ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #10 : สาธารณรัฐโครเอเชีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.21K
      0
      20 ม.ค. 50



     
    สาธารณรัฐโครเอเชีย
    Republic of Croatia


     
    ข้อมูลทั่วไป
    เมืองหลวง กรุงซาเกร็บ (Zagreb)

    พื้นที่ 56,538 ตารางกิโลเมตร (1 ใน 10 ของประเทศไทย)

    ประชากร 4.6 ล้านคน (ค.ศ. 2005)

    เชื้อชาติ ชาวโครอัท 89.6% ชาวเซิร์บ 4.54% อื่นๆ (ชาวบอสเนีย ฮังกาเรียน เช็ก) 5.9%

    ศาสนา ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิค 87.8% นิกายออโธด็อกซ์ 4.4% และศาสนาอิสลาม 1.28%

    ภาษา โครเอเชียนเป็นภาษาราชการ ภาษาอื่นๆ ที่ใช้พูดกันโดยชนกลุ่มน้อย ได้แก่ เซอร์เบียน ฮังกาเรียน อิตาเลียน เยอรมัน อังกฤษ

    ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว เรียกว่า Sabor มีสมาชิก 152 คน ประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐบาล มีวาระ 5 ปี รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก ระหว่างพรรค Croatia Democratic Union และพรรค Democratic Centre มี 91 เสียง จากทั้งหมด 152 เสียง

    ระบอบการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 เขต (region) และเขตปกครองพิเศษ (special administrative unit) 1 เขต ได้แก่ กรุงซาเกร็บ

    ประธานาธิบดี นาย Stjepan Mesic (เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2000 หมดวาระในปี ค.ศ. 2005 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2005)

    นายกรัฐมนตรี นาย Ivo Sanader (ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2003)

    รัฐมนตรีต่างประเทศ นาง Kolinda Grabar- Kitarotic (ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2003)

    วันประกาศเอกราช 25 มิถุนายน ค.ศ. 1991

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ชาวโครอัทอพยพมาจากทางเหนือของยุโรป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และอยู่ภายใต้อาณาจักรไบแซนไทน์จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 จากนั้นตั้งตนเป็นรัฐอิสระ จนกระทั่งถูกผนวกอยู่ภายใต้อาณาจักรออสโตร-ฮังการีในปี 1645 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1

    หลังจากอาณาจักรออสโตร-ฮังการีล่มสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเซิร์บ โครอัท และสโลวีน ได้ร่วมกันสถาปนารัฐอิสระขึ้นในเดือนตุลาคม 2461 และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน รัฐอิสระดังกล่าวได้รวมกับอาณาจักรเซอร์เบีย กลายเป็นอาณาจักรเซิร์บ โครอัท และสโลวีน และในปี 2472 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นยูโกสลาเวีย

    ในปี 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมันได้บุกเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของยูโกสลาเวีย และตั้งรัฐอิสระ “Greater Croatia” พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลหุ่นภายใต้การนำของนาย Ante Pavelic ซึ่งได้สังหารชาวเซิร์บ ยิว และยิปซี เป็นจำนวนหลายแสนคน ในขณะที่กองทัพอิตาลีได้บุกเข้ายึดดินแดน Istria และพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล

    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียในปี 2488 โดยรวม 6 สาธารณรัฐและมณฑลอิสระปกครองตนเอง 2 มณฑล ได้แก่ เซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย และมณฑลโคโซโวและวอยโวดินา ภายใต้การนำของจอมพลติโต (Marshall Josip Broz Tito) ชาวโครอัท ซึ่งปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ จอมพลติโตสามารถควบคุมสถานการณ์ความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติไว้ได้ระดับหนึ่ง ด้วยการยกให้ชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถึงแม้จะสร้างความเป็นเอกภาพให้แก่ยูโกสลาเวีย แต่ความแตกแยกโดยพื้นฐานของประเทศยังคงมีอยู่ ดังนั้น เมื่อจอมพลติโตถึงแก่อสัญกรรมในปี 2523 กระบวนการสู้รบแบ่งแยกดินแดนจึงเริ่มรุนแรงขึ้น

    ภายหลังจากที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกได้ล่มสลายลงในปี 2532 ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของสาธารณรัฐต่างๆ ในยูโกสลาเวียเริ่มก่อตัวขึ้น โครเอเชียได้จัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2533 และประธานาธิบดี Franjo Tudjman ได้รับเลือกตั้ง ต่อมา ในวันที่ 25 มิถุนายน 2534 โครเอเชียและสโลวีเนียได้ประกาศเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย

    ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ให้การรับรองเอกราชสาธารณรัฐโครเอเชีย และสโลวีเนีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535 และบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2535 เป็นผลให้หลายประเทศในยุโรปให้การรับรองประเทศดังกล่าวในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 สหรัฐฯ ได้ให้การรับรองสโลวีเนีย โครเอเชีย และบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา สำหรับไทยเป็นประเทศอาเซียนประเทศแรกที่ให้การรับรองโครเอเชียและสโลวีเนีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535

