คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #12 : มังกรจีน [ Chinese Dragon]
...มังกรจีน...
[ Chinese Dragon ]
[มังกร หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เล้ง(ชิวเล้ง), เล่ง ,หลง , หลุง แตกต่างกันไปตามการออกเสียงของแต่ละท้องถิ่นค่ะ]
(www.draconika.com/chinese.php)
มังกรจีน ( lóng) เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอันหนึ่งของจักรพรรดิและวัฒนธรรมจีนมีลักษณะที่มาจากสัตว์หลาย ๆ ชนิดผสมผสานกัน ลักษณะลำตัวยาวเหมือนงูมีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่บริเวณขากรรไกรบนด้านบน มีหนวดยาวลักษณะเหมือนกับไม้เลื้อย และมีแผงคอเหมือนกับของสิงโตอยู่บน คอ , คาง และข้อศอก มีเกล็ดสีเขียวเข้มทั่วทั้งบริเวณลำตัวรวมทั้งสิ้น 117 เกล็ด ซึ่งเกล็ดมังกรจำนวน 81 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยางซึ่งเป็นเกล็ดที่มีความดี เกล็ดมังกรจำนวน 36 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยินซึ่ง จะเป็นเกล็ดที่มีความชั่ว ลักษณะเขาของมังกรจะมีสันหลังทอดยาวไปตามหลังและหาง เป็นหนามยาวและสั้นสลับกัน มีขา 4 ขาและกรงเล็บแข็งแรง
เกล็ดของมังกรจีนนั้น จะมีลักษณะเฉพาะเปลี่ยนไปตามแต่ละชนิดของมังกร ตั้งแต่สีเขียวเข้มจนถึงสีทอง หรือบางแหล่งกล่าวกันว่า มังกรจีนนั้นมีหลายสี เช่น สีน้ำเงิน สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว หรือสีเหลือง แต่ในกรณีของมังกรชนิด ไชโอะ (chiao) หลังของมังกรจะเป็นสีเขียว บริเวณด้านข้างเป็นสีเหลือง และใต้ท้องเป็นสีแดงเข้ม มังกรจีนชนิดหนึ่งจะมีปีกที่ด้านข้างของลำตัว และสามารถที่จะเดินบนน้ำได้ แต่สำหรับมังกรจีนอีกชนิดหนึ่งเมื่อสะบัดแผงคอไปข้างหน้าและข้างหลัง จะทำให้เกิดเสียงที่ฟังดูเหมือนกับเสียงขลุ่ย
มังกรจีนจะมีโหนกอยู่บนหัวซึ่งทำให้สามารถบินได้ เรียกโหนกที่อยู่บนหัวว่า เชด เม่อ (ch’ih muh) แต่ถ้ามังกรจีนตัวใดไม่มีโหนกที่บริเวณหัว จะกำคทาเล็ก ๆ ที่เรียกว่า โพ เชน (po-shan) ซึ่งสามารถทำให้มังกรลอยตัวในอากาศได้ ในประเทศจีนคนโบราณมีความเชื่อกันว่ามังกรคือ สัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน ได้รับการกล่าวกันว่ามีความเป็นมิตร มากกว่าความร้ายกาจ เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุข และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง พบได้ใน แม่น้ำและทะเลสาบชอบที่จะอยู่ท่ามกลางสายฝน มังกรได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างกฎแห่งความใจบุญ และเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นให้แก่กษัตริย์ในราชวงศ์ชิงบังลังค์มังกร เดินทางโดยเรือมังกร เสวยอาหารบนโต๊ะมังกร และบรรทมบนเตียงมังกร
ตำนานมังกรจีนโบราณ
ตำนานมังกร จีนโบราณมีอายุยาวนานกว่า 4,000 ปี ซึ่งลักษณะรูปร่างของมังกรจีนนั้น สุดแล้วแต่นักวาดรูปจะจินตนาการเสริมแต่งออกมา การขายจินตนาการของนักวาดรูปจะเขียนมังกรออกมาโดยยึดลักษณะรูปแบบที่เล่าต่อ ๆ กันมาคือ มังกรจีนจะมีลักษณะลำตัวที่ยาวเหมือนงูมีเกล็ดสีเขียว นัยน์ตาสีแดง มีหนวดและเขาอย่างละคู่ มีขา 4 ขาและกงเล็บที่แข็งแรง มังกรจีนโบราณถูกยกย่องว่าเป็นสัตว์เพทเจ้าซึ่งชาวจีนเคารพนับถือ เป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าในลัทธิเต๋า ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองปราสาทราชวังของเทพเจ้าบนสวรรค์ มังกรจีนที่มีกงเล็บ 5 เล็บ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรพรรคิหรือฮ่องเต้ของ จีนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ มังกรบางตัวจะถือไข่มุกเม็ดใหญ่อยู่ที่ขาหน้า ครั้งหนึ่งคนเคยคิดว่าไข่มุกคือไข่ของมังกร มังกรบางชนิดวางไข่ในน้ำไหล
มังกรจีนในตำนานนั้น สามารถที่จะทำตัวเองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับจักรวาลหรือมีขนาดเล็กเท่ากับหนอนไหมได้ และในบรรดาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ของจีน มังกรจีนถือเป็นสัตว์แห่งเทพเจ้า ได้รับความนับถือมากที่สุด มังกรจีนมีลักษณะนิสัยที่เมตตากรุณา เป็นมิตร ทะเยอทะยาน และมองโลกในแง่ดี นอกจากนี้ยังมีความฉลาด มีปัญญามาก มีความเด็ดขาด และมีพลัง มังกรจีนจึงเป็นที่ปรึกษาของผู้นำในด้านต่าง ๆ แต่มังกรจีนมีทิฐิในตัว จะถือตัวว่าถูกหมิ่นประมาทเมื่อผู้นำไม่ยอมทำตามคำแนะนำของมังกรจีน หรือเมื่อผู้คนไม่ให้เคารพความสำคัญ มังกรจีนจะทำให้ฝนหยุดตก หรือเป่าเมฆดำออกมาซึ่งจะนำพาพายุ และน้ำท่วมมาให้ มังกรตัวเล็กก็ทำเรื่องยุ่งยากเล็ก ๆ เช่นทำหลังคารั่ว หรือทำให้ข้าวเกิดความเหนอะหนะ
