ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #107 : เนื่องจากบทสัมภาษณ์ ศ.สตีเฟน บี ยัง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 263
      0
      19 ม.ค. 53

    Tue, 2009-09-15 04:30

    นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เขียน

    อันเนื่องมาจากบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์อันลือลั่นที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2552 อาจเป็นบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ สตีเฟน บี ยัง โดย สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ซึ่งออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่อง 9 อสมท. ในรายการชีพจรโลก เมื่อคืนวันอังคารที่ 9 กันยายน
    ที่ว่าลือลั่น เพราะโปรเฟสเซอร์ยัง วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่คนไทยหลายคนอยากฟัง หลังจากเคยฟังหรืออ่านความเห็นของคนทำสื่อและนักวิชาการตะวันตกอื่นๆ อาทิ โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี ดอกเตอร์ ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร และศาสตราจารย์ เควิน ฮิววิสัน แห่งภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูจะแสดงทัศนะต่างออกไป

    คำ ให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ยังน่าพิจารณามาก แต่มีสามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งนี้และทัศนะของ ศาสตราจารย์ยัง ซึ่งน่าสนใจเป็นพิเศษในมุมมองของผู้เขียน ซึ่งเป็นคนทำงานสื่อคนหนึ่ง


    ความน่าเชื่อถือของ “ฝรั่ง”
    ประเด็นแรกคือสถานะของ “ฝรั่ง” ในมุมมองของสื่อไทยและคนไทย

    น่า สนใจว่า ข้อความแนะนำศาสตราจารย์ยังพร้อมบทสัมภาษณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย คม ชัด ลึก และ กรุงเทพธุรกิจ หนึ่ง วันหลังจากรายการชีพจรโลกออกอากาศนั้น บอกเพียงว่า เขาเป็นบุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตช์ เป็นผู้ “ค้นพบ” บ้านเชียงเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด และเป็นฝรั่งที่คนไทยน้อยคนจะรู้จัก ทั้งๆ ที่เขารักและรู้จักการเมืองไทย ประเทศไทย ดีกว่าคนไทยบางคน

    มิได้บอกว่าเขาเป็น “ใคร” ในทางวิชาการ เช่น เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านใด หรือเป็นอาจารย์สอนวิชาใดในมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจารย์ทุกท่านได้รับคำเรียกขานว่า “ศาสตราจารย์”

    คำถามคือ เมื่อสื่อไทยบอกกับผู้รับสื่อชาวไทยว่า มีฝรั่งคนหนึ่งรู้เรื่องการเมืองไทยและเมืองไทยดีมาก สื่อและผู้รับสื่อสนใจแสวงหาข้อมูลอื่นเพื่อสนับสนุนคำบอกเล่าหรือไม่ นอกจากข้อมูลข้างต้น ซึ่งไม่สามารถยืนยัน “ความรู้” และ “ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง” เรื่องการเมืองไทยและประเทศไทย

    หรือความเป็น “ฝรั่ง” โดยเฉพาะ “ฝรั่งชั้นสูง” เป็นหลักประกันที่เพียงพอแล้วต่อความน่าเชื่อถือ

    คน รู้จักกันคนหนึ่งบอกว่า ชอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้มาก เพราะในที่สุดก็มีฝรั่งดีๆ มาแฉความเลวร้ายน่ากลัวของทักษิณซึ่งเป็นต้นเหตุให้คนไทยแตกแยกจึงจำเป็น ต้องกำจัดทิ้ง มิใช่มีแต่ฝรั่งเลวๆ ไม่รู้จักประเทศไทยมาพูดปาวๆ เรื่องประชาธิปไตย

    ในความขัดแย้งเหลือง-แดง-น้ำเงิน ของประเทศไทยเวลานี้ บางทีแต่ละฝ่ายอาจคิดเหมือนกันก็ได้ว่า การอ้างความคิดฝรั่งมาสนับสนุนความคิดฝ่ายตน คงทำให้ความคิดฝ่ายตนน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะนอกจากฝรั่งจะได้ชื่อว่าเจริญก้าวหน้า ก็ยังมีพวกพ้องอยู่ทั่วโลก


    “ฝรั่ง” ที่รักและรู้จักการเมืองไทย ประเทศไทย ดีกว่าคนไทย “บางคน”
    ประเด็น ที่สองเป็นคำถามว่า สื่อใช้หลักเกณฑ์ใดประเมินว่า ศาสตราจารย์ยังเป็นฝรั่งที่รักเมืองไทยและรู้จักประเทศไทยดีกว่าคนไทยบางคน และสื่อใช้หลักเกณฑ์ใดประเมินว่า คนไทยบางคนรักและรู้จักเมืองไทยน้อยกว่าศาสตราจารย์ยัง

    เหตุที่สื่อ กล่าวว่าศาสตราจารย์ยัง รักและรู้จักเมืองไทยดีกว่าคนไทยบางคน เป็นเพราะศาสตราจารย์ยัง “พูด” ได้ตรงใจสื่อใช่หรือไม่ หากเขาคิดต่างออกไป สื่อจะยังบอกว่าเขารักและรู้จักเมืองไทยดีกว่าคนไทยบางคนหรือไม่

    สื่อ ใช้หลักเกณฑ์ใดวัดความเป็นคนไทย ใช้หลักเกณฑ์ใดวัดว่า ใครไม่รักและไม่รู้จักประเทศไทย สื่อคิดอย่างไร หากประชาชนไทยที่ทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินบนแผ่นดินไทยอย่างสุจริต นับแต่ทวดของทวดของทวดของปู่ย่าตายาย คิดไม่เหมือนสื่อ จะบอกว่าประชาชนเหล่านั้นไม่ใช่คนไทย ไม่รักและไม่รู้จักประเทศไทยหรือไม่

    จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องคิดเหมือนสื่อ จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องคิดเหมือนรัฐบาล จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องเป็นเด็กดีของรัฐบาล

    สื่อ ใดสื่อหนึ่ง รายการวิทยุหรือโทรทัศน์รายการใดรายการหนึ่ง ข้อเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ใดสิ่งพิมพ์หนึ่ง สามารถอ้างตนเป็นผู้แทนความคิด “คนทั้งประเทศ” และ “คนทั้งโลก” ได้หรือ


    การเมืองไทย กับ “อริสโตเติล” และ“สตีเฟน ยัง”
    ประเด็นที่สามเป็นเรื่องแนวคิดของศาสตราจารย์ยัง เรื่องการเมืองไทยกับ “ศีลธรรม”

    ตาม ประวัติ ศาสตราจารย์ยังเป็นนักศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นบุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีความคุ้นเคยเป็นอันดีกับราชวงศ์ไทยและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์

    เขา ค้นพบบ้านเชียงเมื่อ พ.ศ.2509 ขณะทำวิทยานิพนธ์เรื่องอัตลักษณ์ชาวอิสานอันเนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์ใน ยุคสงครามเย็น ที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เพราะเดินสะดุดโคนไม้ แล้วเจอเศษภาชนะบ้านเชียง จึงนำไปมอบให้ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี กับหม่อมราชวงศ์พันทิพย์ บริพัตร แห่งสยามสมาคม เป็นจุดเริ่มต้นให้กรมศิลปากรขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน พ.ศ.2535

    ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ยังซึ่งได้ปริญญาทางกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เป็นผู้อำนวยการองค์กร Caux Round Table หรือ CRT เน้นเรื่องการรณรงค์ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจทั่วโลก ดำเนินงานด้วยจริยธรรมหรือคุณธรรม อันเป็นประเด็นหลักในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียน เช่น Moral Capitalism ศาสตราจารย์ยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจระดับบนในประเทศไทย และนักธุรกิจที่ได้ชื่อว่า “น้ำดี” จากทั่วโลก ผู้เชื่อมั่นในการคืนกำไรสู่สังคมบ้าง หลังจากได้ไปเยอะแล้ว

