ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #146 : นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถูกหรือผิด "ประชาธิปัตย์จึงควรถูกยุบไปตั้ง 60 ปีแล้ว"

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 289
      0
      11 พ.ย. 53

    เป็น Topic ที่ถูกโยนออกมาจาก อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่ผมให้ความเชื่อถือและนิยมในหลักคิดของท่านและเป็น 1 ในคณะกรรมการ“ปฏิลูบ”ของนายอานันท์ ทำให้เด็ก ปชป. หลายต่อหลายคนออกมาเถียงกันระงม วันนี้เราจะมาดูกันว่า อะไรที่ทำให้อ.นิธิ เชื่ออย่างนั้น

    ผมขอเท้าความกลับไปเมื่อ พ.ศ.2488 เมื่อหม่อมเสนีย์ ปราโมช ท่านได้ประกาศยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งกันใหม่เนื่องจากสภา ฯ ได้ครบวาระไปแล้ว เมื่อผลการเลือกตั้งในเดือน ม.ค. 89 ออกมา ปรากฏว่าสภาได้แต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายก ฯ ไป แต่หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน สภา ฯ มีมติผ่านร่าง พรบ.ที่เรียกกันว่า พรบ.ปักป้ายข้าวเหนียว ที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้านคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งที่จริงก็คือกฏหมายกำหนดให้ปักป้ายบอกราคาสินค้านั่นเอง แต่นายควงไม่เห็นด้วยและต้องลาออกเนื่องจากแพ้โหวตในสภาไป65 ต่อ 63 

    หลังจากนายควงลาออก อ.ปรีดี ก็ได้เสียงจากสภาสนับสนุนให้ขึ้นเป็นนายก ฯ แทนและได้ผลุบๆโผล่ ๆ อยู่จนถึงเดือน ส.ค. 2489 ก็ต้องลาออกไปเนื่องจากกรณีสวรรคต ประเทศไทยจึงได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในเดือนเดียวกันนั้น ได้แก่ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพซึ่งเป็นแนวร่วมของ อ.ปรีดี นี่แหละครับที่เป็นจุดเริ่มต้นของรอยตำหนิที่ติดตัวประชาธิปัตย์มาจนทุกวันนี้

    ย้อนกลับไปดูทางด้านนายควงบ้างว่า เกิดอะไรขึ้นและดำเนินงานทางการเมืองอย่างไรบ้าง

    หลังจากที่ นายควง ได้พ้นจากตำแหน่งนายก ฯ ไปตามที่ผมได้เล่าไปในตอนต้นนั้น นายควง ได้ร่วมกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่งรวมทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็น loyalist ชนิดเข้มข้น ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค

    เมื่อวันที่ 19 - 26 พฤษภาคม 2489 พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวถึง 7 วัน 7 คืน ด้วยกล่าวหาว่าระดมส่งข้าวสารชั้นดีเทออกขายให้เมืองนอก และปล่อยให้ประชาชนไทยต้องทนกินแต่ปลายข้าว ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้วไทยเราจะต้องชดเชยการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษเป็นข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตัน ต่อมารัฐบาลของ อ.นายปรีดี ได้เจรจาแก้ไขข้อตกลงใหม่ ทำให้ไทยสามารถเปลี่ยนจากการส่งข้าวให้อังกฤษฟรี ๆ มาเป็นการขายข้าวให้อังกฤษแทน แถมยังมีจำนวนลดลง จากเดิมถึง 3 แสนตัน โดยต้องเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี มิฉะนั้นไทยต้องส่งข้าวให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าเหมือนเดิม 
    รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงต้องเร่งระดมผูกขาดการรับซื้อข้าวโดยให้ราคาไม่สูงนัก ด้วยเหตุที่เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ เงินทองในคลังของเรายังมีไม่มากนัก พวกคนกลางรับซื้อข้าวมันก็เลยกักตุน บ้างก็ลักลอบส่งออกเองเพราะราคาข้าวในตลาดโลก ขณะนั้นราคาสูงกว่าที่รัฐบาลรับซื้อในประเทศ เจตนาดีของ อ.ปรีดี เลยกลับกลายมาเป็นศาตราวุธให้พรรคประชาธิปัตย์นำกลับมาทิ่มแทงตัวเอง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ทนต่อแรงกดดันทั้งจากนอกสภาและในสภาไม่ไหว แกจึงต้องลาออกไปในวันรุ่งขึ้น แต่แกก็ได้กลับมาเป็นนายก ฯ อีกครั้งนึงในวันถัดมาโดยการแต่งตั้งจากสภา ฯ ... หึหึ เอาเรื่องเหมือนกันแฮะ

