คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด ฯ
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด
และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
รับเอาโดยที่ประชุมเต็มคณะครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๘
ต่อไปนี้คือตัวบทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งรับเอาโดยสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๘
(เริ่มต้นข้อความ)
ภาคีแห่งอนุสัญญานี้
ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งต่อขอบเขตและแนวโน้มที่สูงขึ้นของการผลิต ความต้องการและการค้าที่มิชอบซึ่งยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อันก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์และผลเสียหายต่อ รากฐานทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองของสังคม
ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งเช่นกันต่อการแทรกซึมที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอของการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้าไปในกลุ่มสังคมต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อเท็จจริงที่ว่าในหลายส่วนของโลก เด็กถูกใช้เป็นตลาดผู้ใช้ยาเสพติดและเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิต การจำหน่าย และการค้าที่มิชอบซึ่งยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งก่อให้เกิดภัยร้ายแรงอันประมาณมิได้
โดยยอมรับความเกี่ยวพันกันระหว่างการลักลอบค้ายาเสพติดกับอาชญากรรมเป็นระบบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งบั่นทอนระบบเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย และคุกคามเสถียรภาพ ความมั่นคง และอธิปไตยของรัฐต่างๆ
โดยยอมรับด้วยว่าการลักลอบค้ายาเสพติดนั้นเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศซึ่งจำต้องให้ความเอาใจใส่อย่างยิ่งและให้ความสำคัญในลำดับสูงสุดในการปราบปราม
โดยตระหนักว่าการลักลอบค้ายาเสพติดสร้างผลกำไรและความร่ำรวยมหาศาล ซึ่งทำให้องค์การอาชญากรรมข้ามชาติสามารถแทรกซึม สร้างความเสื่อมเสีย และบั่นทอนโครงสร้างของรัฐบาลธุรกิจการค้าและการเงินอันชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งสังคมในทุกระดับชั้น
โดยมุ่งมั่นที่จะตัดผลตอบแทนอันเกิดจากอาชญากรรมของผู้ดำเนินการลักลอบค้ายาเสพติดเพื่อขจัดแรงจูงใจสำคัญของการกระทำเช่นว่านั้น
โดยปรารถนาที่จะขจัดรากเหง้าของปัญหาการใช้ยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งความต้องการที่ผิดกฎหมายที่มีต่อยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวและรายได้อันมหาศาลที่ได้จากการลักลอบค้ายาเสพติด
โดยเห็นว่ามาตรการต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมสารบางประเภท ซึ่งรวมถึงสารตั้งต้น สารเคมี และตัวทำละลายที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพราะการที่สามารถจัดหาสารดังกล่าวได้อย่างสะดวกทำให้การลักลอบผลิตยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังกล่าวเพิ่มขึ้น
โดยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล
โดยยอมรับว่าการขจัดการลักลอบค้ายาเสพติดเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกรัฐ และด้วยเหตุนี้ การร่วมมือดำเนินการภายในกรอบของความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว
โดยรับรู้ถึงประสิทธิภาพขององค์การสหประชาชาติในการควบคุมยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และปรารถนาให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเช่นว่าควรอยู่ภายในกรอบขององค์การสหประชาชาติ
โดยยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงหลักการที่เป็นแนวทางของสนธิสัญญาต่างๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และระบบการควบคุมที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาเหล่านั้นด้วย
โดยยอมรับความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างและเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญาเดียวกันนี้ที่ได้รับการแก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๒ และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. ๑๙๗๑ เพื่อจะได้ต่อต้านกับความรุนแรงและขอบเขตของการลักลอบค้ายาเสพติดและผลกระทบอันร้ายแรงที่ตามมา
โดยยอมรับเช่นกันถึงความสำคัญของการเสริมสร้างและส่งเสริมมาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิผล เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการทางอาญา ในการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
โดยปรารถนาที่จะจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศที่สมบูรณ์แบบ มีประสิทธิผลและใช้บังคับได้ ที่มุ่งโดยตรงต่อการลักลอบค้ายาเสพติด และพิจารณาลักษณะต่างๆ ของปัญหานี้โดยส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่สนธิสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่มีอยู่ในปัจจุบันมิได้ครอบคลุมถึง
ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ข้อ ๑
บทนิยาม
เว้นแต่จะได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งเป็นอย่างอื่น หรือตามบริบทแล้วจำเป็นต้องใช้คำนิยามเป็นอย่างอื่น ให้ใช้คำนิยามที่กำหนดต่อไปนี้ตลอดอนุสัญญานี้
(ก) “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดย อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. ๑๙๖๑ และตามอนุสัญญาดังกล่าวที่ได้รับการแก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๒
(ข) “พืชกัญชา” หมายถึง พืชใดๆ ในสกุลคานาบิส (Cannabis)
(ค) “ต้นโคคา” หมายถึง พืชในสกุลอีริทโธรไซลอน (Erythroxylon)
(ง) “ผู้ประกอบการขนส่ง” หมายถึง บุคคลใดๆ หรือหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานใดที่ประกอบกิจการ การขนส่งบุคคล สินค้า หรือไปรษณีย์ภัณฑ์ เพื่อค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อย่างอื่น
(จ) “คณะกรรมาธิการ” หมายถึง คณะกรรมาธิการว่าด้วยยาเสพติดของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ
(ฉ) “การริบ” ซึ่งรวมถึงการถูกตัดกรรมสิทธิ์ ถ้าหากมี หมายถึง การทำให้สิ้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอย่างถาวร โดยคำสั่งศาล หรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจ
(ช) “การส่งมอบยาเสพติดภายใต้การควบคุม” หมายถึง วิธีการปล่อยให้สินค้ายาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมายหรือต้องสงสัยว่าเป็นสิ่งดังกล่าว ตามรายชื่อในบัญชี I และบัญชี II ที่ผนวกไว้กับอนุสัญญานี้ หรือสิ่งที่บรรจุไว้แทน ออกจาก ผ่าน หรือเข้าไปในดินแดนของประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ โดยการรับรู้และอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทราบถึงตัวบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ของอนุสัญญานี้
(ซ) “อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑” หมายถึง อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. ๑๙๖๑
(ฌ) “อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข” หมายถึง อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๒
(ญ) “อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑” หมายถึง อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. ๑๙๗๑
(ฎ) “คณะมนตรี” หมายถึง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
(ฏ) “การอายัด” หรือ “การยึด” หมายถึง การห้ามเป็นการชั่วคราวมิให้มีการโอน แปรสภาพ จำหน่าย หรือ เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หรือ การยึดถือหรือควบคุมทรัพย์สินเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ
(ฐ) “การลักลอบค้า” หมายถึง การกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓ วรรค ๑ และวรรค ๒ ของอนุสัญญานี้
(ฑ) “ยาเสพติด” หมายถึง สารใดๆ ที่ได้จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ตามที่ระบุไว้ในตารางที่ ๑ และ ๒ ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. ๑๙๖๑ และอนุสัญญาดังกล่าวที่ได้รับการแก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. ๑๙๗๒
(ฒ) “พืชฝิ่น” หมายถึง พืชชนิดพาพาเวอร์ ซอมนิเฟอรุม ลินน์ (Papaver Somniferum L;)
(ณ) “ผลตอบแทน” หมายถึง ทรัพย์สินใดๆ อันเกิดจากหรือที่ได้รับจากการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓ วรรค ๑ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
(ด) “ทรัพย์สิน” หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่าง เป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน และเอกสารทางกฎหมายหรือตราสารที่เป็นหลักฐานแสดงการมีกรรมสิทธิ์หรือมีผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น
(ต) “วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” หมายถึง สารใดที่ได้จากธรรมชาติ หรือจากการสังเคราะห์ หรือวัสดุธรรมชาติใดๆ ที่ระบุไว้ในตารางที่ I, II, III และ IV ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. ๑๙๗๑
(ถ) “เลขาธิการ” หมายถึง เลขาธิการสหประชาชาติ
(ท) “บัญชี I” และ “บัญชี II” หมายถึง บัญชีรายชื่อที่มีตัวเลขกำกับ ซึ่งผนวกไว้กับอนุสัญญานี้ ซึ่งได้รับการแก้ไขเป็นครั้งคราวตามข้อ ๑๒
(ธ) “รัฐผ่านแดน” หมายถึง รัฐซึ่งดินแดนของตนถูกใช้ขนผ่านซึ่งยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมทั้งสารในบัญชี I และ บัญชี II ที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยรัฐดังกล่าวไม่ใช่แหล่งกำเนิดหรือปลายทางสุดท้ายของการขนถ่ายดังกล่าว
ข้อ ๒
ขอบเขตของอนุสัญญา
๑. วัตถุประสงค์ของอนุสัญญานี้คือการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างภาคี เพื่อว่าภาคีอาจจัดการอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นกับด้านต่างๆ ของการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งมีขอบข่ายระดับระหว่างประเทศ โดยในการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญานี้ ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นรวมทั้งมาตรการด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร โดยสอดคล้องกับบทบัญญัติพื้นฐานของระบบกฎหมายภายในของตน
๒. ภาคีจะต้องดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญานี้ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคแห่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น
๓. ภาคีจะต้องไม่ใช้ในดินแดนของภาคีอื่นซึ่งเขตอำนาจ และไม่กระทำหน้าที่ใดซึ่งได้รับการสงวนไว้โดยเฉพาะสำหรับเจ้าพนักงานของภาคีอื่นโดยกฎหมายภายในของภาคีนั้น
ข้อ ๓
ความผิดและบทลงโทษ
๑. แต่ละภาคีจะต้องนำมาใช้ซึ่งมาตรการตามที่จำเป็นเพื่อบัญญัติให้การกระทำซึ่งได้กระทำโดยเจตนาดังต่อไปนี้ เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายภายในของตน
(ก) (๑) การทำขึ้น ผลิต สกัด ปรุง เสนอให้ เสนอขาย จำหน่าย ขาย สั่งมอบ ไม่ว่าจะตามเงื่อนไขใด เป็นนายหน้า จัดส่ง จัดส่งผ่านแดน ขนส่ง นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทใดๆ อันขัดต่อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ.๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข หรืออนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑
