การไปรษณีย์ไทยยุคก่อนมีตราไปรษณียากร การติดต่อส่งข่าวสารไปมาถึงกันของคนไทยในสมัยโบราณนั้น ถ้าเป็นเรื่องรีบร้อนสำคัญ ก็มัก จะจัดให้คนถือไป หากเป็นเรื่องธรรมดาไม่เร่งร้อนก็มักจะฝากไปกับพ่อค้า หรือคนเดินทางที่จะเดินผ่านไปทางนั้น ๆ ส่วนในทางราชการหากเป็นราชการเร่งร้อนสำคัญ ก็มีการแต่งข้าหลวงเชิญหนังสือ หรือ “ท้องตรา” หรือ “ใบบอก” ออกไปส่งยังที่หมายซึ่งอาจจะต้องขี้ช้าง ขี่ม้า ลงเรือ ลงแพ ตามลักษณะของภูมิประเทศ และเป็นหน้าที่ของกรมการเมืองรายทางที่ผ่านที่จะต้องจัดยานพาหนะพาไปส่งถึงเขตชายแดน ถ้าเป็นราชการไม่เร่งร้อน คณะกรรมการเมืองก็จัดคนให้ส่งหนังสือต่อ ๆ กันไป ส่วนการส่งพระราชสาสน์ หรือหนังสือติดต่อกับประเทศนั้น มีวิธีใหญ่ ๆ อยู่ 2 วิธีคือ 1. แต่งตั้งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังประเทศที่จะติดต่อโดยตรง เช่น พระวิสุทธสุนทร (ปาน) อัญเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ เป็นต้น 2. ทางราชสำนักฝากหนังสือผ่านคนกลางซึ่งโดยมากก็คือ พ่อค้า นายเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของ ต่างประเทศเป็นสำคัญ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายในสมัยก่อนไม่ค่อยมีแพร่หลาย นอกจากจะมีสาเหตุจากความไม่สะดวกในการฝากส่ง และการเดินหนังสือไปมาถึงกันแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นคือ การศึกษาเล่าเรียนของประชาชนมีจำกัด ในสมัยก่อนไม่มีโรงเรียน การศึกษาเล่าเรียนของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงมีอาจารย์สอนให้เฉพาะในวัง | พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ราขทูตไทยทูลเกล้าถวายพระราชสาส์นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว รัุชกาลที่ 4 แด่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2410 |
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศคือ ทรงต้อนรับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรป เนื่องจากทรงตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าไทยยังด้อยทางวิทยาการสมัยใหม่กว่าประเทศทางยุโรปอยู่มาก จำต้องเรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ เหล่านี้จากประเทศทางยุโรป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศนั้น ๆ เข้ามาตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทย เพื่อคอยดูแลคนและกิจการค้าของตน เช่น ใน พ.ศ.2398 เซอร์จอห์น บาวริง (SIR JOHN BOWRING) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงและผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำประเทศจีนได้เดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญาบาวริงกับไทย และใน พ.ศ.2399 ได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นผลให้การค้ากับต่างประเทศตื่นตัว มีบริษัทของอังกฤษหลายบริษัทมาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ เช่น บริษัท บอนนีวิลล์ (BONNEVILLE) บริษัท มาร์ควาลด์ (MARKWALD) และบริษัท บอร์เนียว (BORNEO) เป็นต้น ในรัชสมัยเดียวกันนี้ ได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ ติดตามมา ผลจากการที่ชาวต่างประเทศเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นทำให้เกิดความต้องการในบริการไปรษณีย์ สถานกงสุลอังกฤษจึงเป็นธุระจัดการรวบรวมข่าวสารของชาวยุโรป ส่งลงเรือไปยังสิงคโปร์เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางอีกทอดหนึ่ง ส่วนสถานกงสุลสหรัฐฯ ก็เป็นธุระจัดการรวบรวมข่าวสารให้แก่ชาวอเมริกัน นอกจากนั้น ในบางครั้งบริษัทต่างประเทศที่มีสาขาในกรุงเทพฯ ก็ส่งจดหมายเองโดยตีตราประทับของบริษัทตนและฝากส่งลงเรือไปยังสิงคโปร์ แต่เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยเรายังไม่มีแสตมป์ของตนเอง จึงนำแสตมป์ของอีสต์อินเดียและสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ (STRAITS SETTLEMENTS) มาจำหน่ายเพื่อใช้ในการส่งจดหมายไปพลางก่อน นอกจากนั้น ยังได้นำแสตมป์ของฮ่องกงมาใช้ในบางช่วงอีกด้วย | สถานกงศุลอังกฤษ ที่บางรัก (ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวจะเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง) จุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ของไทย |
ไปรษณีย์ของสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีผู้ใช้บริการส่งข่าวสารเพิ่มขึ้น เกิดความไม่สะดวกที่จะใช้สถานกงสุลเป็นสถานที่บริการ ประเทศอังกฤษจึงได้อนุมัติให้เปิดสาขาที่ทำการไปรษณีย์ของสิงคโปร์ขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2425 และใช้แสตมป์ของสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ มาประทับอักษร “B” (ย่อมาจาก Bangkok) ดังปรากฏหลักฐานการนำแสตมป์ดังกล่าวมาใช้ แสตมป์ประทับอักษร “B” นี้ ได้นำมาใช้ถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2429 เท่านั้น เพราะเมื่อไทยเรามีกิจการไปรษณีย์ของเราเองมาได้ระยะหนึ่ง การใช้สถานกงสุลเป็นที่ฝากส่งจดหมายก็ยกเลิกไป แสตมป์ภายในราชสำนัก ในตอนต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) คือใน พ.ศ.2418 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น ชื่อ “ข่าวราชการ” หรือ “Court” หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทยทรงให้มีบุรุษเดินหนังสือข่าวราชการส่งแก่สมาชิกเรียกว่า “โปสต์แมน” (Postman) มีการจัดพิมพ์ตั๋วแสตมป์เป็นค่าบริการ ตั๋วแสตมป์นี้เป็นพระรูปเหมือนของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์มีอยู่ 2 รุ่น รุ่นแรกด้านล่างมีภาษาอังกฤษว่า “RISING P” ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่าภาณุรังษี รุ่นที่ 2 มีอักษรที่มุมทั้งสี่ว่า ป ม ภ ส ย่อมาจากโปสต์มาสเตอร์ ภาณุรังษีสว่างวงศ์ และมีคำด้านล่างว่า “ค่าหนังสือฝาก” |
ความคิดเห็น