ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #17 : อย่าหลงกระแส ไทยคมยังเป็นของไทย100 %

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 889
      1
      4 พ.ย. 50

    ศ.เศรษฐพร เตือนสติ อย่าหลงกระแส ไทยคมยังเป็นของไทย 100 %

    นับตั้งแต่ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมตระกูล “ชินวัตร” ขายหุ้นกลุ่ม “ชินคอร์ป” ให้กองทุน “เทมาเส็ก” พายุลูกใหญ่ต่างพุ่งเข้าใส่ธุรกิจในเครือถ้วนหน้า เริ่มจาก “เอไอเอส” มาถึง “ไอทีวี” ล่าสุด “ชินแซทเทลไลท์” สถานการณ์ของ “ชินแซท” ดูจะหนักเอาการกับกระแสทวงคืนสมบัติชาติ ที่สืบเนื่องจากคำประกาศขอทวงดาวเทียมไทยคมคืนจากสิงคโปร์ของ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช. ) กรณีเทมาเซกซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทแม่ของชินแซทเทลไลท์ ผู้ให้บริการดาวเทียมไทยคม ซึ่งได้ถูกขนานนามว่าเป็นการขายชาติ ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของคนแต่ละกลุ่มอย่างหลากหลายในช่วงที่ผ่านมา บางส่วนเห็นด้วย บางส่วนไม่เห็นด้วย

    กระแสการการทวงคืนไทยคม มีแนวคิดที่ทำได้หลายวิธีคือ การใช้อำนาจรัฐเข้าไปยึดสถานีควบคุมซึ่งจะก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากนานาประเทศที่เสียผลประโยชน์ การใช้ข้อตกลงทางธุรกิจโดยการซื้อหุ้นคืนมา แต่ข้อเสียก็คือ ประเทศก็จะต้องเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท การใช้การบังคับคดีทางกฎหมาย ซึ่งก็จะสามารถยึดคืนมาได้โดยไม่ต้องเสียงบประมาณใด รวมทั้งอาจจะได้ค่าปรับ เป็นรายได้เข้าประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย กระทรวงไอซีที กับ กทช. ตกเป็นองค์กรหลักที่ถูกตั้งคำถามและจับตามมองในบทบาทหน้าที่ในการทวงคืนดาวเทียมไทยคมที่ทุกคนพุ่งเป้ามา จนเกิดความคลางแคลงสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อภารกิจในครั้งนี้จะเป็นของใครกันแน่ ?

    สืบเนื่องจากไทยคมไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตจาก กทช. แต่เป็นผู้รับสัมปทานจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) การเพิกถอนนี้จึงต้องเป็นตามมาตรา 80

    ถ้าไทยคม เป็นกิจการที่ได้รับสัมปทาน ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (17 พฤศจิกายน 2544) กทช. ก็น่าจะมีอำนาจสั่งเพิกถอนสัมปทานได้

    ถ้าได้รับสัมปทานหลังวันที่ 17 พฤศจิกายน 2544 ก็อาจจะต้องมีการตีความว่า กทช. มีอำนาจในการเพิกหรือไม่อย่างไร โดยในกรณีนี้ คำถามที่จะตามมาคือ กระทรวงไอซีทีมีอำนาจในการให้สัมปทานกับไทยคมหรือเปล่า?

    เทเลคอม เจอนัล ได้เจาะลึกถึงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว จาก ศาสตราจารย์ เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งได้แจกแจงถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างละเอียด

    ศาสตราจารย์ เศรษฐพร กล่าวย้ำชัดเจนว่า การทวงคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมเป็นอำนาจของรัฐบาลและกระทรวงไอซีทีตามสัญญาสัมปทาน ด้าน กทช. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการสื่อสารดาวเทียม และกำกับดูแลการแข่งขันกันประกอบกิจการสื่อสารดาวเทียมระหว่างไทยคมกับดาวเทียมอื่นๆ

    ในการดำเนินการของกระทรวงไอซีทีนั้น ดำเนินการตามสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมไทยคม ทาง กทช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบใดๆที่จะเข้าไปเกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงไอซีทีและชินแซทเทลไลท์