    สงครามระหว่างโครเอเชียและชาวเซิร์บ (2534-2538)
    โครเอเชียประสบปัญหาความตึงเครียดระหว่างชาวโครอัทและชาวเซิร์บมาโดยตลอด อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา กล่าวคือ ชาวโครอัทอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออสโตร-ฮังการี จึงมีวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาแบบคริสต์แคธอลิก ในขณะที่ชาวเซิร์บเคยอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) และอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman) มานับพันปี จึงได้รับการหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบมุสลิม และคริสต์นิกายตะวันออกเมื่อโครเอเชียภายใต้การนำของประธานาธิบดี Tudjman ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย เมื่อปี 2534 นั้น รัฐบาลกลางยูโกสลาเวียได้ส่งกองทัพเข้าไปในโครเอเชีย เพื่อพิทักษ์ชนกลุ่มน้อยชาวเซิร์บ ในเขต Krajina ในขณะที่โครเอเชียใช้กำลังผลักดันชาวเซิร์บออกนอกประเทศ ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างโครเอเชีย และชาวเซิร์บในโครเอเชียซึ่งมียูโกสลาเวียหนุนหลัง

    ในปี 2535 สหประชาชาติได้เริ่มแทรกแซงโดยจัดการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลโครเอเชียและชาวเซิร์บ พร้อมทั้งส่งกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติเข้าไปประจำการในเขต Krajina และดินแดน Slavonia ในโครเอเชีย เพื่อสร้างเขตปลอดทหารในดินแดนที่ชาวเซิร์บยึดครอง ต่อมา ประธานาธิบดี Tudjman ได้ขอให้สหประชาชาติถอนทหารออกจากโครเอเชียภายในเดือนมีนาคม 2538 แต่สหประชาชาติเพียงแต่ลดจำนวนกองกำลังรักษาสันติภาพลงเท่านั้น สร้างความไม่พอใจแก่ประธานาธิบดี Tudjman จึงส่งทหารบุกเข้ายึด Krajina ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และขับไล่ชาวเซิร์บราว 200,000 คนออกไป รวมทั้งขู่จะใช้กำลังทหารเข้ายึด Slavonia ต่อมา สหรัฐฯ ได้เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยเชิญประธานาธิบดี Tudjman ประธานาธิบดี Slobodan Milosevic แห่งยูโกสลาเวีย และประธานาธิบดี Alja Izetsegovic แห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ไปร่วมประชุมที่เมือง Dayton มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ เป็นผลให้มีการลงนามย่อในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งโครเอเชียยอมยุติการรบอย่างถาวรและรับผู้ลี้ภัยกลับคืนประเทศ และต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2538 ได้มีการลงนามความตกลง Dayton ที่กรุงปารีส

    ภายหลังการอสัญกรรมของประธานาธิบดี Tudjman ในปี 2542 นาย Stjepan Mesic ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำเสรีนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ทำให้โครเอเชียพัฒนาไปอย่างมาก โดยได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายและนโยบาย จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อผนวกดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ซึ่งมีชาวโครอัทอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นการให้ความสำคัญกับการยุติความขัดแย้งกับบอสเนียฯ และปรับความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตก และการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546

    การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2546
    เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 โครเอเชียได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 4 นับแต่โครเอเชียได้รับเอกราชแยกจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเมื่อปี 2534 โดยมีชาวโครเอเชียที่มีสิทธิออกเสียง 4.3 ล้านคน มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งสิ้น 152 คน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 52

    พรรค Croatian Democratic Union ซึ่งได้ที่นั่งสูงสุด ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคต่างๆ ได้แก่ พรรค HSS (10 ที่นั่ง), NM (8 ที่นั่ง), HSLS-DC (3 ที่นั่ง), HSU (3 ที่นั่ง) และ HDSS (1 ที่นั่ง) รวมทั้งสิ้น 91 เสียง จากทั้งหมด 152 เสียง และต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ประธานาธิบดี Stjepan Mesic โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Ivo Sanader เป็นนายกรัฐมนตรี
    สืบแทนนาย Ivica Racan

    สื่อมวลชนท้องถิ่นและเยอรมันวิจารณ์ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นการถอยหลังไปสู่ความเป็นชาตินิยม และอาจทำให้กระบวนการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของโครเอเชียต้องล่าช้าลง เนื่องจากพรรค HDZ ของนาย Sanader ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดี Franjo Tudjman มีนโยบายชาตินิยมขวาจัดและโดดเดี่ยวประเทศ เคยเป็นพรรครัฐบาลในช่วงปี 2535-2543 แต่แพ้การเลือกตั้งสมัยที่แล้ว เนื่องจากปัญหาทุจริตในวงราชการและนโยบายชาตินิยมหัวรุนแรง แม้พรรค HDZ จะแถลงว่า ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายเป็นสายกลาง ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม ส่งเสริมการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และมุ่งให้โครเอเชียเป็นสมาชิกนาโต้และสหภาพยุโรปภายในปี 2549 และ 2550 ตามลำดับก็ตาม