(๒) การเพาะปลูกพืชฝิ่น ต้นโคคา หรือพืชกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตยาเสพติดที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ และอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข
(๓) การครอบครองหรือซื้อยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่ว่าชนิดใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำการใดๆ ตามที่ระบุไว้ใน (๑) ข้างต้น
(๔) การผลิต ขนส่ง หรือจำหน่ายอุปกรณ์ วัสดุ หรือสารตามที่ระบุไว้ในบัญชี I และ บัญชี II โดยรู้ว่าจะมีการใช้สิ่งเหล่านั้นในการหรือเพื่อการเพาะปลูก การทำขึ้นหรือการผลิตยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย
(๕) การจัดให้มี จัดการ หรือให้เงินสนับสนุนการกระทำความผิดใดๆ ที่ระบุไว้ใน (๑), (๒), (๓) หรือ (๔) ข้างต้น
(ข) (๑) การแปรสภาพหรือโอนทรัพย์สินโดยรู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดที่บัญญัติไว้ตามอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้ หรือได้มาจากการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดหรืออำพรางแหล่งกำเนิดซึ่งผิดกฎหมาย ของทรัพย์สิน หรือเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดดังกล่าวให้หลบเลี่ยงผลตามกฎหมายอันเกิดจากการกระทำของตน
(๒) การปกปิดหรืออำพรางลักษณะอันแท้จริง แหล่งที่มา สถานที่ตั้ง การจำหน่าย การเคลื่อนย้าย สิทธิที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยรู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจาก การกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดที่บัญญัติไว้ตามอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้ หรือที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดดังกล่าว
(ค) ภายใต้หลักการแห่งรัฐธรรมนูญและแนวคิดพื้นฐานของระบบกฎหมายของภาคีนั้น
(๑) การได้มา การครอบครอง หรือการใช้ทรัพย์สิน โดยในขณะที่รับทรัพย์สินนั้นรู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดที่บัญญัติไว้ตามอนุวรรค (ก) ของ วรรคนี้ หรือได้มาจากการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเดียวหรือหลายความผิดดังกล่าว
(๒) การครอบครองอุปกรณ์หรือวัสดุ หรือสารที่ระบุไว้ในบัญชี I และบัญชี II, โดยรู้ว่ามีการใช้หรือจะมีการใช้สิ่งดังกล่าวในการหรือเพื่อการเพาะปลูก การทำขึ้น หรือการผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย
(๓) การยุยงหรือชักจูงบุคคลอื่นโดยเปิดเผย ไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ให้กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อนี้ หรือให้บุคคลอื่นใช้ยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยผิดกฎหมาย
(๔) การมีส่วนร่วม การมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการสมคบกันกระทำ พยายามกระทำและช่วยเหลือ ยุยงสนับสนุน ให้ความสะดวกและให้คำปรึกษาแนะนำในการกระทำความผิดใดๆ ที่บัญญัติไว้ตามข้อนี้
๒. ภายใต้หลักการแห่งรัฐธรรมนูญและแนวคิดพื้นฐานของระบบกฎหมายภายในของภาคีนั้น แต่ละภาคีจะต้องรับเอามาตรการที่อาจจำเป็นเพื่อบัญญัติให้การครอบครอง ซื้อ หรือเพาะปลูกยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อเสพเป็นการส่วนตัวอันขัดต่อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข หรืออนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑ เมื่อได้กระทำโดยเจตนาเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายภายในของตน
๓. การรู้ข้อเท็จจริง เจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่เป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้ อาจพิจารณาได้จากสถานการณ์ความเป็นจริง
๔. (ก) แต่ละภาคีจะต้องดำเนินการให้การกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามวรรค ๑ ของข้อนี้มีโทษซึ่งพิจารณาตามลักษณะความร้ายแรงของความผิดเหล่านี้ เช่น การจำคุกหรือการจำกัดอิสรภาพในรูปแบบอื่น การปรับ และการริบทรัพย์สิน
(ข) นอกจากการตัดสินลงโทษหรือการลงโทษสำหรับความผิดแล้ว ภาคีอาจกำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเข้ารับมาตรการต่างๆ เช่น การบำบัดรักษา การศึกษา การดูแลภายหลังการบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการกลับคืนสู่สังคม
(ค) ถึงแม้ว่าจะมีอนุวรรค (ก) และ (ข) บัญญัติไว้ก็ตาม ในกรณีที่ความผิดมีลักษณะไม่ร้ายแรง และเมื่อเห็นเป็นการสมควร ภาคีอาจกำหนดมาตรการต่างๆ แทนการตัดสินลงโทษหรือการลงโทษ เช่น การศึกษา การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือการกลับคืนสู่สังคม รวมถึงการบำบัดรักษาหรือการดูแลภายหลังการบำบัดรักษาในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ติดยาเสพติด
(ง) ภาคีอาจกำหนดมาตรการต่างๆ เป็นทางเลือกนอกเหนือจากการตัดสินลงโทษหรือการลงโทษ หรือมาตรการเพิ่มเติมจากการตัดสินลงโทษ หรือการลงโทษสำหรับการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามวรรค ๒ ของข้อนี้ ได้แก่ การบำบัดรักษา การศึกษา การดูแลภายหลังการบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิด
๕. ภาคีจะต้องประกันว่าศาลและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจซึ่งมีเขตอำนาจของตนสามารถพิจารณาถึงสถานการณ์ความเป็นจริงซึ่งทำให้การกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามวรรค ๑ ของข้อนี้เป็นความผิดที่ร้ายแรงอย่างยิ่งดังนี้
(ก) การเข้ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดของกลุ่มอาชญากรรมที่มีการจัดระบบซึ่งผู้กระทำความผิดเป็นสมาชิกอยู่
(ข) การมีส่วนเกี่ยวข้องของผู้กระทำความผิดในกิจกรรมอาชญากรรมที่มีการจัดระบบระหว่างประเทศอื่น
(ค) การมีส่วนเกี่ยวข้องของผู้กระทำความผิดในการกระทำผิดกฎหมายอื่นซึ่งได้รับผลช่วยจากการกระทำ ความผิด
(ง) การที่ผู้กระทำความผิดใช้ความรุนแรงหรืออาวุธ
(จ) การที่ผู้กระทำความผิดมีตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น
(ฉ) การที่ผู้เยาว์ต้องประสบเคราะห์กรรมหรือใช้ผู้เยาว์
(ช) การกระทำความผิดเกิดขึ้นในทัณฑสถาน สถาบันการศึกษาหรือสถานที่ให้การบริการทางสังคม หรือบริเวณใกล้ชิดติดกับสถานที่ข้างต้น หรือสถานที่อื่นใดซึ่งเด็กนักเรียนและนักศึกษาใช้เพื่อกิจกรรมทางการศึกษา การกีฬา และสังคม
(ซ) ผู้กระทำความผิดเคยถูกตัดสินลงโทษมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือในประเทศ ภายในขอบเขตของกฎหมายภายในของภาคี
๖. ภาคีจะต้องพยายามประกันว่า ภาคีจะใช้อำนาจที่จะใช้ดุลพินิจตามกฎหมายภายในของตนอันเกี่ยวกับการฟ้องร้องบุคคลในความผิดซึ่งบัญญัติไว้ตามข้อนี้ เพื่อให้มาตรการปราบปรามการกระทำความผิดเหล่านั้นเกิดประสิทธิผลสูงสุด และให้คำนึงตามสมควรถึงความจำเป็นในการป้องปรามการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย
๗. ภาคีจะต้องประกันว่าศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอื่นๆ ของตนจะคำนึงถึงลักษณะอันรุนแรงของการกระทำความผิดที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้ รวมถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในวรรค ๕ ของข้อนี้ เมื่อพิจารณาว่าในที่สุดแล้วจะมีการปล่อยตัวก่อนกำหนดหรือปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขแก่ผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดดังกล่าว
๘. ในกรณีที่เหมาะสม แต่ละภาคีจะต้องตราบทบัญญัติตามกฎหมายภายในของตนที่กำหนดอายุความที่ยาวนานสำหรับเริ่มดำเนินคดีการกระทำความผิดใดๆ ที่บัญญัติไว้ตามวรรค ๑ ของข้อนี้ และกำหนดให้มีอายุความยาวนานกว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นได้หลบหนีกระบวนการยุติธรรม
๙. แต่ละภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบกฎหมายของตนเพื่อประกันว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามวรรค ๑ ของข้อนี้ และพบตัวอยู่ในดินแดนของภาคี จะไปปรากฏตัวในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่จำเป็น
๑๐. เพื่อวัตถุประสงค์ในการร่วมมือระหว่างภาคีตามอนุสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงการร่วมมือตามข้อ ๕, ๖, ๗ และ ๙ ความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อนี้จะต้องไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเงินหรือทางการเมือง หรือจะต้องไม่ถือว่าเป็นความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในพื้นฐานของภาคี
๑๑. บทบัญญัติแห่งข้อนี้จะต้องไม่กระทบต่อหลักการที่ว่าการกำหนดลักษณะบรรดาความผิดซึ่งข้อนี้อ้างถึง และลักษณะของการแก้คดีตามกฎหมายในความผิดเหล่านั้นสงวนไว้สำหรับกฎหมายภายในของภาคี และที่ว่าความผิดเช่นว่านั้นจะได้รับการฟ้องร้องและลงโทษโดยสอดคล้องกับกฎหมายนั้น
ข้อ ๔
เขตอำนาจ
๑. แต่ละภาคี
(ก) จะต้องดำเนินมาตรการตามที่อาจจำเป็นที่จะบัญญัติให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่ตนได้บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ เมื่อ
(๑) ความผิดนั้นได้กระทำในดินแดนของตน
(๒) ความผิดนั้นได้กระทำบนเรือที่ชักธงของตน หรือบนอากาศยานที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายของตนในขณะที่มีการกระทำความผิดดังกล่าว
(ข) อาจดำเนินมาตรการตามที่อาจจำเป็นที่จะกำหนดเขตอำนาจของตนเหนือความผิดที่ตนได้บัญญัติไว้ตาม ข้อ ๓ วรรค ๑ เมื่อ
(๑) ความผิดนั้นกระทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นคนชาติของตน หรือโดยบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่งในดินแดนของตน
(๒) ความผิดนั้นกระทำบนเรือซึ่งภาคีได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการตามที่เหมาะสมตามข้อ ๑๗ โดยมีเงื่อนไขว่า การใช้เขตอำนาจดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความตกลงหรือข้อตกลงที่อ้างถึงในวรรค ๔ และวรรค ๙ ของข้อนั้นเท่านั้น
(๓) ความผิดนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ อนุวรรค (ค) (๔) และเป็นความผิดที่กระทำนอกดินแดนของภาคี โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ในดินแดนของตน
๒. แต่ละภาคี
(ก) จะต้องดำเนินมาตรการตามที่อาจจำเป็นให้ตนมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดตามที่ตนบัญญัติไว้ในข้อ ๓ วรรค ๑ เมื่อผู้ถูกกล่าวหานั้นปรากฏตัวอยู่ในดินแดนของตน และภาคีนั้นมิได้ส่งตัวผู้นั้นในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกภาคีหนึ่ง ด้วยมูลเหตุดังนี้
(๑) ความผิดนั้นได้กระทำในดินแดนของตน หรือบนเรือซึ่งชักธงของตน หรือบนอากาศยานที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายของตนในขณะที่มีการกระทำความผิดดังกล่าว หรือ
(๒) ความผิดนั้นได้กระทำโดยผู้ที่เป็นคนชาติของตน
(ข) อาจดำเนินมาตรการตามที่อาจจำเป็นที่จะบัญญัติให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่ตนบัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ เมื่อผู้ถูกกล่าวหานั้นปรากฏตัวอยู่ในดินแดนของตน และภาคีมิได้ส่งตัวผู้นั้นในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกภาคีหนึ่ง
๓. อนุสัญญานี้มิได้กีดกันการใช้เขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่ภาคีบัญญัติไว้ตามกฎหมายภายในของตน
ข้อ ๕
การริบทรัพย์สิน
