ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #24 : บทสัมภาษณ์อาจาร์ยนิติศาสตร์มธ.ผู้สนับสนุนแก้มาตรา237

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 349
      0
      5 ม.ค. 53

    สัมภาษณ์ ธีระ สุธีวรางกูร: เมื่อหวัดธรรมดาถูกมาตรา 237 ถือว่าเป็นไข้หวัดนก

    หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ‘ประชาไท’ ได้รับอนุญาตจาก อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (ผู้ให้สัมภาษณ์) ให้นำมาเผยแพร่ต่อ

    โดย กล้า สมุทวนิช

    (1)
    ผม เพิ่งสัมภาษณ์ ธีระ สุธีวรางกูร เรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แบบสั้นๆ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังการสัมภาษณ์คราวนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องไปรบกวนเวลาของเขาอีก อย่างน้อยก็ในช่วงนี้


    ที่ ไหนได้ เรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 นับวันยิ่งเป็นประเด็นบานปลาย เมื่อทั้งฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ รวมถึงฝ่ายประชาชน ต่างเข้ามาร่วมวงแสดงความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างอุตลุด ในสถานการณ์อย่างนี้ มีหรือที่ผมจะทำตัวเป็นคน นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น อยู่ได้


    เมื่อตัวเขาเองนั้นก็เป็นหนึ่งในห้าของ กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกเขา นั้นยังมีบางฝ่ายได้แสดงความเห็นคัดค้าน ในสถานการณ์อย่างนี้ ผมจึงขอรบกวนเวลาเขาอีกครั้ง เพื่อขอทราบความเห็นในเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไทยอยู่ใน ปัจจุบัน


    ก่อนอื่น ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้ให้เวลาซึ่งไม่ค่อยมีมากนักมาตอบคำถามของผมอีกครั้ง

    ไม่เป็นไรครับ เพราะผมเองยังไงก็ยังไม่ถึงกับเป็นคนล้มละลายทางเวลาเสียทีเดียว

    รู้สึกยังไงบ้างครับกับความเห็นที่สนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ดูเหมือนจะบานปลายเข้าไปทุกวัน

    ผม ไม่เคยคิดว่าการมีความเห็นต่างเป็นการที่แสดงออกถึงความผิดปกติของสังคม ความจริง หากเรามองให้ไกลกว่านั้น ผมกลับเห็นว่านี่เป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูลในทุก ด้านให้สังคมรับรู้ เมื่อสังคมพิจารณาข้อมูลเหล่านี้อย่างรอบด้านแล้ว ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร และกับใคร อย่างน้อยที่สุด กระบวนการเรียนรู้ในสังคมก็ถือว่าได้เกิดขึ้นมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง

    อาจารย์ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามาตรา 237 สมควรถูกแก้ไข

    ก่อนหน้านี้ผมมีความเห็นยังไง วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างนั้น


    ถ้าดูกันในทางกฎหมาย มาตรา 237 มันมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมยังไงถึงต้องแก้ไขครับ

    มาตรา 237 มันมีอยู่สองวรรค วรรคแรกที่ไม่ค่อยมีปัญหานั้น พูดแบบทั่วไปก็คือ มันกำหนดเนื้อหาเอาว่าถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ หากการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวนั้น มันส่งผลให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือว่าโดนใบแดง ตามภาษาที่เขาใช้กัน


    ดูไปแล้ววรรคนี้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามันไม่ได้ถูกโยงให้ไปเข้ากับความในวรรคสอง

    ใช่ครับ และคงเป็นเพราะคุณเองก็เห็นปัญหาของมัน วันนี้ผมก็เลยต้องมานั่งตอบคำถามของคุณ

    (2)

    ถ้าอย่างนั้น ผมรบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายความในวรรคสองครับ

    ความ ในวรรคสองของมาตรา 237 มีอะไรที่ต้องดูอยู่หลายเรื่องทีเดียว และเรื่องอย่างนั้น มันก็เกี่ยวโยงไปถึงหลักการอีกหลายอย่าง แต่ก่อนจะเข้าไปถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ผมอยากให้คุณตั้งข้อสังเกตอะไรสักอย่าง คุณพอจะสังเกตเห็นไหม ที่เราไม่มีปัญหากับความในวรรคหนึ่ง นั่นก็เพราะเราเข้าใจดีกับสามัญสำนึกของคนที่ยอมรับว่า ผู้กระทำการใดก็ต้องรับผลในสิ่งที่ตนกระทำ