    ในช่วงที่ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้กลับมาอีกครั้งนั้น บ้านเมืองระส่ำระสายมากทีเดียวครับ ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง, การแตกคอกันของนักการเมืองต่างกลุ่ม รวมทั้งแรงกดดันจากกรณีสวรรคต เป็นช่องให้กลุ่มทหารซึ่งนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร, น.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ หรือที่พวกเราคุ้นกันดีในนาม ชาติชาย ชุณหะวัณ นำกำลังเข้าทำรัฐประหารจนสำเร็จ

    ในการรัฐประหารครั้งนี้ เราจะได้เห็นบทบาทของนายควง อภัยวงศ์ในฐานะของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐบาลบ้างแล้ว เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทั้งหลายถูกนำมาใช้ลวงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และ อ.ปรีดี อย่างไร

    แม้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะกลับมาได้ก็ตาม แต่เรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ก็ยังไม่จบ ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและโด่งดังมากในคราวนั้นได้แก่ “คดีกินจอบกินเสียม” เรื่องมันมีอยู่ว่ามีการป้ายสีรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ว่าสั่งซื้อจอบเสียม เพื่อมาแจกให้ชาวนา แต่ถูกพวก ส.ส.พรรครัฐบาลแอบเอาไปขายกินเสียเอง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็ได้มีการสอบสวนในช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2490 แต่ก็เอาผิดใครไม่ได้เพราะหลักฐานไม่พอ 

    รัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องประสบกับมรสุมมากมาย เหตุเพราะขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลก เศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นย่ำแย่ เกิดเงินเฟ้อขึ้นสูงเป็นประวัติการ เกิดความขาดแคลนในเครื่องอุปโภคและบริโภค ประชาชนเริ่มระส่ำระสาย นอกจากนี้รัฐบาลยังโดนข่าวปล่อยในเชิงทุจริตคอรัปชั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งการใส่ความว่าการที่ อ.ปรีดี ได้ก่อตั้ง ธ.เอเชียขึ้นมาให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่มหาวิทยาลัยนั้น แท้จริงเป็นการตั้งแหล่งฟอกเงินขึ้นเพื่อรองรับเงินที่ อ.ปรีดีและกลุ่ม ส.ส.พรรคสหชีพได้มาจากการทุจริตคอรัปชั่น
    ซึ่งก็อีกเช่นเคย .. คณะทหารที่พยายามจะเอาผิด อ.ปรีดีและกลุ่มของพรรคสหชีพนั้น ก็ไม่สามารถเอาผิดอะไรได้แม้แต่คนเดียวเมื่อตรวจพบว่าตัว อ.ปรีดีเองนั้นแทบจะไม่มีเงินเลย และกลุ่มส.ส. สหชีพนั้น นอกจากจะไม่มีเงินแล้ว ยังเป็นหนี้จำนวนมากอีกด้วย 

    ทายสิครับ .. ใคร ไอ้ตัวไหนที่มันอยู่เบื้องหลังการป้ายสีครั้งนี้และครั้งอื่น ๆก่อนหน้านี้ รวมทั้งการที่ว่าจ้างคนให้ไปตะโกนในโรงหนังว่า ““ปรีดีฆ่าในหลวง” สารเลวได้คลาสสิคมาก

