ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #152 : อะไรคือตัดสิน“ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 238
      0
      11 พ.ย. 53

    โดย ปิยะบุตร แสงกนุกกุล

    เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้พิพากษาตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” คำกล่าวนี้ ผู้พิพากษาหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง คู่ความที่ชนะคดีหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง ผู้ได้ประโยชน์จากคำพิพากษาหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับคำพิพากษา สะกดคนให้ยอมรับคำพิพากษา และอาจบานปลายไปถึงขนาดสร้างเกราะป้องกันจากการวิพากษ์วิจารณ์

    ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณี นอกจากคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” จะเสริมสร้างบารมีให้กับตัวคำพิพากษาแล้ว ยังอาจแผ่บารมีต่อไปยังตัวผู้พิพากษาทั้งในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่ตัดสินคดี และในฐานะบุคคลธรรมดาเหมือนคนทั่วไปอีกด้วย ค่านิยมทำนองนี้ อาจนำมาซึ่งสภาวะแตะต้องมิได้ของคำพิพากษาและผู้พิพากษา

    ดังที่เคยปรากฏในคำพิพากษาคดีหนึ่งที่โจทก์ฟ้องว่าผู้พิพากษาตัดสินคดีผิดพลาด แต่ศาลตัดสินว่า ผู้พิพากษาทำในนามพระปรมาภิไธย เมื่อกษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด ผู้พิพากษาจึงไม่ต้องรับผิดตามไปด้วย (ดู จรัญ โฆณานันท์, นิติปรัชญา, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๔, หน้า ๓๐๗ และ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, ปาจารยสาร, ปีที่ ๑๔, ฉบับที่ ๖, พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๓๐.)

    แล้วคำว่า “ผู้พิพากษาตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์” หมายความอย่างไร?

    สมควรทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ในระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ และให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่นั้น ยึดถือหลักการ “กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด” หรือ “The king can do no wrong”

    ที่ว่า “no wrong” นั้น หมายความว่า “The king” ไม่ทำอะไรเลยจึง “no wrong” กล่าวคือ กษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ คณะรัฐมนตรี สภา ศาล องค์กรของรัฐอื่นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ใช้อำนาจอย่างแท้จริง แต่ใช้ในนามของกษัตริย์ และเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นนั่นเองที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของตน สมดังคำกล่าวที่ว่า “กษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง”

    จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ต้องมี “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะ การใช้อำนาจอธิปไตยต้องใช้ในนามกษัตริย์ จึงต้องให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในการกระทำต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจอธิปไตย แต่เมื่อกษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย จึงต้องให้องค์กรหรือบุคคลที่ใช้อำนาจในเรื่องนั้นจริงๆ เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบแทน ด้วยการกำหนดให้องค์กรหรือบุคคลนั้นเข้ามาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

    กล่าวให้ชัดขึ้น คือ “การลงพระปรมาภิไธย” ในการกระทำใด ก็เพื่อบอกว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในนามของกษัตริย์ และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำนั้นกระทำโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการในนามของกษัตริย์ และรับผิดชอบโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการ

    การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้บังคับก็ดี การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็ดี การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือนและทหารก็ดี ล้วนแล้วแต่กระทำโดยองค์กรของรัฐผู้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

    อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาหรือการตัดสินคดีของบรรดาผู้พิพากษาหรือตุลาการ กลับไม่มี “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เหมือนกับการกระทำของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา ตรงกันข้าม กลับปรากฏคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” บนหัวคำพิพากษาแทน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

    ความแตกต่างเช่นนี้ ส่งผลให้ “พลัง” ของคำพิพากษา วิเศษกว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาหรือไม่?

    ความข้อนี้ มีเหตุมาจาก การพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ค่าเฉลี่ยมีมากกว่าการตราพระราชบัญญัติหรือแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง จำนวนคดีที่อยู่ในกระบวนพิจารณาก็มาก หากต้องมีกระบวนการ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างคำพิพากษา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ “ทรงลงพระปรมาภิไธย” ให้มีผลใช้บังคับ โดยมีองค์คณะผู้พิพากษาเป็น “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” เหมือนกระบวนการตราพระราชบัญญัติ ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพิพากษาคดี จนทำให้การตัดสินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า จึงจำเป็นต้องสร้างรูปแบบ (Form) ในคำพิพากษา ให้ผู้พิพากษา “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” โดยไม่ต้องมีการทูลเกล้าฯ

    นี่เป็นเหตุให้ไม่มีพระปรมาภิไธยในคำพิพากษาทุกฉบับ แต่มีคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” แทน

    การตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” จึงไม่ได้หมายความว่า องค์กรตุลาการมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่าองค์กรอื่น จนทำให้การกระทำขององค์กรตุลาการมี “บุญญาบารมี” เหนือกว่าการกระทำขององค์กรของรัฐอื่น หรือทำให้เกียรติยศเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษาเหนือกว่าองค์กรอื่น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ในราชอาณาจักร ไม่ว่ารัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรี ก็ล้วนแล้วแต่กระทำการในนามกษัตริย์เหมือนๆกับศาล

    คำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นองค์เดียวที่กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จึงไม่ถูกต้อง

    รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๓ ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” เป็นเพียงการสร้างรูปแบบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับหลัก “ความเป็นราชอาณาจักร” (กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐต้องเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน) และหลัก “ประชาธิปไตย” (กษัตริย์ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตนเอง แต่เป็นองค์กรอื่นที่ใช้แทนในนามของกษัตริย์) เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาลในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการ อันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ได้ใช้อำนาจโดยตรงด้วยตนเอง และกระทำทำในนามกษัตริย์ ดุจเดียวกันกับองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรืออำนาจบริหาร

    อาจเห็นแย้งกันว่า การตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ทำให้คำพิพากษามีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สุด ความข้อนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” แต่อย่างใด เพราะ องค์กรตุลาการในนิติรัฐ มีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ คำพิพากษาขององค์กรตุลาการต้องเป็นที่ยุติ (res judicata) ดังนั้น ไม่ว่าศาลในประเทศที่มีกษัตริย์หรือไม่มี อย่างไรเสีย คำพิพากษาก็มีค่าบังคับ (autorité de la chose jugée) และเป็นที่ยุติ (res judicata) อยู่แล้ว

    หากจะกล่าวอ้างว่า ในราชอาณาจักที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์เป็นผู้เดียวที่มอบความยุติธรรมให้แก่ราษฎร เมื่อราชอาณาจักรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจมอบความยุติธรรม อีกนัยหนึ่ง คืออำนาจตุลาการ ก็ได้ถ่ายทอดมายังศาลแทน เหตุผลเช่นนี้ นับว่าประหลาด ก็ในเมื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจทุกประการที่กษัตริย์เป็นผู้ใช้เองโดยตรง ก็ถ่ายทอดมายังองค์กรของรัฐอื่นๆให้เป็นผู้ใช้แทนเหมือนกันหมด ยิ่งพิจารณาจากราชอาณาจักรประชาธิปไตยอื่น เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สเปน ไม่ปรากฏว่าการตัดสินในพระปรมาภิไธยจะส่งผลให้องค์กรตุลาการมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากขึ้นแต่อย่างใด

    สมควรกล่าวด้วยว่า ประเทศอื่นๆที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นราชอาณาจักร เมื่อองค์กรตุลาการตัดสินคดีในนามของกษัตริย์ (In the name of King) ก็ไม่ได้มีความพิเศษไปกว่า องค์กรตุลาการในสาธารณรัฐที่ตัดสินในนามของประชาชน (In the name of People) ในสหราชอาณาจักร บุคคลทั่วไปย่อมวิจารณ์คำพิพากษาหรือตัวผู้พิพากษาอย่างสุจริตใจโดยมิต้องเกรงกลัวต่อภัยใดได้เช่นเดียวกันกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส เช่นกัน ผู้พิพากษาในสหราชอาณาจักรไม่ได้มีบุญญาบารมีมากไปกว่าองค์กรอื่นเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ไม่มีสถานะสูงส่งกว่าองค์กรอื่น

    อาจกล่าวได้ว่า ศาลจะตัดสินในนามกษัตริย์อย่างราชอาณาจักร หรือในนามประชาชนอย่างสาธารณรัฐ เอาเข้าจริง ก็เป็นเพียงรูปแบบของรัฐเท่านั้น หาได้แตกต่างในเนื้อหาไม่

    กล่าวให้ถึงที่สุด การกำหนดให้ผู้พิพากษาตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ไม่มีอะไรมากไปกว่า เป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงขององค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการให้สัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ซึ่งราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตย กำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามเท่านั้น ทำนองเดียวกันกับการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เข้ากับพระมหากษัตริย์ โดยผ่านเทคนิคการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ

    โดยธรรมชาติขององค์กรตุลาการเป็นองค์กรปิด ไม่มีฐานที่มาจากการเลือกตั้ง กลไกการตรวจสอบจากภายนอกมีจำกัด ทั้งนี้เพื่อประกันความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ เมื่อการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยช่องทางวิจารณ์คำพิพากษาว่าการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาสมเหตุสมผลหรือไม่ อยู่ในกรอบของอำนาจของตนหรือไม่ และเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

    หากองค์กรตุลาการอ้างว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” เพื่อปิดช่องทางการวิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษา ย่อมสุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบได้

    เมื่ออ่านบทความนี้จนจบแล้ว หากยังยืนยันว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” ทำให้ศาลมีความคุ้มกันในระดับใกล้เคียงอย่างยิ่งกับความคุ้มกันที่สถาบันกษัตริย์มี

    ก็คงไม่มีอะไรจะอธิบายอีก นอกจากบอกว่า นั่นไม่ใช่ศาลในระบอบประชาธิปไตย แต่อาจเป็นศาลในระบอบประชาธิปไตย “แบบไทยๆ”


    ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 255
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×