๑. แต่ละภาคีจะต้องรับเอามาตรการตามที่อาจจำเป็น เพื่อให้ภาคีสามารถริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(ก) ผลตอบแทนที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ หรือทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าเท่าเทียมกับผลตอบแทนดังกล่าวนั้น
(ข) ยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท วัสดุและอุปกรณ์ หรือเครื่องมืออื่นซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ในลักษณะใดๆ ในการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑
๒. แต่ละภาคีจะต้องรับเอามาตรการตามที่อาจจำเป็น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนสามารถระบุ สืบหาแหล่งที่มาของ อายัด หรือยึดผลตอบแทน ทรัพย์สิน เครื่องมือ หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะริบทรัพย์สินในที่สุด
๓. เพื่อดำเนินมาตรการซึ่งอ้างถึงในข้อนี้ แต่ละภาคีจะต้องให้อำนาจแก่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอื่นของตน ในการสั่งให้จัดหาหลักฐานทางการพาณิชย์ ทางการเงิน หรือทางธนาคาร หรือสั่งให้ยึดหลักฐานเหล่านั้น ภาคีใดจะต้องไม่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อนี้โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความลับทางธนาคาร
๔. (ก) หลังจากที่มีการร้องขอตามข้อนี้โดยภาคีอีกภาคีหนึ่งซึ่งมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ภาคีซึ่งมีผลตอบแทน ทรัพย์สิน เครื่องมือ หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงในวรรค ๑ หรือในข้อนี้อยู่ในดินแดนของตน จะต้อง
(๑) ยื่นคำร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้นำมาซึ่งคำสั่งริบทรัพย์สิน และหากได้รับคำสั่งดังกล่าวแล้ว ให้ดำเนินการบังคับตามคำสั่งนั้น หรือ
(๒) ยื่นคำสั่งริบทรัพย์สินซึ่งออกโดยภาคีผู้ร้องขอตามวรรค ๑ ของข้อนี้ต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การริบทรัพย์สินมีผลบังคับเท่าที่ได้รับการร้องขอและเท่าที่การริบทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผลตอบแทน ทรัพย์สิน เครื่องมือ หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงในวรรค ๑ ซึ่งอยู่ในดินแดนของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ
(ข) หลังจากที่มีการร้องขอตามข้อนี้โดยภาคีอีกภาคีหนึ่งซึ่งมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ภาคีผู้ได้รับการร้องขอจะต้องดำเนินมาตรการที่จะระบุ สืบหาแหล่งที่มาของและอายัด หรือยึดผลตอบแทน ทรัพย์สิน เครื่องมือ หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการริบทรัพย์สินในที่สุด ที่จะได้มีคำสั่งโดยภาคีผู้ร้องขอหรือโดยภาคีผู้ได้รับการร้องขอตามคำร้องขอภายใต้อนุวรรค ก ของวรรคนี้
(ค) การวินิจฉัยหรือการดำเนินการที่บัญญัติไว้ในอนุวรรค (ก) และ (ข) ของวรรคนี้จะต้องกระทำโดยภาคีผู้ได้รับการร้องขอ โดยให้สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายภายในและวิธีพิจารณาความของตน หรือสนธิสัญญาความตกลง หรือข้อตกลงลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคีใดๆ ซึ่งตนอาจมีพันธะผูกพันอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับภาคีผู้ร้องขอ
(ง) บทบัญญัติของข้อ ๗ วรรค ๖ ถึงวรรค ๑๙ นำมาใช้บังคับได้โดยอนุโลม นอกเหนือจากข้อมูลที่ระบุไว้ในข้อ ๗ วรรค ๑๐ แล้ว คำร้องขอตามข้อนี้จะต้องประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
(๑) ลักษณะรายละเอียดของทรัพย์สินที่จะถูกริบและเอกสารแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ภาคีผู้ร้องขอเชื่อถือ ซึ่งเพียงพอที่จะให้ภาคีผู้ได้รับการร้องขอสามารถขอคำสั่งดังกล่าวตามกฎหมายภายในของตน ในกรณีที่มีการร้องขอตามอนุวรรค (ก) (๑) ของวรรคนี้
(๒) สำเนาคำสั่งริบทรัพย์สินที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย ซึ่งออกโดยภาคีผู้ร้องขอและเป็นหลักของการร้องขอนั้น รวมทั้งเอกสารแสดงข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตของการที่จะให้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ในกรณีที่มีการร้องขอตามอนุวรรค (ก) (๒)
(๓) เอกสารแสดงข้อเท็จจริงที่ภาคีผู้ร้องขอเชื่อถือและลักษณะรายละเอียดของการดำเนินการที่ร้องขอ ในกรณีที่มีการร้องขอตามอนุวรรค (ข)
(จ) แต่ละภาคีจะต้องให้ตัวบทของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับใดๆ ของตนซึ่งทำให้วรรคนี้มีผลบังคับ รวมทั้งตัวบทของการแก้ไขภายหลังใดๆ ของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแก่เลขาธิการ
(ฉ) ถ้าภาคีใดเลือกที่จะดำเนินมาตรการซึ่งอ้างถึงในอนุวรรค (ก) และ (ข) ของวรรคนี้ก็ต่อเมื่อมีสนธิสัญญาในเรื่องดังกล่าวอยู่ ให้ภาคีนั้นถือเอาอนุสัญญานี้เป็นหลักที่จำเป็นและเพียงพอ
(ช) ภาคีจะต้องพยายามจัดทำสนธิสัญญา ความตกลง หรือข้อตกลง ทั้งลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิผลของความร่วมมือระหว่างประเทศตามข้อนี้
๕. (ก) ผลตอบแทนหรือทรัพย์สินที่ภาคีใดได้ริบไว้ตามวรรค ๑ หรือ วรรค ๔ ของข้อนี้จะต้องถูกจำหน่ายโดยภาคีนั้นตามกฎหมายภายในและกระบวนวิธีทางการบริหารของตน
(ข) ขณะที่ดำเนินการตามการร้องขอของภาคีอีกภาคีหนึ่งโดยสอดคล้องกับข้อนี้ ภาคีหนึ่งอาจให้การพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับการจัดทำความตกลงในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การมอบค่าของผลตอบแทนและทรัพย์สินดังกล่าว หรือเงินกองทุนที่ได้มาจากการขายผลตอบแทนหรือทรัพย์สินดังกล่าว หรือส่วนสำคัญของสิ่งดังกล่าวให้แก่องค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีหน้าที่เฉพาะในการต่อต้านการลักลอบค้าและการใช้ยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(๒) การจัดแบ่งผลตอบแทนหรือทรัพย์สินดังกล่าว หรือเงินกองทุนซึ่งได้มาจากการขายผลตอบแทนหรือทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ภาคีอื่นเป็นปกติหรือเป็นรายกรณีไป โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายใน กระบวนวิธีทางการบริหาร หรือความตกลงทวิภาคีหรือพหุภาคีของตนที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้
๖. (ก) หากผลตอบแทนถูกเปลี่ยนรูปหรือแปรสภาพเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามมาตรการซึ่งอ้างถึงในข้อนี้แทนผลตอบแทนนั้น
(ข) หากผลตอบแทนถูกนำมารวมกับทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากแหล่งที่มาซึ่งชอบด้วยกฎหมายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องถูกริบไม่เกินมูลค่าอันประเมินแล้วของผลตอบแทนที่ถูกนำมารวมไว้นั้น ทั้งนี้โดยไม่กระทบต่ออำนาจใดๆ ที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัด
(ค) รายได้หรือผลประโยชน์อื่นที่ได้มาจาก
(๑) ผลตอบแทน
(๒) ทรัพย์สินที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปหรือแปรสภาพของผลตอบแทน หรือ
(๓) ทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนรวมอยู่ด้วย จะต้องถูกดำเนินการตามมาตรการซึ่งอ้างถึงในข้อนี้ด้วย ในลักษณะและขอบเขตเดียวกันกับผลตอบแทน
๗. แต่ละภาคีอาจพิจารณาที่จะประกันว่าภาระในการพิสูจน์กลับเป็นของจำเลยในเรื่องเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดที่ถูกต้องตามกฎหมายของทรัพย์สินอื่นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผลตอบแทน หรือทรัพย์สินอื่นที่จะต้องถูกริบ ตราบเท่าที่การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักแห่งกฎหมายภายในของตน และลักษณะของกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งกระบวนการอื่นๆ
๘. บทบัญญัติของข้อนี้จะต้องไม่ตีความให้กระทบต่อสิทธิของบุคคลที่สามผู้สุจริต
๙. ไม่มีข้อความใดในข้อนี้จะกระทบต่อหลักการที่ว่า มาตรการซึ่งข้อนี้อ้างถึงจะถูกกำหนดและดำเนินการโดยสอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายภายในของภาคี
ข้อ ๖
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน
๑. ข้อนี้จะต้องนำมาใช้บังคับกับความผิดที่ภาคีได้บัญญัติไว้โดยสอดคล้องกับข้อ ๓ วรรค ๑
๒. ความผิดแต่ละความผิดซึ่งข้อนี้ใช้บังคับอยู่จะต้องถือว่าถูกรวมเป็นความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนใดๆ ที่มีอยู่ระหว่างภาคี ภาคีรับที่จะรวมความผิดดังกล่าวเข้าเป็นความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนทุกฉบับที่จะจัดทำขึ้นระหว่างภาคี
๓. ถ้าภาคีใดซึ่งจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ก็ต่อเมื่อมีสนธิสัญญา ได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากอีกภาคีหนึ่งซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ภาคีอาจพิจารณาให้อนุสัญญานี้เป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในเรื่องความผิดใดๆ ซึ่งข้อนี้ใช้บังคับอยู่ ภาคีผู้ซึ่งจำต้องมีกฎหมายโดยรายละเอียดเพื่อใช้อนุสัญญานี้เป็นพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องพิจารณาการออกกฎหมายเช่นว่านั้นตามที่จำเป็น
๔. ภาคีซึ่งมิได้กำหนดว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีสนธิสัญญา จะต้องถือว่าความผิดซึ่งข้อนี้ใช้บังคับอยู่เป็นความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ระหว่างภาคีด้วยกัน
๕. การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บัญญัติไว้โดยกฎหมายของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ หรือโดยสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ใช้บังคับ รวมทั้งสาเหตุซึ่งภาคีผู้ได้รับการร้องขออาจใช้ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
๖. ในการพิจารณาคำร้องขอที่ได้รับตามข้อนี้ ภาคีผู้ได้รับการร้องขออาจปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอเช่นว่า หากมีมูลเหตุสำคัญที่ชี้นำให้เจ้าหน้าที่ในการยุติธรรมหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอื่นเชื่อว่า การปฏิบัติตามดังกล่าวจะช่วยให้มีการดำเนินคดีหรือการลงโทษบุคคลใดๆ โดยอาศัยเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลนั้น หรือจะก่อให้เกิดอคติในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นต่อบุคคลใดๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการร้องขอดังกล่าว
๗. ภาคีจะต้องพยายามดำเนินขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้เร็วขึ้น และพยายามลดความยุ่งยากของข้อกำหนดในการจัดหาหลักฐานอันเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในเรื่องความผิดใดๆ ที่ข้อนี้นำมาใช้บังคับ
๘. ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายภายในและสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนของตน หากเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จำเป็นและรีบด่วน และเมื่อได้รับการร้องขอจากภาคีอื่น ภาคีที่ได้รับการร้องขออาจคุมขังบุคคลหนึ่งบุคคลใดผู้ซึ่งถูกขอให้ส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนและปรากฏตัวในดินแดนของภาคีนั้น หรืออาจดำเนินมาตรการอื่นที่เหมาะสมเพื่อที่จะประกันให้มีการปรากฏตัวของบุคคลนั้นในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
๙. โดยมิให้กระทบต่อการใช้เขตอำนาจทางคดีอาญาใดๆ ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายภายในของตน ภาคีซึ่งผู้ต้องหาถูกพบตัวในดินแดนของตนจะต้อง