มังกรจริง ๆ ในปัจจุบันก็คือซากของไดโนเสาร์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งกลายเป็นหิน ไข่ไดโนเสาร์ถูกค้นพบในหลายพื้นที่ในประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีไดโนเสาร์มากที่สุดในโลกในสมัยโบราณใช้ในการประกอบเป็นยามุนไพร เรียกกันว่า "ยากระดูกมังกร" ส่วนไข่ของมังกรจีนนั้นในสมัยเฉียนหลง ถือเอาไข่มังกรจีนเป็นเครื่องรางประจำราชสำนักภายในพระราชวังปักกิ่ง แต่ต่อมาเมื่อพระราชวังปักกิ่งแตก ไข่มังกรจีนก็ตกทอดมาจากประเทศจีนมาอยู่ที่ประเทศไทย
ซึ่งไข่มังกรที่ตกทอดมาอยู่ภายในประเทศไทยนั้น มีตำนานเล่าขานกันมาแต่โบราณว่า เมื่อคณะทูตหรือคณะผู้แทนจากประเทศจีนใช้เรือไฮจี่โดยการนำของ ยังชีขี มีผู้ติดตามมาด้วยจำนวน 449 คน มีทหารประจำเรือ 279 คน เพื่อขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เมื่อเวลาบ่ายโมงของวันที่ 29 พฤศจิกายน พระยาบริบูรณ์โกษากร เข้า เฝ้าฯ และมอบหมายให้พระยาบริบูรณโกษากร หรือ ฮวด โชติกะพุกกณะ หรือเจ้าคุณกิมจึ๋ง เป็นผู้จัดการประสานงาน และเลี้ยงต้อนรับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ตามลักษณะของไข่มังกรที่สืบทอดกันมาเป็นตำนานนั้น มีลักษณะคล้ายกับลูกแก้วหินผลึกคล้ายคลึงกับลูกแก้วของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดของประเทศไทยแต่ถูกตกแต่งด้วยการเลี่ยมและห่อหุ้มคล้ายกับห่อด้วยแก้วนั่นเอง ทำให้เรื่องของไข่มังกรจีนกลายเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันพอสมควรในสมัยนั้น
พื้นหลังเรื่องมังกร
จะ เห็นได้ว่าในวัฒนธรรมของหลายชนชาติก็มีสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับมังกรเกิด ขึ้น ทั้งในแง่ของความเชื่อก็ยังมีความคล้าคลึงกัน ตำราหลายเล่มบอกว่ามังกรเหล่านั้นมีพื้นฐานความเกี่ยวข้องกับงูและจระเข้ เช่น ในคัมภีร์ไบเบิลได้มีการกล่าวถึงมังกรลีเวียทัน ซึ่งมังกรตัวนี้นอกจากจะเป็นมังกรแล้ว ยังเป็นทั้งงูและจระเข้อีกด้วย ในคัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่าลีเวียทันเป็นต้นเหตุให้เกิดสุริยคราสและจันทรคราส ซึ่งในส่วนนี้ก็ไปตรงกับกับทางอียิปต์ที่เชื่อว่างูอาเปปิกลืนดวงอาทิตย์ อินเดียเรียกราหูว่าหัวมังกร และเรียกพระเกตุว่าหางมังกร ทางตะวันตกก็เรียกว่าDragons head และDragons tail
ความ เชื่อเรื่องความเกี่ยวพันกันของมังกร งูและจระเข้นี้ ได้ปรากฏอยู่ในหลายชนชาติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในจีนมีเจ้ามีเจ้าแม่นึ่งออ หรือหนี่วา มีท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นมังกร(หรือในบางตำราบอกว่าเป็นงู) ชาวอินเดียเชื่อว่าราหูมีท่อนบนเป็นคน (หรือรูปอสูร) ท่อนล่างเป็นหางมังกร(หรือหางงู) นอกจากนี้ในอีกหลายประเทศก็มีสัตว์ที่มีลักษณะของท่อนบนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ส่วนท่อนล่างเป็นหางมังกรหรือหางงูอยู่เช่นกัน
สัตว์ ในตำนานของไทยก็มีสัตว์ที่มีความคลัายคลึงกับมังกรของจีนอยู่นั่นคือพญานาค ซึ่งพญานาคเองก็เป็นบรรพบุรุษของพวกงู ในประเทศตะวันตกคำว่าDragon ที่แปลว่ามังกรนั้นก็มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือDraco ซึ่งหมายถึงงู หรือปลาทะเล จะเห็นได้ว่าพื้นหลังเรื่องมังกรไม่ว่าจะที่ไหนๆก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่
มังกรของจีน
ตามความเชื่อของชาวจีนมีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 4 ชนิด คือ กิเลน หงส์ เต่าและมังกร โดยชาวจีนถือว่ามังกรเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนั้น
ชาวจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่และเพศชาย
เนื่อง จากมังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจีนเชื่อว่าผู้ที่ได้เห็นมังกรถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองมาก ผู้ที่มีโอกาสจะได้ขี่หลังมังกรจะต้องเป็นคนมีศีล มีสัตย์ มีจิตใจบริสุทธิ์ดีงามจริงๆ ถึงจะมีมังกรมารับไปเป็นเซียนบนสวรรค์
ในสมัยโบราณนั้นชาวจีนได้มีการจัดทำ ตำรามังกร ซึ่งเป็นการรวบรวมประวัติ เผ่าพันธุ์ และลักษณะของมังกรไว้อย่างละเอียดที่สุด แต่เนื่องมาจากตำราเหล่านั้นได้ สูญหายไปแล้ว การศึกษาเรื่องของมังกรจีนในปัจจุบันจึงเป็นการศึกษาจากหลังฐานต่างๆที่ยัง หลงเหลืออยู่และก็จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น
กำเนิดของมังกรจีน
เรื่องราวการกำเนิดมังกรของจีนนั้นมีอย่างมากมายหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็นหลายเรื่องคือ