    แต่สำหรับความใน วรรคสองนั้น โดยเนื้อหาแล้ว มันถูกเขียนให้เกินเลยไปกว่าความเข้าใจแบบธรรมดาสามัญของวิญญูชน การเขียนเนื้อความแบบนี้ บางกรณีมันไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะเมื่อดูจากเทคนิคในการเขียนกฎหมายภายใต้เหตุผลพิเศษบางอย่าง แต่ไม่ว่ายังไง เรื่องนี้มันมีเหตุผลสมควรที่จะต้องบัญญัติกฎหมายอย่างนั้นหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องวิเคราะห์กัน



    ผมคิดว่าความในวรรค สองของมาตรา 237 มันมีเรื่องใหญ่ที่ควรสนใจอยู่สองเรื่อง ผมคงจำเป็นต้องใช้ภาษาที่เป็นการเป็นงานสักหน่อย แล้วจะอธิบายให้คุณฟังตอนหลัง เรื่องแรก คือการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริง และเรื่องที่สอง คือผลที่ตามมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกให้ความหมายโดยกฎหมาย แล้ว



    ผมชักจะงงนิดหน่อยแล้วล่ะครับกับเรื่องที่อาจารย์ตั้งขึ้นมาเป็นประเด็น อาจารย์ว่าต่อเลยครับ

    ผม ขอเข้าเรื่องการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริงก่อน แต่ก่อนจะคุยถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราจะเข้าใจอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าเรามีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาแบบเปรียบเทียบสักสองเรื่อง ในสองเรื่องนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ยาวสักหน่อย แต่อยากให้เข้าใจว่าเป็นเพราะผมต้องการสื่อให้คุณเห็นภาพของเรื่องแบบชัดเจน จริงๆ



    เรื่องแรก ผมขอสมมติตัวเองว่าผมเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองหนึ่ง เอาล่ะ ในระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคผมคนหนึ่งบอกผมว่า เราน่าจะออกเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างรถโดยสารเพื่อรับสมาชิกพรรคของ เราและชาวบ้านที่สนใจการเมืองซึ่งอยู่ไกล มาฟังการปราศรัยของพรรคที่จะจัดขึ้นที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ผมเชื่อว่าการทำแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ผมตอบตกลงไป ว่าแล้วผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคนนั้นก็เอาเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทไป จ้างรถได้สิบคัน รับชาวบ้านรวมกันได้ประมาณแปดสิบคน แล้วขนกันมาฟังการปราศรัยที่พรรคของผมได้จัดขึ้นที่วัดแห่งนั้น เมื่อการเลือกตั้งจบลง ผลปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วม ท้นหนึ่งแสนคะแนน และมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นไป เกือบครึ่ง



    อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคนนี้ได้ถูกร้องเรียนไปยัง กกต.ว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยเหตุที่ได้ออกเงินจ้างรถไปรับชาวบ้านมาฟัง การปราศรัย กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา พิจารณาแล้ว กกต.เห็นว่ากรณีนี้ได้มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่ได้ร้องเรียนมาจริง และเห็นว่านี่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งที่มีผลทำให้การเลือก ตั้งไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม เมื่อความออกมาอย่างนี้ กกต.จึงมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคน นั้น



    เคราะห์กรรมไม่ได้จบเท่านี้ มีคนไปร้องเรียนต่อ กกต.อีกด้วยว่าตัวผมเองในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคนนั้นด้วย กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ผมยืนยันว่าผมรับรู้ในสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคนนั้นทำ แต่ที่ไม่ห้ามเพราะผมไม่เห็นว่ามันเป็นความผิด เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น กกต. มีความเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมกระทำความผิดตาม กฎหมายเลือกตั้ง เมื่อตัวผมเองในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคได้สนับสนุนให้มีการกระทำอย่าง นั้นด้วย เรื้องนี้จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคหนึ่งประกอบกับวรรคสองที่ว่า หากผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือก ตั้ง เมื่อกรรมการบริหารของพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัดได้รู้เห็นเป็น ใจ ก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าแล้ว กกต. ก็วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผม และเสนอเรื่องตามกระบวนการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ ผมสังกัด นี่ตัวอย่างที่หนึ่ง



