ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #29 : "ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?"คำถามจากคณิน บุญสุวรรณ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 357
      1
      5 ม.ค. 53

    ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    17 พ.ค. 2008 - 02:16:26 น.

    นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีบุคคล คณะบุคคล และองค์กรซึ่งได้ดิบได้ดีมีตำแหน่ง จากผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 รวมทั้งบรรดาประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับต่างๆ ได้รับอานิสงส์ชนิดบุญหล่นทับสืบเนื่องต่อไปเลย จำนวนหลายตำแหน่งและหลายคน ดังจะยกตัวอย่างเฉพาะที่เห็นกันจะจะ ดังต่อไปนี้

    1.มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 13 คนหนึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อีกคนหนึ่งเป็นอดีตรองอัยการสูงสุด ภายหลังเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ได้รับแต่งตั้งโดยบทเฉพาะกาลมาตรา 299 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการการเลือกตั้งต่อไปเลย จนกว่าจะครบวาระ 7 ปี ในวันที่ 19 กันยายน 2556 พร้อมกันนั้น องค์กรที่เป็นต้นสังกัดเดิมของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองคนดังกล่าว ก็ได้รับอานิสงส์จากบทเฉพาะกาลมาตรา 306 อย่างชนิดที่เรียกว่า “เต็มเปา” เลยทีเดียว โดยกำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาและพนักงานอัยการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา” และ “อัยการอาวุโส” ไปจนกว่าจะมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    2.มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน และมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งคน ที่ก่อนหน้านั้นได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ได้รับแต่งตั้งโดยบทเฉพาะกาลมาตรา 299 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไปเลย จนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 21 กันยายน 2558 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยนั้น เคยเป็นผู้พิพากษาระดับสูง ขณะที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ยังมีอีกตำแหน่งหนึ่ง คือ กรรมการ คตส. ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    3.หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งมีอยู่ 10 คน ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 และโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ก็ได้ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป พร้อมกับควบอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งคณะด้วย ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 301 ก็ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งควบอำนาจคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดัง กล่าว ทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้เป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน ด้วย นอกเหนือจากตำแหน่งกรรมการ คตส. ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนหน้านั้น เรียกว่าคนคนเดียวมีถึงห้าตำแหน่ง หรือเข้าตำรา “สวมหมวกห้าใบในเวลาเดียวกัน” ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    4.ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งมีอยู่ 3 คน และได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ นั้น ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยบทเฉพาะกาลมาตรา 299 ก็ให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ซึ่งมีอำนาจและเขี้ยวเล็บเพิ่มขึ้นมาก ต่อไปเลยจนกว่าจะครบวาระ พร้อมกันนั้นก็ให้เลือกกันเอง 1 คน เป็น “ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” เพื่อไปเป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คน ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ไม่มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญ หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญด้วย และภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เลขาธิการคนดังกล่าวก็ได้เป็น “เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นคนแรกของประเทศไทย ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    5.ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 13 และภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กกต. ต่อไปเลย จนกว่าจะครบวาระ 7 ปี ในวันที่ 19 กันยายน 2556 นั้น ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    6.มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง เดิมเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และต่อมาหลังการปฏิรูปการปกครองฯ 19 กันยายน 2549 ได้โอนมาเป็นข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนที่สอง ภายหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเวลา 9 ปีเต็ม ถามว่า ไม่รู้สึกเคอะเขินกันบ้างเลยหรือ?

    ทั้ง 6 รายการที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ผิดหลักนิติธรรมในการ บัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ การบัญญัติกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางคนบางกลุ่มโดยจำเพาะเจาะจง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พวกพ้อง หรือแก่องค์กรที่ตนสังกัด

    นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกรณีที่เข้าข่ายการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลัก นิติธรรม ซึ่งถ้าเป็นในประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะไม่อนุญาตให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้ร่างรัฐ ธรรมนูญ ไม่เฉพาะแต่นักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงบรรดาข้าราชการประจำ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คณาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา ตุลาการ และอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือถึงแม้จะอนุญาตให้ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะต้องมีการกำหนดห้ามไว้อย่างเคร่งครัดว่า ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าว (ทั้ง สสร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ดำรงตำแหน่งใดๆ ตามรัฐธรรมนูญเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี

    ที่ต้องเน้นคือ “ไม่ว่าตำแหน่งใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ” เพราะมักจะเข้าใจว่า ห้ามเฉพาะ ส.ส. กับ ส.ว. เท่านั้น ซึ่งไม่พอ ต้องห้ามกรรมการหรือตุลาการในองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วย เพราะตำแหน่งเหล่านี้ ถ้าหากบุคคลซึ่งมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแต่งตั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสก่อนหรือได้เปรียบคนอื่นที่จะเข้าไป ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องออกแรง เข้าตำรา

    “ทีใครทีมัน” แล้ว ก็เข้าข่ายเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่ทำกัน
    ดัง นั้น เมื่อมีความพยายามและเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการทางรัฐสภา แล้วเกิดเสียงคัดค้านที่ดังมาจากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญ ในลักษณะผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากบทเฉพาะกาลแล้ว เสียงคัดค้านย่อมไม่มีน้ำหนักและความชอบธรรมเพียงพอ

    ดีไม่ดี แทนที่ผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าแก้เพื่อประโยชน์ของตัว เองหรือเปล่า ก็อาจจะต้องกลับมาตั้งข้อสงสัยว่า ที่ค้านน่ะ ค้านเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเปล่า

    ถามจริงๆ เถอะ ไม่รู้สึกเคอะเขินหรือละอายใจกันบ้างหรือ?

    คณิน บุญสุวรรณ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×