(ก) ในกรณีที่ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหานั้นข้ามแดน ในฐานความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ตามมูลเหตุที่ระบุไว้ในข้อ ๔ วรรค ๒ อนุวรรค (ก) มอบคดีนั้นแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตน เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟ้องร้อง นอกจากจะตกลงกับภาคีผู้ร้องขอเป็นอย่างอื่น
(ข) ในกรณีที่ไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหานั้นข้ามแดนในฐานความผิดนั้น และได้บัญญัติเขตอำนาจของตนอันเกี่ยวกับความผิดนั้นตามข้อ ๔ วรรค ๒ อนุวรรค (ข) มอบคดีนั้นแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อวัตถุประสงค์ในการฟ้องร้อง นอกจากภาคีผู้ร้องขอได้ขอเป็นอย่างอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการคงไว้ซึ่งเขตอำนาจอันชอบธรรมของตน
๑๐. ถ้าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามคำพิพากษาได้ถูกปฏิเสธเพราะบุคคลที่ได้รับการร้องขอนั้นเป็นคนชาติของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ ภาคีผู้ได้รับการร้องขอจะต้องพิจารณาบังคับให้เป็นไปตามโทษซึ่งได้กำหนดตามกฎหมายของภาคีผู้ร้องขอ หรือพิจารณาบังคับโทษส่วนที่เหลือ ถ้ากฎหมาย ของตนอนุญาต และโดยสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าว เมื่อมีการยื่นคำขอจากภาคีผู้ร้องขอ
๑๑. ภาคีจะต้องพยายามจัดทำความตกลงทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อดำเนินการหรือเพิ่มพูนประสิทธิผลในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
๑๒. ภาคีอาจพิจารณาเข้าเป็นภาคีความตกลงทวิภาคีหรือพหุภาคีไม่ว่าในลักษณะเฉพาะกาลหรือทั่วไป อันว่าด้วยการโอนผู้กระทำความผิดซึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและการทำให้เสียเสรีภาพในรูปแบบอื่นสำหรับความผิดที่ข้อนี้ใช้บังคับกลับประเทศของตน เพื่อว่าผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษจนครบตามคำพิพากษา ณ ที่นั้น
ข้อ ๗
ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน
๑. ตามข้อนี้ ภาคีจะต้องจัดให้มีมาตรการความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันที่ครอบคลุมกว้างที่สุดในการสอบสวน การฟ้องร้อง และกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑
๒. ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันซึ่งจะมีตามข้อนี้อาจได้รับการร้องขอเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ
ดังต่อไปนี้
(ก) การขอพยานหลักฐานหรือคำให้การจากบุคคล
(ข) การส่งเอกสารทางศาล
(ค) การตรวจค้นและยึด
(ง) การตรวจสอบวัตถุและสถานที่
(จ) การให้ข้อมูลและสิ่งที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้
(ฉ) การให้เอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักฐานทางธนาคาร หลักฐานทางการเงิน หลักฐานของบรรษัท หรือธุรกิจ ทั้งที่เป็นต้นฉบับหรือสำเนาที่ได้รับรองแล้ว
(ช) การระบุหรือสืบหาแหล่งที่มาของผลตอบแทน ทรัพย์สิน เครื่องมือ หรือสิ่งอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นพยานหลักฐาน
๓. ภาคีอาจให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันในรูปแบบอื่นใดที่กฎหมายภายในของภาคีผู้ได้รับการร้องขออนุญาตให้กระทำได้
๔. เมื่อมีการร้องขอ ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนเท่าที่สอดคล้องกับกฎหมายภายในและวิธีปฏิบัติของตน ให้บุคคลต่างๆ รวมถึงผู้ถูกคุมขังซึ่งยินยอมที่จะช่วยเหลือในการสืบสวนหรือเข้าร่วมในกระบวนการต่างๆ มาปรากฏตัวหรือพร้อมที่จะให้มาร่วมดำเนินการดังกล่าว
๕. ภาคีหนึ่งใดจะต้องไม่ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันตามข้อนี้ โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความลับทางธนาคาร
๖. บทบัญญัติของข้อนี้จะไม่กระทบต่อพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาอื่นใดทั้งในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคีที่กำหนดให้มีหรือจะกำหนดให้มีความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันในคดีอาญา ไม่ว่าทั้งหมดหรือในบางส่วน
๗. วรรค ๘ ถึง ๑๙ ของข้อนี้จะต้องนำมาใช้บังคับกับการร้องขอซึ่งได้กระทำตามข้อนี้ หากภาคีที่เกี่ยวข้องมิได้ผูกพันกันโดยสนธิสัญญาเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันแต่ถ้าภาคีเหล่านี้ผูกพันกันโดยสนธิสัญญาดังกล่าว ก็ให้นำบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวของสนธิสัญญานั้นมาใช้บังคับ เว้นแต่ภาคีตกลงที่จะนำวรรค ๘ ถึง ๑๙ ของข้อนี้มาใช้บังคับแทน
๘. ภาคีจะต้องกำหนดหน่วยงานหนึ่งใดหรือหลายหน่วยงานเมื่อจำเป็น ซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบและอำนาจที่จะปฏิบัติตามคำขอให้มีความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน หรือที่จะส่งคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อปฏิบัติ ภาคีจะต้องแจ้งชื่อหน่วยงานที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้เลขาธิการทราบ การจัดส่งคำร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน และการติดต่อสื่อสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องจะกระทำระหว่างหน่วยงานที่กำหนดขึ้นโดยภาคี ข้อกำหนดนี้จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของภาคีใดที่กำหนดว่าคำร้องขอและการติดต่อสื่อสารที่มาถึงตนให้ดำเนินโดยผ่านช่องทางทางการทูตและในกรณีเร่งด่วน และเมื่อภาคีเห็นพ้อง โดยผ่านช่องทางขององค์การตำรวจสากล ถ้าเป็นไปได้
๙. การร้องขอจะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ในภาษาที่ภาคีผู้ได้รับการร้องขอยอมรับภาษาซึ่งแต่ละภาคีให้การยอมรับนั้นจะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบ ในกรณีเร่งด่วนและเมื่อภาคีได้เห็นพ้องกัน การร้องขออาจกระทำได้ด้วยวาจา แต่จะต้องยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
๑๐. คำร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันจะต้องประกอบด้วย
(ก) การระบุให้ทราบถึงสถานะของหน่วยงานที่ทำคำร้องขอ
(ข) สาระสำคัญและลักษณะการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับคำร้องขอ รวมทั้งชื่อและหน้าที่ของหน่วยงานที่ดำเนินการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีดังกล่าว
(ค) สรุปข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่กรณีเป็นคำร้องขอเพื่อส่งเอกสารทางศาล
(ง) การแจงลักษณะของความช่วยเหลือที่ร้องขอและรายละเอียดของขั้นตอนเฉพาะซึ่งภาคีผู้ร้องขอปรารถนาให้ได้รับการปฏิบัติตาม
(จ) รูปพรรณสัณฐาน สถานที่อยู่และสัญชาติของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่จะหาได้
(ฉ) จุดประสงค์ที่ขอพยานหลักฐาน ข้อมูล หรือขอให้มีการดำเนินการ
๑๑. ภาคีผู้ได้รับการร้องขออาจขอข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อข้อมูลเพิ่มเติมนั้นจำเป็นสำหรับการปฏิบัติตามคำร้องขอตามกฎหมายภายในของตน หรือเมื่อข้อมูลเพิ่มเติมนั้นสามารถช่วยให้มีการปฏิบัติดังกล่าว
๑๒. การปฏิบัติตามคำร้องขอจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายภายในของภาคีผู้ได้รับการร้องขอและเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายภายในของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ และหากเป็นไปได้ ให้สอดคล้องกับขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำร้องขอนั้น
๑๓. ภาคีผู้ร้องขอจะต้องไม่จัดส่ง หรือใช้ข้อมูลหรือพยานหลักฐานซึ่งได้รับจากภาคีผู้ได้รับการร้องขอ เพื่อการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี นอกเหนือไปจากที่ได้ระบุไว้ในคำร้องขอโดยปราศจากความยินยอมล่วงหน้าของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ
๑๔. ภาคีผู้ร้องขออาจกำหนดให้ภาคีผู้ได้รับการร้องขอรักษาข้อเท็จจริงและสาระของคำร้องขอเป็นความลับ เว้นแต่เท่าที่จำเป็นที่จะดำเนินการตามคำร้องขอนั้น ถ้าภาคีผู้ได้รับการร้องขอไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในการรักษาความลับนั้นจะต้องแจ้งให้ภาคีผู้ร้องขอทราบทันที
๑๕. ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันอาจถูกปฏิเสธเมื่อ
(ก) การร้องขอมิได้กระทำโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของข้อนี้
(ข) ภาคีผู้ได้รับการร้องขอพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติตามคำร้องขอนั้นน่าจะกระทบต่ออธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือผลประโยชน์อันจำเป็นยิ่งอื่นๆ ของตน
(ค) กฎหมายภายในของภาคีผู้ได้รับการร้องขอห้ามหน่วยงานของตนมิให้ปฏิบัติในสิ่งที่ได้มีการร้องขอในความผิดที่คล้ายคลึงกันนั้น หากความผิดดังกล่าวอยู่ในการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีภายใต้เขตอำนาจของตน
(ง) การปฏิบัติตามคำขอจะขัดต่อระบบกฎหมายของภาคีผู้ได้รับการร้องขอเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน
๑๖. จะต้องให้เหตุผลของการปฏิเสธความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันใดๆ
๑๗. ภาคีผู้ได้รับการร้องขออาจเลื่อนความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน โดยเหตุที่ว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวแทรกแซงการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีที่กำลังดำเนินอยู่ ในกรณีเช่นนี้ ภาคีผู้ได้รับการร้องขอจะต้องปรึกษากับภาคีผู้ร้องขอเพื่อตัดสินว่าความช่วยเหลือดังกล่าวยังคงสามารถจัดให้ได้หรือไม่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ภาคีผู้ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจำเป็น
๑๘. พยาน ผู้ชำนาญการ หรือบุคคลอื่นใดผู้ซึ่งยินยอมที่จะเบิกความในการดำเนินคดี หรือยินยอมที่จะช่วยเหลือในการสืบสวน ฟ้องร้อง หรือในกระบวนการทางศาลที่ดำเนินการในดินแดนของภาคีผู้ร้องขอไม่อาจถูกฟ้องร้อง กักขัง ลงโทษ หรือถูกจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลในดินแดนของภาคีผู้ร้องขอในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำ การละเว้นการกระทำ หรือคำพิพากษาลงโทษซึ่งมีก่อนการเดินทางออกจากดินแดนของภาคีผู้ได้รับการร้องขอ อนึ่ง การให้ความคุ้มครองแก่บุคคลเหล่านั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อพยานผู้ชำนาญการ หรือบุคคลอื่นใดเช่นว่านั้นยังคงอยู่ในดินแดนของภาคีผู้ร้องขอต่อโดยสมัครใจเป็นเวลา ๑๕ วันติดต่อกัน หรือระยะเวลาอื่นตามที่ภาคีตกลงกัน นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ต้องการให้บุคคลนั้นมาปรากฏตัวอีกต่อไป หรือจะสิ้นสุดเช่นกันเมื่อพยาน ผู้ชำนาญการ หรือบุคคลอื่นใดเช่นว่านั้นเดินทางกลับเข้ามาอีกโดยสมัครใจหลังจากได้เดินทางออกนอกดินแดนของภาคีผู้ร้องขอแล้ว
๑๙. ค่าใช้จ่ายปกติในการดำเนินการตามคำร้องขอนั้น จะต้องตกอยู่แก่ภาคีผู้ได้รับการร้องขอเว้นแต่บรรดาภาคีที่เกี่ยวข้องได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น หากมีค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมาก หรือที่มีลักษณะพิเศษ เป็นสิ่งจำเป็น หรือจะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการปฏิบัติตามคำร้องขอแล้ว ภาคีจะต้องปรึกษากันเพื่อกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คำร้องขอจะได้รับการปฏิบัติตาม และกำหนดลักษณะการรับภาระค่าใช้จ่าย