- ตาม ตำนานนั้นในสมัยโบราณมีเจ้าแม่นึ่งออหรือหนี่วา มีตัวเป็นคนหัวเป็นงู แต่บางตำราก็บอกว่ามีตัวท่อนบนเป็นคนแต่ท่อนล่างเป็นงู เมื่อเจ้าแม่สิ้นอายุไข นางตายไป 3 ปีแล้วศพก็ไม่เน่าเปื่อย เมื่อมีคนลองเอามีดผ่าท้องของนางดูก็ปรากฏมีมังกรเหลืองตัวหนึ่งพุ่งออกมาแล้วเหาะขึ้นฟ้าไป
- ตามตำราดึกดำบรรพ์ของจีนกล่าวว่า มังกรมีกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าฟูฮี,ฟูซี หรือฟูยี (ประมาณ 3,935 ปีก่อนพุทธกาล) มีตำนานกล่าวไว้ว่ามีมังกรอยู่ตัวหนึ่งเป็นเจ้าเหนือน่านน้ำทั้งปวงเป็นเวลาพันปี มังกรตัวนั้นก็คือพระเจ้าฟูฮีแปลงร่างนั่นเอง พระเจ้าฟูฮีเป็นผู้ที่มีความสามารถทรงคิดประดิษฐ์ของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น โป๊ย- ก่วย หรือยันต์แปดทิศ ทั้งยังเป็นผู้กำหนดการที่ให้ชายหญิงมีการมั่นหมายกันเป็นคู่ครองอีกด้วย
- ในหนังสือ ประวัติวัฒนธรรมจีน ได้กล่าวไว้ว่า มังกรได้เกิดขึ้นในสมันพระเจ้าอึ่งตี่ พระ-เจ้าอึ่งตี่, อึ้งตี่ หรือหวงตี้นี้เป็นกษัตริย์ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นผืนเดียวกัน โดยพระ-องค์ ได้จินตนาการรูปมังกรขึ้นจากการรวมสัญลักษณ์ของเผ่าต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มังกรเป็นสัญลักษณ์ที่ว่าเผ่าต่างๆได้รวมเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันแล้ว ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อพระเจ้าอึ่งตี่สิ้นอายุไขก็มีมังกรลงมารับพระองค์ และพระมเหสีขึ้นไปเป็นเซียนบนสวรรค์ โดยบางตำราได้กล่าวว่าพระองค์เป็นหวงตี้องค์เดียวกับที่ได้เป็นเจ้าสวรรค์(เง็กเซียนฮ่องเต้)ในเวลาต่อมา
เพราะเหตุนี้ชาวจีนจึงถือว่ามังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง
ลักษณะของมังกร
จากที่บอกไว้ว่ามังกรเป็นสัตว์ที่เกิดจากจินตนาการ โดยการรวมเอาลักษณะของสัญลักษณ์เผ่าต่างๆมารวมกันนั้น สามารถแยกได้ดังนี้
1. เขามังกรมาจากเขากวาง มังกรจะมีเขาได้ก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี และเมื่ออายุถึง 1,000 ปี ก็จะมีปีกเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
2. หัวมังกรมาจากหัวอูฐ บางตำราก็บอกว่ามาจากหัวม้าหรือหัววัว
3. ตามังกรมาจากตาของมารหรือปีศาจ บางตำราบอกว่ามาจากตากระต่าย
4. คอมังกรมาจากงู
5. ท้องมังกรมาจากหอยแครงยักษ์ บางตำราบอกว่ามาจากกบ
6. เกล็ดมังกรมาจากปลาจำพวกตะเพียนหรือกระโห้ โดยมังกรจะมีเกล็ดตลอดแนวสัน-หลัง จำนวน 81 เกล็ด มีเกล็ดตามลำคอจนถึงบนหัว บนหัวมังกรมีรูปลักษณะเหมือนสันเขาต่อกันเป็นทอดๆ
7. ขาและเล็บมังกรมาจากนกอินทรีหรือนกเหยี่ยว จำนวนเล็บของมังกรแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน มังกรที่ยิ่งใหญ่จึงจะมี 5 เล็บ นอกนั้นก็จะเป็น 4 เล็บหรือ 3 เล็บ
8. ฝ่าเท้ามังกรมาจากเสือ
9. หูมังกรมาจากวัว แต่ไม่สามารถได้ยินเสียง บางตำราก็ว่าไม่มีหู บางตำราบอกว่ามังกรได้ยินเสียงทางเขาที่เหมือนเขากวางนั้น
* มังกรตัวผู้จะมีหนวดเคราอีกอย่างหนึ่งด้วย โดยถือว่าหนวดมังกรมีศักดิ์เท่ากับหนวดของจักรพรรดิ
มังกร นั้นจะคาบมีมุกอยู่ เรียกว่ามุกอัคนี เป็นมุกวิเศษ มีเปลวไฟ ขยายใหญ่หรือหดเล็กได้ ทำให้เกิดความมืดสนิทได้ทำให้เกิดแสงสว่างได้ เรียกลมฝนและปราบภูติผีปีศาจได้
ชาวจีนถือว่ามังกรเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง เป็นเจ้าแห่งผืนน้ำ เป็นหัวหน้าของสัตว์เลื้อคลานทั้ง 369 ชนิด เช่น ปลา งู จิ้งจก ฯลฯ สามารถแปลงร่างได้ หายตัวได้ ลมหายใจที่ระบายออกมาทางปากมีลักษณะเหมือนเมฆสามารถเปลี่ยนให้เป็นน้ำหรือไฟ ก็ได้ มังกรจะขึ้นจากน้ำแล้วเหาะไปสู่สวรรค์ในฤดูใบไม้ผลิแล้วจะกลับลงมาในฤดู ใบไม้ร่วง มังกรมีพลังอำนาจในการสร้างความชื้น เพราะฉะนั้นเมื่อมังกรขึ้นจากน้ำก็จะทำให้เกิดฝนตก นี่เองในตำนานของมังกรจึงเป็นเหมือนผู้ดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลด้วย
*ในบางตำราได้อธิบายถึงสิ่งที่มังกรกลัวไว้ด้วย เช่น เหล็ก ขี้ผึ้ง ตะขาบ เสือ ใบต้น wang (ไม่รู้ว่าคือต้นอะไรในปัจจุบัน) ใบต้น lien และผ้าไหมที่ทอด้วยด้าย 5 สี ทำไมมังกรจึงกลัวสิ่งเหล่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด
การกำเนิดของมังกร
การกำเนิดของมังกรมีน้อยมาก มังกรตัวเมียจะวางไข่ในแม่น้ำ ไข่มังกรจะมีลักษณะคล้ายกับหินหรืออัญมณีขนาดใหญ่สีต่างๆ ซึ่งสีของไข่ก็จะเป็นตัวบอกว่ามังกรที่เกิดมานั้นมีสีอะไรด้วยเช่นกัน สีของมังกรบ่งบอกถึงความหมายพิเศษของมังกรสีนั้นๆซึ่งแตกต่างกันออกไป สีของมังกรสามารถแบ่งได้ดังนี้
มังกรแดง : เกิดจากทองสีแดงอายุพันปี สัญลักษณ์ของทิศตะวันตก เป็นมังกรที่ดุร้าย ชอบสู้รบอยู่กลางอากาศ เป็นสาเหตุของการเกิดพายุฝน
มังกรดำ : เกิดจากทองสีดำอายุพันปี สัญลักษณ์ของทิศเหนือ เป็นมังกรที่ดุร้ายชอบการสู้รบ เป็นหนึ่งในเหตุให้เกิดพายุฝน
