ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พริก

    ลำดับตอนที่ #4 : บทความพริกสุดท้าย(คิดว่าดีที่สุดนะ)

    • อัปเดตล่าสุด 12 มิ.ย. 51


    พริกเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันและสำคัญในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการใช้ประกอบอาหารประจำวัน ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคบางชนิดทั้งนี้เพราะว่าพริกเป็นพืชที่มีคุณค่าอาหาร มีสี รสชาติที่ไม่อาจใช้ผลผลิตจากพืชอื่นๆ ทดแทนได้ ด้านการผลิตนั้น พริกเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรพืชหนึ่ง จากรายงานของกรมส่งเสริมการเกษตรประจำปี ๒๕๔๐ / ๔๑ พบว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ ๖๑๗,๕๗๑ ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ ๕๑๔,๓๙๘ ตัน ในปี ๒๕๔๐ มีปริมาณการส่งออกพริกสด ๑๐,๐๐๒ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๗๘ ล้านบาท และมีปริมาณการส่งออกพริกแห้ง/ผง ๑,๐๔๘ ตัน มูลค่า สำหรับพริกในแหล่งปลูกต่างๆ สามารถแบ่งตามขนาดเป็น ๒ ประเภท คือ พริกใหญ่และพริกเล็ก โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ดังนี้

         พริกใหญ่ แหล่งปลูกที่สำคัญ คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลำพูน อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย และราชบุรี เป็นต้น

         พริกเล็ก  แหล่งปลูกที่สำคัญ คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร อุบลราชธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

    ตารางแสดงประเภทของพริก แหล่งปลูก และช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด

    ประเภท

    อำเภอ / จังหวัด

    ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด

    พริกแห้ง (เล็ก)

    - อ. ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

    - อ. ชุมแสง จ.นครสวรรค์

    - อ. ศรีมงคล และ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

    - อ. ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

    มี.ค. -  เม.ย.

    - อ. วังสะพุง จ.เลย

    - อ. บางสะพาน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

    - อ. ท่าหลวง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

    ก.ย. -  ธ.ค.

    พริกแห้ง (ใหญ่)

    - อ. พิชัย จ.อุตรดิตถ์

    พ.ย. -  ม.ค.

    - อ.ด่านขุนทด อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา

    ส.ค. -  ธ.ค.

    พริกสด (เล็ก)

    - อ. ปากช่อง จ.นครราชสีมา

    - อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

    - อ. ลำนารายณ์ จ.เพชรบูรณ์

    - อ. เมือง จ.นครปฐม

    - จ.ชุมพร

    - จ.ระยอง

    - จ.จันทบุรี

    ก.ย. -  ธ.ค.

    พริกสด (ใหญ่)

    - อ.เมือง และ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

    ม.ค. -  เม.ย.

    - อ.บางซ้าย และ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

    ก.ย. -  ธ.ค.

    ลักษณะทั่วไปของพริก

    ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

         ลำต้น  พริกเป็นพืชที่มีการเจริญของกิ่ง กล่าวคือกิ่งจะเจริญมากลำต้นเพียง ๑ กิ่ง แล้วแตกเป็น ๒ กิ่ง และเพิ่มเป็น ๔ เป็น ๘ ไปเรื่อยๆ จึงมักจะพบว่า ต้นพริกที่สมบูรณ์จะมีกิ่งแตกขึ้นมาจากต้นที่ระดับดินหลายกิ่ง จนดูคล้ายกับว่ามีหลายต้นอยู่รวมในที่เดียวกัน

         ใบ      เป็นแบบใบเดี่ยว ใบแบบเรียบ มีขนบ้างเล็กน้อย ใบมีรูร่างตั้งแต่รูปไปจนกระทั่งเรียวยาว ขนาดใบที่มีต่างๆ กัน ใบพริกหวานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนใบพริกขี้หนูโดยทั่วไปมีขนาดเล็ก

         ดอก   โดยปกติมักจะพบว่าดอกเกิดเป็นดอกเดี่ยวที่ข้อตรงมุมที่เกิดใบหรือกิ่ง ดอกประกอบด้วยกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นพู ๕ พู มีกลีบดอกสีขาวหรือสีม่วง ๕ กลีบ เกสรตัวผู้ ๕ อัน (เท่าจำนวนกลีบดอก) แตกออกมาจากตรงโคนของกลีบดอก อับเกสรตัวผู้มักมีสีน้ำเงินแยกตัวเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ยาวๆ ส่วนเกสรตัวเมียมีรูปร่างเหมือนกระบองหัวมนรังไข่จะมีอยู่ ๓ พู หรืออาจจะมี ๒ หรือ ๔ พูก็ได้ โดยทั่วไปมักจะออกดอกและติดผลในสภาพที่มีช่วงวันสั้น

         ผล     มีลักษณะเป็นกระเปาะ โดยปกติผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อเป็นผลแก่พันธุ์ที่มีลักษณะขั้วผลอ่อนจะให้ผลที่ห้อยลง ผลมีลักษณะตั้แต่เบนๆ กลมยาว จนถึง อ้วน สั้น ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดผลเล็กไปจนกระทั่งผลขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เมื่อผลแก่สุกอาจเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงหรือเหลืองพร้อมๆ กับการแก่ของเมล็ดในผลควบคู่กันไป ในระหว่างการเจริญเติบโตของผล หากอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงและความชื้นในบรรยากาศต่ำจะ ทำให้ผลผลิตพริกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ (off - type) มีรูปร่างบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก นอกจากนี้การติด เมล็ดก็ยังต่ำกว่าปกติอีกด้วย

