ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #12 : เมื่อ‘ความดี’และ‘คนดี’ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง

    • อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 50


    คุยกับนักปรัชญา: เมื่อ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง

    สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยพิณผกา งามสม

    “ทำอย่างงี๊ เลวไม่เลว พ่อแม่พี่น้อง”…..ประโยคคุ้นๆ ที่คุณอาจจะคุ้นเคยมาจากช่วงต้นปี เมื่อกระบวนการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร เริ่มก่อตัวขึ้น
    วาทกรรมความเป็นคนเลวของทักษิณนั้นถูกขยายและตอกย้ำจนกระทั่งกระตุกต่อมศีลธรรม­ของผู้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดให้ปริออกเป็นการแสดงพลังบนท้องถนนอย่างยืดเยื้อยาวนาน


    ภายหลังข้อมูลที่ถูกตีแผ่บนเวทีที่เรียกตนเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประโยคคำถามที่ทรงพลังในการสะกิดศีลธรรมประจำตัวของผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างรุนแรงคงหนีไม่พ้น เลวไม่เลว? และแน่นอน คำตอบที่ได้จากคนหมู่มากที่ชุมนุมอยู่ ณ สถานที่แห่งเดียวกัน คำตอบนั้น คือ....เลววว


    ในห้วงเวลานั้น ‘ประชาไท’ เคยสัมภาษณ์นักเขียนรุ่นใหญ่ผู้หนึ่งเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการที่ตั้งคำถามเชิงศีลธรรมเช่นนั้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และได้คำถามมุมกลับอันสำคัญประการหนึ่งคือ “ไม่เอาทักษิณ เอาพระเจ้าไหมล่ะ”
    แต่เพื่อปกป้องความสงบแก่จิตวิญาณของผู้ให้สัมภาษณ์ ประชาไทจำต้องตัดคำถามดังกล่าวทิ้งไป เนื่องด้วยคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายใต้กระแสแห่งการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น

    ทว่า ภายหลังการรัฐประหารที่เฉดหัวผู้นำที่มีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำคนหนึ่งของเมืองไทยออกไปได้สำเร็จ แม้ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีทีได้รับการการันตีว่าดีจริงจากผู้ที่สังคมไทยยกย่องว่าเป็นคนดี แต่การณ์ปรากฏว่า นักวิชาการและนักศึกษาจำนวนมาก (ที่ยังคงเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่) กลับดาหน้าออกมาตั้งคำถามกับกระบวนการที่ประเทศไทยถีบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งออกไป และได้นายกรัฐมนตรีทีมาจากการการรัฐประหารแทน

    มาตรฐานทางศีลธรรมของนักวิชาการและนักศึกษาพวกนี้ต่ำต้อยเกินไปหรือไร จึงไม่อาจยอมรับผู้นำที่เป็นคนดี หรือว่าคนเหล่านี้ขาดความเชื่อมั่นในศีลธรรมของผู้ปกครอง หรือระดับทางศีลธรรมของสังคมไทยยังไม่สูงส่งพอที่จะสนับสนุนให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองอย่างปราศจากข้อกังขา

    ‘ประชาไท’ ไปนั่งคุยกับ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญาแห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพยายามจะบอกว่า การกล่าวหาผู้นำในระบอบประชาธิปไตยด้วยข้อหาเรื่องระดับความดี-เลวนั้น คือการเล่นหมากคนละกระดาน เพราะที่สุดแล้วความดีกับระบอบประชาธิปไตยมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และขอโทษ....การประนามคนอื่นว่าเลวนั้นไม่ได้แสดงถึงระดับศีลธรรมที่สูงจัดของผู้กล่าวประณามแต่อย่างใด


    0 0 0

    หลักการแบบธรรมราชา ที่สังคมไทยเชื่อมั่นยึดถืออยู่ไปกันได้กับการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ ผมคิดว่ามีการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของความดี คนดี คนมีศีลธรรม เพื่อเป็นวาทกรรมที่โต้ตอบกับความรู้ความสามารถหรือความเข้าใจของตัวผู้นำ หรือบทบาทของผู้นำในเวทีการเมืองระบอบประชาธิปไตย

    แล้วความสำเร็จของการใช้คอนเซ็ปท์เรื่องคุณธรรมความดีต่างๆ เหล่านี้มันสัมฤทธิ์ผลเมื่อการเมืองไทยยังตกอยู่ในโลกทัศน์ของการแบ่งแยก ดี-ชั่ว, ขาว-ดำ, เทพ-มาร และนี่คือปัญหาใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งด้านหนึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นรูปแบบประชาธิปไตยในเชิง Substantive Democracy คือเชื่อว่ามีแก่นแท้บางอย่างที่รองรับกับเนื้อหาประชาธิปไตยโดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยศาสตร์ ที่มาตอบรับกับบทบาทของผู้นำทางการเมืองและรูปแบบของสังคมการเมืองที่เราเห็น

    ปัญหาทั้งหมดสำหรับผม ก็คือการเมืองแบบนี้มันไม่เวิร์ก และขณะเดียวกันเราตกอยู่ในกับดักของการฉ้อฉลต่อความเข้าใจต่อเนื้อหาความดี ศีลธรรม และจริยศาสตร์

    ประเด็นที่คุณตั้งโจทย์ให้ผมก็คือว่า เวลาที่เราพูดถึงเนื้อหาทางการเมือง ผมคิดว่าปัญหาสำคัญที่สุดทางการเมืองมันไมได้อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมความดีเพียงอย่างเดียว ปัญหาทางการเมืองคือการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคม รูปแบบการปกครอง บทบาทของผู้นำและผู้ถูกปกครองและกลุ่มก้อนต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนทางการเมืองนั้นๆ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ การกำหนดทิศทางของสังคม

    แต่ที่ผ่านมาการเมืองไทยมันไม่ได้เป็นการเมืองในเชิงที่เราสามารถกำหนดทิศทางของสังคมได้ การเมืองไทยเป็นการเมืองของชนชั้นนำและโครงสร้างอำนาจนิยมในสังคมไทยมันผลักดันในคนทุกส่วนวิ่งเข้าไปหาศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง

    ปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีการจัดการในเชิงผลประโยชน์ของสังคมและกำหนดทิศทางให้สังคม คนในสังคมไม่ได้มีสิทธิ์เลือกทิศทางที่ตัวเองต้องการ แต่ถูกกำหนดมาบน Power Play ของการเมืองของผู้นำ ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในวงจรของการเป็นชนชั้นนำ คุณก็มีบทบาทต่างๆ มากมาย แต่ขณะเดียวกันคุณก็ไม่ได้นำเสนอทิศทางรูปแบบการเมือง โดยเฉพาะทิศทางของนโยบายที่มีประโยชน์ต่อสังคม
    ผมคิดว่าการเมืองไทยในช่วงสมัยอดีตนายกฯทักษิณ ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ หรือเปลี่ยนทัศนคติคนไทยต่อการเมืองจำนวนหนึ่งคือการพูดถึงนโยบายเป็นที่ตั้ง