    ผมขอพูดต่อในเรื่องที่สอง เรื่องนี้ขอสมมติตัวเองอีกครั้งว่า ผมเป็นทั้งกรรมการบริหารพรรคและยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย คราวนี้ในระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ผมรู้อยู่ว่าพรรคการเมืองที่ผมสังกัดนั้นมีคะแนนนิยมน้อยกว่าพรรคการเมือง คู่แข่ง และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้อีกต่อไป พรรคการเมืองของผมก็คงต้องแพ้อย่างไม่เป็นท่าในสนามเลือกตั้ง



    อย่า กระนั้นเลย ด้วยเหตุที่ผมเชื่อว่าผมสามารถควบคุมข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยได้ ผมจึงได้มีหนังสือราชการลับที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดซึ่งผม คิดว่าคะแนนนิยมของพรรคการเมืองของผมนั้นมีน้อยกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้มีการเรียกประชุมนายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด เพื่อมารับนโยบายจากผมให้ไปกระจายข่าวให้ชาวบ้านรู้ว่า พรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคผมนั้นกำลังจะสร้างระบบประธานาธิบดีในประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ปฏิบัติตามคำสั่งของผมในฐานะที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชา ผลจากการนี้ เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น สุดท้ายพรรคการเมืองของผมก็สามารถเอาชนะการเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองคู่แข่ง ได้ถึงยี่สิบจังหวัดในยี่สิบแปดจังหวัดซึ่งผมคาดมาก่อนหน้านี้ว่าจะแพ้การ เลือกตั้ง



    อย่างไรก็ดี ในทำนองเดียวกันกับเรื่องแรก มีคนไปร้องเรียนกับ กกต.ว่าผมกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งกรณีการออกหนังสือราชการลับที่สุด ฉบับนั้น กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น กกต.ก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าผมนั้นได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งจริง จนทำให้การเลือกตั้งไม่ได้ดำเนินไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผม นอกจากนั้น เมื่อผมเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองและได้กระทำความผิดเสียเอง กรณีนี้จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคหนึ่งประกอบกับวรรคสองซึ่งตีความเป็นปริยายได้ว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองใดได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ก็ย่อมถือว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าแล้ว กกต.ก็เสนอเรื่องตามกระบวนการเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการ เมืองที่ผมสังกัด นี่คือตัวอย่างที่สอง



    จากทั้งสองตัวอย่างที่ได้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้ดู ผมถามว่าคุณพอจะเห็นอะไรบ้างไหม



    ถ้า ให้ผมตอบ ผมคิดว่า ไม่ว่ากรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินค่าจ้างรถให้ไปขนคนมาฟังการ ปราศรัยของพรรคที่ตนสังกัด หรือไม่ว่ากรณีเอกสารลับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ ว่าราชการจังหวัดให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในข้อเท็จจริงทั้งสองอย่างนี้ หากมีกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองได้มีส่วนรู้เห็นหรือทำมันเสียเอง พรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัดจะถูกความในวรรคสองของมาตรา 237 ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทันที

    ครับ เป็นว่าคุณเห็นในสิ่งที่ผมพยายามสื่อให้คุณดูจากสองตัวอย่างที่ผมได้ยกขึ้น คราวนี้ผมจะไปให้ไกลกว่านั้น

    (3)

    ถ้า คุณดูข้อเท็จจริงทั้งสองเรื่องแบบวิเคราะห์หน่อย ผมเชื่อว่าคุณจะเห็นได้ถึงความร้ายแรงที่แตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิด ของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กรรมการบริหารพรรคได้มีส่วนรู้เห็นในตัวอย่างแรก กับ การกระทำความผิดของตัวกรรมการบริหารพรรคเองในตัวอย่างที่สอง



    ดู ที่การจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจ้างรถให้ไปขนคนมาฟังการปราศรัย ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีการใช้เงินเพียงหนึ่งหมื่นบาท ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีคนมาฟังการปราศรัยในวัดแห่งนั้นเพียงหยิบมือหนึ่ง และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำนั้น เขาเข้าใจข้อกฎหมายโดยสุจริตว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ผิด อย่างนี้ เราจะพูดได้หรือไม่ว่าเรื่องนี้มันเป็นการทำผิดกฎหมายที่มีความร้ายแรงใน ระดับเดียวกันกับเรื่องการทำผิดกฎหมายของกรรมการบริหารพรรคซึ่งใช้อำนาจใน ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปสั่งการให้มีการทำอะไรบางอย่างตามความ ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารลับ



