ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ร่างนางรำ

    ลำดับตอนที่ #3 : บทที่ 3 โศกนาฏกรรมครั้งแรก?

    • อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 58


    บทที่ ๓
    โศกนาฏกรรมครั้งแรก?
     
     
     
    เดือนตกลงไปในบ่อซีเมนต์ได้อย่างไรก็ไม่มีใครรู้
     
    ตาข่ายละเอียดทำด้วยเอ็นไนล่อนอย่างดี ที่มีไว้สำหรับกางกันใบไม้หรือนกหนู กลับคือเครื่องพันธนาการ ทำให้หล่อนไม่เหลือโอกาสดิ้นรน จมน้ำตาย หงายหน้า ตาเบิกโพลง เป็นภาพอันสยดสยองยิ่งนัก
     
    “อิฉันจะรีบไล่ให้มันไปแต่ตะวันยังไม่แจ้ง เห็นห้องเปิดอยู่ก็เดินหา คิดว่าจะขึ้นมารำพึงรำพันที่คุณหนูกะคุณผู้ชาย เลยขึ้นมาดู เห็นประตูช่องลมทางท้ายเรือนเปิดอยู่ ไม่รู้อะไรดลใจ ให้ปีนไปชะโงกดูในบ่อน้ำ”
     
    หากเล่าได้รวดเดียว เนื้อความจากปากคำของนางหมายก็จะคล้ายๆ อย่างนี้
     
    “ตะวันยังไม่แจ้ง เอ็งเห็นได้อย่างไร ว่าเดือนมันตกอยู่ในนั้น”
     
    เป็นสัตยาที่ซักฟอก
     
    “ยังไรไม่รู้ซีคะ เห็นแสงมันเรืองๆ ละกระมัง แต่ตอนมองลงไป เห็นชัดเทียวค่ะ”
     
    หญิงชราไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าพอเห็นก็โวยวายให้ทั้งบ้านตื่นขึ้นมาช่วยกู้ศพ
     
    ซ้ำการกู้ยังทุลักทุเล เพราะสัตยาไม่ให้เอาผ่านเข้าเรือน ต้องผูกมัดชักรอกลงด้านหลัง แล้วฟันไม้พุ่มริมรั้ว หามเอาศพไปไว้วัดตั้งแต่เพิ่งสาง
     
    ที่นั่งปรับทุกข์กันอยู่นี้ เพราะอาจต้องให้การกับตำรวจ สัตยาเพิ่งได้ตำแหน่งใหม่ๆ ก็ไม่อยากให้เสียชื่อ
     
    “สวดสักจบแล้วเผาเสียก็ได้ขอรับ”
     
    บ่าวคนหนึ่งออกความคิด
     
    ผู้เป็นเจ้าบ้านยังนิ่ง ใจก็อยากทำอย่างนั้น จะได้แล้วกันไป แต่ก็เกรงใจภรรยา ตั้งแต่รู้ว่าเดือนตายแน่ๆ ศศิประภาก็ยังไม่ฟื้นจากเป็นลม
     
    “เอ็งไปชะลอเรื่องให้เงียบๆ ไว้ หาโลงใส่ แล้วใส่ซองไว้ก่อนจะได้ไหม”
     
    ตัวเขาเองก็ไม่อยากจัดการศพของเดือนอย่างอนาถาเกินไป
     
    หลังจากต่างคนต่างแยกย้าย อีกพักใหญ่กว่าที่ศศิประภาจะฟื้น
     
    ฟื้นแล้วก็พร่ำรำพันต่างๆ นานา
     
    กระทั่งมื้อเที่ยงมาวางรอ จนบ่ายจัด หล่อนยังไม่มีทีท่าว่าหิวโหย
     
    สัตยาที่จำเป็นต้องลางานวันหนึ่งเพื่ออยู่ดูแลภรรยา ก็ไม่ค่อยสบายใจ
     
    “อย่าโศกเศร้าอะไรนักเลยคุณศิ คนตายไปแล้ว ต่อให้ร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด ก็ไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้หรอก”
     
    ตอนกอดหล่อนไว้กับอก ยังรู้สึกได้ว่าตลอดร่างนั้นสั่นน้อยๆ ไม่หยุด
     
    “ไม่ใช่สิ ต้องไม่ใช่อย่างนี้ คุณพี่คะ ศิไม่ได้อยากให้มันเป็นไปเช่นนี้”
     
    ศศิประภายังพูดพร่ำเป็นคำเดิมๆ
     
    “นิ่งเสียเถอะน่า ห่วงสุขภาพเราดีกว่า”
     
    หล่อนไม่ฟังคนปลอบตั้งแต่แรก หันมาผลักเขาออก แล้วก็ฟูมฟายต่อไป
     
    “ศิแค่อยากให้มันพ้นไปจากบ้าน แค่ยอมไป เท่านั้นก็จบ ทำไมต้องคิดสั้นๆ”
     
    เมื่อไม่ฟังอะไรเลย สัตยาก็ทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน
     
    “ศิก็รู้ทั้งรู้ ว่ามันซื่อสัตย์กตัญญูขนาดไหน หรือว่า... หรือว่า...”
     
