ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องสมุดรวมสาระ(แนว)อุดมปัญญาของกรรมกร

    ลำดับตอนที่ #21 : บทสัมภาษณ์ ปราบดา หยุ่น ว่าด้วยวงการหนังสือญี่ปุ่น

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 162
      0
      4 ธ.ค. 52

    คนไทยทั่วๆ ไป เวลาพูดถึงญี่ปุ่น จะมองว่าญี่ปุ่นเศรษฐกิจดี การไปเขียนหนังสือในญี่ปุ่นก็น่าจะได้รายได้ดีใช่ไหม

    เอา เป็นว่าความเข้าใจนั้นไม่ถูก ค่อนข้างผิด แต่ถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้วย่อมต้องดีกว่า เพราะว่ารายได้ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ก็จะมากกว่าไทย 1-2 เท่า เช่น เขียนต้นฉบับลงนิตยสารในประเทศไทย จะได้ 1,500-3,000 บาท แต่ที่ญี่ปุ่นจะได้ 7,000 บาท เพราะฉะนั้นรายได้แต่ละเดือนย่อมต้องดีกว่าเขียนในประเทศไทย แต่ในด้านของวงการวรรณกรรมที่คนมักจะคิดว่าพิมพ์หนังสือในญี่ปุ่นแล้วคงจะ ขายดีมาก ขายได้เป็นแสนๆ เล่ม เรื่องนั้นไม่จริง เพราะความเป็นจริงในตอนนี้ วงการวรรณกรรมที่ค่อนข้างจะจริงจังทั่วโลกก็มีสถานภาพคล้ายๆ กัน คือไม่ได้ดีมาก คนอ่านก็ยังมี ผมคิดว่ามีเป็นจำนวนพันถึงหมื่น เพราะฉะนั้นในแง่คนอ่าน ในแง่ธุรกิจ ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเมืองไทยมากนัก เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นมีโอกาสมากกว่า ถ้าหนังสือเล่มไหนของญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมาก ก็จะขายได้ดีมาก เป็นระดับล้านเล่ม ซึ่งในเมืองไทยถึงดียังไงก็อาจจะไม่ถึงระดับนั้น

    ถ้า เป็นที่ญี่ปุ่น หนังสืออาจจะกระจายได้มากกว่า เพราะทั้งประเทศค่อนข้างจะมีความเจริญที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น ทั้งหนังสือและนิตยสารก็ได้ไปถึงหัวเมืองต่างๆ ในแง่ของการกระจายไปยังคนอ่าน อาจจะไปไกลกว่า


    บรรณาธิการนิตยสารญี่ปุ่นเป็นอย่างไร ต่างกับบรรณาธิการนิตยสารบ้านเราไหม

    ผม คิดว่าระบบของเขาจริงจังกว่า มีการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจนกว่า และทุกอย่างในญี่ปุ่นจะต้องมีบุคคลรองรับ ไม่ใช่แบบสบายๆ แบบบ้านเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปหาเขา เขาก็ต้องส่งตัวแทนมาเพื่อพาเราเข้าไปคุย เวลาที่เขามาคุยกับเรา ก็จะมีคนมาต้อนรับในห้องรับแขก คือมันจะมีพิธีกรรม แต่มันก็เป็นพิธีกรรมที่เขาทำเพราะเขาคิดว่าเป็นการให้เกียรติเรา พอคุยกันจริงๆ ก็ธรรมดา ไม่มีอะไร บรรณาธิการของผมเป็นคนตลกๆ ด้วยซ้ำ คือเป็นคนที่พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไร เวลาพูดกับผมก็ประหม่าๆ นิดหน่อย หน้าก็แดงๆ อาจจะเป็นโรคผิวหนังอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ซึ่งก็ตลกดี เป็นโลกของวงการนิตยสารญี่ปุ่น ที่พอได้เข้าไปแล้วก็รู้สึกว่าสบายๆ คล้ายๆ เมืองไทย