    ทั้งนี้ เพราะอำนาจหน้าที่ของ กทช. จะอยู่ที่การดูแลเรื่องของการแข่งขันประกอบกอบการสื่อสารดาวเทียมระหว่างดาวเทียมไทยคมกับดาวเทียมอื่นๆ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องของความถี่สำหรับดาวเทียมในประเทศไทย จริงอยู่ที่ กทช.. รับผิดชอบกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียม แต่รับผิดชอบคนละกรอบกับกระทรวงไอซีที

    คำตอบนี้ ทำให้ตามมาด้วยคำถามที่คลางแคลงใจว่า แล้วกรอบของ กทช. คืออะไร? เพราะคน ก็ยังเข้าใจถึงแม้ว่าชินแซทเทไลท์จะเป็นเอกชน แต่ว่าขายสัมปทานซึ่งมันจะต้องเป็นของคนไทยและให้กับคนไทย จึงรู้สึกว่า กทช. ก็ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามนั้น จะปล่อยให้ขายให้สิงคโปร์ได้อย่างไร?


    ศาสตราจารย์ เศรษฐพร อธิบายต่อว่า กิจการสื่อสารดาวเทียมมีเป็น 2 ส่วนคือ หนึ่งคือกิจการสื่อสารดาวเทียมโดยทั่วไป กับสองกิจการสื่อสารดาวตามสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ที่พูดกันอยู่นี้เป็นเรื่องสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ระหว่างกระทรวงไอซี กับชินแซทเทลไลท์ สัญญา 2 ฝ่ายนี้เป็นเรื่องของคู่สัญญา ดังนั้น กทช.จะไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเขาไม่ได้ สัญญาระหว่างกระทรวงฯกับเอกชน เป็นเรื่องของคู่สัญญา ต้องไปดูว่าสัญญาเขียนว่าอย่างไร

    “ฉะนั้น จะยึดคืนทำไม ก็ในเมื่อตอนนี้ดาวเทียมไทยคมก็ยังเป็นของไทยอยู่ 100% คือเรื่องดาวเทียม จะมีหน้าที่รับผิดชอบที่แยกกันและรวมกันอยู่ ต้องอธิบายก่อนว่า ระบบดาวเทียมจะมี “ตัวดาวเทียม” ตัวดาวเทียมที่ลอยอยู่บนอากาศจะมีที่ที่ลอยอยู่ซึ่งเรียกว่า “ตำแหน่งดาวเทียม” หรือ “วงโคจรดาวเทียม” และดาวเทียมที่ยิงขึ้นไปก็ต้องมี “คลื่นความถี่” ที่ใช้กับดาวเทียมนั้น

    เพราะฉะนั้น ในภาคอวกาศก็จะมี 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ที่ดาวเทียมจะไปอยู่ เรื่องตัวดาวเทียมว่าตัวดาวเทียมจะมีคุณลักษณะขนาดไหน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ทำงานเพื่อกิจการโทรคมนาคมอย่างเดียวหรือทางด้านกระจายเสียงโทรทัศน์ด้วย หรือทางด้านอินเตอร์เน็ตอะไรเหล่านี้ ทำเพื่อสื่อสารทหารโดยตรง ทำเพื่อจารกรรม ทำเพื่อตรวจสอบอากาศ ทำเพื่อสำรวจระยะไกล หรือว่าทำภารกิจทหาร ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเป็นตำแหน่งของประเทศไทย ฟังให้ดีนะ ไม่ว่าใครจะซื้อก็ยังคงเป็นของไทยอยู่ 100%”

    นอกจากนี้ ศาตราจารย์ เศรษฐพร เล่าย้อนความว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม โดยผมเป็นคนไปจองตำแหน่งวงโคจรนี้ จองในนามรัฐบาลไทย จองเอาไว้ตั้ง 14 ตำแหน่งเมื่อก่อนนี้นะ ฉะนั้นเรื่องนี้ผมรู้เรื่องดีที่สุด เพราะตำแหน่งนี้รัฐบาลรับผิดชอบว่าเป็นเจ้าของวงโคจรดาวเทียม และการที่จะให้มีการใช้ตำแหน่งนี้ได้ก็รัฐบาลจะต้องเป็นคนอนุญาตว่าใครจะเป็นคนเอาไปใช้ เช่น ดาวเทียมไทยคม 1 ดาวเทียมไทยคม 2 ดาวเทียมไทยคม 3 ต้องใช้ตำแหน่งวงโคจรอันเดียวกันหรืออันใหม่ ก็คือต้องขออนุญาตจากกระทรวงไอซีทีหรือกระทรวงคมนาคมเดิมในฐานะส่วนแบ่งของรัฐบาล