    ศาสตราจารย์ ยัง มีภรรยาเป็นชาวเวียดนาม เขาเขียนบทความเกี่ยวกับเวียดนามบ้าง แต่ไม่ได้เขียนงานวิเคราะห์สังคมไทยมากนัก ที่โดดเด่นคือบทความเรื่อง “Thailand: Democracy without Ethics?” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 มีเนื้อหาเหมือนกับที่ให้สัมภาษณ์ในรายการชีพจรโลก

    สิ่ง ที่ศาสตราจารย์ยังเน้นคือ ความมีศีลธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นหลักการของอริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณ เขากล่าวถึงทางสองแพร่งที่ไม่น่าเลือกทั้งคู่ ระหว่างการปล่อยให้ทักษิณผู้ไร้ศีลธรรมมีอำนาจต่อไปเหมือน “จักรพรรดิจีน” ซึ่งจัดการให้ทุกสิ่งอยู่ “ภายใต้” อำนาจของคนคนเดียว กับการรัฐประหาร ซึ่งจำเป็นต้องเลือกแม้จะขัดกับรัฐธรรมนูญ

    หลายคนเห็นพ้องกับ ศาสตราจารย์ยังว่า รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของสังคมไทยปัจจุบัน แต่มีคำถามว่า เป็นไปได้หรือที่จุดเริ่มต้นของกระบวนการล่มสลายนั้น ไม่มีตัวแปรอื่นอีกเลย นอกจากความเลวของทักษิณ

    ในกรณีนี้ หากความเลวที่สุดของทักษิณคือไร้ศีลธรรม และตัดตอนอำนาจอื่นเพื่อเถลิงอำนาจเสียเอง คำถามคือ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าและหลังทักษิณทุกคนล้วนบริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยศีลธรรมหรือ และใครคือผู้บริหารประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

    อะไรคือตัวตัดสิน ว่าต้องจัดการปัญหาความไร้ศีลธรรมของทักษิณอย่างเร่ง ด่วนด้วยวิธีรัฐประหาร และอะไรทำให้เชื่อว่า รัฐประหารจะสามารถแก้ปัญหาความไร้ศีลธรรมของทักษิณ

    คำถามซึ่งไม่มี คำตอบเพราะไม่ได้รับโอกาสให้พิสูจน์ก็คือ ทักษิณจะสามารถเถลิงอำนาจเป็นผู้นำที่บ้าคลั่งในความยิ่งใหญ่ของตน โดยไม่แยแสต่อความต้องการของคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขาเข้ามา และที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขา ก็จะยอมให้เขากดหัวต่อไปอย่างเซื่องๆ ไม่คิดสั่งสอนเขาในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างนั้นหรือ

    ใครกันแน่ ที่หวาดกลัวทักษิณ คงไม่ใช่ประชาชนที่ “เห็น” และ “สัมผัส” ว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากรัฐบาลทักษิณ และคงไม่ใช่ประชาชนที่ “รู้สึก” ว่าพวกเขาได้รับเกียรติของความเป็นคน “เท่าเทียม”จากรัฐบาลทักษิณ แม้ว่าความจริงทักษิณคงไม่ได้ทุ่มเทให้ชาวบ้านขนาดนั้น แต่ชาวบ้านก็รู้จักใช้ประโยชน์จากทักษิณ เช่นเดียวกับที่ทักษิณใช้ประโยชน์จากชาวบ้าน

    ประชาชนเหล่านี้มีตัว ตนจริง พวกเขาคิดและทำเช่นนั้นด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเขา ไม่ใช่เพราะมีผู้จ่ายเงินจ้างเขา ให้บอกคนทั้งโลกว่าเขาคิดและทำเช่นนั้น

    ใช่ หรือไม่ว่า คนชั้นกลางจำนวนมากและผู้มีอำนาจฝ่ายตรงข้ามทักษิณที่ได้รับประโยชน์น้อยลง เพราะทักษิณ หรือ ไม่ได้ประโยชน์จากทักษิณ หรือ รู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทักษิณต่างหาก ที่พูดว่าทักษิณหลอกประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นคนรากหญ้า แต่คนที่พูดเช่นนั้น ก็ไม่เคยใช้ชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนที่พวกเขาประนามว่าโง่ และ เห็นแก่เงิน

    มีประเด็นเหลื่อมซ้อนกันอยู่มากมายที่ต้องทำความเข้าใจ ในเรื่องของ ทักษิณ ประชาชนไทย ประเทศไทย และการเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็น “ศีลธรรม” ทางการเมืองตามหลักการของอริสโตเติล ที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างกำจัดทักษิณ ด้วยวิธีการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

    เรา ไม่ควรลืมว่า อริสโตเติลผู้เชิดชูศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่เคยแสดงความปลาบปลื้มdemocracy อันมีที่มาจากคำในภาษากรีกว่า demos หมายถึงประชาชน และ kratos หมายถึง รัฐ

    ในทัศนะของอริสโตเติล democracy หรือรัฐประชาชนที่ปกครองโดยประชาชนไม่ดี เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนจนซึ่งไม่มีความรู้ และขาดทักษะในการปกครอง เมื่อคนจนหลายคนพยายามทำหน้าที่ผู้ปกครอง รัฐจึงอ่อนแอเพราะขาดการจัดการอย่างเหมาะสม แต่การปกครองในรูปแบบตรงข้าม คือ oligarchy หรือปกครองโดยคนร่ำรวยกลุ่มน้อยก็ไม่ดี เพราะคนเหล่านี้ไม่สนใจประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

    ศาสตราจารย์ยังกล่าว ว่า ทักษิณเป็นบุคคลอภิสิทธิ์ ที่มีสิทธิพิเศษในการผูกขาด ดังนั้น การปกครองของทักษิณจึงเป็นการปกครองโดยคนชั้นสูงกับกลุ่มคนร่ำรวยที่มี อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ซึ่งในแง่นี้ รัฐบาลทักษิณย่อมเข้าข่าย oligarchy แต่ชาวบ้านผู้ได้ประโยชน์จากทักษิณในนาม “ประชาธิปไตยกินได้” ที่มิได้หมายถึงการซื้อสิทธิขายเสียง และผู้ที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยคงไม่เห็นด้วยกับศาสตราจารย์

    อริสโตเติล เสนอว่า การปกครองที่ดีกว่า oligarchy และ democracy และอีกหลายระบบที่เขากล่าวถึง ซึ่งน่าจะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือ aristocracy หรือการปกครองโดย “คนดีที่สุด ผู้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม” นั่นคือ ขณะที่การปกครองระบบอื่นๆ มุ่งความสำคัญไปที่ผลประโยชน์หรือความมั่งคั่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง aristocracy ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของทุกคนบนพื้นฐานของความดีหรือศีลธรรม

    ใน ทางปฏิบัติ aristocracy ของอริสโตเติล เกิดขึ้นได้ยากพอๆ กับสังคมยูโทเปีย (Utopia) ของโธมัส มอร์ (Thomas Moore) เพราะเป็นการง่ายที่จะกล่าวว่าฉันเป็นคนดีมีศีลธรรมที่สุด แต่ปัญหาคือใครจะเป็นผู้ตัดสิน เช่นในสังคมหนึ่งมีข้อกำหนดว่าการฆ่าชีวิตผู้อื่นเป็นบาป แต่คนอ้างตัวเป็นคนดีคนหนึ่งบอกว่าฆ่าคนไร้ศีลธรรมไม่บาป ก็จะเกิดคำถามว่า ใครคือผู้กำหนดว่าใครไร้ศีลธรรม ถ้าเราเป็นศัตรูของอีกฝ่าย เราจะคิดอย่างไร และ จริงๆ แล้ว การฆ่าชีวิตอื่นบาปหรือไม่บาป