    โอเค นโยบายดีหรือไม่ดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีปัญหาอะไรต่างๆ เรารู้กันและเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข แต่อย่างน้อยที่สุดสาระสำคัญพื้นฐาน คือการพูดถึงนโยบายทางสังคม นั่นคือเนื้อหาที่ผมมองว่ามีความสำคัญและความสำคัญตรงนี้อาจจะช่วยให้หลุดจากบ่­วงกรรมของโลกทัศน์ขาวดำ โลกทัศน์ความดีความชั่วของการเมืองไทย

    คือพูดอีกอย่างหนึ่ง การเมืองไทยควรจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Deliberative Democracy หมายถึงมีกระบวนการต่างๆ
    ภายในระบบการเมืองซึ่งเอื้อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่สังคม และขณะเดียวกันก็มีกระบวนการต่างๆ สามารถที่จะได้รับการตรวจสอบ ซักถามและมีบทบาทกับชีวิตจริงของคนในสังคมมากขึ้น เช่นเวลาที่เราพูดถึงตัวเรา เราก็อาจจะพูดถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในฐานะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่คุณสามารถแสดงออก เราอาจจะพูดถึงกระบวนการจัดการ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ของผู้บริหารประเทศ บทบาทสื่อที่จะนำความจริงมาเผยแพร่ หรือเราอาจจะพูดถึงทัศนคติที่จะแลกเปลี่ยน นี่คือสังคมของการตรวจสอบผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ได้รับการพิจารณาเป็นอย่างดี โดยที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีบทบาทเข้าไปแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานและรวมทั้งการกำหนดเป็นนโยบาย และพร้อมๆ
    กันนั้นได้รับการตรวจสอบด้วย
    ผมเชื่อในสิ่งที่ จอร์จ ออเวล พูดว่า Power Corrupt, Absolute Power Corrupt Absolutely. หมายถึงว่าอำนาจนั้นนำไปสู่ความฉ้อฉล อำนาจสูงสุดย่อมนำไปสู่การฉ้อฉลที่ยิ่งใหญ่

    ปัญหาของการเมืองมันไม่ใช่ปัญหาของการมีผู้นำที่ดี หรือผู้มีคุณธรรมหรือการที่มีใครบางคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองขณะนี้บอกว่านายกฯคนนี้เป็นคนดีและทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี...นี่ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย นี่ไม่ใช่โลกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย การที่คุณบอกว่าคนๆหนึ่งเป็นคนดีแล้วจบ คือเป็นคนดีแล้วคุณต้องดีตาม...มันไม่ใช่

    สาระของกิจกรรมการเมืองมันไม่ใช่เรื่องเอาคนดีมาปกครองประเทศ แต่คือการตรวจสอบดุลอำนาจ การ Check and Balance อำนาจทางการเมืองต่างหาก และนั่นคือเงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้

    ปัญหาเรื่องคุณธรรมความดี มันเป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า Conduct of Life ที่แต่ละคน Conduct ชีวิตตัวเองอย่างไรบนพื้นฐานของคุณธรรมความดี รู้เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

    ในขณะที่ศีลธรรมนั้น ก็คือกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือแนวทางในการปฏิบัติคือสิ่งที่เราเรียกว่า Moral Law

    ส่วนจริยศาสตร์เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นฐานส่วนตัวบุคคลมากกว่าที่จะเป็นปัญหาของสังคม เพราะเนื้อหาของสังคมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่คนอยู่ร่วมกันก็คือเรื่องความยุติธรรม แน่นอนว่าความยุติธรรมไม่ได้แยกขาดจากเรื่องของคุณธรรมความดี แต่ว่าสาระของความยุติธรรมมันขยายขอบเขตมากกว่าปัญหาของบุคคล ความยุติธรรมเป็นปัญหาของสังคมทั้งสังคมร่วมกันซึ่งคนจะแสดงสิทธิเสรีภาพอย่างไรในการที่จะอยู่ร่วมกัน นี่คือปัญหาพื้นฐาน เป็นปัญหารากฐานของปรัชญาการเมือง

    ปรัชญาการเมืองเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับชุมชนทางการเมือง ซึ่งจะวางคำตอบให้กับความยุติธรรมอย่างไร
    งานในเพลโต The Republic ตอบได้ชัด เพลโตเริ่มตั้งคำถามว่า ความยุติธรรมคืออะไร และเราจะมีรูปแบบทางการเมืองอย่างไรที่จะรักษาความยุติธรรมนั้นให้ดำรงอยู่ในสังคม หมายความว่าคนทั้งสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
    แต่ทำไมประเด็นคุณธรรมความดีจึงไปกันได้กับสังคมการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานองคมนตรีออกมารับรองว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนดีแล้วทุกอย่างจบ

    อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า สังคมไทยนั้นอยู่บนโลกทัศน์ของการเมืองขาวดำ การเมืองแห่งความดีความเลว ผมไม่อยากใช้คำว่าความดีกับความชั่วในฐานะGood กับ Bad คือในโลกความเป็นจริง เทววิทยาของความคิดนั้นคนเราหลุดไม่พ้นจากโลกทัศน์เรื่องความดีความชั่ว
    แต่ผมใช้คำว่าความดีกับความเลว ในความหมายของ Good กับ Evil เวลาเราพูดถึงความดีความเลวนั้นเราพูดในแง่ของการตัดสินคุณค่าทางคุณธรรม
    ในการเมืองนั้นโลกทัศน์ที่อยู่พื้นฐานของความดีความเลวมีนัยยะของ Moral Judgment คือการตัดสินคุณค่าในเชิงศีลธรรม

    มันมาจากไหน ทำไมสังคมไทยจึงอยู่กับความดี-เลว ขาว-ดำ

    มันมาจากพื้นที่ฐานที่คุณเลือกยืนอยู่บนความดี คือการที่คุณอ้างตัวเองว่าเป็นคนดี คุณสามารถบอกว่าคนเลวเป็นอย่างไรชัยชนะอันหนึ่งของการเมืองในเชิงของจารีตประเพณีคือชัยชนะที่คุณวางสถานะของตัวเองบนจุดยืนของความดี
    ดังนั้นเมื่อคุณใช้จุดยืนของความดี คุณบ่งบอกว่าอะไรที่ไม่ดีก็คือสิ่งที่เลวอย่างชัดเจน แล้วมันมีรูปธรรมที่ชัดเจนมาตลอดในสังคมไทยก็คือ ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลหรือการไม่กระทำตามกติกาของสังคม