มังกรขาว : เกิดจากทองสีขาวอายุพันปี สัญลักษณ์ของทิศใต้ เป็นตัวแทนของความตาย ชาวจีนสมมุติให้เป็นรูปร่างหนึ่งของพลังธรรมชาติ
มังกรน้ำเงิน : เกิดจากทองสีน้ำเงินอายุ 8 ร้อย ปี เป็นสัญลักษณ์ของทิศตะวันออก เป็นลางที่บอกถึงการมาของฤดูใบไม้ผลิ สีของมังกรจะเหมือนสีของท้องฟ้ายามฟ้าโปร่ง ถ้าเห็นมังกรตัวนี้แปลว่าถึงฤดูใบไม้ผลิแล้ว
มังกรทอง : เกิด จากทองคำอายุพันปี เป็นมังกรสันโดด เป็นมังกรที่ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป แต่ก็เป็นมังกรที่คนให้ความเคารพมากที่สุด มีอิทธิฤิทธิ์มาก เป็นเจ้าแห่งมังกรทั้งปวง
ตาม ตำราได้กล่าวไว้ว่า มังกรใช่เวลานับร้อยๆปีกว่าจะฟักออกจากไข่ บางชนิดใช้เวลานับพันปี เมื่อถึงเวลาที่ไข่จะฟักจะมีน้ำไหลออกมาจากไข่ พ่อและแม่มังกรจะหลั่งน้ำตาออกมา น้ำตาหยดแรกจะทำให้เกิดลมพัดแรงและน้ำตาหยดที่สองจะทำให้มันสงบลง หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นพายุใหญ่ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุจะดำเนินไปจนกว่าไข่นั้นจะฟักออกมาเป็นตัว ว่ากันว่ามังกรเมื่อฟักออกจากไข่จะมีตัวไม่ใหญ่ไปกว่างูตัวเล็กๆ แต่หลังจากนั้นมันก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว บางตำราได้แบ่งพัฒนาการของมังกรไว้อย่างชัดเจนดังนี้
แรกเกิด - 500 ปี : ตัวเล็กเหมือนงูทั่วไป
500 1,000 ปี : มีเกล็ดขึ้น
1,000 1,500 ปี : เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดโตที่สุด หลังจากนั้นขนาดจะคงที่
1,500 2,000 ปี : เขาเริ่มงอก
2,000 3,000 ปี : มีปีกงอกออกมา
การ จำแนกระหว่างมังกรตัวผู้กับมังกรตัวเมียให้สังเกตที่เขา มังกรตัวผู้จะมีเขาที่งอกขึ้นมาสูงจากหัว มีลักษณะเป็นเหมือนทิวเขาหรือเป็นคลื่นที่มีความสูงต่ำ ที่โคนเขาจะค่อนข้างบอบบางแต่จะค่อยๆแข็งและใหญ่ขึ้นไปจนถึงปลายเขาที่จะมี ความแข็งที่สุด ส่วนมังกรตัวเมียจะมีแผงคอ จมูกเป็นสันตรง เกล็ดจะบางกว่าตัวผู้ และมีหางที่แข็งกว่า
วงจรชีวิตของมังกรจีนโดยละเอียด
มังกร จีนมีวงจรชีวิตการเกิด 4,000 ปี จึงจะเป็นมังกรตัวโตเต็มวัยไข่มังกรจะมีลักษณะเป็นไข่อัญมณี มังกรจีนจะวางไข่ไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำและฝังไว้ลึกจนไม่ถูกรบกวนโดยใครหรือ อะไร ระยะเวลา 1,000 ปีต่อมาไข่มังกรจีนจะฟักออกมาเป็นตัว ในระหว่างช่วงเวลา 500 ปีต่อมา ลูกมังกรจีนจะเจริญเติบโตขึ้น และจะเรียกลูกมังกรจีนว่า ไคอาส (Kias ,มังกรมีเกล็ด) ลูกมังกรจีนมีลักษณะเหมือนกับงูน้ำและหัวของปลาคาร์พผสมกัน และจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ขั้นนี้เรียกว่า ไคโอะ (Kio)
ต่อมาเมื่อเวลา 1,000 ถัดไป ลูกมังกรจีนจะถูกรู้จักในฐานะของ หล่ง (lung ,มังกรตามมาตรฐาน) รยางค์และเกล็ดของมังกรเจริญขึ้นแล้ว ความยาวของลูกมังกรจะเพิ่มขึ้น และหน้าเริ่มมีหนวดเครา 500 ปีต่อมา เป็นเวลาที่ใช้ในการงอกงามของเขา ตอนนี้มังกรจีนสามารถได้ยินเสียงได้แล้ว และจะถูกรู้จักในฐานะของ ไคโอ หล่ง (Kioh-Lung ,มีเขา) 1,000 ปีต่อมาใช้ในการเจริญของปีก ตอนนี้มังกรจีนจะถูกรู้จักในฐานะ ยิ่น หล่ง (มังกรมีปีก) และเจริญเติบโตเป็นมังกรเต็มวัย
นิ้ว ของมังกรจีนในแต่ละเท้าจะมี 4 หรือ 5 นิ้ว ถ้ามี 4 นิ้วเป็นมังกรทั่วไป แต่ถ้ามี 5 นิ้ว เป็นมังกรหลวง ซึ่งในสมัยก่อนจะมีเฉพาะจักรพรรดิเท่านั้น ที่สามารถใช้สิ่งของที่มีรูปมังกรหลวงประดับอยู่ถ้ามีใครอื่นใช้จะถูกประหาร น้ำลายจากมังกรจีนจะทำให้เกิดลูกทรงกลมวิเศษซึ่งเรียกว่า ไข่มุกแห่งพลัง ดวงจันทร์ และ ไข่แห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเลือดของมังกรจีนซึมซาบเข้าไปในแผ่นดินจะเปลี่ยนกลายเป็นอำพัน เมื่อมังกรลอกคราบเป็นเหตุให้เขาเรืองแสงอย่างน่าขนลุกในความมืด
มังกร จีนชอบกินนกนางแอ่นย่าง จึงมีการถวายให้ก่อนเดินทางข้ามน้ำ เพื่อที่จะเอาใจมังกรและเพื่อให้การเดินทางปลอดภัย
ว่ากันว่าบางครั้งในยุคโบราณ มังกรจีนเพศผู้จะแต่งงานกับสัตว์ชนิดอื่น มังกรจะเป็นพ่อของช้างเมื่อแต่งงานกับหมู และเมื่อแต่งงานกับม้าจะได้ลูกเป็นม้าแข่ง การที่มังกรจีนจะนำฝนตกลงสู่พื้นดิน ขึ้นอยู่กับบุคคลสง่างามแห่งหยก หรือจักรพรรดิหยก ผู้ซึ่งมังกรจะรับคำสั่งว่า จะส่งน้ำจากท้องฟ้าเท่าไร จากนั้นพวกมังกรจะต่อสู้กับตัวอื่นอย่างมุ่งร้ายในอากาศ ฝนจะตกลงมาในจังหวะที่มังกรม้วนตัว และชักดิ้นชักงอ
นอกจากนี้มังกรมี ความสามารถที่จะอยู่ในทะเล บินขึ้นไปยังสวรรค์ และขดตัวบนพื้นในรูปของภูเขา มังกรจีนสามารถปัดเป่าวิญญาณพเนจรชั่วร้าย ปกป้องผู้บริสุทธิ์ และให้ความปลอดภัยกับทุกคนที่ถือสัญลักษณ์ของเขามังกรจีนเป็นเครื่องหมาย แห่งอำนาจและคุณงามความดี, ความองอาจและความกล้าหาญ, ความเป็นวีรบุรุษและความอุตสาหะ และความสูงส่งและความศักดิ์สิทธิ์ และนอกจากนี้ มังกรจีนเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ความเป็นมงคล และความมั่งคั่งอีกด้วย
