คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : Review | Mixsin บาปมหันต์ปนเป
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่านี่คือนิยายเรื่องแรกที่เราได้เขียนบทวิจารณ์แบบจริงจังให้ ถ้ามีอะไรผิดพลาดตรงไหนก็ต้องขอโทษไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ เราเขียนโน้ตสำหรับใช้ในบทวิจารณ์นี้ขึ้นมาไปพร้อมๆ กับที่อ่านนิยายของคุณนักเขียน ก่อนจะนำมาเรียบเรียงอีกที ดังนั้นถ้ามีตรงจุดไหนที่ดูข้ามไปข้ามมา อันนี้เราเสียใจจริงๆ ค่ะที่ทำให้อ่านได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร อีกอย่าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของเรา คำเสนอแนะบางอย่าง เช่นการเรียงรูปประโยคให้ใหม่นั้นอิงสำนวนการเขียนของเราอยู่ เราลองยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น และไม่ใช่ว่าจะเป็นความจริงหนึ่งเดียวหรือจะถูกต้องไปเสียหมด คุณนักเขียนสามารถเลือกเก็บไปพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติชมได้ตามสมควรเลยค่ะ
สำหรับนิยายเรื่อง Mixsin หรือ “บาปมหันต์ปนเป” ก่อนที่จะได้เริ่มอ่านเลย สิ่งแรกที่เราสังเกตเห็นคือการไม่มีรูปปก ทั้งจากหน้ารวมนิยาย และในหน้าหลักของนิยายเอง อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคำวิจารณ์นะคะ แต่บอกไว้เผื่อคุณนักเขียนไม่รู้ อัพรูปภาพไว้แต่หน้าบทความไม่อัพเดต อะไรประมาณนั้น จะได้ไปลองตรวจสอบดู แต่ถ้าตั้งใจให้ไม่มีหน้าปกหรือเป็นที่หน้าจอเราเองอันนี้ก็ต้องขอโทษด้วยค่ะ
สำหรับนิยายเรื่องนี้ เท่าที่เห็นคือโทนเนื้อเรื่องค่อนข้างออกไปทางเบาสมอง ส่วนแนวนิยาย เข้าใจว่าเป็นแบบไลต์โนเวล แต่มีกลิ่นอายของอนิเมะ เหมือนเขียนบรรยายจากภาพเคลื่อนไหวมากกว่าเป็นการเล่าเรื่องโดยตรง มีฉากตลกคั่นอยู่เรื่อยๆ คล้ายอนิเมะหรือมังงะอย่างที่กล่าวไป (ประมาณว่าในเหตุการณ์จริงจัง จะมีตัวละครหนึ่งที่คอยช่วยคลายเครียดสถานการณ์ น่าจะพอนึกภาพออก) เรื่องคำผิดกับคำตกหล่นโดยรวมแล้วมีน้อยมากค่ะ แต่ก็ยังมีหลุดออกมาบ้าง ลองตรวจทานดูอีกที
การใช้คำแทนตัวว่า “ข้า” กับ “เจ้า” ทำให้เราเดาว่านิยายเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยเทียบเท่ากับยุคโบราณของโลกมนุษย์ มีการพยายามเลือกใช้คำที่ฟังดูโบราณอย่างเห็นได้ชัด แต่รูปประโยคยังเป็นสมัยใหม่อยู่ ทำให้ดูเหมือนเล็งกลุ่มนักอ่านอายุน้อย ต่างจากส่วนคำโปรยหรือเรื่องย่อที่ใช้คำแบบประณีต
พูดถึงคำโปรย เกริ่นเรื่องได้สั้น กระชับ สำนวนโดยเฉพาะจากคำโปรยอ่านได้ลื่นไหล โดยรวมเราถือว่าเกริ่นทิ้งไว้ได้น่าสนใจทีเดียวค่ะ แต่ตอนอ่านผ่านตาครั้งแรกจะมีติดอยู่นิดหน่อย ตรงการวางรูปประโยค:
“เมื่อเสน่หามิอาจทำอะไรซูเพอร์เบียผู้เย่อหยิ่งได้ ภารกิจพิชิตหัวใจของลุกซูเรียจึงเริ่มต้นขึ้น”
ซึ่งเรามองว่าสามารถแปลความได้สองแบบ
หนึ่งคือลุกซูเรียเริ่มภารกิจพิชิตหัวใจซูเพอร์เบีย
กับแบบที่สองคือภารกิจที่ว่านี้มีจุดประสงค์เพื่อจะพิชิตหัวใจของลุกซูเรีย หลังจากที่ประธานรูปประโยค (ซึ่งไม่ถูกพูดถึง) พลาดรักมาจากซูเพอร์เบีย