    แล้วคนที่ออกมาต่อต้านทักษิณก็ออกมาเรียกร้อง แล้วเป็นข้อเรียกร้องที่ง่ายต่อการยอมรับจากสังคม แต่ไม่ได้มองทะลุผ่านไปถึงว่าไอ้ขั้นตอนเหล่านี้ เราจะไปตรวจสอบอย่างไร คือไม่ได้ให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงาน

    ตอนนี้เรากำลังพูดถึงระบอบหรือระบบทั้งระบบ เวลาเราพูดถึงปัญหานี้ มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่มันคือปัญหาของระบอบที่จะต้องสร้างรากฐานให้การตรวจสอบนั้นทำงานได้

    ผมไม่เชื่อว่าคนดีและคนเลวจะมีความแตกต่างกันเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วอำนาจมันฉ้อฉล การฉ้อฉลของอำนาจก็คือการที่คุณไม่รู้ว่าในการตัดสินใจกระทำการอันใดอันหนึ่ง ผลมันคืออะไร เพราะคุณควบคุมผลที่ออกมาไม่ได้

    ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเจตนาหรือความเป็นคนดีของคุณเพราะคุณธรรมของผู้ปกครองหรือคุณธรรมของผู้นำมันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานว่าคุณเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว แต่อยู่บนพื้นฐานที่คุณจะจัดการเหตุผลในการดำรงอยู่ของรัฐ หรือจัดการอย่างไรให้รักษาอำนาจและก่อประโยชน์สุขให้สังคมการเมืองได้ดีที่สุด

    เมคคีเวลลีสอนไว้อย่างนั้นว่า เป้าหมายของผู้นำคือการรักษาอำนาจของตนเองและทำให้สังคมสงบสุข เพราะสังคมสงบสุขนั้นก็คือทุกอย่างอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชีวิตทุกคนมีความสุขนั่นคือคุณธรรมของผู้ปกครองซึ่งแตกต่างจากคุณธรรมส่วนบุคคล

    เวลานี้ การเมืองมันพัฒนาไปสู่การวางพื้นฐานหลักการทางสังคม ครรลองหรือกติกาจะเป็นตัวที่เข้ามากำกับหรือมาตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ในทางการเมืองเอง

    ผมคิดว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารนั้น ระบบหรือครรลองประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ สิ่งที่มันทำได้ดีที่สุดก็คือความเห็นที่แตกต่าง เพราะว่าบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย การที่คุณมีสิทธิเสรีภาพเฉพาะส่วนบุคคล มันหมายถึงว่าคุณสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองและความเห็นของคุณกับผมก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน ไม่ต้องเห็นตรงกัน
    ความแตกต่างคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

    แต่ปัญหาที่สำคัญของความแตกต่างก็คือการยอมรับความแตกต่าง สังคมไทยไม่ยอมรับความแตกต่าง ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่สุด และการไม่ยอมรับความแตกต่างทำให้กติกาหรือครรลองหรือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น และขณะเดียวกันคุณ Abuse ความแตกต่างด้วยเรื่องของความสมานฉันท์ ความสมานฉันท์ของสังคมไทยคือการสมานฉันท์บนพื้นฐานของความมั่นคงของรัฐซึ่งคุณไม่มีสิทธิที่จะเห็นต่าง

    แต่ในทุกๆ รัฐก็ต้องพยายามหาจุดร่วมกันเพื่อให้ประชาชนมีความสำนึกเรื่องความเป็นชาติร่วม­กันไม่ใช่หรือ ก็ใช่
    แต่ที่ผมพูดถึงเรื่องความแตกต่างนั้น ผมพูดบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่จะเห็นต่างตามสิทธิของสังคมประชาธิปไตยคือทุกคนต้องมีสิทธิที่จะเห็นต่าง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คุณต้องยอมรับความแตกต่างเช่น ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมต้องเคารพทัศนะของคุณ

    ทีนี้ความแตกต่างทางทัศนะทางการเมืองก็ถูกจัดการด้วยกระบวนการบางอย่าง เช่น การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง คือไม่ว่าคุณจะชอบคนนี้หรือไม่ชอบ แต่ถ้าคุณแพ้การเลือกตั้งคุณก็ต้องยอมรับโดยกติกาว่า
    คนที่คุณสนับสนุนไม่ได้รับเลือก คนที่คุณไม่เห็นด้วย คุณไม่ชอบนโยบายของเขาได้รับเลือกเข้าไป คุณก็ต้องยอมรับ

    ในท้ายที่สุดกติกาเป็นตัวกำหนด ถ้าพูดตรงๆ พรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณนั้น ประการหนึ่ง เขารู้ว่าเขาแพ้ในการเลือกตั้ง เพราะอะไร เพราะประชาธิปไตยมันCount(นับ)เสียงของคุณ เสียงของคนเดินถนน ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะสูงศักดิ์อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นคือกติการ่วมกันในสังคมประชาธิปไตย แต่สังคมการเมืองไทยกลับมีการ discredit การนับเสียงแบบนี้

    ในภาษาอังกฤษนั้น คำว่า Count (การนับ) กับ account (การให้ค่า) ถ้าคุณตัด ac ออก มัน interplay ระหว่างกันอยู่ ในการอภิปรายประเด็นประชาธิปไตยนั้น แน่นอนว่า count เสียง แต่อะไรบ้างที่คุณจะ take into account

    แต่ประเด็นที่ผมจะชี้ก็คือ กติกาประชาธิปไตยมันมีอยู่ มันเซ็ตการยอมรับความแตกต่างให้เกิดขึ้นถ้ากติกาบอกว่าการเลือกตั้งคือตัวชี้วัดว่าคุณต้องยอมรับ คุณก็ต้องลงมาที่การเลือกตั้ง แล้วถ้าฝ่ายที่คุณสนับสนุนแพ้ คุณจะทำอะไร คุณก็ต้องตรวจสอบไป ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ไป

    ปัญหาคือคุณต้องเคารพบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามาเพราะว่ามีคนเห็นต่างจากคุณเป็นจำนวนมาก และคนจำนวนมากเขาเลือกเพราะว่าเขาเห็นเขารู้ว่ามันมีผลดีอย่างไร ถ้าเขาเลือกคนๆ นี้

