ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมฮิตบทความเศรษฐกิจพอเพียง

    ลำดับตอนที่ #1 : 'เศรษฐกิจพอเพียง' จะสู้ 'ทุนนิยม' ได้ไง

    • อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 50


    จากเวทีเสวนาเรื่อง "การปฏิรูปกระบวนการเจรจาการค้าเสรี กรณีไทย-สหรัฐ" ซึ่งสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นที่ ศศปาฐศาลา สถาบันนัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เมื่อ 3 กพ. 2549

    ตอนหนึ่งนายจักรภพ เพ็ญแข รองเลขานุการนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ไม่ได้อ่านรายละเอียดในเอฟทีเอว่ามีอะไรบ้าง อ่านเพียงบทสรุปผู้บริหาร ... ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วข้อตกลงเอฟทีเอบรรทัดต่อบรรทัดจะก่อให้เกิดผลดี ผลได้ หรือผลเสียอย่างไร .... โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบความพอเพียง แต่เท่าที่ศึกษาเห็นว่า ยังไม่มี ระบบเศรษฐกิจใดที่จะสามารถจัดการกับกิเลสคนได้ดีเท่าระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม"

    "คงต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระแสเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นสิ่งที่คนหลายฝ่ายพูดถึงกัน แม้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวพระราชดำริก็ตาม แต่พวกเราคิดหรือไม่ว่าวิธีคิดแบบนี้จะสู้แนวทุนนิยมได้หรือ ถ้าหากเราทุกคนอยู่กันอย่างพอเพียงได้เป็นเรื่องดีแน่ แต่ตามกระแสทุนนิยมแล้ว ทุกคนมีใครใช้ของที่ผลิตในประเทศไทยบ้าง เมื่อมีของจากต่างชาติเข้ามา เราต้องเข้าใจความจริงข้อนี้ " นายจักรภพกล่าว
    ......
    ......
    ......
    "ความเป็นจริงก็คือคนไทยที่รับเอาสิ่งต่างๆเข้ามาง่ายๆ อย่างหนังเรื่อง แดจังกึม ......จะเห็นได้ว่าคนไทยรับเอาทุนนิยมเข้ามาเต็มตัวแล้ว
    การที่เราจะวิ่งกลับไปหาความพอเพียง ถามว่าเป็นสิ่งที่ดีไหม ดีแน่นอน แต่เราจะทำได้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิด เมื่อนึกถึงทุนนิยม จะพบว่า ราชวงศ์ได้วิพากย์ทุนนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 แต่เราต้องคิดดูว่าเอฟทีเอ หรือเศรษฐกิจแบบพอเพียง จะเป็นสิ่งที่ไปได้รอดในกระแสโลกปัจจุบัน" นายจักรภพกล่าว

    เท่าที่ได้อ่าน (อ่านจากหนังสือสองเล่มด้วยกัน
    คือ ตามรอบพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฏีใหม่ และ การเดินตามรอยพระยุคลบาท เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริต)
    ทั้งสองเล่ม บอกไว้ชัดเจนว่า
    ขั้นแรก ต้องรู้จักว่าตัวเองพอเพียงอยู่ที่จุดไหน ทำตัวเองค่อยพอเพียงก่อน
    ขั้นที่สอง จับกลุ่ม เพื่อทำอย่างอื่นที่เราขาดเป็นการเติมเต็ม คือ ทางด้านการศึกษา การแพทย์การสาธารณสุข เป็นต้น
    ขั้นที่สาม คือ เข้าถึงแหล่งเงินทุน คือ ธนาคาร แหล่งเงินกู้ต่างๆ
    ตัววัดของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
    นั้นคือ ความสุขของประชาชน การมีกินมีใช้สมฐานะ
    ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างและยืนอยู่ตรงข้ามกับแนวทุนนิยม ซึ่งจุดนี้ทุนนิยมวัดด้วยตัวเงิน สินทรัพย์ต่างๆๆ แต่ไม่ได้วัดด้วยความสุข

    บทความคัดทอนมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 กพ.2549 หน้า A9