    พรรคการเมืองสำคัญ
    - Croatian Democratic Union (HDZ) เป็นพรรครัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 มีนโยบายชาตินิยมขวาจัด
    - Croatian Party of Rights (HSP) ดำเนินนโยบายขวาจัด
    - Croatian People’s Party ดำเนินนโยบายเสรี
    - Social Democratic Party of Croatia (SDP) เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ซึ่งก่อตั้งโดยนาย Ivica Racan อดีตนายกรัฐมนตรี
    - Croatian Peasants’ Party (HSS) เก่าแก่ที่สุดในโครเอเชีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยม

    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและสหภาพยุโรป
    ปัจจุบัน รัฐบาลโครเอเชียมุ่งที่จะเข้าเป็นสมาชิกนาโต้และสหภาพยุโรปภายในปี 2549 และ 2550 ตามลำดับ ทั้งนี้ บรรยากาศทางการเมืองของโครเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Stjepan Mesic ได้รับเลือกตั้งในปี 2543 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและสหภาพยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยลำดับ โดยสหภาพยุโรปได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างและเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมประชาธิปไตย และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญแก่โครเอเชีย เพื่อยกมาตรฐานและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของโครเอเชีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 รัฐบาลโครเอเชียได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2550 เช่นเดียวกับสาธารณรัฐบัลแกเรียและโรมาเนีย ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2548 สหภาพยุโรปได้เปิดการเจรจาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปกับฝ่ายโครเอเชีย และขณะนี้โครเอเชียได้รับสถานะ candidate country จากสหภาพยุโรปแล้ว

    ความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน
    โครเอเชียมีอาณาเขตติดต่อกับฮังการี บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา เซอร์เบียและมอนเตเนโกร และสโลวีเนีย และได้เกิดปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และเซอร์เบียและมอนเตเนโกร รวมทั้งความขัดแย้งเหนือน่านน้ำกับสโลวีเนีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ความตึงเครียดดังกล่าวได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลโครเอเชียได้ดำเนินนโยบายเข้มงวดในการควบคุมการใช้น่านน้ำของโครเอเชียเหนือทะเลเอเดรียติก ทั้งนี้ การยุติความขัดแย้งกับบอสเนียยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้โครเอเชียสามารถเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ในอนาคต และรัฐบาลโครเอเชียยังมีภารกิจสำคัญ คือ การต้องเผชิญแรงกดดันเรื่องการให้ความร่วมมือส่งอาชญากรสงครามให้ศาลระหว่างประเทศ และการดำเนินการรับผู้ลี้ภัยชาวเซิร์บ ซึ่งมีจำนวนกว่า 280,000 คน กลับประเทศด้วย

    ความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและสหรัฐฯ
    ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและสหรัฐฯ นั้น สหรัฐฯ มุ่งที่จะเสริมสร้างประชาธิปไตยในโครเอเชีย และการสร้างสังคมที่มีความมั่นคงมากขึ้น โดยได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซาเกร็บ เมื่อปี 2535 และได้ร่วมมือกับรัฐบาลโครเอเชียในการขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ สงคราม และการแบ่งแยกเชื้อชาติ

    นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังสนับสนุนการส่งผู้อพยพกลับประเทศ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค โดยได้มอบเงินช่วยเหลือมากกว่า 13.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้โครเอเชีย นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและปรับโครงสร้างภาคการเงินของโครเอเชีย

    เศรษฐกิจการค้า
    สกุลเงิน Croatian kunar (คูน่า)

    อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 0.18 Kunar

    GDP 38.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    GDP per capita 8,345 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.3 (2548)

    อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 4.3 (2548)

    อุตสาหกรรมที่สำคัญ เคมีภัณฑ์ พลาสติก เครื่องจักรกล การต่อเรือ การกลั่นและผลิตปิโตรเลียม

    ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน บอกไซต์ แร่เหล็ก แคลเซียม ไมก้า เกลือ

    การส่งออก 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    สินค้าส่งออก เครื่องจักร อุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น อาหาร

    ประเทศส่งออกสินค้า อิตาลี บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เยอรมนี ออสเตรีย

    การนำเข้า 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    สินค้านำเข้า เครื่องจักร อุปกรณ์การขนส่ง เชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เคมีภัณฑ์ อาหาร