    ตัวอย่างอันหนึ่งผมคิดว่ามันมีกรณีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริการะหว่างหว่างกอร์ กับบุช ผมคิดว่าผมคิดว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นสังคมอเมริกาแยกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะว่าบุชชนะใน Electoral Vote ในขณะที่ กอร์ ชนะใน Popular Vote แล้วปัญหาเกิดที่ฟลอริดา ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี ในท้ายที่สุด ตุลาการชี้ว่าบุชชนะ ซึ่งเราก็ทราบปัญหาเรื่องนี้กันอยู่บ้างแล้ว ประเด็นก็คือว่าเมื่อบุชชนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า Final Decision มันเกิด ท้ายที่สุดสังคมก็ต้องยอมรับว่าบุชชนะ เป็นประธานาธิบดี

    โอเค คุณไม่ชอบคุณก็มาถกเถียงเชิงนโยบาย ในการบริหารงานของบุช ก็ตรวจสอบไปสิ แน่นอนคนไม่เห็นด้วยกับสงครามอิรัก หรือ War against terrorism จำนวนมาก คนเหล่านี้ก็เป็นเสียงที่ดังในสังคม

    แต่อาจารย์บอกว่าถ้าแพ้ก็ตรวจสอบไป ที่ผ่านมาฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ตรวจสอบเหมือนกัน

    สำหรับผม ผมคิดว่าที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ไม่ได้ตรวจสอบ การตรวจสอบที่ดีคือการที่คุณตรวจสอบบนข้อมูลข่าวสารและพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำ ผมคิดว่าเป็นการใส่ความมากกว่า คือผมฟังในสิ่งที่พันธมิตรปราศรัย ผมไม่สามารถหาแก่นสารข้อเท็จจริงและความรู้ทางการเมือง

    สิ่งที่พันธมิตรทำคือการสร้าง Political Sentiment (อารมณ์ทางการเมือง) เป็นการเมืองของความดีความชั่ว คือพยายามจะบอกว่าทักษิณเลวอย่างไร แล้วก็โดยที่ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่พันธมิตรทำ คือความถูกต้องและความดี โดยที่คุณให้ร้ายเหยื่อของคุณเอง เหยื่อของคุณก็คือรัฐบาลทักษิณ โดยที่คุณไม่ได้ให้ข้อมูลหรือความรู้แก่สังคมในเรื่องนั้นๆ คุณมีประเด็นมากมายที่คุณพูดถึง แต่ปัญหาคือเราไม่เคยเห็น Fact หรือข้อเท็จจริงในสิ่งเหล่านั้นว่ามันคืออะไร และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือคุณทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน คุณเป็นผู้พิพากษาของสังคมต่อรัฐบาลทักษิณผ่าน Sentiment คุณบอกว่าระบอบทักษิณมันเลว เป็นอะไรต่างๆ ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็น Judgment ที่คุณให้

    แล้วประเด็นหนึ่งที่พันธมิตรทำและเลวร้ายที่สุดก็คือ ทำให้คนไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างปัญหาที่รัฐบาลทักษิณสร้างขึ้นและไม่สามารถตอบปัญหาเรื่องความโปร่งใส กับปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเอง

    ปัญหาของระบอบทักษิณคือปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตยซึ่งทางแก้ก็คือทำให้กลไกเหล่านั้นทำงาน และผมคิดว่าในช่วงเวลาทีผ่านมาตลอดปีนี้ มีความพยายามปรับแก้เงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้กลไกเหล่านั้นได้ทำงาน ผมคิดว่ามันมีความพยายามจำนวนมาก ดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุดมันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำงาน แล้วกติกาของสังคม และความสงบเรียบร้อยของสังคมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อกลไกประชาธิปไตยทำงานจริงๆ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

    แต่ว่าในท้ายที่สุดมันไม่ได้เกิด ไม่ใช่แค่เพราะการรัฐประหารเท่านั้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เลวร้ายพอๆ กับการรัฐประหารก็คือ Sentiment (การใช้อารมณ์) ของสังคมที่ทำให้การเมืองเป็นการเมืองขาวดำหรือการเมืองของดีเลว มันกำหนดการตัดสินทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดโดยปราศจากความเข้าใจ ครรลองหรือกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และขณะเดียวกันเนื้อหาของประชาธิปไตยถูก Abuse โดยสิ่งที่เรียกว่า Political Sentiment อย่างมาก

    แล้วภูมิปัญญาไทยล่ะ เมื่อพูดเรื่องโครงสร้างที่มากำกับตรวจสอบผู้มีอำนาจในโครงสร้างแบบประชาธิปไตย แล้วทศพิธราชธรรมล่ะ ใช้ไม่ได้หรือ

    ผมคิดว่ามันคนละเรื่องกันผมคิดว่าข้อถกเถียงของสังคมคือการซ้อนทับในสิ่งที่เป็นคนละเรื่องกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน เช่น เวลาเราพูดถึงทศพิธราชธรรม เรานึกถึงผู้นำในระบอบเทวราชา เรากำลังพูดถึงอำนาจในสมบูรณาญาสิทธิราชย์

    ทศพิธราชธรรมเป็นเหมือนกับหลักการบางอย่างเพื่อควบคุมสติของผู้นำ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่

    ระบบการควบคุมในระบอบประชาธิปไตย คือการควบคุมผ่านกระบวนการ check and balance การตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ การ check and balance มันทำให้ขั้นตอนต่างๆ โปร่งใส คุณต้องตอบคำถามได้ เมื่อคุณทำอะไรลงไป คุณต้องตอบได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหรือทางออกทางแก้เป็นอย่างไร ก่อให้เกิดผลดีแก่ทุกคนอย่างไร

    ผมคิดว่าเรากำลังพูดถึงเกณฑ์คนละมาตรฐาน และเป็นเกณฑ์ที่ไปด้วยกันไม่ได้ ปัญหาคือสังคมไทยพยายามจะสร้างในสิ่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งผมบอกได้ว่า ไม่มี ผมเห็นด้วยกับศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ก็คือเรามีอำนาจนิยมแบบไทยๆ คืออำนาจในรูปแบบของเจ้าขุนมูลนาย รูปแบบเจ้าขุนอุปถัมภ์ แต่เราไม่เคยมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างแท้จริง สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม

    แต่ทศพิธราชธรรมเป็นสิ่งที่รองรับให้ประชาชนไทยยอมรับผู้นำในระดับหนึ่งก่อนด้วยความเชื่อมั่นว่าผู้นำจะมีคุณธรรมประจำตัว

    ผมไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าทศพิธราชธรรมหรือกรณีพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นในงานของคุณประมวล รุจนเสรี ก็คือการ Reinvent Tradition ที่มันตายไปแล้ว และคืนชีวิตมันบนความอิหลักอิเหลื่อที่อยู่ในกติกาของประชาธิปไตย และเคลือบมันดั้วยวาทศิลป์จำนวนมาก เช่นคุณอ้างประเพณี โบราณราชประเพณี ซึ่งโบราณราชประเพณีนั้น เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในสังคมสมบูรณาญาสิทธิ์ ไม่ใช่ในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าเรา- สังคมไทย สับสนมากระหว่างสิ่งที่เรียกว่าครรลองประชาธิปไตยกับจารีตในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคิดว่าทั้งสองนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

    สิ่งทีเกิดขึ้นก็คือ การเอาครรลองคนละชุดมาตรวจสอบอีกชุดหนึ่ง ผมคิดว่าเราเล่นกันคนละเกม เล่นคนละเกณฑ์ แล้วทำให้สังคมดูราวกับว่ามันเป็นเกมเดียวกัน

    สิ่งที่เลวร้ายก็คือเกณฑ์หรือกติกาหรือครรลองประชาธิปไตยถูกทำให้เป็นสิ่งที่แย่ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ในขณะที่อีกด้านเป็นสิ่งที่ดี และตรงนี้เป็นการง่ายที่จะพูดถึงเรื่องคุณธรรมความดีของผู้ปกครอง

    แต่การยกเอาปัญหาเรื่องคุณธรรมเฉพาะตัวบุคคลขึ้นมาเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางการเมืองในประเทศอื่นๆ เขาก็มี

    มันก็มี แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เขาตัดสินกันที่ศักยภาพและความสามารถในการทำงาน ในการปกครองและผลงาน ตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมสามารถยกขึ้นมาได้ก็คือ กรณีของคลินตันกับลูวินสกี้ ผมคิดว่ามันเป็น Debate ในเชิงจริยศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับตัวผู้นำทางการเมือง และถูก Orchestra โดยสื่อและพรรคริพับลิกัน

    แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คลินตันก็ได้รับการยอมรับและรับรอง และที่เขาได้รับการยอมรับและรับรองไม่ใช่เพราะว่าทุกคนละเลยต่อปัญหาจริยศาสตร์หรือคุณธรรมความดี ทุกคนเขารับรองว่า นี่คือผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำที่สร้างผลงาน แล้วกติกาตามครรลองประชาธิปไตยยอมรับสิ่งนี้

    บางครั้งประเด็นเรื่องคุณธรรมความดีเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก อย่างกรณีคลินตันนั้น การที่มี Affaire กับคนอื่นเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือศักยภาพในทางการเมือง โอเค ประเด็นเรื่องลูวินสกี้คือรอยด่างของคลินตัน ทุกคนรู้ แต่ทุกคนก็นับถือและให้เกียรติคลินตันในผลงานที่เขาทำให้กับประเทศสหรัฐมาตลอดระยะเวลาแปดปี

    กลับมาที่สังคมไทย ถ้าพูดในระนาบเดียวกันก็คือว่า เราจะวาง check and balance คือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองอย่างไร ในฐานะพื้นฐานกติกาของระบอบประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพ และเมื่อนั้น ไม่ว่าผู้นำคนนั้นจะดีหรือเลวอย่างไรก็ตาม เขาต้องได้รับการตรวจสอบ เราต้องการผู้นำที่มีความสามารถและมีศักยภาพในการบริหารประเทศ และสามารถขับเคลื่อนระบบทั้งระบบให้ทำงาน

    ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ปัญหาว่าดีหรือเลว แต่ปัญหาของสังคมไทยคือการมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพหรือมีความสามารถที่จะกำหนดทิศทางของสังคมอย่างที่ทุกคนต้องการและสามารถที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมกับชาติอื่นได้ ผมคิดว่าทุกวันนี้ในแง่ของการพัฒนาของเรานั้นเราล้าหลังชาติอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยเราก็ล้าหลังตรงที่เราไม่วางครรลองของประชาธิปไตยให้เป็นพื้นฐานของสังคม

    เราต้องแยกการเมืองดี-เลวหรือเทพ-มารให้ออก แล้วทำให้กติกาของประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นบนพื้นฐานของนโยบายพื้นฐานของการตรวจสอบ และพื้นฐานที่คนในสังคมสามารถที่จะกำหนดทิศทางและเป้าหมายของสังคมได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจใดๆ ที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ

    การเมืองแบบแบ่งดี-เลวนั้น คุณไม่สามารถที่จะวางพื้นฐานครรลองประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง นี่คือจุดยืนของผม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณมาตรวจสอบว่าคนนี้ดีหรือเลว ดีหรือเลวเป็นเงื่อนไขส่วนบุคคลที่คนเหล่านั้นมี แต่เงื่อนไขของสังคมประชาธิปไตยคือเงื่อนไขของประสิทธิภาพการทำงานและประสิทธิภาพในการนำพาสังคม

    ประเด็นของผมคือไม่ใช่ปัญหาว่าต่อไปนี้จะมีคนเลวมาเป็นนักการเมือง ผมคิดว่าสังคมเรียนรู้ เราต้องให้ประสบการณ์กับสังคมประชาธิปไตยเรียนรู้ส่วนนี้ โอเค ความทรงจำของคน เราอาจจะบอกว่าคนไทยหรือสังคมไทยความทรงจำสั้น แต่ผมอยากจะบอกว่าทุกสังคมความทรงจำสั้นทั้งนั้น แต่ปัญหาคือ อะไรคือประสบการณ์ที่ทุกคนในสังคมมี

    ความทรงจำกับประสบการณ์นั้นต่างกัน เราอาจจะจำไม่ได้ แต่เมื่อเผชิญกับสิ่งที่คุณประสบ คุณรับรู้ได้ หรือบ่มเพาะประสบการณ์อย่างสำคัญ

    รัฐประหารครั้งนี้ จุดยืนของผมแน่นอนว่ามันไม่ชอบธรรม แต่สังคมได้ประสบการณ์อะไรหรือเปล่า ผมคิดว่าสังคมเริ่มจะได้ประสบการณ์จำนวนหนึ่ง แต่ประสบการณ์เหล่านี้ยังไม่ได้ชี้ชัดอย่างแน่นอน ยังตอบไม่ได้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา แต่ที่แน่ๆ คือความไม่มีประสิทธิภาพหรือความไม่ชัดเจนของการเมืองในรูปแบบรัฐราชการหรืออำมาตยาธิปไตย ความล่าช้าในกระบวนการจัดการ ส่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามต่อไป

    ต่อไปคำถามของสังคมจะไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณสุรยุทธ์เป็นคนดีหรือเปล่า แต่สังคมจะถามว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประเทศหรือไม่ ตรงนี้แหละที่จะเป็นตัวชี้ชัดว่าในท้ายที่สุดแล้ว ในระบอบการปกครองที่ดี มันคือเรื่องประสิทธิภาพของการทำให้สังคมอยู่ดีกินดี มีความสงบสุข ผมคิดว่าเราถ้ามองในแง่ดี สังคมไทยกำลังเดินไปในทิศทางนั้น

    ผมคิดว่าปีหน้าสังคมไทยจะเผชิญปัญหาจำนวนมากเมื่อน้ำแห้ง นี่แหละคือภาพที่เราจะเห็นว่าสังคมไทยจะเรียกร้องผู้นำที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถ เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมไทยก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ผมเชื่อว่าแง่มุมของโลกทัศน์ขาวดำมันจะค่อยๆ หดหายไป

    การมองการเมืองแบบขาวดำหรือโลกทัศน์ดีเลว ไม่สะท้อนว่าสังคมไทยมีระดับศีลธรรมสูงหรอกหรือ

    ไม่ได้สะท้อนอะไรเลย ผมคิดว่าปัญหาศีลธรรมในสังคมไทยคือการมีข้อบังคับมากกว่าหลักปฏิบัติ มีข้อบังคับห้ามโน่นห้ามนี่ตลอดเวลา สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาที่คนไทยสอนศีลธรรมหรือสอนเนื้อหาทางศาสนา คุณเน้นศีลมากกว่าธรรม เวลาที่คุณห้าม นั่นหมายความว่าอะไรที่ไม่ถูกห้าม คุณก็ทำไป คุณทำได้ ในขณะที่ธรรม ในความหมายของแนวทางปฏิบัติ กลับไม่ได้ถูกสอน ไม่ได้บ่มเพาะให้กับสังคม

    ปัญหาของสังคมไทยอย่างหนึ่งที่ผมกระอักกระอ่วนมากที่สุด ก็คือว่าเมื่อคุณพบปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็ออกกฎข้อบังคับ
    สิ่งที่ตามมาคือ คนก็หาช่องว่างจากกฎข้อบังคับ ผมเชื่อว่าสังคมที่ดี หรือสังคมประชาธิปไตยนั้น Rule of Law หรือหลักนิติรัฐมีความสำคัญ แต่ Rule of law มันสร้างแนวทางในการปฏิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มีความสงบสุขอย่างไรต่างหาก

    เมื่อสังคมไทย Abuse rule of law มอง Law ในแง่ของการบังคับใช้ ข้อห้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือกรณีการแต่งกายชุดนักศึกษา ถ้าว่านักศึกษาแต่งชุดผิดระเบียบไหม เขาก็ไม่ผิด แต่ในการแต่งกายชุดนักศึกษา เขาอาจจะมีช่องว่างที่เขาจะแต่งกายในอีกลักษณะหนึ่งที่คุณไม่ต้องการแต่คุณทำอะไรได้

    ปัญหาคือคุณทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเขาถูกกฎทุกอย่าง แต่ช่องว่างนั้นน่ะ เพราะคุณให้ความสำคัญกับการบังคับใช้มากกว่าการสร้างแนวทางปฏิบัติ

    Rule of law จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อหลักนิติรัฐได้สร้างแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันมากกว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ ผมคิดว่านี่คือปัญหาอีกส่วนหนึ่งทีเกิดขึ้นในครรลองประชาธิปไตย

    ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานกลับไม่มีความสำคัญ ถูกฉีกได้ตลอดเวลา กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณมีอะไรที่คุณเขียนไว้ในแง่บทบัญญัติเท่านั้น แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญคือครรลองหรือกติการ่วมกันซึ่งเป็นกติกาที่ทุกคนในสังคมยอมรับเป็นหลัก

    เท่าที่ผมเข้าใจประเทศจำนวนมากมีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติน้อยกว่าสังคมไทยและมีอายุการใช้งานที่ยืนนานมากกว่าสังคมไทย สิ่งเหล่านั้นที่เขาทำได้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเขาดีกว่าเรา แต่กฎหมายได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของคนในสังคม ผมอยากเห็นสังคมไทยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือเรียนรู้รัฐธรรมนูญในฐานะแนวทางปฏิบ­ัติร่วมกันมากกว่าที่คุณเอามาตรวจสอบว่า คนนี้ทำผิดหรือเปล่า มันกลายเป็นข้อบังคับและในท้ายที่สุดแล้วมันเหมือนกับเสือกระดาษ เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว และท้ายที่สุดแล้วกถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา

    ผมคิดว่ากฎหมายไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการรากฐานทางความคิด แก่สังคมหรือตัวนักกฎหมาย กลายเป็นเพียงช่างฝีมือหรืออย่างที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรียกว่าเป็น ‘ช่างตัดผม’ เป็น Technician และสุดท้ายความเป็น Technician
    คุณก็จะรู้สึกว่า คนอื่นไม่ใช่นักกฎหมายจะมารู้เรื่องกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่

    กฎหมายมันคือกติกาของสังคมนะ แน่นอนว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องรู้กฎหมายอย่างนักกฎหมาย ผมคิดว่านักกฎหมายอาจจะเข้าใจผิด ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนนักกฎหมายมีสิทธิพิเศษ เพราะภาษากฎหมายกลายเป็นภาษาเฉพาะ ความชอบธรรมทางกฎหมายกลายเป็นความชอบธรรมเฉพาะของนักกฎหมาย การเน้นกฎหมายในฐานะที่เป็นข้อบังคับใช้ มันตอบรับกับลักษณะอำนาจนิยมของสังคมไทย

    โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องของขาวดำ หรือดีเลว โดยมองผ่านพื้นฐานที่ฝ่ายหนึ่งยึดธงชัยของความดีว่าความดีคืออะไรและเป็นคนบอกว่าสิ่งที่มันเลวคืออะไร และความโชคร้ายก็คือว่า บนพื้นฐานของสิ่งที่เลวนั้น มันมีเท็จจริงทางสังคมการเมืองปรากฏอยู่เป็นข้อสนับสนุนด้วย

    ประการที่ 2 ก็คือ ผมมองว่าสังคมต้องข้ามพ้นการเมืองขาวดำไปสู่การมองเชิงนโยบาย ปัญหาของตัวผู้ปกครองมันไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้ปกครองที่ดี สังคมไทยต้องการผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารประเทศและการจัดการ และสุดท้ายประเด็นที่สามก็คือ กฎหมาย ซี่งควรจะเป็นแนวทางปฏิบัติของสังคมมากกว่าการมองมันเป็นแค่ข้อห้ามหรือข้อบังคับใช้

