ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดาวพลูโต

    ลำดับตอนที่ #2 : “New Horizons” ออกเดินทางไกลสำรวจ “พลูโต” และแถบไคเปอร์

    • อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 49


    “New Horizons” ออกเดินทางไกลสำรวจ “พลูโต” และแถบไคเปอร์
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 มกราคม 2549 08:07 น.

    จรวดแอตลาส 5 จุดระเบิดนำ "นิว โฮไรซอนส์" ออกเดินทางไกล โดยมีจุดหมายที่ดาวพลูโตและวัตถุในแถบนั้น ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี แม้ว่านิว โฮไรซอนส์จะเป็นยาวอวกาศที่บินเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างยานมาก็ตาม

    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    New Horizons มีขนาดเท่าเปียโน มีจานดาวเทียมสำหรับส่งสัญญาณกลับมายังโลก

    เจ้าหน้าที่กำลังตระเตรียมยานอวกาศที่วิ่งเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์


    เพื่อให้แน่ใจว่าพลูโตเนียมจะไม่รั่วออกมาระหว่างการปล่อยตัว ทีมวิศวกรนิวเคลียร์จึงเตรียมตรวจจับรังสีในอากาศระหว่างการปล่อยจรวด

    ภาพจำลองของ "New Horizons" ขณะบินออกห่างจากดวงอาทิตย์ (แสงสว่างขาวด้านหลัง) และกำลังบินอยู่เหนือดาวพลูโต โดยมีชารอนจันทร์บริวารอยู่ด้านหลัง

           นาซา/เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – “นิว โฮไรซอนส์” ยานอวกาศไร้มนุษย์ของนาซาออกเดินทางไกลด้วยอัตราบินเร็วที่สุดเท่าที่เคยมียานอวกาศมาก่อน บ่ายหน้าสู่ “พลูโต” ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แห่งระบบสุริยะ ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะถึงที่หมาย แถมด้วยการสำรวจวัตถุน้ำแข็งในแถบไคเปอร์
           
           แอตลาส 5 (Atlas 5) จรวดขับดันลำใหญ่ที่สุดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้นำยานอวกาศขนาดเท่าเปียโนที่มีชื่อว่า “นิว โฮไรซอนส์” (New Horizons) ออกจากฐานส่งจรวด ณ แหลมคาวารอล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 02.00 น.ของวันที่ 20 ม.ค. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนิว โฮไรซอนส์บรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากมาย มุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ยังไม่เคยมีใครส่งอะไรไปถึงนั่นคือ “ดาวพลูโต”
           
           ทั้งนี้ นาซาได้เปลี่ยนกำหนดปล่อยนิว โฮไรซอนส์ใหม่หลายต่อหลายครั้งในรอบ 3 วัน ตั้งแต่ 18 - 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เพราะสภาพลมที่บริเวณฐานปล่อยจรวดนั้นมีความผันผวนรุนแรงจนมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดลมพายุขึ้นระหว่างปล่อยตัว ซึ่งตัวถังเชื้อเพลิงของจรวดก็มีปัญหาก่อนกำหนดปล่อยตัวไม่กี่นาที อีกทั้งถังเชื้อเพลิงของยานอวกาศที่เต็มไปด้วยพลูโตเนียม ซึ่งหากเกิดการกระทบกระเทือนจนรั่วไหลจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว
           
           อย่างไรก็ดี ถังที่บรรทุกพลูโตเนียมไว้ถึง 33 กิโลกรัมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนับเป็นประเด็นที่กลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ออกมาประท้วงโครงการนี้ เพราะในตำแหน่งดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แน่นอนว่าคงไม่สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ จึงทำให้นาซาเลือกใช้พลูโตเนียมเป็นเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับแคสสินีที่เดินทางไปยังดาวเสาร์ และมาร์สโรเวอร์ที่ปฏิบัติหน้าที่บนดาวอังคาร โดยนาซาก็แสดงความมั่นใจว่าโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากสารพลูโตเนียมรั่วนั้นมีต่ำมาก โดยย้ำว่ามีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 350 เท่านั้นที่พลูโตเนียมจะรั่วออกมาในบริเวณฐานปล่อยยาน
           
           ยานอวกาศนิว โฮไรซอนส์จะเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดถึง 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนับเป็นความเร็วสูงสุดตั้งแต่มีการสร้างยานขึ้นมาสำรวจอวกาศ ซึ่งการเดินทางที่ความเร็วระดับนี้จะทำให้การเดินทางจากโลกสู่ดวงจันทร์ใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง จากที่ปัจจุบันใช้เวลาถึง 3 วัน แม้ว่าจะเป็นยานอวกาศที่บินได้เร็วที่สุด แต่กว่าจะไปถึงพลูโตได้ก็ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 10 ปี
           