         เมล็ด  เมล็ดพริกมีลักษณะกลม - แบน มีสีเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาลมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมล็ดมะเขือเทศ แต่ผิวเมล็ดพริกไม่ค่อยมีขนเหมือนเช่นเม็ดมะเขือเทศ

         ราก    ต้นพริกที่โตเต็มที่ รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้าง ในรัศมีเกินกว่า ๑ เมตร และหยั่งลึกลงไปในดินเกินกว่า ๑.๒๐ เมตร ตรงบริเวณรอบ ๆ ต้น จะพบว่ามีรากฝอยสานกันอยู่อย่างหนาแน่น

    พันธุ์พริก

         การจัดจำแนกพันธุ์พริกในประเทศไทยนิยมจำแนกตามความเผ็ดและตามขนาดผล โดยการแบ่งตามความเผ็ดจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีรสเผ็ดกับไม่มีรสเผ็ด ส่นการแบ่งตามขนาดของผลจะแบ่งเป็น ๒ ประเภท เช่นเดียวกัน คือ พริกขนาดใหญ่หรือพริกใหญ่และพริกเล็กหรือพริกขี้หนู ตามรายละเอียดแสดงพันธุ์พริกต่างๆ ที่ปลูกในประเทศไทย โดยแบ่งตามความเผ็ดและขนาดความยาวผล

    ความเผ็ด

    รสไม่เผ็ด

    รสเผ็ด

    ชนิดพริก

    พริกหวาน

    พริกหวยก

    พริกใหญ่

    พริกขี้หนูเม็ดใหญ่

    พริกขี้หนูเม็ดเล็ก

    ขนาดความยาวผล

    ๑๐ ซม.

    ๑๐ ซม.

    ๕ - ๑๐ ซม.

    ๒ - ๕ ซม.

    ต่ำกว่า ๒ ซม.

    พันธุ์

    - คาร์ลิฟอร์เนียร์วันเดอร์

    - บางบัวทอง

    - มัน

    - เหลือง

    - บางช้าง

    - มันพิชัย

    - สิงคโปร์

    - ดอนยาง

    - สันป่าตอง

    - ชี้ฟ้า

    - ห้วยสีทน

    - หัวเรือ

    - จินดา

    - ยอดสน

    - บ้านใน

    - ไส้ปลาไหล

    - สร้อย

    - นิ้วมือนาง

    - น้อยผลยาว

    - ช่อ มข.

    - เดือยไก่

    - กะเหรี่ยง

    - ตุ้ม

    - ขี้หนูสวน

    - ขี้หนูหอม

    - ขี้นก

    ลักษณะประจำพันธุ์ของพริก

         ลักษณะประจำพันธุ์ของพริกบางพันธุ์นั้นพอแจงรายละเอียดได้ดังนี้

         พริกพันธุ์ห้วยสีทน ๑

         เป็นพันธุ์พริกที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์มาจากพริกจินดาซึ่งเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ ลักษณะทรงต้นเป็นรูปตัว V ต้นที่สมบูรณ์มีการแตกกิ่งที่โคนต้นมาก ( ๓ - ๕ กิ่ง ) ใบสีเขียวถึงเขียวเข้ม ใบเรียบไม่มีคลื่น มีขนบ้างเล็กน้อย ดอกสีขาว เกสรตัวผู้มีสีน้ำเงินม่วง ใบเรียบไม่มีคลื่น มีขนบ้างเล็กน้อย ดอกสีขาว เกสรตัวผู้มีสีน้ำเงินม่วง ดอกมักห้อยลง อายุออกดอก ๖๐ วัน หลังย้ายกล้า ต้นที่โตเต็มที่เมื่ออายุ ๕ เดือน ขึ้นไปจะมีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ทรงพุ่มกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงจัด มี ๑ หรือ ๒ ผลที่ข้อ ผลที่ข้อ ผลชี้ขึ้น ก้านผลยาวผลเป็นรูปกรวยโคนใหญ่เรียวยาวไปหาปลาย ปลายแหลม ขนาดผลปกติยาว ๓ - ๕ เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวผลพริกสดประมาณ ๙๐ - ๑๐๐ วัน หลังย้ายกล้า ผลพริกสด ๑ กิโลกรัม แยกเป็นเนื้อพริก ๐.๒๕ กิโลกรัม เป็นเมล็ด ๐.๑๐ กิโลกรัม เมื่อตากแห้งจะมีสีแดงเป็นมัน เป็นพริกที่มีรสเผ็ดจัดทั้งผลสดและผลแห้ง

         พริกพันธุ์หัวเรือ

         เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี นิยมปลูกกันมากในภาคอีสาน ทรงพุ่มมีขนาดค่อนข้างสูงและมีลักษณะใกล้เคียงกับพริกพันธุ์ห้วยสีทน ๑ แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าผลชี้ขึ้น ขนาดผลยาวประมาณ ๔ - ๖ เซนติเมตร มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๒๐ วันหลังย้ายกล้า ผลสุกจะมีสีแดง มีรสเผ็ด เนื้อมาก เมล็ดน้อยและผลผลิตต่อไร่สูง

         พริกพันธุ์ช่อ มข.

         เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทรงต้นค่อนข้างเตี้ย มีความสูงประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่มประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เริ่มออกดอกหลังย้ายกล้าประมาณ ๕๐ - ๖๐ วัน และสุกแก่ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๙๐ - ๙๕ วัน มีข้อดีคือผลออกเป็นช่อ ปลายผลชี้ขึ้นทำให้เก็บเกี่ยว ง่ายค่อนข้างทนทานต่อไวขาว ขนาดผลยาวประมาณ ๕ - ๖ เซนติเมตร น้ำหนักผลสดประมาณ ๓๕๐ - ๔๐๐ กรัมต่อต้น น้ำหนักผลแห้งประมาณ ๘๐ - ๑๐๐ กรัมต่อต้น อัตราส่วน น้ำหนักแห้งประมาณ ๔ : ๑

         พริกสร้อย

         ผลจะชี้ลงเป็นส่วนใหญ่ มีเนื้อมาก ผลดิบมีสีเขียวแก่ ผลสุก สีแดงเข้ม นิยมทำเป็นพริกแห้ง เนื่องจากมีสีสวย ตากให็แห้งได้เร็ว ส่วนผลสดจะนำไปใช้ทำเป็นพริกเพราะมีความเผ็ดน้อย

         พริกจินดา

         ผลมีขนาดเล็กเรียวยาว ผลชี้ขึ้นเป็นส่วนมาก ผลดิบมีสีเขียวแก่ผลสุกสีแดงเข้ม ใช้ได้ทั้งผลผลิตสดและแห้ง ผลที่ตากแห้งแล้วจะมีสีสวย กรอบ ตำให้แหลกง่าย มีจำนวนเม็ดมาก น้ำหนักมาก ทนทานต่อโรค

         พริกนิ้วมือนาง

         ผลชี้ลงมาเป็นส่วนมาก ผลดิบมีสีขาวหรือสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะมีสีเข้มและเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงในที่สุด แกนมีขนาดเล็ก มีเมล็ดน้อยเมื่อตากให้แห้งแล้วผลจะแบน สีซีด และปริมาตรของ ผลลดลงครึ่งหนึ่งไม่ต้านทานต่อโรคกุ้งแห้งและหนอนเจาะผล

    สภาพการปลูกพริกของประเทศไทย

         ๑. การปลูกในสภาพไร่   เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ของประเทศไทย และมีขนาดพื้นที่ใหย่กว่าการปลูกในสภาพสวน พันธุ์พริกที่ปลูกนิยมใช้พันธุ์ทนแล้ง เนื่องจากแหล่งปลูกในสภาพ ไร่นี้มักจะขาดแคลนแหล่งน้ำเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยและสารเร่งการ เจริญเติบโตในปริมาณที่จำกัด ทำให้ไม่อาจควบคุมปริมาณการผลิต และคุณภาพของผลผลิตให้สม่ำเสมอได้

         ๒. การปลูกในสภาพสวน  เป็นแหล่งที่มีการควบคุม ระยะเวลาปลูกลักษระของผลผลิตและปริมาณการผลิตได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้เพราะว่าพื้นที่ดังกล่าวมักควบคุมระดับน้ำและวิธีการให้น้ำได้อย่างเหมาะสม เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณค่อนข้างสูง มีทักษะในการเขตกรรม ส่วนค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานต่างๆ มักสูงกว่าในสภาพไร่

    การเตรียมดิน

         การเตรียมดินเพื่อการปลูกพริกนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไป ตามสภาพของดิน วิธีการให้น้ำดังนี้ คือ

         ๑. การเตรียมดินในสภาพดินเหนียวเขตภาคกลาง  พื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงจึงควรทำแปลงขนาดกว้างประมาณ ๔ - ๖ เมตร ความยาวไม่จำกัดขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และมีร่องน้ำกว่างประมาณ ๑ เมตร ลึกประมาณ ๐.๕๐ - ๑ เมตร ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เรือบรรทุก เครื่องสูบน้ำเข้าไปให้น้ำได้

         ๒. การเตรียมดินในเขตชลประทาน  ให้คูส่งน้ำอยู่ทาง ด้านหัวแปลงและคูระบายน้ำอยู่ทางท้ายแปลง แล้วปรับระดับน้ำระหว่างแปลงให้มีความลาดเทพอสมควรเพื่อความสะดวกในการให้น้ำ ส่วนขนาดของแปลงนั้นให้มีความกว้างของแปลง ๐.๘๐ เมตร ร่องน้ำ ๐.๒๕ เมตร และความยาวของแปลงประมาณ ๒๐ เมตร

         ๓. การเตรียมดินในสภาพอาศัยน้ำฝน  ต้องเลือกพื้นที่ระบายน้ำได้ดี กำหนดแถวปลูกให้แถวคู่ห่างกัน ๑.๒๐ เมตร ระยะระหว่างแถวห่างกัน ๐.๕๐ เมตร และระยะระหว่างต้น ๐.๕๐ เมตร x ๐.๕๐ เมตร

    การกำหนดระยะปลูก แบ่งตามทรงพุ่มได้ ๒ แบบ ดังนี้

         ๑. พริกพุ่มกว้าง  เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ใช้ระยะระหว่างต้น ๕๐ เซนติเมตร ระหว่างแถว ๑๐๐ เซนติเมตร

         ๒. พริกพุ่มเล็ก  ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น ๕๐ เซนติเมตร ระหว่างแถว ๖๐ เซนติเมตร