โดยส่วนตัวเราเข้าใจแบบที่สองในตอนแรก แต่พออ่านอีกครั้งก็เข้าใจได้ตามที่คุณนักเขียนต้องการสื่อ อันนี้อาจเป็นการอ่านแบบไม่ถี่ถ้วนของเราเองด้วย แต่เราคิดว่าถ้าจัดรูปประโยคใหม่เป็น
“เมื่อเสน่หามิอาจทำอะไรซูเพอร์เบียผู้เย่อหยิ่งได้ ลุกซูเรียจึงได้เริ่มภารกิจเพื่อพิชิตหัวใจของเขาขึ้นแทน”
น่าจะทำให้อ่านได้เข้าใจง่ายมากขึ้น
ส่วนเรื่องย่อตรงข้อมูลเบื้องต้น ตรงนี้เรามองว่าบรรยายขาดไปเล็กน้อย ตรงประโยค:
“แต่มีหรือที่ผู้เป็นราคะจะยอมง่ายๆ ไม่ใช่เพียงครอบครองร่างกาย แต่ต้องทลายหัวใจเย็นชาของเขาไปด้วย”
รูปประโยคห้วน ได้ใจความแต่ก็ยังเหมือนขาดอะไรไป
เทียบกับ:
“แต่มีหรือที่ผู้เป็นราคะจะยอมง่ายๆ ถ้าเป็นแบบนี้ จะให้แค่ครอบครองร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทลายหัวใจเย็นชาของเขาไปด้วย”
ที่มีการเน้นลักษณะนิสัยและเป้าหมายของลุกซูเรียให้ชัดขึ้น
จากสองจุดนี้ทำให้เราเริ่มแน่ใจว่าปัญหาของคุณนักเขียนไม่ได้อยู่ที่เรื่องสำนวนการเขียน แต่อยู่ที่การใช้คำและเรียงรูปประโยค ซึ่งเราจะขยายเรื่องนี้ให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนถัดไปค่ะ
การไล่อ่านผ่านตาครั้งแรก สิ่งที่โดดเด่นออกมาเลยก็คือการเว้นวรรคผิดที่ ทำให้เสียรูปประโยค และการติดเคาะเว้นวรรคทั้งก่อนและหลังไม้ยมก หลักการใช้คือเว้นแค่ข้างหลังพอค่ะ ไม่ต้องเว้นข้างหน้า* รวมถึงใช้บ่อยไป มีหลายจุดที่สามารถตัดไม้ยมกออกไปได้และยังรักษาความหมายที่ต้องการสื่ออยู่
(หลังจากตรวจเช็คตามความเห็นที่ 14 เราพบว่าหลักการใช้จริงๆ คือการเว้นทั้งหน้าและหลัง คุณนักเขียนใช้ถูกต้องแล้วค่ะ อันนี้ต้องขอโทษด้วยมากๆ ที่ไม่ทำอะไรให้รอบคอบก่อนแล้วอิงตามความเข้าใจของตัวเองแทน)
ทีนี้ เริ่มจากบทที่หนึ่ง อย่างแรกเลยคือมีความแตกต่างค่อนข้างมากระหว่างบทแรกและบทล่าสุด แสดงให้เห็นการพัฒนาและยินดีที่จะพัฒนาของคุณนักเขียน ตรงนี้เราต้องขอชื่นชมค่ะ
กลับเข้าเรื่อง ปัญหาที่เจอในส่วนเนื้อเรื่องคือเหมือนกับเรื่องย่อตรงข้อมูลเบื้องต้นเลยค่ะ รูปประโยคห้วนเกินไป โดยเฉพาะตรงประโยคสุดท้ายในแต่ละย่อหน้าหรือใจความ ทำให้เหมือนมีอะไรขาดตกไป ประมาณว่าประโยคนี้ถูกทำให้จบเร็วกว่าที่ควร
ถัดมาคือเรื่องของคำเชื่อมที่ไม่สอดคล้องกับรูปประโยค พวกการใช้คำอย่างจึง, และ, แล้ว เช่นย่อหน้าที่สองของบทแรก เรามองว่ามันจะลื่นไหลกว่าถ้าเปลี่ยน “จึง” เป็น “ก็” หรือก็คือจาก:
“เหลือเอาไว้แค่เพียงบางส่วนเพื่อคอยรักษาความเป็นมนุษย์ให้คงอยู่ดังเดิม ส่วนบาปที่ถูกขับออกจึงถูกโยกย้ายไปยังมิติอื่นแทน”
เปลี่ยนเป็น:
“เหลือเอาไว้แค่เพียงบางส่วนเพื่อคอยรักษาความเป็นมนุษย์ให้คงอยู่ดังเดิม ส่วนบาปที่ถูกขับออกก็ถูกโยกย้ายไปยังมิติอื่นแทน”
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไม่ได้ส่งผลให้เนื้อเรื่องน่าติดตามน้อยลงหรืออะไรค่ะ แต่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกแปลก (uncanny) ไม่เป็นธรรมชาติ และไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นถึงเรื่องการใช้ศัพท์ ประเด็นย่อยแรกเท่าที่เราเห็นคือไม่เรียกว่าใช้คำผิดเสียทีเดียว แต่เลือกคำที่แสดงภาพได้ไม่ชัดพอ เช่น “ยืนเข่าข้างเดียว”
อะไรคือยืนเข่าข้างเดียว ?
