ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #50 : ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ (กรณีการจัดรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 326
      0
      5 ม.ค. 53

    โดย พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย (อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ)
    ที่มา เวบไซต์ pub-law
    29 กันยายน 2551

    ....... ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้โดยละเอียดแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ในความเป็นจริง ประเด็นปัญหาหลักของคำวินิจฉัยคดีนี้ มิได้เป็นเรื่องของการตีความเฉพาะแต่คำว่า “ลูกจ้าง” ที่กว้างจนเกินไปอย่างที่หลายๆ คนได้วิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป เพราะประเด็นดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น หาก แต่ ปัญหาหลักที่สะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยคดีนี้ กลับเป็นตรรกะของการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักนิติวิธี (Juristic Method) โดยรวม และความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับความหมายของคำว่า “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของศาลรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างมากจนนำไปสู่ผลของคำวินิจฉัยอันแปลกประหลาด ซึ่งกลายเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย (De Facto Amendment) ทั้งนี้เนื่องจากว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการทำให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีลักษณะที่มีการบังคับใช้แบบ นามธรรม กลายเป็นบทบัญญัติที่มีการบังคับใช้แบบรูปธรรม และผูกพันให้องค์กรหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตยและองค์กรอื่นๆ ของรัฐ ต้องกระทำตามนั่นเอง ....

    ...... ในคดีของนายสมัครนี้ ปรากฎว่าทางฝ่ายผู้ถูกร้อง(นายสมัคร)ได้มีการหยิบยกเอาตัวบทกฎหมายอื่นๆ อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ที่ปรากฎอยู่ในมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญว่า มีความหมายอย่างไร ซึ่ง ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะไม่ขอเข้าไปวิเคราะห์วิจารณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวจำเป็นและเป็นประโยชน์หรือไม่ในการตีความ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะรับฟังการกล่าวอ้างถึงกฎหมายเหล่านี้เสีย แล้วกลับกล่าวอ้างเพียงแต่ตัวพจนานุกรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ลูกจ้าง” ที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยหาได้ตรวจสอบจากตัวบทกฎหมายอื่นๆ หรือแม้กระทั่งตัวบริบทแห่งรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยไม่นั้น เป็นการผิดหลักการตีความกฎหมายที่สากลประเทศเขาปฏิบัติกัน กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้ยึดพจนานุกรมเป็นสรณะในการตีความรัฐธรรมนูญนั่นเอง ....

    ....... ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเอกฉันท์ให้นายสมัคร สิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการต้องด้วยตัวบทรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ อันถือได้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า แม้นายสมัครจะมีการรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรูปของตัวเงินจริง แต่การกระทำดังกล่าว ก็หาได้เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยแท้แต่อย่างใด ....

    ......... ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลและวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาใช้ เพื่อตีความรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู่การทำคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด โดยคำวินิจฉัยนี้ หาได้เป็นคำวินิจฉัยที่ดีเพียงพอที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณี “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ต่อไปในภายภาคหน้าได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยคดีที่มิได้เป็นไปตามหลักสากล ว่าด้วยการตีความและการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แท้จริง อันส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง แทน ที่คำวินิจฉัย จะเป็นการสร้างและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นการทำลายระบบต่างๆ ในองค์รวมให้หมดไป ....

    ....... ศาลรัฐธรรมนูญอาจต้องกลับมาพิจารณาและตรึกตรอง ในคำวินิจฉัยคดีของนายสมัครว่า มีความผิดพลาดมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการของการตีความรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชน และนักวิชาการอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความที่ถูกต้อง ไม่เล่นถ้อยคำภาษาจนเกินไป และกลับมาคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริง ความสมเหตุสมผล และตระหนักถึงความรู้สึกนึกคิดของคนโดยทั่วไปแล้ว การตีความอันนำไปสู่ผลที่แปลกประหลาดก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้ง ก็จะไม่ประสบกับภาวะความไม่เชื่อถือต่อองค์กรตุลาการทั้งในระดับภายในประเทศ และในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย ถูกบั่นทอน และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งระบบในระยะยาวต่อไปอีกด้วย .....

    ( หมายเหตุ อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ ได้จาก http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=1280 )
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×