           ทั้งนี้ หลังจากนิว โฮไรซอนส์ขึ้นฟ้าไปแล้วก็จะเดินทางถึงดาวพฤหัสด้วยความเร็ว 58,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะไปถึงดาวพฤหัสพอดีกับตำแหน่งที่สามารถใช้แรงดึงดูดของดาวยักษ์เป็นแรงเหวี่ยงให้พุ่งออกไปได้เร็วกว่าเดิม คาดว่าจะสามารถบินออกห่างจากดวงอาทิตย์ได้เร็วถึง 4 กิโลเมตรต่อวินาทีหรือ วิ่งได้เร็วถึง 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่นเวลาการเดินทางสู่พลูโตไปได้ประมาณ 30 เดือน โดยจะไปถึงได้ภายในปี 2015 จากกำหนดเดิมคือปี 2018 อย่างเร็วสุด นับว่าช่วยลดโอกาสล้มเหลวได้อย่างดีทีเดียว
           
           ยานอวกาศไร้มนุษย์ “นิว โฮไรซอนส์” มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้จะรวบรวมข้อมูลจากดาวพลูโตและจันทร์บริวาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชารอน” (Charon) บริวารดวงใหญ่ที่สุดของพลูโต โดยมีอุปกรณ์ก้าวล้ำ 7 ชิ้นช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นบรรยากาศของพลูโตและรายละเอียดพื้นผิวอันน่าอัศจรรย์ พร้อมทั้งบันทึกภาพจันทร์ 2 ดวงใหม่ที่เพิ่งประกาศการค้นพบไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รวมถึงสำรวจวงแหวนรอบๆ พลูโต
           
           นอกจากนี้นิว โฮไรซอนส์จะใช้เวลาอีกมากกว่า 5 ปีเข้าสำรวจวัตถุน้ำแข็งในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งอยู่เลยจากดาวเนปจูนออกไป วัตถุน้ำแข็งเหล่านี้มีวิถีโคจรอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับระนาบการโคจรของสุริยะวิถีที่เหล่าดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ ซึ่งเชื่อว่าวัตถุน้ำแข็งนับสิบๆ ก้อนจากหลายพันๆ ก้อนหลุดออกมาด้วยระยะทางไกลมากกว่า 30-50 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
           
           อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์อีกมากมายยังไม่อาจปักใจยกให้ “พลูโต” เป็นดาวเคราะห์ แต่น่าจะให้เป็น “ดาวเคราะห์น้อย” หรือ “ดาวหาง” ขณะที่บางคนก็ว่าควรจะพิจารณาให้พลูโตเป็น “วัตถุที่ใหญ่ที่สุด” ใน แนวไคเปอร์ แต่ในปัจจุบันยังถือว่า ดาวพลูโตเป็นเทห์วัตถุประเภทดาวเคราะห์ อย่างเช่นเคย
           
           ”มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างพื้นผิวของพลูโต ซึ่งอาจจะทำให้ชี้ได้ว่าระบบนั้นไม่ได้ก่อกำเนิดมาจากการระเบิดเพียงครั้งเดียว หรืออาจจะมีวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ อยู่ในแถบนั้นคอยสร้างแรงดึงดูด” สตีเฟน ลอว์รี จากมหาวิทยาลัยควีน ในเบลฟาสต์ (Queen's University in Belfast) สหราชอาณาจักร แสดงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพลูโตและจันทร์บริวาร
           
           ไคลด์ ทอมแบจ (Clyde Tombaugh) แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) ค้นพบ "พลูโต" ในปี 1930 นับเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะจักรวาลและเป็นดาวที่อยู่ห่างไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์ โครงการสำรวจดาวพลูโตนี้เป็นโครงการแรกของโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะทำให้ทราบองค์ประกอบและสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ อันจะช่วยนำพามุมมองและข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำเนิดของดาวเคราะห์ต่างๆ รวมถึงโลกเมื่อย้อนไป 4,500 ล้านปีก่อน
           
           ดาวพลูโตอยู่ห่างจากโลกถึง 38.46 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 7,400,000,000 กิโลเมตร มีคาบการหมุนรอบตัวเอง 6 วัน 9 ชั่วโมง 17 วินาที และคาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 247.7 ปีบนโลก ด้วยความเร็ว 4.70 กิโลเมตรต่อวินาที พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,324 กิโลเมตร (โลก 12,756 กิโลเมตรที่เส้นศูนย์สูตร) และมีมวลแค่เพียง 0.0022 เท่าของโลก

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×