    ขอออกความเห็นโดยส่วนตัว
    ประการแรก คนระดับรองเลขานุการนายกรัฐมนตรี ยังไม่รู้ว่ารายละเอียดของการเจรจามีอะไรบ้าง ไม่รู้กระทั่งว่าจะก่อให้เกิดผลดี ผลได้ หรือผลเสียอย่างไร แต่กลับบอกประชาชนปาวๆ ว่าดีแน่ๆ รับเถอะ รับเถอะ

    ประการที่ 2 ขนาดเรื่องที่เขาต้องรู้ ยังไม่รู้ แล้วแนวคิดที่ลุ่มลึก อย่างเศรษฐกิจพอเพียง เขาจะเข้าใจได้แค่ไหน หรือจะเข้าใจเพียงว่า มีสูทเพียง 3 ชุด ชอบสะสมหนังสือ ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ง่ายไปหรือเปล่าครับ

    ประการที่ 3 ที่เขาพูดมา ว่า คนไทยรับกระแสทุนนิยมเต็มตัว คงไม่ผิด แต่คงไม่ใช่ทุกคน ผมว่านี่อาจจะเป็นประเด็นปัญหา ว่าคนไทยหลงไปในลัทธิทุนนิยมโดยไม่มีรากฐานที่มั่นคงพอ เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นรากฐานไม่ให้ล้ม

    ประการที่ 4 จะมีคนไทยสักกี่คนที่เข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
    ผมจึงไปลองค้นดูว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีรายละเอียดอย่างไร
    ขออัญเชิญพระราชดำรัสบางส่วน มาจากhttp://www.chaipat.or.th/journal/aug99/thai/self.html

    ". . . ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่เท่านั้นจะพอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ. . ."
    จากนั้น ได้ทรงขยายความ คำว่า "พอเพียง" เพิ่มเติมต่อไปว่า หมายถึง "พอมีพอกิน"
    ". . . พอมีพอกิน ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี. . ."
    ". . . ประเทศไทยสมัยก่อนนี้ พอมีพอกิน มาสมัยนี้อิสระ ไม่มีพอมีพอกิน จึงจะต้องเป็นนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้ทุกคนพอเพียงได้ พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. . ."
    ทรงเปรียบเทียบคำว่า พอเพียง กับคำว่า Self-Sufficiency ว่า
    ". . . Self-Sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง. . . เป็นไปตามที่เค้าเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง. . .

    " แต่ว่าพอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย
    ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข
    พอเพียงนี้ อาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติงานก็พอเพียง. . ."
    ได้มีพระราชกระแสเพิ่มเติมระหว่างเข้าเฝ้าถวายงานมาอีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐาน ของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั้นเอง สิ่งก่อสร้างจะอยู่มั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป

    จากคุณ : ช า ติ - [ 5 ก.พ. 49 14:58:05 ]

    ผมเคยตั้งข้อสังเกตในคอลัมน์ของนักเขียนท่านหนึ่งในผู้จัดการออนไลน์เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ดังLinkข้างล่างนี้

    http://www.manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9480000123865

    ขอคัดลอกความเห็นผมมาดังนี้

    ในอนาคตอีก20กว่าปีข้างหน้า ถ้าประชากรของ2ประเทศนี้คือ จีนและอินเดียรวมกันกว่า 3,000 ล้านคนเข้าสู่ระบบตลาดโลก จะเกิดอะไรขึ้นและมีนัยต่อประเทศไทยอย่างไร?

    คำตอบต่อคำถาม ที่จะต้องใช้วิสัยทัศน์ล่วงหน้าไปกว่า20ปีเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจนตั้งแต่วันนี้ แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะรักษาสมดุลของผลประโยชน์ของคน2 Generation หรือคน2รุ่นอย่างไร ระหว่างคนรุ่นเราและรุ่นลูกในอนาคตเมื่อคำนึงถึงประเด็นที่ของทรัพยากรที่บริโภคในวันนี้(คนรุ่นเรา)และส่วนที่เหลือในอนาคต(ให้คนรุ่นลูก)

    และประเด็นจะซับซ้อนเป็นทวีคูณ เมื่อขยายกรอบความคิดไปว่าคนชาตินั้น คนชาตินี้ กับทรัพยากรที่จำกัดของโลกทั้งในวันนี้และวันหน้า เพราะทรัพยากรจริงๆในวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่งหรือเป็นสมบัติตายตัวของชาติใดชาติหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการไหลเวียนของคน(แรงงาน) เงินทุน(ทุน) โภคภัณฑ์(เหล็ก ทองคำ น้ำมัน สังกะสีฯลฯ) Software Computer และปัจจัยการผลิตอื่นๆ จนเราจินตนาการไม่ออกหรอกว่า มีสินค้าใดในโลกที่สร้างโดยทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตของประเทศใดประเทศหนึ่งตามลำพัง