    นิตยสารที่ คุณเขียนความเรียงให้เพิ่ง มีอายุแค่ 3 ปี ในแวดวงธุรกิจถือว่าใหม่มาก จริงๆ แล้วในเวลา 3 ปีนั้น นิตยสารของญี่ปุ่นสามารถอยู่ในวงการได้ไหม

    ผม เคยคุยเรื่องนี้กับคนญี่ปุ่นเหมือนกัน มันเป็นยุคที่อาจจะคล้ายๆ กันทั่วโลก คือธุรกิจนิตยสารค่อนข้างแย่ แล้วญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนิตยสารเยอะมาก แต่นั่นก็เป็นการเข้าใจที่ผิด ว่านิตยสารทุกเล่มมีคนอ่านและขายดี จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นแค่เพียงว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ชอบข้อมูล เพราะฉะนั้นเขาก็จะชอบมีนิตยสาร เวลาที่เขาอยากจะดูหนัง เขาก็เปิดอ่านเอา คือเขาจะเป็นประเภทชอบศึกษาก่อนว่าที่นี่จะมีอะไร ร้านนี้มีอะไรขาย เวลาไปกินคาเฟ่นี้มีอะไรอร่อยๆ

    เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นก็จะมีนิตยสารออก มาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีมากนัก เพียงแต่ว่าความที่เขามีวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ ก็ทำให้มีแรงสนับสนุนต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างตอนนี้นิตยสาร Eye Scream ที่ผมเขียน เขาก็เริ่มปรับตัวแล้ว อาจเพราะมีผมไปเขียน (หัวเราะ) อาจเพราะเขาต้องขายมากขึ้น ผมคิดว่าสถานการณ์ก็คล้ายๆ เมืองไทย คือทำตามแบบที่ตัวเองต้องการได้จุดหนึ่ง แล้วค้นพบว่ามันทำให้มีสปอนเซอร์เข้ามายาก หรือว่าเฉพาะกลุ่มเกินไป เช่น ถ้ามีแต่พวกนอกกระแสอ่าน มันก็จะอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นในแง่ธุรกิจเขาก็คงต้องปรับ และดูเหมือนว่าเขาพยายามจะเอาสิ่งที่มีสาระออกไปบ้าง ก็เปลี่ยนให้เป็นนิตยสารแฟชั่นมากขึ้น ผมว่ามันก็คล้ายๆ กันทั่วโลก

    ถึงที่สุด โลกอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรที่เป็นสาระมากนัก

    ผม คิดว่ามันมีกลุ่ม คือในความเชื่อของผมมันมีอยู่เสมอ แต่ถ้าคนทำธุรกิจคาดหวังมากไปกว่าที่มันมี มันก็อาจจะเกิดปัญหาได้ ผมเชื่อว่าคนที่สนใจในเรื่องสาระ หรือสิ่งที่เกี่ยวกับความรู้ ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเสมอ แต่มันไม่เคยที่จะเป็นจำนวนใหญ่มหาศาล ตราบใดก็ตามที่คุณลงมือทำธุรกิจ แล้วคุณคิดว่าเราจะขายนิตยสารหนึ่งแสนเล่ม หรือพิมพ์หนังสือเป็นหมื่นเป็นแสน คุณก็ไม่ควรจะทำอะไรที่มันเกี่ยวกับความรู้หรือว่าสาระ เพราะว่าจำนวนคนขนาดนั้น มันไม่มีที่จะมารองรับ ถ้าโลกนี้มีคนที่มีสาระเป็นล้าน โลกก็คงจะดีกว่านี้

    งานที่เขียนในญี่ปุ่นจะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในญี่ปุ่นด้วยไหม