ชนิดของมังกร
มังกรมีมากมายหลายชนิดแล้ว การแบ่งชนิดของมังกรในแต่ละตำราก็มีการแบ่งที่แตกต่างกันออกไป บางตำราบอกว่าแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. มังกรแท้ ชิวเล้ง เป็นมังกรมีเขา มีปีก เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นใหญ่เหนือมังกรทั้งปวง อาศัยอยู่บนฟ้าหรือบนสวรรค์
2. หลี่ หรือลี่เป็นมังกรไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
3. เจี่ยว หรือเฉียวเป็น พวกมังกรมีเกล็ด อาศัยตามลุ่มหนองหรือถ้ำตามภูเขา มีขนาดตัวเล็กกว่ามังกรที่อยู่บนท้องฟ้า มีหัวและลำคอเล็ก ไม่มีเขา หน้าอกเป็นสีเลือดหมูหรือสีน้ำตาลเข้ม ด้านข้างลำตัวและสันหลังมีลายแถบเป็นสีเขียวและสีเหลือง มี 4 ขา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับงู มีลำตัวยาวประมาณ 13 ฟุต
บางตำราบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า ชิวเล้ง เป็นมังกรแห่งสวรรค์ หลี่ เป็นมังกรแห่งทะเล และเจี่ยว เป็นมังกรแห่งภูเขาและที่ลุ่ม
*บางตำราได้เพิ่ม มังกรพื้นถิ่นเดิม ก่วย เป็น มังกรที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายมังกรแท้ บุคลิกดูใจดี กล่าวกันว่ามันมีอำนาจที่เข้มแข็งในการต่อต้านกับความโลภและกิเลสทั้งปวง ชาวจีนนิยมนำมาเขียนเป็นลวดลายบนภาชนะสำริดยุคโบราณต่างๆ
เมื่อได้กล่าวถึง ก่วย ที่ชาวจีนนำมาเขียนเป็นลวดลายแล้วก็สามารถจำแนกชนิดของก่วย ออกได้เป็น 8 ชนิดตามลักษณะลวดลาย คือ
1. มังกรทะยานฟ้า เท้งเล้ง
2. มังกรบิน เอ้งเล้ง
3. มังกรลายกนก เช้าเล้ง
4. มังกรลายกนกเรียว มั้งเล้ง
5. มังกรดั้นเมฆ ฮุ้งเล้ง
6. มังกรโชว์หน้า เจี่ยเล้ง
7. มังกรลายเส้น พัวเล้ง
8. มังกรในวงกลมเมฆ ท่วงเล้ง
ตามตำนานบอกว่ามังกรเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะขึ้นสวรรค์ได้ มีแต่พัวเล้งที่ไม่เคยขึ้นสวรรค์ บางตำราก็บอกว่า ก่วยเล้งหรือกุยเล้ง นี้เป็นมังกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเจ้าแห่งมังกรทั้ง-ปวง เป็นมังกรถือศีลอด ไม่ลงน้ำและดื่มน้ำที่สกปรก เป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม
นอกจากนี้ยังมีมังกรอีกหลายชนิดที่ไม่ได้ถูกจัดเข้าพวก คือ
ch'i-lung เป็นพวกมังกรไม่เขาหรือไม่ก็เป็นพวกมังกร 3 สี คือสีแดง ขาว และเขียว
p'an-lung- เป็นมังกรดิน
p'eng-niao- เป็นพวกครึ่งมังกรครึ่งนก
k'uh-lung- เป็นมังกรที่เกิดจากสาหร่ายทะเล.
pi-hsi เป็นพวกครึ่งเต่าครึ่งมังกร (เป็นเจ้าแห่งแม่น้ำ)
fei-lian เป็นมังกรมีปีกและมีเขา มีหางเหมือนหางงู เป็นเจ้าแห่งลม โดยจะแบกถุงที่ใส่ลมทั้งมวลเอาไว้
อย่าง ไรก็ตามการแบ่งชนิดของมังกรยังสามารถแบ่งได้อีกหลายรูปแบบ เช่น แบ่งตามหน้าที่ของมังกร บางตำราก็บอกว่าเป็นการแบ่งชนิดมังกรที่จัดเป็นหัวหน้าที่มีความสำคัญที่สุด 4 ชนิด คือ
1. มังกรสวรรค์หรือมังกรฟ้า เทียนเล้ง มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และแบกหนุนสวรรค์เอาไว้เพื่อไม่ให้หล่นพังลงมา
2. มังกรเทพ,มังกรเจ้า หรือมังกรจิตวิญญาณ เซินเล้ง มีหน้าที่ดูแลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล คอยให้ลมให้ฝนเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์
3. มังกรพิภพ,มังกรดิน หรือมังกรโลก ตี้หลง มีหน้าที่ดูแลโลกมนุษย์อยู่บนพื้นโลก คอยดูแลเส้นทางน้ำ ดูแลแม่น้ำ คลอง หนอง บึงต่างๆไม่ให้เหือดแห้ง
4. มังกรเฝ้าทรัพย์ ฝู ซาง เล้ง มีหน้าที่เฝ้ารักษาสมบัติของแผ่นดิน ไม่ให้ใครมาลัก-ขโมย
*บางตำราได้เพิ่มมังกรกษัตริย์อีกรวมเป็น 5 ชนิด
ลูกหลานมังกรทั้ง 9 เล้งแซเก้าจื้อ
ตามตำนานได้บอกไว้ว่ามังกรได้ให้กำเนิดลูกหลานไว้ 9 ชนิด ซึ่งสัตว์ทั้ง 9 ชนิด นี้มีรูปร่างลักษณะที่พิเศษแตกต่างกันออกไป แต่เนื่องจากหลังฐานได้สูญหายไปแล้วทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวใดเป็นลูกตัว ใด ตัวใดเป็นตัวผู้หรือตัวใดเป็นตัวเมีย อย่างไรก็ตามต่อมาชาวจีนได้นำสัตว์ทั้ง 9 ชนิดมาวาดเป็นลวดลายไว้ในสิ่งของต่างๆเพื่อเสริมความเป็นมงคลตามลักษณะพิเศษของสัตว์ชนิดนั้นๆ
ลวดลายลูกหลานมังกรทั้ง 9 ชนิด คือ
1. ลายรูปปู่เหลา ชาวจีนมักปั้นเป็นหูของระฆัง หรือทำเป็นลายสลักอยู่บนยอดสุดของฆ้องหรือระฆัง สื่อให้เห็นลักษณะที่ชอบร้องเสียงดังของมัน เวลาที่ถูกปลาวาฬจู่โจม อันเป็นศตรูตัวสำคัญของมัน
2. ลายรูปจิวหนิว เป็นลายที่สลักอยู่บนก้านบิดของซอ สำหรับทดสอบเสียง
