ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #151 : ศาลยุติธรรม:ยุติอย่างเป็นธรรมหรือยุติความเป็นธรรม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 487
      0
      11 พ.ย. 53

     โดย ประเวศ ประภานุกูล

    ตอนที่ 1 ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย

    ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องความยุติธรรม ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงแห่งกระบวนการยุติธรรม ตัวตนที่มี 2 มาตรฐาน เมื่อกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงศาลไม่พ้น ศาลซึ่งเป็นส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรม ในอดีตการโจมตีกระบวนการยุติธรรมได้ยกเว้นศาลไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นที่ยอมรับในความเป็นกลาง ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัจจุบันส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

    บทความนี้มุ่งแสดงถึงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุแห่งความเป็น 2 มาตรฐาน ของศาล

    การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องทำความรู้จักเข้าใจถึงสิ่งนั้นก่อน และการทำความเข้าใจก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาก่อนเป็นอันดับแรก ในตอนแรกนี้จึงจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาลไทย ศาลยุติธรรม

    จากนั้นจะกล่าวถึงโครงสร้างผู้พิพากษา และเปรียบเทียบกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาในท้ายที่สุด

    ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า รัฐไทย ก่อกำเนิดขึ้นในสมัย ร.5 แห่งยุครัตนโกสินทร์ ศาลไทย ตลอดจนระบบกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ในสมัยนั้นรัฐไทย ตกอยู่ภายใต้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่มหาอำนาจตะวันตก โดยไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา-มหามิตรในปัจจุบันนี้ หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น-ประเทศในเอเชีย ก็ได้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐไทยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย ร.4 ที่มุ่งรักษาอาณาจักรให้พ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก จึงได้ยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบเช่นนี้ การจะแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญานี้จึงต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาล ให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติก่อน ซึ่งได้เริ่มต้นและเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.5 นี้เอง

    สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ สนธิสัญญาที่ระบุให้คนของชาตินั้นไม่ต้องขึ้นศาลไทยเมื่อกระทำผิดในไทย แต่ให้ขึ้นศาลของประเทศตนแทน

    ในเบื้องต้น ร.5 ได้ส่งเจ้าชายพระองค์หนึ่งไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อจบการศึกษากลับมา พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งศาลขึ้น โดยใช้ระบบกล่าวหาเช่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศอังกฤษตามที่พระองค์ทรงศึกษามา พร้อมทั้งร่างกฎหมายต่างๆ กฎหมายที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายลักษณะอาญา(ภายหลังถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาจนทุกวันนี้) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีแพ่ง) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(วิธีดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีอาญา ตลอดจนการสอบสวน การควบคุมผู้ต้องหา การออกหมายจับ กล่าวโดยสรุป เป็นวิธีดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจจนจบคดีที่ศาลฎีกา)

    ในส่วนระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความนี้ อาจารย์ผมบางท่านเคยวิเคราะห์ว่า เป็นกฎหมายของระบบไต่สวน ซึ่งต้องให้อำนาจแก่ศาลในฐานะผู้ไต่สวนค้นหาความจริง แต่โดยที่บ้านเราใช้ระบบกล่าวหาซึ่งศาลต้องวางตัวเป็นกลาง ให้คู่ความ 2 ฝ่ายต่อสู้คดีกันด้วยพยานหลักฐานให้ศาลตัดสิน ทำให้กฎหมายให้อำนาจศาลมากเกินควร
    นอกจากระบบกฎหมายที่ขัดแย้งกับระบบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้คือ ข้อหา ละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล-เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดอำนาจศาล-เป็นกฎหมายของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยแท้ กล่าวคือ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดทั้ง 3 อำนาจ ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การตั้งศาลเป็นเพียงการแบ่งงานของกษัตริย์ในการตัดสินคดี ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นทำงานแทนเท่านั้น ศาลในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นองค์กรหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานให้แก่กษัตริย์ ทำงานแทนกษัตริย์ ศาลจึงมีสภาพเป็นตัวแทนกษัตริย์ กษัตริย์ที่ใครผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ศาลจึงต้องทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และต้องมีบทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาลรวมถึงห้ามดูหมิ่นศาล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