    ถ้าเราสามารถจะแก้เงื่อนไขทั้งสามนี้ได้ ผมคิดว่าการ Restore Order ที่แท้จริงของการเมืองระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นและจะนำไปสู่หลักการอีกด้านที่เรายังไม่ได้พูดกันอย่างแท้จริงก็คือ ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม
    และภราดรภาพ

    ที่ผ่านมา สังคมไทยในครรลอง มองปัญหาเรื่องสิทธิเป็นรูปธรรมเกินไป เช่น มองสิทธิในฐานะที่เกี่ยวกับบุคคล เช่น การเลือกตั้ง แล้วแบบไม่เป็นรูปธรรมคืออะไร

    คือสิทธิในฐานะที่เป็น Citizenship รูปธรรมที่ดีที่สุดคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคม สิทธิที่จะกำหนดทิศทางของสังคม ผมคิดว่านี่เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุด ไม่มีใครแย่งชิงสิทธินี้ไปจากตัวคุณได้ และสิทธินี้จะแสดงออกผ่านกิจกรรมทางการเมือต่างๆ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

    สิทธิในการกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตและสังคม นี่คือสิทธิที่เป็นพื้นฐานที่สุด ส่วนเสรีภาพคือสิ่งที่คุณจะแสดงออกมาผมอยากให้สังคมไทยมองสิทธิที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะกำหนดชีวิตคุณเองได้ นั่นคือการที่คุณมีบทบาททางสังคมมากขึ้น วัฒนธรรมทางการเมืองนี้มันเริ่มเกิดขึ้นในบางส่วนของสังคมและที่น่าสนใจก็คือมันเกิดขึ้นในระดบรากหญ้ามากว่าสังคมเมือง

    การมีโลกทัศน์แบบมองขาวดำมีส่วนกลบปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ และภราดรภาพหรือไม่
    มันกดทับ พูดง่ายๆ ว่าการเมืองขาวดำมันสร้างลำดับชั้นให้กับสังคม และกดทับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ การกดทับก็คือการบอกว่า คนดีนั้นมีความสำคัญมากกว่าคนที่มีความสามารถ เพราะเราอนุมานกันว่า ถ้าคุณเป็นคนดีแล้วทำอะไรก็ดีตามไปหมด นี่คือสิ่งที่น่ากลัว และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่มเพาะบนพื้นฐานของเหตุผลแต่บ่มเพาะบนพื้นฐานของ Sentiment ของสังคม

    เพราะว่าด้วยการที่อ้างอิงด้วยหลักการของหลักธรรมหรือทศพิธราชธรรม จึงมองความดีมีคุณค่ามากกว่าความสามารถ
    ปัญหาของสังคมไทย ถ้าพูดในที่ว่าทำอย่างไรที่จะให้คนที่มีความสามารถในการบริหารประเทศมีบทบาทมีศักยภาพในการทำงานร่วมกันได้ และขณะเดียวกันเราสามารถตรวจสอบการทำงานของเขาได้ นี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยมันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ในส่วนของภราดรภาพ ผมเชื่อใน Concept พื้นฐานคือ ภราดรภาพนั้นคือความเป็นพี่เป็นน้องกันอย่างน้อยที่สุดมันสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น เวลาที่ผมมองภราดรภาพ ผมไม่ได้มองในแง่ของความเป็นพี่น้องหรือความเป็นครอบครัวเดียวกัน คือผมมองสายสัมพันธ์ของสังคมที่มันเชื่อมต่อกันและเมื่อมีสายสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว การสร้างความยอมรับซึ่งกันและกันนั้นมันง่าย และการยอมรับที่สำคัญก็คือการยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าคุณจะแตกต่างจากผม คุณไม่เหมือนผม
    ไม่ว่าจะด้วยชาติกำเนิด เชื้อชาติศาสนา หรืออะไรต่าง พูดง่ายๆ ว่าเวลาที่คุณเป็นพี่เป็นน้องกัน เมื่อมีอะไรกระทบกระทั่งกันคุณก็ยอมๆ กันได้ แต่ถ้าพูดในระดับของสังคมภราดรภาพของสังคมก็คือการอยู่ร่วมกันของสังคมและยอมรั­บความแตกต่างระหว่างกันโดยพื้นฐานของ Rule of law ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการยอมรับความหลากหลายอันนั้น นี่คือโจทย์สำคัญ

    และสุดท้ายเรื่องความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของกฎหมาย เสมอภาคในส่วนนี้ คือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในการที่จะใช้มัน ไม่ใช่ว่าผมมีสิทธิที่จะพูดมากหรือพูดดังกว่าคุณ ไม่ใช่ผมคิดว่าเสียงต่างๆที่พูดออกไปควรจะให้น้ำหนัก และความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน มันจะผลักดันการเมืองของผู้นำไปสู่การเมืองที่เป็นมีส่วนร่วมของคนมากขึ้น ผมไม่อยากใช้คำว่าการเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการเมืองที่คนมีโอกาสหรือว่ามีแนวทางในการแสดงออก ไม่ใช่ใครมาชี้นำ ไม่ใช่ใครเป็นตัวเลือกทางสังคม

    อาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นอุดมคติจนเกินไป แต่ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเดินไป ผมไม่เคยบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ผมบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีกว่าระบอบอื่นๆ เพราะว่าคุณมีสิทธิเสรีภาพที่คุณสามารถใช้กำหนดทิศทางของคุณได้และดีกว่าตรงที่­คุณพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน พร้อมที่จะผลักดันให้มันดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องผ่านการสะสมของเวลาและประสบการณ์ของสังคม สังคมต้องยอมรับการเรียนรู้ผิดถูก ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะเป็นไปในแนวทางนั้นแนวทางนี้ และการเรียนรู้ของสังคมคือสิ่งที่บ่มเพาะเนื้อหาให้กับคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก

    ทักษิณทำให้คนระดับรากหญ้ามีสำนึกของความเป็นCitizenshipมากขึ้นหรือเปล่า แน่นอน ผมไม่ได้มองว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่เลวร้าย ผมคิดว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ตอบคำถามต่อหัวข้อของการเมืองชั้นนำอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เห็นดอกผลของการเมืองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราอาจจะมองกองทุนหมู่บ้าน
    เอสเอ็มแอล เอสเอ็มอี อะไรต่างๆ ในแง่ร้าย

    แต่ผมคิดว่ามีพัฒนาการประการหนึ่ง ก็คือว่าประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจที่อยู่กับตัวเขาเอง เช่น คุณให้งบประมาณหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท หนึ่งล้านบาทนี้คุณจะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ดี เช่นคุณเอาไปซื้อมือถือ ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วเมื่อเงินมันหมดไป คุณก็ต้องถูกตรวจสอบถูกตัดสินจากสังคม แต่ถ้าเงินหนึ่งล้านบาทมันแก้ปัญหาของสังคม มันก็ได้รับการยอมรับ