    ใน กรณีนี้ ความดีมีศีลธรรมจึงอาจไม่ใช่ความดีมีศีลธรรมจริง หากเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อประโยชน์ของใครก็ตามที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง

    บาง ที สังคมไทยอาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า แม้เราจะต้องการศีลธรรม แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของความมีศีลธรรมหรือความไม่มีศีลธรรม เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้หายไปไม่ได้ สิ่งที่ควรคิดและทำก็คือ จะจัดการกับแง่มุมต่างๆ อย่างไรให้สังคมมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งไม่ใช่ด้วยข้ออ้างทางศีลธรรม

    ข้อเรียกร้องศีลธรรมสูงส่งในทาง การเมือง อาจใกล้เคียงกับการชักนำประเทศไปสู่เส้นทางที่จะยกระดับเป็นรัฐศาสนา แต่รัฐศาสนาต้องไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งน่าสนใจว่า แม้ผู้นำเผด็จการของรัฐศาสนาเอง ก็เป็นได้เพียงคนที่อยู่ในคำสั่งของศาสนา แต่ผู้นำเผด็จการจะมีปัญญาสำรวมขนาดนั้นเชียวหรือ

    คนดีมีศีลธรรม จำนวนมากในประเทศไทย มักใช้กรอบคิดแบบอริสโตเติลชี้นำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดและมีช่องโหว่เยอะ เพราะคนหมู่มากโง่และไม่มีศีลธรรม ศาสตราจารย์ยังระบุในบทความ Thailand: Democracy without Ethics? ว่า ทักษิณจ่ายเงินซื้อชาวบ้านเสื้อแดง และเขามั่นใจเช่นนั้นโดยไม่มีคำถาม

    ศาสตราจารย์ยังให้สัมภาษณ์ด้วย น้ำเสียงเศร้าใจว่า “พี่พงศ์” ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของเขาที่บ้านเชียงรักทักษิณเพราะเชื่อว่าทักษิณจะให้ เงินเพื่อดูแลเขา

    สำหรับคนที่มีชีวิตห่างไกลชาวบ้าน ประโยคข้างต้นของ “พี่พงศ์” แปลว่าชาวบ้านเห็นแก่เงิน และโง่อย่างน่าสงสารจึงยอมขายตัวให้ทักษิณ แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านและให้ความเคารพชาวบ้านว่าเป็นคนที่ เท่าเทียม ประโยคนี้หมายความว่า นโยบายของทักษิณทำให้พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลเห็นหัวคนจน ทำให้พวกเขาเข้าใกล้โอกาสมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสะดวกในชีวิตมากขึ้น เหมือนที่คนเมืองมีโอกาสมานานแล้ว

    เรื่องชาวบ้านเห็นแก่เงินนั้น อาจเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับคำกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านทั้งประเทศไม่มีศีลธรรมและโง่ แต่ชาวบ้านก็มีสิทธิแย้งว่า “ท่านอยากแลกชีวิตรวยๆ ดีๆ หอมๆ ของท่านกับชีวิตจนๆ และทุกข์ยากของข้าพเจ้าไหม วันนี้ข้าพเจ้าทำงานได้เงินมาจึงซื้อเหล้าดื่ม ท่านยุ่งอะไรด้วย ถ้าข้าพเจ้าอยากนิพพาน ข้าพเจ้าก็ไปบวชแล้ว เวลามีเลือกตั้ง ข้าพเจ้าก็เลือกนักการเมืองที่ให้ประโยชน์กับข้าพเจ้า นี่คือการเมืองในโลกแห่งกิเลสขอรับ นี่คือการเมืองในโลกที่ท่านและข้าพเจ้าต่างต้องทำมาหารับประทานเลี้ยงตัวเอง ให้รอด แล้วถ้าข้าพเจ้าไอคิวต่ำกว่าท่านเพราะตอนเด็กไม่มีโอกาสได้กินอาหารครบหมู่ แถมขาดไอโอดีน ท่านจะจับข้าพเจ้าไปยิงทิ้งรึ”

    เป็นเรื่องยากสำหรับ ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกครองที่มีการศึกษาดีเลิศ มีทักษะในการปกครองดีเลิศ รู้ถูกรู้ผิดดีเลิศ แต่กระนั้น ดีเลิศของ aristocracy อาจไม่ดีเลิศสำหรับชาวบ้านก็ได้

    โดยนัยนี้ aristocracy ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการด้านดีกว่าของ oligarchy จึงมีความหมายเดียวกับ bureaucratic polity ซึ่งหมายถึงอภิชนาธิปไตยหรืออมาตยาธิปไตย หรืออธิปไตยในมือของคนชั้นสูงที่อ้างตนว่าดีกว่าประชาชนทั่วไป

    ใน อีกแง่หนึ่ง ระบอบการปกครองตามทัศนะของอริสโตเติล ที่สอดคล้องกับความจริงในสังคมมนุษย์มากกว่า aristocracy น่าจะเป็น politeia หรือ polity ที่คนอเมริกันหลายคนเชื่อว่าใกล้เคียงความหมายของ democracy ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่ หรือใกล้เคียงระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด นั่นคือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียม แม้ว่า polity ในยุคของอริสโตเติล ผู้หญิง เด็ก และทาสจะไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองก็ตาม

    กล่าวใน เชิงหลักการ polity เป็นส่วนผสมของ oligarchy และ democracy นั่นคือทุกคน ทั้งคนรวย มีการศึกษา มีสถานะทางสังคม (คนกลุ่มน้อย) และคนจนโง่ (คนหมู่มาก) ต่างอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน จึงต้องมีบทบาททางการเมืองในสังคมร่วมกัน เพื่อถ่วงดุลย์กันและกัน แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่สามารถตัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปได้

    ประชาธิปไตย แบบอเมริกันบอกว่า พลเมืองทุกคนต่างมีบทบาทในรัฐบาล เพราะทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว คนที่เข้ามาสู่ระบบการเลือกตั้ง จะเป็นคนมีเงินเนื่องจากการเลือกตั้งต้องใช้เงินเพื่อการรณรงค์ ดังนั้น ผู้นำประเทศจึงมักเป็นคนร่ำรวย แต่ข้อสำคัญคือผู้นำเหล่านี้ ต้องให้ความเคารพชาวบ้านหรือคนรากหญ้าที่ให้เสียงสนับสนุนจนเขาได้เป็น รัฐบาล และต้องเคารพเสียงของคนชั้นกลางจำนวนมากในอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สร้างสมดุลย์ระหว่างเสียงของคนรวยกับคนจนด้อยโอกาส

    หลัก คิดแบบประชาธิปไตยอเมริกันคือ ให้ความสำคัญกับอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม อันเป็นแนวทางของเสรีชน ไม่ใช่หลักคิดแบบอภิชนาธิปไตยหรืออมาตยาธิปไตย

    ถึงที่สุดแล้ว เมื่อพูดเรื่องการเมือง อาจไม่จำเป็นต้องอ้างว่านักคิดหรือนักวิชาการสมัยใดคิดอย่างไร เพราะความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ ใครอยากได้อะไรหรือต้องการอะไรในทางการเมือง ก็ควรไปต่อสู้ให้ได้มา รวมถึงบางคนที่รวยแล้ว มีอันจะกินแล้ว ซึ่งสู้ด้วยปากและไม่มีอะไรออกจากปากมากนัก นอกจากคำว่า “ความดี”