    การปรับโครงสร้างของดิน

         จะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วใส่ลงในดินในอัตราไร่ละ ,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ กิโลกรัม และใช้ปุ๋ยรองพื้นสูตร ๑๕ - ๑๕ - ๑๕ อัตราไร่ละ ๕๐ กิโลกรัม ในกรณีที่ดินสภาพเป็นกรดจัด ควรมีการปรับสภาพทางเคมีของดินให้เหมาะสม โดยการวิเคราะห์ความต้องการปูนของดินแล้วใส่ปูนขาวตามอัตราที่วิเคราะห์ได้

    การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูก

         การเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้า  เป็นการกระตุ้นการงอกให้เร็วขึ้นและ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยนำเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำทิ้งไว้ ๑ คืน หรือนำไปแช่สารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราผิวเมล็ดพริกเช่น โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์หรือเบนเลท ความเข้มข้นประมาณ ๕ - ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลาประมาณ ๑๕ - ๒๐ นาที จากนั้นไปล้างผ่านน้ำไหลอย่างน้อย ๓๐ นาที แล้วนำไปคลุมในที่ร่มอีก ๒ - ๓ วัน เมื่อเกิดตุ่มรากสีขาวเล็ก ๆ จึงนำไปเพาะในแปลงหรือกระบะเพาะ ให้โรยเป็นแถวห่างกันประมาณ ๓ นิ้ว กลบด้วยดินหนาประมาณ ๑ เซนติเมตร แล้วใช้ฟางคลุมเพื่อรักษาความชื้นและ รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้ง เมื่อกล้าเริ่มงอกค่อย ๆ ดึงฟางแแกทีละน้อย อย่าให้กระทบกระเทือนต้นกล้า

         การย้ายปลูก  จะทำเมื่อต้นกล้าอายุประมาณ ๓๐ วัน หรือมีใบจริงประมาณ ๕ ใบ ก่อนย้ายปลูก ๒ - ๓ วัน ควรงดการให้น้ำเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง และทำการย้ายในช่วงเวลาเย็น หลังจากย้ายแล้วต้องให้น้ำทันทีถ้าปลูก โดยอาศัยน้ำฝนต้องรดน้ำจนกว่าพริกจะตั้งตัวได้ หากมีต้นพริกตายต้องรีบปลูกซ่อมทันทีเพื่อให้การเจริญเติบโตเท่ากัน

    การดูแลรักษา

         การให้น้ำ  พริกเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก ดังนั้น ก่อนให้น้ำควรตรวจดินบริเวณโคนต้นเพื่อสังเกตความชื้น ทั้งในดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ถ้ามีความชื้นสูงเกินไปให้แก้ไข โดยการพรวนดินซึ่งจะช่วยให้น้ำระเหยออกจากดินได้ ส่วนกรณีที่ดินแห้งเกินไปและไม่อาจให้น้ำได้ก้ควรใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว ต้นถั่ว ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็น การป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นอีกด้วย

         การกำจัดวัชพืช  เนื่องจากพริกมีระบบรากที่แผ่กว้างอยู่ในระดับผิวดิน การกำจัดวัชพืชอาจจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากได้ ทำให้การเจริญ เติบโตของต้นพริกชะงัก ดังนั้น จึงควรดายหญ้าตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการเจริญเติบโต หรือขณะที่วัชพืชยังเป็นต้นอ่อน

         การใส่ปุ๋ย  จะใส่ปู๋ยคอกในระยะเตรียมดินและใสปุ๋ยสูตร ๑๕ - ๑๕ - ๑๕ หลังจากปลูกแล้วประมาณ ๑๐ - ๑๕ วัน โดยใส่ครั้งละ ๑ ช้อนแกง โรยให้ห่างจากโคนต้นประมาณ ๑ ฟุต แล้วใช้ดินกลบเพื่อป้องกันการสูญเสียของปุ๋ย สำหรับระยะการใส่น้ำไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่เพื่อให้การ ใส่ปุ๋ยเกิดประโยชน์แก่พืชมากที่สุดจึงควรแบ่งใส่หลาย ๆ ครั้ง

         การเก็บเกี่ยว  พริกจะออกดอกหลังจากย้ายปลูกแล้วประมาณ ๖๐ - ๗๐ วัน และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลสุกได้เมื่อพริกมีอายุประมาณ ๙๐ - ๑๐๐ วัน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก ๆ ๕ - ๗ วัน หรือเดือนละ ๔ - ๖ รุ่น ถ้ามีการบำรุงรักษาดีและให้น้ำอย่างเพียงพอพริกอาจจะมีอายุถึง ๑ ปี

    การเก็บพริกไว้สำหรับทำเมล็ดพันธุ์

    ๑. เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง

    ๒. เลือกต้นที่ให้ดอก ขนาดผลใหญ่สมบูรณ์เต็มที่ และควรเก็บผลในรุ่นที่ ๒ - ๕

    ๓. เลือกต้นที่ทนทานต่อโรคและแมลง

    ๔. เลือกต้นที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้ดี

    ๕. ผลพริกที่เลือกเก็บนั้นควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกแดงปราศจาก โรคแมลงทำลายและรูปร่างต้องไม่ผิดปกติ

    การทำพริกแห้ง

         การเลือกพันธุ์  พันธุ์พริกจะมีผลต่อคุณภาพของพริกแห้ง อย่างมากเพราะพริกแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีลักษณะของผล รูปร่าง สี ความหนา ความเผ็ด จำนวนเมล็ดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือก ใช้พันธุ์ควรเลือกโดยอาศัยข้อมูลความต้องการด้านคุณภาพของตลาดเป็นหลัก