๒๐. ภาคีจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดทำความตกลงหรือข้อตกลงในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคี ตามที่อาจจำเป็น ในอันที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อนี้ ให้ข้อนี้มีผลในทางปฏิบัติ หรือส่งเสริมบทบัญญัติของข้อนี้
ข้อ ๘
การโอนการดำเนินคดี
ภาคีจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้สำหรับการโอนการดำเนินคดีแก่กัน สำหรับการฟ้องคดีอาญาในความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ หากพิจารณาว่าการโอนเช่นว่านั้นจะเป็นเพื่อประโยชน์ของกระบวนการยุติธรรม
ข้อ ๙
ความร่วมมือในรูปแบบอื่นและการฝึกอบรม
๑. ภาคีจะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดโดยสอดคล้องกับระบบการบริหารและกฎหมายภายในของภาคี ด้วยมุ่งที่จะเพิ่มพูนประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปราบปรามการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ อนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนหลักการของความตกลงหรือข้อตกลงทั้งในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคี ภาคีจะต้อง
(ก) กำหนดและรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและหน่วยงานบริการของตน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวดเร็วในทุกๆ ด้านของความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ รวมทั้งที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงกับการประกอบอาชญากรรมอื่น หากภาคีที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นสมควร
(ข) ร่วมมือซึ่งกันและกันในการดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ อันมีลักษณะสากลซึ่งเกี่ยวข้องกับ
(๑) รูปพรรณสัณฐาน ที่อยู่ และความเคลื่อนไหวของบุคคลซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑
(๒) การยักย้ายผลตอบแทนหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว
(๓) การเคลื่อนย้ายยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารในบัญชี I และบัญชี II ของอนุสัญญานี้ และเครื่องมือที่ใช้หรือเจตนาที่จะใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว
(ค) จัดตั้งทีมงานร่วมเพื่อที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติของวรรคนี้ ในกรณีที่เหมาะสมและถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายภายใน โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่บุคคลและการปฏิบัติการต่างๆ เจ้าพนักงานของภาคีซึ่งเข้าร่วมในทีมงานใดๆ จะดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาคีซึ่งการปฏิบัติการจะเกิดขึ้นในดินแดนของตน ในทุกๆ กรณีดังกล่าวภาคีที่เข้าร่วมปฏิบัติจะต้องประกันว่าจะให้ความเคารพอย่างเต็มที่ต่ออธิปไตยของภาคีซึ่งการปฏิบัติการจะเกิดขึ้นในดินแดน
(ง) จัดเตรียมสารต่างๆ ในปริมาณอันจำเป็นให้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์หรือสืบสวน ในกรณีที่เหมาะสม
(จ) อำนวยความสะดวกต่อการประสานงานที่มีประสิทธิผลระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและหน่วยงานบริการ รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้ชำนาญการอื่นๆ รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานไปประจำ
๒. เท่าที่จำเป็น แต่ละภาคีจะต้องริเริ่ม พัฒนา หรือปรับปรุงแผนงานฝึกอบรมเฉพาะด้านสำหรับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและบุคลากรอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้รับผิดชอบในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ แผนงานฝึกอบรมเฉพาะด้านดังกล่าวจะต้องเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) วิธีการที่ใช้ในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑
(ข) เส้นทางและเทคนิคซึ่งบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐผ่านแดน ตลอดจนมาตรการปราบปรามอันเหมาะสม
(ค) การติดตามตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมถึงสารที่ระบุไว้ในบัญชี และบัญชี II
(ง) การตรวจสอบและการติดตามการเคลื่อนย้ายผลตอบแทนและทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ การเคลื่อนย้ายยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารที่ระบุไว้ในบัญชี I และบัญชี II ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเครื่องมือที่ใช้หรือเจตนาที่จะใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว
(จ) วิธีการที่ใช้สำหรับการโอน ปกปิด หรืออำพรางผลตอบแทน ทรัพย์สินและเครื่องมือดังกล่าว
(ฉ) การรวบรวมพยานหลักฐาน
(ช) เทคนิคการควบคุมในเขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษี
(ซ) เทคนิคการปราบปรามที่ทันสมัย
๓. ภาคีจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการวางแผนและปฏิบัติตามแผนงานวิจัยและฝึกอบรมที่มุ่งแลกเปลี่ยนความชำนาญในด้านต่างๆ ที่อ้างถึงในวรรค ๒ ของข้อนี้ และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้และในกรณีที่เหมาะสม ภาคีจะต้องใช้การประชุมและการสัมมนาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและกระตุ้นให้มีการอภิปรายในเรื่องปัญหาที่สนใจร่วมกัน รวมทั้งปัญหาและความต้องการพิเศษของรัฐผ่านแดน
ข้อ ๑๐
ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศสำหรับรัฐผ่านแดน
๑. ภาคีจะต้องร่วมมือกันโดยตรงหรือโดยผ่านองค์การระดับภูมิภาคหรือระหว่างประเทศที่มีอำนาจ เพื่อที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐผ่านแดน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนดังกล่าว ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผ่านแผนงานความร่วมมือทางวิชาการในเรื่องการสกัดกั้นการลำเลียงและกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง
๒. ภาคีอาจรับที่จะจัดความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงหรือโดยผ่านองค์การระดับภูมิภาค หรือระหว่างประเทศที่มีอำนาจให้แก่รัฐผ่านแดนดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะขยายและเสริมสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมและป้องกันที่มีประสิทธิผลต่อการลักลอบค้า
๓. ภาคีอาจจัดทำความตกลงหรือข้อตกลงทั้งในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคี เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิผลของความร่วมมือระหว่างประเทศตามข้อนี้ และในการนี้อาจพิจารณาข้อกำหนดทางการเงินด้วย
ข้อ ๑๑
การส่งมอบยาเสพติดภายใต้การควบคุม
๑. ถ้าหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายภายในของตนอนุญาตให้กระทำได้ ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเท่าที่เป็นไปได้เพื่อที่จะอนุญาตให้มีการใช้วิธีส่งมอบยาเสพติดภายใต้การควบคุมในระดับนานาชาติตามความเหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานของความตกลงหรือข้อตกลงซึ่งเห็นพ้องต้องร่วมกันด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทราบตัวบุคคลต่างๆ ที่พัวพันในการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ และด้วยวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าว
๒. การวินิจฉัยว่าจะใช้วิธีการส่งมอบยาเสพติดภายใต้การควบคุมจะต้องกระทำเป็นรายกรณีไปและเมื่อจำเป็น อาจพิจารณาถึงข้อกำหนดทางการเงินและความเข้าใจในเรื่องการใช้เขตอำนาจของภาคีที่เกี่ยวข้อง
๓. สินค้าผิดกฎหมายที่จะส่งมอบซึ่งภาคีเห็นพ้องว่าให้มีการส่งมอบภายใต้การควบคุม ด้วยความยินยอมของภาคีที่เกี่ยวข้อง อาจถูกสกัดและอนุญาตให้เดินทางต่อไปโดยยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือนำออกไป หรือเปลี่ยนออกทั้งหมดหรือบางส่วน
ข้อ ๑๒
สารที่ใช้บ่อยครั้งในการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
๑. ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการซึ่งตนพิจารณาว่าเหมาะสมในการป้องกันการยักย้ายสารในบัญชี I และบัญชี II ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ภาคีจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน
๒. ถ้าภาคีใดหรือคณะกรรมการมีข้อมูลซึ่งในความเห็นของตนอาจจำเป็นต้องระบุรวมสารใดเข้าไว้ในบัญชี I หรือบัญชี II ภาคีหรือคณะกรรมการนั้นจะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบและจัดข้อมูลสนับสนุนการแจ้งดังกล่าว เมื่อภาคีหรือคณะกรรมการมีข้อมูลสนับสนุนการเพิกถอนสารใดจากบัญชี I หรือบัญชี II หรือสนับสนุนการโอนสารใดจากบัญชีหนึ่งไปไว้อีกบัญชีหนึ่งแล้ว ให้นำขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในวรรค ๒ ถึง ๗ ของข้อนี้มาใช้บังคับ
๓. เลขาธิการจะต้องส่งต่อหนังสือแจ้งดังกล่าว และข้อมูลใดๆ ซึ่งตนพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องไปยังบรรดาภาคี คณะกรรมาธิการ และในกรณีที่ภาคีใดเป็นผู้ทำหนังสือแจ้งนั้น ก็ให้ส่งต่อไปยังคณะกรรมการด้วย ภาคีจะต้องแจ้งข้อคิดเห็นของตนอันเกี่ยวกับหนังสือแจ้งดังกล่าวให้เลขาธิการ พร้อมด้วยข้อมูลประกอบทั้งหมดซึ่งอาจช่วยคณะกรรมการในการจัดทำผลการพิจารณาและช่วยคณะกรรมาธิการในการวินิจฉัย
๔. โดยคำนึงถึงขอบเขต ความสำคัญและความหลากหลายของการใช้สารนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และความเป็นไปได้และความง่ายในการเลือกใช้สารทดแทน ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เมื่อคณะกรรมการพบว่า
(ก) สารนั้นถูกใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทบ่อยครั้ง
(ข) ปริมาณและขอบเขตของการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขหรือปัญหาสังคมอย่างร้ายแรง
เพื่อให้มีการดำเนินการของนานาชาติ คณะกรรมการจะต้องแจ้งผลการประเมินสารนั้นให้แก่คณะกรรมาธิการ รวมทั้งผลที่น่าจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มชื่อสารนั้นในบัญชี I หรือบัญชี II ทั้งเพื่อการใช้ที่ชอบด้วยกฎหมายและการลักลอบผลิต รวมทั้งข้อแนะนำในเรื่องมาตรการติดตามตรวจสอบใดซึ่งอาจจะเหมาะสมเมื่อคำนึงถึงการประเมินดังกล่าว
๕. โดยคำนึงถึงข้อคิดเห็นที่ส่งโดยภาคีและข้อคิดเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ซึ่งผลการประเมินของคณะกรรมการจะเป็นตัวตัดสินชี้ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ และโดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คณะกรรมาธิการอาจลงมติโดยเสียงข้างมากสองในสามของสมาชิกให้จัดสารใดๆ ไว้ในบัญชี I หรือบัญชี II
๖. เลขาธิการ จะต้องแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการที่ได้กระทำตามข้อนี้ไปยังรัฐทั้งมวลและหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นหรือมีสิทธิจะเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้รวมทั้งคณะกรรมการคำวินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับกับแต่ละภาคีหนึ่งร้อยแปดสิบวันหลังจากวันที่แจ้งดังกล่าว
๗. (ก) คำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการที่ได้กระทำตามข้อนี้อาจถูกทบทวนได้โดยคณะมนตรี เมื่อภาคีใดร้องขอภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันหลังจากวันแจ้งคำวินิจฉัยนั้น คำร้องขอให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยจะต้องส่งให้เลขาธิการ พร้อมด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งเป็นหลักของการร้องขอให้มีการทบทวน