    “หรือว่าอะไรคุณศิ”
     
    “หรือว่ามันจะแก้แค้น ให้ศิต้องหวาดผวา ช้ำใจไปจนวันตาย”
     
    แล้วก็ถึงกับตีอกชกหัวตัวเอง เมื่อคิดไปได้ขนาดนั้น
     
    “ศิมันเลว ไม่ดีเอง ที่คิดไม่ดีกับมัน”
     
    สัตยาต้องเข้ามายุดมือเอาไว้
     
    “ก็แค่อุบัติเหตุหรอกน่า คุณศิจะมาโทษตัวเองทำไมกัน แค่เราเฉยๆ ไม่ต้องร้อนตัว ประเดี๋ยวเรื่องก็จบด้วยดี”
     
    “แต่... แต่ศิ...”
     
    “ฟังให้ดีนะคุณศิ”
     
    แล้วความคิดอย่างใหม่ ก็ผุดขึ้นในหัวของคนปลอบ
     
    “ถ้าคุณศิยังเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนเสียทีคนตาย คิดดูซี ที่อื่นมีให้ตายถมเถ ไปกระโดดแม่น้ำก็ยังได้ แต่มาตายในบ้านเรา อย่างนี้ต้องหวังให้คุณศิเสียขวัญแน่ๆ หรือคุณศิจะยอมแพ้ แผนต่ำๆ ของคนรับใช้”
     
    นั่นละ ศศิประภาถึงนิ่งลงได้ เพราะวิธีคิดที่แสดง วิธีเรียกขานคนตาย ก็บอกอยู่ชัดๆ ว่า สัตยาไม่ได้มีเยื่อใยอะไรกับเดือนเลยสักนิด
     
    ผ่านไปสามวัน ทั้งร่างและเรื่องราวของเดือนก็เลือนหายไปจากโลกอย่างง่ายดาย ด้วยทั้งอิทธิพลและเส้นสายใหญ่โตของเจ้าของเรือนและผู้หนุนหลัง
     
    แต่ศศิประภายังใจคอไม่ดี ตั้งใจไว้ว่าจะทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้คนตายสักเจ็ดวัน
     
    นางหมายก็คงอยากพลอยบุญ เลยอาสาลุกขึ้นมาหุงหากับข้าวใส่บาตรแต่เช้า
     
    เช้านี้หลังจากกรวดน้ำ ให้นางหมายนำไปจำเริญที่ใต้ต้นไทรใหญ่ ขณะจะกลับขึ้นเรือนไปดูแลสัตยาอย่างที่เคย บ่าวหนุ่มๆ สองคนก็หาบปี๊บเปล่ามาคนละสองใบ เลียบเคียงทำท่าจะเดินสวนไปทางท่าน้ำ
     
    ท่าทางเหมือนจะไปหิ้วน้ำจากแม่น้ำ ศศิประภาจึงต้องเอ่ยปากถาม
     
    “ประปาไม่ไหลอีกแล้วรึ อะไรกัน ก่อตั้งกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ยังไม่เห็นจะเจริญรุดหน้าไปทางไหน”
     
    “ประปาก็อย่างนั้นๆ ละขอรับ คือ... น้ำในบ่อซีเมนต์น่ะซีขอรับ”
     
    “ทำไมล่ะ พี่สัตยาก็ให้ขัดล้างใหม่ ขังน้ำใหม่ไว้เต็มเปี่ยม”
     
    “แต่... แต่ว่า...”
     
    อีกคนไม่กล้าให้ปากคำ
     
    “อย่ามาโยกโย้ มีอะไรก็ว่ามา”
     
    “ผีนังเดือนขอรับ”
     
    “อะไรนะ!”
     
    “ผีนังเดือนยังไม่ไปไหนขอรับ”
     
    “อย่ามาพูดพล่อยๆ”
     
    พอถูกแหว สองคนก็ยิ่งหน้าซีด
     
    “กลางวันแสกๆ นะนี่ กลัวกันจนขี้ขึ้นสมองหมดแล้วกระมัง”
     
    “จริงๆ ขอรับ น้ำในบ่อ เวลาไขออกมาใช้ ยังมีเศษผมเศษเล็บ...”
     
    ท่าทางคนเล่า แสดงอาการขนพองสยองเกล้าจริงจัง
     
    “เหลวไหล!”
     