         การคัดคุณภาพ   ควรเก็บพริกที่สุกแดงหากหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากเก็บแล้วต้องบ่มให้สุกแดง สม่ำเสมอแล้วจึงนำไปทำเป็นพริกแห้งต่อไประหว่างการเก็บรวบรวมผลผลิต ควรคัดเลือกผลที่มีโรคออกเพราะหากทิ้งไว้จะทำให้ลุกลามติดต่อจาก ผลหนึ่งไปอีกผลหนึ่งได้

         การล้าง  ควรล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อทำความสะอาดขจัดฝุ่นผงเศษดินออก น้ำที่ล้างนั้นควรเป็นน้ำฝน น้ำประปา หรือน้ำบาดาล

         การฆ่าเชื้อ  แช่พริกในสารละลายโซเดียมไฮโดรคลอไรด์ ๕๐ - ๑๐๐ ส่วนในน้ำหนึ่งล้านส่วน เป็นเวลา ๓๐ นาที (โซเดียมไฮโดรคลอไรด์ คือน้ำยาคลอรีนที่ใช้เติมในบ่อน้ำ สระน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์)

         การลวก   การลวกพริกมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดกิจกรรมชีวเคมีของเม็ดพริก ป้องกันไม่ให้สีของพริกเปลี่ยนแปลง ป้องกันกลิ่นหืนและเหม็นอับในพริกแห้ง ซึ่งมีวิธีการคือ ลวกต้นพริกในน้ำเดือด ๑๐ นาที ต่อพริก ๑ กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักพริกเพิ่มขึ้นทุก ๑ กิโลกรัม ให้เพิ่มเวลาต้มอีก ๑ - ๒ นาที เป็นต้น

         การทำพริกแห้ง   อาจจะใช้ลานซีเมนต์หรือตู้อบพลังแสงอาทิตย์จากการ ทดลองพบว่าการใช้ตู้อบพลังแสงอาทิตย์นั้นทำให้ได้พริกแห้งที่แห้งสนิท ปราศจากฝุ่นละอองและใช้เวลาในการทำพริกแห้งน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

         การเก็บรักษา  พริกที่นำมาเก็บรักษานั้นจะต้องเป็นพริกที่แห้งสนิท และมีความชื้นต่ำกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์

    ศัตรูพริกที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

    โรคพริก

         ๑. โรคกุ้งแห้ง  เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp.

         ลักษณะอาการ

         ระยะแรกผลพริกจะเป็นจุดสีน้ำตาลช้ำและเนื้อเยื่อบุ๋มไปจากเดิมลึกน้อย แล้วจุดนั้นจะค่อยๆ ขยายวงกว้างเป็นแผลวงกลมหรือวงรี โดยมีขนาดแผลไม่จำกัด ทำให้ผลผลิตเน่าและระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ระบาดมากในระยะที่ผลพริกกำลังเจริญเติบโต ในสภาพที่มีอากาศชื้นหรือมีฝนตกชุกเชื้อราจะแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผลพริกเน่าติดต่อกันมากกว่าในสภาพที่อากาศแห้งมีฝนตกน้อยกว่า

         การป้องกันกำจัด

    ๑. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากผลพริกที่ไม่เป็นโรคไปปลูก

    ๒. คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยไดเท็นเอ็ม ๔๕ ชนิดสีแดง เพื่อทำลายเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์

    ๓. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เดอโรซาน เบนเลท ๗๕ ซี หรืออ๊อกเทบ พ่นทุก ๆ ๗ - ๑๕ วันต่อครั้ง

    ๔. ใช้พันธุ์ต้นทานโรค

    ๒. โรคเหี่ยว

         ๒.๑ โรคเหี่ยวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solana cearum

         ลักษณะอาการ

         ต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้นในวันที่อากาศร้อน จัดและอาจจะฟื้นตัวขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้อยู่ ๒ - ๓ วัน แล้วจะเหี่ยวตายไปในที่สุด การเหี่ยวของต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะไม่แสดงอาการใบเหลืองของใบที่อยู่ตอนล่างๆ ถ้าถอนต้นที่มีอาการดูจะเห็นว่ารากเน่า และเมื่อเฉือนผิวของลำต้นตรง ใกล้ระดับคอดินจะพบว่าเนื้อเนื่อที่เป็นท่อลำเลียงอาหารช้ำเปลี่ยนเป็นสีอ่อน ซึ่งแตกต่างจากสีเนื้อเยื่อปกติของพริก

         การป้องกันกำจัด

    ๑. เผาทำลายต้นพริกทีมีอาการเหี่ยวเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย

    ๒. ปลูกพืชหมุนเวียน โดยการปลูกพืชตระกูลอื่นที่ต้านโรคนี้ ๒ ปี

    ๓. ป้องกันมิให้ต้นพริกมีบาดแผลบริเวณโคนต้นและราก โดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดหนอนเจาะรากและโคนต้นหรือกัดกินโคนต้น

    ๒.๒ โรคเหี่ยวเกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum

         ลักษณะอาการ

         โรคนี้จะเริ่มมีอาการใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบนใบพริกที่อยู่ตอนล่างๆ แล้วต่อมาใบที่มีอยู่ถัดขึ้นมาค่อยๆ เหลืองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ บางต้นอาจเห็นใบพริกมีสีเลืองเริ่มเป็นบางแขนงก่อน ทั้งนี้เพราะเชื้อราเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นท่อทางเดินอาหารและน้ำในบริเวณนั้น ต้นพริกมักจะแสดงอาการของโรคนี้ในระยะที่กำลังผลิดออกผล ฉะนั้นดอกและผลอ่อนอาจจะร่วงหล่นไปพร้อมกับใบ ทำให้พุ่มพริกโปร่งบางตา ต่อมาอีก ๑ - ๒ สัปดาห์ ต้นพริกจะยืนต้นตายในที่สุด

