ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #42 : ข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางกฎหมายและการตีความในคำพิพากษาของศาล

    • อัปเดตล่าสุด 5 ม.ค. 53


    โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช (อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)
    ที่มา เวบไซต์ ประชาไท
    29 กันยายน 2551

    .... ในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีวาทกรรมตุลาการภิวัฒน์ขึ้น โดยวาทกรรมนี้ถูกเสนอขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งหมายจะให้ประชาชนเข้าใจว่า ตุลาการภิวัฒน์ หมายถึงกรณีองค์กรตุลาการ เข้ามาเเก้ไขปัญหาความขัดเเย้งทางการเมือง รวมถึงการขจัดปัญหาการทุจริตของนักการเมือง

    ซึ่ง เป็นการบิดเบือนความหมายที่เเท้จริงของ Judicialization หรือ Judicial Activism ในภาษาอังกฤษที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายถึง การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หรือการกระทำของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

    ในทางตรงกันข้าม ตุ ลาการภิวัฒน์ในสังคมไทย ถูกนำเสนอขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรม ที่จะใช้อำนาจตุลาการในการใช้เเละตีความ “กฎหมาย” เพื่อตัดตอนอำนาจทางการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย โดยเนื้อหาหรือข้อความที่ปรากฎในคำพิพากษา มีข้อความในเชิงว่ากล่าว ตำหนิ อบรมสั่งสอน ฯลฯ ไปด้วย ซึ่งผิดปกติวิสัยลักษณะของคำพิพากษาที่มุ่งจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เป็น ประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น ....

    ..... ในคดีชิมไปบ่นไป ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้

    ประการแรก ประเด็นที่สำคัญของคดีนี้คือ การทำรายการของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มีลักษณะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ ไม่ การจะวินิจฉัยว่า อดีตนายกมีสถานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ มิใช่เพียงแค่เปิดพจนานุกกรม เพื่อหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิเคราะห์ลักษณะหรือองค์ประกอบของสัญญาจ้างแรงงานด้วย ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานนั้น มีหลายประการเช่น เป็นสัญญาเฉพาะตัว เป็นสัญญาต่างตอบแทน เป็นสัญญาไม่มีแบบ เป็นสัญญาที่นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ผมไม่แน่ใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะวินิจฉัยว่า อดีตนายกเป็นลูกจ้างนั้น ได้มีการวิเคราะห์ อธิบายแต่ละองค์ประกอบข้างต้นว่าลักษณะการทำงานของอดีตนายกนั้น เข้าองค์ประกอบแต่ละข้ออย่างละเอียดหรือไม่ เนื่องจากขณะเขียนบทความนี้ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เผยแพร่ ข่าวที่ปรากฏดูเหมือนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเพ่งเล็งไปที่เรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก แต่ค่าตอบแทนนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น

    ประการที่สอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยจ้างแรงงานมาตรา 575 จะไม่มีบทนิยามศัพท์หรือคำอธิบายว่า ลูกจ้างคืออะไรก็ตาม แต่กฎหมายแรงงานอย่างอื่น ก็มีบทนิยามศัพท์ในเรื่องลูกจ้างว่าคืออะไร เช่น ในพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า ลูกจ้างหมายถึง “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หรือ ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน” พ.ศ.2537 มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” หรือพระราชบัญญัติแรงงาสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้าง เพื่อรับค่าจ้าง”

    นอก จากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งมีอยู่มากมายเกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานว่า มีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปแล้ว การค้นหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง ศาลรัฐธรรมนูญควรเทียบเคียงจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ มากกว่าดูจากพจนานุกรมอย่างเดียว

    การ ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า กฎหมายแต่ละฉบับ มีเจตนารมณ์เป็นของตนเองแตกต่างกันไปแต่ละฉบับนั้น แม้จะรับฟังได้ก็ตาม แต่การค้นหาความหมายของลูกจ้างที่ปรากฏในกฎหมายแรงงาน ประกอบกับแนวคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งตำรากฎหมายแรงงานซึ่งมีผู้แต่งหลายท่าน เพื่อค้นหาหลักหรือสาระสำคัญของลูกจ้างหรือสัญญาจ้างเเรงงานว่า มีลักษณะอย่างไร ย่อมดีกว่าเพียงแค่เปิดพจนานุกรมอย่างแน่นอน

    ประการที่สาม ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญควรอธิบายหรือวิเคราะห์ ก็คือความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใด โดยศึกษาเปรียบเทียบจากกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้มีบทนิยามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้แล้วเพื่อประกอบเป็นแนว

    ประการที่สี่ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ และกฎหมายแรงงานอื่นๆ มีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่อาจนำมาใช้ได้นั้น ข้อนี้มีน้ำหนักน้อย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายแรงงานอื่นๆ ยังมีสถานะเป็นกฎหมาย แต่พจนานุกรมนั้น ไม่มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ด้วยซ้ำไป .....

    ....บทส่งท้าย
    หน้าที่ ของคำพิพากษา คือการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นพิพาทกัน คำพิพากษาที่ดี จะต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ ไม่คลุมเครือ เเละหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน ปราศจากข้อความที่ไม่จำเป็นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็น ส่วนตัว ถ้อยคำในเชิงอบรมหรือตำหนิติเตียน (ไม่ว่าผู้พิพากษาท่านนั้น จะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม)ภาษา ที่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น ตลอดจนการตีความกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักวิชานิติศาสตร์ในระบบกฎหมายนั้นๆ ที่สำคัญที่สุด คำพิพากษาที่ตัดสินออกมาเเล้ว จะให้ประชาชนยอมรับ (หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด)มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลทางกฎหมาย (Legal reasoning)เป็นสำคัญ คำพิพากษาที่ดีจึงมิใช่เป็นเรื่องของการมุ่งไปที่ “ผล” อย่างเดียว แล้วหาคำอธิบายมาประกอบเท่านั้น โดยหวังว่า “ผล” ของคำพิพากษาจะเเก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ เพราะว่าประชาชนสามารถเเยกเเยะได้ว่า “ผล” (Result) กับ “เหตุผล” (Reason) นั้นไม่เหมือนกัน

    (หมายเหตุ อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่http://www.prachatai.com/05web/th/home/13835 )
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×