    พอคนหนึ่งถูกตวาด อีกคนหนึ่งก็จำเป็นต้องยืนยันอีกแรง
     
    “เวลาจะไขน้ำจากก๊อก ยังมีเสียงจากในบ่อ เหมือนมีอะไรดิ้นตูมๆ อยู่ข้างใน เรายืนอยู่ข้างๆ พื้นยังสะเทือน”
     
    “อยู่ข้างแม่น้ำ เรือเครื่องแล่นผ่าน คลื่นซัดตลิ่ง พื้นก็ต้องไหวเป็นธรรมดา จะมางมงายกันทำไม”
     
    แม้ปากจะว่าไปอย่างนั้น แต่นายผู้หญิงของบ้านก็รู้สึกใจสั่นอยู่ไม่น้อย
     
    “ผีสางจะมีที่ไหน เดือนมันก็ไปดี นี่ข้าเพิ่งทำบุญกรวดน้ำไปให้”
     
    “แต่ว่า... ผีตายโหงนะขอรับ”
     
    “ทำไม มันก็แค่อุบัติเหตุ หรือคิดว่าจะมีลับลมคมในอะไร”
     
    คนพูดขัดใจนัก ที่สีหน้าของสองบ่าวยังไม่ดีขึ้น
     
    “มา ไปดูด้วยกัน มันจะอะไรนักหนา!”
     
    ว่าแล้วก็เดิมนำ ที่พอสบายใจขึ้นบ้างจากการได้ตักบาตร ก็มัวหม่นลงไปมากมาย
     
    แค่พ้นมุมเรือน ศศิประภาก็ชะงัก!
     
    บ่อซีเมนต์ใหญ่ สูงท่วมหัว บัดนี้อันตรธาน
     
    ตรงหน้าเหลือแต่ร่างชุ่มโชกซีดเซียว มีตาข่ายพันรัด...
     
    เหมือนตอนแรกที่เห็นศพไม่มีผิด... 
     
    แต่นี่...
     
    ร่างนั่นกลับยืน จ้องมองตรงมา นัยน์ตาแดงก่ำ หน้าตาขึ้งเคียด โกรธแค้น...
     
    “เดือ...น...”
     
    ศศิประภาฝืนใจ หลับตา สะบัดหน้า และสูดหายใจลึก
     
    ‘อุปาทานทั้งนั้นแหละ’
     
    คิดปลอบใจตัวเองได้ดังนั้น ก็ค่อยๆ ลืมตา
     
    บ่อซีเมนต์สำหรับขังน้ำไว้ใช้สอย กลับมาตั้งตระหง่านอยู่ตรงที่เดิม
     
    ต้องลอบระบายลมหายใจ โล่งอก แล้วหันไปเรียกซ้ำ
     
    “มาสิ ไป เปิดน้ำ ดูซิ ตะวันแจ้งๆ อย่างนี้ ผีสางที่ไหนจะมีฤทธิ์มีเดช”
     
    สองหนุ่มยังมีความกลัวมากกว่ากล้า เลยไม่กล้าทำตามสั่ง
     
    “เอามานี่!”
     
    นายหญิงตวาด
     
    “...เลี้ยงเสียข้าวสุกกันทั้งนั้น”
     
    ขณะที่วางปี๊บใต้ก๊อกน้ำ ก็พยายามภาวนาอย่าให้ผีสางมาแผ้วพาน ตีหน้าตึง ให้คนที่ยืนชะเง้อชะแง้เข้าใจว่า ยังไงๆ เจ้านายตนก็ไม่เกรงกลัว กับแค่ผีนางบ่าวในบ้าน
     
    น้ำใสไหลพรั่งพรู จนศศิประภาต้องระบายลมหายใจอีกเฮือก หันไปเอ็ดสองหนุ่มนั่นอีกครั้ง
     
    “ไหน มาดูซิ มีอะไรกัน น้ำก็ใสสะอาดดีนี่ไงเล่า”
     
    สองคนมองหน้ากันอย่างไม่ค่อยแน่ใจ และค่อยก้าวใกล้เข้ามาอย่างไม่แน่ใจนัก
     
    “ถ้ากลัวกันมากก็ลาออกไปซะ!”
     
    ต้องถูกตวาดเป็นคำขาด จึงค่อยกระฉับกระเฉงกันขึ้นมาได้
     
     
    ความหวั่นวิตกว่า ยังมีภูตผีสิงสู่อยู่ในบ้าน แม้ศศิประภาจะไม่แสดงออก แต่ใจนั้นวนเวียนคิดไปสารพัด ไม่สบายใจเลยที่เดือนต้องมาตายอย่างนั้น ทั้งที่เพิ่งย้ายเข้ามาในบ้านประจำตำแหน่งอธิบดีได้คืนเดียว
     
    ยิ่งเวลาที่สัตยาข้ามฟากไปทำงานที่กรมศิลปฯ ทั้งบ้านก็ยิ่งวังเวง จากที่เคยมีคนรับใช้ใกล้ชิด ช่างพูดช่างเจรจา ตอนนี้ก็มีเพียงนังจืด ซึ่งมีแต่ท่าทางซึมทื่อ รอรับคำสั่งได้อย่างเดียว
     