    สาเหตุอีกประการนึงที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในครั้งนั้น ก็คือการที่ อ.ปรีดี ใจดีพยายามจะประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่าที่เรียกกันว่า “กลุ่มนิยมเจ้า” ยอมปล่อยนักโทษกบฎ ทำให้ฝ่ายนิยมเจ้าเริ่มเกาะกลุ่มกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาในปี 2489 กลุ่มนิยมเจ้าร่วมกับพวกขุนนางเก่า ก็จัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น โดยมี ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองฯ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

    พรรคประชาธิปัตย์นี้แหละครับที่กลายมามีบทบาทในการบริหารประเทศภายหลังจากการรัฐประหารในครั้งนั้น .. พวกเราอ่านช้า ๆ นะครับ ทำความเข้าให้ดี ท่านจะเห็นได้ว่า อดีตมันย้อนกลับมาถึงยุคนี้ได้อย่างแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน

    เมื่อเหตุการณ์มันสุกงอม ผู้ก่อการรัฐประหารอันมี น.อ.กาจ เก่งระดมยิง, พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท, ร.อ.ขุนปรีชารณเสฏฐ์, พ.อ.ศิลป์ รัตนพิบูลย์ชัย จึงได้ไปชักชวนให้ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ให้ร่วมก่อการ

    ด้วยทุนเดิมที่กองทัพได้ตกต่ำลงในช่วงหลังสงคราม ทหารถูกปลดประจำการกันจำนวนมาก บทบาทของกองทัพในยุครัฐบาลพลเรือนจึงถูกจำกัดลง และเกิดการเปรียบเทียบว่ารัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้ทำให้กองทัพเสื่อม จึงคิดการเอาไว้ว่าจะต้องเปลี่ยนให้ หลวงพิบูลย์สงครามหรือ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ในเวลาต่อมา ขึ้นมามีอำนาจแทน กองทัพน่าจะได้รับการดูแลได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ การทำรัฐประหารจึงเริ่มขึ้น

    พล.ท. ผิน ชุณหะวัณจึงชวนเผ่า ศรียานนท์ ให้มาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีนายทหารคนสำคัญอีกหลายนายเช่น พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.ท.ละม้าย อุทยานนท์, พ.ท.กฤช ปุณณกันต์, พ.อ.หลวงสวัสดิ์สรยุทธ, พ.อ.เจริญ สุวรรณวิสูตร์ และที่เป็นเรื่องใหม่ก็คือ พันโทถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นเป็นครูโรงเรียนนายร้อยได้นำเอากำลังนักเรียนนายร้อย เข้าร่วมทำรัฐประหารด้วย

    ตอนนั้นได้มีกระแสก่อการรัฐประหารออกมาเข้าหูรัฐบาลแล้ว แต่หลวงธำรงค์ ฯ มั่นใจเกินไป ซ้ำยังท้าทายจนเป็นข่าวออกไปทาง นสพ.ว่า “นอนรอปฏิวัติมานานแล้ว ไม่เห็นปฏิวัติเสียที” ขณะที่อ.ปรีดี กลับไม่ไว้ใจสถานการณ์จึงสั่งให้นายทองเปลว ชลภูมิ, นายปราโมช พึ่งสุนทร, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายถวิล อุดล ออกหาข่าวการพยายามรัฐประหารเช่นกัน ซึ่งต่อมา 3 ใน 4 ท่านนี้ได้ถูกฆาตกรรมหมู่พร้อมกัน ณ หลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวงในอีก 2 ปีถัดมา