         การป้องกันกำจัด

    ๑. ปรับปรุงดินให้มีความเป็นกรดด่างอยุ่ระหว่าง ๖ - ๖.๘ โดยการใส่ปูนขาวในอัตราส่วน ๑๐๐ - ๒๐๐ กิโลกรัม / ไร่

    ๒. ปลูกพืชหมุนเวียน และพืชตระกูลอื่น ๆ ที่ไม่เป็นโรคนี้

    ๓. ถ้าพบต้นที่เป็นโรคเพียง ๑ - ๒ ต้น ก็ให้ถอนทำลายโดยการเผาไฟ แล้วใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในดิน เช่น เทอราคลอ เทอราโซล หรือเทอราคลอซุปเปอร์เอ็กซ์ผสมน้ำราดลงไปในดิน

    ๒.๓ โรครากและโคนเน่า Sclerotium rolfsii

         ลักษณะอาการ

         ต้นพริกที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการใบเหลืองแล้วร่วง และต่อมาต้นพริกจะเหี่ยวยืนต้นตายในขณะที่กำลังมีการเจริญเติบโตเต็มที่ หรืออยู่ในระหว่างการผลิดอกออกผล โคนต้นและรากพริกเน่าเนื้อเยื่อเป็นสีน้ำตาล ที่โคนต้นมีลักษณะเป็น เส้นสีขาวแทรกอยู่ระหว่างก้อนดิน นอกจากนี้ยังพบเม็ดกลมเล็ก ๆ คล้ายเมล็ดผักกาด อยู่ชิดติดกับรากหรือโคนต้น

         การป้องกันกำจัด

    ๑. ถอนทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการนำไปเผาไฟ

    ๒. ปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินให้อยู่ในช่วงประมาณ ๖.๐ - ๖.๘ โดยใช้ปูนขาว

         ๓.โรคยอดและกิ่งแห้ง

         ลักษณะอาการ

         ส่วนยอด เช่น ใบอ่อน ดอก และลูกอ่อน จะเน่าเป็นสีน้ำตาลไหม้ ถ้าอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นเส้นใยราสีขาวหยาบ ๆ ขึ้นเป็นกระจุกบนเนื้อเยื่อสีน้ำตาล เส้นใยเหล่านี้เจริญตั้งตรงขึ้นมาจากใบมีลักษณะเป็นเส้นสั้น ๆ ที่ปลายเส้นใยโปร่งออกไปเป็นก้อนสีดำเล็ก ๆ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอากาศแห้ง เส้นใยเหล่านั้นจะแห้งหลุดหายไปยอดพริกจะแตกยอดไม่ได้

         การป้องกันกำจัด

         ในระยะที่มีฝนตกชุกควรจะฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราได้แก่ ซาพรอล และพรอนโต้ ฉีดพ่นเป็นประจำทุก ๕ - ๗ วัน

    แมลงศัตรูพริก

         แมลงศัตรูพริกนั้นมีลหายชนิดแต่ที่พบว่ามีการระบาดบ่อยมีดังนี้คือ

         ๑.เพลี้ยไฟ

         การทำลาย

         ระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยเพลี้ยไฟจะดูดน้ำเลี้ยงและเข้าทำลายใบอ่อน ยอดอ่อน ตาดอก เมื่อถูกทำลายจะเป็นรอยด้านสีน้ำตาล ชะงักการเจริญเติบโต ใบจะห่อบิดขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ถ้าดูด้านล่างใบจะพบตัวเพลี้ย หากเป็นช่วงอากาศแห้งแล้งฝนไม่ตก พืชขาดน้ำจะทำความเสียหายให้ต้นพริกถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์

         การป้องกันกำจัด

         เพลี้ยไฟมีนิสัยชอบหลบตามใต้ใบ ตา ซอกยอดอ่อน ในดอกการป้องกันกำจัดนั้นใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่น โดยฉีดให้ทั่วถึงทั้งบริเวณซอก ใต้ใบ ซึ่งจะเป็นที่หลบซ่อนของเพลี้ยไฟ สำหรับการพิจารณาใช้สารฆ่าแมลง ในแหล่งปลุกพริกใหม่ควรใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บาซูดิน หรือไดอาชินโนน หากเป็นแหล่งปลุกพริกเก่า ซึ่งเคยใช้สารเคมีที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ให้เลือกใช้ที่อกฤทธิ์แรงต่อเพลี้ยไฟ เช่น เมซูโรล โตกุไธออน พอสซ์โซโลน อย่างใดอย่างหนึ่งพ่นทุก ๕ วัน สักสองครั้งติดต่อกัน เมื่อหายแล้วจึงหยุดหรือฉีดพ่นป้องกันต่อทุก ๆ ๗ - ๑๐ วัน