    ครั้นจะกลับไปปรึกษาบิดามารดา สัตยาก็ห้ามไว้หนัก ด้วยว่าไม่อยากให้ถูกดูแคลนมากไปกว่าเดิม เมื่อมีบ้านเรือนเป็นของตัวเอง ก็ไม่อยากถูกกล่าวหาว่า ปกครองบ้านไม่ได้ ปกครองเรือนไม่เป็น
     
    ศศิประภาใช้เวลาระหว่างรอสามีกลับมาจากทำงาน อ่านหนังสืออ่านเล่นให้หมดไปในวันหนึ่งๆ หากเรื่องบ่อซีเมนต์เงียบไป ก็พอจะคลายใจขึ้นบ้าง
     
    หล่อนเลือกอ่านเรื่อง ความไม่พยาบาท นิยายร้อยแก้วเรื่องแรกของคนไทย ที่แต่งโดย ครูเหลี่ยม หรือหลวงวิลาศ ปริวัตร หวังจะได้เข้าใจว่า การจองแค้นชิงชังกันนั้น ไม่ว่าคนเป็นคนตาย ต่างก็จะต้องตกอยู่ในความร้อนของแรงอาฆาต ไม่ได้มีสุขเลยสักฝ่าย
     
    เพราะจิตยังไหวหวั่น พอลมตีมู่ลี่ไม้ไผ่ให้กระพือ คุณตั้วนกตัวโปรดตกใจกระแสลม ก็ตีกรงดังพึ่บพั่บ หัวใจของศศิประภาตกวูบ หันรีหันขวางด้วยความหวาดระแวง แม้กับอากาศเปล่า
     
    กลิ่นเหม็นเน่าชวนสะอิดสะเอียนโชยมาตามลม เหม็นคลุ้งเข้ามาคล้ายใครตั้งใจแกล้ง มวนท้องคลื่นเหืยนจนต้องผวาไปริมหน้าต่าง ลมตีขึ้นจนโอ้กอ้ากจะอาเจียน
     
    ทางลมนั้นบอกชัด จากหลังบ้าน จากทางบ่อซีเมนต์!
     
    นางหมาย ซึ่งหลังจากพอจะปะติดปะต่อ เรื่องต่างหูลูกมรกตคู่ไปปรากฏอยู่ในห้องของเดือนได้ ก็คอยวนๆ เวียนๆ คอยเป็นห่วงดูแลคุณหนูของตนอยู่ไม่ห่าง
     
    พอได้ยินเสียงศศิประภา ก็ก้าวมาถึงตัวหญิงสาวแทบจะทันที
     
    “เป็นอะไรไปคะคุณหนู”
     
    “เหม็น เหม็นอะไรน่ะหมาย เหม็นเหลือเกิน”
     
    คนเพิ่งเข้ามาทำจมูกฟุดฟิด ก่อนตอบ
     
    “ไม่เห็นมีกลิ่นอะไรนี่คะ”
     
    “มีสิ กลิ่นยังกะหมาเน่า...”
     
    หน้าตาคนพูดซีดเผือด
     
    “ไปดูซิ มันลอยมาติดที่ตีนท่าหรือยังไร”
     
    “หมายเพิ่งขึ้นมาจากท่าน้ำค่ะ คุมเจ้าพวกนั้นโละกอสวะที่ลอยมาติดตลิ่ง”
     
    หญิงชราพยายามปลอบด้วยการประคับประคอง แต่กลับถูกผลักแรงๆ
     
    “ในบ่อ! ที่บ่อล่ะ มีนกหนูตกไปตายมั่งรึเปล่า”
     
    “คุณสัตยาให้หาไม้มาพาดปิดไว้มิดชิดแล้วไงคะ ที่ว่ากลัวใครจะพลัดลงไปอีก”
     
    “นั่นละ ไปเปิดดูซิ”
     
    “คุณหนูคะ ใจเย็นๆ เถิดค่ะ เราอยู่ใกล้วัดใกล้วา ก็เป็นธรรมดา”
     
    “ไม่ ไม่ใช่ ผี...ผีนังเดือนแน่ๆ ที่มันตามมาหลอกหลอน”
     
    “นางเดือนมันไปดีแล้วค่ะ คุณหนูก็ตักบาตรให้มันทุกเช้า เจ็ดแปดวันเข้านี่แล้ว มันไม่มาวนเวียนแล้วละค่ะ”
     
    นางหมายยังพยายามต่อ
     
    “เอ... หรือว่าจะเป็นกลิ่น... อ๋อ... ดอกต้นตีนเป็ดกระมังคะ เพิ่งบานพร้อมกันเมื่อเย็นวาน ต้นทางเรือนครัวน่ะค่ะ”
     
    “จริงเรอะ”
     
    ศศิประภาพอจะจำกลิ่นเหม็นฉมฉุนของมันได้ ใจคอจึงค่อยดีขึ้นบ้าง
     
    “จริงซีคะ คุณหนูใจเย็นๆ มาค่ะ นั่งก่อนนะคะ”
     