    พร้อมกับการก่อตั้งศาลและระบบกฎหมายดังกล่าว พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย ขึ้นในศาล เปิดสอนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายป้อนให้เป็นผู้พิพากษาของศาล(ในทางกฎหมาย ได้อธิบายว่า ผู้พิพากษา ไม่ใช่ศาล แต่โดยที่ศาลเป็นองค์กรที่ทำงานโดยผู้พิพากษา ผู้พิพากษากับศาลจึงแยกจากกันไม่ออก) การสอนกฎหมายบรรยายโดยผู้พิพากษาทั้งหมด

    การปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ

    เมื่อ อ.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(ปี 2495 จอมพล ป.ได้เปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์โดยตัดคำว่า “วิชา” และคำว่า "และการเมือง" ออก) เมื่อปี 2477 การสอนกฎหมายได้ย้ายมาที่ธรรมศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายของศาลจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เนติบัณฑิตยสภา" พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาว่า ต้องผ่านการอบรมกฎหมาย ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา(นอกเหนือจากการจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัย) ซึ่งเรียกกันว่า "จบเนติบัณฑิต" อันเป็นระบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การอบรมกฎหมายของเนติ ใช้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาที่เกษียณ เป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่สำคัญหลักสูตรกฎหมายของเนติใช้แนวทางการตีความกฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา(เรียกสั้นๆว่า ฎีกา)

    ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา นอกจากต้องจบเนติ(อ่านว่า "เน" หรือ "เน-ติ" ก็ได้ แต่ทั่วไปจะอ่านว่า "เน")แล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่นอีก คือ

    1. มีอายุ 25 ปีขึ้นไป

    2. มีประสบการทำงานอย่างน้อย 2 ปี ในอาชีพที่กำหนด เช่น ทนายความ อัยการ นิติกร สำหรับอาชีพทนายความ นอกจากมีอายุงาน 2 ปีแล้ว ยังได้กำหนดให้ต้องว่าความอย่างน้อย 20 คดี(เพื่อป้องกันการทำใบอนุญาตทนายความโดยไม่ได้ทำงานจริง-ส่วนนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่จะกล่าวต่อไป)

    มีข้อสังเกตอีกอย่าง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นพนักงานอัยการ เป็นคุณสมบัติเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครสอบผู้พิพากษา

    จากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิสมัครสอบ ไม่จำเป็นต้องมาจากทนายความ หรืออัยการ เฉกเช่นประเทศต้นตำรับศาลที่รับมา

    เมื่อสอบผ่านแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็น "ผู้ช่วยผู้พิพากษา" และต้องเข้าอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การอบรมภาคทฤษฎีนี้ ไม่เคยมีการเปิดเผยกับคนนอกว่ามีการอบรมอะไรบ้าง แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการสอน "วิชาเขียนคำพิพากษา"ด้วย ส่วนการอบรมภาคปฏิบัติ จะส่งผู้ช่วยผู้พิพากษาไปฝึกงานกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลใหญ่ในกรุงเทพ คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี

    หลังผ่านการอบรมทั้ง 2 ภาคดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิพากษา จนกว่าจะได้รับการ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้ง" ก่อน เมื่อได้รับโปรดเกล้าแล้ว จะถูกส่งไปเป็นผู้พิพากษาศาลเล็ก คือศาลแขวง และต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้พิพากษาจากเมืองที่ห่างไกลกรุงเทพฯ เมื่ออายุงานเพิ่มขึ้นก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง โดยไปประจำศาลที่ใหญ่ขึ้นอย่างศาลจังหวัด และค่อยๆขยับย้ายเข้าใกล้กรุงเทพฯมากขึ้น

    กล่าวโดยสรุป ผู้พิพากษาก็มีการเลื่อนตำแหน่งไม่ต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป

    การจัดสอบคัดเลือกผู้พิพากษา การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา ตลอดจนการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อ คณะกรรมการตุลาการ หรือที่เรียกย่อว่า กต. กต.ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่ยังดำรงตำแหน่งทั้งหมด ส่วนใหญ่ของ กต. เป็นกต.โดยตำแหน่ง มีกต.บางส่วนที่เป็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา และประธานศาลฎีกาเป็นประธานกต.โดยตำแหน่ง