    ที่มา ประชาไท

    ความความคิดเห็นจากบอร์ดประชาไท

    ความคิดเห็นของ doctor J (visitor) (127.0.0.1 58.8.220.24) .. Tue, 2009-09-15 11:24


    ข้อสังเกตส่วนตัวต่อแนวคิดของYoung

    ตาม ที่นายยังอ้างในบทสัมภาษณ์ว่าเขาคุ้นเคยกับประเทศไทยมานาน รู้จักประเทศไทยคนไทยดี แต่ฝรังคนอื่นๆและสื่อฯฝรังหลายคนรุ้จักเมืองไทยแค่ผิวเผินย่อมเข้าใจประเทศ ไทยไม่ดีเท่านายยัง ให้ความเห็นที่ถูกต้องเท่านายยังไม่ได้

    หนึ่ง นายยังอ้างว่าสนิทกับสฤษดิ์ และออกจะชื่นชมว่าเป็นคนที่ทำคุณูประการให้สังคมไทยมากมาย ผมถามคนไทยว่า คุณเห็นด้วยกับยังในข้อนี้หรือไม่ ว่าจอมเผด็จการคนนี้สร้างคุณูประการให้เมืองไทย น่ายกย่อง เป็นคนดี? แต่ถ้าช.การช่างบอกว่าเป็นคนดีผมคงไม่แปลกใจ หรือเสธ พลบอกว่าเป็นคนดี ผมคงไม่แปลกใจเพราะทำสมบัติตกหล่อนไว้มากมาย นายยังยังบอกว่าป๋า ป.ของผมเป็นคนดี ดีจริงหรือครับ? ซื่อสัตย์? ไม่เคยทุจริต? ลองถามคุณอะไรนะที่อยู่สำนักงานทรัพย์สินฯซิครับวาตอนนั้นลาออกจากคณะ รัฐมนตรีเพราะอะไร รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบยุคนั้น ซื่อสัตย์? ไม่มีคอรัปชั่น? ถามประชาธิปัตย์ดูซิว่าจริงมั้ย? แนวคิดที่นายยังสะท้อนออกมา ทำให้ผมสงสัยมากๆเลยว่าแกรู้จักเมืองไทยจริง? รู้ดีกว่าสื่อฝรังยุคนี้จริง?

    สอง แนวคิดว่าผู้ปกครองต้องมี"ศีลธรรม" นั่นแหละแนวคิดแบบ จักรพรรดิราช,ธรรมราชาโดยแท้เลย ประเภทที่ผู้ปกครองแสนดีแสนวิเศษมาจากสวรรค์ ไม่ต้องมาตรวจสอบ ไม่ต้องมาวิจารณ์ เพราะดีสมบูรณ์แบบ นายยังช่วยบอกหน่อยว่ามีที่ไหนในโลกนี้ ผู้ปกครองทุกคนก็เห็นอ้างตัวว่าเป็นคนดีทั้งนั้น ไม่เคยเห็นมีคนไหนบอกว่าตัวเองเลว ต้องคอยหมั่นตรวจสอบ

    การศึกษาสูงๆ จากสถาบันมีชื่อ ก็มิได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะมีวิจารณญาณที่ดีเสมอไป นายคนนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หรือไม่อย่างนั้น อาจมีปัญญาดีจริง แต่ถูกบดบังด้วยมิจฉา อคติ หรือผลประโยชน์ก็ได้ ผมไม่กล้าสรุปเพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ เพียงแค่ตั้งข้อสังเกต


    ความคิดเห็นของ 666 (visitor) (127.0.0.1 61.90.249.221) .. Tue, 2009-09-15 09:51

    ผมขอวิจารณ์บทวิจารณ์ของคุณอีกทีก็แล้วกันนะครับ

    1. ข้อวิจารณ์ข้อเสนอของยัง 2 ข้อแรก เป็นข้อวิจารณ์ที่อ่อนแอมาก ซึ่งใช้ไม่ได้เลยครับ ถ้าคุณอ่านอริสโตเติลมาดี ก็น่าจะรู้ว่าอริสโตเติลให้ความสำคัญกับตรรกะมาก (ตรรกวิทยาปัจจุบันก็เป็นระบบที่มีพื้นฐานมาจากอริสโตเติล)

    สำหรับ ประเด็นที่ 1 การทำลายเนื้อหาของยัง โดยการตั้งข้อสังเกตว่าเราไม่จำเป็นต้องเชื่อฝรั่ง เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นฝรั่งชั้นสูง (มาอีกแล้ว ท.ชนชั้น ซึ่งคุณคงคิดว่ามันใช้ได้กับทุกเรื่อง-บอกตรงๆ เลยครับมันเชยมากๆ) ซึ่งการทำแบบนี้คุณไม่ได้วิจารณ์เขาที่เนื้อหาเลย คุณแค่ดิสเครดิตเขาเท่านั้นเอง เป็นข้อวิจารณืที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลย

    ดังนั้นเวลาที่เราจะบอกว่าความเห็นเขาน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อมันไม่ใช่ดูที่เครดิตของผู้พูด แต่ต้องดูที่เนื้อหา

    แต่ ความจริงแล้ววิธีการเอาฝรั่งมาอ้างนี่ผมเห็นบ่อยในประชาไทนะครับ ไม่เห็นเคยเห็นบทความคุณวิจารณ์ในลักษณะเดียวกันนี้กับฝรั่งพวกนั้นเลย มันสะท้อนถึงความคงเส้นคงว่าของมาตรฐานขอคุณเองที่วิจารณ์ยังหรือหยุ่น ข้อนี้สิแปลก

    สำหรับประเด็นที่ 2 ผมเชื่อว่าการตัดสินถูกผิดไม่ใช่แบบวิธีการตัดสินแบบอัตวิสัย (Subjective) ครับ การบอกว่ายังพูดถูกเพราะชอบเพราะถูกใจ คนที่เป็นคิดอะไรได้แบบนั้นด้วยข้ออ้างเช่นนี้มันไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่ต้น แล้วล่ะครับ การที่เราจะคุยกันได้หาข้อตัดสินอะไรร่วมกันได้ เราจำเป็นต้องยอมรับความเป็นวัตถุวิสัย (Objective) ร่วมกันประมาณหนึ่งเราถึงจะคุยกันได้ แต่ถ้าจะยืนยันว่าทุกอย่างเป็นค่าในแบบอัตวิสัยหมด ก็เลิกพูดกันครับ เพราะไม่มีประโยชน์ (ฉันชอบฆ่า แกไม่ชอบฆ่า เพราะฉะนั้นเราเลยรู้ไม่ได้ว่า การฆ่าผิดหรือถูก ตรรกะแบบนี้ใช้ไม่ได้นะครับ)

    ตัวอย่างเช่นเรื่อง การเมืองหรือประเด็นสาธารณะ เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดีสำหรับทางการเมืองคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ สาธารณะ (ต่างจากประโยชน์ของแต่ละบุคคล) ถ้าเราเข้าใจกรอบนี้ เวลาที่ยังพูดถึง ดี มีศีลธรรม หรือบอกว่าข้อเสนอของยังเกี่ยวกับสังคมไทยมันดี นั่นคือ มันเป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์เรื่องประโยชน์สาธารณะ หรือปัญหาทางการเมืองที่เรากำลังมองอยู่ มากกว่าตอบโจทย์ความชอบให้กับพวกใดพวกหนึ่ง