    นางหมายประคองหล่อนกลับนั่งลงตามเดิม
     
    “คอยประเดี๋ยวนะคะ หมายจะชงชามะตูมมาให้จิบให้ชื่นใจ”
     
    หลังจากหญิงชราผละไป ศศิประภาก็พยายามทำใจ กลิ่นที่เหม็นจนแทบอาเจียนหายไปหมดแล้ว จึงค่อยๆ เรียกสติกลับมา เลื่อน ความไม่พยาบาท เข้ามาตั้งใจจะอ่านต่อ
     
    แล้วก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนข้อความไม่ต่อเนื่อง พลิกกลับไปอีกหลายหน้า ก็ไม่พบเนื้อหาที่เพิ่งอ่านผ่าน
     
    พอพลิกหน้าปก ก็ตกตะลึง
     
    เหวี่ยงหนังสือทิ้ง หวีดร้องด้วยความตกใจสุดขีด!!!
     
    นางหมายวิ่งกระหืดกระหอบกลับมาถึงตัว
     
    “คุณศิ คุณหนูศิ อะไรคะ เป็นอะไร”
     
    เห็นนายหญิงของตนแล้วตกใจ เพราะหล่อนลงไปหมอบคุดคู้อยู่มุมห้อง
     
    “นั่น... นั่น... ความพยาบาท... ฮือๆ”
     
    ร้องไห้คร่ำครวญ ตัวสั่นเทา ปลายนิ้วสั่นระริกชี้ไปทางหนังสือที่ตกอยู่อีกมุม
     
    “หมาย ดูซิ ผีนังเดือนมันบอก มันบอกว่ามันพยาบาท”
     
    คนฟังยังจับต้นชนปลายไม่ถูก หันรีหันขวางอยู่อีกอึดใจ จึงขยับไปหยิบหนังสือนั่นขึ้นมา
     
    “ไหนคะ ความพยาบาท เล่มนี้ มันความไม่พยาบาทนะคะ”
     
    “ไม่จริง ดูสินั่น นั่นมันหนังสือแปลของแม่วัน ไม่ใช่เล่มที่ฉันกำลังอ่าน”
     
    “คุณหนูใจเย็นๆ ก่อนค่ะ หมายงงไปหมดแล้ว ก็นี่ ความไม่พยาบาท นายสำราญ เป็นคนเขียน นี่ไงคะ”
     
    นางหมายยื่นนิยายที่หยิบติดมือจากพื้น ให้นายหญิง แต่หล่อนยังก้มหน้ามุดหลบ
     
    จนหญิงชราต้องค่อยทรุดตัวลง ลูบหลังไหล่ของหล่อน ไล่ความสั่นเทิ้มที่แสดงว่ากำลังหวาดกลัวอะไรสักอย่างอยู่เต็มที่
     
    พออาการนั้นค่อยทุเลา นางหมายจึงประคองให้ลุก หน้าซีดเหงื่อซิกของศศิประภา ทำให้หญิงชราพลอยใจคอไม่ดี
     
    “หมาย เมื่อกี้ ฉันอ่านหนังสือเรื่องนึง แต่พอกลิ่นนั่นโชยมา นี่... มันกลายเป็นอีกเรื่อง”
     
    หล่อนยังไม่กล้าแตะต้อง นิยายที่นางหมายวางไว้บนโต๊ะ
     
    “ทำไมล่ะคะ คุณหนูบอกอ่านเรื่องความไม่พยาบาท ก็นี่ไงคะ เรื่องความไม่พยาบาท แล้วยังไงคะ”
     
    “ก็ เมื่อกี้มันกลายเป็นเรื่องความพยาบาท กลายเป็นนิยายแปล เนื้อหาข้างในก็กลายเป็นความพยาบาท”
     
    “ไหนกันคะ ข้างในเล่ม ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับหน้าปก นี่ไงคะ”
     
    หญิงชราค่อยเลื่อนปกหนังสือให้ดูอีกครั้ง
     
    ศศิประภาค่อยหรี่ตาดู พอเห็นภาพประกอบหน้าปกแน่ชัด ก็เหมือนจะหมดเรี่ยวหมดแรง
     
    “จริงๆ นะหมาย เมื่อกี้ มันกลับกลายเป็นหนังสืออีกเรื่อง”
     
    “คุณหนูอาจแค่ตาลายค่ะ ชื่อเรื่องต่างกันแค่คำสองคำเท่านั้น หมายว่าคุณหนูตาลายนั่นละคะ เมื่อกี้ก็เพิ่งเหมือนจะอาเจียน คงจะวิงเวียน หมายให้นังจืดมันตั้งน้ำอุ่น คุณหนูลูบเนื้อลูบตัวเสียหน่อย จิตใจจะได้แจ่มใสขึ้น... นะคะ”
     