    จากประวัติความเป็นมาของศาลและโครงสร้างของผู้พิพากษาดังกล่าว ศาลไทยเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช สัญลักษณ์ตลอดจนรูปแบบพิธีการของศาลและผู้พิพากษายังคงเดิมเฉกเช่นเมื่อเริ่มตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ"กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" การ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้งผู้พิพากษา" หรือแม้แต่บทบัญญัติว่าด้วยการ ดูหมิ่นศาล อีกทั้งโครงสร้างของผู้พิพากษาก็เป็นโครงสร้างของข้าราชการประจำ ไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงถึงประชาชน หรือชี้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจนี้เลย ประชาชนไม่มี และไม่เคยมี ส่วนร่วมในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้พิพากษา การสอบคัดเลือกผู้พิพากษาไม่แตกต่างอะไรกับการสอบเข้ารับราชการของข้าราชการพลเรือนอื่นๆเลย

    ที่สำคัญ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา ระบบการสอบคัดเลือก ระบบการเลื่อนตำแหน่ง ล้วนแต่สร้างให้เกิดเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูงหรือระดับบริหาร สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้ รวมทั้งสร้างทัศนคติร่วมของผู้พิพากษาของศาลทั้งระบบ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป


    ตอนที่ 2 โครงสร้างผู้พิพากษา : อิสระ?

    อย่างที่กล่าวแล้ว คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบผู้พิพากษาต้องจบเนติ การที่หลักสูตรเนติใช้แนวฎีกาในการตีความกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการยัดเยียดความคิด? ปิดกั้นความคิดของนักศึกษาเนติไม่ให้มีความเห็นต่างจากผู้พิพากษา?

    ในส่วนการสอบคัดเลือกเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ไม่ได้ใช้ธงคำตอบเช่นเดียวกับเนติ?

    คุณสมบัติอื่นขอผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ คือ นิติกร กลุ่มอาชีพนี้ที่สอบคัดเลือกผ่านมากที่สุด คือ นิติกรของกรมบังคับคดี(เคยได้ยินมาเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันไม่ทราบ) สำหรับกลุ่มทนายความ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นถึงการเก็บคดี

    การเก็บคดีก็คือ หลังจบปริญญาตรีกฎหมายแล้วก็ลงทะเบียนเรียนเนติ พร้อมกับสมัครสอบใบอนุญาตทนายความ ซึ่งอาจทำหลายอย่างพร้อมกันหรือทีละอย่างก็ได้ แต่เมื่อจบเนติและมีใบอนุญาตทนายความแล้ว ก็ต้องรอเวลา 2 ปี ระหว่างนี้ก็ไปที่ศาล โดยเฉพาะศาลแขวงในกรุงเทพฯในตอนเช้าวันจันทร์ที่มีคดีนัดครั้งแรกจำนวนมาก หรือศาลแพ่งในแผนกคดีตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อขอให้แต่งเข้าเป็นทนายร่วมในคดีฝ่ายเดียว (คดีที่จำเลยไม่มาศาล หรือคดีตั้งผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน=คดีฝ่ายเดียว) และให้ผู้พิพากษาเซ็นต์รับรองการว่าความ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบ

    การเก็บคดีเป็นวิธีการให้ได้เอกสารรับรองการผ่านงานโดยไม่ได้ทำงานจริง ซึ่งผู้พิพากษาที่เซ็นต์ให้ต่างก็รู้ทุกคน แต่ก็เซ็นต์ให้เป็นส่วนใหญ่ (มีน้อยมากที่จะปฏิเสธ ผมเคยได้ยินเจ้าหน้าที่หน้าบังลังก์ของศาลบางคนพูดว่าท่านนั้นๆไม่เซ็นต์ให้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยเห็นกับตา แต่ที่เห็นก็เซ็นต์ให้ทุกที)

    การคัดเลือกคนที่ใช้การสอบ 2 ครั้ง เนติ กับสอบผู้ช่วย เป็นระบบการกลั่นกรองคนที่ทำให้ได้คนที่ยึดถือการตีความกฎหมายตามแนวฎีกา

    เมื่อสอบได้ การอบรมโดยเฉพาะการสอนวิชา "เขียนคำพิพากษา" การฝึกงานภาคปฏิบัติที่มีผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง เป็นการสืบทอดจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่นหรือไม่? การที่คำพิพากษาของศาลเป็นแนวทางเดียวกันหมด-ไม่ใช่ในแง่รูปแบบที่กฎหมายกำหนดโครงร่างคราวๆว่าต้องมีข้อความใดบ้าง อันจัดเป็นแบบฟอร์ม-หากแต่เป็นลีลา สำนวนวิธีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และลีลา สำนวนการให้เหตุผล เนื้อหาแห่งเหตุผลในคำพิพากษาอันเป็นจิตวิญญาณของคำพิพากษา ได้เป็นแบบเดียวหรือเดินในแนวทางเดียวกันตลอดมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน

    ระบบเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสืบทอดจิตวิญญาณของผู้พิพากษาหรือไม่?

    การเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษา แม้จะบอกว่า ใช้ระบบอาวุโส แต่โดยธรรมชาติของระบบราชการ ยิ่งขึ้นสูงก็ยิ่งมีตำแหน่งน้อย ขณะที่คนที่มีอาวุโสถึงเกณฑ์ได้เลื่อนตำแหน่ง มีมากกว่าจำนวนตำแหน่งที่รองรับได้ จึงต้องมีการคัดเลือกเฉพาะบางคนให้เลื่อนตำแหน่ง เช่นนี้จะใช้เกณฑ์อะไรพิจารณา หากใช้ผลงาน แล้วจะวัดผลงานกันอย่างไร การดำเนินกระบวนพิจารณา? การทำคดีเสร็จเร็ว? การไม่มีหรือมีคดีค้างการพิจารณาน้อย? การเขียนคำพิพากษาได้ดี? หรือจะใช้หลักเกณฑ์ด้านลบ การมีข้อผิดพลาดน้อย? หากใช้เกณฑ์เหล่านี้มาเป็นตัววัดผลงานของผู้พิพากษา จะไม่เป็นการกดดันให้ผู้พิพากษาสร้างผลงานได้ตามกำหนด? หากใช้หลักเกณฑ์ต่างๆเช่นนี้ จะไม่เป็นการแทรกแซงการทำงานผู้พิพากษา?

    เมื่อดูประกอบกับระบบการสอบเนติและสอบคัดเลือก จึงมีคำถามว่า คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้พิพากษาที่อยู่ใน กต.จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งจนถึงผู้บริหารระดับสูงของศาล?

    เช่นนี้การมีระบบการเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษา ไม่ทำให้ผู้พิพากษา-โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่หวังจะได้เลื่อนตำแหน่ง-ศูนย์เสียความเป็นอิสระ?

    เมื่อการเลื่อนตำแหน่งถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาไม่กี่คนใน กต. มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ผู้พิพากษาที่เป็น กต.ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้

    การเรียนการสอนย่อมเกิดความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ การที่อาจารย์เนติเป็นผู้พิพากษา ย่อมมีความสัมพันธ์นี้เช่นกัน การจัดอบรมและการฝึกงานภาคปฏิบัติ ก็ย่อมเกิดความสัมพันธ์ฉันท์ลูกศิษย์-อาจารย์เช่นกัน ขณะที่ผู้พิพากษาใหม่-โดยเฉพาะผู้พิพากษาใหม่ที่มาจากทนายความที่ "เก็บคดี" และมาจากนิติกร-ยังไม่สามารถรับผิดชอบงานได้เต็มที่ ต้องมีผู้พิพากษาอาวุโสโดยเฉพาะหัวหน้าศาล เป็นพี่เลี้ยงต่ออีกระยะ ระบบเช่นนี้ย่อมง่ายต่อการเกิดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้พิพากษาระดับล่าง กับผู้พิพากษาระดับสูง ที่เคยเป็นอาจารย์เนติ เคยเป็นอาจารย์ในการอบรมภาคทฤษฎี เคยเป็นอาจารย์ในการอบรมภาคปฏิบัติ เคยเป็นหัวหน้าศาลที่เป็นพี่เลี้ยง
    เมื่อประกอบกับการเลื่อนตำแหน่ง ย่อมเกิดคำถามว่าระบบเช่นนี้ไม่กลายเป็นการสร้างสายใยเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูง(โดยเฉพาะที่อยู่ในกต.)สามารถครอบงำผู้พิพากษาระดับล่างหรอกหรือ?