    2. ส่วนประเด็นที่ 3 ของคุณนี่แตกหลายประเด็นมากนะครับแต่เต็มไปด้วยเหตุผลบกพร่องเยอะมาก รวมถึงส่วนที่อ้างถึงอริสโตเติลด้วย ผมจะลองยกตัวอย่างบางอันมาให้ดูนะครับ

    2.1 ทางสองแพร่งของอริสโตเติ้ลที่คุณอ้างมาสงสัยว่าจะอ้างผิดนะครับ ผมยังไม่เคยอ่านเจอเลยครับ ระหว่างปกครองโดยคนๆ เดียวที่ไร้ศีลธรรม กับ รัฐประหารที่ละเมิดกฎหมาย ผมอ่านจะอ่านไม่ละเอียดพอ แต่ก็ไม่เคยได้ยินจริงๆ ครับ

    2.2 "นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าและหลังทักษิณทุกคนล้วนบริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยศีลธรรมหรือ" คุณอ้างว่าคนก่อนๆ ก็ไม่ได้ดีไปกว่าทักสิน แต่การวิจารณืแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำของทักสินดีนี่ครับ การยืนยันว่าทักสินเลวก็ยังใช้ได้อยู่ ข้ออ้างแบบนี้ใช้ไม่ได้หรอกครับ อย่างเช่น ป้าคนนึงเล่นไพ่แล้วถูกจับ ป้าก็เลยบอกว่า โจรเลวกว่าทำไมไม่ไปจับโตร หรือตำรวจเองก็รีดไถประชาชนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันไม่ผิด ไม่ใช่นะครับ คือมันก็ยังผิดอยู่ดีไงครับ

    2.3 ทักสินให้ศักดิศรีให้ประชาธิปไตยทื่แท้จริงกับชาวบ้าน คุณกล้ายืนยันอันนี้จริงหรือเปล่าครับ เอาแค่เรื่องความเสมอภาคก็ได้ทักสินทำให้คนในสังคมเสมอภาคจริงหรือ ผมเห็นพวกนึงที่กลายเป็นชนชั้นใหม่ขึ้นมาเลย อย่างพวกนามสกุลชินวัตร หรือกลุ่มนักธุรกิจการเมืองซึ่งเป็นชนชั้นกลุ่มใหญ่เลยเกิดขึ้น ใครต่อสายกับพวกนี้ได้ก็จะมีอภิสิทธิ์ในสังคมขึ้นมาทันทีเลย ชาวบ้านก็รอแต่พวกมันจะเอื้ออาทรอะไรเป็นโอกาสต่อไป นี่หรือครับความเสมอภาคในแบบประชาธิปไตยของคุณ

    2.4 "สังคมไทยอาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า แม้เราจะต้องการศีลธรรม แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของความมีศีลธรรมหรือความไม่มีศีลธรรม" "ข้อเรียกร้องศีลธรรมสูงส่งในทางการเมือง อาจใกล้เคียงกับการชักนำประเทศไปสู่เส้นทางที่จะยกระดับเป็นรัฐศาสนา" ถ้าอาจารย์ของคุณคนไหนเคยสอนคุณแบบนี้ก็อย่าไปเชื่อเขาเลย ครับมันแคบมาก เพราะมันมีคำอธิบายชุดอื่นๆ อีก แต่จะให้ผมมาแย้งก็เสียเวลาครับ (สิ่งที่คุณเสนอมามันไม่ใช่สัจพจน์หรอกครับ) และการปกครองทีมีคุณธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐศาสนาหรอกครับ ลองคิดง่ายๆ ถ้าเราไม่นับถือศาสนาใดเลย เรายังสามารถเป็นคนดีได้มั้ย ได้นะครับ เช่น คนดีในที่นี้อาจจะหมายถึงการไม่ไปละเมิดผู้อื่นไงครับ (ความดีแบบรัฐเลยนะครับนี่)

    2.4 จริงๆ แล้วการปกครองของอริสโตเติลคือการปกครองโดยนักปรัชญานะครับ ไม่ใช่พวกมากพวกน้อย คนเดียวหริอคนเยอะอะไรอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่านักปรัชญาเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผล ซึ่งเหตุผลจะนำไปสู่การมีคุณธรรม และคุณธรรมของอริสโตเติลมันมีภาคปฏิบัติซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนรู้ใช้งาน (ไม่ใช่ว่าเป็นนักปรัชญาแล้วจะไม่เข้าใจคนจน) คนที่มีเหตุผลและมีปัญญาคงจะไม่เอาของกินไปล่อหลอกชาวบ้านหรอกครับ แต่ยอมรับว่าแนวคิดแบบนี้มันเกินจริง (ที่จะมีผู้ปกครองเป็นนักปรัชญาตามแนวคิดแบบอริสโตเติล) แต่ที่สำคัญคือ เขาไม่ใช้ความอยาก ชอบไม่ชอบ ได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ กินได้กินไม่ได้ มาล่อหลอกคนแบบประชาธิปไตยแบบทักสินที่คุณยกย่องหรอกครับ จุดสำคัญที่ยังเอาอริสโตเติลมาอ้างคือ

    "หากคุณเป็นประชาธิปไตยแต่คุณ ฉ้อโกง ทำร้ายผู้อื่น เราเรียกว่าทรราช คุณไม่มีศีลธรรม นั่นเป็นระบบที่เลวร้าย อริสโตเติลกล่าวว่าทุกๆระบบไม่ว่าจะเป็นระบอบกษัตริย์ ขุนนางหรือประชาธิปไตย ต้องมีกฎหมาย มีศีลธรรม และเป็นธรรมที่จะควบคุมอำนาจในทางมิชอบ"

    และการบอกว่าประชาธิปไตยแบบ อเมริกันใกล้กับ polity หรือ ทักสินกำลังจะทำให้ประชาธิปไตยไทยเป็นแบบ polity นี่ยิ่งไปกันใหญ่เลยครับ ลองไปทบทวน 2.3 ดูครับ

    3. สิ่งที่ผมเห็นว่ายังนำเสนอได้น่าสนใจต่างจากนักวิชาการหรือพวกอยากเป็นนัก วิชาการในประชาไท คือ การไม่เอาสังคมการเมืองไทยไปยัดให้ลงกล่องทฤษฎีชนชั้นแบบสังคมตะวันตก ซึ่งมันใส่ไม่ลงครับ จะใส่ให้ลงต้องตัดแขนตัดขาทิ้ง แต่ยังอธิบายว่า สังคมไทยเป็นระบบชนชั้นแบบอุปถัมภ์ (ผมเรียกเอง) อาศัยสายสัมพันธ์มากกว่าเรื่องชนชั้น เจ้าข้า นายทุนลูกจ้างอะไรแบบนั้น สังคมไทยรับใช้คนที่อุปถัมภ์ตัวได้ ซื่อสัตย์ต่อคนที่ให้ประโยชน์ตัวได้ สมัยก่อนคือเจ้าและข้าราชการ แต่สมัยนี้มันเปลี่ยนไป มันเป็นการอุปถัมภ์ระหว่างนายทุนกับลูกจ้าง คนมีเงินกับคนไม่มีเงิน ทักสินใช้ระบบนี้เข้ามายึดครองประเทศไทย และนั่งอยู่บนยอดปิรามิดของระบบอุปถัมภ์อันใหม่นี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไม่เอาปิรามิดอันเก่า แต่เอาอันใหม่ เพราะมันก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของสังคมเสรีประชาธิปไตยจริงๆ