    มี ครับ ก่อนหน้านี้ตอนต้นปีก็มีรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วหนึ่งเรื่อง ซึ่งคัดสรรจากเรื่องสั้นเรื่องต่างๆ ของผมที่พิมพ์ในเมืองไทย ตั้งแต่เรื่อง ความน่าจะเป็น อุทกภัยในดวงตา ฯลฯ บรรณาธิการที่เป็นคนเลือกเรื่องก็คือคนแปล เขาเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยอยู่ที่ญี่ปุ่น ชื่ออาจารย์อุโดะ เซ็นเซ แกก็เลือกเรื่องที่คิดว่าจะสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้ง่ายก่อน แล้วหลังจากนั้นก็คงจะมีเรื่องอื่นๆ แปลตามมาอีก ส่วนความเรียงใน Eye Scream จะออกในปลายปีนี้

    วิธีการทำงานในเมืองไทยระหว่างนักเขียนกับผู้พิมพ์ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วมีข้อแตกต่างอะไรบ้าง

    ก็ เหมือนกับเรื่องอื่นๆ คือที่ญี่ปุ่นมันมีระบบที่ชัดเจน แม้กระทั่งบริษัทเล็กๆ สมมติเปรียบกับไต้ฝุ่น ญี่ปุ่นก็มีบริษัทเล็กๆ แบบไต้ฝุ่นเยอะพอสมควร แต่การทำงานของเขาค่อนข้างเป็นมืออาชีพ พยายามจะทำให้มันเหมือนกับบริษัทใหญ่ มีคนทำการตลาด มีคนมาต้อนรับขับสู้ มีอะไรต่างๆ การทำงานร่วมกันมันค่อนข้างที่จะเป็นระบบง่ายกว่า หรืออย่างเรื่องโกง เรื่องอะไรทำนองนี้ คงจะไม่ค่อยมี หรือเรื่องรายละเอียดที่อาจจะทำให้รำคาญก็คงจะน้อยกว่า

    ผลตอบแทนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับการพิมพ์หนังสือในเมืองไทย

    เหมือน กัน เปอร์เซ็นต์เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นเงินเยนและราคาหนังสือมากกว่าบ้านเรา 1-2 เท่า เราก็จะได้ค่าตอบแทนมากกว่าเมืองไทย 1-2 เท่า มันเหมือนกับเยอะ เพราะเราอยู่ที่เมืองไทย แต่ถ้าเราอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น มันก็จะธรรมดา พอๆ กับคนทั่วๆ ไป

    ถ้าเราได้ผลตอบแทนแบบญี่ปุ่นและดำเนินชีวิตแบบนักเขียนในญี่ปุ่น เราจะอยู่ได้ไหม

    ผม คิดว่าถ้าทำงานสม่ำเสมอ มีหนังสือพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ และได้เขียนคอลัมน์ประจำเยอะๆ ก็คงจะอยู่ได้ คนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่เขาก็ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยอะไร เขาก็ใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางทั่วๆ ไป ผมคิดว่าที่ญี่ปุ่นคงมีอะไรต่างๆ ที่รองรับ ช่วยเหลือให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้ามีงานทำ

    งานวรรณกรรมในญี่ปุ่นเวลานี้ เริ่มพิมพ์เต็มที่อยู่ในระดับประมาณกี่เล่ม

    ก็เหมือนเมืองไทย ประมาณ 3-5 พันเล่ม

    ที่เราคิดว่าในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือญี่ปุ่น วรรณกรรมขายได้ดีกว่า ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง

    แน่ นอนเลยว่าไม่ใช่เรื่องจริง คือผมก็พอทราบเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมในอังกฤษหรือในอเมริกา คนที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งได้เริ่มพิมพ์ ก็พิมพ์จำนวนประมาณนี้ ต่อเมื่อมีเสียงตอบรับที่ดี หรือฉบับแรกขายได้ค่อนข้างดี มันก็อาจจะดีขึ้นเรื่อยๆ

