ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    >>:: คลังข้อมูลเศรษฐศาสตร์ ::<<

    ลำดับตอนที่ #2 : + แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน

    • อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 52





    แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน

     

     


        รูปของอดัม    สมิธ
                www.oknation.net/





    นักปรัชญาของโลกจำนวนมากให้ความสนใจต่อนโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม   และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งทุนนิยมเสรี  เช่น  นายอาดัม  สมิธ (Adam  Smith: ค.ศ. 1723-1790) ก็ยังเคยกล่าวไว้ว่า สังคมใดที่คนส่วนใหญ่ยากจนและมีความทุกข์   สังคมนั้นไม่อาจจะเจริญงอกงามและมีความสุขได้ [1]

     

     

     

     

                        ในการอธิบายประสิทธิภาพของกลไกตลาดในหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (ค.ศ.1776)  

     

    นายอาดัม สมิธ ได้กล่าวถึงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน”  หรือ “self interest”   ของปัจเจกบุคคลที่เมื่ออยู่ภายใต้กลไกตลาดเสรีจะทำงานให้เกิดความมั่งคั่งต่อสังคมโดยรวม  และได้กล่าวเปรียบเทียบกลไกดังกล่าวว่าเป็นมือที่มองไม่เห็น” (invisible hand) ที่ชักจูงให้คนทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ  โดยแต่ละคนมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก

     

     

     

     

                        อย่างไรก็ตาม    การอธิบายดังกล่าวทำให้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า “self interest” ของนายอาดัม สมิธ   เป็นความเห็นแก่ตัวที่ปราศจากบริบทของสังคม   ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงนั้นก่อนที่นายอาดัม สมิธจะเขียนหนังสือ Wealth of Nations (ค.ศ.1776)  เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments (ค.ศ.1759) และ ได้อธิบายว่า ความเห็นอกเห็นใจหรือ “sympathy” เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่ประโยชน์สุขโดยรวมของสังคม

     

                       

     

     

     

     

    แนวคิดทั้งสองด้านของนายอาดัม  สมิธดังกล่าวข้างต้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนเช่น Joseph  Schumpeter เห็นว่า นายอาดัม  สมิธ มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเอง (contradiction)[2]

     

     

     

    แต่เนื่องจากนายอาดัม  สมิธได้ทำการปรับปรุงและ ตีพิมพ์ The Theory of Moral Sentiments อีกหลังจากที่ได้เผยแพร่ Wealth of Nations ไปแล้ว  โดยที่ยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องความเห็นอกเห็นใจเช่นเดิม   

     

     

     

     

    ดังนั้นนักอ่านจำนวนหนึ่งจึงตีความว่า นายอาดัม  สมิธ มิได้มีความขัดแย้งทางความคิด  หากแต่นายอาดัม สมิธ เห็นว่า ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือ self-interest นั้น ควรดำเนินอยู่ภายใต้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆในสังคมด้วย

     

     

     

     

     

     

     

    ในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments นายอาดัม  สมิธ ได้เสนอความเห็นว่าความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของปัจเจกบุคคลนั้นน่าจะมีความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอยู่ในสำนึกของแต่ละคน    

     

     

    เนื่องจากการกระทำที่สังคมเห็นว่าเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบุคคลในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมด้วย   

     

     

     

    ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่านายอาดัม  สมิธ  ผู้ซึ่งเชื่อในมือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาด เชื่อด้วยว่า ความรู้สึกทางด้านศีลธรรม (moral sentiments) และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (self interest) เป็นเรื่องที่ต้องควบคู่กัน และนายอาดัม  สมิธ จึงได้มีความเห็นว่า สังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจกันนั้นไม่น่าจะมีความสุขได้ถ้าคนส่วนใหญ่ยังคนยากจนและมีความทุกข์

     

     

     

     

     

     

     

     

                        นอกจากนายอาดัม  สมิธแล้ว ยังมีนักปรัชญาอีกสองท่านที่ให้กำเนิดแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม หรือ Utilitarianism ได้แก่นาย เจเรมี  เบนแธม (Jeremy  Bentham, ค.ศ.1748-1832) และ นาย จอห์น  สจ๊วต  มิลล์ (John  Stuart  Mill, ค.ศ.1806-1873)

     

     

     

    ภายใต้แนวคิดนี้อรรถประโยชน์ (utility) คือความพอใจที่ปัจเจกบุคคลได้รับจากสถานภาพและ สภาพแวดล้อมของตน เป้าหมายของรัฐบาลควรจะเป็นการแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดโดยรวมให้แก่ทุกคนในสังคม

     

     

     

    และเนื่องจากอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มมีลักษณะลดน้อยถอยลง (diminishing marginal utility)[3] ดังนั้นการกระจายรายได้จากคนรวยมาสู่คนจนน่าจะทำให้อรรถประโยชน์โดยรวมของสังคมเพิ่มขึ้น  

