คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : แซม
3.
“คุณคะ” นิลนลินเรียก และคนตัวสูงก็หันกลับมามอง...นัยน์ตาสองคู่สบกัน
พลังดึงดูดแรงกล้าทำให้ชะงักไปชั่วขณะ
พอรู้สึกตัว ชายหนุ่มก็ก้มศีรษะ พร้อมกับเอ่ยทักทายว่า “คูซูซางโพ”
“สวัสดีค่ะ” นิลนลินรวบรวมสติ บอกตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเมาเครื่องบินต่างหาก
“คุณมากับคุณป้าพิมใช่ไหมครับ? ผมแซมดรัพ มาขับรถพาคุณไปทิมพู คุณจะเรียกผมว่าแซมก็ได้”
“ฉันชื่อนิลค่ะ” หญิงสาวยิ้ม “คุณป้ากับแม่รออยู่ทางโน้น”
เขาก้าวเข้าไป โค้งต่ำกว่าตอนทักทายนิลนลิน กิริยาสุภาพนั้นเรียกคะแนนนิยมจากผู้สูงวัยได้ชนิดท่วมท้น เมื่อนิลนลินผลักรถเข็นกระเป๋าให้เขารับไป คุณป้าพิมจึงถึงกับยกมือทาบอก ซุบซิบนินทาว่า
“ต๊าย ไปใช้เขาขนกระเป๋าด้วย ดูลูกสาวเธอซี นารี!”
“ไม่เป็นไรครับ หน้าที่ของผมอยู่แล้ว และรถก็จอดอยู่ข้างหน้านี่เอง” ชายหนุ่มหันมาตอบ พอจะเดาได้อยู่ว่าคุณป้าเกรงใจ
แซมผลักรถขนกระเป๋าเข้าไปหาโตโยต้า แลนด์ ครูซเซอร์ สีดำที่จอดเด่นอยู่หน้าอาคารผู้โดยสารขาออก เขายกกระเป๋าแสนหนักทั้งสามใบใส่รถโดยไม่มีทีท่าว่าต้องออกแรงมากมายอะไรนัก และนิลนลินก็อดสังเกตไม่ได้ว่าแขนของเขาดูแข็งแรง แม้รูปร่างจะค่อนข้างเพรียว ไม่ล่ำสันอย่างชาวตะวันตก แต่ก็แกร่งแน่นด้วยกล้ามเนื้อ
ดูอะไรละเอียดลอออย่างนั้นก็ไม่รู้ นิลนลิน! หญิงสาวเตือนตัวเองเป็นครั้งที่สอง รีบหันไปดูแลคุณแม่และป้าพิม ที่มองรถด้วยสายตาเป็นกังวล
“สูงจัง” ป้าพิมพึมพำ ถึงจะยังเดินได้คล่อง มาเที่ยวได้สบาย แต่รูปร่างท้วมกลมเป็นอุปสรรคต่อการปีนขึ้นรถอย่างแน่นอน
แซมคงจะได้ยิน จึงหันมายิ้มให้คุณป้า แล้วหยิบม้าไม้ตัวเตี้ยออกจากหลังรถ
“แม่ผมก็ปีนไม่ค่อยไหวครับ เลยต้องมีม้านั่งติดรถไว้เป็นบันได” เขาประคองป้าพิมส่งขึ้นไปก่อน ตามด้วยคุณนารี นิลนลินจึงต้องนั่งคู่กับคนขับโดยปริยาย
“มีผ้าห่มอยู่ข้างหลังนะครับ ถ้าเผื่อใครหนาว” ชายหนุ่มบอก “พวกเราชินกับอากาศเย็น ในรถเลยไม่มีทั้งแอร์และฮีทเตอร์ อ้อ....ใส่แว่นกันแดดด้วยนะครับ แสงข้างนอกจะค่อนข้างจ้า”
เขาติดเครื่องยนต์ แล้วพารถเคลื่อนออกมา พร้อมกับที่เสียงเพลงแจ๊สส์ล่องลอยไปทั่ว
“ทางไกลมากไหมคะ” ป้าพิมเป็นคนชวนคุย ทำให้นิลนลินนึกได้ว่าไม่ควรนั่งเงียบ
“ไม่ไกลมากครับ แค่หกสิบห้ากิโลเมตร แต่ว่าหักเลี้ยวมากหน่อย ต้องใช้เวลาตั้งสองชั่วโมงกว่าจะไปถึงทิมพู ผมจะวนให้ดูเมืองพาโรก่อนด้วย”