ยืนขาเดียว ?
ยืนเทน้ำหนักไปที่เข่าข้างเดียว ?
หรืออีกปัญหาหนึ่งที่เราเจอคือบรรยายขัดแย้ง (conflicting) กันเอง เช่นย่อหน้าที่สามจากบทแรกซึ่งเป็นข้อความสำคัญที่กำลังอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “มิกซ์ซิน” คืออะไร
ถ้ากล่าวนำไว้ว่าบาปมหันต์มีพลังกล้าแกร่งจนแม้แต่พระเจ้าก็ทำลายไม่ได้ แล้วทำไมถึงต้องลดบาปของตัวเองลง ?
และถ้าบาปมหันต์แต่ละอย่างรวมเข้าด้วยกัน อย่างนั้นไม่ทำให้บาปนั้นร้ายแรงขึ้นเหรอ ?
ตรงนี้เราว่ายังไม่กระจ่างพอค่ะ อีกตัวอย่างหนึ่งคือจากบทที่หก ลุกซูเรียสงสัยขึ้นมาว่าตัวเองนั้นอาจไร้เสน่ห์ ทั้งๆ ที่คำโปรยและเรื่องย่อก็กล่าวไว้ชัดเจนว่าเธอเต็มไปด้วยสเน่ห์ซึ่งมีผลกับทุกคนยกเว้นซูเพอร์เบีย และประเด็นนี้ก็ถูกยกมาเป็นพล็อตของนิยาย
ข้อนี้เป็นคำแนะนำส่วนตัวนะคะ แต่เรามองว่าการใช้เสียงประกอบ เช่นเสียงหอบหายใจ (แฮ่กๆ) หรือเสียงหัวเราะแบบซ้ำซ้อน (ฮ่าๆๆๆ) ในนิยาย ทำให้ดูเหมือนหนังสือเด็กหรือหนังสือการ์ตูนมากกว่า เราไม่ชอบพวกคำแนะนำนักเขียนที่บอกให้ Show, Don’t Tell แต่สำหรับเรื่องทับเสียง เราว่าใช้วิธีบรรยายดีกว่า
ต่อมา เราอยากพูดถึงการดำเนินเรื่องที่ยังไม่ละเอียดพอ ใช้คำเยอะ บรรยายเรื่องอื่นเยอะ แต่ผิดจุด เช่นแทนที่จะใช้โอกาสหลังจากที่เอ่ยชื่อ “วีเดีย” ขึ้นมาครั้งแรกเพื่อวางฉาก อธิบายความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัวนี้ กลับใช้สองย่อหน้าถัดมาพูดถึงการใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว พอกล่าวอีกทีว่า “วีเดีย” คือเพื่อนของตัวเอง จังหวะเวลา (timing) ก็เสียไปแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็นำมาถึงอีกประเด็นหนึ่งที่เราเจอ คือในใจความหนึ่งบรรยายไม่ต่อเนื่องกัน กระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่อง สไตล์การเขียนแบบนี้เรียกว่า stream of conciousness หรือ “บรรยายตามกระแสสำนึก” แต่ปัญหาของการเขียนแบบนี้คือมันจะมีข้อมูลที่ไม่จำเป็นหลุดออกมามาก พวกข้อมูลที่ไม่ส่งผลอะไรต่อการดำเนินเรื่อง ทำให้การบรรยายแนวนี้ไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับนิยายแนวแฟนตาซี, ไซไฟ หรือแนวที่มีข้อมูลเฉพาะค่อนข้างเยอะที่ผู้อ่านต้องรู้ เพราะผู้อ่านจะเลือกไม่ได้ว่าต้องจำส่วนไหน ทำให้เกิดปัญหาข้อมูลล้น (information overload)
การจะประเมินว่าควรใช้การเล่าเรื่องแบบนี้หรือไม่คือการถามตัวเองว่าแบบแผน (pattern) การคิดของตัวผู้บรรยายมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องไหม ถ้าไม่มี และผู้บรรยายไม่ได้บรรยายจากภายในออกมาโดยที่ไม่เน้นถึงสภาพแวดล้อม แต่บรรยายถึงแค่สิ่งรอบตัว แทรกด้วยความรู้สึกส่วนตัวและความคิดเห็นบางส่วน ควรเลี่ยงการเขียนแบบ stream of consciousness
ยังคงอยู่ในส่วนของการบรรยาย อีกเรื่องที่เราอยากยกขึ้นมาคือการไม่เรียงลำดับการกระทำ ไม่สอดคล้องหรือต่อเนื่อง ตัวอย่างจากบทแรก:
ถ้ากำลังสำรวจการแต่งกายของตัวเองอยู่ จะมองไปยังกำไลข้อมือพร้อมๆ กันได้ยังไง ?
