ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับไปรษณีย์

    ลำดับตอนที่ #1 : ประวัติไปรษณีย์สากล

    • อัปเดตล่าสุด 15 ม.ค. 52


    ประวัติไปรษณีย์สากล

           การติดต่อส่งข่าวสารระหว่างกันในสมัยแรกประมาณสามพันปีก่อนคริสต์ศักราชนั้น คนทั่วไปใช้
    การจำข่าวสารและบอกกันเป็นทอด ๆ ไปจนถึงผู้รับข่าวสารนั้น (memorized messages) พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าผู้ครองนคร มักจะมีคนสื่อสารโดยเฉพาะ
           ต่อมาเมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเพื่อใช้แทนเสียงที่พูดจากัน การใช้ตัวอักษรเขียนข่าวสาร
    ติดต่อสื่อสารกันก็เริ่มมีขึ้น ระบบการส่งข่าวสารก็วิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ในรัชสมัยพระจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus, ๖๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช ค.ศ.๑๔) แห่งจักรวรรดิโรมัน ได้มีการจัดตั้งระบบการติดต่อทางไปรษณีย์ของทางการ (state post) ขึ้น มีการใช้ม้าในการส่งข่าวสาร มีการจัดตั้งสถานีที่พักสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และม้า มีอาหารและที่พักพิงสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อสาร และข้าราชบริพารที่เดินทางมาพักเรียกว่า โพซิตัส (positus) แปลว่าตั้งไว้หรือกำหนดไว้เชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า “post” (การไปรษณีย์) ในปัจจุบัน
           ต่อมาในยุคกลางได้มีการใช้นกพิราบสื่อสาร (pigeon post) ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วและปลอดภัยกว่าวิธีการอื่น ๆ ในระยะใกล้เคียงกัน ส่วนระบบการส่งข่าวสารเดิมคือม้าเร็ว หรือคนขี่ม้าก็ยังใช้อยู่ทั่วไป ใน พ.ศ.๑๘๔๘ ในอิตาลีและสเปน มีการจัดตั้งบริษัทรับส่งข่าวสารขึ้น ดำเนินการโดยครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการบริการรับส่งข่าวสารในยุโรปสมัยนั้น ส่วนเมืองที่ไม่มีบริการนี้ประชาชนก็ได้อาศัยฝากจดหมายและสิ่งของไปมากับพ่อค้าขายเนื้อซึ่งเดินทางไปหาซื้อเนื้อตามท้องถิ่นต่าง ๆ แทบทุกวัน
           ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ การเดินทางไปมาหากันและการค้าขายเจริญมากขึ้น ความต้องการบริการไปรษณีย์ในหมู่ประชาชนในทุกประเทศจึงมีมากขึ้น หลายประเทศสั่งห้ามการรับส่งจดหมายของบริษัทและให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้น
           ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ มีการไปรษณีย์เกิดขึ้นทั่วไปในแทบทุกประเทศ ในสหรัฐอเมริกามีการไปรษณีย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองบอสตันในฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงวางรากฐานการไปรษณีย์หลวงของฝรั่งเศส ให้ทำการรับส่งจดหมาย ส่วนการไปรษณีย์ภายในตัวเมือง มีชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอวาลาเยร์ (De Valayer) คิดวิธีจัดตั้งไปรษณีย์ขนาดย่อมขึ้น โดยจัดตั้งตู้ไปรษณีย์ไว้ตามจุดต่าง ๆ ไขเก็บจดหมายวันละ ๓ ครั้ง นำจ่ายวันละ ๔ ครั้ง เขายังเสนอแนะให้ใช้กระดาษแผ่นเล็ก ๆ เขียนว่า “ใบเสร็จรับเงินค่านำส่ง” (receipt for the payment of transport) เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนที่ต้องการส่งจดหมาย เดอ วาลาเยร์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งการไปรษณีย์ขนาดย่อม ตามความคิดของเขาขึ้นในปารีส เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๙๖ ต่อมาก็ได้มีการไปรษณีย์ชนิดเดียวกันนี้ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strabourg) และเมืองอื่น ๆ สำหรับในชนบทนั้นมีการว่าจ้างคนเดินหนังสือเป็นรายปี
    พ.ศ.๒๒๒๓ มีพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ นายด็อควรา (Dockwra) เดินทางมาค้าขายที่ปารีสเสมอ จึงนำเอาแบบอย่างการไปรษณีย์ขนาดย่อมที่ปารีสไปใช้ที่ลอนดอน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำตราประทับบอกวัน เดือน ปี และเวลาในการฝากส่ง นำเอาระบบการลงทะเบียนและการรับประกันมาใช้ในบริการของเขาด้วย ในจีน สมัยราชวงศ์ชิง (Ching dynasty, ค.ศ.๑๖๖๒ - ๑๙๑๑) นั้น มีการส่งข่าวสารอยู่ ๒ ระบบ คือ การเดินหนังสือราชการธรรมดาและการเดินหนังสือด่วนครอบคลุมทั่วประเทศ มีม้าใช้เป็นพาหนะรับส่งและมีสถานีสับเปลี่ยนม้าในเส้นทางทะเลทรายก็ใช้อูฐเป็นพาหนะ
           นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา กิจการไปรษณีย์ได้รับการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามาเป็นอันมากทั้งในตัวระบบการไปรษณีย์เอง และการใช้อุปกรณ์เครื่องมือตลอดจนยานพาหนะต่าง ๆ มีการใช้เรือกลไฟและรถไฟในการขนส่งถุงไปรษณีย์ บริการไปรษณีย์ซึ่งแต่ก่อนมักจะมีอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ในศตวรรษนี้ก็ขยายตัวออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เริ่มซื้อกรรมสิทธิ์การจัดรับส่งไปรษณีย์กลับมาเป็นของรัฐบาล และดำเนินการเอง