    พูดกันอย่างสมเหตุสมผลบนพื้นฐานของ ข้อเท็จจริง ในเรื่องการจ้างรถเพื่อขนคนมาฟังการปราศรัยนั้น เมื่อดูจากจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประกอบกับขนาดของพื้นที่ซึ่งเอาเงินนั้นไป จ่าย เราจะเห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้มีผลต่อจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งมาจาก คนทั้งประเทศของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นสังกัดอย่างมีนัย ยะสำคัญเลย ซึ่งกรณีอย่างนี้ มันมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก หากเราจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีเอกสารลับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้ใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองคู่แข่งจน ทำให้พรรคของตัวเองได้รับคะแนนเสียงแบบมีนัยยะสำคัญจนมีผลทำให้ชนะการเลือก ตั้งไปถึงยี่สิบจังหวัด



    แต่ด้วยการเขียนเนื้อความเอาไว้ใน มาตรา 237 วรรคสองแบบ “ให้ถือว่า” โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแยกแยะความร้ายแรงที่แตกต่างกันตามข้อเท็จจริงที่ ไม่เหมือนกัน ผลก็คือ ไม่ว่าการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีข้อ เท็จจริงซึ่งหนักเบาแตกต่างกันอย่างไร ขอเพียงมีกรรมการบริหารพรรคสักคนได้รู้เห็น ผมย้ำอีกครั้ง เพียงมีกรรมการบริหารพรรคสักคนได้รู้อย่างนั้น พรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัดอยู่ ก็จะถูกความในมาตรา 237 วรรคสองพิพากษาโดยอัตโนมัติทันทีว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงต้องถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด



    ผม เห็นภาพแล้วครับ ถ้าเช่นนั้น ในเรื่องการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริง ผมพูดอย่างนี้ได้ไหมครับว่า อาจารย์พยายามจะบอกว่าเนื้อความในมาตรา 237 วรรคสองนั้น มันไม่เปิดช่องให้มีการแยกแยะความร้ายแรงของการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริง ที่แตกต่างกันออกไป ขอเพียงมีกรรมการบริหารพรรคคนใดรู้เห็นหรือทำเอง แม้ความผิดนั้นอาจจะไม่ร้ายแรง เหมือนอย่างกรณีการขนคนไปฟังปราศรัย ความซวยก็จะตกอยู่กับพรรค คือทั้งถูกยุบและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

    นั่น แหละครับ คือสิ่งที่ผมต้องการจะพูด และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ ผมต้องบอกคุณด้วยว่าการเขียนกฎหมายที่มุ่งไปที่สถานะของผู้รับรู้ว่าเป็น กรรมการบริหารพรรคหรือไม่ โดยไม่มุ่งไปที่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดตามแต่ข้อเท็จจริงของรัฐ ธรรมนูญมาตรานี้ ผมเห็นว่านี่เป็นการเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมในกรณีเฉพาะเรื่อง เฉพาะราวโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ



    และเพราะรัฐธรรมนูญถูกมาเขียนแบบนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลแรกที่ผมสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง



    ถ้า ให้ผมถามแทนคนอื่น อาจารย์ไม่คิดอีกทางหรือว่าการที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 237 อย่างนี้ในเรื่องนี้ บางทีอาจเป็นเพราะเขามีเหตุผลพิเศษบางอย่าง

    เท่า ที่ผมทราบ ดูเหมือนจะยังไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากผู้ที่เกี่ยว ข้องในเรื่องนี้ แต่ไม่ว่ายังไง การจะบอกว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมเห็นว่าเราจะมุ่งไปที่การรับรู้ของกรรมการบริหารพรรคในการทำผิดกฎหมาย อย่างเดียวโดยไม่แยกแยะถึงความร้ายแรงของความผิดที่แตกต่างกันตามแต่ข้อเท็จ จริงไม่ได้ และเมื่อเนื้อความของมาตรา 237 วรรคสองมันถูกเขียนออกมาอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่านี่มันขัดกับหลักความสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นหลักการใหญ่ที่รัฐ ธรรมนูญได้รับรองไว้ในมาตรา 29 ทั้งยังเป็นการปฏิเสธหลักความยุติธรรมในกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะราวด้วย อย่างที่ผมได้บอกคุณ



    ครับ งั้นตอนนี้ ผมขอไปในเรื่องที่สองคือ ผลที่ตามมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกให้ความหมายโดยกฎหมายแล้ว รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายต่อเลยครับ