    แต่หญิงสาวยังจ้องที่หนังสือ
     
    เช็ดหน้าเช็ดตาแล้ว ก็นอนพักสักหน่อย ประเดี๋ยวคุณสัตยากลับมา จะได้หน้าตาสดชื่น
     
    นางหมายปลอบขวัญคุณหนูของตนอีกครู่ จืดก็อุ้มอ่างกระเบื้องใบย่อมเข้ามา
     
    “มาค่ะ หมายจะเช็ดหน้าให้”
     
    ใบหน้าของศศิประภามีแต่น้ำตา เครื่องสำอางที่บรรจงแต่งแต้มไว้สม่ำเสมอ เลอะเลือน เปื้อนเปรอะ
     
    หญิงชราจุ่มผ้านุ่มชุบน้ำ บิดจนหมาดแล้วทำท่าจะเช็ด
     
    พอผืนผ้าเข้าใกล้ ศศิประภาก็ร้องหวีดขึ้นอีก
     
    เพราะกลิ่นคาวเลือดโชยมาจากผืนผ้า ซึ่งบัดนี้หล่อนเห็นว่า มันชุ่มไปด้วยโลหิต สองมือรีบปิดตา ไม่อยากเห็นภาพสยดสยอง อ่างกระเบื้องเคลือบเต็มไปด้วยน้ำเลือดสีแดงฉาน
     
    “ไม่! ไป... เลือด! เลือดทั้งนั้น ไม่ พอ! พอแล้ว! อย่ามาหลอกมาหลอนกันอีกเลย!”
     
    แล้วก็ผลักชามอ่างจนพลัดตกจากโต๊ะ แตกกระจายเต็มพื้น
     
    “คุณศิ คุณหนูศิเจ้าขา ใจเย็นๆ เถิดค่ะ มีอะไรที่ไหน คุณหนูลืมตาดูดีๆ ซิคะ”
     
    “ไม่ๆ เลือด เลือดทั้งนั้นเลย!”
     
    “ไม่มีค่ะ ดูซิคะ แค่น้ำอุ่น เหยาะการบูรจนหอมทีเดียว”
     
    พูดถึงการบูร กลิ่นการบูรก็ฟุ้งขึ้นทันที ทำให้ศศิประภาค่อยๆ ลืมตา
     
    บนพื้นมีเพียงเศษกระเบื้องแตกกระจาย และกรุ่นควันจากคราบน้ำอุ่นที่เริ่มซึมลงไปตามร่องกระดาน
     
    ใจคอยังไม่ดี อกสั่นขวัญหาย ตัวสั่นจนต้องไขว่คว้าร่างของหญิงชราเข้ามากอดไว้เป็นหลักยึด
     
    “ขวัญเอ๋ยขวัญมาเถิดค่ะคุณหนู หรือว่าเราจะทำบุญบ้านกันเสียที”
     
    “ทำลายบ่อซีเมนซ์นั่นดีกว่า นะหมาย ทุบมันทิ้งไปเสียเลย ผีนังเดือนจะได้ไม่มีที่สิงสู่ นะหมายนะ”
     
    ปากคอยังสั่น ขณะศศิประภาคิดการดังนั้น
     
    “ผีสางที่ไหนกันคุณศิ”
     
    สัตยามาถึงพอดีตอนได้ยินประโยคสุดท้าย
     
    “ผีนังเดือนค่ะ มันตามหลอกตามหลอนศิเหลือเกิน”
     
    “คุณศิคิดมากไปเอง เปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง แล้วมาเกิดเรื่องอย่างนี้ เลยคิดมาก”
     
    “ทุบบ่อทิ้งนะคะ”
     
    “ของหลวงจะทำโดยพลการได้ยังไงเล่า”
     
    “ช่างประไรคะ เราก็บอกว่ามันเก่า ทุบแล้วค่อยก่อใหม่ก็ได้”
     
    “พี่ว่านิมนต์พระสวดก็พอแล้วกระมัง”
     
    “เมื่อวานซืนก็มาแล้วไงคะ นี่มันยังหลอกยังหลอน”
     
    เพราะยังเหนื่อยกับการงานที่เพิ่งได้รับตำแหน่งใหญ่โต สัตยาเลยขี้เกียจจะถกเถียง
     
    “อย่างนั้นก็ตามใจคุณศิเถอะ อะไรทำแล้วสบายใจก็ทำเถิด พี่น่ะไม่เกรงไม่กลัวอะไรเท่ากับเป็นห่วงว่า คุณศิจะเป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่อย่างนี้...”
     