    ซองจดหมายผนึกตราไปรษณียากรดวงแรกของโลก

           ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๓๘๓ รัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์แสตมป์ออกใช้ แสตมป์ดวงแรกของโลกคือแสตมป์แบล็คเพนนี (black penny) เป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria, ค.ศ.๑๘๑๙–๑๙๐๑ พระราชินีผู้ปกครองประเทศอังกฤษ) ราคาบนดวงหนึ่งเพนนี (one penny) ไม่มีชื่อประเทศกำกับ
           ส่วนแสตมป์ที่มีราคาสูงที่สุดในโลก คือ แสตมป์สีม่วงแดง (black on margenta) ราคาบนดวง ๑ เซ็นต์ (one cent) ของประเทศกายอานาอังกฤษ (British Guiana) ปัจจุบันคือประเทศกายอานาแสตมป์ดวงนี้ออกใช้เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ หลังจากเลิกใช้ไปนานถึง ๑๗ ปี ใน พ.ศ.๒๔๑๖ เด็กชายวัยสิบขวบคนหนึ่งก็ได้พบโดยบังเอิญ และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเรื่อยมา ราคาที่ประมูลกัน ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นเงินประมาณ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ๒๓ ล้านบาท เมื่อคิดเทียบตามอัตราการแลกเปลี่ยนเงินไทยในขณะนั้น
           ใน พ.ศ.๒๔๑๗ ได้มีการประชุมใหญ่การไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ขึ้นที่กรุงเบอร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ๒๒ ประเทศ ทำให้มีการจัดตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) ขึ้น เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๙ ซึ่งถือเป็นวันสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU Day) มาจนทุกวันนี้ และนับแต่ตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา วิทยาการสมัยใหม่ก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรใหม่ ๆ มาใช้ผ่อนแรง นำเครื่องจักรกลต่าง ๆ มาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น เช่น เครื่องประทับขีดฆ่าตราไปรษณียากร เครื่องเรียงจดหมาย และอื่น ๆ มีการส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารออกไปโคจรรอบโลก รวมทั้งมีการเปิดบริการใหม่ ๆ แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

    Penny Black ตราไปรษณีย์ดวงแรกของโลก ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พศ.๒๓๘๓ (คศ.๑๘๔๑)
    พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ
    ตราไปรษณียกรของประเทศ GUYANA พิมพ์ภาพแสตมป์ หายากของ BRITISH GUIANA
    ตราไปรษณียากร หายากที่สุดในโลกของ BRITISH GUIANA (ภาพถ่ายจากของจริง)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×