คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : สงครามคราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ.2081
เมื่อพระพุทธศักราชใกล้จะถึง ๒๐๘๐ ประเทศพม่ารามัญยังเป็นเอกราชอยู่ด้วยกัน แต่กำลังเสื่อมอำนาจลงกว่าแต่ก่อนด้วยกันทั้งสองฝ่าย เจ้าเมืองตองอู ชื่อมังกินโย เป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์พม่าแต่ก่อนจึงตั้งตัวเป็นอิสระ ราชาภิเษกทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาสิริไชยสุระ เมืองตองอูนั้นอยู่ริมแม่น้ำสะโตง ระหว่างประเทศพม่ากับรามัญ ผู้คนพลเมืองมีทั้งมอญพม่าปะปนกัน ด้วยเมื่อครั้งพระเจ้าราชาธิราชทำสงครามขับเคี่ยวกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง มอญและพม่าที่หลบลี้หนีภัยพากันเข้าไปอาศัยอยู่ในแดนเมืองตองอูเป็นอันมาก เมืองตองอูจึงมีกำลังมากขึ้นแต่ครั้งนั้นมา เมื่อมังกินโยตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ไม่ช้าในประเทศพม่าก็เกิดเหตุวิบัติขึ้น ด้วยเจ้านายในราชวงศ์พม่าวิวาทกันเอง ต่างไปชวนพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่มาช่วยรบพุ่งกันและกัน ก็เลยถึงความพินาศด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดเชื้อวงศ์เจ้าฟ้าไทยใหญ่ จึงพากันอพยพลงมาอยู่กับ พระเจ้าตองอู ๆ ได้กำลังมากขึ้น ก็ตั้งหน้าจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองและกำลังทหาร หมายจะขยายอำนาจใหญ่ยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันจะได้แผ่อาณาเขตออกไป พระเจ้าตองอูมหาสิริไชยสุระก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน มังตราราชบุตรอายุ ๑๖ ปีได้รับราชสมบัติ ราชาภิเษกทรงนามว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร หนังสื่อเก่าเรียกว่า พระเจ้าฝรั่งมังตรา ก็มี
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มีอุปนิสัยกล้าหาญ พอพระหฤทัยในการทำศึกสงคราม ได้รับราชสมบัติในเวลาบ้านเมืองกำลังบริบูรณ์และได้คู่คิดการสงครามคนหนึ่งเป็นพระญาติวงศ์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตั้งให้มีนามว่า บุเรงนอง แปลว่าพระเชษฐาธิราช ช่วยกันคิดตระเตรียมกำลังที่จะทำสงครามแผ่อาณาจักรให้กว้างขวาง ในขณะนั้น พระเจ้าหงสาวดีซึ่งมีพระนามเรียกว่า พระยาราญ เป็นราชโอรสของพระเจ้าธรรมเจดีย์ (คือ พระมหาปิฎกธร ในเรื่อง ราชาธิราช) สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่ราชโอรส ชนมายุได้ ๑๕ ปี พระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่ประพฤติเป็นพาลกดขี่ข้าราชการและสมณะอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนต่างๆ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เห็นว่ารามัญประเทศเกิดระส่ำระสาย ก็ยกทัพเมืองตองอูมาตีเมืองหงสาวดี ครั้นตีได้แล้วจึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงสาวดี แล้วยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะมะ อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง เป็นมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้ เมื่อได้เมืองเมาะตะมะแล้วพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะจัดการรวบรวมหัวเมืองมอญในมณฑลนั้น จึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
เมืองเชียงกรานนี้มอญเรียกว่า เมืองเดิงกรายน์ทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่า เมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์[1] พลเมืองเป็นมอญ แต่เห็นจะเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ทำนองพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้วจะคิดเห็นว่าเป็นเมืองมอญ จึงประสงค์จะเอาไปเป็นอาณาเขต
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีเมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่า ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีปรากฏแต่ว่า “ ถึงเดือน ๑๑ เสด็จไปเมืองเชียงกราน ” เท่านี้ แต่มีจดหมายเหตุของปินโต โปรตุเกสว่าครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชเกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน[2] ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนคร ทรงยกย่องความชอบของพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดินเหนือคลองตะเคียนแล้วพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดวาสอนศาสนากันตามพอใจ จึงเป็นเหตุที่จะได้มีวัดคริสตังและพวกบาทหลวงมาตั้งเมืองไทยแต่นั้นมา
หนังสือพระราชพงศาวดาร มีความปรากฏว่า เมื่อก่อนรบกับพม่าที่เมืองเชียงกรานนั้น ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดให้พระบรมราชาราชโอรสออกไปตีเมืองทวายครั้งหนึ่ง ในพงศาวดารพม่าก็มีตรงกัน แต่ครั้งนั้นเมืองทวายยังไม่ได้เป็นของพม่า ทำนองจะเป็นเมืองขึ้นไทยอยู่ แล้วตั้งแข็งเมืองต่อไป หรือจะเป็นอิสระอยู่โดยลำพัง ข้าพเจ้าจึงมิได้นับเข้าในเรื่องสงครามที่ไทยรบกับพม่า การที่รบกันที่เมืองเชียงกราน เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงเป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้รบกับพม่าในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ความคิดเห็น