ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #148 : ว่าด้วยเรื่องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ชนชั้นกลางและหาบเร่แผงลอย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 219
      0
      5 พ.ย. 53

     ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

    ไม่ใช่ครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งด้วยเจตนาของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์คนแรกของประเทศ มีนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนระดับล่าง คงจำเป็นต้องมีการเท้าความที่มาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้สักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจในพื้นหลังแบบเดียวกัน...มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นหนึ่งในกลไกการสถาปนารัฐทุนนิยม ของกษัตริย์สี่รัชกาลก่อนหน้านี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตข้าราชการแบบรัฐสมัยใหม่ เพื่อมาทดแทนระบบขุนนางแบบรัฐศักดินาที่ยากจะควบคุม มักจะกระด้างกระเดื่องกับอำนาจส่วนกลางของกษัตริย์ และล้มราชวงศ์บ่อยครั้ง การสร้างระบบบริหารแผ่นดินสมัยใหม่โดยมีข้าราชการที่สังกัดโดยตรงกับตัวกษัตริย์ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยสมัยใหม่แห่งแรกของประเทศ โดยการทำการสำเร็จลุล่วงอย่างเป็นทางการ ในรัชกาลถัดมา จึงได้นำเอาชื่อของกษัตริย์ที่ปรารถนาจะสร้างพระราชอำนาจของพระองค์ผ่านระบบราชการที่ภักดีขึ้นตรงกับพระองค์เอง มาตั้งชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้

    หากสังเกตแล้ว คณะที่ทำการผลิตบัณฑิตรายแรกๆ คือ วิศวกรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ อันมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างทางรถไฟ (นำเทคโนโลยีจากเยอรมัน) และกลไกการควบคุม “ไพร่” สมัยใหม่ (กลไกการศึกษาแบบอังกฤษ) ภายใต้แนวคิดพลเมืองที่สังกัดกับอำนาจส่วนกลางในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งใน “กลไกการล่าอาณานิคมตัวเอง” ของรัฐสยาม แน่นอนว่าการต่อต้านเกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่นจากเจ้าเมืองเก่าในรัฐศักดินาเดิม ที่ไม่รู้เท่าทันและถูกสยามกลืนเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน ,ที่สำคัญที่สุดกลไกของหมาวิทยาลัยแห่งนี้ได้สร้างศัพท์แสงที่ประหลาดและไม่สามารถหาได้ทั่วไปตามรัฐสมัยใหม่ในตะวันตก นั่นคือคำว่า “ข้าราชการ-คนรับใช้ภารกิจของพระราชา” ที่คนไทยคุ้นเคยกับคำแปลภาษาอังกฤษ Bureaucrat, state officer, State servant ฯลฯ แต่หากลองแปลดูแล้วก็ไม่มีคำใดที่ดูศักดิ์สิทธิ์และเชื่อมตรงกับอำนาจส่วนกลางได้เท่ากับคำว่า “ข้าราชการ” แม้กระทั่งคำแปลในภาษาฝรั่งเศสจุดกำเนิดของระบบราชการสมัยใหม่ก็ตาม

    มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นเครื่องหมายของชนชั้นสูง และการชุบตัวของเจ้าสัวจีนที่เริ่มมั่งคั่งขึ้นจากกลไกตลาดโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มันเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง ชนชั้นสูงและพ่อค้านักธุรกิจ แม้จะมีปณิธานของผู้ก่อตั้งว่า แม้แต่”ไพร่” ก็สมควรที่จะได้เรียน แต่ก็หมายถึงไพร่ที่พร้อมจะรับอุดมการณ์แบบเจ้านาย และการเป็นข้าราชการที่ภักดีต่อไป

    หลังสงครามโลกครั้งที่สองการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเริ่มแพร่หลายเพื่อการผลิตผู้ชำนาญการสมัยใหม่ ตอบสนองต่อการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า มหาวิทยาลัยโดยมากตั้งตามชื่อของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศรีนครินทรวิโรฒ, สงขลานครินทร์, แม่ฟ้าหลวง, พระจอมเกล้าฯ, ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถูกก่อตั้งโดยไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาลของราชวงศ์คือ ปรีดี พนมยงค์ ความขัดแย้งระหว่างสองมหาวิทยาลัยนี้ปรากฏอย่างมีนัยสำคัญในแง่อุดมการณ์ช่วง 1960-1970(พ.ศ.2503-2513) (1) อย่างไรก็ดีด้วยระบบการศึกษาไทยที่สร้างค่านิยมที่เหนือกว่าประชาชนและการยกระดับฐานะของบัณฑิตจบใหม่ผ่านความสัมพันธ์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างสองมหาวิทยาลัยนี้กลายเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก ในการแข่งขันเพื่อแสดงออกว่าใครเป็นมหาวิทยาลัยที่เหนือกว่าประชาชนธรรมดา ความก้าวหน้าในตลาดแรงงาน และความภักดีต่อราชวงศ์ มากกว่ากัน (แสดงออกในงานฟุตบอลประเพณีของสองมหาวิทยาลัย) (2)

