพลงกลม เชิญ พระอินทร์
    เพลงตระพระวิษณุกรรม เชิญพระวิษณุกรรม
    เพลงตระพระปัญจสีขร เชิญพระปัญจสีขร
    เพลง ตระพระปรคนธรรพ เชิญ ตระพระปรคนธรรพ
    เพลง ตระนาง เชิญพระอุมา
    เพลงตระฤาษีกไลโกฎ เชิญพระฤาษีกไลโกฎ
    เพลงตระพระฤาษี เชิญพระฤาษีทั่วไป

              เพลงดังกล่าวจะมีลักษณะประจำองค์ของเทพนั้นๆ แต่ปัจจุบันเพลงที่นำมาบรรเลงเชิญเทพแต่ละองค์ในพิธีไหว้ครูอาจแตกต่างกันไป ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากผู้บรรเลงได้รับสืบทอดมาจากครูแต่ละคน หรือไม่ก็เพราะมีผู้บรรเลงได้น้อย อาจด้วยครูรุ่นเก่าๆไม่ได้ต่อไว้ให้ จึงทำให้ลักษณะเพลงที่ออกมาเวลาเชิญครูแตกต่างกันออกไปดังกล่าว และในสมัยก่อนเวลาไหว้ครูก็จะไม่เรียกเพลงมาก ยกเว้นในพิธีหลวงจึงจะเรียกเพลงมาก

              ในการจัดพิธีไหว้ครูโขน - ละคร จะเห็นได้ว่าในพิธีจะมีหัวโขนหรือศีรษะครูที่เป็นเสมือนตัวแทนของครูแต่ละองค์ นำมาตั้งประกอบในพิธีมากมายตามโอกาส และความพร้อมของผู้จัด ในเรื่องของประวัติเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง ลักษณะที่สำคัญ ตลอดทั้งความสำคัญของหัวโขนเทพเจ้าที่พอจะนำมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่

    • หัวโขนพระอิศวร แทนองค์พระอิศวร เป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง

    • หัวโขนพระนารายณ์ แทนองค์พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าผู้บริหาร และรักษาโลก

    • หัวโขนพระพรหม แทนองค์พระพรหม เป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก

    • หัวโขนพระอินทร์ แทนองค์พระอินทร์ เทพเจ้าผู้คอยช่วยเหลือคนดี

    • หัวโขนพระพิฆคเณศ แทนองค์พระพิฆคเณศ เทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญา และศิลปศาสตร์

    • หัวโขนพระวิสสุกรรม แทนองค์พระวิสสุกรรมหรือพระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งการช่าง และการก่อสร้าง

    • หัวโขนพระปรคนธรรพ แทนองค์พระปรคนธรรพ เป็นครูทางปี่พาทย์

    • หัวโขนพระปัญจสีขร แทนองค์พระปัญจสีขร เป็นครูทางด้านดนตรี

    • หัวโขนพระพิราพ แทนองค์พระพิราพ เป็นเทพแห่งการประสบโชค และความตาย ศิลปินโขน - ละครไทย ให้ความเคารพในฐานะเป็นครูในวิชาดุริยางคศาสตร์ และนาฏศิลป์

    • หัวโขนพระฤาษีกไลโกฎ พระภรตฤาษี พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ แทนองค์พระฤาษีกไลโกฎ พระภรตฤาษี พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ เป็นครูทางด้านการฟ้อนรำ ที่ศิลปินมักกล่าวถึงเสมอโดยเฉพาะพระภรตฤาษี

              สำหรับการไหว้ครูในการแสดงบางเรื่อง เป็นความเชื่อของศิลปินที่จะต้องกระทำก่อนการแสดงเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งที่จะเป็นอัปมงคล ถึงแม้ว่าไม่ต้องทำพิธีใหญ่เหมือนกับการจัดพิธีไหว้ครูโขน - ละครทั่วไป แต่ก็ทำเพื่อความปลอดภัย และความมั่นใจให้กับผู้แสดง นอกจากนี้ การแสดงบางเรื่องจะต้องทำพิธีเพิ่มขึ้น โดยจัดเครื่องสังเวยต่างๆเพื่อบูชาครูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก่อนการแสดงละครเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะละครที่แสดงเกี่ยวกับ

    • กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ต่างๆในอดีต เช่น ละครเรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เรื่องสมเด็จพระนเรศวร เรื่องพระเจ้าตากสิน ฯลฯ

    • เรื่องเกี่ยวกับภูตผี เช่น ขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองห้ามทัพ

    • เรื่องเกี่ยวกับตัวละครที่ต้องตายตามท้องเรื่อง เช่น เรื่องพระลอ ที่ตัวแสดงต้องตายในฉากสุดท้าย คือ ตัวพระลอ พระเพื่อน พระแพง นายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย เรื่องเงาะป่า ที่ตัวแสดงเป็นซมพลา ฮเนา และนางลำหับต้องตาย ฯลฯ

    • เรื่องเกี่ยวกับตัวละครต้องแสดงโดยถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการต่างๆ เช่น เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา

              ซึ่งถ้าจะแสดงเป็นเรื่องในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็มักจะต้องมีพิธีไหว้ครูที่พิเศษออกไปกว่าปกติก่อนการฝึกซ้อมหรือการแสดงทุกครั้ง เพราะละครไทยส่วนใหญ่แล้วไม่นิยมแสดงเกี่ยวกับตัวละครต้องตายในเรื่องหรือถูกจองจำหรือเกี่ยวกับภูตผี ด้วยถือว่าเป็นอัปมงคล หากจะต้องแสดงก็จำเป็นต้องทำพิธีดังกล่าวขึ้น
     
    http://www.anurakthai.com/

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×