ภาพตรงหน้าสวยจนผู้มาเยือนแทบลืมหายใจ ป้อมปราการที่ทะมึนอยู่ริมแม่น้ำกลางละไอหมอกช่างสง่างามน่าเกรงขามสมกับเป็นพาโรซอง ศูนย์รวมของเมือง ทั้งทางด้านบริหารและการศาสนา
แซมชี้ให้ดูตึกกลมสูงหกชั้น ทาสีขาวแดง หลังคาเป็นรูปหมวกซ้อนกัน แล้วบอกว่า “พิพิธภัณฑ์ ถ้าอยากดูไว้วันจะกลับเรามาแวะก่อนขึ้นเครื่องบินก็ได้ ข้างในมีแสตมป์ เหรียญ อาวุธ”
บรรยากาศและผู้คนแปลกตายิ่งนัก ดูย้อนยุค เข้มขลังด้วยพลังของธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็สื่อถึงความอบอุ่น วิถีชีวิตเรียบง่าย ซื่อตรง
เส้นทางสู่ทิมพูหักเลี้ยวจริงอย่างชายหนุ่มว่า ซ้ำถนนยังแคบ ต้องบีบแตรขอทางกันแทบทุกครั้งที่มีรถสวน จนคุณนารีพึมพำว่า “ยังกับเขาพับผ้า”
“พยายามอย่ามองลงไปข้างทางนะครับ” แซมเตือน “เพราะบางช่วงเป็นริมผา จะเวียนศีรษะได้”
นิลนลินนึกกลัว แต่มือแข็งแรงที่บังคับรถอย่างมั่นใจ ก็ช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้น พอที่จะทอดสายตามองทิวทัศน์ได้อย่างรื่นรมย์
หุบเขาสองข้างทางเรียงรายด้วยไร่นาและสวนผลไม้ กับกระท่อมชาวนาที่ดูคล้ายสวิสชาเล่ต์ สูงขึ้นไปเป็นเนินสลับซับซ้อนในม่านเมฆ ดูราวกับภาพฝัน
นานๆ ครั้งจึงจะพบด่านตรวจ ดูบัตรประจำตัวนักท่องเที่ยว และจุดแวะพัก ที่แซมบอกว่า “แถวนี้พอมีร้านอาหาร แต่ผมจัดของว่างใส่ตะกร้ามาให้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาแวะ ไปรับประทานกลางวันที่ทิมพูจะดีกว่า”
“ตะกร้าที่พื้นนี่ใช่ไหมคะ” นิลนลินพูดเป็นเชิงขออนุญาต ก่อนจะรื้อดู
“ครับ” แซมตอบ “มีโชโคกับแคร็กเกอร์ ขนมทอดแล้วก็น้ำชา อ้อ แซนด์วิชด้วย เผื่อคุณป้ารับประทานของพื้นเมืองไม่ได้”
“โชโค?” นิลนลินทวนพร้อมกับส่งแซนด์วิชให้ผู้ใหญ่ทั้งสอง
“เนยแข็งครับ ภาษาซองคาของเราเรียกเนยแข็งว่าดาทซี แต่ว่า ชนิดนี้เป็นแบบพิเศษเรียกว่าโชโค คุณชิมดูซี” เขาตอบด้วยน้ำเสียงสุภาพไร้เดียงสา
สิ่งที่เขาเรียกว่าเนยแข็ง วางเคียงข้างขนมปังแคร็กเกอร์อยู่ในจานไม้ไผ่สาน ปิดด้วยพลาสติกอย่างเรียบร้อย นิลนลินแกะพลาสติกออก หยิบโชโคขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แอบดมฟุดฟิด แปลกใจที่กลิ่นไม่แรงนัก แต่สีของเนยแข็งค่อนข้างเข้มแบบน้ำตาลปึก ไม่ใช่เหลืองนวลอย่างที่เห็นกันชินตา
เธอยกขึ้นกัด...ก่อนจะอุทานออกมาว่า “อุ๊ย” แล้วหันขวับไปจ้องคนข้างๆ ที่มองถนนด้วยสีหน้าไม่รู้ไม่ชี้แต่อมยิ้มอยู่นิดหน่อย
“คุณแกล้งฉัน!” หญิงสาวกระซิบ ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยิน
“เปล่า...” เขาสั่นหน้า
“นี่เหรอ เนยแข็ง กินได้แน่นะ?”