ลองเปลี่ยนคำบรรยายเป็น “ก่อนจะ” หรือ “รวมถึง” เพื่อจัดเส้นเวลาให้ดีขึ้น
หรือถ้าจะมองอีกแบบ อาจจัดได้ว่าเป็นการใช้ประโยคสิ้นเปลือง อย่างข้างต้น กำไลข้อมือถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไปว่ามองไปยังกำไลข้อมือ ในเมื่อกล่าวไปแล้วว่ากำลังสำรวจการแต่งกาย ยกเว้นว่ากำไลข้อมือนั้นจะมีความพิเศษหรือเป็นประเด็นดำเนินเรื่อง (plot device) จะมีประโยชน์มากถ้าคุณนักเขียนจะทวนอ่านและตัดประโยคเหล่านี้ออก
อีกตัวอย่างคือ: “คงกลายเป็นเศรษฐี ... อยากจะได้อะไรก็ได้ทั้งนั้น”
การกลายเป็นเศรษฐีคือบอกในตัวอยู่แล้วว่าจะสามารถหาซื้ออะไรก็ได้ และตอนที่พลอยแตก ก็ชัดอยู่ในตัวแล้วว่าไม่แข็งแรงเหมือนพลอยทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องบรรยายต่ออีก
พูดถึงเรื่องความยืดเยื้อหรือไม่ของเนื้อเรื่อง ตามที่คุณนักเขียนขอให้ลงลึกไว้ ส่วนตัวเรามองว่าดำเนินเรื่องช้า เอาจริงๆ บรรยายไม่ได้เยอะเลย บางฉากบรรยายได้ไม่พอด้วยซ้ำ แต่สำหรับเรื่องนี้ถือว่าช้าเพราะเนื้อเรื่องไม่เดินหน้า เช่นกว่าจะแนะนำลุกซูเรียก็ผ่านไปครึ่งบทแรกแล้ว เหมือนกันกับวีเดียที่เพิ่งรู้ว่าเป็นงู ทั้งๆ ที่เป็นตัวละครแรกที่มีการแนะนำชื่อ อ่านถึงบทที่ห้าแล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือ:
อย่างแรก ซูเพอร์เบียถือกำเนิด
สอง ซูเพอร์เบียอาละวาดเมื่อ “ท่านพ่อ” ของลุกซูเรียถูกเขียนเข้ามา
และสามคือเพิ่งเริ่มจะกล่าวถึงระบบของมิตินี้
มีเพียงเหตุการณ์เดียวตอนท้ายของตอนที่สามที่เริ่มจะดึงเรื่องให้เข้ากับพล็อตและเนื้อย่อที่เกริ่นไว้หน้าแรก
บางฉากตัดออกไปได้ค่ะ ถ้าไม่จำเป็น อันนี้คือสิ่งที่อยากให้พิจารณาค่ะ ถ้าแค่เอ่ยขึ้นมาเฉยๆ แล้วไม่ต่อความอะไร มีความเป็นไปได้สูงที่เหตุการณ์นั้นๆ จะไม่จำเป็น และสามารถตัดออกได้ เช่นฉากที่กระโดดไปหาวีเดีย ถ้าต้องกลับมาที่เดิมอีกครั้ง ทำไมไม่เขียนให้วีเดียเป็นฝ่ายออกจากฉาก (exit) ไปเอง ? เนื้อเรื่องกระชับขึ้นและได้ใจความเดียวกันคือ
1. แนะนำวีเดีย วางฐานความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง
2. ดึงความสนใจไปยังเรื่องบาปที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่
ถ้าตัดทอนดีๆ จากหกบทเหลือสามถึงสี่บทได้ไม่ยากเลยค่ะ และระยะที่ใช้ดำเนินเรื่องก็จะอ่านดูไม่ยืดเยื้อด้วย
ซึ่งจากตัวอย่างที่สองนี้ เราขอดึงกลับไปประเด็นเรื่องบรรยายขาดจนทำให้รูปความไม่ชัดเจน เช่นจากบทแรก:
ดูพลอยอยู่แต่กลับหันไปตีก้นสลอธ แล้วเหตุการเกิดของบาปตรงหน้าตัวละครนี่สรุปว่ามีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน หรือมาดูเพื่อฆ่าเวลาเฉยๆ แต่ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรเลยหันไปตีก้นสลอธเล่นได้
หรือการกระโดดเพื่อเดินทางของลุกซูเรียในตอนแรก ถ้าตอนมากระโดดมา ทำไมตอนกลับถึงไม่กระโดดกลับ ?
แทนที่ผู้อ่านจะได้รู้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ แต่กลับกลายเป็นมีคำถามเพิ่มอีกข้อ:
อะไรคือวิธีหลักที่ลุกซูเรียใช้เดินทาง ?