3. ลายรูปปาเซีย เป็นรูปสลักบนยอดหินจารึก แสดงถึงว่ามันชอบในวรรณคดี เป็นเครื่องหมายแสดงแทนเต่าทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งก้มหัวลงต่ำแสดงถึงความเศร้าโศก และมันยังถูกนำไปทำเป็นฐานของเสาหิน หรือรูปสลักสำหรับหลุมฝังศพ เป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ เป็นสัตว์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเข้มแข็งอดทน
4. ลายรูปปู-เซีย เป็นรูปสลักที่อยู่ก้นของอนุสาวรีย์หิน มีความหมายถึงให้มันช่วยแบกรับน้ำหนักที่มากไว้
5. ลายรูปเจ้าเฟิง เป็นรูปลักษณะที่อยู่บนชายคาโบสถ์วิหาร เพื่อสะท้อนความที่มันพอใจต่ออัตรายทั้งหลาย
6. ลายรูปฉี-เหวิน เป็น ลายรูปที่สลักอยู่บนคานสะพาน เนื่องจากมันเป็นพวกชอบน้ำ มันจึงถูกสลักไว้บนยอดจั่วของอาคารเพื่อป้องกันไฟ มันชอบจ้องมองออกไปข้างนอก ดังนั้นสัญลักษณ์ของมันจึงเป็นรูปปลายกหางขึ้นฟ้า
7. ลายรูปส้วน-นี่ เป็นลายรูปที่อยู่บนยอดอาสนะของพระพุทธรูป มันมีนิสัยชอบพักผ่อน ตำราบอกไว้ว่ามันเป็นพวกเดียวกับซีจู หรือสัญลักษณ์รูปสิงโต
8. ลายรูปไย่จู เป็นรูปลายที่สลักอยู่บนด้ามดาบ เพราะมันชอบการฆ่าฟัน
9. ลายรูปปี๋-กัน เป็นลายรูปที่สลักอยู่ตามประตูเรือนจำ เพราะมันชอบขึ้นศาลต่อสู้คดี ทะเลาะ วิวาท มันมีพละกำลัง ความเข้มแข็ง และดุร้ายมาก เป็นสัตว์ที่มีเกล็ดและมีเขาหนึ่งเขา
อย่างไรก็ตามในบางตำราที่มีการอธิบายถึงลูกหลานมังกรทั้ง 9 ชนิด ก็มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน อีกทั้งชื่อเรียกที่ต่างกันจึงสามารถแยกได้อีก คือ
1. เจียป๊วย รูปร่างเป็นเต่า มีขาเล็กๆ นิยมนำมาปั้นเป็นเท้าของโต๊ะขนาดใหญ่
2. โผวล้อ หน้าตาคล้ายมังกรแต่ตัวเล็กมาก ร้องเสียงดัง นิยมนำมาปั้นเป็นหูของระฆัง
3. เบียน หน้าตาเหมือนเสือ ใช้เป็นลายปิดหน้าประตูเพื่อแก้ฮวงจุ้ย
4. วาปี้ ชอบการสู้รบ มักใช้แต่งเป็นหัวของอาวุธต่างๆ
5. หมู หน้าตาดุร้าย เขี้ยว 4 เขี้ยว ใช้ปั้นเป็นเชิงชายหลังศาลเจ้า มีไว้เพื่อระวังภัย
6. ปาแห่ง ว่ายน้ำเก่ง นิยมใช้แต่งเสาสะพานใหญ่ๆ
7. จุงยี้ นิยมนำมาปั้นเป็นกระถางเผากระดาษเงินกระดาษทอง
8. เจี๊ยะชัง กินจุมาก มักนำมาสลักเป็นปล่องระบายควันของเตาโบราณ
9. ซกโต๊ว มักนำมาทำเป็นห่วงหน้าประตูบ้าน (ที่เคยเห็นคือเอาไว้สำหรับเคาะประตู)
จะเห็นได้ว่าลูกมังกรทั้ง 9 ชนิดที่ได้ยกมานั้น ทั้ง 2 ชุดต่างก็มีชนิดที่คล้ายคลึงกันและชนิดที่ต่างกัน ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบดูแล้วจะเห็นว่ามีสัตว์อยู่ประมาณ 12 ชนิด บางตำราก็บอกว่ารูปลายปาเซีย ลายปู-เซีย และลายปี๋-กัน ไม่ใช่ลูกหลานมังกร แต่ก็นำมาจัดเป็นมังกรในเผ่าพันธ์หนึ่งเหมือนกันและนับเป็นลวดลายที่เสริมมงคลด้วยเช่นกัน
มังกรคู่กับหงส์
เหตุ ที่มังกรต้องคู่กับหงส์เนื่องมาจาก มังกรเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิส่วนหงส์เป็นสัญลักษณ์ของมเหสี ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่าหงส์เป็นพาหนะของพระแม่ซิหวั่งหมู่ ซึ่งเป็นเจ้าแม่ผู้ปกครองภูเขาคุนหลุน ซึ่งถ้าเทียบตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เขาคุนหลุนก็คือเขาพระสุเมรนี่เอง ตามนิทานแล้วเจ้าแม่เป็นผู้ปกครองสวรรค์ฝั่งตะวันตกคู่กับเง็กเซียนฮ่องเต้ ที่ปกครองสวรรค์ฝั่งตะวันออก เหมือนกับที่องค์จักรพรรดิเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองแต่องค์ฮองเฮาเป็นผู้ ปกครองวังหลังนั่นเอง
มังกรกับจักรพรรดิจีน
มังกร เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิจีน แต่การใช้มังกรเป็นลวดลายประดับบนเสื้อนั้นเป็นการแสดงถึงความสูงต่ำของ ตำแหน่ง ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
รูปมังกร 5 เล็บ จะใช้กับสมเด็จพระจักรพรรดิและองค์ชายในลำดับที่ 1 และ 2 เท่านั้น
รูปมังกร 4 เล็บ ใช้กับองค์ชายในลำดับที่ 3 และ 4
องค์ชายลำดับที่ 5 เป็นต้นไปรวมถึงข้าราชการชั้นธรรมดาใช้รูปคล้ายงูที่มีเล็บ 5 เล็บได้ บางตำราก็บอกว่าเป็นรูปมังกร 3 เล็บ
*หลังปี ค.ศ. 1759 ได้ มีการกำหนดสัญลักษณ์ไว้อย่างแน่ชัด คือ จักรพรรดิ ขุนนางชั้นอัครมหาเสนาบดี เสนาบดี และราชบุตรเขยพระองค์แรก เจ้าชายพระองค์แรก รูปมังกรจะมี 4 เล็บ อัครมหาเสนาบดีที่โปรดปรานจะได้รับการพิจารณาเพิ่มเล็บมังกรเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามการกำหนดชั้นฐานะก็มีเรื่องของสีเสื้อเข้ามาเกี่ยวด้วย สีของเสื้อที่จะใช้กับลายมังกรมีอยู่ 3 สีคือ สีแดง สีเหลืองและสีน้ำเงิน สีแดงนั้นใช้ในงานพิธีมีความหมายถึงความสุข สีเหลืองใช้เฉพาะจักรพรรดิและพระมเหสี(สี เหลืองเป็นสีของราชวงศ์ชิง แต่หลายความเห็บบอกว่าจีนน่าจะใช้สีเหลืองเป็นสีของพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่ ยุคโบราณ เนื่องมาจากจีนมีความเกี่ยวข้องกับสีเหลืองมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็น ดินเหลือง แม่น้ำเหลือง ฯลฯ) สีน้ำเงินหมายถึงราชสมบัติและประเทศ
ฉลองพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินจีนตอนพิธีราชาภิเษก เป็นผ้าปักไหมสีสันต่างๆ เป็นรูปมังกร 5 เล็บอยู่ตรงกลางด้านหน้า ข้างบนตัวมังกรเป็นกลุ่มดาว 3 ดวงที่ฮ่องเต้ต้องบวงสรวง ข้างขวาของตัวมังกรเป็นอักษรคำว่า ฮก หมายถึงความสุข ข้างซ้ายของตัวมังกรเป็นรูปขวานโบราณหมายถึงอำนาจ
ใน ความเป็นจริงแล้ว องค์จักรพรรดิของจีนนอกจากจะเป็นผู้นำของประเทศแล้ว ยังเป็นผู้นำในทางศาสนาอีกด้วย ดังจะเห็นจากที่พระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้นำในการทำพิธีต่างๆ ซึ่งตามคติโบราณที่ว่าแต่เดิมมังกรนั้นก็คือมนุษย์หรือเกิดมาจากมนุษย์(ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องการกำเนิดมังกร) และรูปลักษณ์ของเทพเจ้าโบราณก็มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งมังกร มังกรจึงถูกนำมาเปรียบให้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์จีนนั่นเอง
ตรามังกร
ตรา แผ่นดินของจีนที่เราเคยเห็นตามภาพยนต์มักสลักด้ามถือให้เป็นรูปมังกร ถึงแม้ว่าจีนจะนับถือมังกรมากก็ตาม แต่ตราพระราชลัญจกรก็สลักเป็นรูปตัวอักษร ประเทศที่ใช้ตราพระราชลัญจกรเป็นรูปมังกรก็คือประเทศภูฏาน โดยสลักเป็นรูปมังกร 2 ตัวหันเข้าหากัน ประกอบด้วยลวดลายเมฆ
ธงมังกร
ธงมังกรเป็นธงประจำชาติจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นรูปมังกร 5 เล็บสีต่างๆ และดวงอาทิตย์สีแดงบนพื้นสีเหลือง ธงมังกรได้ถูกยกเลิกไปเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ
ความเชื่อในเรื่องสิริมงคลของมังกร
ตาม คติความเชื่อของประเทศทางตะวันตก มังกรเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและสิ่งที่ไม่ดีงามต่างๆ แต่ความเชื่อในเรื่องมังกรของประเทศทางแถบตะวันออกนั้นแตกต่างออกไป มังกรของทางตะวันออกเป็นตัวแทนของสิ่งดีงาม ความเป็นสิริมงคล มังกรมีความเมตตาและไม่มีความประสงค์ร้ายต่อใคร หากแต่จะคอยช่วยเหลือมนุษย์อีกด้วย
ความสำคัญของมังกรสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- มังกรเป็นสัญลักษณ์โบราณของจีน รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิด้วย
- มังกรเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่
- มังกรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนโดยจะช่วยทำให้ฝนตก
- มังกรโดยเฉพาะมังกรคู่เป็นผู้พิทักษ์อำนาจของเทวดาที่คอยดูแลโลกมนุษย์
- มังกรมีส่วนในความเชื่อของการทำนายทายทัก คือเป็นหนึ่งใน 12 นักษัตร และเป็นนักษัตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีอำนาจมากที่สุด
- ชาวจีนแทนสัตว์ 4 ชนิดให้เป็นสัญลักษณ์ประจำทิศทั้ง 4 มังกร น้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ประจำทิศตะวันออกของจักรวาล โดยที่จุดศูนย์กลางยังเป็นจุดของมังกรเหลืองหรือมังกรทอง ในการทำพิธีต่างๆถือกันว่าเป็นจุดของประธานในจักรวาล ชาวจีนเปรียบมังกรเหลืองหรือมังกรทองนี้เป็นตัวแทนของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ของจีน 5 องค์
- หลักของภูมิสถานพยากรณ์หรือที่เรารู้จักกันว่าหลักฮวงจุ้ยตำแหน่งมังกรถือเป็นตำ- แหน่งที่ดีที่สุด สุสานของจักรพรรดิที่ตั้งอยู่ตรงตำแหน่งมังกรเชื่อว่าจะทำให้ลูกหลานได้สืบราชสมบัติไปทุกชั่วคน
- ชาว จีนเชื่อว่ามีมังกรสถิตอยู่ในแม่น้ำทุกสายขุนเขาทุกแห่ง เมื่อมีการสร้างบ้านก็ต้องมีการทำพิธีคล้ายกับที่ไทยมีพิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยชาวจีนจะมีการจัดทำหิ้งบูชาสำหรับเทวดานอกจากนั้นก็จะต้องอัญเชิญมังกร ประจำถิ่นให้มาสถิตอยู่ด้วย ซึ่งมังกรจะช่วยปกป้องให้ในเขตบ้านมีความปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุข ช่วยขับไล่ความชั่วร้ายและภูติผีปีศาจออกไป โดยอำนาจของมังกรจะมีอายุประมาณ 100 ปี เมื่ออำนาจของมังกรอ่อนลงก็ต้องการทำพิธีใหม่ แต่การทำพิธีก็ต้องดูด้วยมังกรได้รับอนุญาติในบ้านที่มังกรนั้นเลือกหรือไม่ เพราะว่าถ้าไม่แล้วมังกรก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
- มังกร เป็นตัวแทนของความเข้มแข็ง ความดี การอำนวยพร ความมั่งคั่งร่ำรวย มังกรเป็นผู้มีธรรมะและบารมี นำมาซึ่งความสุข และลิ้นของมังกรก็เปรียบเหมือนดาบที่จะคอยลงโทษผู้ที่กระทำความผิดและความ ชั่วร้าย
