คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : สาเหตุการรวมกลุ่มทางการค้า
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ กำลังการผลิต และศักยภาพด้านเทคโนโลยี อีกทั้งแต่ละรัฐย่อมพยายามเจรจาทางการค้าเพื่อประโยชน์ของตน จึงเกิดนโยบายและมาตรการบิดเบือนทางการค้า ทำให้เกิดการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตน เช่น การพยายามตั้งกำแพงภาษี การกำหนดโควตาสินค้านำเข้า หรือการคุ้มครองสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้ประโยชน์ที่จะได้จากการค้าระหว่างประเทศลดน้อย ส่งผลให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศขาดความเป็นธรรมและเสรีภาพ มีการได้เปรียบและเสียเปรียบกัน จากปัญหาทั้งหลายในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้รัฐต่างๆพยายามรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่ม จึงเกิดเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันในหลายๆด้าน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) หมายถึง การรวมตัวของประเทศต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อการบรรลุเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมร่วมกัน โดยขจัดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เพื่อเสริมสร้างและรักษาผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขยายขอบเขตทางการค้าระหว่างกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยการลดหรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ทั้งในรูปมาตรการทางภาษีศุลกากร และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (tariff and non-tariff barriers) เช่น อัตราภาษีศุลกากร โควตา เป็นต้น เพื่อพัฒนาและขยายลู่ทางการค้าระหว่างกันในระดับสูงขึ้นไป
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีข้อตกลงที่สำคัญดังนี้
๑. ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศ
๒. ข้อตกลงเพื่อการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันภายในกลุ่ม
๓. เพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ โดยเห็นได้จากสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันจนสามารถทดแทนกันได้ และระดับราคาระหว่างประเทศสมาชิกก็จะเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด
๔. จะต้องทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและมีการจ้างงานอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มเดียวกันเสมอ
๕. กรอบข้อตกลงจะมีอยู่ ๕ กรอบ คือ พหุภาคี (Bilateral) ทวิภาคี (Multilateral) ภูมิภาคและอนุภูมิภาค
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีได้หลายรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบมีระดับของความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน
๑. เขตการค้าเสรี ( Free Trade Area-FTA) เป็นข้อตกลงเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้เหลือน้อยที่สุด เปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศคู่สัญญาเพื่ออำนวยความสะดวกทางการ ลดข้อจำกัดทางการค้าด้านโควตาหรือปริมาณนำเข้า ไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าเพิ่มต่อประเทศนอกกลุ่ม ร่วมมือกันแสวงหาตลาดส่งออกและลดต้นทุนการผลิตสินค้า เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement-NAFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area-AFTA) เป็นต้น
๒. สหภาพศุลกากร (Customs Union-CU) เป็นการเปิดเสรีการค้าโดยนอกจากจะขจัดการกีดกันทางการค้าออกไปแล้ว ยังมีตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากร กำหนดอัตราภาษีในอัตราเดียวกันสำหรับประเทศสมาชิกนอกกลุ่มร่วมกัน (Common External Tariff) ไม่มีกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจสหภาพศุลกากร เช่น คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) สหภาพศุลกากรของแอฟริกาใต้ (Southern African Customs Union-SACU)
๓. ตลาดร่วม (Common Market) เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตั้งแต่สองประเทศขึ้นไปที่เหมือนกับสหภาพศุลกากร แต่มีนโยบายให้สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต คือ แรงงาน ทุน วัตถุดิบ และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี มีนโยบายต่อประเทศนอกกลุ่มในทางเดียวกัน และมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีลักษณะเหมือนกัน ได้แก่ ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market หรือ MERCOSUR)กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Caribbean Community and Common Market-CCCM)ตลาดร่วมอเมริกากลาง (Central American Common Market-CACM)และกลุ่มแอนเดียน (Andean Group)
๔. สหภาพทางเศรษฐกิจ หรือสหภาพทางการเงิน( Economic Union or Monetary Union) นอกจากจะเป็นการค้าเสรีแล้ว ยังมีนโยบายเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต สินค้า และบริการอย่างเสรี และมีการประสานความร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง การภาษีอากร และการใช้จ่ายของรัฐ รวมทั้งมีการใช้สกุลเงินเดียวกัน กลุ่มสหภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ สหภาพยุโรป (European Union-EU)
๕. สหภาพเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ (Total Economic Union) เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นระดับสูงสุด มีนโยบายทางเศรษฐกิจ และการเงินเป็นแบบเดียวกัน มีการจัดตั้งรัฐบาลเหนือชาติ (Supranational Government) โดยกำหนดนโยบายทางการเมืองและสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างประโยชน์ทางการค้าให้แก่ประเทศ เพื่อเป็นการกระจายการค้า และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาค โดยประเทศไทยเองก็ได้เข้ารวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ดังนี้
๑. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)
๒. สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Association of South East Asian Nations-ASEAN) มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ
๑. เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area-AFTA)
๒. โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ( ASEAN Industrial Project -AIP)
๓. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation Scheme-AICO)
๔. เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area-AIA)
ความคิดเห็น