ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #3 : แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้นเหตุวิกฤติอาร์เจนตินาจริงหรือ?

    • อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 50


    มองมุมใหม่ :แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้นเหตุวิกฤติอาร์เจนตินาจริงหรือ?

    10 พฤษภาคม 2549 16:58 น.
    รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ในการเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์และนักฉวยโอกาสทางการเมืองของไทยชูกรณีวิกฤติอาร์เจนตินาปี 2544 เป็นตัวอย่างว่า เกิดจากนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินา นำมาซึ่งการล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างทั่วด้าน ข่มขู่ให้คนไทยหวาดกลัวว่า หากประเทศไทยเดินตามแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็จะต้องมีชะตากรรมเช่นเดียวกับอาร์เจนตินา แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการบิดเบือนความจริงเพื่อปลุกปั่นความกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นวิธีที่พวกเขาถนัดอย่างยิ่ง

    อาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยเศรษฐกิจส่งออกสินค้าเกษตรไปป้อนตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่จุดหักมุมเกิดขึ้นในช่วงปี 2489-2495 เมื่อผู้นำเผด็จการฮวน เปรอง ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ปลุกอารมณ์ชาตินิยม ต่อต้านสหรัฐอเมริกา และทุนต่างชาติ ทั้งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่กลายเป็นมรดกอันเลวร้ายมาถึงปัจจุบันคือ การแพร่ขยายรัฐวิสาหกิจและนโยบายประชานิยม

    รัฐบาลเปรอง เข้ายึดทรัพย์ธุรกิจของต่างชาติ แปรเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วปกป้องคุ้มครองด้วยการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสูงลิบ กีดกันการค้าต่างประเทศ ห้ามการแข่งขันทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินนโยบาย "ประชานิยม" แจกจ่ายเม็ดเงิน และผลประโยชน์ให้กับกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งสหภาพแรงงาน เกษตรกร กลุ่มธุรกิจ และทหาร

    เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเกิดวิกฤติชะงักงัน เงินเฟ้อพุ่งเพราะรัฐบาลใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจ และนโยบายประชานิยม กระทั่งเปรองถูกคณะทหารยึดอำนาจในปี 2498 แต่อนิจจา ระบอบรัฐวิสาหกิจและประชานิยมกลับยืนยงต่อมา

    การเมืองอาร์เจนตินาผ่านการเมืองแบบเลือกตั้งสลับกับเผด็จการทหารขณะที่เศรษฐกิจเผชิญเงินเฟ้อพุ่งสลับกับภาวะตกต่ำตลอดสี่สิบปี รัฐบาลทุกยุคสมัยต้องพิมพ์ธนบัตรและกู้หนี้ต่างประเทศเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจทั้งระบบที่ขาดทุนอย่างหนัก และใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต่างๆ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด บางครั้งสูงถึง 4,000% ต่อปี กระทั่งปี 2525-2526 อำนาจคณะทหารก็ล่มสลายจากการพ่ายแพ้ในสงครามหมู่เกาะโฟล์คแลนด์ มีการฟื้นประชาธิปไตย และประธานาธิบดีพลเรือนจากการเลือกตั้ง

    ถึงปี 2534 เศรษฐกิจอาร์เจนตินาถึงวิกฤติสุดขีด เงินเฟ้อสูงถึง 20,000% ต่อปี หนี้ต่างประเทศที่เกิดจากการอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมีสูงถึง 64,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 38.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบเป็นศูนย์ รัฐบาลจำต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด เริ่มจากการลดอัตราภาษีศุลกากร ลดการคุ้มครองธุรกิจในประเทศ ให้สินค้านำเข้ามาแข่งขันได้ และแก้ไขกฎระเบียบส่งเสริมการส่งออก

    รัฐบาลยังประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ผูกติดปริมาณเงินเปโซไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลเข้าออกประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จ่ายได้ตามใจชอบอีกต่อไป