    เรื่อง นี้มันก็สืบเนื่องมาจากเรื่องที่เราพูดกันเมื่อสักครู่ คือเมื่อมีการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าการกระทำนั้นมันจะเป็นกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเป็นผู้ กระทำผิดโดยมีกรรมการบริหารพรรครู้เห็น หรือจะเป็นกรณีที่กรรมการบริหารพรรคได้กลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง เมื่อมาตรา 237 วรรคสองบัญญัติให้ถือว่าพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นสังกัดหรือพรรค ที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัด เป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดย วิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาของมันก็คือ พรรคการเมืองนั้นก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบได้ และหากว่าศาลได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นแล้ว กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดของพรรคการเมืองนั้นก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นระยะเวลาห้าปี



    อาจารย์มีความเห็นยังไงครับกับผลที่ตามมาในลักษณะอย่างนี้

    ผม ขอแยกออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกเลย สมควรไหมที่เราจะเขียนกฎหมายให้มีการยุบพรรคการเมืองได้ และเรื่องที่สองคือ เมื่อยุบพรรคการเมืองแล้ว สมควรไหมที่เราจะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิด



    ขอเรื่องแรกก่อนเลยครับ

    เรื่อง สมควรมีกฎหมายให้มีการยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าวันนี้เรายอมรับแล้วล่ะว่าพรรคการเมืองนั้นอาจถูกยุบได้ ปัญหาตอนนี้ มันจึงมีแค่ว่าเหตุของการยุบพรรคนั้นมันควรเป็นเหตุอะไร เท่านั้น



    ถ้าคุณไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คุณจะเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นสามารถถูกยุบได้หากว่าได้ใช้สิทธิเสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตาม วิถีทางของรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณจะถามว่า เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองทั้งสองเรื่องนี้เป็นเหตุสมควรไหม เรื่องนี้ ตอบได้ว่าผมไม่ขัดข้องเลยที่จะให้พรรคการเมืองที่กระทำการอย่างนั้นต้องถูก ยุบไป



    อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองทั้งสองเหตุตามที่บัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญมาตรา 68 นั้น มันใช้ถ้อยคำที่เป็นนามธรรม ในภาษากฎหมายเราเรียกว่ามันเป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง การเขียนกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำประเภทนี้มันมีผลยังไง ผลของมันก็คือว่า มันเปิดช่องให้มีการตีความถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี เพื่อดูว่ามันถึงขนาดที่สมควรจะแปลความได้ว่ามันเข้าเหตุที่จะนำไปสู่การยุบ พรรคการเมืองได้หรือไม่ ผมพูดมาถึงตอนนี้ ถ้าคุณตั้งข้อสังเกตสักหน่อย คุณจะเห็นอะไรที่มันประหลาด



    ยังไงหรือครับอาจารย์

    อย่าง ที่ผมบอกเมื่อสักครู่ว่า การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข กับ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไป ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ทั้งสองกรณีนี้ต่างใช้ถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงด้วยกันทั้งคู่



    แต่ คุณเห็นความแตกต่างของมันไหม ในกรณีของการกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความข้อเท็จจริงตามแต่ กรณีว่า มันเป็นการกระทำที่สมควรเรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม สำหรับกรณีของการกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธี การที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญนั้น ความในมาตรา 237 วรรคสองกลับเขียนปิดช่องไม่ให้ศาลมีอำนาจดุลพินิจในการตีความข้อเท็จจริง อย่างใดเลย แต่กลับเขียนบทบัญญัติบังคับศาลให้ถือเอาว่าเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด ได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งโดยมีกรรมการบริหารพรรครู้เห็นแม้สักคน หนึ่งแล้วนั่นแหละ ก็ให้ถือว่าได้มีการกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดย วิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแล้ว



    เมื่อ เป็นอย่างนี้ สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเหตุผลและคำอธิบายยังไง ถึงต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องความสามารถของศาลต่อการใช้ดุลพินิจในการตี ความเหตุแห่งการยุบพรรคทั้งสองเหตุไม่ให้มันเหมือนกัน นี่แหละคือสิ่งที่ผมเห็นว่ามันแปลก

    (4)

    อยากให้อาจารย์ต่อ เรื่องที่สองเลยครับว่าหากมียุบพรรคการเมืองแล้ว สมควรไหมที่จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิด

    โดยถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคแล้ว ศาลก็จะถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญทันทีให้ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้า พรรคการเมืองและบรรดากรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นระยะเวลาห้าปี ไม่อาจหลีกเลี่ยง



    แล้วมันยุติธรรมไหมครับกับคนที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย

    ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา ผมเห็นว่ามันไม่ยุติธรรม



    แต่มีหลายคนบอกว่าถ้าไม่ใช้ยาแรง การทุจริตการเลือกตั้งมันก็ไม่หายไปจากการเมืองไทย

    ผมเข้าใจความหวังดีของเขา แต่เรื่องนี้ มันยังมีอะไรให้ต้องคิดมากไปกว่าบทสรุปเพียงว่ายังไงก็ต้องใช้ยาแรง



    ถ้า คุณเป็นหมอรักษาคนไข้ โดยทั่วไป คุณต้องรู้ก่อนว่าคนไข้เป็นโรคอะไร โรคนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เราจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้ยาหรือไม่ ถ้าต้องรักษาทางยา มันมียาแบบไหนรักษาได้บ้าง ผลข้างเคียงของยาในแต่ละอย่างมันมีแค่ไหน และภูมิคุ้มกันหรือสภาพร่างกายของคนไข้มันรับได้ไหมกับยาที่มีผลข้างเคียง ขนาดนั้น ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทราบเพื่อจะได้รักษาคนไข้ให้หายจากโรคด้วยวิธีการ ที่เหมาะสมที่สุด



    ถ้าเราจะเปรียบเทียบว่าการทุจริตการเลือก ตั้งเป็นเหมือนกับไข้หวัด เราจำเป็นต้องแยกแยะก่อนว่าไข้หวัดนั้นมันมีทั้งไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก การทุจริตการเลือกตั้งก็ในทำนองเดียวกัน คือมันมีการทุจริตทั้งแบบธรรมดา แบบหนักขึ้นมาหน่อย และแบบร้ายแรงมาก เมื่อเป็นอย่างนี้ การรักษาโรคประเภทนี้มันก็ต้องแยกแยะวิธีการรักษาออกมาให้มันเหมาะกับสภาพ ของเรื่อง



    ผมได้ยกตัวอย่างให้คุณฟังแล้วใช่ไหมถึงการทำผิด กฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งกรณีการจ่ายเงินจ้างรถไปขนคนมาฟัง การปราศรัย การทำผิดกฎหมายแบบนี้ หรือคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดเหมือนคนเป็นไข้หวัดนก ก็เมื่อโดยสภาพนั้นมันไม่ใช่ แล้วเราจะให้ยาแรงจนถึงขนาดทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายมากเกินความจำ เป็นทำไม



    พูดให้เป็นรูปธรรม ถ้าคุณสงสัยว่าอะไรคือผลข้างเคียงแบบเกินขนาดของการรักษาโรคทุจริตการเลือก ตั้งกรณีการจ่ายเงินให้รถไปขนชาวบ้านมาฟังการปราศรัย ผมบอกได้เลยว่า แม้จะมีกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งได้รับรู้ แต่การรักษาโรคในกรณีนี้โดยใช้วิธียุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ กรรมการบริหารพรรคที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวไปกับเขาด้วยนั้นแหละที่มันเป็นวิธี การรักษาที่เกินไปกว่าสภาพของโรค มิหนำซ้ำ ยังก่อผลข้างเคียงให้เป็นการทำลายหลักนิติธรรม และหลักความสมควรแก่เหตุ ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย และด้วยผลข้างเคียงแบบนี้ หากเปรียบเทียบระบบกฎหมายของรัฐเสมือนหนึ่งว่าเป็นร่างกายของคนเรา ผลของมันก็ไม่ต่างไปจากเป็นการทำลายอวัยวะสำคัญๆของร่างกายทีเดียว



    และ ที่ประหลาดมากก็คือ เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่แยกแยะระดับความร้ายแรงของโรคแต่ละชนิดเพื่อความ เหมาะสมต่อการให้ยาในการแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง แถมยังเขียนข้อความในมาตรา 237 วรรคสองตัดอำนาจศาลไม่ให้มีดุลพินิจในการช่วยแยกแยะระดับความร้ายแรงจากโรค เหล่านั้นเพราะตัวได้วินิจฉัยให้ศาลเสร็จสรรพแล้วว่าโรคหวัดทั้งหมดในเมือง ไทยให้ถือว่าเป็นไข้หวัดนก แล้วอย่างนี้ หลักนิติธรรม หลักความสมควรแก่เหตุ และหลักความยุติธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะราว มันจะไม่ถูกทำลายจนเสียสภาพไปหมดหรือ



    และนี่แหละ คือเหตุผลอย่างที่สองที่ผมสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 237



