คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : อารยธรรมฝรั่งเศส2(ศิลปะ)
ศิลปะบาโรก
คำว่า บาโรก เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึงสิ่งที่ผิดแผกไปจากแบบแผน บาโรกมาจากภาษาอิตาลีคำว่า บารอกโก (Barocco) หมายถึง หอยมุกที่ขรุขระไม่สมบูรณ์แบบ
ต้นกำเนิดศิลปะบาโรกอยู่ที่ประเทศอิตาลี ช่วงปลายของยุคเรอเนสซองส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วยุโรปจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ผลนั้นมาจากการปฏิรูปศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่มีการแยกนิกายโปรเตสแตนท์ออกมา ส่งผลให้ศาสนจักรต้องเรียกความศรัทธาจากผู้นับถือกลับคืน ด้วยการสร้างงานศิลปกรรมทางศาสนาให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม หรูหราฟุ่มเฟือยกว่าเดิม ลักษณะของศิลปะบาโรกจึงเน้นการตกแต่งวิจิตรอลังการ หรูหราเกินพอดี
ในประเทศฝรั่งเศสต้นศตวรรษที่ 17 งานศิลปกรรมยังคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะเรอเนสซองส์แบบอิตาลี ต่อมาจึงเป็นอิทธิพลของศิลปะบาโรก กลุ่มพระเยซูอิตที่ถูกส่งไปศึกษาศิลปะที่อิตาลีมีบทบาทอย่างมากในการนำศิลปะแบบบาโรกมาสร้างงานศิลปกรรมทางศาสนา และเริ่มแพร่หลายไปยังงานศิลปกรรมทั่วไป ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะบาโรกรุ่งเรืองสูงสุด และได้พัฒนามาเป็นบาโรกแบบฝรั่งเศสเต็มรูปแบบ
งานศิลปกรรมศิลปะบาโรก
1. สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมบาโรกสืบต่อมาจากสถาปัตยกรรมเรอเนสซองส์ แต่มีการเพิ่มรายละเอียดเข้าไปอีกคือ ใช้เส้นโค้งและเส้นคดแสดงความเคลื่อนไหว โครงสร้างสถาปัตยกรรมมีทั้งส่วนที่ยื่นและหดทำให้เกิดมิติและแสงเงา รูปแบบสถาปัตยกรรมบาโรกแบบฝรั่งเศสนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นความหรูหรา ไม่ใช่เพื่อการศาสนาเหมือนอิตาลีอีกต่อไป
พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles)
พระราชวังแวร์ซายส์สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1668 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บนพื้นที่ป่านอกกรุงปารีส ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงโปรดมาล่าสัตว์และมีปราสาทหลังเล็กๆตั้งอยู่ และในปีค.ศ. 1682พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็โปรดให้ย้ายที่ประทับจากพระราชวังลูฟ สู่พระราชวังแวร์ซายส์
เหตุผลที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังแห่งนี้นั่นเพราะ ทรงไม่ไว้พระทัยชาวปารีสหลังจากเหตุการณ์กบฏลาฟรงด์ที่ทำให้พระองค์ต้องหลบหนีออกจากพระราชวังลูฟที่ปารีสและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก อีกทั้งพระองค์ต้องการให้แวร์ซายส์เป็นศูนย์กลางปกครองแทนปารีส เป็นสิ่งแสดงพระราชอำนาจของพระองค์ นอกจากนี้การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงให้บรรดาขุนนางย้ายเข้ามาอยู่ในแวร์ซายส์เพราะพระองค์ประสงค์จะจำกัดอำนาจเหล่าขุนนาง ดังนั้นแวร์ซายส์จึงกลายเป็นเมืองๆหนึ่งบนพื้นที่กว่า 37,000 ไร่ รวบรวมเอาสถานที่สำคัญทางราชการทั้งหมดไว้ในพระราชวังแห่งนี้
พระเจ้าหลุยส์ทรงจ้างสถาปนิกสามคนเพื่อออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ให้ยิ่งใหญ่กว่าปราสาท Vaux-le-Vicomte ซึ่งเป็นปราสาทของรัฐมนตรีคลังนิกอลาร์ ฟูเกต์ (Nicolas Fouquet) หลังจากที่ขุนนางผู้นี้เชิญพระองค์ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองที่ปราสาท พระเจ้าหลุยส์ไม่พอพระทัยที่ปราสาทของฟูเกต์ดูยิ่งใหญ่ บวกกับเหตุฉ้อราชบังหลวงของขุนนางผู้นี้ พระเจ้าหลุยส์จึงทรงตัดสินโทษจำคุกฟูเกต์ การใช้ปราสาท Vaux-le-Vicomte เป็นแบบของพระราชวังแวร์ซายส์แน่นอนว่าสถาปนิกทั้งสามที่พระเจ้าหลุยส์ทรงจ้างเป็นคนๆเดียวกับที่ออกแบบปราสาทของฟูเกต์ ได้แก่ หลุยส์ เลอ โว (Louis le Vau) ชาร์ล เลอ เบริง (Charles le Brun) และ อังเดร เลอ โนทร (André le Nôtre)