    ระบบรัฐวิสาหกิจหยั่งรากลึกในเศรษฐกิจอาร์เจนตินา มีกิจการทุกประเภท ตั้งแต่สาธารณูปโภค เชื้อเพลิง ขนส่ง ไปถึงห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ บาร์ไนท์คลับ คณะละครสัตว์ และโบสถ์คริสต์ เกือบทั้งหมดขาดทุนอย่างหนัก เป็นภาระที่รัฐบาลต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงจำนวนมหาศาลทุกปีและเป็นรากเง้าของปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีทั้งยุบเลิกและแปลงสภาพเป็นบริษัทขายให้เอกชนไปดำเนินการ แล้วนำเงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ

    ผลก็คือ เงินเฟ้อลดต่ำกว่า 10% ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเติบโตในอัตรา 7.9% ต่อปีในช่วง 2536-37 แต่ปัญหาใหญ่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ หนี้ต่างประเทศลดลงไม่มาก รวมทั้งการใช้จ่ายเกินตัวทั้งของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น

    เมื่อเกิดวิกฤติเม็กซิโกปี 2537-2538 เจ้าหนี้ต่างชาติแตกตื่น เงินทุนไหลออก เศรษฐกิจถดถอย คนว่างงานพุ่ง ตั้งแต่ปี 2539 รัฐบาลกลับมาใช้จ่ายเกินตัวอีก แต่ไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรได้ จึงหันไปกู้หนี้ด้วยการออกพันธบัตรขายในประเทศ และต่างประเทศเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มไปถึง 21% ของจีดีพีขณะที่หนี้ต่างประเทศพุ่งขึ้นเป็น 172,200 ล้านดอลลาร์หรือ 64.1% ของจีดีพีในปี 2544

    แล้ววันแห่งชะตากรรมก็มาถึงในปี 2542 เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินเปโซแข็งตามไปด้วย ซ้ำเติมด้วยบราซิลประเทศคู่ค้ารายใหญ่ประกาศลดค่าเงินเรียลถึง 40% ทำให้การส่งออกของอาร์เจนตินาตกต่ำ การนำเข้าพุ่ง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องหลายปี ผู้คนตกงานถึง 21% ท้ายสุดปี 2544 รัฐบาลไม่สามารถลดการใช้จ่ายได้ตามแผน เจ้าหนี้ต่างชาติแตกตื่นปฏิเสธให้เงินกู้เพิ่ม รายจ่ายรัฐบาลสะดุด ค่าเงินเปโซในตลาดมืดตกฮวบ ผู้คนแห่กันไปถอนเงินดอลลาร์จากธนาคาร เกิดจลาจลทั่วประเทศ ธุรกิจชะงัก และรัฐบาลประกาศพักชำระหนี้ ตามมาด้วยการลอยค่าเงินเปโซในปี 2546 และการตัดลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐจำนวนมหาศาล เศรษฐกิจจึงค่อยๆ ฟื้นและขยายตัวดีในอัตราเฉลี่ย 8% ช่วง 2546-2548

    เห็นได้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่สาเหตุให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาล่มสลายดังที่กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์และนักฉวยโอกาสทางการเมืองได้บิดเบือนมาตลอด แต่เป็นตรงข้ามคือ ระบบรัฐวิสาหกิจที่ทุจริต ไร้ประสิทธิภาพ และขาดทุนต่างหากที่เป็นรากเง้าของปัญหาทั้งหมด ก่อเป็นหนี้สินของรัฐบาลสั่งสมมาหลายสิบปีเป็นจำนวนนับแสนล้านดอลลาร์ถึงปัจจุบัน

    ซ้ำเติมด้วยการขาดวินัยทางการคลังของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นที่ใช้จ่ายโดยไม่สัมพันธ์กับการจัดเก็บภาษี แล้วหาทางออกง่ายๆ ด้วยการกู้หนี้สาธารณะเพิ่ม

    บทเรียนสำคัญจากอาร์เจนตินาคือ ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กำกับดูแลไม่ให้มีการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพ ยกภาระหนี้สินและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจออกไปจากการค้ำประกันและงบประมาณของรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ใช้จ่ายให้สัมพันธ์กับรายรับภาษี และระวังให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×