    ข้อแตกต่างระหว่างไทยกับต่างประเทศที่มี วัฒนธรรมการอ่านที่ดีกว่า มีแค่ว่าทางด้านนั้นเขามีโอกาสที่จะโตมากกว่าเรา ของเราต่อให้ดียังไงก็ขายไม่ได้เป็นจำนวนมหาศาลขนาดนั้น แต่ของเขาถ้าถูกแจ็กพ็อต หรือดังขึ้นมาปุ๊บ ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีข้ามคืนได้ นี่คือข้อแตกต่าง


    ภาพรวมของความเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรมไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

    ผม อาจจะไม่ใช่คนที่เหมาะที่จะคุย เพราะ หนึ่ง ต้องสารภาพว่างานที่ผมอ่านส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะผมถนัดมากกว่า ด้วยความที่มีนักเขียนหรือแนวการเขียนหลายๆ แนวที่ผมชอบ ส่วนใหญ่ผมก็เลยเลือกอ่านภาษาอังกฤษ แต่เท่าที่เห็นแบบกว้างๆ แบบไม่ลึกซึ้ง คิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างเหมือนกัน หรือว่ามีนักเขียนที่เขียนงานแตกต่างไปจากเดิมบ้าง ซึ่งผมก็คิดว่ามันเป็นธรรมชาติของวงการวรรณกรรม อาจจะได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นอิทธิพลคนละแบบกับอิทธิพลที่เคยเข้ามาเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นงานมันก็จะเปลี่ยนไป ส่วนจะไปลงลึกว่าดีไหม ใครน่าสนใจ ผมไม่ค่อยรู้เท่าไหร่

    ช่วงหลังๆ ที่อ่านงานภาษาอังกฤษ แนวทางการอ่านของคุณไปทางไหน

    ผม แทบจะไม่ได้อ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นเลย เพราะผมรู้สึกว่าหลายๆ อย่างที่เราอ่าน ที่มันเป็นงานคลาสสิก มันก็ดีอยู่แล้ว และในชีวิตนี้ก็อ่านไม่มีวันจบสิ้น หลังๆ มาถ้าไม่เป็นงานคลาสสิกไปเลย ผมก็จะอ่านงานที่เป็น non-fiction หรือว่าสารคดีมากกว่า เช่น เรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องสังคม เรื่องอะไรทั่วๆ ไป บางทีพอมีเรื่องอะไรที่เข้ามาสะกิดใจ อยากจะไปค้นหา ก็ไปหาหนังสือมาอ่าน เช่น พอมีเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ผมก็หาหนังสือแบบนั้นมาอ่าน คือผมเป็นคนชอบอ่านอะไรแบบนั้น อะไรที่มันเหมือนกับไม่มีคำตอบที่แท้จริง แต่เป็นการเรียนรู้ เป็นการศึกษาไปเรื่อยๆ

    กระแสของงานวรรณกรรมนอกกรอบหรือนอกกระแสจะขยายวงกว้างออกไปหรือจะหดแคบลง

    ผม ค่อนข้างจะเชื่อในเรื่องของบุคคลมากกว่า บางทีคนจะพูดว่าพอช่วงนี้มีกระแสแบบนี้ ก็จะมีงานแบบนี้ออกมาเยอะ ซึ่งมันก็จริง สมมติว่าช่วงที่งานทดลองออกมาเยอะ มันก็จะมีคนที่ได้แรงบันดาลใจและอยากจะเขียนแบบนั้นบ้าง แล้วก็เขียนออกมา แต่ผมคิดว่าหลายๆ ครั้งมันก็เป็นแค่กระแส คนที่จะเป็นแบบนั้นจริงๆ ในตัวตนของเขา ในงานของเขา ก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่คน เพราะฉะนั้นถ้ามันจะมีก็ขึ้นกับตัวคน เช่นอยู่มาวันหนึ่งมีนักเขียนไทยที่น่าจับตามองมาก เป็นแนวทดลอง เป็นแนวใต้ดิน หรืออะไรก็ตาม แล้วเขาอยู่กับมัน เขาพัฒนาไป 5-10 ปีต่อจากนี้เขาก็ยังทำอยู่ มันก็ยังจะมีพื้นที่นั้นอยู่ แต่ถ้าไม่มีเลย มันก็จะไม่มีเลย ถ้าเป็นแนวของคนที่เขียนเพื่อขายเสียส่วนใหญ่ มันก็จะไหลไปตามกระแสเสียมากกว่า ถ้าช่วงนี้เขานิยมเขียนหนังสือแฉชีวิตกัน เขาก็จะเขียนไปทางนั้น