หลุยส์ เลอ โว คือ สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ หลังจากเสียชีวิต ฌุลส์-อาร์ดูแอ็ง-มองซาต์ (Jules-Hardouin-Mansart) จึงเข้ามารับช่วงต่อ และกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการก่อสร้างพระราชวังแวร์ซายน์ ภายในพระราชวังมีการตกแต่งอย่างหรูหรา โดยเฉพาะท้องพระโรงหรือห้องกระจก (Galerie des Glaces) ผู้ออกแบบคือ ฌุลส์-อาร์ดูแอ็ง-มองซาต์ ส่วนผู้ที่รับผิดชอบในการตกแต่งคือ ชาร์ล เลอ เบริง เขาได้วาดภาพจิตรกรรมบนเพดานประกอบคำบรรยายจากบทประพันธ์ของบัวโลกับราซีน เพื่อสรรเสริญพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่วนการออกแบบพระราชอุทยานเป็นฝีมือของอังเดร เลอ โนทร โดยจัดสวนเป็นทรงเรขาคณิต มีน้ำพุ สระน้ำ และประติมากรรมประดับ
พระราชวังแวร์ซายส์แสดงถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของงานศิลปะ เป็นที่ผลิตศิลปินฝีมือดี ทว่าความยิ่งใหญ่ของแวร์ซายส์มาจากการขูดรีดภาษีประชาชน ผู้ใช้ชีวิตอย่างลำบากยากแค้น หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ เศรษฐกิจในประเทศยิ่งย่ำแย่ ประชาชนอดอยาก เป็นการปูทางไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789
สถาปนิกที่มีชื่อเสียง
1. หลุยส์ เลอ โว (Louis le Vau) ตระกูลของเขาเป็นตระกูลสถาปนิกชื่อดังของฝรั่งเศส เลอ โว รับจ้างออกแบบปราสาทและคฤหาสน์ให้พวกขุนนาง ต่อมาเข้ารับตำแหน่งสถาปนิกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เลอ โว เป็นคนออกแบบ Collège des Quatres-Nations ควบคุมการก่อสร้างตำหนักบางหลังในพระราชวังลูฟ ผลงานสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิตคือ การออกแบบพระราชวังแวร์ซายส์
2. ฌุลส์-อาร์ดูแอ็ง-มองซาต์ (Jules-Hardouin-Mansart) เขาเป็นสถาปนิกที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของฝีมือ ด้วยอายุเพียง 31 ปี เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสถาปนิกรับผิดชอบการก่อสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ต่อจากเลอ โว นอกจากนี้มองซาต์ยังออกแบบและควบคุมการก่อสร้างสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น Les Invalides ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อใช้เป็นสถานที่บำบัดรักษาและพำนักของทหารผู้บาดเจ็บและทุพลภาพ
2. จิตรกรรม
จิตรกรรมแบบบาโรกพัฒนามาจากแบบเรอเนสซองส์เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรม แต่มีการเน้นความขัดแย้งระหว่างแสงเงาเพื่อดึงดูดความสนใจ เน้นภาพบุคคลเด่นชัดมากกว่าจะให้ดูกลมกลืนกับฉาก
จิตรกรที่มีชื่อเสียง
1. ชาร์ล เลอ เบริง (Charles le Brun) เขาเป็นจิตรกรศิลปะบาโรก เมื่อเขารับราชการเป็นจิตรกรประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้เขาได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะ ผลงานของเขากลายเป็นต้นแบบในสมัยนั้น เลอ เบริงได้รับหน้าที่ตกแต่งพระราชวังแวร์ซายส์ เป็นผู้บริหารและนักออกแบบของโรงงานผลิตพรม และตำแหน่งสำคัญเกี่ยวกับงานทางศิลปะอีกมาก
2. นิกอลาร์ ปูสแซ็ง (Nicolas Poussin) เขาได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวงการจิตรกรรมฝรั่งเศส ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อจิตรกรรมแนวคลาสสิกในฝรั่งเศส การวาดภาพของปูสแซ็งเน้นที่ความสมจริง ต้องแสดงออกถึงเหตุผลและเป็นเอกภาพตามแนวจิตรกรรมกรีกโรมัน ผลงานที่โด่งดังของเขา เช่น Sept Scarements , Kingdom of Flora เป็นต้น
3. โคลด ลอแร็ง (Claude Lorraine) เป็นจิตรกรแนวคลาสสิกเช่นเดียวกับปูสแซ็ง แต่ลอแร็งมีความสามารถโดดเด่นด้านการวาดภาพทิวทัศน์ จนได้รับยกย่องให้เป็นจิตรกรภาพทิวทัศน์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ผลงานชิ้นเอกของเขา เช่น Port de mer au soleil couchant และ Port au soleil levant เป็นต้น
3. ประติมากรรม
ประติมากรรมบาโรกเน้นความวิจิตรอลังการ ท่วงท่าที่พลิ้วไหว เครื่องแต่งกายมีรอยจีบพับมากเกินจริง
ประติมากรที่มีชื่อเสียง
1. ปิแยร์ ปูเกต์ (Pierre Puquet) เขาได้รับยกย่องให้เป็น “อัจฉริยะศิลปินบาโรกของฝรั่งเศส” เขาเดินทางไปศึกษาศิลปะที่อิตาลีและช่วยงานศิลปินอยู่ที่นั้น แล้วจึงกลับมาทำงานในฝรั่งเศส ผลงานชิ้นเยี่ยมของเขา เช่น Milon de Crotone เป็นต้น
.......................................................................................................................................................................................................................
ความคิดเห็น