    เพราะฉะนั้นตำแหน่งวงโคจรใครอยากใช้ก็ต้องขอที่รัฐบาล เช่น ถ้ายิงดาวเทียมไทยคมดวงใหม่ ตำแหน่งใหม่ก็ต้องขอรัฐบาล หรือถ้ารัฐบาลอยากจะให้มีดาวเทียมระบบใหม่ที่นอกเหนือจากดาวเทียมไทยคม ก็มาขอที่รัฐบาล ฉะนั้นเรื่องของตำแหน่งวงโคจรเป็นเรื่องของรัฐบาล ตำแหน่งนี้เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นของรัฐบาล เพียงแต่ว่าพอหมดอายุดาวเทียมนั้นแล้วถ้าเราไม่ให้ใช้ต่อก็จบ ก็กลับมาเป็นของรัฐบาล 100% เหมือนเดิม และฟังให้ดี ว่าตัวดาวเทียม ดาวเทียมดวงที่หนึ่ง ดวงที่สอง ดวงที่สาม ที่เป็นดาวเทียมไทยคม ก็คือรัฐบาลเป็นคนอนุญาตให้ยิงขึ้นไป จะมีกี่ดวงรัฐบาลก็เป็นคนตัดสินใจ ตอนนี้ยิงไป 5 ดวงแล้ว ถ้ายิงดวงที่ 6 ก็ต้องไปขอรัฐบาล จะขอใช้ตำแหน่งไหนนั่นเป็นเรื่องของกระทรวงฯ เป็นเรื่องของรัฐบาล

    ทีนี้บังเอิญว่าดาวเทียมต้องใช้คลื่นวิทยุ จะใช้คลื่นวิทยุย่านไหน ตรงนั้นแหละกฎหมายเขียนไว้ว่าเรื่องคลื่นความถี่จะต้องมาขอที่ กทช. โดย กทช. จะเป็นคนจัดการคลื่นให้สำหรับดาวเทียมนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าภาคอวกาศก็รับผิดชอบ 2 หน่วยแล้ว ทีนี้นอกจากนี้ยังมีภาคพื้นดิน ภาคพื้นดินก็คือสถานีภาคพื้นดินที่เป็นตัวสถานีควบคุมดาวเทียม นอกจากนี้ยังมาสถานีรับสัญญาณที่จะถ่ายทอดต่อ เช่น พวกสถานีโทรทัศน์ต่างจังหวัด ดังนั้น ภาคพื้นดินก็ต้องมาขอที่ กทช. ทีนี้ การที่จะเอาดาวเทียมมาใช้งาน ก็คือเมื่อยิงดาวเทียมขึ้นไปแล้วจะมีช่องสัญญา คือขายช่องสัญญาณสำหรับมาใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์บ้าง ใช้ในการส่งโทรศัพท์มือถือ ใช้ในการติดต่ออินเตอร์เน็ต ฉะนั้นการประยุกต์ใช้ตรงนั้นต้องมาขอที่ กทช.