    จากการที่ อ.ปรีดีส่งฝ่ายข่าวออกไปนั้น จึงทราบถึงรายละเอียดของผู้ก่อการและได้กำหนดจะเข้าจับกุมผู้ก่อการทั้งหมดในเช้ามืดของวันที่ 9 พ.ย. 2490 ข่าวนี้ก็รั่วออกไปอีกเช่นกัน ดังนั้นจากเดิมที่ ร.ต.ทองคำ ยิ้มกำภู ได้ดูฤกษ์ยามว่า จะทำรัฐประหารในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 พ.ย. คณะรัฐประหารจึงต้องชิงลงมือให้เสร็จสิ้นก่อนจะถูกทลายแก๊งค์ เรื่องมันจึงระเบิดเอาในคืนวันที่ 7 พ.ย. 2490 นั้นเอง

    พรรคประชาธิปัตย์ได้ จัดงานเต้นรำการกุศลขึ้นที่สวนอัมพร หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับเชิญไปในงานนี้ด้วย และไฮไลท์ของงานก็คือการที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และ นายควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นคู่แค้นตลอดกาลได้ร่วมกันนั่งรถสามล้อคันเดียวกันวนไปรอบเวทีสวนอัมพร ผู้คนก็พากันยินดี คิดว่าจากนี้ไปความปรองดองน่าจะเกิดขึ้นและพาประเทศให้พ้นจากช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้

    แต่การกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทหารคนสนิทของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เข้ามากระซิบด่วนว่า ขณะนี้มีทหารกำลังเคลื่อนกำลังมาจะจับกุม นายกรัฐมนตรีจึงได้หลบออกจากงานเลี้ยงของพรรคประชาธิปัตย์ในทันที ส่วนในอีกทางหนึ่งนั้น อ.ปรีดี ได้หลบหนีไปทางเรือแล้วเช่นกัน

    วันรุ่งขึ้นคณะรัฐประหาร ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ฯ ให้ทรงลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่นี้แต่เพียงพระองค์เดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการฯ อีกคนนั้นไม่เห็นด้วยและไม่ยอมลงนาม ทำให้รัฐธรรมนูญมีผลไม่สมบูรณ์ แต่คณะรัฐประหารนั้นก็ไม่สนใจและถูกนำออกประกาศใช้จนได้ในวันที่ 9 พ.ย. ทั้ง ๆ ที่มีผู้สำเร็จราชการฯ ลงพระนามเพียงคนเดียว

    ไอ้รัฐธรรมนูญ 2490 หรือที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม(เนื่องจากมีการนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่ม ก่อนจะทำการรัฐประหาร)นี้ ได้แอบร่างขึ้นมาก่อนการทำรัฐประหาร โดยเชื่อว่ามีคณะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้จัดร่าง มรว. เสนีย์ , มรว.คึกฤทธิ์, พระยาลัดพลี ธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา, พระยารักต ประจิตธรรมจำรัส, ร.อ. ประเสริฐ สุดบรรทัดส.ส.ปชป., นายเลื่อน พงษ์โสภณ, พ.อ. สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์ และนายเขมชาติ บุญยรัตพันธ์

    รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า

    “เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้มีสองสภา คือมีสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภาที่มีจำนวนเท่ากัน ให้กษัตริย์ทรงเลือกตั้งวุฒิสภา (มาตรา33) นอกจากนั้นมีการฟื้น ‘อภิรัฐมนตรีสภา’ ซึ่งยุบไปตั้งแต่รัชกาลที่ 7 โดยอภิรัฐมนตรีสภาเป็นต้นกำเนิดของ ‘องคมนตรี’ ซึ่งเป็นสภาที่ยังคงมีอำนาจเกรียงไกรอยู่ในปัจจุบัน 

    รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ไม่มีมาตราห้ามวุฒิสภาเป็นข้าราชการประจำ แปลว่า ข้าราชการประจำเป็นวุฒิสภาได้ ให้อำนาจฉุกเฉินแก่พระมหากษัตริย์ในการออกพระราชกำหนดเช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติ เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้วก็ให้เอาพระราชกำหนดนั้นมาเสนอให้ทราบ ไม่ต้องพิจารณาโดยที่สภาค้านไม่ได้ นี่คือการให้อำนาจเต็มแก่ฝ่ายบริหาร ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ตราพระราชกำหนดด้านการเงิน แปลว่ารัฐบาลออกกฎหมายด้านการเงิน เช่นพระราชบัญญัติได้”