“ได้สิครับ” น้ำเสียงเรียบร้อยนั้นเจือด้วยเสียงหัวเราะ
นิลนลินกัดอีกครั้ง พยายามเคี้ยว ไปสักพัก เนื้อเนยแข็งก็เริ่มหนึบ ออกรสนมเข้มข้น เคี้ยวเพลินเหมือนหมากฝรั่ง
“อร่อยดีเหมือนกัน” เธอยอมรับ “ทำจากนมวัวหรือคะ?”
“ไม่ใช่ครับ” เขาตอบแบบมีเลศนัย “คุณชอบไหมล่ะ?”
“ดีค่ะ เคี้ยวแก้เบื่อ”
“อาจจะแข็งหน่อย เพราะต้องตากแห้ง จะได้เก็บไว้นานๆ เราพกเวลาเดินทาง ใช้แทนหมากฝรั่ง ให้พลังงาน และแก้เบื่ออย่างที่คุณว่า”
“ตกลงทำจากอะไรคะ? นมแพะหรือเปล่า?”
“ไม่ใช่” เขาเว้นระยะ แล้วหลุดเสียงหัวเราะออกมาแบบกลั้นไม่อยู่ “โชโคทำจากนมยัคส์”
“ยัคส์..จามรี?....” นิลนลินสำลัก “คุณน่าจะบอกฉันก่อน”
“บอกก่อน คุณก๊อไม่กล้ากินน่ะซี” เขายังมีหน้ามาตอบอีก! แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ...นิลนลินกล้ำกลืนต่อไป และพบว่าไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด แถมอร่อยเสียด้วย
เธอหันไปมองคนข้างๆ ที่มุ่งมั่นอยู่กับการขับรถ นึกสงสัยว่าเขาใช้มุกนี้กับ “ลูกทัวร์” สาวๆ บ่อยแค่ไหน
“ในกระติกมีน้ำชา” เขาเปลี่ยนเรื่อง “รินส่งไปให้คุณป้ากับคุณแม่ด้วยซีฮะ”
นิลนลินเทน้ำชาอุ่นใส่ถ้วยใบละเพียงครึ่ง เพราะกลัวหก ค่อยๆ ส่งไปข้างหลังสองถ้วยก่อน แล้วจึงลองจิบดูบ้าง
รสชาติขม มัน ออกเค็มปะแล่มทำให้ต้องกะพริบตาอย่างแปลกใจ
“ผสมเนย” แซมบอก “เราอยู่ในที่หนาว ต้องการไขมันมาก และความเค็มก็ทำให้มีกำลัง”
“แซนด์วิชหมดแล้ว” คุณนารีร้องบอกมา “มีขนมไหมคะ?”
“มีครับ อยู่ในห่อกระดาษ”
นิลนลินรับหน้าที่ส่งเสบียงอีกตามเคย เธอหักขนมแล้วมองหน้าเขา แต่ชายหนุ่มบอกว่า “ไม่เป็นไร ผมเรียบร้อยมาแล้ว” เธอจึงชิมเสียเอง
ขนมนั้นเป็นแป้ง ทอดน้ำมันจนข้างนอกกรอบ ข้างในเนื้อหนักอย่างคุกกี้ชนิดหนา แล้วยังคลุกน้ำตาลอีก แค่ดูน้ำหนักก็ขึ้นแล้ว แต่นิลนลินก็รับประทานต่อไป มาเที่ยวอย่างนี้ คงไม่ต้องระวังมากนักหรอก
“ค้าบซี...คุณชอบละสิ” เขาทำท่าพออกพอใจ “ที่บ้านผมทำเอง”
ที่บ้าน...คนภูฏานแต่งงานเร็ว แน่ละ เขาคงมีที่บ้านอยู่แล้ว ว่าแต่เธอคิดเรื่องนี้ทำไมหรือ? นิลนลิน?