    ผมคิดว่าทิศทางหรือแนวทางนั้นเราพูดโจมตีในด้านร้ายมากกว่าที่จะมองในภาพรวม สำหรับผมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจะดีหรือเลวมันคนละเรื่องกับการเรียนรู้ทางสังคม ผมคิดว่าชาวบ้านรากหญ้าเรียนรู้ที่จะกำหนดแนวทาง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในหนทางที่ตัวเองเลือกอย่างไร นี่คือตัวชี้วัดที่เห็นชัดที่สุด

    ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันได้สอนให้คนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรียนรู้และเข้าใจหลักก­ารประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานซึ่งเริ่มต้นจากตัวเขาเอง เริ่มต้นจากสิทธิเสรีภาพ การกำหนดแนววิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ โอเค ผิดถูกอีกเรื่องหนึ่งมันก็ต้องสั่งสมกันไป

    สังคมและชุมชนนั้นสั่งสมบทเรียน ผมคิดว่าเราต้องมีสิ่งเหล่านี้

    สังคมไทยสั่งสมบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องธรรมราชา เรื่องผู้ปกครองที่มีทศพิธราชธรรมมายาวนานกว่า แต่อย่างน้อยที่สุดคุณก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มันมีพลัง ที่มันมีพลังก็เพราะมันมีการสั่งสม คุณก็ต้องให้ประชาธิปไตยสั่งสมบทเรียนเช่นกัน

    และผมไม่ได้มองว่าชาวบ้านโง่เขลา หรือว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่างที่คนส่วนหนึ่งบอกว่าชาวบ้านขาดการศึกษาไม่รู้ไม่เข้าใจ
    ผมคิดว่าชาวบ้านเข้าใจ โลกทัศนของชาวบ้านคือโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับชีวิตที่เขาอยู่ ไม่ใช่เรา

    ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีเหตุผลที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ทำไมล่ะ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา ถ้ามันไม่ดี
    วันหนึ่งเขาก็ไม่เลือก แต่ปัญหาก็คือว่า คุณสร้างทางเลือกให้คนเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน สังคมไทยยังไม่ได้สร้างทางเลือกอันใดให้กับคนอื่นนอกจากสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ ถ้ามองในแง่ของการเมืองเชิงนโยบายหรือการหาเสียงเชิงนโยบาย ผมยังไม่เห็นนโยบายอื่นที่มีทางเลือกให้กับคน นี่ไม่นับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นไปได้ยาก

    ในขณะที่ชาวบ้านปกป้องประโยชน์ของตัวเองตามกลุ่มที่ตัวเองสังกัด ในขณะที่ชนชั้นกลางนั้น...ประเด็นปัญหาของการขับไล่ทักษิณนั้นมันอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า การทำให้เป็นสุนทรียะทางการเมือง คือมันเป็นเรื่องของ perception และไม่ได้อยู่บนเนื้อหาสาระพื้นฐาน การเมืองมันถูก dramatize ผ่าน sentiment ผมคิดว่าประเด็นเรื่องจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ของผู้นำต่างๆเหล่านี้ เรามันสร้างมันบนฐานของSentiment มากกว่าเนื้อหาทางจริยศาสตร์
    ปัญหาคือคุณโจมตีทักษิณในเรื่องของคุณธรรมของผู้ปกครองหรือผู้ปกครองที่ดี แต่คุณก็ไม่ได้บอกว่าคุณธรรมที่ดีมันเป็นอย่างไร ผู้ปกครองที่ดีควรทำอะไร ผมคิดว่าไม่ แล้วสังคมก็ตอบสนองอย่างเลวร้าย ตอบสนองผ่าน Sentiment มากกว่าผ่านกระบวนการการตรวจสอบ

    สำหรับผมๆ ไม่เชื่อว่าทักษิณเป็นทรราช เพราะว่าทักษิณยังอยู่ในกติกาประชาธิปไตย แน่นอนว่าทักษิณ Abuse
    เรื่องอำนาจ ผมไม่เถียง แต่สังคมกำลังตรวจสอบ สังคมกำลังดำเนินไปในทิศทางนั้นและเขาไม่สามารถเผด็จอำนาจ
    (Dictate) ได้ทั้งสังคม ถ้าเขาสามารถ Dictate สังคมได้ทั้งสังคม คำนี้อาจจะใช้ได้ แล้วทรราชในระบอบประชาธิปไตยนั้น
    เป็นทรรราชที่เกิดมาพร้อมกับ Sentiment

    ที่คนเปรียบเทียบทักษิณกับฮิตเล่อร์นั้น ผมขอบอกว่าไม่ใช่ ผมอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรง แต่ว่าอาจารย์ของผมส่วนหนึ่งเป็นเหยื่อของฮิตเล่อร์ และการขึ้นมาของฮิตเล่อร์คือการขึ้นมาผ่าน Sentiment ของสังคม ไม่ได้ขึ้นมาผ่าน Knowledge base ไม่ได้ขึ้นมาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย Sentiment ของสังคมเยอรมันในเวลานั้นก็คือประเทศเต็มไปด้วยปัญหา คุณต้องการผู้นำที่มี charisma เป็นผู้นำที่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของสังคมได้ แล้วนั่นแหละ หลังจากที่คุณดึงอารมณ์ร่วมของสังคมได้ คุณก็อาศัยกระบวนการประชาธิปไตยสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำ

    สิ่งหนึ่งที่ทักษิณทำอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่เขารู้ว่าหลักการประชาธิปไตยอยู่ตรงไหนแล้วก็เล่นบนกติกา และขณะเดียวกันก็กำหนดกติกา

    สิ่งที่ทักษิณทำอันดับแรกก็คือการรู้กติกา อันดับต่อมาก็คือการเล่นตามกติกา และระดับที่ 3 ก็คือ กำหนดกติกา อันดับที่สามนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ แต่ปัญหาคือคุณไม่ได้ตรวจสอบอันดับที่สาม กรณีที่เห็นได้ชัดก็คือการเปลี่ยนนโยบายให้เป็นกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่เลวร้าย และสังคมไม่เคยตรวจสอบหรือการอาศัยช่องว่างหรือการได้เปรียบในการร่างหรือกำหนดกติกา นี่คือปัญหาที่แท้จริงที่รัฐบาลทักษิณสร้าง

    -----------------------------------------------------------
    โดย : ประชาไท
    วันที่ : 19/10/2549
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×