    สังคม ประชาธิปไตยมีสายสัมพันธ์ในแนวราบ คนจะต่างกันไม่มากนักในทางสถานะ หรือการมีอำนาจ แต่มันจะมีสายสัมพันธ์ระหว่างกันในแบบที่มีผลประโยชน์ที่จะต้องรักษาร่วมกัน ผมว่ายังวิจารณ์ว่าทักสินไม่เป็นคนไทยในความหมายนี้ เพราะเขารู้สึกว่าถ้าเขาไม่ได้นั่งอยู่บนยอดของชนชั้นอุปถัมภ์นี้แล้ว เขาไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เลย ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกับคนไทยคนอื่นๆ (เช่น พยายามให้ประเทศไปต่อได้ ถึงแม้เขาจะพ่ายแพ้) ซึ่งประเด็นนี้คือประเด็นที่ยังยกเทียบกับสฤษ และ ป. หรืออื่นๆ ที่เขายังมีสายสัมพันธ์กับคนไทยอยู่บ้าง (ถึงแม้เขาจะไม่ใช่คนที่ดีอะไร) คือ เขายังเห็นว่าตัวเขาเล็กกว่าประเทศ แต่ทักสินคิดว่าตัวเขาใหญ่กว่าประเทศ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ต้องสนใจอะไร

    เขียนนานเลย พยายามอ่านดูหน่อยแล้วพิจารณาดูหน่อยก็แล้วกันครับ

    ปกครองโดยคนๆ เดียว ดี คือ Kingship / เลว คือ Tyranny
    ปกครองโดยคนส่วนน้อย ดี คือ Aristocracy / เลว คือ Oligarchy
    ปกครองโดยคนจำนวนมาก ดี คือ Polity / เลว คือ Democracy

    ถ้า คิดแบบอริสโตเติลก็จะต้องเลือกฝั่งดีครับ แบบไหนก็ได้ แต่เป็นไปได้มากสุดก็คือ polity การบอกว่า polity คือ democracy นี่ผิดอย่างแรงครับ และบอกว่าอเมริกาและประชาธิปไตยแบบทักษิณนี่ใกล้เคียงกับ polity นี่ไปกันใหญ่ครับ


    ความคิดเห็นของ doctor J (visitor) (127.0.0.1 58.8.220.24) .. Tue, 2009-09-15 10:56

    ไม่ บ่อยนักที่จะพบว่า คำวิจารณ์ของผู้อ่านนั้น"ดี"กว่าบทความเดิมเสียอีก บทวิจารณ์ของคุณ666เข้าข่ายอันนี้ ของแสดงความคารวะในการโต้แย้งผู้เขียนได้อย่างมีเหตุผลมากที่สุด เท่าที่เคยเห็น(และไม่ค่อยได้พบบ่อยนักในประชาไท(ไทย))มา เลื่อมใส เลื่อมใส และอยากเห็นความเห็นที่มีคุณภาพดีๆแบบนี้มากขึ้น แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด

    ผมมีข้อสงสียและไม่มั่นใจตามที่คุณ666ตีความว่า สังคม ประชาธิปไตย มีสายสัมพันธ์ในแนวราบ คนจะต่างกันไม่มากนักในทางสถานะ หรือการมีอำนาจ แต่มันจะมีสายสัมพันธ์ระหว่างกันในแบบที่มีผลประโยชน์ที่จะต้องรักษาร่วมกัน ผมว่ายังวิจารณ์ว่าทักสินไม่เป็นคนไทยในความหมายนี้ เพราะเขารู้สึกว่าถ้าเขาไม่ได้นั่งอยู่บนยอดของชนชั้นอุปถัมภ์นี้แล้ว เขาไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เลย ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกับคนไทยคนอื่นๆ (เช่น พยายามให้ประเทศไปต่อได้ ถึงแม้เขาจะพ่ายแพ้) ซึ่งประเด็นนี้คือประเด็นที่ยังยกเทียบกับสฤษ และ ป. หรืออื่นๆ ที่เขายังมีสายสัมพันธ์กับคนไทยอยู่บ้าง (ถึงแม้เขาจะไม่ใช่คนที่ดีอะไร) คือ เขายังเห็นว่าตัวเขาเล็กกว่าประเทศ แต่ทักสินคิดว่าตัวเขาใหญ่กว่าประเทศ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ต้องสนใจอะไร

    ผม ยังไม่มั่นใจตามที่คุณเห็นว่าสฤษดิ์ แปลก ยังมีสายสัมพันธ์กับคนไทยอยู่บ้าง (ถึงแม้เขาจะไม่ใช่คนที่ดีอะไร) คือ เขายังเห็นว่าตัวเขาเล็กกว่าประเทศ คุณมีหลักฐานอะไรยืนยันความเห็นอันนี้ สฤษดิ์ม้ามแตกตายไปก่อน แปลก ยอมรับการแพ้ในเกมการเมืองแบบชายชาติทหารหรือว่าเขาไม่มีโอกาสจะ"กลับมา "มากกว่า มีหลักฐานว่าเขาสามารถกลับมาได้แต่สมัครใจไม่กลับมาเองหรือเปล่า? ในสายตาผมทั้งหมดล้วนมองเห็นตัวเองเหนือประเทศทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นเป็นเผด็จการไม่ได้หรอก


    ความคิดเห็นของ 666 (visitor) (127.0.0.1 61.90.249.221) .. Tue, 2009-09-15 11:33

    1. เรื่องสฤษ กับ ป. นี่ ผมก็ไม่รู้ในรายละเอียดนะครับว่า หลังจากเขาล้มไปแล้ว เขาคิดอย่างไร แต่ที่เป็นข้อมูลในเชิงประจักษ์คือ การที่สังคมไทยไม่มีสฤษ หรือ ป. สังคมไทยก็ไม่ได้ปั่นป่วนเพระพวกเขาเท่าไหร่ ซึ่งต่างจากกรณีทักสิน เขาเป็นปัจจัยหลักในความปั่นป่วนที่ตามมาภายหลังจากที่รัฐบาลของเขาล้มลงไป เทียบกับ อ.ปรีดี คงจะชัดกว่า อ.ปรีดีพ่ายแพ้ความไม่ชอบธรรม (ถ้าจะอ้างว่ากระบวนการล้มทักสินไม่ชอบธรรม ก็คงคล้ายกัน) แต่ อ. ก็ไม่ทำแบบทักสิน เช่น ดิสเครดิตประเทศตัวเอง สร้างปลุกมวลชนฝ่ายตัวให้ออกมาสร้างความปั่นป่วนไม่หยุด ทั้งหมดนี้เขาทำเพื่อใครครับถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง และเงินของเขา

    ส่วน "ทักษิณยังมีข้อแตกต่างกับพวกเผด็จการรุ่นก่อน เขาพยายามเข้ามาตามกติกาที่รธน.วางเอาไว้ แม้จะเป็นการฉวยโอกาสจากช่องโหว่ จุดอ่อนของกติกา แลจุดอ่อนของคนไทย แต่ก็ยังเป็นแค่การขี้โกงในเกม ไม่ได้แหกกฏ ล้มกระดาน" ท่อนแรกเห็นด้วยครับ ส่วนท่อนหลังไม่แน่ใจว่ามันเลวน้อยกว่ายังไง โกงในเกมกับโกงนอกเกม โกงตามกฎ (ที่ตัวเองเป็นผู้คุมและสร้างกฎ) กับโกงแหกกฎ เล่นในกระดานที่ตัวเองคุมได้ทั้งหมด (ศาล องค์กรอิสระ กกต สภา สื่อ) กับ การล้มกระดานแบบที่ว่า