    ผมเองโดยส่วนตัวยังสงสัยว่า ถ้าประเทศไทยเลือกเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียงจริง แต่ชาติอื่นไม่เลือก ผลข้างเคียงจะเป็นเช่นไร ต่อนัยยะระดับการลงทุน ระดับการจ้างงาน ระดับการออม ทรัพยากรในประเทศ และอื่นๆในประเทศไทย และที่สำคัญต่อสวัสดิการของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีใครบอกได้บ้างว่าผลได้โดยตรงของคนรุ่นนี้และคนรุ่นอนาคตที่เลือกเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เขาจะได้ผลประโยชน์อะไรหรืออรรถประโยชน์อะไรเป็นรูปธรรมนอกจากความสงบทางจิตใจ (ถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ กับคนส่วนใหญ่ที่เลือกเส้นทางพอเพียง ผมเขียนย้ำว่าคนส่วนใหญ่กับผลลัพธ์ความสงบทางจิตใจเนื่องมาจากการบริโภคอย่างพอเพียง)

    ส่วนตัวผมยังคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ที่จะยกเอาหลักคำสอนศาสนาเป็นข้ออ้างหรือวิธีแก้ปัญหาต่อปากท้องทางเศรษฐกิจ ผมย้ำนะครับว่าปัญหาปากท้องทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาทางจิตใจ เป็นเรื่องง่ายที่เราจะบอกให้ทุกคนเอาหลักธรรมไปใช้ และบอกว่าพอเสียทีในด้านการบริโภค แต่ในความเป็นจริงโลกมันได้ง่ายเช่นนั้น เพราะเอาแค่ในมิติเวลาช่วงปัจจุบัน ไม่ได้ไปคิดถึงคนในรุ่นอนาคต คนในสังคมไทยแบ่งเป็นหลายกลุ่มเช่น จนมาก จนที่สุด จนน้อย พอมี พอมีขึ้นมาอีกหน่อย รวย รวยมาก รวยที่สุด ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็ครองสัดส่วนประชากรของประเทศไทยแตกต่างกันออกไป

    เป็นเรื่องง่ายที่เราไปบอกประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในกลุ่มจนมากและจนที่สุดให้พอเสียทีกับการบริโภค และคงเป็นเรื่องง่ายเช่นกันที่เราบอกว่าการแก้ปัญหาสังคมง่ายนิดเดียว คือให้ทุกคน ละกิเลสให้หมด โลกเราไม่ง่ายเช่นนั้นหรอก

    ผมเองโดยส่วนตัว ยังอยากให้มีการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้มีมาตรการเป็นรูปธรรมอาทิเช่น ในเชิงภาษีเพื่อลดการบริโภค และมีนโยบายในเชิงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศผ่านเครื่องมือนโยบายทั้งที่มีอยู่เดิมและสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่

    เพราะ ณ วันนี้ ยังไม่มีนักคิดไทยคนใด หามาตรการรูปธรรมที่สอดคล้องกับประเทศไทยที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเลย เท่าที่เห็นมีแต่ความคิดของประเวศ วะสี ที่จะถอยหลังประเทศไทยไปสู่ยุคเกษตรกรรมธรรมชาติ แบบ Organic Agriculture หรือเกษตรอินทรีย์ ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสารเคมี ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา รวมทั้ง โรงพยาบาล ยารักษาโรคและถนนตลอดจนทั้งโรงเรียน ผมสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่เลือกเส้นทางพอเพียงจะต้องถอยหลังคนเลือกเส้นทางดังกล่าวไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

    และจริงๆแล้วถ้าจะสร้างภาคเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาในประเทศไทย สักส่วนหนึ่ง อะไรคือความพอเพียงที่เป็นรูปธรรม