- ใน ประเทศจีนมีคำกล่าวมากมายที่กล่าวถึงความหมายอันเป็นสิริมงคลของมังกร ซึ่งมีทั้งกล่าวถึงบุคคล สถานที่ และสิ่งของต่างๆ เช่น เจ้าชายมังกร หมายถึงการเป็นคนที่ร่ำรวยมากและมีความใจดี ก้าวย่างมังกร หมายถึงลักษณะที่สง่างาม ฯลฯ ชาวจีนจึงมีคำอวยพรที่เป็นมงคลว่า ขอให้โชคดีด้วยบารมีของมังกรและหงส์
การเล่นเต้นมังกร
การ เล่นเต้นมังกรมีมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ค้นพบย้อนไปเก่าที่สุดคือภาพการเล่นเต้นมังกรในสมัยราชวงศ์ ฮั่น เป็นรูปคน 3 คนถือไม้ยาวเชิดหุ่นรูปมังกร เมื่อประมาณ 1,700 ปี มาแล้ว
ในหนังสือเล่าเรื่องมังกรได้อธิบายการเล่นเต้นมังกรไว้ว่า
มังกร เป็นเจ้าแห่งฝน ฉะนั้นในสมัยโบราณคนจีนจึงบูชามังกรด้วย เมื่อเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกนานเกินควร เขาก็จะทำรูปพญามังกร โดยเอาไม้ไผ่มาทำเป็นโครง แล้วปิดด้วยกระดาษเหลืองหรือผ้า คือทำเป็นหัวมังกร ส่วนตัวทำเป็นมนุษย์ เอาหุ่นนี้ครอบผู้ใหญ่หรือเด็กก็ได้ เดินแห่ไปตีฆ้องกลอง มีกระบวนถือธงที่เขียนถ้อยคำเกี่ยวกับฝน เช่น ฝนกำลังจะมา หรือ ขอให้ฝนตก ในกระบวนแห่จะมีชายคนหนึ่งหาบถังใส่น้ำสองใบ ใช้กิ่งสนจุ่มน้ำในถังประพรมไปตามถนน พร้อมกับร้องว่า ฝนมาแล้ว ฝนมาแล้ว หลังจากเดินแห่ไปรอบๆหมู่บ้าน แล้วก็กลับมายังสถานที่ทำการของนายอำเภอหรือผู้ปกครองหมู่บ้านจุดธูปบูชาคำนับรูปมังกร (เล่าเรื่องมังกร โดย ส.พลายน้อย)
จะ เห็นได้ว่าการเล่นเต้นมังกรในสมัยก่อนเป็นพิธีการขอฝนอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นการเล่นในงานมงคลอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ ว่า พิธีแห่มังกร นั่นเอง
เทศกาลแข่งเรือมังกร
การแข่งเรืองมังกรของชาวจีนจะจัดแข่งในวันที่ 5 เดือน 5 ทางจันทรคติ (ราวๆเดือนมิถุนายน) เรือที่ใช้เป็นเรือยาวลำตัวแคบ ความยาวมีตั้งแต่ 40-120 ฟุต ตามแต่การสร้างแต่ละท้องถิ่น ใช้ฝีฟายตั้งแต่ 40-80 คน หัวและท้ายเรือสลักเป็นรูปมังกร ข้างลำเรือทาสีและวาดเป็นรูปเกล็ดมังกร บางที่ก็ทำเป็นเรือหัวมังกรเฉยๆ
ตำนานได้กล่าวไว้ว่า จูหยวน (ซูหยวน หรือคุดหงวน) กวี เอกผู้เป็นที่รักใคร่ของประชาชนได้กระโดดน้ำตาย เพราะผิดหวังร้ายแรงที่ไม่อาจแก้ไขความหายนะของแคว้นจูให้ยิ่งใหญ่เหมือน เดิมได้ ระยะเวลาที่จูหยวนโดดน้ำตายหลายตำรากล่าวเอาไว้ไม่ตรงกัน คือประมาณ 330-220 ปีก่อนคริสต์ศักราช อีกทั้งสถานที่ที่เขาโดดน้ำตายก็ต่างกันด้วย
หลัง จากที่ชาวบ้านทราบข่าวว่าจูหยวนโดดน้ำตายก็เศร้าโศกกันเป็นอันมาก ชาวบ้านจึงได้ออกพายเรือเพื่อค้นหาซากศพของเขา โดยชาวบ้านจะทำเรือเป็นรูปหัวมังกรเพราะเชื่อมังกรเป็นเจ้าแห่งสัตว์น้ำทั้ง ปวง และมังกรจะขับไล่สัตว์น้ำไม่ให้มากัดกินซากศพของจูหยวน
ต่อ มาเมื่อถึงวันเทศกาลชาวบ้านนำเอาอาหารมาโยนลงไปในแม่น้ำเพื่อให้จูหยวน แต่เนื่องจากมีสัตว์น้ำอยู่มากและสัตว์เหล่านั้นก็มาแย่งกินอาหารไปหมด ชาวบ้านจึงได้นำใบไผ่มาห่ออาหารเป็นรูปกรวยเพื่อที่ปลาเหล่านั้นจะได้กิน อาหารไม่ได้ ชาวบ้านเรียกอาหารนี้ว่า ขนมจ้าง (ในบางตำราเรียกว่า ข้าวซุง เป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่) ซึ่งถ้าดูจากลักษณะและรูปร่างแล้ว ขนมจ้างหรือข้าวซุงก็คือ บ๊ะจ่าง ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้เอง
เทศกาลการแข่งเรือมังกรเกิดขึ้นเพื่อการบูชามังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ มีนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าเทศกาลวันที่ 5 เดือน 5 นี้มีมาก่อนที่จูหยวนจะเกิดเสียอีก แต่ในภายหลังได้มีการรวมเอาการแข่งเรือมังกรเข้าไปอยู่ในเทศกาลด้วย
ใน งานเทศกาลแข่งเรือมังกร ชาวบ้านจะเอาอาหารใส่กระบอกไม้ไผ่หรือห่อด้วยใบไผ่ใหญ่ๆ แล้วโยนลงน้ำเพื่อเซ่นไหว้มังกร แล้วจึงมีการจัดแข่งเรือมังกรเพื่อให้เจ้าแห่งสัตว์น้ำได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
ใน งานเทศกาลจะมีการละเล่นที่สนุกสนานหลายอย่าง เช่น การปล่อยเป็ดไปตามน้ำแล้วเด็กๆผู้ชายก็ไล่จับเป็ดกันอย่างสนุกสนาน เมื่อถึงเวลากลางคืน เรือที่ใช้แข่งจะถูกนำไปจอดไว้กลางน้ำ มีการประดับไฟหลากสี มีการจุดพลุและประทัดซึ่งเมื่อหมดแสงพลุและประทัดแล้ว เทศกาลแข่งเรือมังกรในปีนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง
ที่มาของข้อมูล
: http://iceage-no7.exteen.com/20050609
: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99
: http://www.thepjeen.com
: http://www.bestinternetshopping.com/embroidery_appliques/dragon_patches.htm
: flickr.com/photos/34003965@N00/218182867
: http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Blue_china_dragon.jpg
: cutieparade.exteen.com/20070329/entry-2
ความคิดเห็น