ใจความหลักที่เราอยากสื่อคือคุณนักเขียนยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกในนิยายได้ไม่มากพอ เห็นได้จากการที่พูดถึงหญ้าออร์ฟีหลายครั้ง แต่หญ้านี้คืออะไร ละอองของมันมีประโยชน์ยังไง ลักษณะความสวยงามเป็นแบบไหน ตัวละครทุกตัวมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนี้ แต่ทำไมถึงไม่มีการขยายความ ในขณะที่ดอกลูตอสที่โผล่มาแค่ในบทแรกบทเดียวยังถูกพูดถึงอย่างละเอียด หรือเรื่องศัพท์เฉพาะ เหมือนเดิมค่ะ ถ้าเป็นศัพท์เฉพาะที่คิดขึ้นมาเอง และไม่เป็นที่รู้กันไปทั่ว ให้อนุมานไว้ว่าคนอ่านไม่รู้ว่ามันคืออะไร ควรบรรยายเพื่อขยายความ อย่างเช่นคำว่า “บีกิเฮา” เราพอเข้าใจได้ว่าคือที่พัก แต่ยังไงต่อ ? ผู้อ่านจะเห็นภาพได้ชัดมากขึ้นถ้าสมมติว่าคุณนักเขียนมีการพ่วงคำอธิบายกำกับไว้ข้างหลัง เช่น:
“ข้ากล่าว พลางนึกให้เจอซูเพอร์เบียครั้นไปถึงยังปราสาท / บ้าน / กระท่อม ของตัวเอง”
อย่างน้อยทุกคนก็จะรู้โดยอัตโนมัติว่า “บีกิเฮา” คือสิ่งก่อสร้างแบบไหน
สำหรับนิยายแฟนตาซีที่อิงบรรยากาศของโลกในนิยายมากระดับหนึ่ง เราคิดว่าควรปูพื้นเรื่องให้แน่นไว้ตั้งแต่ต้นจะดีกว่า พวกตำนานความเชื่อ ประเพณี วิถีประพฤติ พื้นหลังของเรื่องก่อนเหตุการณ์ในเรื่อง (ถ้าหากสำคัญ) สิ่งแวดล้อม ระบบและแบบแผนการใช้ชีวิตในมิตินี้ ถ้าค่อยๆ ใส่ข้อมูลเหล่านี้เข้าไปตั้งแต่แรก มันจะสามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เรายกขึ้นมาได้
ถัดมา เราจะขอเริ่มประเด็นของตัวละครนะคะ หลักๆ ที่เราเห็นเลยคือตัวละครรู้มากกว่าที่คนอ่านรู้ และไม่มีการอธิบาย เช่นในฉากนี้:
“เสื้อผ้าทั้งหมดที่กำลังสวมอยู่หายกลับเข้าไป ... ก่อนที่เสื้อคลุมจะปรากฏขึ้นแทน”
บรรยายทิ้งไว้แบบนี้เข้าใจยากพอควรค่ะ เพราะคุณนักเขียนไปอธิบายอีกสามย่อหน้าถัดมาว่าคือเสื้อผ้าของลุกซูเรียที่ถูกถอดออก ตรงนี้เชื่อมไปถึงปัญหาที่กล่าวไว้ข้างต้นคือเรื่องการเล่าข้ามไปข้ามมา เพราะคนอ่านไม่เห็นภาพด้วยเหมือนผู้เขียน ดังนั้นต้องค่อนข้างทำให้มั่นใจค่ะว่าสิ่งที่สื่อสารออกมานั้นตรงกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวไว้ก่อนหน้าว่าซูเพอร์เบียไม่ได้ใส่อะไรเลย สิ่งแรกที่นักอ่านจะนึกก็คือ อ้าว ถ้าไม่ได้ใส่เสื้อผ้าแล้วจะมีอะไรให้ถอด ? กว่าจะไปเจอคำตอบว่าลุกซูเรียถอดเสื้อผ้าของตัวเองออก จังหวะก็คือเสียไปแล้ว ตรงนี้เราไม่มั่นใจว่าคือมุขตลกหรือเปล่า แต่เวลาไม่ได้ค่ะ
อีกตัวอย่างคือในตอนที่ห้าที่มีการดึงบาปออกมา มีการใช้ประโยคว่า
“นึกไม่ถึงมาก่อนว่าที่เขาบอกมามันจะหมายถึงแบบนี้”
เขาบอกมาว่าอะไร และหมายถึงแบบนี้คืออะไร ? ระบบของโลกนี้คืออะไร ถึงบทที่ห้าแล้วคนอ่านยังไม่รู้เลยค่ะ สรุปว่านี่คือการลดบาปลงตามที่ได้กล่าวไว้ในบทแรก ? และแต่ละตัวละครคือ vessel (ภาชนะ) ของบาป แต่ไม่ใช่ตัวบาป ? เพราะพอคุณนักเขียนจะเริ่มอธิบายหลักการของโลกนี้ มันก็ผ่านมาหลายบทแล้ว และการจะอธิบายหรือปูพื้นฐานการดำเนินไปของโลกในนิยาย (system) โดยที่กำลังมีฉากสำคัญเกิดขึ้นอยู่ คุณนักเขียนต้องมั่นใจว่าไม่ได้ยัดข้อมูลทั้งหมดใส่มารวดเดียว (info dump) เพราะมันจะมากเกินไปสำหรับนักอ่าน กลายเป็นปัญหาเดียวกันกับที่กล่าวไปข้างต้นคือข้อมูลล้น ไม่รู้ว่าจะเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่า