    เพราะเรียกได้ว่า หน้าที่การงานอันสูงส่งที่ได้มานั้น ด้วยเส้นสายบารมี บรรดาพวกข้าราชการที่เข้าตามตรอกออกตามประตูทั่วไป แม้ไม่กล้าเอ่ยปาก แต่สัตยารู้ดีว่าลับหลังย่อมต้องจับกลุ่มนินทา
     
    เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาจนเกินไป เขาจึงตั้งอกตั้งใจทำงานที่รับผิดชอบ อย่างขยันขันแข็งเป็นพิเศษ
     
    ออกจากบ้านแต่เช้า กว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็นค่ำ จนตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องทิ้งให้ภรรยา คือศศิประภา สะพานสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ต้องผจญอยู่กับความคิดเรื่องผีสาง หวาดผวาไปต่างๆ นานา กับกรรมที่ตนเองก่อเอาไว้
     
    ครั้นจะเอ่ยปากกับภรรยาตรงๆ ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง... ก็มีอันต้องน้ำท่วมปาก
     
    บางอันแม้ไม่มีใครได้รู้ได้เห็น แต่เขายังรู้อยู่แก่ใจ แม้จะเป็นอุบัติเหตุ แต่ตนยังคิดเสมอว่าเป็นความผิดบาปใหญ่หลวง และจนถึงตอนนี้ก็ได้แต่เก็บงำเอาไว้เพราะไม่อาจลืมเลือน
     
    วันนี้เป็นวันหยุดราชการ ตั้งใจจะอยู่เป็นเพื่อนศศิประภาให้เต็มที่ ด้วยว่าตั้งแต่ทุบบ่อซีเมนต์จนราบเรียบ หล่อนก็นอนอ่อนเพลียอยู่บนเตียง เขาเข้าใกล้ยังถอยห่าง คล้ายคนยังถูกตามหลอกหลอนอยู่ไม่วาย
     
    ทว่าคุณหญิงท่านรัฐมนตรี มารดาของหล่อนกลับมาชักชวนกันลงเรือข้ามแม่น้ำ ไปหาน้ำมนตร์ที่วัดอินทรวิหาร ถึงจะแลดูทุลักทุเลพอสมควร แต่สัตยาก็เพิ่งได้มีเวลาพักผ่อนจริงจัง อยู่กับหนังสือและตำราวาดภาพที่ตนเองโปรดปราน
     
    ตกบ่าย หลังรับประทานอาหารกลางวัน เรือยนต์มีประทุนลำหนึ่งแล่นมาเทียบที่ท่าน้ำ ตอนแรกนึกว่า ศศิประภาและแม่หล่อนกลับมาแล้ว ตั้งใจจะลงไปต้อนรับ พอเห็นว่าเป็นญาติผู้พี่ของภรรยาก็แปลกใจ
     
    ผู้เจริญรุดหน้าในตำแหน่งการงานยิ่งกว่าเขา ในหน้าที่ด้านการคลัง ทั้งที่วันๆ เอาแต่ลอยชายไปมา ยิ้มทักแต่ไกล สัตยาเห็นมีกล่องยาวๆ ใบหนึ่งติดมือมาด้วย จึงให้บ่าวของตนรีบวิ่งไปรับ
     
    “ลมอะไรหอบมาถึงนี่เล่าพี่โมทย์”
     
    เจ้าของบ้านกล่าวทัก พร้อมยกมือไหว้ หรือจะมาเรื่องรื้อทำลายของหลวง
     
    “เห็นว่าน้องศิไม่สบาย...”
     
    “อ้อ... มาเยี่ยมคุณศิ คงเสียเที่ยวเสียแล้ว คุณหญิงท่านพาลูกสาวข้ามฟากไปวัดอินทร์ตั้งแต่สายๆ”
     
    “น้องศิไปไหนมาไหนได้แล้วก็สบายใจ ดีเสียอีก เราจะได้คุยกันจุใจ”
     
    คนพูดพูดระคนขัน แสดงความเป็นคนกันเองเต็มที่
     
    ปราโมทย์จัดได้ว่าเป็นหนุ่มเสเพลตามสูตร เพราะเงินถุงเงินถังของตระกูล ที่เป็นทุนให้กับท่านผู้นำได้มากมาย พอได้เสวยอำนาจสูงสุด คนตระกูลนี้จึงได้ปูนบำเหน็จกันถ้วนหน้า กับญาติผู้พี่ของศศิประภาผู้นี้ ยังได้เป็นถึงเจ้ากรมในกระทรวงการคลัง
     
    “พี่มาทั้งเรื่องงานราษฎร์งานรัฐ ไปหาที่เหมาะๆ คุยกันดีกว่า”
     
    ลักษณะการพูดจาของปราโมทย์ ก็แสดงชัดว่า เป็นคนรักในทางสำเริงสำราญ มากกว่าจะฝักใฝ่การงาน อย่างคนหนุ่มผู้รักความเจริญก้าวหน้าทั่วไป
     
    ตอนแรกสัตยาตั้งใจว่า จะชวนกันนั่งรับลมแม่น้ำที่นอกชาน พอผู้มาเยือนเสนอ ที่เหมาะๆ ทำให้ต้องย้ายเข้าไปคุยกันในห้องหนังสือ
     
    “หลวงท่านมีอะไรให้กระผมรับใช้ก็ยินดีเต็มที่ขอรับ”
     