(ข) เลขาธิการ จะต้องส่งต่อสำเนาคำร้องขอให้มีการทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ และภาคีทั้งมวล เพื่อเชิญชวนให้คณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ และบรรดาภาคีเสนอข้อคิดเห็นภายในเก้าสิบวัน ข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
(ค) คณะมนตรีอาจยืนยันหรือกลับคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการได้ หนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะมนตรีจะต้องส่งต่อไปยังรัฐทั้งมวลและหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นหรือมีสิทธิจะเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ และจะต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการด้วย
๘. (ก) โดยไม่กระทบต่อหลักการทั่วไปของบทบัญญัติในวรรค ๑ ของข้อนี้ บทบัญญัติของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ และอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข รวมถึงอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑ ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่ตนพิจารณาว่าเหมาะสมเพื่อติดตามตรวจสอบการผลิตและการจำหน่ายสารในบัญชี I และบัญชี II ซึ่งดำเนินการภายในดินแดนของตน
(ข) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ภาคีอาจ
(๑) ควบคุมบุคคลและวิสาหกิจทั้งมวลที่ประกอบการผลิตและจำหน่ายสารดังกล่าว
(๒) ควบคุมโดยใช้ใบอนุญาตในเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งและสถานที่ที่จะมีการผลิต หรือจำหน่ายสารดังกล่าว
(๓) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องมีใบอนุญาตเพื่อประกอบการดังกล่าว
(๔) ป้องกันการสะสมสารดังกล่าวในความครอบครองของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่เกินกว่าปริมาณสารที่ต้องการสำหรับการดำเนินธุรกิจปกติและสภาพตลาดที่เป็นอยู่
๙. แต่ละภาคีจะต้องดำเนินมาตรการอันเกี่ยวข้องกับสารในบัญชี I และบัญชี II ดังต่อไปนี้
(ก) กำหนดและดำเนินระบบที่จะติดตามตรวจสอบการค้าระหว่างประเทศของสารในบัญชี I และบัญชี II เพื่อช่วยในการระบุถึงธุรกิจการค้าอันน่าสงสัย ภาคีจะต้องใช้ระบบการติดตามตรวจสอบดังกล่าวด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ขายส่ง และผู้ขายปลีก ซึ่งจะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทราบถึงใบสั่งสินค้าและธุรกิจการค้าอันน่าสงสัย
(ข) บัญญัติให้มีการยึดสารใดๆ ในบัญชี I หรือบัญชี II ถ้ามีหลักฐานเพียงพอว่าสารดังกล่าวมีไว้เพื่อใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(ค) แจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและหน่วยงานบริการของภาคีที่เกี่ยวข้องทราบโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้ หากมีเหตุที่เชื่อได้ว่าการนำเข้า ส่งออก หรือผ่านแดน ซึ่งสารในบัญชี I หรือบัญชี II มีจุดหมายเพื่อการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงข้อมูลอันเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินและสารสำคัญอื่นใดซึ่งทำให้เชื่อเช่นนั้น
(ง) กำหนดให้สารซึ่งนำเข้าและส่งออกติดฉลากและมีเอกสารกำกับอย่างถูกต้องเอกสารทางการค้า เช่น บัญชีราคาสินค้า บัญชีแสดงสินค้า ตลอดจนเอกสารทางศุลกากรและทางการขนส่ง และเอกสารส่งของอื่นๆ จะต้องระบุรวมถึงรายชื่อของสารที่นำเข้าและส่งออกตามที่ระบุในบัญชี I หรือบัญชี II ปริมาณสารที่นำเข้าและส่งออก ตลอดจนชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้รับมอบสินค้า หากมี
(จ) ประกันว่าเอกสารต่างๆ ที่อ้างถึงในอนุวรรค (ง) ของวรรคนี้ จะได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และมีพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบ
๑๐. (ก) นอกเหนือจากบทบัญญัติของวรรค ๙ และเมื่อภาคีที่สนใจร้องขอต่อเลขาธิการภาคีซึ่งจะมีการส่งสารหนึ่งใดในบัญชี Iออกไปจากดินแดนของตนจะต้องประกันว่าก่อนการส่งออกดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะจัดข้อมูลดังต่อไปนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศผู้นำเข้า
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ตลอดจนผู้รับมอบสินค้า หากมี
(๒) ชื่อของสารในบัญชี I
(๓) ปริมาณของสารที่จะส่งออก
(๔) จุดที่คาดว่าจะนำเข้า และวันที่คาดว่าจะจัดส่ง
(๕) ข้อมูลอื่นใดที่ภาคีเห็นพ้องร่วมกัน
(ข) ภาคีอาจรับเอามาตรการควบคุมที่เข้มงวดหรือรุนแรงกว่าที่วรรคนี้บัญญัติไว้หากตามความเห็นของภาคีนั้น มาตรการดังกล่าวเป็นที่ต้องการหรือจำเป็น
๑๑. เมื่อภาคีหนึ่งจัดข้อมูลให้แก่อีกภาคีหนึ่งตามวรรค ๙ และวรรค ๑๐ ของข้อนี้ ภาคีที่จัดให้ข้อมูลดังกล่าวอาจกำหนดให้ภาคีผู้รับข้อมูลนั้นไม่เปิดเผยความลับทางการค้า ทางธุรกิจ ทางพาณิชย์ หรือทางอาชีพ รวมทั้งกระบวนการค้า
๑๒. ภาคีจะต้องจัดข้อมูลให้แก่คณะกรรมการเป็นประจำทุกปี ในรูปแบบและลักษณะที่คณะกรรมการกำหนดไว้ และตามแบบที่คณะกรรมการจัดเตรียมให้ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) จำนวนของสารในบัญชี I และบัญชี II ที่ถูกยึด และแหล่งกำเนิดของสารเหล่านั้นหากทราบ
(ข) สารใดๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในบัญชี I หรือบัญชี II ซึ่งถูกระบุว่าเคยมีการใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเป็นสารที่ภาคีเห็นว่ามีความสำคัญเพียงพอที่จะแจ้งให้คณะกรรมการทราบ
(ค) วิธีการยักย้ายและลักลอบผลิต
๑๓. คณะกรรมการจะต้องรายงานต่อคณะกรรมาธิการเป็นประจำทุกปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อนี้ และคณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณาทบทวนว่าบัญชี I และบัญชี II ครอบคลุมเพียงพอและเหมาะสมเป็นระยะๆ
๑๔. บทบัญญัติของข้อนี้จะไม่ใช้กับการปรุงยา และกับสารปรุงแต่งอื่นๆ ซึ่งมีสารในบัญชี I หรือบัญชี II รวมอยู่ โดยผสมขึ้นตามกรรมวิธีที่สารดังกล่าวนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ง่ายหรือนำกลับมาใช้โดยกรรมวิธีที่สามารถนำมาใช้โดยง่าย
ข้อ ๑๓
วัสดุและอุปกรณ์
ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการดังกล่าวตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมเพื่อป้องกันการค้าและการยักย้ายวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการลักลอบทำขึ้น หรือการผลิตยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและภาคีจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้
ข้อ ๑๔
มาตรการทำลายการลักลอบเพาะปลูกพืชเสพติด
และขจัดความต้องการที่ผิดกฎหมายสำหรับยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(๑) มาตรการใดๆ ที่ภาคีดำเนินการโดยสอดคล้องกับอนุสัญญานี้จะรุนแรงและเข้มงวดไม่น้อยกว่าบทบัญญัติที่ใช้บังคับกับการทำลายลักลอบเพาะปลูกพืชที่มีสารเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และการขจัดความต้องการที่ผิดกฎหมายสำหรับยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทภายใต้บทบัญญัติแห่งอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข และอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑
(๒) ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อที่จะป้องกันการลักลอบเพาะปลูกและทำลายพืชที่มีสารเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ต้นฝิ่น ต้นโคคา และพืชกัญชา ที่ลักลอบเพาะปลูกในดินแดนของตน มาตรการที่รับเอาไว้นั้นจะต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และจะต้องพิจารณาตามสมควรถึงการใช้โดยชอบด้วยกฎหมายตามประเพณีหากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้ดังกล่าวปรากฏอยู่ ตลอดจนการคุ้มครองสภาพแวดล้อมด้วย
(๓) (ก) ภาคีอาจร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของความพยายามทำลายการเพาะปลูกพืชเสพติด ดังกล่าว นอกเหนือจากประการอื่นแล้ว และเมื่อเหมาะสม ความร่วมมือดังกล่าวอาจรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นแบบผสมผสาน อันนำมาซึ่งทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้ในเชิงเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการเพาะปลูกพืชเสพติด ภาคีควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การเข้าถึงตลาด ความพร้อมของทรัพยากร ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ ก่อนที่การพัฒนาท้องถิ่นดังกล่าวจะได้รับการปฏิบัติ อนึ่งภาคีอาจเห็นชอบกับมาตรการความร่วมมืออื่นใดที่เหมาะสมด้วย
(ข) ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค รวมทั้งการปฏิบัติงานวิจัยเกี่ยวกับการทำลายการลักลอบเพาะปลูกพืชเสพติดนั้น
(ค) เมื่อใดที่ภาคีมีเขตแดนร่วมกัน ภาคีจะต้องพยายามร่วมมือกันในแผนงานทำลายการลักลอบเพาะปลูกพืชเสพติดในแต่ละพื้นที่ของตนตลอดแนวเขตแดนเหล่านั้น
(๔) ภาคีจะต้องรับเอามาตรการอันเหมาะสมที่มุ่งขจัดหรือลดความต้องการอันมิชอบซึ่งยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อที่จะลดความทุกข์ทรมานของมนุษย์และขจัดแรงจูงใจด้านเงินตราในการลักลอบค้า นอกเหนือจากประการอื่นแล้ว มาตรการเหล่านี้อาจเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลกและองค์การระหว่างประเทศอื่นที่มีอำนาจ และเป็นไปตามโครงร่างการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งรับเอาโดยที่ประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิดและการลักลอบค้าที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๘๗ อันเป็นการประชุมที่เกี่ยวกับความพยายามขององค์กรระดับรัฐบาลและมิใช่ระดับรัฐบาลและของภาคเอกชนในเรื่องการป้องกัน การบำบัดรักษา และการฟื้นฟู อนึ่ง บรรดาภาคีอาจเข้าเป็นภาคีความตกลงหรือข้อตกลงในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคีซึ่งมุ่งขจัดหรือลดความต้องการอันมิชอบซึ่งยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(๕) ภาคีอาจดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อการทำลายโดยเร็ว หรือการจำหน่ายจ่ายโอนโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารในบัญชี I และบัญชี II ซึ่งถูกยึดหรือริบ และเพื่อให้มีการยอมรับสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในปริมาณที่จำเป็นซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
ข้อ ๑๕
ผู้ประกอบการขนส่ง
๑. ภาคีจะต้องดำเนินมาตรการอันเหมาะสมเพื่อประกันว่าวิธีการขนส่งซึ่งปฏิบัติโดยผู้ประกอบการขนส่งนั้นจะไม่ถูกใช้ในการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ มาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงข้อตกลงพิเศษกับผู้ประกอบการขนส่ง
๒. ภาคีจะต้องกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งดำเนินมาตรการป้องกันที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อุปกรณ์ขนส่งของตนในการกระทำความผิดที่บัญญัติไว้ตามข้อ ๓ วรรค ๑ มาตรการป้องกันดังกล่าวอาจรวมถึง
(ก) ถ้าสถานที่หลักในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่งอยู่ในดินแดนของภาคีนั้น
(๑) การฝึกอบรมบุคลากรให้รู้วิธีตรวจหาสินค้าหรือบุคคลที่น่าสงสัย
(๒) การส่งเสริมความซื่อสัตย์ของบุคลากร
(ข) ถ้าผู้ประกอบการขนส่งกำลังดำเนินกิจการอยู่ในดินแดนของภาคีนั้น
(๑) การยื่นบัญชีแสดงสินค้าล่วงหน้า เมื่อเป็นไปได้
(๒) การใช้ตราผนึกบนภาชนะบรรจุที่ป้องกันการปลอมแปลงแก้ไขและสามารถตรวจสอบได้เป็นรายกรณี