    มันต้องดูว่าความสนใจของคนที่เขียนนั้นอยู่ ที่ไหน ถ้าเป็นคนที่ชอบวรรณกรรมจริงจัง อยากจะผลิตงานศิลปะที่แปลกแหวกแนวหรือน่าสนใจ เขาก็จะทำของเขาเอง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของบรรยากาศหรือกลุ่ม คือมีกลุ่มก็อาจจะมี แต่คนที่เป็นตัวจริงจะมีแค่ 2-3 คนเสียมากกว่า


    แล้วนวัตกรรมทางปัญญาล่ะ

    ผม ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ที่มันน่าสนใจคือ สิ่งที่หลายๆ คนกำลังมองว่าเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ คือความกระจัดกระจายของทุกอย่าง ความไม่มีมาตรฐาน พูดง่ายๆ อย่างเช่นตอนนี้ฝรั่งเขาเป็นห่วงกันมากว่าการที่ทุกคนมีบล็อกของตัวเอง ทุกคนสามารถเขียนอะไรลงอินเทอร์เน็ตได้ จะทำให้คนที่มีอาชีพ เช่น เป็นศิลปินจริงๆ เป็นนักหนังสือพิมพ์จริงๆ เป็นคนเขียนคอลัมนิสต์จริงๆ อยู่ไม่ได้ เพราะว่าใครๆ ก็ออกความเห็นของตัวเองได้ ใครๆ ก็เข้าไปอ่านในบล็อกดีกว่าที่จะไปซื้อหนังสือมาอ่าน มันเป็นยุคที่เหมือนกับว่าเกิดอันตรายกับอาชีพบางอาชีพที่จำเป็นจะต้องมีที่ อยู่ที่ชัดเจน และคนทั่วๆ ไปเป็นไม่ได้ คือเมื่อก่อนมันยากมากที่ใครสักคนจะพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ใครสักคนจะได้เป็นนักข่าวของ The New York Times นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เดี๋ยวนี้คนเขียนบล็อกก็เป็นนักข่าวได้ คืออันนี้มันเป็นสิ่งที่สร้างกระแสและอาจจะเป็นปัญหาอยู่ แต่ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาหรือไม่เป็น ผมมองว่ามันน่าสนใจ ที่หลังจากนี้มันจะถูกกรองไปเองในทางที่ดีหรือทางที่ไม่ดี มันอาจจะล้นเกินจนคนเลิกสนใจบล็อก เพราะว่าใครๆ ก็เขียนได้ เหมือนกับดนตรี ใครๆ ก็จิ้มปุ่มได้ เราควรจะไปหาคนที่เขียนดีจริงๆ เก่งจริงๆ ดีกว่าไหม อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ หรืออาจจะกลายเป็นว่า ไม่มีมาตรฐานอีกต่อไปแล้วในโลกนี้ก็ได้ อันนี้มันเป็นจุดที่น่าสนใจ แล้วเราก็อาจจะตกงาน แต่ผมก็เตรียมไว้แล้วว่าผมจะไปเรียนทำไร่ทำนา เพราะฉะนั้นต่อให้เราตกงาน เราก็ยังพยายามที่จะปลูกผักกินเองได้อยู่ อาจจะถ่ายรูปให้คนเห็นพัฒนาการการเติบโตของถั่วงอกของเราได้

    ตีพิมพ์ครั้งแรก: openbooks review No. 1 (Summer 2009)
    ที่มา onopen.com
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×