    หาก กต.คัดสรรแต่ผู้มีความเห็นเดียวกันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของศาล ประกอบกับระบบการสอบเนติ และสอบคัดเลือก ที่เน้นฎีกา และการฝึกอบรม จนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าศาลกับลูกศาล ไม่เป็นการสร้างจิตวิญญาณของศาล? จิตวิญญาณร่วมกันที่ศาลมีทัศนะคติเดียวกัน? ศาลสามารถปลดแอกตัวเองจากการเป็นข้าราชการในการตรวจสอบหน่วยราชการ หรือข้าราชการอื่น ตลอดจนข้าราชการการเมืองหรือไม่?
    การที่มีผู้พิพากษามาจากทนายความที่เก็บคดี เป็นการได้คนที่ไม่เคยผ่านงานมาก่อนหรือไม่? คนที่อยู่แต่กับคำพิพากษาฎีกา อยู่แต่ในห้องเรียนออกจากห้องเรียนก็มามีตำแหน่งเป็นถึง ผู้พิพากษา คนเช่นนี้ง่ายต่อการปลูกฝังแนวความคิดหรือไม่?

    หาก กต.คัดสรรแต่ผู้มีความเห็นเดียวกันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของศาล ไม่เป็นการสร้างเครือข่ายสายใยที่ผู้พิพากษาระดับบริหารสามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาระดับล่าง?

    สิ่งที่ระบบสร้างขึ้นดังกล่าว เมื่อรวมกับรูปแบบพิธีการตลอดจนสัญลักษณ์ที่ตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ได้ทำให้ศาลกลายเป็นหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป หากแต่เป็นหน่วยราชการที่มีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตย 1 ใน 3 อำนาจตุลาการ

    หน่วยราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยราชการหรือข้าราชการอื่น หรือแม้แต่ข้าราชการการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรี

    หน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง กับประชาชน

    หน่วยงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ประชาชน เฉกเช่นอำนาจอธิปไตยอื่น

    สิ่งที่ต้องถามหาคำตอบจากศาลในระบบเช่นนี้ คงไม่ใช่เพียงความเป็นอิสระ หากแต่ต้องรวมถึงทัศนะคติด้วย หากประชาชนมีคดีความกับข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะได้รับการพิจารณาคดีจากศาลอย่างเป็นกลาง?

    ยิ่งกว่านั้น แม้จะเป็นคดีความระหว่างประชาชนด้วยกันเอง แต่หากคู่ความฝ่ายหนึ่งรู้จักกับผู้พิพากษาระดับบริหารบางคน คดีนั้นจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นกลาง อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม จากศาล?


    ตอนที่ 3 บทสรุปโครงสร้างผู้พิพากษา

    อย่างที่กล่าวแล้ว ระบบของศาลได้สร้างเครือข่ายที่ทำให้ผู้พิพากษาระดับสูงมีสายใยต่อผู้พิพากษาระดับล่างสายใยเหล่านี้ไม่เพียงผู้พิพากษาที่ยังทำงานอยู่ ผู้พิพากษาที่เกษียรแล้วก็ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้อบรมเคยเป็นอาจารย์ฝึกงานภาคปฏิบัติ เคยเป็นหัวหน้าศาล nเคยเป็นผู้พิพากษาระดับบริหารของผู้พิพากษาที่ยังปฏิบัติงานอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สายใยที่ยังส่งต่อถึงผู้พิพากษา? หากผู้พิพากษาที่เกษียณแล้วไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทหรือเปิดสำนักงานทนายความคดีความของบริษัทที่มีอดีตผู้พิพากษาเป็นที่ปรึกษาหรือที่จ้างสำนักงานทนายความของอดีตผู้พิพากษาคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะเชื่อมั่นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลได้?

    หากอดีตผู้พิพากษาที่เกษียณเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายของเนติบัณฑยสภาเป็นอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องมีผลงานทางวิชาการมากมายบุคคลเช่นนี้ย่อมมีสายใยมากถึงขั้นเป็น "บารมี"หากรับเป็นที่ปรึกษาของผู้ประกอบการธุรกิจการค้าที่มีคดีความขึ้นสู่ศาลเป็นประจำจะมีผลต่อคดีที่บริษัทนั้นมีอยู่หรือไม่?