     

     

     

     

     

                         แนวคิดที่เห็นว่านโยบายสาธารณะควรเน้นการช่วยเหลือของรัฐไปสู่คนระดับล่างสุด หรือยากจนที่สุดของสังคม มาจากนักปรัชญาในศตวรรษที่20  ชื่อนายจอห์น  รอลส์  (John  Rawls, ค.ศ.1921-2002) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นายจอห์น  รอลส์  เขียนหนังสือชื่อ ทฤษฎีความเป็นธรรม (A Theroy of Justice, ค.ศ.1972) และเสนอหลักการสำคัญสองข้อของความเป็นธรรม

     

     

    โดยในหลักการแรกเขาเห็นว่า บุคคลแต่ละคนควรมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และในหลักการที่สอง เขาเห็นว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมควรได้รับการแก้ไขโดยมุ่งเน้นไปยังผู้ที่ทุกข์ยากที่สุดหรืออยู่ที่ระดับล่างสุดของสังคมก่อน                    

     

     

             

                        นายรอลส์ เสนอว่า  สถาบันของสังคม กฎหมาย และนโยบายสาธารณะควรมีความเป็นธรรม แต่เนื่องจากว่าสมาชิกของสังคม อาจมีแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมที่ต่างกันเพราะสถานภาพทางสังคมของแต่ละคนต่างกัน   

     

     

     

    นายรอลส์เห็นว่าความเป็นธรรมของสังคม ควรมีลักษณะปลอดจากภาวะอัตตวิสัยของแต่ละบุคคล   ดังนั้นจึงเสนอให้เราจินตนาการว่า ก่อนที่ทุกคนจะเกิดมาได้มาประชุมร่วมกันเพื่อออกแบบกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคม

     

    โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อออกกฎเกณฑ์ไปแล้วจะเกิดมามีสถานะเช่นไรในสังคม[4] ในเมื่อเราต่างก็ไม่รู้ว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะมีสถานะเช่นไรในสังคม (เช่น เป็นคนรวย คนจน ผู้มีอำนาจในการปกครอง   หรือผู้อยู่ใต้อำนาจ ฯลฯ)   จึงไม่น่าจะมีใครสามารถออกแบบกฎเกณฑ์ หรือนโยบายเพื่อประโยชน์เฉพาะตามภาวะอัตตวิสัยของตนได้

     

     

     

     

                         เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่แต่ละคนน่าจะเป็นห่วงก็คือ เมื่อเกิดมาแล้วอาจจะเป็นคนจนในระดับล่างสุด และมีข้อเสียเปรียบที่สุดในสังคม ทุกคนจึงน่าจะตกลงกันได้ในเรื่องนโยบายสาธารณะว่า   รัฐควรให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ยากจนและเสียเปรียบที่สุดในสังคมก่อน เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่ตนเองอาจจะเกิดมาอยู่ในสภาพเช่นนั้น

     

     

     

    แนวคิดดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นยุทธวิธีลดความเสี่ยงให้ตนเอง    ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายสาธารณะด้านการกระจายรายได้โดยมุ่งช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุดและอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบที่สุดในสังคมก่อน      

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     




     

     

     


    [1] “No society can surely be flourishing and happy, of which by far the greater part of the numbers are poor and miserable.” (Adam  Smith, 1776)

    [2] Adam  Smtih ใน website www.en.wikipedia.org/wiki/Adam_Smith (accessed 5/5/2007)

    [3] ตัวอย่างเช่น การรับประทานข้าว จานแรกน่าจะให้ความพอใจมากกว่าจานที่2 และข้าวจานที่2 ก็น่าจะให้ความพอใจมากกว่าข้าวจานที่3 ฯลฯ ดังนั้น ถ้ารัฐนำข้าวจานที่3ของผู้มีอันจะกิน มาให้เป็นข้าวจานที่1ของผู้ไม่มีอะไรจะกิน อรรถประโยชน์ของสังคมโดยรวมก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่แนวคิดนี้ก็มีข้อถกเถียงในประเด็นการเปรียบเทียบอรรประโยชน์ระหว่างบุคคล (inter-personal comparison)

    [4] นายจอห์น  รอลส์ใช้คำว่า “veil of ignorance” หรือการตกลงกันเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคม และนโยบายสาธารณะ ภายใต้ม่านของความไม่รู้ว่าตนจะเกิดมามีลักษณะอย่างไรในสังคม ดู Rawls (1972): 136-142

     

    http://gotoknow.org/blog/econ4life/99530

    จาก ศ. ดร. ปราณี  ทินกร    อดีตคณบดี  คณะเศรษฐศาสตร์  ม. ธรรมศาสตร์  เป็นส่วนหนึ่งของงานของท่านในรายงานวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์  เรื่อง  "การคลังเพื่อสังคม" 

     


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×