(๓) การรายงานสถานการณ์อันน่าสงสัยทั้งมวลที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เหมาะสมในโอกาสแรก
๓. ภาคีจะต้องพยายามประกันว่าผู้ประกอบการขนส่งและหน่วยงานที่เหมาะสมจะร่วมมือกันในจุดเข้า-ออกและบริเวณควบคุมทางศุลกากรอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขนส่งและสินค้าโดยมิได้รับอนุญาต และเพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอันเหมาะสม
ข้อ ๑๖
เอกสารทางการค้าและการปิดฉลากสินค้าที่ส่งออก
๑. ภาคีจะต้องกำหนดให้การส่งออกยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยชอบด้วยกฎหมายมีเอกสารกำกับอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากข้อกำหนดเกี่ยวกับเอกสารตามข้อ ๓๑ ของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ข้อ ๓๑ ของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข และข้อ ๑๒ ของอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑ เอกสารทางการค้า เช่น บัญชีราคาสินค้า บัญชีแสดงสินค้า เอกสารทางศุลกากร เอกสารที่ใช้ในการขนส่งและเอกสารส่งของอื่นๆ จะต้องรวมถึงชื่อยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ส่งออกดังที่แสดงไว้ในบัญชีท้ายอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไขและอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑ และปริมาณที่ส่งออกตลอดจนชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้รับสินค้าหากมี
๒. ภาคีจะต้องกำหนดว่ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ส่งมอบซึ่งส่งออกจะต้องไม่ปิดฉลากผิดพลาด
ข้อ ๑๗
การลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล
๑. ภาคีจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ เพื่อปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเลโดยสอดคล้องกับกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ
๒. ภาคีใดซึ่งมีเหตุอันควรที่จะสงสัยว่าเรือที่ชักธงของตน หรือไม่ชักธง หรือไม่แสดงเครื่องหมายการจดทะเบียน ถูกใช้ในการลักลอบค้ายาเสพติด อาจขอความช่วยเหลือจากภาคีอื่นๆ ในการปราบปรามการใช้เรือเพื่อวัตถุประสงค์นั้น ภาคีผู้ได้รับการร้องขอจะต้องให้ความช่วยเหลือดังกล่าวด้วยวิธีการที่มีอยู่
๓. ภาคีใดที่มีเหตุอันควรที่จะสงสัยว่าเรือซึ่งใช้สิทธิเดินเรือโดยเสรีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และซึ่งชักธงหรือแสดงเครื่องหมายจดทะเบียนของอีกภาคีหนึ่ง ถูกใช้ในการลักลอบค้ายาเสพติดอาจแจ้งรัฐเจ้าของธง ขอคำยืนยันการจดทะเบียน และหากได้รับคำยืนยัน ก็ให้อนุญาตจากรัฐเจ้าของธงที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมกับเรือนั้น
๔. โดยสอดคล้องกับวรรค ๓ หรือเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ใช้บังคับระหว่างภาคี หรือเป็นไปตามความตกลงหรือข้อตกลงใดๆ ที่ได้กระทำระหว่างภาคีเหล่านั้น นอกเหนือจากประการอื่นแล้ว รัฐเจ้าของธงอาจอนุญาตรัฐผู้ร้องขอให้
(ก) ขึ้นไปบนเรือลำดังกล่าว
(ข) ค้นเรือลำดังกล่าว
(ค) หากพบพยานหลักฐานของการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเสพติดดำเนินการที่เหมาะสมกับเรือ บุคคล และสินค้าที่บรรทุกอยู่บนเรือ
๕. เมื่อมีการดำเนินการตามข้อนี้ ภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาตามสมควรถึงความจำเป็นที่จะไม่ให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ความปลอดภัยของเรือและสินค้า หรือไม่กระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าและทางกฎหมายของรัฐเจ้าของธงหรือรัฐอื่นใดที่สนใจ
๖. โดยสอดคล้องกับพันธกรณีในวรรค ๑ ของข้อนี้ รัฐเจ้าของธงอาจให้การอนุญาตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เห็นพ้องร่วมกันระหว่างรัฐเจ้าของธงและภาคีผู้ร้องขอ รวมทั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับความรับผิดชอบ
๗. เพื่อวัตถุประสงค์ของวรรค ๓ และ ๔ ของข้อนี้ ภาคีหนึ่งจะต้องตอบคำร้องขอของอีกภาคีหนึ่งโดยเร็ว ที่จะให้ตัดสินว่าเรือที่ชักธงของภาคีนั้นมีสิทธิ์กระทำการเช่นนั้นหรือไม่ และคำร้องขออนุญาตที่กระทำตามวรรค ๓ อนึ่ง ขณะที่เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญานี้ แต่ละภาคีจะต้องตั้งหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานเมื่อจำเป็น เพื่อรับและตอบคำร้องขอดังกล่าว การตั้งเช่นว่าจะต้องแจ้งให้บรรดาภาคีทั้งมวลทราบโดยผ่านเลขาธิการภายในหนึ่งเดือนของการตั้ง
๘. ภาคีที่ได้ดำเนินการใดๆ โดยสอดคล้องกับข้อนี้จะต้องแจ้งรัฐเจ้าของธงที่เกี่ยวข้องให้ทราบผลของการดำเนินการนั้นโดยทันที
๙. ภาคีจะต้องพิจารณาเข้าเป็นภาคีของความตกลงหรือข้อตกลงลักษณะทวิภาคีหรือระดับภูมิภาค เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของข้อนี้ หรือเพิ่มพูนประสิทธิผลของบทบัญญัติของข้อนี้
๑๐. การดำเนินการตามวรรค ๔ ของข้อนี้จะต้องกระทำโดยเรือรบหรืออากาศยานทหาร หรือเรือและอากาศยานอื่นที่มีเครื่องหมายแสดงและสามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าใช้ในราชการของรัฐบาล และได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น
๑๑. การดำเนินการใดๆ ที่กระทำโดยสอดคล้องกับข้อนี้จะต้องคำนึงตามสมควรถึงความจำเป็นที่จะไม่แทรกแซงหรือกระทบต่อสิทธิ พันธกรณี และการใช้เขตอำนาจของรัฐชายฝั่งโดยสอดคล้องกับกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ
ข้อ ๑๘
เขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษี
๑. ภาคีจะต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารในบัญชี I และบัญชี II ในเขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษี ที่รุนแรงและเข้มงวดไม่น้อยกว่ามาตรการที่ใช้ในส่วนอื่นๆ ของดินแดน
๒. ภาคีจะต้องพยายามที่จะ
(ก) ติดตามตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสินค้าและความเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในเขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษี และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ภาคีจะต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะค้นสินค้าและเรือที่เข้ามาเทียบท่าหรือออกจากท่า รวมทั้งเรือสำราญและเรือประมง ตลอดจนอากาศยานและพาหนะต่างๆ และเมื่อเห็นสมควร ที่จะค้นลูกเรือ ผู้โดยสาร และสัมภาระของคนเหล่านั้นด้วย
(ข) จัดตั้งและรักษาระบบที่จะตรวจหาสินค้าที่ต้องสงสัยว่าบรรจุยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารในบัญชี I และบัญชี II อยู่ภายใน ซึ่งผ่านเข้าไปหรืออกมาจากเขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษี
(ค) จัดตั้งและรักษาระบบการสอดส่องในบริเวณท่าเรือและอู่เรือ ท่าอากาศยาน และจุดตรวจชายแดนในเขตการค้าเสรีและเมืองท่าปลอดภาษ ี
ข้อ ๑๙
การใช้ไปรษณีย์
๑. โดยสอดคล้องกับพันธกรณีของตนภายใต้อนุสัญญาสหภาพไปรษณีย์สากล และตามหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายภายในของตน ภาคีจะต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปราบปรามการใช้ไปรษณีย์เพื่อการลักลอบค้า และจะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
๒. มาตรการที่อ้างถึงในวรรค ๑ ของข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องรวมถึง
(ก) การประสานการปฏิบัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้ไปรษณีย์เพื่อการลักลอบค้า
(ข) การที่บุคลากรด้านปราบปรามที่มีอำนาจนำมาใช้และดำรงไว้ซึ่งเทคนิคการสืบสวน และควบคุมที่กำหนดขึ้นเพื่อตรวจหาสินค้ายาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารในบัญชี I และบัญชี II ผิดกฎหมายในระบบไปรษณีย์
(ค) มาตรการทางกฎหมายที่จะทำให้มีการใช้วิธีการอันเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่จำเป็นสำหรับกระบวนการทางศาล
ข้อ ๒๐
ข้อมูลที่ภาคีจะต้องจัดให้
๑. ภาคีจะต้องจัดข้อมูลให้คณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการดำเนินงานของอนุสัญญานี้ในดินแดนของตนโดยผ่านเลขาธิการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
(ก) ตัวบทกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ประกาศใช้เพื่อให้อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับ
(ข) รายละเอียดแห่งคดีการลักลอบค้าภายในเขตอำนาจของตนซึ่งเห็นว่าสำคัญเนื่องจากแสดงถึงแนวโน้มใหม่ๆ ปริมาณสารที่เกี่ยวข้อง แหล่งที่มาของสารนั้น หรือวิธีการลักลอบค้าซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องใช้
ข้อ ๒๑
หน้าที่ของคณะกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการมีอำนาจพิจารณาเรื่องทั้งมวลที่เกี่ยวกับความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
(ก) คณะกรรมาธิการจะต้องทบทวนการปฏิบัติงานตามอนุสัญญานี้ บนพื้นฐานของข้อมูลที่ภาคีส่งให้ตามข้อ ๒๐
(ข) คณะกรรมาธิการอาจให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะทั่วไป โดยอิงกับการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากภาคี
(ค) คณะกรรมาธิการอาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของคณะกรรมการ
(ง) คณะกรรมาธิการจะต้องดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสม ในเรื่องใดๆ ที่คณะกรรมการส่งมาให้ตามข้อ ๒๒ วรรค ๑ อนุวรรค (ข)
(จ) คณะกรรมาธิการอาจแก้ไขบัญชี I และบัญชี II ได้ โดยสอดคล้องกับขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๒
(ฉ) คณะกรรมาธิการอาจขอให้ผู้ที่มิใช่ภาคีพิจารณาถึงคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่คณะกรรมาธิการรับเอาภายใต้อนุสัญญานี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มิใช่ภาคีเหล่านั้นพิจารณาดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะดังกล่าว
ข้อ ๒๒
หน้าที่ของคณะกรรมการ
๑. โดยไม่กระทบต่อหน้าที่ของคณะกรรมาธิการตามข้อ ๒๑ และไม่กระทบต่อหน้าที่ของคณะกรรมการ และอนุสัญญาภายใต้อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข และอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑
(ก) โดยอาศัยการตรวจสอบข้อมูลที่คณะกรรมการ เลขาธิการ หรือคณะกรรมาธิการมีอยู่ หรือข้อมูลที่องค์กรของสหประชาชาติจัดส่งให้ ถ้าคณะกรรมการมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล คณะกรรมการอาจขอให้ภาคีหนึ่งหรือหลายภาคีจัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ด้วย
(ข) ในส่วนของข้อ ๑๒, ๑๓ และ ๑๖ นั้น
(๑) ภายหลังการดำเนินการภายใต้อนุวรรค (ก) ของข้อนี้ คณะกรรมการอาจเรียกร้องให้ภาคีที่เกี่ยวข้องรับเอามาตรการแก้ไขซึ่งเห็นว่าจำเป็นในสภาพการณ์นั้น เพื่อการปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อ ๑๒,๑๓ และ ๑๖ หากพิจารณาว่าจำเป็นที่จะกระทำเช่นนั้น
(๒) ก่อนการดำเนินการตาม (๓) ข้างล่างนี้ คณะกรรมการจะต้องให้การติดต่อในเรื่องเกี่ยวกับอนุวรรคข้างต้นกับภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ
(๓) หากคณะกรรมการพบว่าภาคีที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินมาตรการแก้ไขที่ได้รับการเรียกร้องให้ดำเนินการภายใต้อนุวรรคนี้ คณะกรรมการอาจขอให้ภาคี คณะมนตรี และคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ รายงานใดๆ ที่คณะกรรมการพิมพ์เผยแพร่ภายใต้อนุวรรคนี้จะต้องประกอบด้วยข้อคิดเห็นของภาคีที่เกี่ยวข้อง หากภาคีที่เกี่ยวข้องร้องขอเช่นนั้น