พูดถึงเรื่องนิสัยของตัวละคร เพราะเราไม่รู้ช่วงอายุ แต่จากลักษณะการแสดงออก การใช้คำพูด ตัวละครถือว่ายังมีความเป็นเด็กสูง ความซับซ้อนของบุคลิกค่อนข้างน้อย คุณนักเขียนใช้วิธีบังคับให้ผู้อ่านรู้โดยการแทรกบทแสดงอาการหรือลักษณะนิสัยที่ต้องการจะใช้ในเวลานั้นๆ ขึ้นมากลางคัน ไม่มีการปูพื้นฐานคาแรคเตอร์ ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียงลำดับการแสดงอารมณ์ได้ถูกต้อง เช่นจากบทแรกที่ลุกซูเรียออกจะดูไร้เดียงสา แนวเด็กสาวหวานซ่า แต่บทที่สองพอจำเป็นต้องดึงเข้าเรื่องที่เธอเป็นตัวแทนของราคะ ก็ใส่บทอยากลูบอยากคลำซูเพอร์เบียเข้ามาทันที ซึ่งเราว่ามันไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลเสียเท่าไหร่ เช่นเดียวกับตอนที่ซูเพอร์เบียเฉลยว่าเขารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าลุกซูเรียตั้งใจจะทำอะไร ถึงจะบรรยายว่าที่รีบเอามือปิดบางส่วนของร่างกายก็เพราะไม่ได้อยากถูกหัวเราะ แต่ลองนึกว่าถ้าทำถึงถอดเสื้อผ้าอยู่หน้าซูเพอร์เบียได้พักใหญ่ ไม่ว่าผลตอบรับที่ได้มายังไงก็ไม่น่าจะแตกต่าง ตัวละครที่ถูกวางนิสัยมาให้ทำอะไรแบบนี้ได้ รีแอคชั่นแรกที่มีถ้ารู้สึกว่าหน้าแตกไม่น่าจะปิดร่างกายตัวเอง แต่น่าจะตีเนียนมากกว่า หรือตอนที่หก ที่ตอนแรกยังไม่มั่นใจในสเน่ห์ของตัวเอง แต่กลับตัดไปเรียกซูเพอร์เบียว่าของเล่นชิ้นใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นการนึกคิดของคนที่ค่อนข้างมั่นใจในความเหนือกว่าคนอื่นของตัวเองมากพอควร
เราไม่คิดว่าความไม่สมเหตุสมผลคือปัญหาของนิยายเรื่องนี้ เราพอจะบอกได้ว่าคุณนักเขียนมีคำอธิบายสำหรับทุกอย่าง แค่ไม่ได้อธิบายหรือขยายความไว้มากพอ เช่น “เจ้าเองก็มีความรู้สึกเหมือนกันนี่นาซูเพอร์เบีย” นั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะตั้งแต่ซูเพอร์เบียเริ่มมีบทบาท ตัวละครนี้ก็มีความหลากหลายทางอารมณ์อย่างชัดเจน ถ้าจะมีตัวละครไหนที่น่าสงสัยว่าจะไม่มีความรู้สึก น่าจะเป็นลุกซูเรียมากกว่าค่ะ เพราะนิสัยค่อนข้างตื้นแบน ทุกอย่างแบ่งชัดเจนเป็นขาว-ดำ จนกระทั่งท้ายตอนที่สามเป็นต้นไป ถึงได้เริ่มเห็นความชัดเจนในคาแรคเตอร์มากขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิมกลางตอนที่หก
ปัญหาพวกนี้หลีกเลี่ยงได้ไม่ยากเลยค่ะ แค่ต้องหาจุดปูคาแรคเตอร์เท่านั้น ถ้าบรรยายถูกจุด ไม่จำเป็นต้องเยอะ บางอย่างที่เราบอกว่าไม่สมเหตุสมผลอาจจะเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาเลยก็ได้
แต่จากหกตอนที่อ่านมานี้ คาแรคเตอร์ ตัวละครไม่ทำให้นึกถึงการเป็นตัวแทนของบาปทั้งเจ็ดเลย ลักษณะนิสัยไม่เด่นชัด ถ้าให้อ้างอิงจากคำโปรย ในเนื้อเรื่องเรายังไม่รู้สึกถึง “สเน่หา” หรือ “ราคะ” ที่ว่าของลุกซูเรียเลย อาจมีตอนท้ายบทที่หกเล็กน้อย บุคลิกของตัวละครนี้ออกจะไปทางน่ารักเหมือนเด็กๆ มากกว่า ทั้งๆ ที่การเล่นประเด็นศาสนาแบบนี้ที่ค่อนข้างชัดเจนเรื่องบาปบุญ ผิดถูก น่าจะเปิดอิสระในการสร้างสรรค์ตัวละครมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรื่องนี้เริ่มด้วยการเกริ่นไว้ว่าแต่ละบาปรวมเข้าด้วยกัน เรามองว่ามันมีศักยภาพที่จะกลายเป็นอะไรได้หลายอย่าง