    หลังจากการปราบปรามนักศึกษาและความคิดฝ่ายซ้ายในปลายทศวรรษ 1970(6 ตุลาคม 2519) มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งผลิตคนงานป้อนตลาดแรงงานมากกว่าแนวรบทางอุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นมหาวิทยาลัย อันเป็นที่ต้องการอันดับหนึ่งของตลาดแรงงาน ด้วยเหตุผลใดก็ไม่อาจทราบแน่นอนได้ เพราะก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยรุ่นหลังอื่นๆ เท่าใดนัก แต่เป็นที่เข้าใจว่า เส้นสายและเครือข่ายความสัมพันธ์แบบศักดินา ที่ปลูกฝังระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นตัวก่อเริ่มความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ภายในตลาดแรงงาน หากกล่าวถึงความสามารถเชิงประจักษ์แล้วพวกเขาแตกต่างจากนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ด้วยคะแนนสอบเข้าไม่กี่สิบคะแนนเมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมเท่านั้น

    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูง ชนชั้นกลางในเมือง หรือที่ทางสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความฝันจากชนบทจะเข้ามาชุบตัว พร้อมกับความฝันในการรับราชการ และทำงานบริษัทเอกชนชั้นนำ เป็นที่รู้กันว่าสำหรับบางกระทรวงนั้น บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพียงแค่สอบผ่านภาค ก. ก็สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ทันที

    หากเปลี่ยนมามองในมิติอื่นๆ แล้ว ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเป็นที่ตั้งที่ไม่ค่อยสมดุลในเชิงสังคมวิทยาเท่าใดนัก ในฐานะตัวแทนอุดมการณ์ของรัฐกษัตริย์สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่าง เยาวราชย่านที่อยู่อาศัยของคนจีน และสีลม ย่านธุรกิจของคนจีน ในช่วงทศวรรษแรกๆ ของการก่อตั้งขณะที่คนจีนยังเป็นประชากรชั้นสองชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังเกียจจากราชสำนักและขุนนางเดิม เป็นไปได้หรือที่สามย่านที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่มีชุมชนคนจีนอยู่? แน่นอนว่าความขัดแย้งเรื่องการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยกับชุมชนดั้งเดิมเกิดขึ้น วีรกรรมการต่อสู้กับเจ๊กสามย่านถูกผลิตซ้ำผ่านอาจารย์ และศิษย์เก่าที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป อย่างภาคภูมิใจ เช่นเดียวกันกับสิ่งที่กำลังจะเกิดกับการไล่ “ไพร่หาบเร่” ออกจากสยามสแควร์ในศักราชปัจจุบัน

    แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ก็หาใช่ว่าพวกเขาตัดขาดและไม่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์เศรษฐกิจโลก นับจากปี 2540 การรับนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ นำสู่การแปรรูปมหาวิทยาลัยเพื่อลดค่าใช้จ่าย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็สบโอกาสนี้ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้บริหาร การออกนอกระบบส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มหาวิทยาลัยทำการสร้างห้างสรรพสินค้าขึ้นบริเวณตรงข้ามตลาดสามย่าน (โดยการไล่ชุมชนสลัมดั้งเดิมอีกเช่นเคย) โดยตั้งชื่อว่าจตุรัสจามจุรี 3 และทำการไล่ผู้ประกอบการสามย่านออกจากพื้นที่เดิมเพื่อสร้างอาคารด้านธุรกิจการศึกษา แม้มหาวิทยาลัยจะมั่งคั่งขึ้น แต่ค่าเทอมกลับสูงขึ้นตามลำดับ (ประมาณร้อยละ 80 จากปี 2547-2553) 4 ภาควิชาที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดถูกปิดไป 5 และถูกแทนที่โดยภาคภาษาอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วสำหรับชนชั้นสูงที่อาจสอบเข้าไม่ได้จากระบบแอดมิชชั่นและการคัดกรองแบบระบบราชการโบราณ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งนี้หาได้เป็นเพียงแค่กลไกการสร้างอุดมการณ์แบบอุนรักษ์นิยมอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคัดกรองและปิดโอกาสการพัฒนาการศึกษาของลูกหลานคนจนด้วยเช่นกัน