         ๒. เพลี้ยอ่อน

         การทำลาย

         มีการระบาดทั่วไปโดยเฉพาะแหล่งปลูกพริกที่อยู่ใกล้กับฝ้ายและพืชไร่อื่นๆ ที่เป็นอาศัย เพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยง ยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้ต้นแคระแกร็น โดยเฉพาะในระยะต้นกล้า จะทำให้ใบเป็นคลื่นบิดตรงส่วนยอดซึ่ง แตกต่างจากการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟและไรขาว หากมีการระบาดมากอาจพบราดำตามใบพริก ซึ่งเจริญเติบโตด้วย น้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา นอกจากนี้ เพลี้ยอ่อนยังเป็นพาหะที่ก่อให้เกิดโรคใบด่าง ทำให้ต้นพริกแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต

         การป้องกันกำจัด

         ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น โตกุไธออน ฟอสดริน เป็นต้น ฉีดพ่นทุก ๗ - ๑๐ วัน

         ๓.ไรขาว

         การทำลาย

         เป็นสัตว์จำพวกแมงมุมขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น มีการเข้าทำลายต้นพรอกมากในช่วงที่ฝนตกชุก อากาศชื้น โดยจะดูดน้ำเลี้ยงตามตาดอก ยอดที่แตกใหม่ ทำให้แคระแกร็นไม่เจริญเติบโต ชะงักการ ผลิดดอกออกผล ลักษณะที่เห็นได้เด่นชัด คือ ใบพริกจะมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว ขอบใบจะม้วน ลงด้านล่าง และยอดจะหงิดเป็นฝอย

         การป้องกันกำจัด

         ใช้สารฆ่าไรโดยเฉพาะ เช่น เคลเทนหรือ ไดโดฟอล และสารฆ่าไรอื่นๆ เช่น อไทออน คลอโรเบ็นซิเลท หรือกำมะถันผง สารฆ่าแมลงบางชนิด เช่น บาซูดินหรือไดอาซินโนน เมทาซีสท๊อกก็สามารถใช้ได้ฉีดพ่นทุก ๆ ๕ วัน

    การตลาดพริก

    ประเภทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดพริก

         ๑. เกษตรกร  เกษตรกรที่ปลูกพริกในแหล่งพริก ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีทั้งเกษตรกรที่ปลูกเพื่อขายตลาดทั่วไป และเกษตรกรที่ปลูกโดยมีข้อผูกพันกับพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมในท้องถิ่น โดยเกษตรกรที่ปลูกเพื่อขายตลาดทั่วไปมักมีการปลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทุกๆ ปี และมีผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตกันเป็นประจำ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกโดยมีเงื่อนไขผูกพันกับพ่อค้าคนกลาง จะได้รับความช่วยเหลือจากพ่อค้าคนกลางในแง่ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ใหม่ ตลอดจนได้รับความมั่นใจในด้านการรับซื้อผลผลิตอีกด้วย

         ๒. ผู้รวบรวมในท้องถิ่น  ส่วนใหญ่จะเป็พ่อค้า ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณหรือจังหวัดใกล้เคียงกับแหล่งเพาะปลูกพริก และเป็นตัวแทนของพ่อค้าในตลาดกลางของจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการค้าส่งพืชผัก ได้แก่ ตลาดปากคลองตลาด กรุงเทพฯ ตลาดบางลำภู จังหวัดขอนแก่น ตลาดประปา จังหวัดนครราชสีมา ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ตลาดหัวอิฐ จังหวัดนครศรีธรรมราช และตลาดหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

         ๓. พ่อค้าในตลาดกรุงเทพมหานคร  เป็นผู้ที่ทำ การค้าค้าขายพริกสดและพริกแห้งอยู่ในตลาดกรุงเทพฯ โดยตลาดกลางค้าพริกสดแหล่งใหญ่ คือ ตลาดปากคลองและตลาดสี่มุมเมืองรังสิต

         ๔. ผู้ค้าปลีก  ได้แก่ ผู้ที่รับซื้อพริกจากพ่อค้าส่งแหล่งต่างๆ ผู้นำเข้าตลอดจนผู้รวบรวมในแหล่งเพาะปลูกพริก แล้วนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค ผู้ส่งออก ร้านค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

         ๕. ผู้ส่งออก  ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกพริกสดและพริกแห้ง รวมททั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกพริกอาจเป็นรายเดียวกับพ่อค้าในตลาดกรุงเทพฯ พ่อค้าในตลาดหัวอิฐ จังหวัดนครศรีธรรมราชและผู้รวบรวมในท้องถิ่นที่รวบรวมแล้วส่งออกจากแหล่งผลิตโดยตรง เช่น จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ผู้ส่งออกพริกก็อาจเป็นผู้ส่งออกพืชผักและ ผลไม้ชนิดอื่นด้วยโดยผู้ส่งออกประเภทโรงงานมักจะส่งออกผ่านตัวแทน จำหน่ายและบริเษัทนายหน้าเกี่ยวกับการส่งออก - นำเข้า

         ๖.ผู้นำเข้า  ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้าส่งออกพริกที่นำเข้าพริกแห้งและพริกป่นที่มีคุณภาพดีและราคาต่ำกว่า ในประเทศไทยนอกจากนี้ผู้ค้าพริกบางรายยังมีการนำพริกเข้ามาปรับปรุง คุณภาพให้ดีขึ้นและส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย

         ๗. โรงงานแปรรูปพริก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมน้ำพริดเผา น้ำพริกแกงสำเร็จรูป พริกป่น และโรงงานซอสพริก ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี และนครปฐม โดยโรงงานจะรับซื้อวัตถุดิบ คือ พริกสดและหรือพริกแห้งตามความต้องการของอุตสาหกรรมจากพ่อค้าในตลาดปากคลอง ตลาดทรงวาด ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต และบางรายอาจซื้อจากผู้รวบรวมในท้องถิ่นโดยตรง