    ที่ อาจารย์พูดมาผมก็เข้าใจ แต่ที่ต้องให้ให้องค์กรต้องรับผิดชอบร่วมกันกับการทำผิดของคนในองค์กร มันก็เป็นหลักที่มีในระบบกฎหมายไทยมาก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่หรือครับ

    ถ้า คุณจะยกตัวอย่างที่มีการพยายามเทียบเคียงกับเรื่องนายจ้างต้องรับผิดร่วมกัน กับลูกจ้างกรณีละเมิด หรือเรื่องที่กรรมการบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทต้องรับผิดร่วมกันกับบุคคลใน บริษัทเรื่องการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งสองตัวอย่างนี้ มีนักกฎหมายหลายคนแสดงความเห็นกันมากแล้วว่ามันไม่เหมือนกันทีเดียวกับการ ให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดร่วมกันกับความผิด ของคนอื่นที่ตัวเองไม่ได้ก่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างในเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้รู้เห็น เป็นใจไปด้วยกับการกระทำความผิด ผมเองคงไม่จำเป็นต้องมาพูดซ้ำ



    แต่ ผมอยากบอกอะไรสักหน่อย ไม่ว่ายังไงก็ตาม การสร้างความรับผิดร่วมกันแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้กันแบบเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง และต้องเขียนถ้อยคำอย่างระมัดระวังมากด้วย โดยคำนึงถึงการให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของเรื่องนี้ แต่หากเราจะยอมรับมันแบบไม่พินิจพิเคราะห์แล้ว ในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างนี้ ในสถานการณ์ที่สื่อมวลชนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีนักการเมืองพรางตัวอยู่มากแบบ นี้ ถ้ามีคนเห็นว่าการเสนอข่าวสารที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญต่อสิทธิในการรับรู้ ของสังคมและความมั่นคงของรัฐ แล้วหากเกิดมีใครอุตริเสนอกฎหมายให้ผู้บริหารของสื่อต้องมีความรับผิดร่วม กันกับการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวในบริษัท โดยหากมีการเสนอข่าวที่เป็นเท็จหรือข่าวที่บิดเบือนซึ่งพอจะเชื่อได้ว่าผู้ บริหารมีส่วนรู้เห็น ก็ให้ยุบบริษัทของสื่อมวลชนนั้นได้แถมห้ามไม่ให้ผู้บริหารบริษัทประกอบอาชีพ สื่อเป็นเวลาห้าปีด้วย อย่างนี้ มันก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่



    ครับ งั้นตอนนี้อยากให้อาจารย์พูดถึงเรื่องการมีส่วนได้เสียของคนที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้ยังไง

    จะให้ผมพูดในความหมายทางกฎหมายหรือทางการเมือง



    มีอย่างนี้ด้วยหรือครับ แล้วแต่อาจารย์ก็แล้วกัน

    ใน ความหมายทางการเมือง คำว่าส่วนได้เสียมันหามาตรวัดที่แน่นอนไม่ค่อยได้ เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร มันก็สามารถตีความว่ามีส่วนได้เสียกันได้ทั้งนั้น ฉะนั้น เรื่องนี้ผมจึงขอยกไว้ให้เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจของแต่ละคนที่จะตีความ



    แต่ สำหรับความหมายทางกฎหมาย ตอนนี้ได้มีการอ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องปฎิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ เรื่องนี้แม้จะมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เมื่อมันเป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เราก็จำเป็นต้องอาศัยการตีความในแต่ละข้อเท็จจริงว่ามันเป็นอย่างไร



    ถ้า คุณจะถามว่าการที่พรรคการเมืองหลายพรรคซึ่งจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ พรรคของตัวเองถูกยุบนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ส่วนตัว เรื่องนี้ ผมตอบได้ว่าเราจะมานั่งคิดเอาเองไม่ได้ แต่จำเป็นต้องดูเหตุผลจากคำอธิบายของพรรคการเมืองเหล่านั้นว่าเขาจะแก้รัฐ ธรรมนูญเพื่ออะไร วันนี้มีบางฝ่ายสรุปแล้วว่า การที่พรรคการเมืองหลายพรรคซึ่งจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้พรรคของตัว เองถูกยุบนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่งขัดต่อ รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ เมื่อดูตามข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ ผมคิดว่าในทางกฎหมายมันไม่ง่ายที่จะมีบทสรุปอย่างนั้น