ทั้งนี้ทั้งนั้น คาแรคเตอร์ของซูเพอร์เบียและ “ท่านพ่อ” เขียนออกมาได้สมจริงมากกว่าลุกซูเรีย มีการเปลี่ยนอารมณ์ถูกจังหวะเป็นขั้นตอน มีมิติมากกว่า เสมอต้นเสมอปลาย เขียนออกมาได้อย่างสวยงามค่ะ ซึ่งเราว่าน่าจะเป็นเพราะคุณนักเขียนยังไม่ถนัดเขียนจากมุมมองของตัวละครหญิงมากกว่า
ต่อด้วยเรื่องของบทสนทนา มีการใช้บทพูดแบบสิ้นเปลือง เราเข้าใจว่าเป็นการคิดและพูดกับตัวเอง แต่บทพูดคนเดียว (monologue) เหมาะสำหรับการใช้ในการแสดงมากกว่านิยาย ในเมื่อไม่มีความแตกต่างอะไร ไม่มีตัวละครอื่นรับฟัง ถ้าพูดทุกความคิดออกมาคนเดียวโดยที่ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมตัวละครถึงชอบทำแบบนั้น เราว่ามันดูไม่เป็นธรรมชาติ คล้ายกับเวลาเราเดินบนถนนแล้วเห็นคนพูดกับตัวเอง หลายๆ ประโยคสามารถเปลี่ยนให้เป็นบทบรรยายได้โดยที่ไม่เสียเนื้อความค่ะ
ความคิดเห็นส่วนตัวอีกอย่าง เรื่องบทพูด อ่านดูไม่เป็นธรรมชาติมากพอ แต่มีกลิ่นอายของความเป็นมังงะ อันนี้อาจถือเป็นการหาสไตล์การเขียนของคุณนักเขียนเองก็ได้ค่ะ พวกการจบประโยคสนทนาด้วยเสียงหรือคำเช่นนะ, ล่ะ, ล่ะก็นะ, นี่, นี่ล่ะ, น่ะ, น่ะนะ, สิ ซึ่งโผล่มามากๆ ก็ตรงกลางบทที่หก เทคนิคคือลองอ่านออกเสียงดูเวลาเขียนว่าฟังลื่นไหลหรือเปล่า
อีกข้อคือการเพิ่มบทบรรยายท้ายบางประโยคสนทนาจะช่วยให้ภาพเด่นชัดขึ้นมาก ปัญหาของบทสนทนาแบบล้วนๆ คือถ้าดำเนินยาวเกินไป คนอ่านจะเริ่มหลุดว่าใครคือคนพูดประโยคไหนกันแน่ และอาจต้องกลับไปทวนอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นใส่คำบรรยายกำกับปนไว้บ้างกลางบทจะช่วยเตือนความจำให้คนอ่านได้
กลับมาที่เรื่องการบรรยายสักนิด การบรรยายเริ่มคงที่ขึ้นจากบทที่สามเป็นต้นไป ปริมาณคำบรรยายและประโยคสนทนาพอๆ กัน แต่อาจจะยังหนักไปทางบทพูดบ้างในบางส่วน ในบทหลังๆ สไตล์การเขียนเริ่มเข้าที่ สอดคล้องกับการดำเนินเรื่อง จะเห็นได้ว่าลุกซูเรียไม่ได้ปล่อยความคิดเลยเถิดหรือใช้วิธีบรรยายแบบ stream of consciousness อีกแล้ว ทำให้ผู้อ่านจดจ่อกับเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น
ทีนี้ เรื่องการใช้คำที่เรากล่าวไปตอนต้นว่าจะขยายความในภายหลัง ปัญหาหลักๆ ที่เราเจอคือการใช้คำซ้ำและคำเปลือง เช่น:
“ไม่กี่อึดใจ” ใช้บ่อยมากในบทแรก
หรือคำว่า “ที่ซึ่ง” จากบทที่หก ย่อหน้าที่สาม สามารถเลือกใช้แค่คำใดคำหนึ่งก็พอ จะช่วยทำให้รูปประโยคกระชับและลื่นไหลขึ้น
“กลีบชั้นนอก” ภายในตัวก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าต้องมีกลีบชั้นใน ดังนั้นกลีบชั้นนอกจึงไม่ได้ใช้ห่อหุ้มเกสร แต่ใช้เพื่อปกป้องกลีบชั้นใน
จากคำว่า “ที่” ลองเปลี่ยนเป็นคำอื่นหรือสลับรูปประโยคดู เช่น “ซึ่ง” “ดังนั้น”
อีกข้อคือการใช้คำซ้อนเพื่อให้ดูสวยงาม แต่ผิดความหมาย หรือบิดเบือนความหมายที่ต้องการสื่อ เช่น:
“กลีบดอกไม้ที่วนเป็นวง” เราว่าใช้เป็น “กลีบดอกไม้ที่ห่อหุ้มเกสร” น่าจะฟังดูเป็นธรรมชาติมากกว่า วนเป็นวงให้ความรู้สึกเหมือนวนตามเข็มนาฬิกา
และจากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ง่ายมาก จากตามที่เราเสนอแนะไปบางส่วน คุณนักเขียนกำลังสร้างสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เนื้อเรื่องถ้าทำให้กระชับขึ้น ดำเนินเร็วขึ้น และมีข้อมูลเพียงพอจะช่วยทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่เราขอแนะนำนิดนึง เราไม่มั่นใจเรื่องมุข incest ระหว่างพ่อลูกในบทที่ห้าว่าจะไม่ถูกแค่เรื่องกาละเทศะเฉยๆ นะคะ อันนี้สำหรับเว็บเด็กดีหรือแพลตฟอร์มที่ไม่มีการตั้งเรทติ้งอายุนักอ่าน เราว่าควรตัดออก หรืออย่างน้อยก็ควรติด Trigger Warning เอาไว้ด้วยว่ามีประเด็นไม่เหมาะสม นักอ่านแต่ละคนมีพื้นหลังที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะรับอะไรหลายๆ อย่างได้มากกว่าอีกคน เพราะฉะนั้นการชี้แจงไว้ตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้ทุกฝ่ายสบายใจค่ะ
อีกอย่างคือต้องระวังเรื่องคั่นฉากด้วยมุขตลกนิดนึง บทที่ห้าคือตัวอย่างของการใช้ฉากตลกอย่างถูกจังหวะค่ะ เห็นหน้าบทความคุณนักเขียนทิ้งไว้ว่านิยายสามารถมีมุขตลกได้ อันนั้นเราเห็นด้วยค่ะ นิยายซีเรียสก็สามารถแทรกฉากตลกได้ แต่ประเด็นคือเรื่องจังหวะ ต้องมั่นใจด้วยว่าเนื้อความหรือบรรยากาศที่ปูมาตอนต้นจะไม่เสีย อันนี้จากการคาดเดาของเราส่วนตัวนะคะ ต้องขอโทษด้วยถ้าผิดไป แต่เรารู้สึกว่าตอนแต่ง คุณนักเขียนนึกภาพนิยายเรื่องนี้เป็นอนิเมะ และเขียนตามที่ตัวเองเห็น ซึ่งประเด็นที่ตามมาก็คือ เพราะสื่อข้างต้นที่เราบอกไปเป็นภาพเคลื่อนไหวจึงมีการสื่อสารเล็กน้อยเต็มไปหมด ทั้งจากสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ดังนั้นผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจอะไรได้หลายๆ อย่างจากสิ่งชี้นำภาพ (visual cues) ถึงแม้จะดูเหมือนว่ารายละเอียดข้อมูลไม่ได้เยอะอะไร อาจจะเพราะต้องการเขียนให้เร็วเหมือนภาพที่เห็น ทำให้ข้อมูลหลายๆ อย่างตกหล่น เราเชื่อว่าคุณนักเขียนมีภาพที่ค่อนข้างชัดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโลกในนิยายเรื่องนี้ รวมถึงลักษณะและบุคลิกของตัวละคร แต่สำหรับนักอ่านที่ไม่ได้เห็นภาพในจินตนาการของคุณนักเขียน และไม่มีสื่ออื่นๆ มาช่วยชี้แนะ (อย่างไลต์โนเวลจะใช้ภาพประกอบเพื่อขยายความจากเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างกระชับ) มีแต่ตัวหนังสือกับบทบรรยายให้นึกภาพตาม ถ้าทำได้ไม่ละเอียดพอ ความประทับใจที่จะได้จากการอ่านนิยายเรื่องนี้ก็อาจจะลดน้อยลง ซึ่งเราว่าคงน่าเสียดายไม่ใช่น้อย เพราะเราบอกได้ว่าคุณนักเขียนมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับโลกในนิยายเรื่องนี้ที่อยากแบ่งปันให้กับนักอ่านทุกคน ดังนั้นถ้าปรับเปลี่ยนบางจุดนิดหน่อย เราเชื่อว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในนิยายที่น่าติดตามอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ สุดท้ายหวังว่าบทวิจารณ์นี้ของเราจะพอให้ความคิดเห็นอะไรใหม่ๆ ได้บ้างนะคะ ขอบคุณที่สร้างสรรค์ผลงานสนุกๆ ขึ้นมาค่ะ ♡
ความคิดเห็น