    คุณภาพพริก

    คุณภาพของพริกแห้งที่ส่งออกต่างประเทศ

         จากการสอบถามผู้ที่ส่งออกบางรายในกรุงเทพ (๒๕๓๔) สามารถแบ่งลักษณะพริกส่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

         ๑. พริกขี้หนูเล็ก  ส่วนใหญ่แล้วจะส่งออกพริกขี้หนูที่มีความยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร มีการเด็ดก้านออกเรียบร้อยแล้ว สีผิวสีส้ม ไม่มีรอยตำหนิจากโรคแมลง และมีความชื้นต่ำ

         ๒. พริกชี้ฟ้าแห้ง  ลักษณะพริดชนิดนี้ที่ส่งออกส่วนใหญ่มีลักษณะเนื้อผลหนา มีแดงเข้มสม่ำเสมอ จำนวนเมล็ดน้อย รสชาติไม่เผ็ดจัด ไม่มีรอยตำหนิจากโรค แมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกุ้งแห้ง

    คุณภาพพริกแห้งที่ตลาดในประเทศต้องการ

         จากการสำรวจเก็บตัวอย่างพริกแห้งในตลาดค้าส่งพริกไปกรุงเทพฯ พบว่า พริกที่ตลาดต้องการนั้นจะแตกต่างกันไปตามขนาดของพริก โดยพริกขี้หนูเม็ดเล็กจะมีราคาสูงที่สุด สำรหับลักษณะต่างๆ ของพริกที่ตลาดนิยมสามารถจำแนกได้ตาม ตารางต่อไปนี้

    ชนิดพริก

    ชื่อพันธุ์

    ลักษณะของพริกคุณภาพดี

    พริกขี้หนูเม็ดใหญ่

    ห้วยสีทน จินดา

    จินดายอดสน

    จินดาลาดหญ้า ตุ้ม

    .สีแดงเข้ม

    ๒. ก้านมีสีเหลืองทองขณะที่แห้งแล้ว

    ๓. ผิวไม่ย่น

    พริกขี้หนูเม็ดเล็ก

    พื้นเมือง

    พริกกะเหรี่ยง

    ๑. ขนาดสม่ำเสมอ

    ๒. มีกลิ่นหอม

    พริกใหญ่แห้ง

    พริกมันพิชัย

    พริกมันบางช้าง

    พริกตากฟ้า

    ๑. สีแดงเข้ม ผิวไม่ขรุขระ

    ๒. ก้านสีเหลืองทองขณะที่แห้งแล้ว

    ๓. ความชื้นไม่สูง เนื้อหนา เมล็ดน้อย ขนาดยางประมาณ ๑๐ ซม.

    ๔. ความเผ็ดไม่เผ็ดจัด

    คุณภาพของพริกสดที่มีการส่งออกต่างประเทศ

         คุณภาพของพริกสดที่มีการส่งออกต่างประเทศ อาจแบ่งตามตลาดได้ดังนี้

         ๑. ตลาดเอเซีย  ได้แก่ มาเลเซีย และไต้หวัน นิยมพริกสดที่มีลักษณะสีแดงล้วน ขนาดความยาวฝักประมาณ ๔ - ๖ เซนติเมตร มีความสด ฝักไม่งอ ไม่มีตำหนิจากโรคแมลง พันธุ์ที่นิยมใช้ในตลาดส่งออก ดังกล่าวนี้ คือ พันธุ์หัวเรือ (พันธุ์พื้นเมืองของ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี)

         ๒. ตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง  นิยมพริกที่มีลักษณะติดสีเขียวล้วนหรือแดงล้วน ความยาวฝักประมาณ ๓ - ๕ เซนติเมตร มีความสดเนื้อมาก ฝักไม่งอ ไม่มีตำหนิจากโรคแมลง พันธุ์นิยมใช้ในการส่งออก ได้แก่ พันธุ์จินดา

    คุณภาพพริกสดที่ตลาดในประเทศต้องการ

         พริกสดที่ตลาดในประเทศต้องการนั้นไม่มีการระบุชนิด คุณภาพที่ชัดเจน แต่อาจจะสรุปจากความต้องการของผู้ค้าส่งในตลาดขายส่งกรุงเทพฯ ได้ดังนี้

    ชนิดพริก

    ชื่อพันธุ์

    ลักษณะของพันธุ์ดี

    พริกขี้หนู

    - จินดา หัวเรือ

    ๑. ไม่มีแมลงศัตรูพืชทำลาย

    ๒. สด๓. เนื้อหนา

    พริกชี้ฟ้า

    - พันธุ์พื้นเมือง

    ๑. เนื้อหนา ฝักตรง

    ๒. สีเข้ม แดงเข้ม เขียวเข้ม

    ๓. เก็บได้นาน

    พริกหยวก

    - พันธุ์พื้นเมือง บางบัวทอง

    ๑. สีเขียวอ่อน ขนาดสม่ำเสมอ

    ๒. ฝักเนื้อหนา ตรง

    ๓. มีขนาดโต สม่ำเสมอ

    พริกหวาน

    - คาร์ลิฟอร์เนียร์วันเดอร์

    http://www.rakbankerd.com/agriculture/in_agricultural/sub_agricultural_1.html?sub_id=940&head=การปลูกพริก&click_center=1

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×