    ถาม ว่าทำไม ผมเองคงจำเป็นต้องยกตัวอย่างให้คุณเห็นแบบเทียบเคียงโดยอาศัยตรรกะเดียวกัน สมมติว่าวันนี้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของ วุฒิสภาโดยขอแก้ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมดซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลานี้ พ้นจากการเป็น ส.ว. ทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องผ่านการพิจารณาและลงมติของรัฐสภาซึ่ง ส.ว.ที่มาจาการสรรหาเป็นสมาชิกอยู่ และก็เมื่อเรื่องนี้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาเขาก็มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อการที่เขาจะอยู่หรือจะไป จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย กรณีแบบนี้ โดยเหตุผลเดียวกัน หรือเราจะบอกได้ว่า ส.ว. เหล่านี้ต่างมีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงต้องถูกห้ามไม่ให้มีส่วนในการพิจารณาหรือว่าลงมติ



    ผมพูด แบบนี้ คุณอาจจะแย้งผมว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคนั้นพรรคการ เมืองเป็นผู้เสนอ แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น ส.ว.ที่มาจากการสรรหาไม่ได้เป็นผู้เสนอให้แก้ไข ดังนั้น สองเรื่องนี้จะนำมาเทียบกันไม่ได้ ถ้าคุณแย้งผมมาอย่างนี้ ผมก็ขอให้คุณไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ให้ดีว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มันมีการจำแนกแจกแจงเอาไว้หรือว่ามันหมายถึงเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการ เสนอกฎหมายเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการพิจารณากฎหมายหรือการลงมติว่าจะให้กฎหมายผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งหมดนี้ ถ้าเราไม่มีอคติในการให้เหตุผลจนเกินไป ความจริงแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งนั้น



    ฉะนั้น ในทางกฎหมาย มันจึงไม่ง่ายที่จะสรุปเอาว่าเมื่อพรรคการเมืองใดจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับเกณฑ์ในการยุบพรรคนั้น แสดงว่าบรรดา ส.ส.ของพรรคการเมืองเหล่านั้นจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือมี การขัดกันของผลประโยชน์ และนี่ถ้าเกิดว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ให้เหตุผลในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาหลักนิติธรรมและหลักความสมควรแก่เหตุซึ่งถูกรับรอง เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ แล้วเราจะว่ายังไง



    ครับ ยังไงก็แล้วแต่ ถ้ายังมีคนเห็นว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่ง ทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแล้วเสนอเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน

    นั่น เป็นสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ผมไม่มีข้อขัดข้อง และเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างเห็นว่ามันมีอยู่โดยอาศัยระบบ ก็ให้เป็นดุลพินิจของวุฒิสภาที่จะวินิจฉัย



    สรุปที่พูดมาทั้งหมด ยังไงอาจารย์ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามาตรา 237 วรรคสองมันมีปัญหาจริงๆ

    ครับ และปัญหาของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มันแก้ไขได้ทั้งโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ ให้มันสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักความสมควรแก่เหตุ รายละเอียดทั้งหมดนี้ มีอยู่แล้วในแถลงการณ์ซึ่งเพื่อนอาจารย์กับผมรวมห้าคนได้เสนอกับสังคมไปแล้ว เมื่อสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ใครที่สนใจรายละเอียดก็ลองไปหาอ่านดู



    ครับ สุดท้ายแล้ว ถ้าอาจารย์มีอะไรอยากพูดอีกบ้างก็เชิญครับ

    วันนี้ ความเห็นต่างในสังคมมีมาก ไม่เว้นแม้แต่นักกฎหมายด้วยกัน แต่นี่ผมเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ ตามธรรมชาติของมัน สำหรับการให้ความเห็นทางกฎหมายของผม ผมถือว่ามันเป็นหน้าที่ของผมซึ่งควรจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการ เรียนรู้ของสังคม แต่นี่ไม่ใช่เพราะว่าเนื่องจากผมมีสถานะเป็นคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เพราะผมเป็นคนๆ หนึ่งซึ่งหวังจะให้สังคมที่ผมอยู่ เป็นสังคมที่คุยกันได้ด้วยเหตุผลและเข้าใจความรู้สึกระหว่างกัน ผมเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย และผมเข้าใจการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายซึ่งมันไม่เหมือนกันอยู่ แต่ไม่ว่ายังไง ก็หวังว่าทุกอย่างจะเดินกันไปตามระบบและใช้ระบบเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ถ้าเราทำอย่างนี้ ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่าวุฒิภาวะของสังคมไทยจะถูกยกระดับให้สูงขึ้น

    ----------------------------------------------------------------------------
    โดย : ประชาไท วันที่ : 15/4/2551
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×