    2. พูดเรื่องคนดีนี่เพ้อเจ้อแน่ครับ แต่ถ้าคุณอ่านของผมให้ดี คนดีแบบผมนี่ไม่ใช่ดีแบบนักบวช หรือ นางสาวไทย อะไรแบบนั้นหรอกนะครับ ดีทางการเมืองมันมีข้อเดียวสั้นๆ เท่านั้นเอง คือ การกระทำที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าเราคาดหวังความดีแบบนี้จากระบบ ผู้นำ ไม่ได้ เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการออกไปเลือกตั้งล่ะครับ เราก็ต้องเลือกคนที่สามารถสร้างหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะนั้นได้ใช่มั้ย ครับ ถ้าเชื่อแบบอริสโตเติล การเมืองก็คือสิ่งที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี ถ้าการเมืองไม่นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้ คุณจะเอาหรือครับ คราวนี้ก็ต้องเถียงกันว่า ทักสินมันสร้างชีวิตที่ดีจริงหรือ หรือว่ามันเลวกว่าเก่า

    ให้ผมยกตัวอย่างก็ประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่ว ไปเลยครับ อเมริกา อังกฤษ สแกนดิเนเวีย เขาเลือกผู้นำจากคนที่เขาคิดว่าสามารถสร้างสรรค์ประโยชนืสาธารณะ หรือปกป้องประโยชน์ของเขาได้ดีกว่า ดีคือแบบนี้ครับ อย่าไปเข้าใจว่าดีแบบนักบวช ดีแบบนางสาวไทย แต่ผมว่าที่คุณอ้างว่า "พอตัดสินว่าดีแล้วไม่ต้องตรวจสอบ มอบอำนาจให้เป็นฮ่องเต้? " วิธีคิดแบบนี้มันคล้ายกับคนที่สนับสนุนทักสินมากกว่านะครับ ไม่ใช่แบบที่ผมเสนอหรอก


    แต่ทักษิณยังมีข้อแตกต่างกับพวกเผด็จการ รุ่นก่อน เขาพยายามเข้ามาตามกติกาที่รธน.วางเอาไว้ แม้จะเป็นการฉวยโอกาสจากช่องโหว่ จุดอ่อนของกติกา แลจุดอ่อนของคนไทย แต่ก็ยังเป็นแค่การขี้โกงในเกม ไม่ได้แหกกฏ ล้มกระดาน ดังนั้นวิธีการมองปัญหาทักษิณ ควรมองย้อนไปดูว่าระบบของเรามีจุดอ่อนอย่างไร สังคมไทยมีจุดอ่อนตรงไหน แล้วแก้จุดอ่อนตรงนั้น เพื่อให้ระบบเข้มแข็งขึ้น รองรับทักษิณหรือใครก็ตามได้ดีขึ้นต่างหาก จึงจะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ไช่การปฏิเสธแค่ตัวบุคคลที่ชื่อทักษิณ แต่ยังจมปลักอยู่กับระบบเดิมๆ ที่มีปัญหามากมายและล้าหลัง

    เลิกเพ้อเจ้อเรื่องคนดีได้แล้ว คนที่มีสติปัญญาดีอย่างคุณน่าจะเข้าใจได้ว่าไม่ไช่ทางออก เพราะไม่มีใครตัดสินได้ว่าใครดี และคนดีกลับใจไปชั่วไม่ได้หรือไง พอตัดสินว่าดีแล้วไม่ต้องตรวจสอบ มอบอำนาจให้เป็นฮ่องเต้? ถ้าแนวคิดนี้เป็นไปได้จริง คงมีคนใช้ไปนานแล้ว ลองยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในแนวทางนี้ให้ดูหน่อย


    ความคิดเห็นของ นักปรัชญาชายขอบ (visitor) (127.0.0.1 10.21.1.198, 202.29.83.65) .. Tue, 2009-09-15 11:56
    ขออนุญาต แลกเปลี่ยนกับ doctor

    ขออนุญาต แลกเปลี่ยนกับ doctor J ครับ

    ผม คิดว่าคนดีนั้นตัดสินได้ครับ และมี "กรอบ" ใดกรอบหนึ่งสำหรับตัดสินเสมอครับ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราควรใช้กรอบไหนตัดสิน "คนดี" สำหรับเรื่องอะไร/ภารกิจอะไร

    เช่น เมื่อเราเลือกผู้แทนของเราในกรอบของสังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องใช้กรอบความเป็นประชาธิปไตยตัดสินครับ คนที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เช่น ใช้อำนาจรัฐ แทรกแซงสื่อ องค์กรอิสระ ฯลฯ เพื่อผลประโยชน์ตนเองและพรรคพวก คนที่ใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจในเครือของตนเองและ พรรคพวก คนที่พฤติกรรมไม่โปร่งใส ไม่ยอมรับการตรวจสอบ หรือหาทางหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ คนที่สมคบคิดกับทหาร อำมาตย์ หรืออำนาจนอกระบบเพื่อก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ฯลฯ คือคนไม่ดีตาม "กรอบประชาธิปไตย" ครับ และเราต้องไม่เลือกคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้มาเป็นผู้แทนของเรา (ถ้าเรามีตัวเลือกที่ดีกว่านะครับ)

    ผมคิดอย่างตรงไปตรงมาว่า ศาสนา เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ก็มี "กรอบ" หรือ "เกณฑ์" ตัดสินคนดีของเขาครับ สังคมประชาธิปไตยก็ต้องมี "กรอบ" หรือเกณฑ์ตัดสิน "คนดี" ที่ควรเป็นผู้แทนของปวงชน เช่น คนมีนิสัยเผด็จการไม่ยอมรับฟัง และไม่เคารพความเห็นต่าง ย่อมไม่ใช่คนดีตามกรอบประชาธิปไตย (แต่เขายังมีสิทธิที่จะเสนอตัว เสนอนโยบายให้ประชาชนเลือกนะครับ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับการเป็น "คนดี" ตามกรอบประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ประชาชนก็ควรเลือกผู้แทนที่มี "นิสัย" (character)เป็นนักประชาธิปไตยมากกว่าจอมเผด็จการมิใช่หรือ?)

    ผมเห็น ด้วยว่าเราต้องสร้าง "ระบบที่ดี" แต่สถาบันการศึกษาและ ฯลฯ ก็ต้องพัฒนาคน (เช่นในด้านจิตสำนึก สปิริต ฯลฯ) หรือสร้างวัฒนธรรมการเลือกคนดีซึ่งมี charater ที่สอดคล้องกับระบบที่ดีด้วย เราจึงจะมี "ตัวเลือกที่ดี" มากขึ้นไงครับ


    ความคิดเห็นของ doctor J (visitor) (127.0.0.1 58.8.220.24) .. Tue, 2009-09-15 14:23

    ขอบคุณครับที่กรุณามาแลกเปลี่ยนความเห็น

    การ วาง"กรอบ"แนวคิดเรื่องคนดี เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่มีทางรู้ได้ครับว่า ใครดีจริง ไม่ดีจริง เราเห็นแต่สิ่งที่เขาเสนอ และเราก็ตัดสินใจว่าเราจะ"ซื้อ"สิ่งที่นำเสนอ(นโยบาย)หรือเปล่า ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา เขาก็ได้รับฉันทานุมัติจากมหาชนให้ดำเนินการนั้น ด้วยอำนาจรัฐที่เขาได้ แต่ถ้าเขาไม่"ดีจริง"หล่ะ? ผมจึงเห็นว่า ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจ ที่เข้มแข็งและเป็นกลาง สำคัญและจำเป็นไม่แพ้ การเคารพเสียงส่วนใหญ่ และนี่คือประเด็นสำคัญที่สุดที่การเมืองไทยไม่มี หรือมีก็ง่อยเปลี้ย อันเป็นข้ออ้างของพวกที่ทำการโค่นล้มการปกครองประชาธิปไตยทุกยุคทุกสมัย