    กรณีที่เป็นรูปธรรมนาย ป.ซึ่งคนรุ่นผมรุ่นอายุ 50 ปี ลงมาและเคยเรียนเนติน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เขาเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เกษียรแล้วปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัทที่ประกอบการค้าแห่งหนึ่งรวมถึงธนาคาร ก. ซึ่งมีคดีความในศาลเป็นปกติตามสภาพการประกอบธุรกิจการค้า(ประชาไทพิจารณาใช้ชื่อย่อบุคคลเนื่องจากปัญหาทางกฎหมาย)

    ได้ยินมาว่าปัจจุบัน นายป.ยังคงเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายเนติอยู่คำถามคือ

    มีผู้พิพากษาที่ยังปฏิบัติงานอยู่กี่คนเคยเป็นนักศึกษาเนติที่ฟังการบรรยายของนาย ป.

    มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นลูกศิษย์อบรมภาคทฤษฎีของนาย ป.

    มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นลูกศิษย์การฝึกงานของนาย ป.

    มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นผู้พิพากษาภายใต้การบริหารงานของนาย ป.

    เช่นนี้การที่ธนาคาร ก. มีนาย ป. เป็นที่ปรึกษาไม่มีผลต่อคดีความในศาลที่มีธนาคารก. เกี่ยวข้องหรือเป็นคู่ความ???

    สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่ 1 คงพอเห็นภาพได้ว่าศาลไทยมีความเป็นอิสระจริงหรือไม่เป็นกลางจริงหรือไม่ไม่สามารถแทรกแซงจริงหรือไม่

    แน่นอนว่าไม่มีระบบที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้มีแต่ระบบที่ดีพอดีพอในระยะเวลาหนึ่ง เท่านั้นแต่คำถามคือระบบนี้ดีพอในระยะเวลานี้หรือไม่

    ปัญหาของระบบนี้อยู่ตรงไหน

    กล่าวโดยสรุปปัญหาของระบบนี้มาจากกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นผู้พิพากษาและการเลื่อนตำแหน่ง

    กระบวนการคัดเลือกคนที่ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้วระบบที่คัดคนที่มีความเห็นต่างออกไป

    ที่สำคัญคือการเลื่อนตำแหน่งตราบใดที่มีการเลื่อนตำแหน่งก็ย่อมมีคนปราถนาตำแหน่งสูงขึ้นมีคนที่มีอำนาจตัดสินให้ใครได้เลื่อนตำแหน่งไม่มีทางทำให้ทุกคนที่อาวุโสถึงได้เลื่อนตำแหน่งครบทุกคนไม่มีทางสร้างระบบการเลื่อนตำแหน่งที่ "ไม่ต้องมีคนตัดสินใจ"

    ถึงเวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้พิพากษาหรือยัง

    ถึงเวลาหรือยังที่ต้องยกเลิกการเลื่อนตำแหน่ง

    ถึงเวลาหรือยังที่การเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาต้องเชื่อมโยงกับประชาชนและให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระโดยไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง

    ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการถ่วงดุลผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยการนำระบบลูกขุนมาใช้

    ถึงเวลาหรือยังที่ศาลต้องเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยการนำระบบลูกขุนมาใช้


    ตอนที่ 4 ระบบลูกขุนไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทย?

    ระบบลูกขุนคืออะไร

    ระบบกฎหมายที่ใช้ในโลกนี้ทั้งหมดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ คอมมอนลอว์ หรือกฎหมายจารีตประเพณี หรือกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กับ กฎหมายลายลักษณ์อักษร

    ประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตที่สำคัญคือ อังกฤษ อเมริกา ปัจจุบันนี้ได้ยินว่า ญี่ปุ่น ซึ่งใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับบ้านเราก็ใช้ระบบลูกขุนด้วยแล้ว

    อเมริกาปกครองแบบสหรัฐ หมายถึง รัฐ หลายๆ รัฐมารวมกันเกิดเป็นรัฐใหม่ อเมริกาจึงเหมือนมี 2 รัฐอยู่ภายในรัฐเดียวกัน รัฐสภาจึงประกอบด้วย 2 สภา สภาผู้แทนเลือกตั้งผู้แทนตามจำนวนประชาชน สภาซีเนท หรือที่บ้านเราเรียกวุฒิสภา เป็นผู้แทนของแต่ละมลรัฐ สภาซีเนทของอเมริกาจึงมีอำนาจสูงกว่าสภาผู้แทน ในส่วนของศาลก็มี 2 ศาล คือ ศาลของสหรัฐกับศาลของมลรัฐ แม้จะมี 2 ศาลแต่ถือว่าเป็นระบบศาลเดี่ยว การมีศาล 2 แบบเป็นเพียงการแบ่งหน้าที่เท่านั้น ศาลฎีกาของสหรัฐเป็นผู้ตัดสินว่า การกระทำ หรือกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

    ผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐมาจากประธานาธิบดีเสนอชื่อให้สภาซีเนทพิจารณา ถ้าซีเนทรับรองก็ผ่าน แต่ถ้าไม่รับรองก็ตกไป ประธานาธิบดีต้องเสนอชื่อคนใหม่และคนที่ประธานาธิบดีเสนอก็มักจะเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น อาจารย์กฎหมายของมหาวิทยาลัย คนที่ได้รับคัดเลือกอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ถือได้ว่าผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

    ส่วนศาลของมลรัฐเท่าที่ทราบมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในมลรัฐนั้นๆและอยู่ในตำแหน่งตามวาะ แต่ไม่นานมานี้มีคนบอกว่าอเมริกาได้เปลี่ยนระบบเป็นให้ลงมติรับรองหรือไม่รับรอง

    หากเปลี่ยนจากการเลือกตั้งมาเป็นลงมติรับรองหรือไม่รับรองจริงก็หมายความว่าจะต้องมีระบบคัดกรองคนเพื่อเสนอชื่อให้ประชาชนลงมติ

    ไม่ว่าอย่างไรก็ยังถือได้ว่า ที่มาของผู้พิพากษาในอเมริกามีส่วนเชือมโยงกับประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดสรรบุคคลมาใช้อำนาจสูงสุด 1 ใน 3 อำนาจตุลาการ

    ส่วนลูกขุนในอเมริกามาจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยจะจัดทำบัญชีรายชื่อลุกขุนจากผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็จะนำบัญชีนี้มาใช้เลือกคณะลูกขุน โดยเลือกตามลำดับไปโดยคู่ความไม่รู้รายชื่อล่วงหน้ามาก่อน แต่คู่ความมีสิทธิค้านลูกขุนได้ตามจำนวนครั้งที่กำหนด เช่น อาจให้ค้านได้ฝ่ายละ 3 ครั้ง หรือ 3 คน คนที่ถูกค้านจะตกไป เลื่อนคนในบัญชีอันดับถัดไปขึ้นมาแทน

    จำนวนลูกขุนจะถูกกำหนดตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐไม่เท่ากัน ระหว่าง 8 -12 คน แต่ส่วนใหญ่จะมีจำนวน 12 คน

    เมื่อคัดเลือกคณะลูกขุนได้แล้ว คณะลูกขุนทั้งหมดจะถูกเก็บตัวทันที ห้ามติดต่อกับโลกภายนอกทุกรูปแบบไม่ว่าจะโทร. จดหมาย หรือคนภายนอกคณะลูกขุน ต้องพักในโรงแรมที่รัฐจัดให้จนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จ ดังนั้นคนที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นคณะลูกขุนจึงต้องเตรียมกระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย

    เมื่อได้คณะลูกขุนครบถ้วนแล้วก็จะเริ่มการพิจารณาคดีสืบพยานทันที และจะสืบพยานต่อเนื่องไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จและคณะลูกขุนลงมติพิพากษาคดีแล้วจึงถือว่าเสร็จคดี แต่ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเพื่อแยกประเด็นข้อโต้แย้งและเตรียมพยานหลักฐานมาแล้ว ไม่ใช่ว่าพอโจทก์ยื่นฟ้องและจำเลยให้การปฏิเสธก็ส่งคดีเข้าขั้นตอนนี้เลย

    คณะลูกขุนจึงเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ประชาชนที่ทำหน้าที่พลเมืองดีด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

    ในการสืบพยานในศาล ผู้พิพากษาจะเป็นคนควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย และการสืบพยานในศาลของอเมริกาจะให้การบันทึกเทปโดยมีเจ้าหน้าที่ถอดเทปแบบคำต่อคำ

    ต่างจากบ้านเราที่ผู้พิพากษาเป็นผู้บันทึกด้วยการสรุปคำพูดของพยานเอง ซึ่งมักจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งกับทนาย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้พิพากษาไม่บันทึกคำให้การของพยาน

    หลังจากสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จ คณะลูกขุนจะประชุม(ลับ)เพื่อลงมติตัดสินคดี โดยลงมติผิดหรือไม่ผิดเท่านั้น ไม่มีการให้เหตุผล

    มติของคณะลูกขุนที่จะตัดสินไปในทางใดต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด บางมลรัฐอาจกำหนด 10-2 แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นเสียงเอกฉันท์ ในบางครั้งที่เสียงแตกจึงอาจเห็นคณะลูกขุนประชุมเป็นเวลานาน

    การตัดสินคดีของคณะลูกขุนเป็นการตัดสินคดีในส่วน ข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินในข้อกฎหมาย

    การใช้ลูกขุนในอเมริกาใช้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

    สำหรับคดีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอิทธิพลจนอาจมีผลต่อการตัดสินคดีของคณะลูกขุนก็สามารถย้ายไปดำเนินคดีที่มลรัฐอื่นหรือศาลอื่นที่ไม่มีอิทธิพลของคู่ความฝ่ายนั้นได้

    ในส่วนพยานที่มาเบิกความในศาลหากการเบิกความในศาลอาจเป็นอัตรายต่อตัวพยานขอเข้าโครงการคุ้มครองพยานได้

    โครงการคุ้มครองพยานของอเมริกา ไม่เพียงจัดเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มกันระหว่างคดีเท่านั้น แต่หลังเสร็จคดีรัฐจะให้เปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ หางานใหม่ให้ทำ เป็นการลบประวัติเก่าแล้วสร้างประวัติใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ความปลอดภัยกับตัวพยานได้อย่างดี ไม่ใช่แค่จัดตำรวจมาประกบระหว่างคดีเสร็จแล้วก็ปล่อยพยานไปตามยถากรรมอย่างบ้านเรา

    แล้วจะนำระบบลูกขุนมาใช้ในบ้านเราได้หรือไม่

    เหตุผลของฝ่ายที่ค้านมักจะเป็นความไม่พร้อมของประชาชน เป็นเหตุผลเดียวกับที่ดูถูกประชาชนว่าไม่สามารถเลือกตั้งรัฐบาลที่ดีได้ เดิมทีเมื่อพูดถึงระบบลูกขุน ผมเองก็กังวลการแทรกแซงคณะลูกขุน โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล อย่างนายกรัฐมนตรีหรือคนในคณะรัฐบาล แต่จากระบบของอเมริกาดังกล่าวข้างต้น จะไม่สามารถประยุคมาใช้หรือระบบการคุ้มกันคณะลูกขุนชนิดตัดขาดจากโลกภายนอกย่อมป้องกันการแทรกแซงคณะลูกขุนได้ระดับหนึ่ง การโอนย้ายคดีมาพิจารณาในศาลที่ปราศจากอิทธิพลของจำเลยไม่มีส่วนช่วยป้องกันการแทรกแซงคณะลูกขุน?

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับระบบปัจจุบัน ระบบที่มีช่องโหว่ในการแทรกแซงผู้พิพากษามากมายดังกล่าวใน 3 ตอนที่แล้ว การใช้ระบบลูกขุนกลับจะช่วยอุดช่องโหว่ของการแทรกแซงผู้พิพากษา

    การอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมหรือไม่สามารถทำหน้าที่ลูกขุน ไม่เป็นการดูถูกประชาชน?

    เป็นธรรมดาที่เมื่อมีคนเสนอสิ่งใหม่ ย่อมจะต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่สำหรับการคัดค้านการนำระบบลูกขุนมาใช้ ที่มาจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายที่กุมอำนาจหรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการเอง การคัดค้านโดยไม่มีเหตุผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีอะไรพิสูจน์ว่าไม่ใช่การค้านเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ต่อไปเท่านั้น มีอะไรแสดงความสุจริตใจในการคัดค้าน

    สุดท้ายหากมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบศาล เสียงเรียกร้องให้การเข้าดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เสียงเรียกร้องให้นำระบบลูกขุนมาใช้ในศาลไทย

    นั่นก็เป็นเพราะระบบที่มีอยู่เดิมไม่ได้เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไปแล้ว

    ที่มา ประชาไท
    http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31533
    http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31573
    http://www.prachatai3.info/journal/2010/11/31772
    http://www.prachatai3.info/journal/2010/11/31876
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×