    ถ้าจะพอเพียงแบบพึ่งตนเองได้ในทางอุตสาหกรรม ต้องเลือกอุตสาหกรรมสำคัญที่จำเป็นต่อชาติ และจะต้องลงทุนขนาดหนักผลาญทรัพยากรในวันนี้มหาศาล เพื่อการพึ่งตนเองได้ทางอุตสาหกรรมของคนในอนาคต ซึ่งถ้านำปัจจัยจีนและอินเดียมาคิดด้วย คำถามคือมีทรัพยากรในโลกที่จัดหาในราคาถูกหรือมีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ในวันข้างหน้า

    ถ้าพอเพียงแบบเกษตรกรรมจะทำอย่างไรต่อการวิจัยไบโอเทคโนโลยีที่เน้นการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) หรือจะเลือกเส้นทางพอเพียงทางการเกษตรด้วยการผลิตแบบการเกษตรแบบธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมี พึ่งพาดิน น้ำ ฝน เยี่ยง100กว่าปีก่อนหน้านั้น และจริงๆถ้าเลือกการผลิตแบบธรรมชาติไม่พึ่งสารเคมี ประเทศไทยมีอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคของคนในชาติหรือ

    และถ้าเลือกพอเพียง ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อะไรคือรูปธรรม ที่โยงไปยังปัญหาปากท้องจริงๆได้ ทั้งในวันนี้และอนาคต

    และถ้าเลือกพอเพียงทางจิตใจ อะไรคือรูปธรรม ทั้งในเชิงเครื่องมือและผลลัพธ์ ที่โยงไปยังปัญหาปากท้องจริงๆได้ ทั้งในวันนี้และอนาคต

    ผมฝากให้ผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยพัฒนาทฤษฎีให้เป็นรูปธรรมด้วยเพื่อให้เป็นทางออก ไม่เฉพาะของคนไทยแต่ทั้งโลกในเชิงรูปธรรมครับ

    จากคุณ : ปริเยศ (Pariyed) - [ 5 ก.พ. 49 19:01:49 ]

    คนที่สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง ต่อต้านเศรษฐกิจทุนนิยมส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจหลักการณ์ของทุนนิยม จึงต่อต้านทุนนิยม
    คนที่ต่อต้านเศรษฐกิจพอเพียง ก็คงไม่เข้าใจทุึนนิยม ดังที่อ้างมาในความเห็นที่ 13

    จริงๆแล้ว การไหลไปมาของทุน เป็นแค่ภาพสะท้อนที่แท้จริงของ อุปสงค์และอุปทานของตลาดเท่านั้นเอง
    เงินทุนจะไหลไปสู่กิจการที่มีกำไรสูง คือ มี demand มากกว่า supply

    การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่มั่นคง ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ ไม่น่าจะใช่การไม่ลงทุนใน mega project ต่างๆ หรือ ไม่ลงทุนในอุตสาหกรรม
    การไม่นำเข้าสินค้า
    ความต้องการของประชากรแต่ละคน มีไม่เหมือนกัน ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ประเทศเราควรจะผลิตอะไร แค่ไหน จึงเรียกว่า "พอเพียง" การจะมาวางแผนว่า ประเทศเราไม่ควรลงทุนอะไรมากมาย ไม่ซื้ออะไรจากต่างชาติ ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ลงทุนแต่กสิกรรมเท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย คำๆนี้เป็นจริงในระบบเศรษฐกิจ มันต้องมีการแข่งขันในเวทีโลก แต่อย่าลืมว่า หัวใจสำคัญที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกับคนอื่น คือ ความร่วมมือกันด้วย

    เศรษฐกิจ ไม่ใช่ 0 sum เกมส์ ที่มีผู้ชนะ ต้องมีผู้แพ้ ความร่วมมือกัน ก่อให้เกิด win-win situation ได้ จริงๆแล้ว นี่แหละคือหัวใจของทุนนิยม competitive advantage

    การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียง จริงๆแล้วมันก็คือกลับมาที่หัวใจของทุนนิยม ว่า การไหลของเงินทุนสะท้อนความต้องการของตลาด
    ถ้าตลาดไม่ต้องการอบายมุข ธุรกิจอบายมุขก็ไม่เกิด
    ถ้าตลาดไม่ต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย ธุรกิจนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยก็ไม่เกิด
    ถ้าตลาดต้องการไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณะสุข สิ่งเหล่านั้นก็เกิด

    การทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียง มันเกิดจากหน่วยที่เล็กที่สุด คือ ตัวเอง แล้วมาเป็นครอบครัว แบบที่ในหลวงดำรัสไว้
    ไม่ใช่ให้รัฐวางแผนว่า ครอบครัวนี้ ต้องพอแค่นี้ ประเทศเราต้องพอแค่นี้
    ถ้า ทุกคนในสังคม มีค่านิยมที่ถูกต้อง ไม่ฟุ่มเฟีอย รักสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
    ทุึนนิยมก็จะทำหน้าที่ของมันตามปรกติ จะมีการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น
    และลดการลงทุนในกิจการที่ให้โทษต่อสังคมลง

    จากคุณ : สตางค์แดงเดียว - [ 5 ก.พ. 49 21:02:25 A:203.170.250.91 X: TicketID:008274 ]

    แนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียงนั้นดังในเมืองไทยเพราะเป็นแนวคิดที่โดนใจสังคมไทย หนึ่งก็เพราะว่าในหลวงทรงเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ สองคือเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ มีเรื่องทางสายกลางและความพอดี

    แต่ในความคิดของผม ถ้าไปเล่าเรื่องความคิดนี้ให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนไทยฟัง พวกเขาก็คงจะไม่สนใจ แล้วถามว่า แล้วไง?

    จุดมุ่งหมายของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ พอๆกับ sustainable development ที่ UN พยายามผลักดันเลย ดันนั้นความคิดนี้ก็ไม่มีอะไรใหม่

    นอกเหนือจากนั้น ความคิดนี้ยังหวังให้มนุษย์ทำอะไรที่ไม่มีทางเป็นไปได้ด้วย เพราะว่าอย่างนี้นี่เอง ความคิดนี้จึงเป็นแค่แนวคิด ไม่สามารถที่จะเอามาใช้จริงๆได้

    หนึ่ง ความคิดนี้บอกว่าคนจะต้องมีคุณธรรม ต้องเป็คนดี ซื่อสัตย์ และไม่เอาเปรียบคนอื่น หวังสูงจากมนุษย์มากๆ มนุษย์จะขี้โกงจะตาย ถ้าโกงได้ก็โกงกันทั้งนั้น พวกไม่โกงที่เป็นคนดีจริงๆมีน้อยมากจนถึงไม่มีเลย (ไม่ใช่ดีแต่ปากนะครับ)

    สอง บอกว่าคนเราจะต้องทำอะไรที่มีความเสี่ยงตำ่ เห้อๆ บอกแค่นี้ทำไม่ได้หรอก ก็คนอยากจะเสี่ยงเขาก็เสี่ยงดิ ไปบังคับเขาได้อย่างไร แล้วอีกอย่าง การคิดอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการไปยัดเยัยดความชองหรือเกลียดความเสี่ยงของตนเองให้คนอื่น มันไม่ค่อยแฟร์เท่าไร เพราะความพอดีของแต่ละคนนั้นมันไม่เหมือนกัน

    แน่นอนว่าเราสามารถที่จะตั้งระบบขึ้นมาให้มนุษย์โกงได้น้อยลง เช่น พัฒนากฏหมายให้ดีขึ้น และให้มนุษย์สามารถทำอะไรที่เสี่ยงตำ เช่น การพัฒนาคุณภาพของระบบการเงินและการธนาคารของไทย แต่พอพูดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว ทุกประเทศก็พยายามที่จะทำ ไม่ใช่ประเทศที่ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างเดียว.. ดังนั้น ความคิดแบบนี้ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่

    อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าความคิดนี้มีจุดดีอย่างน้อยสองจุดด้วยกัน… หนึ่งก็คือทำให้คนหันมาสนใจการพัฒนาของประเทศมากขึ้น เพราะสามารถใส่แนวคิดทางการพัฒนาหลายๆอย่างมาได้อย่างโดนใจคนไทย สองคือเอาไว้ด่านักการเมืองชั่วๆได้ (แต่ด้านการเอาไปใช้งานจริงๆนั้น ไม่มีความน่าตื่นเต้นเลย)..

    จากคุณ : solow (Solow) - [ 8 ก.พ. 49 00:40:54 ]

    รวบรวมจาก
    กระทู้นี้ของโต๊ะสินธรครับ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×