บ้านเรือนที่หนาตาขึ้น บอกให้รู้ว่าเข้าเขตเมืองหลวงแล้ว...ทิมพู...เมืองใหญ่ที่สุดของภูฏาน ตั้งอยู่กลางหุบเขารายล้อมด้วยป่าไม้ ตัวเมือแผ่ขยายขึ้นไปบนเนิน ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำชื่อเดียวกับเมือง อาคารทั้งหมดสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมภูฎาน โดยมากทาสีขาว ตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก จำกัดความสูงไว้ไม่เกินสามหรือสี่ชั้น เมื่อมีฉากหลังเป็นเนินเขาเขียวขจีจึงยิ่งดูงดงาม แม้ชายหนุ่มจะบอกว่า “ในเมืองเริ่มแน่นไปแล้ว” ผู้มาเยือนทั้งสามก็ยังรู้สึกถึงความปลอดโปร่ง ต่างจากเมืองใหญ่ทั่วไป
นิลนลินมองป้ายที่ติดไว้ตามร้านค้า สังเกตเห็นว่าตัวอักษรเขียนติดกันเป็นพืด ใช้เส้นตรง โค้ง และจุด มองคล้ายอักษรทิเบต แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว ป้ายเหล่านี้สีไม่ฉูดฉาก และแทบไม่มีแผงโฆษณาขนาดใหญ่อยู่เลย
“ทางการห้ามติดป้ายใหญ่ และควบคุมเรื่องสีด้วย” แซมบอก “เราไม่อยากให้เมืองรกรุงรัง และคุณสังเกตไหมว่าไม่มีไฟจราจร”
นิลนลินชะเง้อมองไปทางจุดที่ถนนตัดกัน...จริงด้วย ...ตรงที่ควรจะเป็นสัญญาณไฟ มีซุ้มเล็กๆ เขียนลวดลายสวยงามตั้งอยู่แทน และในซุ้มนั้น ตำรวจจราจรกำลัง “รำ” ด้วยท่าทางราวกับอยู่บนเวที
“เมื่อก่อนเคยมีมาติดไว้” แซมเล่าต่อไป “แต่ใครๆ ก็บอกว่าน่าเกลียด”
“เป็นจราจรดีกว่าค่ะ เข้ากับเมือง”
“ขับรถที่นี่ลำบากเหมือนกัน ต้องคอยระวังเอง” เขาบอกระหว่างที่นำรถเข้าจอดตรงหน้าอาคารหลังหนึ่ง และนิลนลินก็เพิ่งสังเกตเห็นป้ายที่บอกว่า “ดรุกโฮเต็ล”
“ผมจองโรงแรมนี้ให้ เพราะว่าดีที่สุดในเมือง และเพิ่งปรับปรุงใหม่ด้วย”
“ขอบคุณค่ะ” คุณนารีตอบอย่างมีมารยาท และแหงนขึ้นมองตัวตึกด้วยความพอใจ โรงแรมสร้างไว้เรียบๆ สูงเพียงสามชั้น หลังคาซับซ้อนอย่างภูฏาน ตกแต่งด้วยแถบไม้ตามวงกบประตูหน้าต่าง เขียนลวดลายพองาม และประดับธงนานาชาติ ตามอย่างโรงแรมทั่วไป
พนักงานมาเปิดประตูรถและทักทายอย่างเป็นมิตร พร้อมกับที่อีกคนช่วยขนสัมภาระลง ทุกคนทักทายแซมอย่างสุภาพและคุ้นเคยเป็นอันดี ระหว่างที่นิลนลินค้นกระเป๋าวุ่นวาย
“นิลเข้าไปแลกเป็นเงินงุลตรัมก่อนนะคะ” หญิงสาวหันไปบอกมารดา “จะได้ทิปเด็กยกกระเป๋า แล้วก็...ให้ไกด์ไปทานข้าวด้วย”
คำว่า ไกด์ และ ทิป ทำให้นัยน์ตาคมเรียวตวัดมองมาอย่างขันๆ จนป้าพิมต้องหยิกหมับที่แขนขาวเรียว
“นิล” ป้าพิมกระซิบ “เขาไม่ใช่ไกด์ เข้าใจหรือยัง?”
“เอ้อ...” นิลนลินทำหน้าเก้อ จนคู่กรณีนึกสงสาร เลยช่วยตัดบทให้ว่า “คุณป้าขึ้นไปพักสักครู่ดีไหมครับ ผมจะรอในล็อบบี้ พอหายเหนื่อยแล้วจะได้ไปรับประทานมื้อกลางวันที่บ้านผม”
“ดีค่ะ” ป้าพิมเป็นคนตอบ เพราะตอนนั้นนิลนลินพูดอะไรไม่ออกแล้ว!
ความคิดเห็น