    “เรื่องนั้นไม่กระไรนักหนาหรอก แค่ผู้ใหญ่เขามาถามๆ เห็นว่าจะต่อเติมบ้าน ท่านถามว่าต้องใช้อัฐสักกี่มากน้อย บ้านของหลวง ท่านไม่อยากให้คนอาศัยต้องสิ้นเปลืองลำบาก”
     
    ปราโมทย์ยิ้ม ยกคิ้วให้เป็นเชิงรู้กัน ว่าอำนาจวาสนานั้นไม่เข้าใครออกใคร นาทีนี้พวกบ้านตระกูลตน อยากได้อะไร ทางรัฐบาลล้วนแทบจะทูนหัวทูนเกล้ายกให้
     
    “แค่ว่าจะย้ายบ่อขังน้ำไปไว้ริมที่ด้านหลัง อยู่ชิดเรือน มันบังทางลมW
     
    สัตยาใจชื้น ท่าทางของคนมาเยี่ยม ไม่ได้แสดงว่าจะมาจับผิดพิรุธอะไร
     
    “ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนังเดือนหรอก ใช่ไหมเล่า”
     
    แต่คำถามนี้ กลับทำให้สัตยาใจไม่ดี ต้องฝืนใจตอบ
     
    “ไม่เกี่ยวหรอกขอรับ นั่นมันอุบัติเหตุ”
     
    “ก็ดีแล้วละ เรื่องอาถงอาถรรพ์อะไร อย่าไปงมงายมันเลย”
     
    คำนี้ทำให้คนฟังเอะใจ
     
    “อาถรรพ์... อาถรรพ์อะไรหรือขอรับ”
     
    สัตยารีบถาม เพราะที่จริง ศศิประภาก็ไม่ใช่คนขวัญอ่อนอะไรนัก กับเรื่องของเดือน ก็ไม่น่าทำให้หล่อนมีอันเป็นไปถึงเช่นนี้
     
    “อาถรรพ์บ้านท้องคุ้งนี้ไงล่ะ ไหนๆ ก็พูดถึงแล้วนี่นะ นึกว่าจะรู้แล้วเสียอีก”
     
    “กระผม ตั้งแต่ได้มาอยู่ที่นี้ วันๆ เช้าข้ามฟากไปทำงาน กว่าจะกลับก็ค่ำมืด ยังไม่มีเวลาได้พูดจากับใครในละแวกนี้เลยขอรับ”
     
    “อย่างนั้น ถ้าไม่กลัวอะไร ก็ช่างเถอะนะ”
     
    “พุทโธ่! พี่โมทย์ มีอะไรก็เล่าสู่กันฟังบ้างเถอะ เรื่องแบบนี้เราก็รู้กันอยู่ ถึงไม่เชื่อ ก็ไม่อยากพลาดพลั้งไปลบหลู่... โดยเฉพาะพวกที่เขาอยู่มาก่อน”
     
    “เดิมเรือนนี้เคยเป็นวัง ก็ของพวกลูกเจ้าประเทศราชนั่นละ พอยกหนีกลับบ้านเกิดเมืองนอนกันไป ก็ยึดเข้าหลวง พอเปลี่ยนการปกครองเลยตกเป็นของรัฐบาล”
     
    “เขาแช่งชักหักกระดูกอะไรเอาไว้หรือเปล่าล่ะขอรับ”
     
    “ไม่มีใครรู้หรอกเรื่องนั้นน่ะ ลือกันแต่ว่า เรือนนี้มันตกอาถรรพ์ท้องคุ้ง คนเล่นไสย์ ใครปล่อยคุณปล่อยของ ลมเพลมพัด อะไรๆ ก็จะพุ่งมาสุมรวมกันแต่ที่นี้ เหมือนว่าเภทภัยอะไร ก็จะมาตกคลั่กอยู่ที่นี่ ไม่ว่าภูตผีหนเหนือหนใต้ ขึ้นล่องมากับลมกับน้ำ ก็ได้มาติดพักอยู่ตรงนี้”
     
    คนเล่าเล่าเรื่อยๆ เป็นการสนุกเสียมากกว่าเกรงกลัวจริงจัง
     
    “แต่ก็ดีแล้วที่นังเดือนมารับเคราะห์แทนไปเสีย ต่อไปจะได้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข”
     
    “ก็หวังให้เป็นอย่างนั้นละขอรับ”
     
    “เป็นอันว่า บ่อซีเมนต์ที่ทุบไปนั่น ผู้ใหญ่ท่านให้ก่อขึ้นใหม่ จะใช้งบประมาณเท่าไรก็ให้บอกไป คืออย่างนี้...”
     
    ท้ายคำ ปราโมทย์ขยับเข้ามากระซิบ
     
    “ผู้ใหญ่ท่านว่า บ่อน้ำนั่นสร้างไว้แก้ฮวงจุ้ย แก้เคล็ดแก้ลาง ทุบทิ้งเสียอย่างนี้ จะไม่เป็นคุณแก่เรือน...”
     
     
     
     
     
    *******************
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×