    ผม เห็นด้วยเกินร้อยเลยครับว่า มีแต่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้คนไทยเท่านั้น จะช่วยให้คนไทยสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้ตัวเองได้ ไม่มัวนั่งงอมืองอเท้าแล้วรอให้เทวดาส่ง"คนดี"ลงมาปกครอง


    ความคิดเห็นของ นิธินันท์ (visitor) (127.0.0.1 124.121.176.89) .. Tue, 2009-09-15 11:36

    ได้อ่านความเห็นของคุณ 666 แล้ว ขอบคุณมาก ชอบที่เสนอมุมมองเพิ่มเติมให้พิจารณา

    อย่างไรก็ตาม ในทุกการสื่อสารมักมีข้อจำกัด คำพูดและข้อเขียนเดียวกัน คนต่างคนก็รับและตีความต่างกัน

    ขอตอบสั้นๆ ตามที่คุณ 666 ชี้แจงเป็นข้อตามนี้

    1. ประเด็นที่ 1 และ 2 ที่เขียนถึง ไม่ได้ดิสเครดิตยัง

    ขออภัยที่เขียนหนังสือไม่ดี ทำให้คนอ่านอ่านไม่แตก สับสนปนเปไปหมด

    เจตนาของข้อ 1 และ 2 เป็นการตั้งคำถามถึงวิธีนำเสนอข่าวและวิธีคิดของสื่อ

    หมายความว่า สื่อควรบอกผู้รับสื่อว่าใครคือยัง มีอะไรเกี่ยวกับยัง ที่ทำให้ผู้รับสื่อเห็นว่าต้องอ่านบทสัมภาษณ์นี้

    ถ้า สัมภาษณ์เรื่องบ้านเชียง หรือแหล่งโบราณคดีอื่นๆ แล้วบอกว่า ยัง เป็นผู้ค้นพบบ้านเชียง ไม่แปลก แต่ถ้าบอกคนอ่านว่ายังรู้เรื้องการเมืองไทยดีกว่าคนไทย ผู้รับสื่อควรจะรู้ว่า ทำไมยังจึงรู้มากกว่าคนไทย ทำไมสื่อจึงบอกอย่างนั้น เขาศึกษาวิจัยเรื่องเมืองไทยมาหลายสิบปีหรือ หรือเป็นเพราะอะไร

    เรื่องวิธีการอ้างฝรั่งก็เช่นกัน ถ้าคุณอ่าน จะเห็นว่า ผู้เขียนเห็นว่าทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันมักอ้างความเห็นฝรั่ง

    ไม่ วิจารณ์ประเด็นเดียวกันกับ "ฝรั่งพวกนั้น" ก็เพราะ ผู้ที่นำความเห็นของ "ฝรั่งพวกนั้น" มาเสนอให้ทราบทั่วกัน บอกที่มาของ "ฝรั่งพวกนั้น" ชัดเจนว่า "ฝรั่งพวกนั้น" ศึกษาเรื่องเมืองไทยในทางวิชาการอยู่

    ทั้ง หมดนี้ ไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อ "ฝรั่งพวกนั้น" แต่แปลว่า เราซึ่งเป็นผู้รับสื่อ สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ถ้า"ฝรั่งพวกนั้น" นำเสนอเรื่องเมืองไทย ไม่ว่าจะผิดหรือถูกในทัศนะของเรา แปลว่าเขา "ศึกษา" มานานและอย่างเอาจริงเอาจังเพียงใด

    ประเด็นที่ 2 ในข้อ 1 ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่คุณยกมา แต่เป็นการตั้งคำถามกับสื่อว่า เหตุใดสื่อจึงเชื่อและนำเสนอผู้รับสื่อว่า ฝรั่งคนนี้หรือคนนั้น (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นยัง) รู้จักเมืองไทยดีกว่าคนไทย เพราะฝรั่งคนนี้และคนนั้นคิดเหมือนสื่อหรือรัฐบาลหรือไม่ หรือเพราะอะไร

    เป็นการตั้งคำถาม

    2.

    2.1 ประเด็นที่สาม เรื่องทางสองแพร่ง เป็นคำพูดของยัง

    ศีลธรรม ในที่นี้คือ ยัง อ้างถึงรัฐที่ผู้ปกครองต้องมีศีลธรรมของอริสโตเติล

    2.2 ไม่เกี่ยวกับสร้างภาพให้ทักษิณดีขึ้น เพราะสร้างไม่ได้ แต่เป็นการตั้งคำถามตรงๆ ว่า ผู้เรียกร้องศีลธรรมทำอย่างไรกับผู้ปกครองไร้ศีลธรรมคนอื่นๆ ละเว้น หรืออย่างไร

    2.3 สองประโยคที่ว่า 'ประชาชนจำนวนมาก "รู้สึก" ว่าเขาได้ศักดิ์ศรีความเป็นคน' กับ 'ทักษิณ เป็นผู้นำที่ดีเลิศ ทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรี' ต่างกันมาก และผู้เขียนพูดประเด็นแรก ไม่ได้พูดประเด็นที่สอง

    ถามว่าพิจารณาจากอะไร บางทีคำตอบที่ง่ายที่สุดคือการไปสัมภาษณ์คนเสื้อแดงโดยถอดอคติว่าเขารับเงิน ค่าจ้างมาสวมเสื้อแดง ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ มีคนเสื้อแดงอยู่จริง และจำนวนมาก การปฏิเสธว่าไม่มีคนเสื้อแดงที่ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเอง จะทำให้มองปัญหาสังคมไทยผิด

    คนมีอภิสิทธิ์ในสังคมเหนือคนอื่น มีเส้นสาย มีอิทธิพล เห็นแก่ประโยชน์ตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้มีแต่ตระกูลชินวัตรอย่างที่คุณอ้าง แต่มีมากกว่านั้น มีมานานแล้ว และต้องเปลี่ยนแปลง

    ชาวบ้านมิได้แต่รอแต่ "เอื้ออาทร" พวกเขาถูกสร้างภาพให้เป็นอย่างนั้น และยังมีอยู่ ที่ถูกกล่อมเกลาให้เชื่ออย่างนั้น แต่ดูเหมือนชาวบ้านจะเชื่ออยางนั้นน้อยลงมาก

    2.4 The Best ของอริสโตเติลที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดีนั้น ต้องเก่งหลายอย่างในคนเดียวกัน ซึ่งนักปรัชญาก็ต้องมองว่านักปรัชญาดีที่สุดเพราะรู้ถึงเรื่อง หรือเป็นปัญญาชนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม คนที่มีโอกาสมากกว่าที่จะมาถึงตรงนี้ ก็ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศ เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นการอ้าง "ชนชั้น" แต่เป็นการกล่าวตามปกติถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

    ไม่ได้เขียนเลยว่าทักษิณกำลังจะทำให้ประเทศไทยเป็น polity

    เรื่อง ที่กล่าวถึงประชาธิปไตยอเมริกันกับ polity ซึ่งหมายถึงการถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างคนจนคนรวยและคนชั้นกลางนั้น เป็นคนอเมริกันพูดขึ้นมาในการสัมมนาทางการเมืองเมื่อหลายปีมาแล้ว ได้บอกชัดเจนในข้อเขียนว่าเป็นอเมริกันบางคนหรือหลายคนคิดอย่างนั้น ไม่ได้บอกว่าเป็นความถูกต้องที่ต้องเชื่อ

    3. รับฟัง

    ขอบคุณทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×