    ประเทศนำเข้าสินค้า อิตาลี เยอรมนี รัสเซีย สโลวีเนีย



    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโครเอเชีย
    1. ด้านการทูต
    ภายหลังจากโครเอเชียแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย และประกาศเอกราช เมื่อ 25 มิถุนายน 2534 ไทยได้ประกาศรับรองเอกราชของโครเอเชียเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2535 ให้ดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโครเอเชีย จึงได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ระหว่างกันในวันที่ 9 กันยายน 2535 โครเอเชียอยู่ภายใต้เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ส่วนฝ่ายโครเอเชียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโครเอเชีย ณ กรุงจาการ์ตา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยและโครเอเชียได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ระหว่างกัน โดยกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโครเอเชีย ได้แก่ นาย Alojzije Pavlovic และกงสุลกิตติมศักดิ์โครเอเชียประจำประเทศไทย ได้แก่ นายวิฑูรย์ อร่ามวารีกุล

    2. ด้านการเมือง
    โครเอเชียแสดงความชื่นชมอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองเอกราชของโครเอเชีย แต่ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากโครเอเชียยังคงพัวพันในสงครามกับชาวเซิร์บจนถึงปี 2537 และภายหลังการสู้รบ โครเอเชียก็ต้องทุ่มเทเวลาและกำลังทรัพย์ให้กับการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฝ่ายโครเอเชียเริ่มแสดงท่าทีกระตือรือร้นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายโครเอเชียได้พยายามส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายมีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

    3. ด้านเศรษฐกิจ
    ในบรรดาสาธารณรัฐที่อยู่ภายใต้สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย โครเอเชียมีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นรองเพียงสโลวีเนีย เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย รายได้ส่วนใหญ่ของโครเอเชียมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและมีหมู่เกาะที่สวยงาม ทำให้ในปัจจุบัน โครเอเชียจึงยังคงสภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียส่วนใหญ่ นอกจากสโลวีเนีย ไว้ได้

    การค้า
    โครเอเชียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในปี 2548 การค้ารวมระหว่างไทย-โครเอเชีย มีมูลค่า 33.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 17.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 52.67 ไทยเป็นฝ่ายได้ดุล 2.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้า 15.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก 18.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก รองเท้าและชิ้นส่วน ผ้าผืน หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัว

    สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและไม้อื่นๆ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องแต่งเรือน ดินสอ ปากกา หมึกพิมพ์และอุปกรณ์เกี่ยวกับการพิมพ์ สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า และ เคมีภัณฑ์

    การลงทุน
    ปัจจุบันยังไม่ปรากฏการลงทุนของโครเอเชียในไทย

    การท่องเที่ยว
    ในปี 2547 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากโครเอเชีย 1,129 คน ลดลงร้อยละ 2.3 จากจำนวน 1,155 คน ในปี 2546 ทั้งนี้ ไทยและโครเอเชียได้ลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 และโครเอเชียประสงค์ที่จะให้สายการบินแห่งชาติของไทยและโครเอเชียเจรจาหารือเพื่อทำ code sharing โดยพิจารณาความคุ้มค่าจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากโครเอเชียและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคต่อไป

    การเยือนของผู้นำระดับสูง

    ฝ่ายไทย
    พระบรมวงศานุวงศ์
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐ โครเอเชีย ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2543 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายกรัฐมนตรiโครเอเชีย และในโอกาสนั้น ทรงพบกับนาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย นาย Zlatko Tomcic ประธานรัฐสภาโครเอเชีย และนาย Ivica Racan นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

    รัฐบาล
    - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนโครเอเชียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2541
    - ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนโครเอเชียระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2543
    - ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนโครเอเชีย ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2549

    ฝ่ายโครเอเชีย
    - ดร. Ivo Sanader รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2536
    - ดร. Mate Granic รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 3 เมษายน 2539
    - นาย Alojzije Pavlovic กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโครเอเชีย พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 -14 ตุลาคม 2540 และระหว่างวันที่ 21 กันยายน - 7 ตุลาคม 2541
    - นาย Nenad Porges รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2542 เพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย
    - นาย Nebojsa Koharovic ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชียเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัวระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคม 2543
    - นาย Goranko Fizulic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2543
    - นาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย พร้อมภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลในระดับ Official Working Visit ระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2545 และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
    ความตกลงที่ลงนามแล้ว
    - ความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย ลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ในระหว่างการเยือนไทยของ นาย Nenad Porges รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย
    - ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 ระหว่างการประชุม UNCTAD X ณ กรุงเทพฯ
    - ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยและโครเอเชีย ลงนามเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 ที่กรุงเทพฯ

    ความตกลงทวิภาคีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
    - ร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุดมศึกษา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง
    - ร่างความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน จะมีการเจรจารอบที่ 3 ตามกำหนดวันที่จะตกลงกัน ณ กรุงซาเกรบ เพื่อหาข้อสรุปต่อไป
    - บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายโครเอเชีย

    สิงหาคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×