    หลังจากที่การรัฐประหารสำเร็จลงแล้ว จึงมอบให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์หลายต่อหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการเข้าบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนั้น ได้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งในปัจจุบันนี้ อาทิเช่น การใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองความสงบสุข เข้ากวาดล้างจับกุมสมาชิกพรรคเสรีไทยสายของ อ.ปรีดี เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม 21 คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรม ในข้อหาฆ่าคนตาย จับนายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาทุจริต
    แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยตัวเพราะไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามอย่างเช่น นายอ้วน นาครทรรพ, นายพึ่ง ศรีจันทร์, ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์, นายทิม ภูริพัฒน์ และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ เป็นต้น ยังไม่รวมถึงการที่ 3 ผู้ต้องหากรณีสวรรคตถูกสั่งให้ประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม หรือจะเป็นการอนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน 8 ล้านบาทให้เป็นค่าใช้จ่ายในการรัฐประหาร และยังได้ออก พรบ.นิรโทษกรรมให้แก่คณะผู้ทำก่อการรัฐประหารอีกด้วย

    แต่ต่อมาไม่นาน ในวันที่ 6 เม.ย. ปีเดียวกัน คณะรัฐประหารก็ไล่นายควง อภัยวงศ์ ให้หลีกทางแก่ จอมพล ป. พิบูลสงครามที่นึกอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีดูบ้าง สุดท้าย .. นายควง ก็ต้องอำลาตำแหน่งหัวโขนไปหลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการวิ่งล๊อบบี้แม่ทัพเรือและแม่ทัพอากาศ แต่ลืมวิ่งเข้าหารือสภา

    สังเกตุมั๊ยครับ ว่านายควงเองก็ไม่ได้เชื่อในระบบรัฐสภา แต่กลับหวังไปพึ่งพาอำนาจจากกองทัพในยามที่กำลังจะถูกถอนหัวโขน

    ทั้งหมดนี้อาจตอบคำถามของผมที่ตั้งไว้เป็นหัวกระทู้ได้ และผมเชื่ออย่างที่สุดว่า พวกเราในที่นี้คงคิดคำตอบนั้นได้อยู่ในใจแล้ว แต่คนที่ผมเป็นห่วงที่สุดนั้น กลับเป็นทั่นนายก ฯ อภิสิทธิ์ เหตุเพราะว่า เพราะทุกวันนี้ คุณอภิสิทธิ์กำลังเดินตามรอยท่านอดีต หน.พรรค อย่างแทบจะเป็นรอยเท้าเดียวกัน แต่เนื่องจากสังคมที่เปลี่ยนไป ความเสียหายจากการบริหารงานที่ปราศจากอำนาจที่แท้จริงและมีอุดมคติที่จะสนองประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้น อาจจะพาบ้านเมืองให้เสียหายและวิบัติได้รุนแรงกว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้วมากนัก

    ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ นะ ถ้า ปชป.โดนยุบไปตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว ประเทศนี้คงจะไม่เกิดเรื่องราวยุ่ง ๆ หรือเรื่องเศร้า ๆ อย่างที่ผ่านมา จะว่าไปจริง ๆ แล้ว 


    .. ประชาธิปัตย์เนี่ย ไม่มีก็ได้นะ ..

    โดยคุณ มหาชำร่วย แห่ง บ้านราชดำเนิน
    ที่มา บ้านราชดำเนิน
    https://www.rajdumnern.net/showthread.php?tid=1617
    https://www.rajdumnern.net/showthread.php?tid=1636
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×