๒. ภาคีจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งจะมีการพิจารณาปัญหาที่ภาคีนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงภายใต้ข้อนี้
๓. ถ้าในกรณีใดๆ ที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการซึ่งรับเอาภายใต้ข้อนี้ไม่เป็นเอกฉันท์จะต้องระบุข้อคิดเห็นของเสียงข้างน้อยไว้ด้วย
๔. คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายใต้ข้อนี้จะต้องถือเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ ของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด
๕. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามอนุวรรค ๑ (ก) ของข้อนี้ คณะกรรมการจะต้องรักษาเป็นความลับซึ่งข้อมูลทั้งมวลที่ตนได้รับมา
๖. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการภายใต้ข้อนี้จะไม่นำมาใช้บังคับกับการปฏิบัติตามสนธิสัญญาหรือความตกลงที่บรรดาภาคีเข้าเป็นภาคีตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้
๗. บทบัญญัติของข้อนี้จะไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับข้อพิพาทระหว่างภาคีที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของข้อ ๓๒
ข้อ ๒๓
รายงานของคณะกรรมการ
๑. คณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการทำงานของตน โดยมีบทวิเคราะห์ข้อมูลที่ตนมีอยู่ และในกรณีที่เหมาะสม ให้มีรายละเอียดของคำชี้แจงที่ภาคีได้ให้หรือต้องการจากภาคี หากมี พร้อมด้วยข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการประสงค์ที่จะให้ไว้ อนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดทำรายงานเพิ่มเติมตามที่พิจารณาว่าจำเป็น คณะกรรมการจะต้องยื่นรายงานนี้ต่อคณะมนตรีโดยผ่านคณะกรรมาธิการซึ่งอาจจัดทำข้อคิดเห็นตามที่เห็นเหมาะสม
๒. รายงานของคณะกรรมการจะต้องถูกจัดส่งให้แก่ภาคี และจากนั้น เลขาธิการจะต้องจัดพิมพ์เผยแพร่รายงานดังกล่าว อนึ่ง บรรดาภาคีจะต้องอนุญาตให้มีการแจกจ่ายโดยไม่มีข้อจำกัดด้วย
ข้อ ๒๔
การนำมาตรการที่เข้มงวดกว่ามาตรการที่อนุสัญญานี้กำหนดไว้มาใช้
ภาคีหนึ่งอาจรับเอามาตรการที่เข้มงวดหรือรุนแรงกว่ามาตรการที่อนุสัญญานี้บัญญัติไว้ หากตามความเห็นของภาคีแล้ว มาตรการดังกล่าวเหมาะสมหรือจำเป็นเพื่อการป้องกันหรือปราบปรามการลักลอบค้า
ข้อ ๒๕
การไม่ลิดรอนสิทธิและพันธกรณีของสนธิสัญญาที่มีอยู่ก่อน
บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะต้องไม่ลิดรอนสิทธิใดๆ ที่ภาคีแห่งอนุสัญญานี้ได้รับ หรือพันธกรณีใดๆ ที่ภาคีแห่งอนุสัญญานี้ต้องปฏิบัติตามภายใต้อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ อนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ได้รับการแก้ไข และอนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๗๑
ข้อ ๒๖
การลงนาม
อนุสัญญานี้จะเปิดให้มีการลงนามที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๙ และหลังจากนั้นจะเปิดให้ลงนามที่ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก จนถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ แก่
(ก) รัฐทั้งมวล
(ข) ประเทศนามิเบีย ซึ่งกระทำการแทนโดยคณะมนตรีสหประชาชาติเพื่อนามิเบีย
(ค) องค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเจรจา การจัดทำและใช้บังคับความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง ส่วนข้อความในอนุสัญญาที่กล่าวถึงภาคี รัฐ หรือหน่วยงานบริการระดับชาติก็จะใช้บังคับได้กับองค์การเหล่านี้ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์การดังกล่าว
ข้อ ๒๗
การให้สัตยาบัน การยอมรับ การเห็นชอบ หรือการให้การยืนยันอย่างเป็นทางการ
๑. อนุสัญญานี้ต้องมีการให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือการเห็นชอบโดยรัฐต่างๆ และโดยประเทศนามิเบีย ซึ่งกระทำการแทนโดยคณะมนตรีสหประชาชาติเพื่อนามิเบีย และการให้การยืนยันอย่างเป็นทางการโดยองค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่อ้างถึงในข้อ ๒๖ อนุวรรค (ค) สัตยาบันสาร สารยอมรับ หรือสารเห็นชอบ และสารที่เกี่ยวกับการให้การยืนยันอย่างเป็นทางการจะต้องมอบให้เลขาธิการเก็บรักษา
๒. ในสารการยืนยันอย่างเป็นทางการ องค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคจะต้องแสดงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง องค์การเหล่านี้จะต้องแจ้งเลขาธิการให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง
ข้อ ๒๘
การภาคยานุวัติ
๑. อนุสัญญานี้จะยังคงเปิดสำหรับการภาคยานุวัติโดยรัฐใดๆ โดยประเทศนามิเบียซึ่งกระทำการแทนโดยคณะมนตรีสหประชาชาติเพื่อนามิเบีย และโดยองค์การรวมกลุ่มงานเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่อ้างถึงในข้อ ๒๖ อนุวรรค (ค)
การภาคยานุวัติจะมีผลเมื่อมีการมอบภาคยานุวัติสารไว้กับเลขาธิการเพื่อเก็บรักษา
๒. ในภาคยานุวัติสาร องค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคจะต้องแสดงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง องค์การเหล่านี้จะต้องแจ้งเลขาธิการให้ทราบด้วยถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนในเรื่องที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง
ข้อ ๒๙
การมีผลใช้บังคับ
๑. อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่เก้าสิบหลังจากวันที่ได้มีการมอบสัตยาบันสาร สารยอมรับ สารเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบของรัฐหรือประเทศนามิเบียซึ่งกระทำการแทนโดยคณะมนตรีสหประชาชาติเพื่อนามิเบีย ให้เลขาธิการเก็บรักษา
๒. สำหรับรัฐใดหรือประเทศนามิเบียซึ่งกระทำการแทนโดยคณะมนตรีสหประชาชาติเพื่อนามิเบียซึ่งได้ให้สัตยาบัน ยอมรับ เห็นชอบ หรือภาคยานุวัติในอนุสัญญานี้ภายหลังการมอบสัตยาบันสาร สารยอมรับ สารเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบ อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่เก้าสิบหลังจากวันที่มีการมอบสัตยาบันสาร สารยอมรับ สารเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารของตน
๓. สำหรับองค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแต่ละองค์การที่อ้างถึงในข้อ ๒๖ อนุวรรค (ค) ซึ่งได้มอบสารการยืนยันอย่างเป็นทางการหรือภาคยานุวัติสารนั้น อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่เก้าสิบหลังจากการมอบให้เลขาธิการเก็บรักษาดังกล่าว หรือในวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับตามวรรค ๑ ของข้อนี้ แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นทีหลัง
ข้อ ๓๐
การบอกเลิก
๑. ภาคีหนึ่งใดอาจบอกเลิกอนุสัญญานี้เมื่อใดก็ได้โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการ
๒. การบอกเลิกดังกล่าวจะมีผลต่อภาคีที่เกี่ยวข้องหนึ่งปีภายหลังวันที่เลขาธิการได้รับการแจ้งนั้น
ข้อ ๓๑
การแก้ไข
๑. ภาคีใดอาจเสนอข้อแก้ไขอนุสัญญานี้ได้ ภาคีจะต้องส่งตัวบทของข้อแก้ไขดังกล่าว และเหตุผลในการแก้ไขให้แก่เลขาธิการผู้ซึ่งจะต้องส่งต่อไปยังภาคีอื่นๆ และจะต้องถามภาคีอื่นๆ นั้นว่าจะยอมรับข้อแก้ไขที่เสนอมานั้นหรือไม่ หากภาคีใดๆ มิได้ปฏิเสธข้อแก้ไขที่เสนอมาซึ่งได้เวียนให้ทราบทั่วกันนั้นภายใน ๒๔ เดือนหลังจากที่ได้มีการเวียนให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว ให้ถือว่าข้อแก้ไขนั้นได้รับการยอมรับแล้วและจะมีผลใช้บังคับกับภาคีเก้าสิบวันหลังจากภาคีนั้นได้มอบสารแสดงการเห็นชอบของตนในอันที่จะให้การแก้ไขนั้นมีผลผูกพันให้เลขาธิการเก็บรักษา
๒. ถ้าภาคีใดไม่ยอมรับข้อแก้ไขที่เสนอมา เลขาธิการจะต้องปรึกษาหารือกับบรรดาภาคีและหากภาคีส่วนใหญ่ร้องขอ ให้เลขาธิการนำเรื่องนี้พร้อมด้วยข้อคิดเห็นใดๆ ของบรรดาภาคีเสนอต่อคณะมนตรีซึ่งอาจตัดสินใจที่จะเรียกประชุมโดยสอดคล้องกับข้อ ๖๒ วรรค ๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติข้อแก้ไขใดๆ อันเป็นผลจากการประชุมดังกล่าวจะต้องรวมไว้ในพิธีสารแก้ไข อนึ่ง การยินยอมให้พิธีสารดังกล่าวมีผลผูกพัน จำเป็นต้องแสดงอย่างแจ้งชัดต่อเลขาธิการด้วย
ข้อ ๓๒
การระงับข้อพิพาท
๑. ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสองภาคีหรือมากกว่านั้นเกี่ยวกับการตีความหรือการนำอนุสัญญานี้มาใช้ ภาคีจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าว โดยการเจรจา การไต่สวนการไกล่เกลี่ย การประนีประนอม การอนุญาโตตุลาการ การให้องค์การระดับภูมิภาคมาช่วยแก้ปัญหาการใช้ขั้นตอนทางศาล หรือสันติวิธีอื่นๆ ตามแต่ตนจะเลือก
๒. ข้อพิพาทใดๆ ดังกล่าวที่ไม่สามารถระงับได้ด้วยวิธีการที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้จะต้องส่งให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้วินิจฉัย หากมีการร้องขอโดยรัฐภาคีคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
๓. ถ้าองค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่อ้างถึงในข้อ ๒๖ อนุวรรค (ค) เป็นภาคีคู่พิพาทในข้อพิพาทซึ่งไม่สามารถระงับได้ด้วยวิธีการที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้ องค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคดังกล่าวอาจร้องขอต่อคณะมนตรีโดยผ่านรัฐสมาชิกหนึ่งใดขององค์การสหประชาชาติให้ขอความคิดเห็นเชิงแนะนำจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามข้อ ๖๕ ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยให้ถือความคิดเห็นดังกล่าว เป็นเด็ดขาด
๔. รัฐแต่ละรัฐ ในขณะที่มีการลงนามหรือการให้สัตยาบัน การยอมรับหรือการเห็นชอบหรือการภาคยานุวัติอนุสัญญานี้ หรือองค์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ในขณะที่มีการลงนามหรือการมอบสารแสดงการยืนยันอย่างเป็นทางการ หรือการภาคยานุวัติ อาจประกาศว่า ตนไม่ถือว่าผูกพันตามวรรค ๒ หรือวรรค ๓ ของข้อนี้ อนึ่ง ภาคีอื่นจะไม่ถูกผูกพันโดยวรรค ๒ หรือวรรค ๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับภาคีที่ได้ทำการประกาศดังกล่าว
๕. ภาคีใดที่ได้ทำการประกาศไว้ตามวรรค ๔ ของข้อนี้ อาจถอนการประกาศนั้นเมื่อใดก็ได้โดยการแจ้งไปยังเลขาธิการ
ข้อ ๓๓
ตัวบทที่ถูกต้อง
ตัวบทภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปนของอนุสัญญานี้ มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน
ข้อ ๓๔
การเก็บรักษา
ให้เลขาธิการฯ เป็นผู้เก็บรักษาอนุสัญญานี้
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างทายซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องได้ลงนามอนุสัญญานี้
ทำ ณ กรุงเวียนนา เป็นฉบับเดียว ณ วันที่ยี่สิบ เดือนธันวาคม คริสต์ศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบแปด
ภาคผนวก
บัญชีถูกแก้ไขปรับปรุงโดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด มีผลบังคับใช้ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
บัญชี I บัญชี II
เอ็น-อะซีติลแอนทรานิลิก แอซิด อาเซติค แอนไฮไดรค์
อีเฟดรีน อาซีโทน
เออโกเมทรีน แอนทรานิลิค แอซิค
เออโกทามีน เอทิล อีเซอร์
ไอโซซาฟโร ไฮโดรครอลิค แอซิด
ไลเซอจิก แอซิค เมทิล เอทิล คีโทน
3,4 -เมทาลินไดอ๊อกซี่เพนนีล โพรพาโนน ฟีนิล อาเซติค แอซิค
1-ฟีนิล-2-โพรพาโนน พิเพอริดีน
ไพเพอโรนอล โปตัสเซียม เปอมังกาเนท
ซูโดอีเฟดรีน ซัลฟูริค แอซิด
ซาฟโร โทลูอีน
รวมถึงเกลือของสารที่ระบุไว้ในบัญชีนี้ รวมถึงเกลือของสารที่ระบุไว้ในบัญชีนี้
ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
(ไม่รวมถึงเกลือของไฮโดรครอลิค แอซิด
และซัลฟูริค แอซิด)
ความคิดเห็น