    ดาวเทียมไทยคม ใช้สำหรับประเทศไทย เป็นของคนไทยและเอาไปใช้ในต่างประเทศด้วย แต่ในขณะเดียวกันยังมีดาวเทียมที่ตอนนี้รัศมีครอบคลุมประเทศไทย ที่พร้อมจะมาแข่งกับดาวเทียมไทยคมอยู่มากถึง 41 ดวงเท่าที่ตรวจสอบ เขาพร้อมจะมาแข่งกับดาวเทียมไทยคมแต่เรายังไม่เปิดให้แข่ง ซึ่งการจะเปิดให้แข่งเป็นหน้าที่ของ กทช. นอกจากหน้าที่ที่แยกกันอยู่อย่างนี้ ก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันระหว่างกระทรวงไอซีทีกับ กทช. ด้วยก็คือเรื่องตอนที่จะส่งดาวเทียมขึ้นไปจะต้องมีการประสานงานด้านคลื่นวิทยุ เพื่อไม่ให้คลื่นวิทยุของดาวเทียมรบกวนกัน เรียกว่า “การประสานงานความถี่ดาวเทียม” อันนี้เดิม กรมไปรษณีย์ โทรเลขต้องทำ ซึ่งปัจจุบัน กทช. ต้องทำร่วมกับกระทรวงไอซีที เจ้าหน้าที่ต้องไปประชุมร่วมกันกับต่างประเทศ นี่คือการทำงานร่วมกัน ฉะนั้น ใครจะมาบอกว่า กทช. ไม่รับผิดชอบไม่ได้ แต่การรับผิดชอบคือการรับผิดชอบคนละส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสัญญาสัมปทาน เป็นเรื่องที่คู่สัญญาต้องจัดการกันเอง จะไปบอกให้คนอื่นมาจัดการอย่างไร กทช. ต้องทำงานตามขอบเขตหน้าทีที่กฎหมายเขียนไว้ให้ มันไม่ใช่หน้าที่ของ กทช. แล้วถามว่ากรณีทวงคืนดาวเทียมไทยคมจากเทมาเส็ก จะทวงคืนทำไม ในเมื่อดาวเทียมก็เป็นของไทยอยู่ 100% สัญญาสัมปทานมีไว้ว่าเมื่อผลิตดาวเทียมยิง ส่งดาวเทียมขึ้นมาแล้ว เมื่อส่งเข้าวงโคจร ต้องโอนมาเป็นของรัฐบาลทุกดวง”

    กับคำถามที่ว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว “เทมาเส็ก”มาจ่ายเงินซื้อทำไม ? ถ้า “ ไทยคม” ก็ยังคง เป็นของไทยทั้งดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจร?

    ศาสตราจารย์ เศรษฐพร ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “ทวงคืนสิทธิ์” กับ “ทวงคืนดาวเทียม” ไว้อย่างระเอียด และย้ำว่าเป็นประเด็นที่ต้องแยกแยะให้ถูกต้อง
    “การที่เทมาเส็กมาจ่ายเงินคือก็เหมือนกับชินแซทเทไลท์ได้สิทธิเพื่อเอาดาวเทียมไปขายช่องสัญญาณที่ว่าเอาไปทำกำไร ได้กำไรก็ไปแบ่งให้รัฐอีกทีหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่หายไปคือ “สิทธิในการนำดาวเทียมไปค้าขายหาผลประโยชน์” ซึ่งในส่วนนี้จะมีคณะทำงานประสานงานของกระทรวงไอซีทีกับของบริษัทมาทำงานร่วมกันอยู่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน กทช. ไม่ได้มีหน้าที่ไปยุ่งกับเขา ถามว่าจะไปทวงทำไม ก็มันเป็นของเราอยู่แล้ว คำว่าทวงคืนคืออะไร ทวงคืนคือไปทวงสิทธิที่ว่าเอาไปค้าขาย การอ้างว่าเขาเอาไปดักรับสัญญาณไปหมดแล้วอะไรต่อมิอะไร เหมือนเด็กขายของ เพราะว่าสัญญาณที่ส่งผ่านกิจการโทรคมนาคม ดาวเทียมนี้เป็นดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ คนไทยใช้อยู่ประมาณไม่ถึง 10% นอกนั้นต่างชาติใช้ แล้วจะกลัวต่างชาติจะมาเอาดาวเทียมไปทำให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคง ผมก็อยากจะไปต้านกระแส มันผิดประเด็น ตัวดาวเทียมก็เป็นของไทยอยู่แล้ว การทวงก็คือทวงสิทธิ แล้วสิทธิตามสัญญาที่เขาซื้อขายกัน ก็เขามาซื้อไปโดยถูกต้องตามระเบียบอยากได้คืนก็ต้องซื้อคืน ทีนี้มาบอกว่าผิดกฎหมายผิดสัญญาจะยึดคืน ผมว่าการปกครองระบอบไหนจะไปยึดทรัพย์สินภาคเอกชน แล้วไปยึดเขาแล้วจะไปเราจะคุยกับโครงการระหว่างประเทศอย่างไร พันธกรณีระหว่างประเทศ แล้วดูหรือยังว่าเรามีสัญญาการตกลงทางการค้ากับประเทศสิงคโปร์เขาหรือเปล่า เพราะเหตุใด แล้วมันง่ายหรือที่จะยึด” ศาสตราจารย์เศรษฐพร ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ชวนให้หาคำตอบ


    ข่าว : Telecom Journal

    http://www.tj.co.th/telecomjournal/modules/news/article.php?storyid=499
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×