    ในกรณีหาบเร่สยามสแควร์ ที่ทางมหาวิทยาลัยตั้งประเด็นว่า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ที่เดินสัญจรไปมา และสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีสำหรับชาวต่างประเทศ วิธีคิดนี้เป็นวิธีคิดเดียวกันกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่มองว่าคนจนในประเทศอันไร้ระเบียบเป็นปัญหา กรุงเทพมหานคร ควรจะเป็น “กรุงเทพ”-เมืองของเทวดา ที่มีระเบียบโดยไล่คนจน หรือวิถีที่ไร้ระเบียบอันพึงประสงค์ออกจากเมือง โครงการของกรุงเทพมหานครที่เห็นกันโดยมากต่อเนื่องมาจากผู้ว่าทุกชุดเรื่อยมาจนถึงคนปัจจุบัน คือการไล่ชุมชนในเมืองออกไปเพื่อสร้างถนนสายวัฒนธรรม (ถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง) ชุมชนที่จะอยู่ได้คือชุมชนที่มีการปรับตัวและสร้างทุนทางวัฒนธรรมแก่ตัวเอง หากสังเกตสนามหลวงได้มีการกั้นรั้วเพื่อขับไล่วิถีชีวิต ที่ไม่พึงประสงค์ออกไป โดยมีคำสัญญาว่าจะมีการจัดสรรที่อยู่ให้แก่คนไร้บ้าน อันนี้เป็นเรื่องตลกอีกเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาประเทศนี้ไม่เคยมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนถาวรในเมืองแต่อย่างใด และนับประสากับการพัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน

    นักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อย อาจตั้งข้อสงสัยว่าหาบเร่แผงลอยเหล่านี้คือผู้ประกอบการ พวกเขาได้รายได้จำนวนไม่น้อย จากการทำธุรกิจหาบเร่ ไม่มีความจำเป็นต้องให้ความสงสารเห็นใจแต่อย่างใด...ทั้งหมดนี้ก็มิได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความเห็นใจแต่อย่างใด แต่สยามสแควร์ก็เป็นภาพสะท้อนเช่นเดียวกันกับ สีลม ราชดำริ และเซ็นทรัลเวิร์ลด์ในปัจจุบัน อันเป็นแบบฉบับภาพสะท้อนวิถีชีวิตที่หรูหราของชนชั้นกลาง และว่าที่อภิสิทธิ์ชนในโรงเรียนเตรียมอุดมฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนเหล่านี้เข้าใจว่าวิถีชีวิตของตนมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าผู้อื่นเสมอ พวกเขาคือคนกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนให้มีการสลายการชุมนุม คนเสื้อแดง เพื่อนำ “ความสุข” และวิถีชีวิตปกติอันหรูหราของพวกเขาคืนกลับมา..เราจะถือให้วิถีชนชั้นกลางมีความศักดิ์สิทธิ์ และถือการบริโภคร้านค้าของผู้ประกอบการที่เสียค่าเช่าเป็นแสนต่อเดือน ศักดิ์สิทธิ์กว่า วิถีชาวบ้านได้อย่างไร...หรือว่านี่คือกรุงเทพ เมืองแห่งเทวดาที่วิถีชีวิตแบบเทวดาเท่านั้นสมควรได้รับการยอมรับ

    การจัดระเบียบจำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่หาใช่การจัดระเบียบบนฐานของกรรมสิทธิ์ มูลค่าแลกเปลี่ยนผ่านการเช่า และกลไกราคาตลาด มิเช่นนั้นวิถีชีวิตของคนจนก็จะถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะ ความหลากหลายที่ลดและระยะห่างทางสังคมที่มากขึ้นคือหายนะของความสัมพันธ์ในเขตเมือง

    เหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ร่วมปิดแยกราชดำริ คือคนจนเมือง...อันสะท้อนปัญหาที่สะสมในกรุงเทพมานับศตวรรษไม่เคยได้รับการแก้ปัญหา และเขี่ยพวกเขาไปอยู่ใต้พรมทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกันหากการถือวิถีชนชั้นกลางว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าวิถีชีวิตอื่น มันจะเป็นการจุดเริ่มแห่งการสะสมความขัดแย้งครั้งใหม่...อีกหลายทศวรรษถัดมามันอาจรุนแรงมากกว่าการ ”เผาบ้านเผาเมือง” ก็เป็นได้

    เชิงอรรถ จากตัวเลขในวงเล็บ

    1 ต้องอย่าลืม จิตร ภูมิศักดิ์ ตัวแบบ ขบวนการนักศึกษายุค1970 ปัญญาชนนอกคอกของรั้วจามจุรี ที่ถูกโยนบกโดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์

    2 ขณะที่กระแส ปรีดี-ป๋วยนิยม ในธรรมศาสตร์กลายเป็นการกราบไหว้อนุสาวรีย์มากกว่า การศึกษาอุดมการณ์แบบจริงจัง พร้อมกันนั้น การสร้างสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกพระราชทาน ขึ้นเป็นมาสค็อตแทนปรีดีดูจะปรากฏแพร่หลายเช่นกัน

    3 เป็นห้างสรรพสินค้าที่เชื่อมกับรถไฟใต้ดินสถานีสามย่านและเชื่อมตรงสู่มหาวิทยาลัย
    4 ขึ้นจาก 8,500บาทต่อเทอม เป็น 14,000 บาท ในสายสังคมศาสตร์
    5 ที่ปรากฏเห็นจะเป็น สาขามานุษยวิทยา ในภาควิชาสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ 

    ที่มา ประชาไท
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×